ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: การตายของสามัญชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในภาวะปกติ เปิดเปลือยโฉมหน้าระบบยุติธรรมไทย

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาผลงานวิชาการชุด ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ นักวิชาการจำนวนมากได้นำเสนอผลงานการวิจัยที่ท้าทายต่อสถานการณ์ความแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน อีกทั้งตั้งคำถามว่าด้วยนิยามของ ‘สันติวิธี’ และ ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ ที่มีความหมายพร่าเลือน 

ในช่วงหนึ่งของการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอหัวข้องานวิจัย ‘วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นผู้วิจารณ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้

‘วิสามัญมรณะ’ ความตายที่เงียบงันของสามัญชน

จุดเริ่มต้นของผลงานวิจัยชิ้นนี้ แตกต่างจากงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้าของ รศ.สมชาย ที่เน้นการศึกษาเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ ผลงานชิ้นนี้แตกต่างไปมากเพราะให้ความสนใจต่อความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความตายและเป็น ‘ความตายของสามัญชน’ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐในสภาวะปกติทั่วไปที่ไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือนโยบายรัฐใดๆ ซึ่ง รศ.สมชาย เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘วิสามัญมรณะ’ ที่จะพาเราไปเห็นรูปร่างหน้าตาของรัฐไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

รศ.สมชาย เปิดประเด็นปูพื้นฐานอธิบายวิสามัญมรณะด้วยการพูดถึงความตาย 2 รูปแบบคือ ความตายที่ส่งเสียงได้ และความตายที่เงียบงัน 

  1. ความตายที่ส่งเสียงได้ หมายถึง เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือนโยบายทางการเมือง มีกฎหมายเฉพาะ มีการบันทึกเรื่องราว มีการรำลึกถึง มีสถานะทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 เป็นต้น 
  2. ความตายที่เงีบบงัน หรือ ‘วิสามัญมรณะ’ หมายถึง ความตายในชีวิตประจำวันของสามัญชน ดูเหมือนเหตุการณ์ทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่ในสถานการณ์ปกติ มีการใช้กฎหมายปกติทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือนโยบายทางการเมืองโดยตรง ไม่มีการสูญเสียขนานใหญ่ เช่น การเสียชีวิตของผู้ต้องหาระหว่างการจับกุม การเสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานของทหารเกณฑ์ เป็นต้น

จากการตามเก็บข้อมูลเบื้องต้น รศ.สมชาย พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2550-2561 มีการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารจำนวน 14 ราย โดย 8 ราย มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าถูกซ้อมทรมาน สามารถนำมาเขียนรายงานข่าวได้ และในช่วงปี 2561 มีกรณีการถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารกว่า 30 กรณี มีผู้เสียชีวิต 35 ราย และในปี 2562 มีจำนวน 35 กรณี มีผู้เสียชีวิต 47 ราย 

เรื่องราวเช่นนี้มีลักษณะ ‘การตายที่เงียบงัน’ เพราะไม่มีการรวบรวม จำแนกแยกแยะ ไม่มีการรำลึก และไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา และการเลือกศึกษาในช่วงเวลาปี 2561-2562 เพราะ รศ.สมชาย เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ดูราวกับว่า ‘เป็นปกติ’ เนื่องจากพ้นจากการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาพอสมควรแล้ว มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เรียบร้อยแล้ว และจากกรณีข้างต้นทั้งหมด ความตายเหล่านี้ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธของผู้กระทำการ

จากการศึกษาของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสพบว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวะปกติมีความน่าสนใจ เพราะส่วนหนึ่งยังไม่มีการศึกษาแพร่หลายในวงวิชาการมากนัก เนื่องจากคนมักจะให้ความสนใจเพียงแค่ในช่วงที่เหตุการณ์อุบัติชั่วขณะเท่านั้น แต่หลังจากนั้นจะไม่ได้รับความสนใจ 

รศ.สมชาย ได้ยกตัวอย่างความตายที่เงียบงัน แม้ตอนเหตุการณ์อุบัติเป็นข่าวครึกโครม แต่สุดท้ายคนก็ให้ความสนใจเพียงชั่วขณะ เช่น กรณี ‘โจ ด่านช้าง’ ในปี 2539 ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม โดยตำรวจพาไปค้นหายาเสพติดเพิ่มเติม ก่อนจะมีเสียงปืนดังขึ้นในบ้านกลางทุ่ง เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลในการวิสามัญว่า โจ ด่านช้าง ขัดขืนการจับกุม ต่อมามีการรื้อถอนสถานที่เกิดเหตุ 1 สัปดาห์ให้หลังจากการวิสามัญฆาตกรรม หลังจากนั้นไม่มีใครพูดถึงอีก ดังนั้น จึงเป็นการตายของสามัญชนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่ รศ.สมชาย ให้ความสนใจในการทำวิจัยครั้งนี้ 

“หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ความตายที่เงียบงันต้องเผชิญกับกระบวนทางกฎหมายอาญาหรือแพ่งอย่างไรบ้าง ใครหรือหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบความตายที่เกิดขึ้น การเยียวยาผู้สูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ โดยทั้งหมดนี้ล้วนอุบัติขึ้นภายใต้กระบวนการอันเป็นปกติ ไม่มีกฎหมายหรือศาลพิเศษใดๆ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว บรรดาผู้สูญเสียญาติพี่น้อง คนรัก หรือผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรียกร้องต่อสู้หรือไม่อย่างไร มีผู้หลุดออกจากกระบวนการ (missing plaintiff) มากน้อยขนาดไหน” รศ.สมชาย โยนคำถาม

จากการสำรวจวรรณกรรมของศาสตราจารย์เกียรติคุณ เดวิด เอ็ม. เองเกล (David M. Engel) ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัพฟาโล (State University of New York at Buffalo) ในหนังสือที่มีชื่อว่า ‘The Myth of the Litigious Society: Why We Don’t Sue’ ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ‘ทำไมคนจึงไม่ฟ้อง’ โดยเน้นไปที่ปัจจัยจากตัว ‘ผู้ถูกกระทำ’ หรือ ‘ผู้สูญเสีย’ เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และด้านจิตใจ แต่จากการสำรวจกรณีวิสามัญมรณะของ รศ.สมชาย กลับพบในทางตรงกันข้ามว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูญเสียไม่ฟ้องคือ ปัจจัยจาก ‘ผู้กระทำการ’ หรือในกรณีนี้หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ตอบโต้ผู้ถูกกระทำคือ

  1. การเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสภาพ 
  2. การเสนอเงินเยียวยา 
  3. การเสนอผลประโยชน์อื่น 
  4. การข่มขู่ให้เกิดความกลัว 
  5. การดำเนินคดีทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูล 

ด้วยข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธของผู้กระทำการ ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากไม่อยากต่อสู้เพื่อดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้รับผิดต่อการกระทำ

อุดมการณ์ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อุปสรรคต่อการค้นหาความจริง

นอกจากนี้ รศ.สมชาย ยังมองว่า การวินิจฉัยไต่สวนความตายมีความสลับซับซ้อน หลายขั้นตอน ยุ่งยากต่อการหาความจริง เพราะการชันสูตรพลิกศพ ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจ แพทย์ อัยการ และฝ่ายปกครอง 

“ความเชื่อที่ว่าการเพิ่มฝ่ายต่างๆ เข้ามา จะก่อให้เกิดการตรวจสอบระหว่างกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น การเพิ่มฝ่ายต่างๆ เข้ามา ไม่ได้มีส่วนช่วยใดต่อคดีเลย เพราะทั้งหมดอยู่ภายใต้ ‘อุดมการณ์ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ’ เป็นผู้ถืออำนาจรัฐ ทำให้เราเห็นการฮั้วรวมหมู่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้มากกว่า และภายใต้โครงสร้างหรืออุดมการณ์เช่นนี้ กลับเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนในสภาวการณ์ปกติได้” 

ขณะที่การไต่สวนการตาย เป็นหน้าที่ของศาลเพื่อระบุผู้ตายเป็นใคร ตายได้อย่างไร แต่ก็มีปัญหาในการไต่สวน ซึ่งบางครั้งหลักฐานเพียงน้อยนิดก็สามารถนำไปสู่การไต่สวนได้แล้ว แม้ทนายฝ่ายโจทก์ขอให้มีการเปิดเผยหลักฐานจากทางเจ้าหน้าที่มากกว่านี้ 

ตัวอย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ทนายฝ่ายโจทก์ขอดูกล้องวงจรปิด ตามที่ผู้บัญคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า ไปดูกล้องวงจรปิดแล้ว เป็นการจับกุมปกติ ตรวจค้นธรรมดา แต่สุดท้ายกลับแจ้งว่าไม่มีภาพของกล้องวงจรปิดในวันนั้น แต่ศาลไต่สวนว่าหลักฐานเพียงพอแล้วต่อการวินิจฉัยเหตุการตาย หรือกรณีตากใบ ปี 2547 ที่ศาลไต่สวนความตายเพียงแค่ ‘ขาดอากาศหายใจ’ 

จากตัวอย่างที่ยกมานั้น รศ.สมชาย พอจะสรุปได้ว่า สาเหตุที่ญาติของผู้สูญเสียไม่ต้องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะความสลับซับซ้อนของกระบวนการยุติธรรมที่ยากมากที่จะดำเนินคดีต่อไป

ความรุนแรงในสภาวะยกเว้นอันเป็นปกติ

รศ.สมชาย กล่าวปิดท้ายว่า ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อความตายที่เงียบงัน (the silent death) ถือว่าเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง แต่ความรุนแรงชนิดนี้ไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ เป็นความตายที่ส่งเสียงไม่ได้ ไม่มีวันที่จะรำลึกถึง ไม่มีเรื่องราว เป็นความรุนแรงในสถานการณ์อันปกติ แต่แฝงด้วยสภาวะยกเว้นจนกลายสภาพเป็น ‘สภาวะยกเว้นอันเป็นปกติ’ (state of normalise exception) ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นความเจ็บปวดที่สูญหาย ที่การเยียวยาไม่คำนึงถึงความเสียหายที่รอบด้าน 

อย่างไรก็ดี รศ.สมชาย กล่าวว่า ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนจากการวิจัยในงานนี้ แต่คิดว่า 

“สภาวะแบบนี้ที่ดำรงอยู่ ผมเชื่อว่ามี จะเรียกว่าอุดมการณ์หรืออะไรบางอย่างก็ได้ที่มันเอื้อให้รัฐทำงานโดยใช้ความรุนแรงได้… มันเป็นอุดมการณ์ที่รัฐมีอำนาจเหนือ พร้อมจะทำงาน พร้อมจะใช้ความรุนแรง โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งจากรัฐบาล ไม่ต้องมีนโยบาย ไม่ต้องไปแตะประเด็นสำคัญๆ อะไร” 

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า นี่คือเนื้อแท้หรือจิตวิญญาณของรัฐไทยที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันก็ว่าได้

‘อำนาจของความคิดเรื่องอำนาจ’ ที่คลุมครอบสังคมไทย 

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจารณ์งานของ รศ.สมชาย ได้เชิญชวนให้ทุกคนได้อ่านงานชิ้นนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ของผู้สูญเสีย จะทำให้เห็นถึงความปวดร้าวมากมายของพวกเขา 

งานของ รศ.สมชาย ได้ชวนให้คิดต่อถึง ‘อำนาจของความคิดเรื่องอำนาจ’ ที่คลุมครอบ กำหนด สั่งการ ความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมหาศาล คือการปฏิบัติการของอำนาจที่ฝังลึกเข้าไปในหัวของคนไทยและเจ้าหน้าที่อย่างมีลำดับชั้นของอำนาจ อำนาจนี้ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมชนชั้นและระบบราชการลดหลั่นลงมา 

อำนาจที่ลงมาสู่ ‘ปฏิบัติการอำนาจ’ ก็คือ ‘อำนาจหน้าที่’ ที่จรรโลงโครงสร้างทางชนชั้นมาเนิ่นนาน และปรากฏอยู่ในระบบราชการหรือศาล และด้วยวิสามัญมรณะเช่นนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว เราจะเห็นว่ามี ‘การต่อสู้’ (กับอำนาจ) อยู่ในนั้น แต่การคลุมครอบของอำนาจ ทำให้เราไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์การต่อสู้มานานมาก 

ศ.ดร.อรรถจักร์ ทิ้งท้ายว่า งานชิ้นนี้จะพาเราไปดูการต่อสู้นี้ภายใต้โครงสร้างใหญ่ การต่อสู้สุดชีวิตของผู้สูญเสียได้แสดงแรงปรารถนาที่ต้องการ ‘ความเป็นธรรม’ และความเป็นธรรม ‘ที่เป็นธรรม’ จะช่วยเยียวยาความรู้สึกปวดร้าวจากความไม่เป็นธรรมได้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า