จดหมายไม่มีผู้รับ: นูรียาตามหาหลุมศพสามีผู้สาบสูญ

illustration: antizeptic

มะยูนิต ที่รัก

คุณหายตัวไปในเดือนกรกฎาคม 2550 ในตอนนั้นคุณอายุ 31 ภรรยาของคุณอายุ 27 สิบปีผ่านไปนูรียาอายุ 37 ส่วนคุณยังคง 31 ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็ในความทรงจำของเธอ

หลังจากคืนที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และนักการเมืองท้องถิ่น รวม 8 คน พาตัวไปจากบ้านแม่ของนูรียาที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คุณไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีคำพูดสุดท้าย ไม่ทันได้โบกมือลา

คุณก็คงไม่รู้ว่าจะไม่ได้กลับบ้าน – ใช่มั้ย?

การหายไปของคุณทำให้นูรียาเหมือนทารกบนเรือเคว้งกลางทะเลมรสุม เธอขับรถไม่เป็น ไม่มีเงิน ไม่มีงาน บ้านยังสร้างไม่เสร็จ มีวัว 8 ตัว เป็นแม่ของลูกสาวอายุ 5 ขวบที่พ่อหายตัวไป ซ่อนความกลัวไว้ใต้ผ้าคลุมฮิญาบมาทั้งชีวิต

“การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปในศาสนาอิสลาม ฉันจึงอยากจะหายตัวไปเฉยๆ ไม่อยากอยู่” นูรียาเผยถึงกาลครั้งหนึ่งของความคิด และบอกถึงการตัดสินใจในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน “แต่เราต้องอยู่”

นักการเมืองท้องถิ่นคนนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เขาบอกเธอว่า ฝ่ายขบวนการนำตัวคุณไป เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า คุณขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจไม้ยางพาราที่ทำอยู่ บางคนขู่เธอ ถ้ายังไม่เลิกตามหาคุณ เธอจะได้รับอันตราย ตอนนั้นเธอกลัว แต่ไม่เชื่อใครเลย

ภาพถ่ายของคุณผนึกบนจานแก้ว พิมพ์ชื่อจังหวัดพังงาเป็นที่ระลึก เป็นภาพถ่ายเมื่อคราวเข้าร่วมโครงการอบรมกับฝ่ายความมั่นคงในปี 2547 นูรียาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะเธอลืมรายละเอียดของอดีตไม่พึงจดจำ หรืออาจเกรงคุณแปดเปื้อนจากความคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง

ข้อมูลการหายตัวไปของคุณถูกบันทึกในรายงานเรื่อง การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทย จัดทำโดย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

นายมะยูนิต โลนียะ เป็นผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมในปี 2547 เพื่อให้ถูกลบชื่อจากบัญชีดำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2550 เขาได้รับเชิญให้ไปพบกำนันคนหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส หลังออกจากบ้านพร้อมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและนายก อบต. ทั้งหมดรวม 8 คน เขาก็หายตัวไป

โครงการเชิญบุคคลมารายงานตัวและเข้ารับการอบรม เป็นยุทธวิธีของฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่หลังเหตุความรุนแรงเริ่มเมื่อปี 2547 กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยแสดงตน จุดประสงค์หลักของนโยบายเชิญตัว คือการจัดเก็บข่าวกรอง

ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญเข้าร่วมอบรมแบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากแสดงตน จะได้รับสิทธิประกันตัว สามารถเข้าถึงทนาย ผู้ต้องสงสัยกลุ่มที่สอง คือผู้ที่ถูกทางการจับตาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ อาจมีการออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกเขาจะถูกบังคับให้เข้ารับการอบรมเป็นเวลาหนึ่งเดือน กลุ่มที่สาม คนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของรัฐบาล โดยถือว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่ไม่ปรากฏการกระทำความผิดอาญามาก่อน และยังไม่มีหมายจับ กลุ่มนี้จะถูกควบคุมตัวเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 7-10 วัน

เมื่อผู้ต้องสงสัยถูกปล่อยตัว พวกเขาจะถูกติดตามการเคลื่อนไหว และได้รับการร้องขอให้ช่วยสนับสนุนข้อมูลกับทางการ

เธอยืนยันเพียงว่า คุณทำธุรกิจไม้ยางพารา เป็นพ่อของลูกสาว 1 คน เป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นทุกสิ่งในชีวิต

“เขาจะเป็นแนวร่วมได้ยังไง แฟนของฉันทำธุรกิจไม้ยางพารา ถ้าเป็นแนวร่วมจริง ทำไมยังอยู่ในพื้นที่นี้ได้ หมายจับก็ไม่มี เขาทำผิดอะไรจึงเอาตัวเขาไป หายไปเฉยๆ ฉันอยากรู้ว่าเขาทำผิดอะไร อยากรู้แค่นั้น ถ้าทำผิดแล้วยิงต่อหน้าก็ยังจะดีเสียกว่า ฉันจะได้บอกลูกของเขาว่า พ่อไปทำผิดเรื่องนี้มา ศพของพ่ออยู่ตรงนี้ เราอยากให้ลูกรู้ว่าหลุมฝังศพของพ่ออยู่ตรงไหน” เธอบอกเล่า มรสุมข้างในตื่นจากหลับใหล

“พูดเรื่องนี้แล้วแค้น คนหายทั้งคน แต่พวกนั้นไม่มีความผิด ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเขาเป็นคนเอาตัวไป กฎหมายทำอะไรไม่ได้ เพราะเขามีอิทธิพล ฉันพูดต่อหน้าตำรวจว่า คุณตำรวจทำอะไรเขาไม่ได้เพราะเขามีอิทธิพลใช่มั้ย”

ข้อมูลจากรายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ตั้งข้อสังเกตต่อการหายตัวไปของคุณว่า

…เกิดความขัดแย้งส่วนตัวที่รุนแรงระหว่างกำนันกับผู้ใหญ่บ้านในช่วงปี 2550 และ 2552 และเป็นเหตุให้มีผู้ถูกสังหารหลายคน มีรายงานข่าวว่านายมะยูนิต (ซึ่งเพิ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่) ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการแบบผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้เขาหายตัวไป

เธอจดจำคนเหล่านั้นได้ทั้ง 8 คน แต่ท้ายที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ สิ้นสุดหนทางตามกระบวนการยุติธรรม แต่ชีวิตของเธอเพิ่งเริ่มต้น

“เหมือนเราไม่มีมือไม่มีเท้า” คือความรู้สึกในปีแรกๆ ของเธอเมื่อคุณหายไป

ในช่วงปีแรกๆ ที่คุณหายตัวไป หากมีศพนิรนามปรากฏในพื้นที่ละแวกนั้น นูรียาจะเดินทางไปดู หวังให้ศพนิรนามนั้นเป็นคุณ แต่ไม่ใช่และไม่เคยใช่ หมอดูชาวมุสลิมบอกว่า คุณยังอยู่ นูรียากลับมาบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ความหวังทำให้เธอรอคอย แต่การรอคอยข่าวสารที่ไม่มีวันมาถึง รอคอยความจริงที่ไม่อาจปรากฏ ทำให้เธออาดูร กลุ่มเมฆดำครึ้มเคลื่อนเข้าบดบังความหวัง ฝนน้ำตาตกทุกวัน ชีวิตไม่มีแสงดำเนินต่อไปอย่างเชื่องช้า คุณก็คงรู้ว่าความทุกข์ทำให้เวลาเดินช้า เธอไม่สามารถนอนลำพังในห้องนอนไม่มีคุณ เสื้อผ้าของคุณยังแขวนในตู้ทุกชิ้น คุณอยากรู้ไหมว่าทำไม

“ให้อยู่ตรงนั้นเถอะ” นูรียาบอก “เหมือนกับว่าเขายังอยู่ที่เดิม ทุกอย่างอยู่ที่เดิม แม้เขาไม่อยู่กับเรา แต่ข้าวของยังอยู่ที่เดิม เสื้อผ้าก็ยังอยู่ อะไรก็ยังอยู่ ถ้าเราเก็บไปทิ้ง ก็เหมือนกับเขาไม่มีตัวตนในโลกนี้แล้ว เหมือนเราหลอกตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับเขา เราเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราก็พอ”

เธอขับรถเป็นก็เพราะต้องเดินทางไปดำเนินเรื่องคดีของคุณ (ตอนนี้เธอไม่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว) รับ-ส่งซูไฮลาไปโรงเรียน เธอไม่เคยทำงานนอกจากงานบ้าน เริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นแม่ค้าขายขนมในโรงเรียนเดียวกับที่ซูไฮลาเรียน ตอนที่คุณอยู่ บ้านหลังนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ตอนนี้บ้านเสร็จสมบูรณ์เท่าที่บ้านหลังหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ เธอค่อยๆ แกะกล่องกระดาษ เทชิ้นส่วนจิกซอว์กองบนพื้นกระเบื้อง เริ่มต้นต่อจิกซอว์ให้ชีวิตสมบูรณ์

“คนเราถ้าไม่มีความรู้ก็จะเสียเปรียบตลอด ฉันคิดจะไปเรียนต่อ ทั้งที่ไม่มีกำลังใจเลย” นูรียาเรียนต่อชั้นมัธยมปลายผ่านระบบศึกษานอกโรงเรียน หลังจากได้วุฒิการศึกษา เธอก้าวต่อไปในระดับอนุปริญญาที่วิทยาลัยชุมชน สาขาครูปฐมวัย

เธอย้ายงานจากสหกรณ์ขายของเป็นครูพี่เลี้ยงชั้นอนุบาลหลังจากจบชั้นอนุปริญญา โรงเรียนเดิม เธออยากทำงานใกล้ลูก เป็นทั้งพ่อและแม่ในคราวเดียว งานและลูกทำให้เธอค่อยๆ ลืมอดีต…แต่ไม่เลย เธอไม่เคยลืมคุณ ความทรมานของการรอคอยคือสิ่งที่ค่อยๆ เลือนไป ไม่สาบสูญไปอย่างหมดจด

ไปไกลกว่านั้น นูรียาเรียนต่อระดับปริญญาตรี เธอจะสอบบรรจุเป็นครูในอนาคตอันใกล้ คุณรู้ไหมว่าเธอตื่นเต้นมาก “ยังนั่งคิดเลยนะว่าเราจะมาเป็นครูได้อย่างไร ตอนที่เขาหายไป เราเลี้ยงวัวด้วยกัน 8 ตัว เมื่อเหลือฉันคนเดียวก็ต้องรับ-ส่งลูกไปเรียน ทำงาน ชีวิตปั่นป่วน ฉันพุ่งเข้าชนทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตหมดเลย ความกลัวไม่มีแล้ว ตอนนี้เหลือวัว 1 ตัว”

หากคุณได้อ่านจดหมายฉบับนี้ คุณจะพบว่า ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลง ตัวตนและความคิดของเธอก็ไม่เหมือนเดิม ผมถามเธอว่า “ระหว่างนูรียาวันนี้กับนูรียาเมื่อสิบปีก่อน คุณชอบตัวเองแบบไหน”

“ชอบแบบเดี๋ยวนี้” นูรียาหัวเราะ “เพราะถ้าเป็นแบบเมื่อก่อนเราจะโดนรังแกตลอด ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เขาร้ายมาเราร้ายกลับ ใส่กลับเลย เพราะเมื่อชีวิตเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กฎหมายก็ช่วยเราไม่ได้ เมื่อเราสูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ความกล้าจะเข้ามาเอง ถ้าใครไม่เคยเจอแบบนี้ก็คงไม่เข้าใจ บางทีเราก็คิดว่าดีเหมือนกันนะ เรามีชีวิตใหม่ เมื่อก่อนเราไปไหนไม่ได้เลย กลัว แต่เดี๋ยวนี้เราไปทุกที่ ไปทุกแห่ง ไม่กลัวอะไรอีกแล้ว”

คุณลองนึกภาพตาม จิกซอว์ที่เธอต่อไว้ วางเกลื่อนบนพื้นกระเบื้องบ้านของคุณ มันเป็นภาพตัวต่อที่ยังไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนยังไม่ครบ และไม่มีวันครบ เพราะคุณคือจิกซอว์ตัวหนึ่งในชีวิตเธอ คุณหายไปอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ แต่ภาพที่เว้าแหว่ง ก็ไม่ได้หมายความว่า มันไม่ใช่ภาพ

ตอนนี้ซูไฮลาเรียนชั้น ม.4 เธอย้ายไปเรียนที่โรงเรียนในเมืองปัตตานี เมืองที่ป้ายประกาศจับผู้มีหมาย ป.วิอาญาทั่วเมือง ป้ายประกาศกลมกลืนไปกับป้ายโฆษณาหน้าที่ของกองทัพ โฆษณารถจักรยานยนต์ เทศกาลบอกบุญ เทศกาลดนตรี ฯลฯ ซูไฮลาไม่เคยถามถึงคุณเลย ไม่เคยถามแม่ว่าพ่อไปไหน เธอรู้อยู่แล้ว รู้มาตลอด “ฉันเคยบอกเขาตรงๆ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครั้งเดียวเท่านั้น เขารู้ว่าใครเอาตัวพ่อไป บอกลูกแบบปากเสียเลย เพราะทำดีก็ไม่ได้ดี เป็นคนดีมักเสียเปรียบ แต่ลูกไม่เคยถาม เราไม่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่เคยเลย”

“คุณสามารถให้อภัยได้ไหม”

“ไม่ ไม่ให้อภัย” เธอตอบเร็ว “ไม่ให้อภัย บางทีฉันเห็นความไม่เป็นธรรมในข่าว ก็อยากจะบอกว่าไม่ต้องพึ่งตำรวจหรอก คุณทำเองได้…ทำเลย เขาเถื่อนมา เราเถื่อนไป แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เราอยู่ภายใต้กฎหมาย แค่คิดขึ้นมาแวบหนึ่ง คิดว่าถ้าเขาเถื่อนมา เราก็เถื่อนไป เราจะอ่อนแอไม่ได้ ถ้าเขาเห็นเราอ่อนแอ เขาจะเหยียบซ้ำ คนเรามันเป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้ฉันไม่กลัวอะไรแล้ว” เธอไม่ไปรามันอีกเลย ทั้งๆ ที่บ้านของแม่อยู่ที่นั่น

“ยังมีหวังอยู่ไหม”

“ถ้าเรื่องคดี ฉันไม่รู้จะไปทางไหนเลย มันติดอยู่ในใจตลอด แต่ถ้ายังยึดเรื่องนี้ ชีวิตก็จะอยู่แบบนี้ต่อไป เราไม่อยากคิด อะไรจะเกิดก็ให้เกิด แต่ถามว่าหวังมั้ย ก็ยังหวัง หมอดูเคยบอกว่าอีกไม่นานเขาจะกลับมา แต่นี่มันสิบปีแล้ว” เธอหัวเราะ ไม่เชื่อหมอดูแล้ว แต่ยังมีความหวัง

“คนเราต้องมีความหวังใช่มั้ย ไม่ได้หวังให้เขากลับมานะ หวังแค่ว่าวันหนึ่งเราจะได้รู้ว่าเขาถูกฝังตรงไหน ศพเขาอยู่ที่ไหน หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้รู้ความจริง เกิดอะไรขึ้น ทำไมพวกนั้นต้องเอาเขาไป อยากรู้ความจริง วันหนึ่งคงจะได้รู้”

สักแห่งที่คุณถูกกักขัง จองจำ หรืออาจถมทับด้วยชั้นดิน – เธออยากรู้ความจริง

“แต่ช่วงหลังฉันได้ทำงานและเรียนต่อปริญญาตรี ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่เวลาอยู่คนเดียวก็กลับมานึกถึงมันอีก อยากรู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะไปคิดทำไมเรื่องอดีต ตอนนี้เราทำสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้อดีตจะเจ็บปวด แต่ปัจจุบันของเราไม่ได้เจ็บปวดเหมือนวันนั้น อดีตก็คืออดีต ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน เราต้องทำอนาคตให้ดีที่สุด”

คุณอยากให้เธอฝันถึงบ้างรึเปล่า คืนหนึ่งนานมาแล้วนูรียาฝันว่าคุณมาหาที่บ้าน เธอถามคุณว่า “กลับมาเมื่อไหร่” คุณบอก “กลับมานานแล้ว” ตอบคำถามจบ คุณสลายไปกับแสงเช้า คุณหายไปแม้ในฝันของเธอ

ทุกวันนี้สองแม่ลูกอยู่ที่บ้านหลังเดิม บ้านที่สร้างเสร็จสมบูรณ์เท่าที่บ้านหลังหนึ่งจะสมบูรณ์ได้ แม่ของคุณย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เวลาที่ย่าเห็นหลาน เธอจะคิดถึงคุณ

ซูไฮลาโตแล้ว เธอเรียนที่โรงเรียนต่างเมือง กลับบ้านมาอยู่กับแม่ทุกคืน นูรียาเป็นครูพี่เลี้ยงโรงเรียนในเมือง วันหนึ่งเธอจะเป็นครูเต็มตัว ทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์เรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3

เมื่อได้ยินเรื่องนี้ คุณคงยิ้ม ลูกเรียน ม.4 แม่เรียนปี 3


เอกสารประกอบการเขียน:
รายงาน การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย จัดทำโดย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555

อ่านสารคดีชุด จดหมายไม่มีผู้รับ
ไม่มีผู้ชายในบ้านฟาเดล
ความทรงจำประทับจิต

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า