Lost and Found: ไม่อนุญาตให้อยู่ ไม่อนุญาตให้ตาย ‘การอุ้มหาย’ ในรัฐพันลึก

Lost and Found คือชุมชนของคนทำงานศิลปะที่ไม่จำกัดเสรีภาพ แสดงผลงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมเป็นปากเป็นเสียงแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ พวกเขาได้เปิดตัวโครงการ ‘Lost and Found The Missing Ground’ งานศิลปะเพื่อระดมทุน ในค่ำคืนของวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ ‘วันเฉลิม’ ถูกบังคับให้หายไป เพื่อรำลึกถึง ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และผู้ถูกบังคับให้สูญหายในรัฐไทยอีกเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคสงครามเย็น หรือกระทั่งการรัฐประหารครั้งต่างๆ จนครั้งล่าสุดในปี 2557 จวบจนถึงปัจจุบัน 

‘Lost and Found The Missing Ground’ คือนิทรรศการศิลปะในรูปแบบ virtual exhibition ร่วมกับศิลปินไทยร่วมสมัยหลายท่าน ที่จะจัดแสดงผลงานตลอดทั้งปี เพื่อสะท้อนภาวการณ์การถูกบังคับให้สูญหาย โดยโครงการศิลปะนี้เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง – สร้างความตระหนักรู้แก่สังคม เพื่อยุติการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย 

สอง – ระดมทุนจากการขายงานศิลปะเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมืองกรณีที่ถูกคุกคามข่มขู่ และครอบครัวผู้สูญหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง 

สาม – เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก จากการที่ประชาชนถูก judicial harassment (การคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรม) จากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

ถึงวันเฉลิม… เราจะไม่เงียบ

นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม ปี 2562 (หลังจากที่ คสช. ลงจากอำนาจแล้ว) มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ ไม่ต่ำกว่า 104 ราย คนกลุ่มนี้มีทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิชาการ ผู้ที่ถูก คสช. เรียกรายงานตัว ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนทั่วไปที่ถูกออกหมายจับในคดี 112 

เมื่อคนเหล่านี้ลี้ภัยและบางส่วนถูกอุ้มหาย ทนายปู-มนทนา ดวงประภา ได้กล่าวถึงสถานการณ์การบังคับให้สูญหายในประเทศไทยว่า 

“การอุ้มหายมันเป็นขีดสุดของเหยื่อของความรุนแรงที่รัฐไทยเองทำต่อคนที่เห็นว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐไทย ซึ่งหลังจากที่เขาออกไปแล้วอาจจะมีการติดตามคุกคามอยู่เรื่อยๆ จนสุดท้ายเขาต้องใช้มาตรการสูงสุด คือ ไม่อนุญาตให้อยู่ แล้วก็ไม่อนุญาตให้ตาย ซึ่งมันก็คือการอุ้มหาย”

9 คน คือจำนวนของผู้ที่สูญหาย ดังนี้ 

คนที่หนึ่ง –  ‘ดีเจซุนโฮ’ อิทธิพล สุขแป้น หายไปเมื่อประมาณช่วงปี 2559 

คนที่สอง –  ‘โกตี๋’ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หายไปช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2560

คนที่สาม – สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สูญหายในประเทศลาวในช่วงปี 2561 

คนที่สี่ – ไกรเดช ลือเลิศ สูญหายในประเทศลาวในช่วงปี 2561 

คนที่ห้า – ชัชชาญ บุปผาวัลย์ สูญหายในประเทศลาวในช่วงปี 2561 

คนที่หก – สยาม ธีรวุฒิ

คนที่เจ็ด – ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ‘ลุงสนามหลวง’

คนที่แปด – กฤษณะ ทัพไทย

คนที่เก้า – ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ 

ในจำนวนนี้ พบ 2 ศพที่ระบุได้ว่าคือ ไกรเดช ลือเลิศ และ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ จากการตรวจพบ DNA ของศพที่ลอยตามน้ำมายังจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทย และถือเป็นสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และบุคคลสูญหายที่เกิดขึ้นในยุค คสช. เรืองอำนาจ

“ในส่วนคดีของวันเฉลิม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมของไทยเอง หรือว่ากระบวนการยุติธรรมของทางกัมพูชา จุดหนึ่งที่กำลังดำเนินการคือ หนึ่ง – ต้าร์อยู่ที่นั่นจริงหรือเปล่า สอง – เหตุการณ์การลักพาตัวโดยชายไม่ทราบชื่อจำนวน 4 คน ใส่ชุดสีดำด้วยมันเกิดขึ้นที่กัมพูชาจริงๆ หรือเปล่า 2 ประเด็นนี้ในส่วนของกัมพูชาเองนั้น อยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนของผู้พิพากษาไต่สวน และการเตรียมสำนวนว่าศาลจะมีความเห็นยังไงบ้างหลังจากที่พี่เจนไปให้ปากคำเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมในปีที่แล้ว 

“ส่วนของฝั่งไทย หลังจากที่พี่เจนยื่นหนังสือในทุกกระบวนการ ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่ DSI กับอัยการสูงสุด ซึ่งทั้ง 2 องค์กรก็มีประเด็นเหมือนกับทางฝั่งกัมพูชาว่า ‘หายไปจริงหรือเปล่า เขาอยู่ที่นั่นจริงหรือเปล่า’ ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนกับสะท้อนกลับไป ณ จุดเดิม ในวันที่วันเฉลิมได้หายไป” 

นับแต่วันที่วันเฉลิมหายตัวไป เจน-สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สุภาพสตรีผู้ซึ่งไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมือง กลับกลายเป็นผู้ที่ต้องออกเดินทางไปยังทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร เพื่อทวงถามความเป็นธรรมแก่น้องชายของเธอทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา 

ครอบครัวของผู้สูญหาย คือเหยื่อและผู้สูญเสีย

เป็นเวลา 1 ปีเต็ม… เธอไม่เคยหยุดตามหา แม้ความยุติธรรมนั้นจะยังไม่ปรากฏ

“มันทั้งอึดอัด ทั้งสะเทือนใจ 1 ปีแล้วที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชายังคงนิ่งเฉยกับกระบวนการยุติธรรมหรือการสืบสวนสอบสวน เราไปหลายที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาเพิกเฉยมาก เขายืนยันที่จะปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง มันทำให้เรารับรู้ได้เลยว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวของคนที่หายไปเขาสะเทือนใจแค่ไหน เขาทุกข์ทรมานแค่ไหน”

ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกของผู้คน ไม่ได้หยุดอยู่เพียงผู้ลี้ภัยเท่านั้น ทว่ากินความไปถึงครอบครัวของผู้สูญหาย ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจและภัยจากเงามืดที่เราไม่มองเห็น

ในกรณีของบุคคลสูญหาย ครอบครัวของพวกเขาจะต้องเผชิญกับสถานการณ์และต้องดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมอย่างไรบ้าง ในข้อนี้ ทนายปูได้อธิบายในรายละเอียดไว้ว่า 

หนึ่ง – ครอบครัวต้องดำเนินการไปที่กองปราบ สถานีตำรวจ หรือว่าแม้แต่สถานที่ต่างๆ เพื่อไปสอบถามว่า ผู้สูญหายอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

สอง – หลังจากนั้น ญาติต้องไปที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ หรือ ‘กรมการกงสุล’ เพื่อสอบถามไปที่กรมการกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ ที่อ้างว่า ‘มีบุคคลสูญหาย’ หรือบุคคลนั้นมีข้อเท็จจริงในการเดินทางเข้าออกประเทศนั้นๆ อย่างไร

สาม – หากต้องการให้มีการสืบสวนสอบสวน ในประเทศไทยตอนนี้กำลังใช้เรื่องกลไกของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีบังคับให้สูญหายสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม หมายความว่า ญาติของผู้สูญหายต้องทำหนังสือให้ข้อเท็จจริงกับหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกนี้มีทั้ง DSI มีทั้งอัยการสูงสุด แล้วมีทั้งหน่วยงานต่างๆ เป็นคณะกรรมการด้วย

สี่ – หากครอบครัวผู้สูญหายต้องการให้มีบุคคลที่สามหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือในการติดตามการหายตัวไปของญาติ จะต้องไปร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการของรัฐสภาต่างๆ หรือให้ข้อเท็จจริงกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะช่วยกันผลักดันให้รัฐไทยดำเนินการต่อไป 

ห้า – หากทางครอบครัวต้องการให้มีการติดตามหรือสืบสวนสอบสวนในประเทศต้นทาง เช่นกรณีที่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (พี่สาววันเฉลิม) ต้องเดินทางไปประเทศกัมพูชา และยื่นเรื่องที่ศาลกัมพูชา สถานีตำรวจกัมพูชา หรืออัยการของกัมพูชา

“พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมคะว่า ถ้าคนหายแล้วญาตินอกจากจะต้องมีความทุกข์ใจในการที่ญาติของเราหายไปโดยกะทันหันแล้ว เขาเองก็จะต้องวิ่งแล้วก็ดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ภายในระยะเวลานับตั้งแต่วันที่เขารู้ว่าญาติของเขาหายไป” ทนายปูทิ้งท้าย 

การอุ้มหายในสามจังหวัดชายแดนใต้

ต่อเนื่องจากประเด็นการถูกบังคับให้สูญหาย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้ที่ติดตามคดีด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้น โดยเธอได้เริ่มต้นเล่าจากการทำความเข้าใจก่อนว่า หัวข้อ ‘การบังคับให้สูญหาย’ ในการสนทนาครั้งนี้ ไม่นับรวมเรื่องของการลักพาตัวโดยเอกชน หรือโดยมาเฟียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนี้สิน ทว่าหมายถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น 

เมื่อความเข้าใจตรงกันแล้ว เธอจึงเริ่มเล่าว่า 

“สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดมันก็คือ การทำให้คนที่รัฐไม่ต้องการ คนที่รัฐไม่ต้องการได้ยินเสียง คนที่รัฐเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูรูปแบบต่างๆ หายไปจากโลกใบนี้เลย ทั้งหายไปจากญาติ หายไปจากเพื่อน หายไปจากกระบวนการยุติธรรม แล้วก็หายไปจากสังคม ดังนั้น กรณีที่เราพูดถึงการบังคับให้สูญหาย มันเกิดขึ้นในบริบทที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด”

กรณีแรกของ ‘การบังคับให้สูญหาย’ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้บันทึกไว้ คือ ‘หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา’ ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 68 ปีที่แล้ว

“กรณีหะยีสุหลงมีความชัดเจนใน 3 ปีต่อมาหลังจากเกิดเหตุว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดสงขลา และเป็นคำสั่งจากกรุงเทพฯ โดยอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ถ้าในตอนนั้นเราสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ สามารถจัดการตรงนั้นได้ เราก็จะไม่มีบุคคลสูญหาย แต่ปัจจุบันโครงสร้างเหล่านั้นมันยังคงอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น กรณีการหายตัวจากนโยบายต่างๆ ใน 3 จังหวัด และจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด คือ 2 กลุ่มที่ทำให้มีคนหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย”

111 ราย คือจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายจากการบันทึกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

85 ราย คือจำนวนคนหายที่องค์การสหประชาชาติบันทึกไว้ หรือมีการส่งเรื่องไปที่ UN

ด้วยตัวเลขนี้ ประเทศไทยจึงถูกเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงกลไกด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้มีข้อหาความผิดเรื่องการอุ้มหายตลอดมา 

“ถ้าของที่เรารักหาย บางทีเราก็จะหาอยู่ตลอดเวลา แล้วนี่คนทั้งคนถูกจับและหายไปใน 3 จังหวัดฯ มันเป็นเรื่องของการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งการสืบหา สืบค้น ยากมากๆ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ หน่วยงานราชการทำเป็นไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัว มีหลายกรณีที่การจับกุมเกิดต่อหน้าเด็ก ต่อหน้าภรรยา ต่อหน้าชุมชน ทุกคนยังจำภาพนั้นได้ แต่ไม่มีใครกล้าที่จะชี้ตัวชี้หน้าของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกคนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ นี่คือความยากของกรณีการบังคับให้สูญหาย” 

การเข้าร่วมกลุ่ม Lost and Found ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในครั้งนี้ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าความต้องการที่จะให้ผู้คนตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาของการบังคับให้สูญหายทางการเมือง และสามารถพูดคุยกันในสาธารณะได้มากยิ่งขึ้น 

“Lost and Found เป็นกิจกรรมที่เราริเริ่มเพื่อจะต่อต้านการอุ้มหาย ต่อต้านโครงสร้างรัฐที่บกพร่อง จะต้องทำให้ไม่มี ‘คนหาย’ คนต่อไป การช่วยเหลือบุคคลที่ไม่สามารถลุกขึ้นมายืนพูด สื่อสาร หรือแม้แต่การเล่าเรื่อง อย่างคนที่หายไปแล้ว 8 ราย เราจะต้องสร้างพื้นที่ที่เป็นความสว่างให้เขา เพราะมีหลายคนที่ถูกอุ้มไปโดยที่เราไม่รู้สถานการณ์เลยว่าเขาถูกอุ้มไปได้อย่างไร แต่ปรากฏว่าเป็นการถูกควบคุมตัวที่เรือนจำในประเทศเพื่อนบ้าน” พรเพ็ญทิ้งท้าย 

เมื่อรัฐกลายเป็นอาชญากร

“เวลาเกิดเรื่องเหล่านี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ญาติด้วยซ้ำที่จะต้องออกมาตามหาเป็นคนแรก รัฐต่างหากที่ต้องตามหาพลเมืองของตัวเองว่าเขาหายไปได้ยังไง”

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การอุ้มหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐในประเทศไทย ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า 

“ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ไทย การอุ้มหาย มันเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตแล้ว แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี คนที่ถูกอุ้มหายส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร”

อาจารย์ประจักษ์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ ในยุคสมัย ถนอม กิตติขจร เมื่อผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกอุ้มหายและนำไปสู่โศกนาฏกรรม และรัฐได้ลอยนวลพ้นจากความผิดทั้งปวง 

“เมื่อพี่สาวคุณวันเฉลิมต้องออกมาต่อสู้ ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ซึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารอยู่ตั้ง 6-7 ปี ในช่วงประมาณยุค 6 ตุลาฯ ในประเทศของเรา ยุคนั้นอาร์เจนตินาโหดเหี้ยมมาก มีคนถูกอุ้มหายโดยรัฐถึงราว 30,000 คนได้ กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อทวงถามความยุติธรรมว่า ลูกหลานเขาหายไปไหน ก็เป็นแม่และยายนี่แหละที่ออกมาต่อสู้”

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่สูญเสียที่สุดคือครอบครัวของเหยื่อที่ไม่ได้รับความยุติธรรม พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ซึ่งมีต้นทุนมหาศาลเพื่อทวงถามความจริง ต้นทุนที่หมายถึงทุนทรัพย์ เวลา และความปลอดภัย

“ผมคิดว่า อยากให้พวกเราช่วยกันร่วมต่อสู้ไปในครั้งนี้ด้วย แม้เราจะไม่ได้เป็นเหยื่อโดยตรง ไม่ได้เป็นครอบครัวของคุณวันเฉลิม แต่เมื่อเราถูกปกครองด้วยรัฐที่เป็นเผด็จการและล้มเหลวในการบริหารประเทศ ผมคิดว่า เราทุกคนเป็นเหยื่อของรัฐแบบนี้ ไม่ใช่แค่ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดคุณวันเฉลิมเท่านั้น”

ชะตากรรมของกรณีวันเฉลิม และชะตากรรมของประชาธิปไตย คือเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะในวันที่เราต่างอยู่ในสังคมที่ผิดปกติ รัฐที่ไม่ปกติ 

“เวลาเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่อให้ใครได้เป็นรัฐบาล หรือต่อสู้เพื่อแค่ให้ได้มีการเลือกตั้ง ท้ายที่สุด ประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่เราอยากได้ คือประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มันไม่ควรมีรัฐไหนที่อยู่ดีๆ ก็ไม่ชอบพลเมืองของตัวเอง เฮ้ย มันมาวิจารณ์นะ มันมาด่านะ แล้วสั่งเจ้าหน้าที่รัฐให้มาอุ้มแล้วหายไปเลย มันแปลว่า ณ จุดนั้น คุณไม่ได้เป็นรัฐแล้ว คุณคืออาชญากร” 


Lost & Found 

ในขณะนี้ platform สำหรับการดำเนินงานโปรเจ็คต์ ‘Lost and Found The Missing Ground’ งานศิลปะเพื่อระดมทุน อยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ เบื้องต้นจึงจัดให้มีการประเดิมด้วยการประมูลชิ้นงานศิลปะชุดแรก โดยมีเวลา 7 วัน เริ่มต้นวันที่ 4  มิถุนายน 2564 เวลา 21.00 น. – 10 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. (เวลาประเทศไทย)

ผู้ที่สนใจสามารถระบุราคาที่ท่านต้องการประมูลใต้รูปภาพชิ้นงาน หรือส่งทางกล่องข้อความของเพจ Facebook: Lost and Found The Missing Ground หลังสิ้นสุดการประมูล จะมีการประกาศผลผู้ชนะการประมูล วันที่ 11 มิถุนายน 2564

Embrace
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Artist: Apichatpong Weerasethakul
Title: Soldier Series – Embrace
Format: Giclée Print
Size: 2,200 mm × 1,467 mm
Year: 2019
Edition: 5 + 2 APs
Base Price: 380,000 THB

ผลงาน ‘Embrace’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นผลงานในชุด ‘The Soldier’ โดยมีตัวละครชายในชุดเครื่องแบบแต่ใบหน้าเลือนรางในหลากหลายรูปแบบ สำหรับชุดผลงานนี้ อภิชาติพงศ์ถ่ายภาพภาพทหารหนุ่มและทำให้หน้าของพวกเขาพร่าเลือนด้วยแสงสีขาว ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มักมีตัวละครทหารปรากฏอยู่ในหลายเรื่อง อันอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกองทัพที่มีต่อสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

Untitled, 2014
ทัศนัย เศรษฐเสรี

Artist: Thasnai Sethaseree
Title: Untitled, 2014
Format: painting, paper collage
Size: 155 x 155 cm 
Year: 2014
Base Price: 20,000 USD

ผลงาน ‘Untitled, 2014’ นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดผลงาน ‘What You Don’t See Will Hurt You’ กล่าวถึงห้วงเวลาของการสร้างความสมัยใหม่ในสังคมไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านภาพสถานที่และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ภาพเหล่านี้ถูกนำมาซ้อนทับด้วยเทคนิคการตัดแปะกระดาษ เรียงตัวซ้อนทับกันจนเป็นลายเส้นนามธรรม

‘ทิชชู่ 112’
Artn’t

Artist: Artn’t 
Title: ทิชชู่ 112
Format: กระดาษชำระ
Size: เท่ากับทิชชู่ 1 ม้วน
Year: 2021
Base price: 112 บาท

ม้วนกระดาษชำระนี้ ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก โดยการพิมพ์หมายเรียกผู้ต้องหาจากมาตรา 112 หรือที่รู้จักกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ลงบนกระดาษชำระ อันสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางสังคมที่กฎหมายถูกใช้เพื่อชะล้างมลทินมากกว่าเพื่อหลักยุติธรรม ดังนั้นแล้ว กฎหมายข้อนี้จึงไม่ต่างอะไรกับกระดาษชำระที่ใช้แล้วทิ้ง 

doormatn’t

Title: doormatn’t 
Size: 40 x 60 cm 
Format: doormat 
Year: 2021
Base price: 321

วิธีการใช้

  • ใช้เช็ดตีน
  • ใช้ปูแทนพรมแดง
  • ใช้เตือนใจว่า ตุลาการอยู่ใต้ชื่อสามานย์นามชั่ว มิใช่ตุลาการด้วยอธิปไตยแห่งรัฐ
  • ใช้มอบเป็นของที่ระลึกให้กับเนติกรบริการ ที่บิดเบือนความยุติธรรมเพื่อทรราช
  • ใช้วางคู่กับหนังสือ ‘ลงเรือแป๊ะ’
  • ใช้ประดับให้มีทุกบ้าน
  • ใช้ซับเหงื่อไคลจากการทำงานหนักพิพากษาอย่างหนักของพวกอัยการและตุลาการ ที่อุตส่าห์เรียนมาเสียเยอะ แต่เป็นได้แค่ขี้ข้าทหาร

ไว้ประดับบ้าน เพื่อรำลึกถึงตุลาการภิวัฒน์ ที่ก้มกราบโดยดุษณี เพื่อจดเพื่อจำว่า ตุลาการนั้นเอนอ่อนบิดเบี้ยวในหลักการ กระทั่งที่สองตีนเหยียบยืนบนผืนดิน ไม่ได้ทำให้กระดูกสันหลังนั้นเหยียดตรง!

เชิญท่านใช้เช็ดตีน,

คำเตือน! โปรดระวังตีนของท่านจะสกปรกสามานย์ไปด้วยตุลาการอยุติธรรม

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

ณัฐวรรณ ทองพันภิญโญ
เด็กประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเรียนจบในปีหน้าผู้กำลังรอคอยการไปคอนเสิร์ตอีกครั้งอย่างใจจดใจจ่อ และหาลู่ทางไปเติบโตในสังคมที่ดีกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า