The Absolute Paradox: เมื่อเราทุกคนถูกผีร้ายกระทำชำเรา

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยก่อนหน้า ทำให้คนไทยอาจห่างหายจากงานศิลปะหรือการรับชมสิ่งที่รื่นเริงบันเทิงใจไปบ้าง และเช่นเดียวกันแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะเปิดประเทศ ผู้คนเริ่มออกไปท่องเที่ยวและใช้ชีวิตกันอย่างปกติแล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่สัญญาณที่จะทำให้เราวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

เพื่อให้คนไทยยังได้เสพศิลป์และปลอดภัยไปในเวลาเดียวกัน กลุ่ม Toxiphilia หรือ กลุ่ม Collective Art ที่ใช้งานศิลปะในการสื่อประเด็นทางสังคมอย่างแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และแหวกแนว โดยครั้งนี้พวกเขาได้จัดนิทรรศการที่จะพาทุกท่านร่วมสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่น่าสนุกปนพิลึก แต่ก็น่าสนใจไปพร้อมกัน ในโปรเจ็คต์ ‘The Absolute Paradox’ นิทรรศการออนไลน์ หรือ Online Collective Art Exhibition ที่มาพร้อมธีม ‘บ้านผีสิง’ 

The Absolute Paradox เป็นนิทรรศการที่ประกอบด้วยศิลปะทั้งหมด 4 แขนง จากศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ 

  • ภาพยนตร์ (Filmography) โดย ธนิศวร์ วสุ ยันตรโกวิท และ อารีดา อารยรุ่งโรจน์
  • ละครเวที (Performing Art) กำกับการแสดงโดย กมลสรวง อักษรานุเคราะห์ แสดงโดย ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ และ พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข
  • ดนตรีเชิงทดลอง (Experimental Music) โดย ศรุต บวรธีรภัค
  • กราฟิกเคลื่อนไหว (Motion Graphic) โดย เศรษฐสิริ ชาญจรัสพงศ์ 

ก่อนเข้าชมงานเริ่มแรกผู้เข้าชมต้องสร้างตัวละครของตัวเองบนแพลตฟอร์ม Gather town แพลตฟอร์มที่สามารถจำลองสถานที่เสมือนจริงขึ้นมา ซึ่งในครั้งนี้ก็มาในธีมบ้านผีสิงออนไลน์ที่บรรยากาศก็ชวนขนหัวลุกและวังเวงไม่แพ้การไปเหยียบสถานที่จริงเลยทีเดียว หลังจากสร้างตัวละครหรือคาแรคเตอร์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว จะพบกับทางเดินที่รอบข้างเป็นเหมือนป่าช้าและจะมีผู้นำทางคอยสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมและสนุกไปกับกิจกรรม โดยผู้นำทางจะเป็นเหมือนไกด์มีธงสีแดงพาเราไปยังห้องต่างๆ ที่ตกแต่งด้วยอุปกรณ์หลากหลาย วางไว้ตามมุมห้อง กลางห้อง และจุดต่างๆ เพื่อให้เราได้เดินชมและร่วมสำรวจ ซึ่งของตกแต่งภายในนิทรรศการได้สอดแทรกเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์การเมืองไทย อาทิ ภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เช่น ชัยภูมิ ป่าแส และนักเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นต้น

กราฟิกสิ่งของที่ประดับตกแต่งรายทางให้บรรยากาศแบบไทยๆ ทั้งเก้าอี้พลาสติกแบบร้านอาหารตามสั่งริมทาง ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ผูกผ้า 3 สี ประดับด้วยพวงมาลัย แปลงดินโล่งๆ แปะป้ายห้ามผ่าน ชวนให้นึกถึงที่ดินแปลงหนึ่ง ข้อความรายทางที่ต้องเปิดอ่านถึงจะเจอ ณ จุดนี้ต้องใช้ความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวของผู้เข้าชมด้วย เพราะถ้าสำรวจไม่ครบอาจพลาดบางใจความที่ซ่อนอยู่ แต่ละข้อความล้วนเป็นปริศนา ขึ้นอยู่กับผู้อ่านจะตีความ ว่าผู้จัดต้องการสื่อสารสิ่งเดียวกับที่เราคิดหรือไม่

กิจกรรมแรกที่ผู้นำทางพาไปรับชมนั่นคือ การชมภาพยนตร์ ที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับภูตผีปีศาจ สิ่งเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อ เดินเรื่องด้วยหญิงสาวที่เนื้อตัวร่างกายเต็มไปด้วยแผล และรอยฟกช้ำเหมือนถูกทำร้ายร่างกายมาอย่างหนัก จนเธอพบกับองค์กรหนึ่งผ่านการโฆษณาบนโทรทัศน์ที่ไม่ว่าเธอจะเปิดดูทีไรก็จะมีโฆษณานี้โผล่ขึ้นมาเสมอ องค์กรที่ว่าคือ ‘The Absolute Paradox’ องค์กรที่เสนอวิธีการกำจัดผี และปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เมื่อนี่คือหนทางหนึ่งที่จะทำให้เธออาจรอดพ้นจากรอยฟกช้ำปริศนา การเข้าหาองค์กรนี้จึงเป็นเส้นทางที่เธอเลือก เพื่อให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ ทว่าองค์กรมีกฎว่าเธอต้องทำตามสิ่งที่พวกเขาบอกเท่านั้น เพราะหากออกนอกทำนองคลองธรรมก็จะเกิดปัญหาซ้ำเดิมได้ และวิธีการที่ต้องทำคือการ ‘ร่วมรัก’

การร่วมรักที่เปรียบได้กับการถูกกระทำชำเรา เพราะใช่ว่าเธอจะยินยอมพร้อมใจ แต่จำต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษา ในพิธีชำระบาป หมอผีบอกกับเธอว่า “ต้องคิดเสียว่าเราเต็มใจร่วมรักกัน” หญิงสาวต้องไปล้างตัวชำระบาป โดยการพลิกหมุนตัวเองไปมาในอ่างอาบน้ำ สีหน้างุนงงของเธอกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ถูกแทนที่ด้วยรอยยิ้มสุขสม เธอตื่นขึ้นมาบนเตียงในห้องนอนด้วยรอยยิ้มรับวันใหม่ สายตามุ่งตรงทะลุเลนส์ผ่านมายังผู้ชมเช่นเราๆ เธอมีใบหน้าเปื้อนยิ้มแต่สายตาไม่ยิ้มตาม รอยช้ำตามตัวหายไปแล้ว ต่อจากนี้จะไม่มีผีร้ายมาทำร้ายเธออีกแล้ว

แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะสื่อให้เห็นเป็นเพียงเรื่องลี้ลับ หรือเรื่องผี แต่กลับซ่อนความหมายและนัยที่ไปไกลกว่านั้น นั่นคือ สภาพความเป็นไปของการเมืองไทย

หลังจากจบกิจกรรมในห้องแรก ผู้ชมก็ถูกพาไปยังห้องศิลปะการแสดงละครเวที หรือ Performing Art ที่มาพร้อมกับดนตรีประกอบ หรือดนตรีเชิงทดลอง (Experimental Music) ที่คอยสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้รับชม ประกอบไปกับเนื้อเรื่องที่พาให้เราได้รู้ถึงจุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ ในปัจจุบัน และต้นตอของความบาปของมนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นเรื่องเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่ไยดีต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น 

ถัดจากกิจกรรมข้างต้น เราเคลื่อนย้ายไปยังอีกห้องที่ผู้นำทางกล่าวว่านี่คือตัวอย่างของ ‘คนนอกรีต’ ซึ่งในกิจกรรมส่วนที่ 3 นี้ คือการฉายภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงกับภาพยนตร์ในเรื่องแรก ดำเนินเรื่องโดยชายหนุ่มที่ถูกรังควานด้วยผีร้ายเช่นเดียวกัน แต่วิธีการปัดเป่าผีแตกต่างกับหญิงสาว นั่นคือการไม่เข้าร่วมองค์กร แต่เป็นการหาหมอ และเล่าความทุกข์ทรมานของตนตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในจุดนี้ความแตกต่างของทั้งหญิงสาวและชายหนุ่มผู้นี้คือ ในพาร์ทของหญิงสาวจะแสดงถึงความนิ่งเงียบ และสะท้อนภาพของการจำยอมปฏิตามพิธีกรรมแต่โดยดี ส่วนชายหนุ่มจะเน้นการเล่าเรื่อง การใช้เสียง แสดงอารมณ์และความเจ็บปวดที่ตนเจอ 

เมื่อวิธีการไล่ผีของทั้งคู่แตกต่างกัน ผลลัพธ์จึงแตกต่างกันด้วย ทว่าบทสรุปของชายหนุ่มจะเป็นอย่างไร ผีจะถูกปัดเป่า หรือเขาจะได้รับการรักษาหรือไม่ ตอนจบของเรื่องนี้บอกได้เลยว่าค่อนข้างสะเทือนใจ การรับชมด้วยตัวเองจะยิ่งทำให้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง ณ ตอนนี้ได้เป็นอย่างดี

ต่อมา ห้องสุดท้ายเป็นห้องที่ใช้การแสดงผ่านลีลาการเต้น โดยผู้แสดงสวมใส่หน้ากากคล้ายตะกร้อครอบปากสุนัข พร้อมกับคาบลูกกลมๆ ไว้ที่ปาก เป็นการแสดงที่ประกอบไปกับภาพเคลื่อนไหวแบบ Motion Graphic มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์ 

การแสดงประกอบศิลปะทั้ง 4 แขนงเหล่านี้ รวมกันเป็นงาน The Absolute Paradox ที่จุดเด่นคือการผสมผสานศิลปะหลายแขนงเข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของไทย ด้วยฝีมือของศิลปินคนรุ่นใหม่ ผ่านธีมที่เล่นกับความเชื่อและใช้เรื่องผีเป็นตัวเชื่อม จนทำให้สัมผัสได้ว่า ‘ผี’ ในความหมายที่เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นวิญญาณไร้รูปร่าง มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ อาจมีลักษณะที่แตกต่างหลังเข้าร่วมนิทรรศการนี้ ที่นิยามคำว่า ‘ผี’ อาจไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งชั่วร้ายดังที่เคยถูกนิยามไว้ ทว่ายังหมายรวมถึงการตราหน้าผู้อื่นหรือสิ่งอื่นว่าเป็นผี และสร้างความชอบธรรมในการกระทำชำเราผู้อื่นโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างซึ่งหน้า 

ผีที่ว่าจึงไม่จำเป็นต้องไร้รูปร่าง หรือมองไม่เห็น แต่ยังสามารถมาในลักษณะที่เรามองเห็นและมีตัวตนจับต้องได้เช่นเดียวกัน 

The Absolute Paradox จัดให้ชมตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน – 11 ธันวาคม 2564 

บัตรราคา 400 บาท 

สามารถสำรองบัตรได้ที่เว็บไซต์ Ticketmelon https://www.ticketmelon.com/tox…/theabsoluteparadoxproject หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/toxiphilia

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Author

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า