จดหมายไม่มีผู้รับ: ไม่มีผู้ชายในบ้านฟาเดล

illustration: antizeptic

ฟาเดล ที่รัก

บ้านของคุณไม่มีผู้ชายเหลือเลยสักคน แม่ พี่สาว น้องสาว และหลานๆ อยู่กันเต็มบ้าน แต่ไม่มีผู้ชายเลยสักคน น้องชายของคุณทำงานที่อียิปต์ ส่วนน้องชายอีกคนที่อายุน้อยกว่าหนึ่งปีก็เสียชีวิตแล้ว ฟัดลานตายแล้ว แม่และครอบครัวรู้ข่าวผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นข่าววิสามัญฆาตกรรมคนร้ายก่อความไม่สงบ วันนั้นเป็นวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สิบเดือนหลังจากคุณหายไป

“ชื่อของเขาปรากฏเป็นคนแรก” พี่สาวของคุณเล่า “เรื่องอาวุธปืน เราไม่เชื่อเด็ดขาด ชาวบ้านละแวกนั้นบอกว่า 4 คนนี้ไม่มีอาวุธ”

น้องชายของคุณถูกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เขาเลือกหนี ครอบครัวไม่สามารถติดต่อได้ เขาหนีก่อนที่คุณจะหายไป เขาเลือกต่างจากคุณ

“น้องชายของฟาเดลกลัวกระบวนการของเจ้าหน้าที่ จึงหนีไป” แม่ของคุณบอก

ความรุนแรงเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ รวมทั้งการออกกฎหมายพิเศษหลายฉบับ ได้แก่ การประกาศใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น ห้าม ยึด จับกุม กักหรือควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาลตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (กฎอัยการศีก) การตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

กฎหมายพิเศษเหล่านี้เอื้อให้เจ้าหน้าที่สามารถปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และกักตัวผู้ต้องสงสัยโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไว้ในค่ายทหารได้เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน และควบคุมตัวในสถานที่พิเศษ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อีกไม่เกิน 7 วัน ขยายการควบคุมตัวได้อีกคราวละไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วันโดยได้รับอนุญาตจากศาล ไม่จำเป็นต้องมีข้อกล่าวหาว่าได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด

“ฟัดลานเคยถูกควบคุมตัวและฝากขัง เราประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดี พอประกันตัวออกมา ก็มีเจ้าหน้าที่มาหาเรื่อยๆ เวลาเกิดเหตุรุนแรงเจ้าหน้าที่จะมาหาเขาที่บ้านตลอด ก่อนที่ฟัดลานจะหนีไป ลูกชายของโต๊ะอิหม่ามในหมู่บ้านถูกควบคุมตัวไปซ้อมทรมาน พอกลับออกมาเขาเสียสติ เจ้าหน้าที่บอกว่า ลูกของโต๊ะอิหม่ามให้การว่า ฟัดลานมีส่วนกับความไม่สงบในพื้นที่ เขาเลยหนี” แม่ของคุณเล่า

เดือนมกราคม 2559 เดือนและปีเดียวกับที่คุณหายตัวไป มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี เผยแพร่รายงาน สถานการณ์ทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558

จากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า การทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกทรมาน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและทหาร

“…การกระทำทรมานฯ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการซักถาม รองลงมาคือระหว่างการจับกุมและระหว่างการเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ควบคุมตัว หรือระหว่างย้ายจากสถานที่ควบคุมตัวที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำทรมานฯ มากที่สุดในช่วงการเก็บบันทึกข้อมูลคือ ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี รองลงมาคือ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 41 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา นอกจากนี้ก็มีข้อร้องเรียนการกระทำทรมานฯ ของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เช่น หน่วยเฉพาะกิจที่ 41, 43, 46, 47 หน่วยเฉพาะกิจในวัดช้างไห้ วัดเลียบ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และวัดสุทธิกาวาส (วัดสักขี) ตำบลละหาร อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจของทหาร และเป็นช่วงเวลาในการควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึกที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ 7 วัน”

วิธีการทรมานมีตั้งแต่การข่มขู่ การจำลองวิธีการประหารชีวิต เช่น ใช้ปืนจ่อศีรษะ การรบกวนการนอน ขังเดี่ยว หรือการทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส เช่น ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและตบหูทั้งสองข้าง ทุบตีร่างกาย บีบคอ การทำให้จมน้ำ การขังไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสุดขั้ว การเฆี่ยนตี ใช้ไฟฟ้าช็อต บังคับให้เปลือยกาย ฯลฯ

หลังกลับออกมาจากการถูกเชิญตัวไปสอบสวนในแต่ละครั้ง คุณเงียบ ไม่ปริปากบอกเล่าให้แม่ฟัง คุณเงียบ ไม่มีใครรู้ว่าคุณเผชิญอะไร

การหายตัวไปของคุณคือข้อเท็จจริงที่แตกกระจาย ประหนึ่งเรื่องเล่าของนักเขียนญี่ปุ่น เหตุการณ์เดียวแต่ถูกมองต่างกันไป

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณ เผยแพร่ผ่านสำนักข่าว Deep South Watch ลำดับเหตุการณ์วันที่คุณหายตัวไปว่า

“เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดล ได้ออกจากบ้านพักพร้อมรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ทะเบียน ก 670 ปัตตานี โดยขณะที่เข้าไปทำภารกิจในโรงเรียนมูฮำมาดียะห์ หมู่ที่ 8 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้มีคนร้ายขับรถยนต์เก๋งสีดำเข้าในโรงเรียน แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปในสนามฟุตบอลไปจอดข้างประตูฟุตบอล ทันใดนั้น ได้มีชายฉกรรจ์ 3 คน ลงจากรถและวิ่งไปทางอาคารห้องพักครูซึ่งห่างจากรถที่จอดอยู่ประมาณไม่เกิน 5 เมตร จากนั้นชายฉกรรจ์ 2 คน ได้เข้าล็อคแขนนายฟาเดลคนละข้าง ลากตัวมาที่รถยนต์ซึ่งกำลังจอดอยู่ ขณะที่ชายอีกคนวิ่งมาเปิดประตูรอไว้ก่อนแล้ว โดยมีบุคคลที่อยู่ในโรงเรียนเห็นเหตุการณ์ และเห็นนายฟาเดล ขณะที่ถูกลากตัวได้ขัดขืนโดยการเอามือดันไว้ที่ขอบประตูบนของรถ แต่ได้มีชายอีกคนฝั่งขวามือพยายามยกขาของนายฟาเดล และยัดขาเข้าไปในรถจนรองเท้าตกลงพื้น คนขับรถจึงได้รีบขับรถออกไปจากบริเวณโรงเรียน”

ลำดับเหตุการณ์นี้ตรงกับความรับรู้ของครอบครัว แต่รายงานชิ้นนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวคุณว่า ครอบครัวของคุณมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มขบวนการและเป็นครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบ อีกทั้งพี่น้องท้องเดียวกันในครอบครัวได้สืบทอดอุดมการณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มขบวนการตามบิดา คุณเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบที่ลงมือก่อเหตุในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมและสอดส่องเนื่องจากในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง

“เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวนายฟาเดลตามกฎอัยการศึกฯ และส่งตัวเพื่อดำเนินกรรมวิธีซักถาม ยังหน่วย ขกท.สน.จชต. ในระหว่างควบคุมตัวอยู่นั้น นายฟาเดลได้ยอมรับว่าเป็นสมาชิก ผกร. โดยได้ทำการฝึก RKK เมื่อปี 48 ตำแหน่งในกลุ่ม ผกร. ตั้งแต่ปี 48-53 เป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ ปี 54-ปัจจุบัน เป็นมือประกอบระเบิดที่มีความชำนาญ โดยมีการสาธิตการประกอบระเบิดให้เจ้าหน้าที่ดูด้วยความสมัครใจ” 

ผมไม่มีหน้าที่ตัดสินคุณ การรับฟังและถ่ายทอดออกมาคือเจตนา ครอบครัวของคุณไม่ได้คิดเหมือนในรายงานข่าวชิ้นนี้

“เขาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือ เมื่อก่อนเขาสอบติดวิศวะ มอ.หาดใหญ่ แต่ตอนนั้นฉันยังเรียนอยู่ เขาจึงเสียสละไปเรียนกาญจนาฯ (วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี)

พอจบกาญจนาฯ ก็ไปต่อรามฯ อีก 2 ปี ก็จบคณะรัฐศาสตร์” พี่สาวของคุณเล่า

เมื่อถามเธอว่า คุณเป็นคนแบบไหน เธอบอกว่า “เขาเรียนเก่ง มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ฉันชอบล้อเขาประจำว่า หน้าตาแกแก่กว่าฉัน เขาก็ตอบกลับฉันว่า ใช่ สมองข้าก็แก่กว่าเอ็ง เขาเป็นคนคิดมาก ครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา”

เรื่องราวการหายตัวไปของคุณเงียบเชียบราวกับมันไม่เคยเกิดขึ้น มีหนังสือชี้แจงมาที่บ้านของคุณว่า “ขอยุติการค้นหาการสืบหาตัว”

“เราเจ็บใจถึงขั้นไปในค่าย เราถามตรงๆ เลยว่า ถามจริงผู้การ จริงมั้ยที่เขาบอกว่า พวกที่โดนจับ กลับออกมาจะมีพวกคอยเก็บตามหลัง เราพูดแบบไม่คิดแล้วว่าจะเป็นยังไงในภายหลัง แต่แกก็เงียบ ไม่พูด กว่าฉันจะทำใจได้ก็หลายเดือน ตอนนี้ก็ยังเจ็บแค้น เราค่อนข้างจะเชื่อว่าเขาตายแล้ว” นี่คือน้ำเสียงของพี่สาวคุณ “แต่ทุกวันนี้แม่ยังไปดูหมออยู่เลย”

แม่อมยิ้ม ไม่ใช่ยิ้มเบิกบาน

“เมื่อก่อนแม่ไปดูหมอวันละสี่รอบ” พี่สาวคุณเล่า แต่แม่แย้งว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไปดูแล้ว” คุณคือเเสงเรื่อเรืองในหวังของแม่

“เขาว่ายังอยู่ แต่อยู่ตรงไหนไม่ทราบ” แม่เล่า แต่พี่สาวคุณบอกว่า “ลูกพี่ลูกน้องอีกคนไปดูหมอที่ไหนก็ไม่รู้ บอกว่าฟาเดลเสียแล้ว ให้ทำบุญให้เขา ”

ก่อนวันที่คุณจะหายตัวไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชิญคุณไปเที่ยวกรุงเทพฯ “เขาบังคับ ฟาเดลอ้างนั่นอ้างนี่เพื่อไม่ไป เขาบอกว่าต้องเลี้ยงเป็ดอยู่บ้าน แม่เลี้ยงคนเดียวไม่ไหว เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่เป็นไร ให้แม่เลี้ยง เขาบังคับ ถ้าไม่ไปก็กลัวว่าจะโดนอีก ก็ต้องไป” น้องสาวของคุณเล่า เธอเจ็บปวด

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป คุณกลับมาจากกรุงเทพฯ วันที่ 23 มกราคม คุณเข้าเมืองไปซื้อของชำร่วยกับว่าที่เจ้าสาว วันรุ่งขึ้นคุณตระเวนแจกการ์ดแต่งงาน ในการ์ดระบุวันที่คุณจะแต่งงาน 21 กุมภาพันธ์ คุณซื้อเสื้อตัวหนึ่งกลับมาให้แม่ช่วยเย็บ เป็นเสื้อที่จะใส่ในวันแต่งงาน แต่ “แม่ยังไม่ทันเย็บให้เลย เขาก็หายไปในวันนั้น” น้องสาวเล่า

ฟาดียะห์ พี่สาววัย 31 พยายามบอกคนรักของคุณให้ลืมเสียเถิด “ให้มองคนอื่นเถอะ” คุณก็คงไม่อยากให้คนรักขังตัวเองในชุดเจ้าสาวที่ไม่ได้สวมใส่ชั่วนิรันดร์ใช่มั้ย

ฟาดีละห์ น้องสาวของคุณเคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นเธออายุ 23 เป็นครูตาดีกาชุมชนบ้านบูกิต ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ระหว่างจัดกิจกรรมค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อน เธอตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) กองร้อยทหารพรานที่ 4203 (ร้อย ทพ.4203) บริเวณป่าสวนยางพาราตรงข้ามโรงเรียนบ้านป่าบอน หมู่ 1 ตำบลป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556

เธอถูกนำตัวไปดำเนินกรรมวิธีซักถามที่ค่ายวังพญา เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เป็นเวลา 7 วัน ครอบครัวไม่ได้เยี่ยม กระทั่งภาคประชาสังคมและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงให้ครอบครัวได้ใช้สิทธิในการเข้าเยี่ยมเธอ

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกในช่วงนั้น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงสาเหตุการควบคุมตัวน้องสาวของคุณในห้วงนั้น เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานการใช้โทรศัพท์ว่า อาจมีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดทหารพรานชุด รปภ.ครู จึงมีความจำเป็นต้องเชิญตัวไป

คำถามเจาะจงมาที่คุณ

“เขาถามว่า หนูอยากจะกลับบ้านมั้ย ถ้าอยากกลับบ้านก็บอกว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ฟาเดลเป็นคนใช้ จะได้เอาตัวฟาเดลคนเดียว แต่ถ้าหนูยังแข็งแบบนี้ จะเอาทั้งสอง เขาบอกแบบนี้เลย”

ไม่นานมานี้ น้องสาวของคุณเพิ่งแต่งงาน สัปดาห์แรกหลังการแต่งงาน เธอกับสามีมาเยี่ยมแม่ที่บ้าน เธอพบเจ้าหน้าที่ดักรอข้างทาง ขอดูบัตรประจำตัวสามีและถ่ายรูปของเขา

“ทำไมต้องถ่ายรูปแฟนของฉัน ตอนนี้ครอบครัวไม่มีผู้ชาย เรามีหลานหลายคน ตอนที่หลานคนแรกคลอด เจ้าหน้าที่มาถามว่า เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พี่สาวบอกผู้หญิง เขาบอกดีนะเป็นผู้หญิง ทำไมเขาพูดแบบนั้น ครอบครัวของเรายังไงก็หนีไม่พ้น” น้องสาวของคุณเจ็บปวด และบางทีมันอาจมากกว่าเจ็บปวด

“ทำไมพวกเขาสงสัยครอบครัวคุณ”

“ไม่รู้เหมือนกัน แต่ในใจก็คิดว่าผิดเพราะเรียนศาสนารึเปล่า เพราะบ้านนี้เรียนศาสนาหมด อย่างน้อยก็จบชั้น 7 หรือไม่ก็ชั้น 10 เรียนสามัญด้วยศาสนาด้วย แล้วในหมู่บ้านนี้ก็ไม่ค่อยมีคนเรียนศาสนา”

“บ้านที่ไม่มีฟาเดล เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง”

“เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมาบ้าน จากปกติที่มาบ่อย ตอนนี้ก็ไม่มาเลย” แม่ของคุณหัวเราะกับคำพูดของพี่สาว

ผมอยากเล่าให้ฟังว่า น้องสาวของแม่ฝันถึงคุณในคืนวันที่ 11 สิงหาคม ก่อนที่ผมจะมาที่บ้านหลังนี้

ในฝันนั้น คุณกลับมาที่บ้าน น้องสาวของแม่ถามคุณว่า “กลับมาทำไม ทหารมันเยอะ” แล้วเธอก็สะดุ้งตื่น

“มีภาพถ่ายครอบครัวมั้ยครับ”

“ไม่เคยถ่ายรูปด้วยกัน” ฟาดีละห์บอก

ผมจึงขออนุญาตถ่ายภาพครอบครัว ไม่มีผู้ชายในภาพถ่ายครอบครัวของคุณ.

 


ระหว่างปี 2557-2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ถูกทรมาน ญาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 54 ราย
ผู้ถูกทรมานทั้งหมดเป็นผู้มีเชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม เป็นผู้มีอายุอยู่ในช่วง 29-38 ปี มีจำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 51.85 รองลงมาคือช่วงอายุ 19-28 ปี จำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 38.89
ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี 31 คน คิดเป็นร้อยละ 57.41 รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาสจำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 24.07 และจังหวัดยะลา 10 คน คิดเป็นร้อยละ 18.52

เอกสารประกอบการเขียน:
กรณี นายฟาเดล เสาะหมาน ถูกอุ้มหายจริงหรือ? โดย ‘อสนียาพร นนทิพากร’ สำนักข่าว deepsouthwatch
รายงาน สถานการณ์ทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 จัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี
จับครูสาวตาดีกาบานปลาย…คำชี้แจงปฏิบัติตามกฎหมาย “ยังไม่พอ” สำนักข่าวอิศรา

อ่านสารคดีชุด จดหมายไม่มีผู้รับ
นูรียาตามหาหลุมศพสามีผู้สาบสูญ
ความทรงจำประทับจิต

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า