ผีฟูโกต์สะดุ้ง เมื่อคนไทยชอบใช้ ‘วาทกรรม’! แล้วอะไรคือวาทกรรม คำไหนเป็น คำไหนไม่เป็น?

‘วาทกรรม’ (discourse) เป็นคำที่ถูกใช้อย่างดาษดื่นเต็มหน้าจอ เต็มฟีดโซเชียลมีเดียกันทุกวัน เมื่อพูดถึงประเด็นทางการเมือง มีการยกวาทกรรมขึ้นมากล่าวกันอย่างกว้างขวาง แต่ผู้พูดอาจไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าวาทกรรมมากนัก ทำให้ถ้อยคำจำนวนมากอยู่ในสภาวะกํ้ากึ่งระหว่าง ‘วาทกรรม’ หรือ ‘สำนวนโวหาร’ 

‘วาทกรรม’ มีความหมายที่หลากหลายในเชิงภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เราไม่สามารถหลบหลีกนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้เลื่องชื่ออย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ไปได้ เพราะเขาคือคนหนึ่งที่ศึกษาวาทกรรมอย่างลึกซึ้ง ฟูโกต์เน้นยํ้าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘อำนาจ/ความรู้’ (power/knowledge) และวาทกรรมต้องมีการบังคับควบคุมเชิงอำนาจ เป็นระบบและกระบวนการในการผลิตสร้าง (constitute) ให้อัตลักษณ์ (identify) และให้ความหมาย (signify) ต่อสรรพสิ่งในสังคม ทั้งยังทำให้สิ่งที่สร้างขึ้นดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมอีกด้วย

หากจะสรุปโดยคร่าวว่า วาทกรรมในทัศนะของฟูโกต์คืออะไร เราอาจต้องใช้เกณฑ์ ‘การวิเคราะห์วาทกรรมแบบฟูโกต์’ (Foucauldian discourse analysis) เพื่อระบุว่า คำไหนเป็นหรือไม่เป็นวาทกรรม หรือเป็นเพียง ‘โวหาร’ หรือแค่ ‘วิวาทะ’ ตัวอย่างเช่น 

ตระบัดสัตย์ (ไม่เป็นวาทกรรม)
จากการวิวาทะเดือดระหว่าง ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข คำว่า ‘ตระบัดสัตย์’ ไม่เข้าข่ายวาทกรรม แต่เป็นการยก ‘สำนวนโวหาร’ เปรียบเทียบกับพลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตระบัดสัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

นายกฯ ส้มหล่น (ไม่เป็นวาทกรรม)
กลายเป็น ‘วิวาทะ’ เดือดหลัง ศิริโรจน์ ธนิกกุล สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ใช้คำว่า ‘นายกฯ ส้มหล่น’ ในระหว่างอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลจนนำไปสู่การประท้วงจาก สส. เพื่อไทย คำนี้ก็เป็นการยก ‘สำนวนโวหาร’ เปรียบเทียบอีกเช่นเคย ถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นลำดับ 2

ด้อยค่า (เป็นวาทกรรม)
วาทกรรมด้อยค่าถูกนำมาใช้มากมายหลายครั้ง ในการสลายความชอบธรรมทางการเมือง เพราะหากพิจารณาตามแบบฟูโกต์แล้ว วาทกรรมชุดนี้มีถ้อยแถลงถึงความสัมพันธ์เชิง ‘อำนาจ’ ที่ควบคุม ความคิด ความรู้ กำหนดและให้ความหมายว่า อะไรคือการด้อยค่า เช่น การตีตราว่าม็อบล้มล้างการปกครอง เป็นต้น 

ล้มเจ้า (เป็นวาทกรรม)
วาทกรรมนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ/ความรู้ ในการให้ความหมาย การสร้างความจริงชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อควบคุมบงการ เช่น การทำ ‘ผังล้มเจ้า’ ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งสุดท้ายแล้ว พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ยอมรับว่าไม่จริง แต่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ทำให้สังคมขณะนั้นสนับสนุนและพากันออกมาทำกิจกรรม Big Cleaning Day

ชังชาติ (เป็นวาทกรรม)
คำคำนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโต้ผู้ชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2562 หลังจากเพลง ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่มศิลปินแรป RAP ได้ถูกปล่อยออกมาโดยมีเนื้อหาเสียดสีการเมืองและสังคมไทย จนพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ถึงกลับเอามาวิพากษ์วิจารณ์ ด้อยค่า และให้ความหมายเพลงและกลุ่มผู้ชุมนุมว่าการกระทำเช่นนี้คือ ‘การชังชาติ’

มีลุงไม่มีเรา (ไม่เป็นวาทกรรม)
เป็นคำโฆษณาหาเสียงของพรรคก้าวไกล ในลักษณะสำนวนโวหารหรือคำคม ที่นำมาใช้แสดงจุดยืนหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า