นิติ ภวัครพันธุ์ ‘โกนหัว’ เดิมพันศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เส้นผมและน้ำตาของผู้เป็นแม่

วันสุดท้ายของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปิดท้ายด้วยข่าวและภาพข่าวที่น่าสะเทือนใจ เมื่อ คุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’ ผู้เริ่มอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ล่าสุดมีรายงานว่าเพนกวิน “ถ่ายเป็นก้อนเนื้อ คาดว่าเกิดจากการที่ร่างกายย่อยกระเพาะอาหารตัวเองแล้ว” ผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจ ‘โกนผม’ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยมีลูกสาวช่วยโกนผมให้ หลังจากนั้นเธอให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำตา ยืนยันว่า “ลูกดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ลูกดิฉันแค่มีความเห็นต่าง ลูกดิฉันไม่มีอิสรภาพในการพูด ลูกดิฉันถูกจองจำอยู่ในเรือนจำโดยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด ลูกดิฉันกำลังเจ็บป่วย วันนี้อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำเกลือไม่สามารถเข้าถึงตัวเพนกวินได้แล้ว”

แต่เมื่อเธอพาดพิงถึงการโกนผม และความคิด/ความรู้สึกเกี่ยวกับเส้นผมของตนเอง ก็ทำให้ผมรู้สึกสนเท่ห์ ครุ่นคิดในใจว่าเธอกำลังบอกอะไร…

ผมคืออีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง แม่โกนผมในวันนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าลูกชายยังไม่ได้รับความยุติธรรม การตัดผมต้องการให้ทุกคนเห็นว่าประเทศยังไม่มีความยุติธรรม คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ยังไม่มีการตัดสินแต่ถูกจับกุมคุมขัง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนเองสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม การโกนผมครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงออกที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูก เพื่อนๆ และคนหนุ่มสาว[1] – สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ กล่าวทั้งน้ำตาขณะโกนผม

แล้วเธอก็ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้ง ทว่า การโกนผมประท้วงของคุณสุรีย์รัตน์ได้กลายเป็น ‘การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์’ ที่ส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งร่วมโกนผมเพื่อเป็นการประท้วงเช่นกัน[2]

ไม่ใช่แค่ ‘ผม’ แต่เป็น ‘หัว’!

เท่าที่ทราบ การโกนผมของคุณแม่ของเพนกวิน อันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีแต่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ปรากฏขึ้นในหลายสังคม และถ้อยคำของเธอที่ว่า “ผมคืออีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง” ทำให้ผมกลับไปคิดทบทวนถึงบทความที่เคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อนเกี่ยวกับ ‘เส้นผม’ และ ‘หัว’ (หรือ ‘ศีรษะ’ หากต้องการใช้คำสุภาพ) 

งานเขียนชิ้นนั้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของคนไต (หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ไทใหญ่’) ที่เกี่ยวข้องกับการไว้ผมยาวของคนไต ซึ่งในอดีตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเพศหญิงและชาย ที่มีนัยเชิงความเชื่อบางประการแฝงอยู่ แน่นอน คนไตไว้ผมยาวเพราะความสวยงาม เช่น “มีบันทึกว่าคนไตในรัฐฉานของพม่าในศตวรรษที่ 19 ไว้ผมยาวและดูแลเส้นผมอย่างดี หมั่นสระผมบำรุงเส้นผมด้วยน้ำมันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง บางคนก็หลายครั้ง ทั้งชายหญิงจะหวีสางผมด้วยความระมัดระวังแล้วหมุนเป็นม้วนจับไว้บนศีรษะ และเนื่องจากคนไตมักจะไม่ใช้ปิ่นปักผมแต่หมุนเป็นมวยไว้เฉยๆ มวยผมจึงมักจะหลุด คนไตส่วนใหญ่ต้องหวีผมและจับเป็นมวยวันละหลายหน”[3] ทว่า เส้นผมที่ยาวสลวย มันและดำเพราะน้ำมัน มิได้เพื่อความงดงามเท่านั้น

แต่ “ศีรษะ เส้นผม หรือแม้แต่หวีถูกถือว่าเป็น “ของสูง” ที่ต้องให้ความเคารพ”[4] ด้วยเหตุนี้ คนไตในรัฐฉานจึง “มักจะเสียบหวีไว้กับหลังคาบ้านหรือที่สูง จะไม่วางหวีเกะกะ เพราะเชื่อว่าหากใครเหยียบหวีเข้าจะมีโชคร้ายกับเจ้าของหวี ส่วนเส้นผมถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ผมของทารกแรกเกิดจะถูกตัดและเก็บรักษาไว้อย่างดีในถุงผ้าเล็กๆ ซึ่งผูกห้อยคอทารกคนนั้นใว้ ถือเป็นการดูแลขวัญ ป้องกันไม่ให้เด็กตกใจร้องไห้เวลากลางคืน หากเด็กเกิดเจ็บป่วยขึ้นพ่อแม่จะเอาถุงใส่ผมไปแช่น้ำแล้วนำน้ำนั้นมาอาบให้เด็ก หรือบางครั้งก็ให้เด็กดื่มเป็นการรักษาอาการป่วยไข้”[5]

สำหรับคนไต ศีรษะและเส้นผมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘ขวัญ’ ของปัจเจกบุคคลแต่ละคนโดยเฉพาะ (จึงต้องแขวนเส้นผมเมื่อแรกเกิดของแต่ละคนไว้ที่คอผู้นั้น) ส่วนหวีก็เป็นเครื่องใช้ประจำตัวที่ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะอาจมีเหตุที่นำมาซึ่งเคราะห์ร้ายอันมิพึงประสงค์สู่บุคคลผู้นั้นได้

(อาจจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า คนไทยในอดีตคงเชื่อเรื่องเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขวัญและศีรษะ)

แต่ความเชื่อเรื่องศีรษะ ขวัญ และของสูง ไม่ได้มีเพียงในหมู่คนไตเท่านั้น หากพบในสังคมอื่นด้วย เช่น ชาวโพลิเนเชียนที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มชนที่ผมมีความรู้บ้างคือ ชาวเมารี (Maori) ชนพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ คนกลุ่มนี้ “ให้ความสำคัญต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายในลักษณะเดียวกับสถานภาพทางสังคม ในแง่ที่ว่าร่างกาย (และสังคม) มีความสำคัญตามลำดับชั้น ศีรษะ ส่วนที่อยู่เหนือร่างกาย เป็นที่ตั้งของ “มะนะ” (mana)[6] ของทั้งหญิงและชาย แม้แต่คนธรรมดาทั่วไป ศีรษะย่อมเป็นส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมเมารีมีระบบลำดับชั้น ศีรษะของหัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นนักรบ คือที่รวมที่สำคัญที่สุดของมะนะ ดังนั้นจึงเป็นบริเวณที่มี “ตะปุ” (tapu – ซึ่งอาจให้คำนิยามสั้นๆ ว่า “ข้อห้าม”] น่ากลัวที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างเข้าไปในศีรษะ หรือเมื่อศีรษะทำให้ถูกเล็กลง ตัวอย่างเช่นเวลาที่หัวหน้าเผ่ากินอาหารหรือตัดผม”[7]

“การตัดผมถือเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับการฆ่าฟัน เพราะเกี่ยวข้องกับศีรษะและการตัด หลังจากตัดผมแล้ว มือทั้งสองข้างของผู้ที่ตัดผมให้หัวหน้าเผ่าไม่อาจใช้แตะต้อง จับ หรือทำกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การกินอาหาร อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะถือว่าเป็น “ตะปุ” จึงต้องมีผู้อื่นคอยป้อนอาหารให้ คนที่ตัดผมหัวหน้าเผ่ามักจะเป็นภรรยาของหัวหน้า หรือคนในกลุ่มหัวหน้าเผ่าด้วยกันเอง ว่าไปแล้วนัยของการป้อนอาหาร ก็เพื่อแสดงให้เห็นฐานะที่สูงกว่าของเหล่าหัวหน้าและครอบครัว ยิ่งกว่านั้น มือของหัวหน้าเผ่าผู้ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง ก็เชื่อกันว่ามีความสำคัญและอันตรายด้วย มีอันตรายมากเสียจนไม่อาจยกมือขึ้นไปชิดศีรษะได้ เชื่อกันว่าหากทำเช่นนั้นอาจเกิดเหตุร้ายกับหัวหน้าเผ่าคนนั้นเอง”[8]

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการตัดผมเป็นกิจกรรมที่ชาวเมารีให้ความสำคัญมาก เพราะ “ยังพบว่าเวลาตัดผมมีคนเมารีขอให้ช่างตัดเก็บผมของตนที่ตัดออกใส่ลงในถุง เพื่อนำกลับบ้านไปฝังในที่ลับมิดชิด”[9]

สำหรับชาวเมารี เส้นผมจึงมีความหมายมากกว่าความสวยงาม และศีรษะก็เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ สังคม หรือความเชื่อทางศาสนา

ตัวอย่างที่เอ่ยถึงข้างบนนี้เพราะต้องการชี้ให้เห็นถึงนัยอันสำคัญยิ่งของเส้นผมและศีรษะ และการโกนผมก็มีความหมายที่ซับซ้อนทางสังคม รวมถึงเรื่องอารมณ์ทางสังคมและของปัจเจกบุคคลอีกด้วย

โกนหัวประจาน

เนื่องจากศีรษะและเส้นผมมีความหมายอันสำคัญยิ่ง ดังเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น การใช้กำลังบังคับปัจเจกบุคคลให้ถูกโกนผม/โกนหัวในที่สาธารณะ จึงเป็นการลงโทษวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในหลายสังคม รวมถึงสังคมไทยในอดีต เพราะนอกจากการลงโทษเช่นนี้จะมีจุดมุ่งหมายที่เห็นได้อย่างชัดเจน (ต่อสาธารณชนจำนวนมาก) คือการประจานผู้ที่ถูกโกนผม/โกนหัว ยังมีนัยของการลดทอนคุณค่าความเป็นคน หรือความเป็นมนุษย์ ของผู้ที่ถูกประจานอีกด้วย

ผมขอเริ่มด้วยตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีน “การขึ้นศาลของสื่อมวลชน … ต้องสวมชุดนักโทษและต้องโกนผม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน” จนทำให้ประธานศาลประชาชนผู้หนึ่งต้องออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมในมณฑลเหอหนาน จะต้องไม่ถูกบังคับให้โกนผม สวมชุดนักโทษ และถูกขังไว้ในคอกของห้องพิจารณาคดี เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีความผิดทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ถูกตัดสินหรือถูกจำคุก ซึ่งก่อนหน้านี้การบังคับให้โกนหัวและอื่นๆ มาจากการที่ระบบกฎหมายเดิมของจีนไม่มีหลักสมมุติฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความว่าไม่ผิด” และในประเทศอิหร่าน ก็มีประมวลกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วกระทำการผิดประเวณีจะต้องถูกลงโทษโดยการเฆี่ยน ถูกโกนผม และถูกขับออกจากประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี กฎหมายฉบับนี้ยังถูกบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน[10]

ในประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่กองทัพเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยต้องอยู่กินกับทหารเยอรมนีในช่วงสงครามเพราะความจำเป็นบังคับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะอาหารเป็นของหายาก แต่ทหารเยอรมนีสามารถหามาแบ่งปันให้ได้) ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากถูกจับโกนหัว แล้วนำตัวขึ้นบนท้ายรถบรรทุก แห่ประจานไปทั่วเมือง บางคนถูกทาหน้าด้วยน้ำมันดินสีดำ หรือถูกกากบาทบนใบหน้าด้วยสีหรือลิปสติก บางคนก็ถูกจับแก้ผ้าจนเกือบหมด พวกเธอได้แต่ร้องไห้ คอตกด้วยความรู้สึกละอาย จนผู้ที่ร่วมสังเกตการณ์บางคนแสดงความเห็นว่าพวกเธอเหมือนสัตว์ที่ถูกไล่ล่า ในกรุงปารีสก็มีหญิงโสเภณีที่เคยร่วมหลับนอนกับทหารเยอรมนีถูกรุมเตะจนตาย ผู้ชายฝรั่งเศสที่เคยทำงานในโรงงานของพวกเยอรมนีก็ถูกจับโกนหัวประจานเช่นกัน แต่ผู้ที่ถูกโกนหัวประจานส่วนใหญ่คือผู้หญิง[11]

การลงโทษด้วยการโกนผม/โกนหัว (และการลงโทษที่รุนแรงกว่า) ในสังคมไทยมีมานานแล้ว ดังปรากฏในการลงโทษ ‘หญิงชั่วมีชู้’ ที่ระบุอยู่ใน ‘กฎหมายตราสามดวง’ ว่า “โทษขั้นพื้นฐานของหญิงมีชู้คือ การประจานและโทษทางร่างกาย เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีของสามัญชน โทษของการมีชู้นั้นเน้นไปที่เรื่องของการประจานหญิงและปรับไหมชายชู้ มากกว่าที่จะลงโทษทางร่างกายอย่างร้ายแรง … การประจานเป็นวิธีลงโทษหญิงมีชู้มาตั้งแต่รัฐอยุธยา บันทึกของแชรแวสเล่าถึงการที่ภรรยามีชู้ซึ่งมักเป็นภรรยารองหรือเมียน้อยที่คบชู้ว่า “ถ้าถูกจับได้ว่าเล่นชู้สู่ชายแล้ว เมียหลวงก็จะนำความไปแจ้งแก่สามีให้ลงโทษจับโกนหัวเสีย ทำนองเดียวกับในประเทศฝรั่งเศสที่ถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศและเป็นการประจานกันอย่างรุนแรงที่สุดสำหรับสตรีเพศ” ”[12] และ “ถ้าหากหญิงนั้นทำชู้กับชาย 2 คนขึ้นไป จะถูกประจานโดยโกนผม นำตัวขึ้นขาหยั่งประจานรอบตลาด ทวนด้วยลวดหนัง 20 ที”[13]

แม้จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ การลงโทษด้วยการโกนผม/โกนหัวก็ยังปฏิบัติอยู่ แต่มิได้กระทำต่อ ‘หญิงชั่วมีชู้’ เท่านั้น หากแต่นักโทษประหารก็ถูกกระทำด้วย ดังเช่นการประหารชีวิตผู้หญิงที่ปรากฏใน “บันทึกของคาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาที่เข้ามาสำรวจสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงการประหารชีวิตนักโทษหญิงที่มีมูลเหตุจากเรื่องชู้สาวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม มีผู้มาแจ้งแก่เขาว่าวันนี้จะมีการประหารนักโทษ ซึ่งเขาได้ไปดูการประหารนี้และนำเรื่องราวหญิงคนนี้มาบอกเล่าในบันทึกของเขาว่า “เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อราว 2 สัปดาห์ที่แล้วมา ในกรุงเทพฯ ตื่นเต้นตกใจกันมาก เพราะเกิดฆาตกรรมอันน่าสยดสยองขึ้นรายหนึ่ง ผู้ต้องหาเป็นภรรยาของชายผู้มีตระกูลคนหนึ่ง ได้กระทำฆาตกรรมคนใช้ของตนเอง … มีหลักฐานอยู่พร้อมมูลว่าความหึงหวงเป็นสาเหตุ และผลที่เกิดขึ้นก็คือการฆาตกรรมอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่สุดครั้งนี้ ในที่สุดได้มีการพิจารณาคดีกันจนเรียบร้อยและพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย” ”[14]

“ตามธรรมเนียมการประหารชีวิต จะต้องนำหญิงนักโทษจำโซ่ตรวนไปเดินร้องประจานความชั่วร้ายและโทษทัณฑ์ของตนเสียก่อนที่จะถึงวันประหาร 3 วัน … สภาพของนักโทษหญิงที่ถูกจำขื่อคาที่คอ ตีตรวนทั้งข้อมือและข้อเท้าว่า … ดูคล้ายกับจะมีการให้ยาระงับประสาทอย่างแรงแก่นักโทษด้วยเพราะดูนักโทษซบเซาแทบจะไม่รู้สึกตัวเอาเลย มีเพื่อนหญิง 3 คนนั่งอยู่รอบข้าง คอยพูดปลอบโยนไม่ให้ตกใจกลัว และบอกว่าอีกไม่ช้าก็จะได้เป็นสุขแล้ว นอกจากนั้นมีพระองค์หนึ่งเทศน์อยู่ตรงหน้า แต่นักโทษไม่สนใจฟังแม้แต่น้อย ส่วนที่น่าสงสารที่สุดของนักโทษก็คือหลัง เพราะหล่อนถูกเฆี่ยนอย่างแรงที่สุดด้วยเชือก 3 ยกมาแล้วเป็นจำนวน 90 ที ซึ่งนับว่าเป็นการลงโทษอย่างหนักที่สุดที่เคยมีมา และเป็นการลงโทษขนาดหนักที่หลายคนถึงกับไม่รอด” เมื่อถึง “ขั้นตอนในการประหารนักโทษ ซึ่งในขณะเตรียมการประหารโดยตัดผมนักโทษออก เอาดินเหนียวมาอุดหู และจมูกของนักโทษ และนำดินแปะไว้ตรงคอ ตำแหน่งที่จะลงดาบ … หลังการตัดศีรษะนักโทษ ศีรษะจะถูกนำไปเสียบไม้ไผ่ลำยาวประจานไว้ มีเสียงพูดพึมพำจากคนที่มาดูว่า มันได้รับผลกรรมของมันแล้ว ไม่มีคำพูดแสดงความสงสารหญิงคนนั้นสักคำเดียว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเองก็ไม่มี”[15]

ในเว็บไซต์ของ iLaw มีการสรุปความคิดเห็นว่า “การโกนผมดูเหมือนจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการลงโทษของกฎหมายโบราณ ดังจะเห็นชัดในกรณีกฎหมายตราสามดวงของประเทศไทย นอกจากนี้การโกนผมในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ยังผูกติดกับรัฐแบบอำนาจนิยม ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน เห็นชัดเจนคือปัจจุบันประเทศที่ยังใช้วิธีการนี้อยู่ คือ ประเทศอิหร่าน และประเทศจีน … สำหรับเหตุผลของการโกนผมก็คงจะมีเหตุผลสองข้อหลัก คือ หนึ่ง รัฐได้แสดงถึงอำนาจในการควบคุมประชาชนโดยทำให้ผู้ต้องหาถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นผู้กระทำผิด และสอง เป็นการประจานทำให้ผู้ต้องหาอับอายและเสียชื่อเสียง ทั้งๆ ที่ในบางกรณีตัวผู้ต้องหาเองยังไม่ได้ถูกจำคุกหรือถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด”[16]

ทว่า ผมคิดว่าการลงโทษเช่นนี้มีนัยของความรุนแรงที่หนักหนากว่าเพียงการทำให้ผู้ต้องหาอับอายและเสียชื่อเสียงเท่านั้น ในกรณีของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในสมัย ร.5 การลงโทษเธอด้วยการโกนผม/โกนหัวและวิธีการอื่นๆ ตั้งแต่ถูก ‘จำโซ่ตรวนไปเดินร้องประจานความชั่วร้ายและโทษทัณฑ์’ สะท้อนให้เห็นว่าเธอมิได้มี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงเหลืออยู่เลย ไม่มีแม้แต่ในสายตา/ความคิด/ความรู้สึกของ ‘ญาติพี่น้อง’ ของเธอเอง เธอไม่เพียงแต่ถูกตัดสิน (โดยอำนาจรัฐ) ว่าโทษทัณฑ์/ความผิดของเธอต้องชดใช้ด้วยชีวิตของตนเท่านั้น หากเธอยังถูกลดทอนให้ ‘มิใช่มนุษย์’ เพื่อให้การฆ่าฟัน/คร่าชีวิตของเธอ (โดยอำนาจรัฐ) เป็นสิ่งที่ถูกครรลอง ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม

มนุษย์ผู้เย็นชากว่าจักรกล!!

ความตอนหนึ่งในบทวิจารณ์นิยายเรื่อง Klara and the Sun ของนักเขียนเชื้อสายญี่ปุ่นนาม Kazuo Ishiguro ซึ่งใช้เนื้อหาในนิยายเรื่องนี้เป็นหลัก ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามที่สำคัญมากเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ด้วยการเปรียบเทียบ ‘คลาร่า’ หุ่นยนต์ในเรื่อง ที่แม้ว่าจะเหมือนมนุษย์อย่างมากก็ตาม แต่ก็ขาดคุณสมบัติบางประการที่มนุษย์มี เช่น เธอไม่สามารถดมกลิ่นได้ ไม่ต้องกินหรือนอน ไม่มีความต้องการทางเพศ ฯลฯ หรืออาจสรุปว่าหุ่นยนต์อย่างคลาร่าไม่สามารถก็อปปี้ทุกอย่างให้เหมือนของจริง (replicable) ซึ่งก็คือมนุษย์

ทว่า ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามที่มืดมนกว่า ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเรื่องหุ่นยนต์จะสามารถเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และความเป็นมนุษย์ นั่นคือการที่มนุษย์ไม่แยแส ไม่ไยดี ไม่ยินดียินร้ายในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง หรือที่แย่กว่านั้น เมื่อมนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์เหมือนไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นการ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ (dehumanise) ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ เพราะหุ่นยนต์ไม่มีการกระทำเช่นนี้[17]

การลดทอนความเป็นมนุษย์

หากใครนึกไม่ออกว่า ‘การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น’ คืออะไร? หรือกระทำกันอย่างไร? ต้องเป็นการกระทำเท่านั้น หรือด้วยวิธีการอื่น? ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปค้นหาตัวอย่างหรือกรณีไกลตัวเลย แค่ลองพิจารณาเรื่องการโกนผมของแม่ของเพนกวินหน้าศาลในวันที่ 30 เมษายน 2564 ก็จะเห็นมีตัวอย่างของมนุษย์ ‘ผู้ไม่แยแส ไม่ไยดี ไม่ยินดียินร้ายในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน’ และการกระทำของพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือข้อเขียน ก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

เช่น ข้าราชการฝ่ายตุลาการผู้หนึ่งเขียนโพสต์ในหน้า Facebook ของตน แสดงความคิดเห็นกรณีที่แม่ของเพนกวินโกนผมตนเองว่า “เก็บกวาดเส้นผมที่ตกให้เรียบร้อยด้วยน่ะอย่าให้สกปรกเลอะเทอะบริเวณศาล” แล้วมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าไปกดไลค์/ถูกใจ แสดงความชอบใจ เห็นด้วย

หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นข้อความที่เขียนโพสต์ในหน้า Facebook ของตัวเองเช่นกัน ในวันที่ 29 เมษายน ความว่า “ข่าวที่นายเพนกวิ้นและแม่โพสต์เรื่อง 1.ถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ 2.มีโรคระบาดติดเชื้อมากมายกันในเรือนจำ อาจเข้าข่ายเอาข้อมูลเท็จเข้าสู่อินเตอร์เน็ต ครับ ปล.แม่เพนกวิ้นโหดร้ายมากที่เอาศพลูกชายมาแห่เพื่อหวังผลทางการเมืองครับ” เช่นเดียวกับกรณีข้างบน มีคนอื่นเข้าไปกดไลค์/ถูกใจ แสดงความคิดเห็น และมีการแชร์ด้วย

ผมอยากสันนิษฐานว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีทัศนคติแบบนี้ แต่ยังไม่มีเวลาที่จะค้นหาให้ได้มากกว่านี้ แต่ตัวอย่างทั้งสองนี้ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นการไม่แยแส/ไยดีต่อผู้อื่นเป็นเช่นไร และมนุษย์ผู้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมีลักษณะอย่างไร

สังคมที่มนุษย์ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของผู้อื่น

ผมคิดว่าเราไม่อาจปฏิเสธว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษในเมืองไทยได้นำเรามาถึง ณ จุดนี้ จุดที่เราได้กลายเป็นสังคมที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิด ทัศนะ และความรู้สึกที่ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของผู้อื่น เป็นจุดที่ ‘คำถามที่มืดมนเกี่ยวกับมนุษย์’ เกิดขึ้น และทำให้เราต้องพิจารณาทบทวนว่าเราคือใคร? หรือคืออะไร? (และด้วยความหวังว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่มืดมนที่สุดของความเป็นมนุษย์!)

ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมไทยมิได้ดำรงชีวิตตามสังคมจารีตแบบเดิม ที่การจัดลำดับชั้น สถานะ และคุณค่าของคน ถูกกำหนดด้วยความคิด/ความเชื่อเรื่องบุญกรรม วาสนา ความดีความชั่ว ดังเช่นในอดีตอีกแล้ว ตรงกันข้าม ชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้สร้างความคิด ความเชื่อ และคุณค่าชุดใหม่ขึ้น โดยวางอยู่บนหลักการและอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน และของการเป็นปัจเจกบุคคลที่มีศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ เรามีความเชื่อในอุดมคติชุดใหม่ที่มนุษย์ต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น (เพราะในทางปฏิบัติ เมื่อเราเคารพผู้อื่น เราก็เป็นที่เคารพของผู้อื่นเช่นกัน)

แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ กรณีตัวอย่างทั้งสองที่กล่าวถึงข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่คิดและเชื่อในเรื่องศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ มิได้เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แต่กลับมีความคิดและการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ที่น่าตกใจ และน่ากลัว คือคนเหล่านี้อาจทำให้เราต้องถามตัวเองว่า คนไทยได้มาถึงจุดที่มืดมนที่สุดของความเป็นมนุษย์หรือยัง? และผมหวั่นใจว่าคุณสุรีย์รัตน์ แม่ของเพนกวิน อาจตอบคำถามนี้ไปแล้ว!

photo: ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / Thai News Pix

แม้ว่าเธอจะกล่าวว่า การโกนผมครั้งนี้เป็นการเสียสละเส้นผม “อีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง” เป็นเพียง “สัญลักษณ์ว่าลูกชายยังไม่ได้รับความยุติธรรม … ต้องการให้ทุกคนเห็นว่าประเทศยังไม่มีความยุติธรรม” และ “เป็นเพียงการแสดงออกที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูก เพื่อนๆ และคนหนุ่มสาว” แต่ผมกลับคิดว่า ‘การโกนหัว’ ของเธอมีนัยเชิงสัญลักษณ์ในการ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของตัวเธอเอง เพื่อเป็นการประท้วงความอยุติธรรมของสังคมไทย สังคมที่มีผู้คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจที่ไม่แยแส หรือสนใจไยดีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อีกทั้งมีการกระทำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน ด้วยทัศนคติ ความคิด และความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เห็นต่างมิใช่มนุษย์!


เชิงอรรถ

[1] สำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News, “แม่เพนกวิน โกนผมประท้วง เรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวให้ลูกชาย”, 30 เมษายน 2564, <https://www.facebook.com/RatsadonNews/posts/142409674519424

[2] สำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News, “ผู้ชุมนุมโกนหัวประท้วง ทวงความยุติธรรม”, 30 เมษายน 2564, <https://www.facebook.com/RatsadonNews/posts/142528517840873>

[3] นิติ ภวัครพันธุ์, “แปลงความทรงจำ “ไต” สร้างความเป็น “ไทย””, ใน ความเป็นไทย/ความเป็นไท (หนังสือรวมบทความจากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 2 เรื่อง ชาติและชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน, เอกสารวิชาการลำดับที่ 38) (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547), น. 29-30

[4] อ้างแล้ว

[5] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 40, หน้าเดียวกัน

[6] ‘mana’ อาจมีความหมายหลายประการ ขึ้นกับบริบทที่ใช้ ความหมายในปัจจุบัน หลายครั้งหมายถึงเกียรติยศและสถานภาพ เพราะไม่มีผู้ใดที่จะมีความสำคัญในสังคมได้โดยปราศจาก ‘mana’ ซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นได้รับการยอมรับจากชุมชนว่ามีลักษณะเป็นผู้นำและมีความสามารถ ในแง่นี้ ‘mana’ อาจหมายถึงบารมี (charisma) ด้วย ที่น่าสังเกตคือ ‘mana’ สามารถถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เช่น จากพ่อสู่ลูก จากครูสู่ศิษย์ หรือจากบุคคลไปสู่วัตถุ จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘mana’ คืออำนาจนอกเหนือธรรมชาติ (supernatural force) ที่อาจมีอยู่ในมนุษย์ ตามสถานที่ต่างๆ หรือในวัตถุ หรือของภูตผีก็ได้ เนื่องจาก ‘mana’ สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายทอดได้ จึงต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้หาย หรือสูญเสียไป ยิ่งกว่านั้น ‘mana’ ยังเป็นพลังที่มีความอันตรายต่อผู้ที่ครอบครองและคนอื่นที่มาสัมผัสแตะต้อง จึงต้องมีพิธีกรรมที่จะป้องกันไม่ให้พลังของมันทำอันตรายต่อผู้ที่ครอบครองและคนอื่นที่มาสัมผัสแตะต้อง และป้องกันไม่ให้พลังของมันทำอันตรายชุมชน หรือทำให้ผู้คนทั้งมวล หรือปัจเจกชนเกิดเจ็บปวดล้มป่วยหรือกระทั่งเสียชีวิต (ดู นิติ ภวัครพันธุ์, “รอยสัก กับการสร้าง “ตัวตน””, ใน เผยร่าง-พรางกาย ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2541), น. 202)

[7] อ้างแล้ว, น. 207

[8] อ้างแล้ว

[9] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 58, หน้าเดียวกัน

[10] iLaw, “อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย”, 6 พฤศจิกายน 2558, <https://www.ilaw.or.th/node/3915>

[11] Antony Beevor, “An ugly carnival”, The Guardian, Fri 5 Jun 2009, <https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2009/jun/05/women-victims-d-day-landings-second-world-war> และสำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเปิดชมวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน “Ugly Carnival (France after ww2)”, <https://www.youtube.com/watch?v=lGvLJLvzhqI>

[12] วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล, ““หญิงชั่ว” ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ – พ.ศ. 2477” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, ประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 44

[13] อ้างแล้ว, น. 46

[14] อ้างแล้ว, น. 155

[15] อ้างแล้ว, น. 155-156

[16] iLaw, “อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย”

[17] Thomas Jones, “Oh you daring robots!”, London Review of Books, Book review “Klara and the Sun” by Kazuo Ishiguro, Vol. 43, No. 6, 18 March 2021, <https://www.lrb.co.uk/the-paper/v43/n06/thomas-jones/oh-you-darling-robot

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า