ปฏิบัติการ Soft Power เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในเวทีโลก

หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ด้านภาษาแล้ว คำว่า ‘ซอฟต์ พาวเวอร์’ (soft power) ถือเป็นคำใหม่ มีอายุเพียงประมาณ 30 ปี คนที่ใช้เป็นครั้งแรกคือ นักรัฐศาสตร์ชื่อ โจเซฟ ไนร์ จูเนียร์ (Joseph Nye Jr.) ในหนังสือของเขาชื่อ Bound to Lead ตีพิมพ์ ค.ศ. 1990 ไนร์ให้นิยามซอฟต์ พาวเวอร์ ว่าเป็นความสามารถของประเทศในการมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงในการกดดันหรือบีบบังคับ พลังของซอฟต์ พาวเวอร์ คือการดึงดูดและการโน้มน้าวใจ ต่างจากพลังของฮาร์ด พาวเวอร์ ที่ต้องกดดันและบีบบังคับ และหลายกรณีมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่หากมองในแง่การใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ จะพบว่าสามารถย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ไกลกว่านั้นหลายสิบปี ช่วงเวลาที่โลกได้เห็นการใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เข้ามามีบทบาททางการเมืองในเวทีโลกชัดเจนคือ ช่วงเวลาที่โลกเผชิญปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เห็นได้ชัดคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น 

กรณีตัวอย่าง ซอฟต์ พาวเวอร์ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

● ข่าวสาร

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซอฟต์ พาวเวอร์ หลักที่มีอิทธิพลอย่างมากคือ การใช้สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ มีสหรัฐเป็นผู้นำ Voice of America คือสถานีวิทยุที่รัฐบาลอเมริกาก่อตั้งขึ้นมา มีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี และเมื่อมาถึงยุคสงครามเย็น Free Radio Europe (FRE) ก็ถูกก่อตั้งขึ้นที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ในปี 1949 โดยมี CIA สำนักข่าวกรองของสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์หลักของ FRE คือการต่อต้านการกระจายตัวของแนวคิดคอมมิวนิสต์ โดยมุ่งเน้นกระจายเสียงในประเทศที่สื่อท้องถิ่นถูกเซ็นเซอร์และมีการปราบปรามผู้เห็นต่างเป็นหลัก เนื้อหาของ FRE นอกจากจะรายงานความเคลื่อนไหวและบอกเล่าความสร้างสรรค์ของสังคมประชาธิปไตยแล้ว ยังมุ่งเผยแพร่คุณงามความดี และผลงานของปัญญาชนและศิลปินของยุโรปที่ถูกเนรเทศจากประเทศในช่วงนั้น พร้อมๆ กับการตอกย้ำความล้มเหลวต่างๆ ของสหภาพโซเวียต เช่น การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล 

แน่นอนว่าสหภาพโซเวียตได้ออกมาประณาม FRE ว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา เพราะในช่วงนั้น FRE ทำให้ภาพลักษณ์ของอเมริกาและแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยสวยสดงดงามมาก ขณะที่สหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ค่อยๆ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ลง 

FRE เบ่งบานมากในช่วงทศวรรษ 1980 บทบาทของมันขยายตัวกว้างกว่าการเป็นสื่อมวลชนที่มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร ไปสู่การเป็นเวทีแสดงออกทางการเมืองของผู้ฝักใฝ่แนวทางปฏิรูปที่ต้องการพาประเทศตนเองและทวีปยุโรปออกจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนติดตาม FRE อย่างเหนียวแน่น ว่ากันว่าชาวโปแลนด์มากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดคอยรับข่าวสารจาก FRE ซึ่งตอนนั้นมีสโลแกนว่า “โปแลนด์จะไม่มีม่านแห่งความเงียบอีกต่อไป” เลช วาเลซา (Lech Walesa) ประธานาธิบดีคนแรกของโปแลนด์หลังสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์ เคยกล่าวถึงอิทธิพลของ FRE ในช่วงสงครามเย็นไว้ว่า “มากจนไม่สามารถบรรยายได้ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีโลกที่ไม่มีพระอาทิตย์” 

การใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองยังคงมีมาถึงปัจจุบัน CNN ของอเมริกา และ อัลจาซีรา (Al-Jazeera) ของกาตาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในช่วงสงครามอ่าวและสงครามตะวันออกกลาง รวมถึงยุคที่เรียกกันว่า ‘Clash of Civilization’ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมที่นำไปสู่เหตุการณ์ 9/11 โลกได้เห็นบทบาทของ CNN ในการปกป้องแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของอเมริกาในฐานะตัวแทนโลกตะวันตกอย่างชัดเจน ขณะที่การกำเนิดของสำนักข่าวอัลจาซีรา ในปี 1996 ก็ทำให้กาตาร์ ประเทศอาหรับเล็กๆ กลายเป็นประเทศที่โลกต้องจับตามอง โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่อัลจาซีราเป็นสำนักข่าวแรกๆ ที่เผยแพร่ภาพของโอซามะฮ์ บิน ลาเดน (Iman bin Laden) ให้โลกได้รู้จัก

● ดนตรี

การใช้ดนตรีและนักดนตรีเป็นแนวหน้าในการพาประเทศออกสู่เวทีระหว่างประเทศ ปรากฏในประวัติศาสตร์เด่นชัด 2 รูปแบบ คือ การใช้ดนตรีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง และการใช้เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รูปแบบแรกมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ รูปแบบที่สองมีเกาหลีใต้เป็นผู้นำ 

ในทศวรรษ 1950 ขณะที่โลกกำลังอึมครึมด้วยภาวะสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งนักดนตรีแจ๊ส 4 คน ได้แก่ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) ดุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) และ เดฟ บรูเบ็ค (Dave Brubeck) ออกไปทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อส่งความปรารถนาดีไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะอ่อนไหวต่ออิทธิพลคอมมิวนิสต์ ภารกิจสำคัญของทูตนักดนตรีกลุ่มนี้คือ การเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีของตะวันตกออกไปให้โลกรู้ และเพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงภาพลักษณ์ของอเมริกาในสายตาชาวโลก ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางอุดมการณ์อันดุเดือดของสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐหวังว่าความพยายามนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นปัจเจกนิยม และความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในดนดรีแจ๊สและสังคมสหรัฐ ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ มีความผูกพันกับสหรัฐ ทุนนิยม และประชาธิปไตยมากขึ้น 

อดัม เคลย์ตัน พาวเวลล์ จูเนียร์ (Adam Clayton Powell, Jr.) สมาชิกสภาคองเกรส ในปี 1915 เป็นเจ้าของไอเดียการส่งออกดนตรีแจ๊สในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของอเมริกา เขาเคยกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของโลกตะวันตกต่อสงครามเย็นว่า “อาวุธลับของอเมริกาคือบลูโน้ต ในคีย์ไมเนอร์” 

บทบาทของดนตรีแจ๊สในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองยังเกิดขึ้นภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเองด้วย คนผิวดำใช้แจ๊สเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเองมาโดยตลอด และก็ประสบความสำเร็จโดยตลอดด้วย จอห์น โครเทน (John Coltrane) แต่งเพลง ‘Alabama’ เพื่อต่อต้านกลุ่มขวาสุดโต่ง Klu Klux Klan ขณะที่เพลง ‘Strange Fruit’ ของ นีนา ซีโมน (Nina Simone) บรรยายถึงความโหดร้ายของชีวิตทาสผิวดำในอเมริกาได้จับใจผู้ฟัง 

ส่วนการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเปิดทางและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในเวทีโลก เพิ่งปรากฏชัดในยุคหลัง ที่โดงดังคือ K-Pop ของเกาหลีใต้ ในช่วงที่โลกกำลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้กำลังดิ่งเหว นอกจากประคองเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับวิกฤตการเงินในเอเชีย ท่ามกลางวิกฤตนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่โลกคิดไม่ถึง ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ในวันนั้นเป็นสายตาที่แหลมคมอย่างยิ่ง 

เพลงป๊อปเกาหลี คือสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเลือกหยิบมากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ให้การส่งเสริมในทุกมิติ ทั้งการตั้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม K-Pop อย่างเป็นทางการ ลงทุนสร้างสถานที่แสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ จน K-Pop กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่มั่งคั่งที่สุดในโลกอุตสาหกรรมหนึ่ง และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากการสำรวจในปี 2017 พบว่า 1 ใน 13 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาหลีใต้ ระบุว่าเหตุผลในการไปเยือนเกาหลีใต้ของพวกเขาคือ บอยแบนด์ BTS 

ยุทธศาสตร์ที่ฮือฮาที่สุดในการใช้ K-Pop เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ สร้างจุดยืนที่มั่นคงให้กับประเทศคือ การที่ประธานาธิบดี มูน แจอิน (Moon Jae-in) แต่งตั้งให้สมาชิกวง BTS เป็นทูตพิเศษของประเทศไปร่วมงานกับองค์กร UNICEF เพื่อทำแคมเปญ Love Myself ต่อต้านการรังแก (bully) ในหมู่เด็กและเยาวชนทั่วโลก การจับมือร่วมกันระหว่าง BTS และ UNICEF สามารถระดมเงินบริจาคจากทั่วโลกได้ถึง 3.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 121 ล้านบาท 

20 กันยายน 2021 หลังการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายของโควิด-19 ผ่านพ้นไป โลกถูกเขย่าด้วย K-Pop จากเกาหลีใต้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ BTS ไปปรากฏตัวต่อที่ประชุมใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงนิวยอร์ก ในฐานะทูตพิเศษของคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมในอนาคต (Special Envoy for Future Generation) ประธานาธิบดีมูน แจอิน เป็นผู้กล่าวแนะนำและเชิญพวกเขาขึ้นสู่เวทีใหญ่ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้วยตนเอง การปราศรัยของ คิม นัมจุน (Kim Nam Joon) หรือ RM หัวหน้าวง BTS ต่อที่ประชุมในครั้งนั้น ดึงดูดผู้ชมออนไลน์มากถึง 1 ล้านคน มากกว่าผู้ชมในช่วงเวลาที่ผู้นำหลายๆ ประเทศกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมครั้งนั้น การประชุมเดียวกันนั้นเอง BTS ก็กลายเป็นวงดนตรีวงแรกที่เปิดการแสดงในที่ประชุมสหประชาชาติ เมื่อพวกเขาได้รับอนุญาตให้ทั้งร้องและเต้น เพื่อเปิดตัวซิงเกิลใหม่ ‘Permission to Dance’ ในห้องประชุมนั้น 

● ภาพยนตร์

ฮอลลีวูดเป็นภาพที่น่าจะชัดเจนที่สุดของการใช้ภาพยนตร์เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่ส่งอิทธิพลในหลากหลายด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หลายต่อหลายครั้งที่ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดเทรนด์ต่างๆ ในสังคมโลก 

ลองมาดูตัวอย่าง Top Gun ของอเมริกา ที่ถูกส่งออกไปฉายทั่วโลกในปี 1986 ตอนที่โลกยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ภาพ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ในวัย 23 ปี ผมเรียบเป็นมันเงา ขับเครื่องบิน F-14A Tomcat และสวมชุดนักบินอันโด่งดัง นอกจากจะทำเงินเข้าประเทศ 180 ล้านเหรียญในตอนนั้น ยังทำให้ภาพลักษณ์กองทัพอเมริกันดูยิ่งใหญ่ มีคนสมัครเข้ากองทัพเรือและกองกทัพอากาศของอเมริกาเพิ่มมากขึ้น และแว่นกันแดดเรย์แบน (Ray-Ban) ก็กลายเป็นเครื่องประดับประจำตัววัยรุ่นยุค 90 ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย 

จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถส่งออกภาพยนตร์และสร้างความแข็งแกร่งจนกลายเป็นคู่แข่งฮอลลีวูด ช่วงทศวรรษ 1980-1990 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ผู้กำกับรุ่นที่ 5’ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน เฉิน ข่ายเกอ (Chen Kaige) จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) เถียน จ้วงจ้วง (Tian Zhuangzhuang) และคนอื่นๆ ไม่เพียงพาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมจีนไปปรากฏบนจอภาพยนตร์ทั่วโลก พวกเขายังกวาดรางวัลในเวทีภาพยนตร์ระดับโลกกลับประเทศมากมาย และทำให้ Beijing Film Academy หรือ BFA โรงเรียนสอนภาพยนตร์ในกรุงปักกิ่งกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนสอนภาพยนตร์ที่ผู้รักในการสร้างภาพยนตร์ทั่วโลกใฝ่ฝันมาเรียน เบียดกับโรงเรียนชื่อดังในตะวันตกทั้ง FAMU แห่งปราก London Film School ในกรุงลอนดอน สถาบัน La Fémis แห่งกรุงปารีส รวมถึง CalArts และ USC School of Cinematic Arts แห่งสหรัฐอเมริกา

● โครงการสำรวจอวกาศและวัคซีนโควิค-19

ไม่เพียงแค่ปฏิบัติการข่าวสาร ดนตรี ภาพยนตร์ จะถูกนำมาใช้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ อันทรงพลังแล้ว ยังมีซอฟต์ พาวเวอร์ อีกหลายหลายรูปแบบที่แต่ละประเทศนำมาใช้ จนสร้างความแข็งแกร่งทางใดทางหนึ่งให้กับประเทศของตนเอง เช่น การให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนประเทศต่างๆ หรือแม้กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่โด่งดังมากๆ เช่น โครงการอวกาศของโซเวียต ที่ส่งดาวเทียมดวงแรกขี้นสู่วงโคจรของโลกสำเร็จในปี 1957 และโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่ข่มสหภาพโซเวียตกลับด้วยการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก หรือในสมัยปัจจุบันที่เห็นชัดเจนคือ การที่อินเดียสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จ และสร้างตัวเองเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วนำวัคซีนนั้นมาผนวกกับมาตรการทางการทูตด้วยการแจกฟรีให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ เป็นการเสริมความมั่นคงให้กับฐานอำนาจทางการเมืองของอินเดียต่อประเทศในภูมิภาคเดียวกันขึ้นไปอีก

ความเป็นไปได้ที่ซอฟต์ พาวเวอร์ ไทยจะสะเทือนเวทีโลก

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซอฟต์ พาวเวอร์ จากประเทศไทยสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกหลายครั้ง โดยเฉพาะการส่งออกจากศิลปินไทยที่ใช้ความสามารถก้าวสู่เวทีโลก และนำซอฟต์ พาวเวอร์ ของสังคมไทยติดตัวไปอวดชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นการสวมรัดเกล้ายอดของ ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล ในมิวสิควิดีโอเพลง ‘Lalisa’ ที่มียอดชมทั่วโลกแตะหลักล้านในเวลาอันสั้น การกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก Coachella ของ ‘มิลลิ’ ดนุภา คณาธีรกุล หรือแม้กระทั่ง ‘กางเกงช้าง’ ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในประเทศไทยจนเกือบจะเป็นเครื่องแบบของนักท่องเที่ยว ไปจนถึงชุดไทยโบราณที่นักท่องเที่ยวนิยมสวมเมื่อไปเที่ยววัดอรุณราชวราราม จนเกิดอุตสาหกรรมเช่าชุดไทยโดยรอบวัด 

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงศักยภาพและพลังของซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงเรามีอาหาร เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมอีกหลายอย่าง รวมถึงศิลปะป้องกันตัวอย่างมวยไทย ที่หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานภาครัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ผลักดัน K-Pop ประเทศไทยก็อาจเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งและสามารถส่งออกวัฒนธรรมเป็นสินค้าหลักได้เช่นเดียวกัน 

ข้อจำกัดของซอฟต์ พาวเวอร์ ในรัฐเผด็จการ

ขณะที่ซอฟต์ พาวเวอร์ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหลายประเทศ แต่ก็อาจประสบกับการต่อต้านจากประเทศที่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของพลเมือง โดยเฉพาะในประเทศเผด็จการ อย่างเช่นอุตสาหกรรมภาพนต์ฮอลลีวูดเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในจีน ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน หรือถ้าได้รับอนุญาตให้ฉายก็อาจถูกเซ็นเซอร์จนเสียอรรถรส หรือแม้กระทั่งการห้ามนักแสดง ผู้กำกับ หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างภายนตร์ที่มีเนื้อหากระทบกับอุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของจีนไม่ให้เข้าประเทศจีน ดังที่เคยเกิดขึ้นกับแบรด พิตต์ (Brad Pitt) ดารานำใน 7 Years in Tibet 

ย้อนกลับไปสู่ภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ภาคแรกที่สร้างในปี 1986 นอกเหนือจากแว่นกันแดดเรย์แบนแล้ว ภาพลักษณ์ของทอม ครูซ ที่ทุกคนจำได้ติดตาคือ บอมเบอร์ แจ็กเก็ต (bomber jacket) ของเขา ที่ด้านหลังจะมีสัญลักษณ์ธงชาติของญี่ปุ่นและไต้หวันติดอยู่อย่างโดดเด่น ตอนที่มีการสร้างภาคต่อของ Top Gun ในปี 2019 จีนกำลังเปิดประเทศ และเป็นบล็อกบัสเตอร์ที่สำคัญของฮอลลีวูด บอมเบอร์ แจ็กเก็ต ของ Top Gun: Meverick ไม่มีสัญลักษณ์ธงชาติของทั้ง 2 ประเทศ ให้ระคายเคืองสายตารัฐบาลจีนเลย เป็นการทำให้สูญหายโดยที่รัฐบาลจีนไม่ต้องเป็นฝ่ายเตือนหรือทักท้วง เพราะตลาดภาพยนตร์ที่มหึมาในจีนเป็นเครื่องเตือนใจฮอลลีวูดโดยอัตโนมัติ

ปัจจุบัน แม้การส่งผ่านซอฟต์ พาวเวอร์ จะเกิดขึ้นง่ายๆ และรวดเร็ว ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แต่ประเทศเผด็จการที่เข้มแข็งอย่างจีนก็สามารถตอกย้ำจุดแข็งในซอฟต์ พาวเวอร์ ของตัวเองด้วยการแบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทั่วโลกใช้ มีการออกนโยบายบีบบังคับให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจีนต้องใช้แอปพลิเคชัน WeChat แทน Line หรือใช้ Weibo แทน X และ Facebook และใช้ Baidu  แทนเสิร์ชเอนจินอย่าง Google ขณะเดียวกันจีนกลับสามารถส่ง TikTok ไปสั่นสะเทือนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโลกอย่างไม่มีใครต่อกรได้

ข้อจำกัดของซอฟต์ พาวเวอร์ ยังเกิดขึ้นได้กับกลุ่มประเทศมุสลิม ดังกรณีสำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของโลกมุสลิม ก็ยังถูกปิดกั้นในประเทศมุสลิมเอง ปี 2017 ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน ต่างพากันเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของอัลจาซีรา ด้วยเหตุผลว่าเป็นสำนักข่าวที่ส่งเสริมแผนการของกลุ่มก่อการร้าย 

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ควรถูกหยิบมาเป็นเครื่องบั่นทอนการส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซอฟต์ พาวเวอร์ ยังเป็นอำนาจที่ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกแห่ง ประวัติศาสตร์ของการใช้ชอฟต์ พาวเวอร์ ที่ผ่านมาเป็นพยานหลักฐานถึงอำนาจของเครื่องมือนี้ในเวทีระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ต้องไม่ลืมปัจจัยสำคัญที่ โจเซฟ ไนร์ จูเนียร์ กล่าวไว้ด้วยว่า การจะใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างได้ผลนั้น รัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถระบุแหล่งทรัพยากรซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศตนเองได้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้การออกนโยบายและการสนับสนุน กระทำไปอย่างหลงทิศหลงทาง 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า