For Those Who Died Trying: แด่นักสู้ที่จากไปและยังอยู่

ว่ากันว่าความยุติธรรมมีราคาแพงเสมอ

ข้าวของและภาพถ่ายของคน 8 คนที่ตั้งโชว์อยู่ในหอศิลปฯ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เป็นหลักฐานยืนยันความจริงในประโยคเกริ่นข้างต้น ราคาที่ว่า – ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว

ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า จนถึงปีที่แล้วประเทศไทยมีบุคคลที่ ‘ถูกบังคับให้สูญหาย’ แล้ว 76 คน ยังไม่นับอีกหลายคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้

“คดีบังคับให้สูญหายคือคดีฆาตกรรมที่ไม่มีศพ” เป็นถ้อยคำของ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หนึ่งในบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ปรากฏตัวในนิทรรศการ ‘ยังอยู่ในความทรงจำ: ทวงความยุติธรรมที่หายไป’ จัดขึ้นเพื่อรำลึกครบ 16 ปีหลังจากทนายสมชายถูกบังคับให้สูญหาย

นิทรรศการนี้รวบรวมภาพถ่ายและข้าวของของคน 8 คนที่ถูกบังคับให้สูญหายไปเอาไว้ เกือบทุกภาพเป็นภาพถ่ายของผู้สูญหายที่ตั้งอยู่ตามจุดที่พวกเขาถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้าย และพวกเขาส่วนใหญ่ก็เป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวที่ต่างก็เคยต่อสู้เพื่อสิทธิหรือความยุติธรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการบังคับให้สูญหายในประเทศไทยกล่าวระหว่างเปิดงานว่า “ความจริงผู้พิพากษาคณากรก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้เพื่อกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ถูกทำให้สูญหาย แต่ยืนยันคำกล่าวของตัวเองด้วยชีวิต”

บทเรียนจากผู้คนเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเห็นตรงกันว่า ‘ไม่ควรถูกหลงลืม’ และ ‘ไม่ควรถูกเพิกเฉย’ นิทรรศการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการย้ำเตือนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

“เรากลัวว่าสังคมจะลืม เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมลืม เรื่องแบบนี้ก็จะแผ่วหายไป แล้วเราก็อาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก” ภรรยาของทนายสมชายกล่าว

8 เรื่องราวจากความทรงจำที่ไม่เคยสูญหาย

การเก็บรักษาข้าวของของคนหายคือส่วนหนึ่งของการรักษาความทรงจำ

อังคณาพูดขณะยืนอยู่ข้างๆ รูปถ่ายและชุดครุยของทนายสมชาย “มันทำให้เราไม่ลืมว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วคนเหล่านั้นเคยอยู่ในสังคมอย่างไร”

อังคณา เล่าว่า เสื้อครุยตัวนี้เป็นเสื้อครุยที่ทนายสมชายใช้ใส่ว่าความ เป็นเสื้อครุยตัวแรกที่เขาเก็บเงินซื้อด้วยตัวของเขาเอง “ก่อนที่จะหายไป เขามีกำหนดการไปว่าความที่นราธิวาส เสื้อครุยตัวนี้อยู่ในกระเป๋าเอกสารพร้อมสำนวนคดีและตั๋วเครื่องบิน”

สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงและเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เขาถูกลักพาตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในเขตรามคำแหง กรุงเทพฯ เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการที่เขารับว่าความให้กับจำเลยชาวไทยมุสลิมที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน ในคดีก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้

ดิฉันก็เป็นเหมือนครอบครัวคนอื่นที่เก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้เพื่อเตือนความทรงจำ แล้วก็อยากให้สังคมช่วยทวงถามความเป็นธรรมร่วมกันกับเรา

กมล เหล่าโสภาพันธุ์ ถูกลักพาตัวไปจากสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 เขาเป็นแกนนำที่มักเปิดโปงการทุจริตและเป็นผู้ร้องขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทยที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

น้องชายของกมลเป็นผู้มาบอกเล่าเรื่องราวของเขา “พี่ชายผมประกอบธุรกิจเป็นพ่อค้า แต่พบเห็นการทุจริตคอร์รัปชัน จึงแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าตำรวจไม่ดำเนินการ แล้วกระทำการอุ้มหายพี่ชายผมขณะอยู่ในโรงพัก”

ก่อนหายไป มีการขอรับการคุ้มครองพยาน แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่มีกฎหมายบังคับไว้ ผมก็อยากจะกราบเรียนให้ทราบว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่ใดมีความปลอดภัย เพราะสถานีตำรวจมีทั้งอาวุธ ทั้งกฎหมาย ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนได้ จนต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ แต่ในระยะหนึ่งเดือนที่รับไป ตู้เก็บสำนวนกลับถูกงัด ลองคิดดูสิว่ามีสิ่งใดที่จะอำนวยความยุติธรรมทำให้พี่ชายผมได้

“ทุกคดีที่สูญหายล้วนมีเรื่องราว มีประวัติ ความเป็นมา เขาถึงมาเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อให้รัฐมีกฎหมายคุ้มครองพวกเราทุกๆ คน ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะเป็นพวกเราคนใดคนหนึ่งก็ได้ ถ้าเสียสละช่วยเหลือสังคมแล้วไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ กับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล”

คุณสุรชัยมีความคิดทางการเมืองเพื่อต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงมีความคิดเห็นต่างจากเผด็จการมายาวนาน

ป้าน้อย-ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน เจ้าของเสื้อผ้าและรูปถ่ายที่วางอยู่ข้างๆ กล่าว “เคยมีคดีหมิ่นพระบรมฯ แล้วก็หลบไปอยู่ในป่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ 5 ปี ได้รับโทษประหารชีวิต แล้วก็ขออภัยโทษพิเศษออกมา ต่อสู้ทางการเมือง สมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. และนายกฯ อบจ. แต่ก็ไม่ได้รับเลือก จึงมาต่อสู้นอกสภา”

ป้าน้อยเล่าว่าสุรชัยเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อน ประสานงานระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ เมื่อเกิดรัฐประหาร สุรชัยก็หลบภัยไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเวลา 5 ปี จนสูญหายไปในวันที่ 13 ธันวาคม 2561

“ของที่เอามาก็จะมีหนังสือ เครื่องเขียนที่สุรชัยใช้ตอนอยู่ในป่า ถ้าได้อ่านก็จะทราบว่าที่ไปอยู่เป็นคอมมิวนิสต์ 5 ปี เขาอยู่ยังไง ชีวิตการเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้สุขสบาย แล้วก็จะมีหนังสือตอนที่สุรชัยได้รับโทษประหารชีวิตปี 2524 ได้รับอภัยโทษ 5 ครั้ง ติดคุก 16 ปี ในนี้จะมีเรื่องราวของนักโทษคดีดังๆ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งด้านมืดด้านสว่าง อ่านเสร็จแล้วเหมือนกับว่าได้ไปอยู่ในเรือนจำ 16 ปี”

เสื้อผ้าและหมวกที่สวมอยู่บนหุ่น ป้าน้อยอธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มแดงสยาม กลุ่มที่เน้นการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีหมวกรูปดาวแดง ผ้าขาวม้าที่สุรชัยใช้ในชีวิตประจำวัน ข้างกันคือภาพของคนในกลุ่มที่สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับสุรชัย

“จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราว แต่บางกระแสก็บอกว่ายังสุขสบายดี แต่ก็สงสัยว่าทำไมไม่ส่งข่าวถึงครอบครัวหรือเพื่อน ทุกคนไม่เคยได้ยินเสียงเขาอีกเลย ตอนนี้เราก็ไปยื่นเรื่องไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหาตัวผู้สั่งการผู้กระทำผิด แต่ก็ยังเงียบหาย”

จะวะ จะโล ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ข้าวของของเขาที่นำมาจัดแสดงในวันนี้คือเอกสารจากอำเภอเพียงใบเดียวซึ่งเป็นของสิ่งสุดท้ายที่มีอยู่

“รอมานานทุกๆ ปีด้วยความหวังว่าปีนี้ไม่กลับมา ปีหน้าก็คงจะกลับมา” ภรรยาของจะวะบอก “บ้านช่องที่อยู่ตอนนี้ก็เสื่อมโทรมไปหมดแล้ว”

จะวะถูกเจ้าหน้าที่จับต่อหน้าชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน มีการใช้กำลังซ้อม ก่อนที่เขาจะหายสาบสูญไป

ทุกวันนี้ก็ยังมีชื่อเขาอยู่ในทะเบียนบ้าน ยังไม่ได้แจ้งตาย เพราะยังไม่เห็นศพ เราก็ทำพิธีไม่ได้

เด่น คำแหล้ เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดินและสิทธิที่ทำกินในภาคอีสาน เด่นออกมาเรียกร้องต่อสู้ใหักับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า มีความขัดแย้งและข้อพิพาทกับฝ่ายรัฐบาล จนทำให้ถูกบังคับสูญหายไปในปี 2559

บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง เป็นแกนนำชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี และเป็นแกนนำชาวบ้านบ้านบางกลอยบน กว่า 20 ครอบครัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเผาและไล่รื้อบ้านเรือน คนในพื้นที่จึงมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ในกรมป่าไม้

บิลลี่ต่อสู้เพื่อสิทธิการรักถิ่นฐาน สิทธิในพื้นที่ทำมาหากินของชาวกะเหรี่ยง ก่อนจะหายตัวไปที่ด่านตรวจเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 จนกระทั่งปัจจุบันพบกระดูกที่มีดีเอ็นเอตรงกับยายของบิลลี่ แต่ก็ยังคงมีการโต้แย้งกันว่าเป็นกระดูกของบิลลี่หรือไม่

สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวที่แสดงละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่าก่อนจะโดนคดีตามมาตรา 112

สยามหายตัวไประหว่างพยายามจะลี้ภัยไปอยู่ประเทศลาว

ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU)

ทนงเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ สูญหายไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ก่อนที่จะมีกำหนดการเดินทางไปประชุมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแรงงานในประเทศไทย

ความหวังของกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย

ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาคนหายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นกระทรวงยุติธรรมก็มีความพยายามในการร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายในเดือนพฤษภาคม 2559 แต่จนถึงวันนี้กฎหมายที่ว่าก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

“จากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย ในฐานะครอบครัวเราไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เราถูกปฏิเสธในการเข้าถึงความยุติธรรมมาตลอด” อังคณา ภรรยาของทนายสมชายเล่า

เพราะผู้กระทำผิดคือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะไปจะมา ผู้กระทำผิดก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สถาบันตำรวจแห่งชาติ กองทัพ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังไม่ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง มันก็ไม่มีทาง ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล ทุกวันนี้ผู้ต้องหา 5 คนในคดีทนายสมชายก็ยังได้รับการสนับสนุนให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานอยู่ ในหลายๆ กรณีก็ไม่ต่างกัน คนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายทุกวันนี้ก็ยังอยู่

เมื่อไม่มีกฎหมายป้องกัน การทวงคืนความยุติธรรมของญาติผู้สูญหายก็ยิ่งทำได้ยาก

“จากคำพิพากษาคดีของทนายสมชาย ก็คือคดีคนหายไม่มีผู้เสียหาย” อังคณากล่าว “เพราะตามกฎหมายไทยคือ ผู้เสียหายจะต้องมาร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง ผู้เสียหายต้องมาฟ้องศาลด้วยตัวเอง นอกจากมีหลักฐานว่าเขาบาดเจ็บและเสียชีวิตจนไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ ญาติถึงจะเรียกร้องความยุติธรรมแทนได้”

อังคณาเล่าถึงปัญหาของการร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มหายที่ประเทศไทยกำลังพยายามทำอยู่ว่า “พอร่างกฎหมายเสร็จแล้วส่งไปถึงการพิจารณาของ สนช. มันมีการปรับแก้เยอะมาก เยอะจนกระทั่งสาระสำคัญของมันหายไป และทำให้ถ้อยคำในกฎหมายไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ และจะมีผลทำให้ไม่สามารถคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหายได้จริง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

หากรัฐบาลจริงใจที่จะให้มีกฎหมาย ดิฉันคิดว่ามันไม่มีอุปสรรคหรอก แต่ปัญหาคือทำไมมันล่าช้า ในช่วง สนช. ผ่านกฎหมายตั้งกี่ร้อยฉบับ แต่ พ.ร.บ. ที่จะปกป้องประชาชนกลับไม่ถูกหยิบยกมาให้ความสำคัญ จนวันนี้ดิฉันก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะทุกครั้งที่มีการรับฟังความคิดเห็น หน่วยงานความมั่นคงก็จะค้านตลอด

“สิ่งหนึ่งที่อนุสัญญาคนหายเน้นย้ำคือสิทธิที่จะทราบความจริง ถ้าหากว่ามีการตัดข้อบทที่สำคัญๆ เช่น ประการแรก การกำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ อายุจะเริ่มนับต่อเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรม คือเมื่อไหร่ก็ตามพบกระดูกพบอะไรก็แล้วแต่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าบุคคลนั้นเสียชีวีต จึงเริ่มนับอายุความกรณีฆาตกรรม นับไปอีก 20 ปี ในขณะที่จะดำเนินคดี หรือในกรณีที่ถูกเอาตัวไปขังไว้ในสถานที่ลับ เขาก็ยังเป็นคนหายจนกว่าเราจะรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน

“อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะต้องไม่รับฟังคำให้การจากการทรมาน ถ้ามาตรการนี้ถูกตัดออกไปจากร่าง พ.ร.บ. ก็เท่ากับว่าข้อมูลที่ได้มาจากวิธีปฏิบัติการด้วยการกดดันให้ได้มาซึ่งคำสารภาพสามารถที่จะเป็นคำให้การในชั้นศาลได้”

นอกจากนี้ กฎหมายยังจำเป็นต้องระบุให้ชัดว่าผู้กระทำผิดหมายถึงคนที่สั่งการ และคนที่รู้เห็นเป็นใจด้วย “ถ้าไม่เช่นนั้นอาจจะมีใครสักคนที่ต้องรับผิดแทน อาจจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย โดยที่คนสั่งการจริงๆ ยังลอยนวลอยู่”

มันไม่ใช่เรื่องของครอบครัวคนหายที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความคลุมเครือ การถูกคุกคามเป็นเวลานานๆ การเรียกร้องความยุติธรรมมันมีค่าใช้จ่าย ยิ่งคนที่อยู่กลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ตะเข็บชายแดน คนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมาเรียกร้องความยุติธรรมกับใคร ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมด ดังนั้นสำหรับญาติ การรู้ความจริงจึงมีความหมายมาก มันจะนำไปสู่การเยียวยาทางจิตใจ เขาสามารถที่จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ แต่การไม่รู้ชะตากรรมมันสร้างความทรมานมาก

“ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย รัฐต้องแสดงความจริงใจโดยการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ก่อน เพราะนั่นจะทำให้รัฐบาลต้องส่งรายงาน และดำเนินการภายในประเทศให้มีกลไกในการที่จะให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรมได้ ตรงนี้จะเป็นเหมือนหลักประกัน เพราะคิดว่ากฎหมายนี้คงอีกยาวนาน หรือถ้ามีกฎหมายแต่ว่าไม่ได้สอดคล้องกับอนุสัญญา กฎหมายฉบับนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

สัณหวรรณ ศรีสด หนึ่งในคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล อธิบายเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการไม่มี พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ว่า “ปัจจุบันคดีของผู้ที่หายไป ญาติไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายไทยจำกัดว่าถ้าญาติจะเป็นโจทก์ร่วมต้องมีหลักฐานว่าเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจริงๆ แต่ว่าคนที่หายไปคือเราไม่มีข้อมูล ไม่มีใบรับรองแพทย์ ไม่มีเอกสารจะเอามายืนยันได้

“ทีนี้ เราพูดถึง พ.ร.บ.นี้มาหลายปี ซึ่งเราไม่ได้พูดแค่ว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ต้องกำหนดมาตรการป้องกันเหตุที่จะเกิดในอนาคตและเยียวยากรณีที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ดังนั้นปัจจุบันที่ไม่มี พ.ร.บ. กลไกเยียวยา การป้องกันต่างๆ มันก็เลยหละหลวมมาก ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ. ก็ยังขาดองค์ประกอบสำคัญตามกฎหมายระหว่างประเทศอีกพอสมควร แค่บทนิยามเรายังเอามาไม่ครบเลย ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นก็แค่ก๊อปปี้ลงมา ทำไมเราถึงต้องเอามาตัดประเด็นออกไป”

สองมาตราในกฎหมายที่ถูกตัดออกทุกรอบที่ส่งไปให้ สนช. พิจารณา ตามคำบอกเล่าของสัณหวรรณคือ หนึ่ง มาตราไม่ผลักดันคน “ถ้ามีคนต่างชาติเข้ามา ต้องห้ามไม่ให้ผลักดันคนกลับไปถ้ามีความเสี่ยงว่าเขาจะถูกทรมานหรืออุ้มหายในประเทศอื่น อีกมาตราหนึ่งก็คือห้ามไม่ให้มีการทรมานและอุ้มหายในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่ที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลก็อธิบายว่าสองมาตรานี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำตามอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เราเห็นว่าในเมื่อเราปฏิบัติตามอยู่แล้ว ก็ยิ่งควรเขียนให้มันเป็นกฎหมายชัดเจนไปเลย แต่ทุกรอบที่เข้าไปใน สนช. ก็ไม่มั่นใจว่าทำไมสองมาตรานี้ถึงถูกตัดออกทุกรอบ”

ส่วนเรื่องของการเยียวยาญาติผู้สูญหาย สัณหวรรณบอกว่า “จาก 79 คดีที่อยู่ในสำนวนของสหประชาชาติ มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลเพียงไม่กี่คดี ส่วนการสืบสวนสอบสวนมีแค่ 2-3 คดีเท่านั้น ที่เหลือไม่มีการดำเนินคดีเลย แล้วก็ไม่มีการเยียวยา จริงๆ พ.ร.บ. ก็พูดว่าจะตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยาหากมีกรณีเกิดขึ้น แต่เราก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนเพราะว่าเขาก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาทีหลัง

“องค์ประกอบของคณะกรรมการก็เป็นสไตล์กฎหมายไทย มีตัวแทนจากองค์กรรัฐ หน่วยงานหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วก็รวมถึงองค์กรที่มักจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยด้วย เพราะการอุ้มหายส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง แต่ในคณะกรรมการก็ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าภาพสุดท้ายการเยียวยาจะออกมาเป็นแบบไหน จะได้ตามที่คิดไหม ขนาดทุกวันนี้เอาแค่ขึ้นไปดำเนินคดียังไปไม่ได้เลย”

ในฐานะครอบครัวผู้สูญหาย อังคณาบอกว่า “ถึงแม้ว่ากรณีทนายสมชายเราจะได้รับการเยียวยา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเราต้องถามตัวเองมาตลอดคือสิ่งที่รัฐให้ ให้เพราะอะไร เพราะชดใช้รึเปล่า แต่ว่าการคืนความเป็นธรรมเรายังไม่ได้รับ แล้วเราก็รู้สึกว่าตรงนี้มันคือศักดิ์ศรี มันไม่ใช่แค่ใครก็ได้ ลุกขึ้นมาทำงานให้คนอื่น สุดท้ายถูกใครสักคนหรือสักกลุ่มเอาตัวไป ฆ่าแล้วทำลายศพ มันเป็นอะไรที่โหดเหี้ยม เราไม่อยากนึกว่ามันเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำหลังจากเขาถูกเอาตัวไปแล้ว

“DSI ก็เคยเล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาทำลายศพกันแบบไหนยังไง แล้วเรารู้สึก โห นี่มนุษย์มันทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองจะเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่บางคนลุแก่อำนาจ และใช้อำนาจตามอำเภอใจที่จะกำจัดคนเห็นต่างอย่างไรก็ได้

“ถ้าถามว่ายังมีความหวังอยู่ไหม เราไม่ได้มีความหวังกับรัฐ แต่มีความหวังกับภาคประชาชน มีความหวังกับเพื่อนมนุษย์ทุกคน เพราะคิดว่าแรงผลักดันจากภาคประชาชนจะเป็นสิ่งสำคัญ” อังคณากล่าว

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า