Torture Methods: 20 รูปแบบการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐไทย

ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติภายใต้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ หนึ่งคือ…การประกาศใช้มาตรการในการตรวจค้น ห้าม ยึด จับกุม กักหรือควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายของศาล ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (กฎอัยการศีก) หนึ่งคือ…การตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รูปธรรมของกฎหมายก็คือ เจ้าหน้าที่สามารถปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมและกักตัวผู้ต้องสงสัยโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไว้ในค่ายทหารได้เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน และควบคุมตัวในสถานที่พิเศษ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกไม่เกิน 7 วัน และขยายการควบคุมตัวได้คราวละไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วันโดยได้รับอนุญาตจากศาล ไม่ต้องมีข้อกล่าวหาว่าได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด

มกราคมปี 2559 เอกสารชิ้นหนึ่งได้เผยให้สังคมเห็นวิธีและรูปแบบการกระทำทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงสามจังหวัดชายแดนใต้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เอกสารชิ้นนั้นชื่อ ‘รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558’ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสัมภาษณ์ผู้ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาดังกล่าว จัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า การทรมานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการซักถาม รองลงมาคือระหว่างการจับกุมและระหว่างการเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ควบคุมตัว หรือระหว่างย้ายจากสถานที่ควบคุมตัวที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทรมานมากที่สุดในช่วงที่มีการเก็บบันทึกข้อมูลคือ ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี รองลงมาคือ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 41 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา นอกจากนี้ก็มีข้อร้องเรียนการกระทำทรมานฯ ของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เช่น หน่วยเฉพาะกิจที่ 41, 43, 46, 47 หน่วยเฉพาะกิจในวัดช้างไห้ วัดเลียบ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และวัดสุทธิกาวาส (วัดสักขี) ตำบลละหาร อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจของทหาร และเป็นช่วงเวลาในการควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึกที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ 7 วัน

รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยให้เห็นวิธีการและรูปแบบการกระทำทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การกระทำทรมานทางจิตใจ (Psychological Torture Methods) และ การกระทำทรมานทางร่างกาย (Physical Torture Methods)

สิงหาคม ปี 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชาวปัตตานี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบอาชีพกรีดยางและหล่อเสาปูนเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัยให้การช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คำถามที่ตามมาก็คือ ถึงเวลาปรับปรุงกระบวนการควบคุมตัวและซักถามผู้ต้องสงสัยของฝ่ายความมั่นคงหรือยัง รวมทั้งการตรวจสอบกรณีนี้อย่างโปร่งใส

WAY ย้อนกลับไปทำความเข้าใจรูปแบบการกระทำทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะจัดทำรายงานชิ้นดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูล


20 รูปแบบการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐไทย

1 การข่มขู่

การข่มขู่จะเป็นการกระทำที่มีผลเมื่อมีการควบคุมตัวเป็นเวลานาน และทำให้ผู้ที่ถูกซักถามตอบรับหรือยอมรับ และให้ข้อมูลตามที่ผู้ซักถามต้องการ โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ข่มขู่จะทำร้ายบุคคลอันเป็นที่รักเช่นคนในครอบครัว

ผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การให้สุนัขมาอยู่ใกล้ๆ ผู้ถูกควบคุมตัว ก็เป็นเรื่องของการข่มขู่ได้เช่นกัน

การใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัว เช่น จำลองวิธีการประหารชีวิต วิธีการจำลองการประหารชีวิตเป็นการกระทำที่ทำให้เหยื่อทรมาน เกิดความหวาดกลัว ซึ่งมีการจำลองหลายวิธีด้วยกัน เช่น การใช้ปืนจ่อที่ศีรษะ หรือการยิงในระยะใกล้ การทำร้ายคนอื่นให้เห็นหรือทำให้ได้ยินเสียง การทำร้ายบุคคลใกล้ชิด การใช้พลาสติกคลุมศีรษะแล้วบีบคอ

การกระทำเหล่านี้ทำให้เหยื่อรู้สึกอยู่ใกล้ความตาย หรือมีคนกำลังจะตาย ซึ่งผลของการกระทำนี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ไม่มีร่องรอย ไม่มีบาดแผล แต่อาการบาดเจ็บทางจิตใจหลังเหตุการณ์จำลองการประหารชีวิตนั้น ส่งผลต่อความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ เกิดอาการภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเครียด

ตัวอย่างของอาการภาวะวิตกกังวล เหยื่อจะมีความกลัว ร้องไห้ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ และการร้องขอชีวิต การใช้วิธีนี้ไม่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต แต่ทำให้เหยื่อมีความทรงจำเลวร้าย้เหล่านั้น

2 การซักถามที่ใช้เวลานาน

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอนในกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัย การซักถามจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง บางครั้งเป็นช่วงเช้าคือ 9.00-12.00 น. และในช่วงบ่ายขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะมีญาติมาเยี่ยมหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเป็นการสอบสวนในเวลากลางคืนเริ่มตั้งแต่ 20.00 น. เป็นต้นไป บางคนก็สิ้นสุดในตอนเช้า

3 การรบกวนการนอน

การบังคับให้อดนอนเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมาน เพราะการอดนอนเป็นเวลานานเป็นการทำลายการทำงานทางชีวภาพที่เป็นใจกลางสุขภาพจิตและกายของบุคคล สามารถสร้างความเสียหายมากขึ้นและเจ็บปวดถ้ามีการบังคับไม่ให้นอนเป็นระยะเวลานาน

การนอนหลับเป็นความจำเป็นทางชีวภาพขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน ร่างกายจะสามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการนอนหลับ แต่ถ้าอดนอนนานกว่า 24 ชั่วโมง ก็จะเกิดปัญหาทางด้านจิตใจและร่างกาย สัญญาณแรกของการอดนอนคือความรู้สึกไม่พึงประสงค์ มีความเหนื่อยล้า หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ จากนั้นจะมีปัญหากับการอ่านและพูดอย่างชัดเจน อุณหภูมิของร่างกายลดลง แต่กลับอยากอาหารเป็นอย่างมาก การไม่ได้นอนส่งผลกระทบต่อการรับรู้ ขาดความกระตือรือร้น ซึมรุนแรงและการแยกตัวออกจากสังคม

4 ขังเดี่ยว

ในการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ในทุกสถานที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกขังเดี่ยวในห้องที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 2×3 เมตร และมีบริเวณสำหรับขับถ่ายที่มีเพียงผนังกั้น ไม่ได้แยกส่วนชัดเจนกับที่นอน และมีแสงสว่างตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษมีอำนาจควบคุมตัวได้ถึง 37 วัน โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา

5 การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส

การกีดกันทางประสาทสัมผัส (sendep) ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ เช่น ผ้าปิดตา สามารถทำให้สูญเสียประสาทสัมผัสระยะสั้น แต่หากถูกบังคับกีดกันทางประสาทสัมผัสมากขึ้น สามารถทำให้เกิดความวิตกกังวลจนเห็นภาพหลอน ความคิดที่แปลกประหลาดและภาวะซึมเศร้า วิธีการที่ใช้บ่อยในการทำให้สูญเสียประสาทสัมผัสคือการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ การใช้ผ้าพันคอปิดตาแล้วพาไปยังสถานที่อื่นๆ การตบที่หูทั้งสองข้างทำให้สูญเสียการได้ยิน บางคนอาจเกิดขึ้นระยะสั้น บางคนอาจสูญเสียการได้ยินตลอดชีวิต

6 การทุบตี และการทำร้ายร่างกาย

จากการสัมภาษณ์เหยื่อจำนวน 54 คน รายงานฉบับนี้พบว่า มีการทุบตีและทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะใช้มือหรือเท้าที่สวมรองเท้าคอมแบท ด้ามปืน ไม้ที่หุ้มด้วยผ้า เหยื่อส่วนใหญ่ได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายและได้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลในค่ายทหาร แต่ไม่ได้รับการบันทึกสาเหตุของอาการเจ็บป่วย หรือร่องรอยตามร่างกายของเหยื่อ

7 มัดและใช้น้ำเย็น/อุ่นหยดลงตรงจุดจุดหนึ่งในร่างกาย

ผู้ถูกซ้อมทรมานจะถูกมัดและใช้น้ำเย็นหรืออุ่นหยดลงตรงจุดจุดหนึ่งของร่างกายอย่างช้าๆ ส่วนมากเป็นหน้าผาก วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกกดดันอย่างมาก บางคนถูกราดด้วยน้ำทั้งตัว ในขณะที่มีเสื้อผ้าหรือเปลือยกาย หรือราดเฉพาะที่บริเวณใบหน้า และยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อการกระทำนั้นเกิดขึ้นในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ และเป็นวิธีการที่ไม่สามารถพบเห็นร่องรอยได้

8 ทำให้สำลักหรือบีบคอ

“ใช้ผ้าขนหนูปิดใบหน้าและราดน้ำ บีบจมูก 4-5 ครั้ง หลังจากนั้นได้จับผมคว่ำหน้าและได้เอาน้ำที่ใส่ภาชนะกดหัวผมลงในน้ำ และได้ชกท้อง เตะหลายครั้ง และดึงขึ้นชั้นบน เปิดตา แกะเชือกมือและเปิดแอร์ ราดน้ำ โดนเตะ ถีบ ชก เตะ ตบ และได้ถูกคลุมหัวด้วยพลาสติกดำอยู่สักพักก็สว่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทรมานผมเป็นเวลา 3-4 วัน หลังจากนั้นก็ซักถาม ข่มขู่ เป็นปกติ ซึ่งผมอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเป็นเวลา 28 วัน”

ผู้ให้สัมภาษณ์ ชายอายุ 29 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558

9 บดขยี้

รายงานระบุว่า การบดขยี้สามารถกระทำได้ทั้งในระหว่างการจับกุม ในระหว่างการเดินทาง และในระหว่างการสอบสวน ซักถาม เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะสวมใส่รองเท้าคอมแบท ทำให้เมื่อเหยียบหรือบดขยี้ไปในส่วนไหนของร่างกายก็จะเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้น บางคนถูกบดขยี้ที่ศีรษะ บริเวณหลัง หรือที่อวัยวะเพศ

10 การทำให้จมน้ำ

เป็นรูปแบบการทรมานที่ใช้น้ำเทราดลงบนผ้าที่ครอบคลุมใบหน้าและทางเดินหายใจของเหยื่อ ทำให้เหยื่อได้สัมผัสกับความรู้สึกของการจมน้ำ ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงที่เหมือนจมน้ำ เกิดความเสียหายกับปอดและสมองได้ อาจเกิดการขาดออกซิเจน บาดเจ็บทางร่างกายอื่นๆ รวมทั้งกระดูกหักเนื่องจากการดิ้นรนต่อสู้กับพันธนาการ และความเสียหายทางด้านจิตใจ หรือแม้กระทั่งถึงแก่ความตาย ผลกระทบทางกายภาพจะพบได้ในเวลา 1 เดือนหลังจากที่เผชิญเหตุการณ์ ขณะที่ผลกระทบทางจิตวิทยาจะเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 1 ปี ผู้ประสบภัยจาก water boarding มีความเสี่ยงมากในการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เนื่องจากการอาเจียนออกมา

11 การให้อยู่ในอุณหภูมิสุดขั้ว

การใช้อุณหภูมิสุดขั้วเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมาน ได้ถูกนำมาใช้เป็นเวลาหลายปีที่ประเทศบราซิล โดยเปลี่ยนจากห้องที่มีความร้อนไปยังห้องที่มีความเย็น ในประเทศเวียดนามการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ถูกนำมาใช้ในการทรมานคนที่อยู่ในประเทศสภาพภูมิอากาศเขตร้อน โดยกองกำลังอเมริกัน เทคนิคเดียวกันได้ถูกนำมาใช้ในกวนตานาโม การสืบสวนสอบสวน การสัมผัสความร้อนหรือเย็นอาจทำอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ดังนั้น การสัมผัสกับความร้อนเป็นเวลานานทำให้ร่างกายขาดน้ำ จะทำให้มีอาการสับสน ง่วง เซื่องซึม สูญเสียสติ

ในทำนองเดียวกันการสัมผัสกับสุดขั้วของความหนาวเย็น จะส่งผลอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้การลดลงของอุณหภูมิร่างกายจะส่งผลต่อภาวะการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ อาจทำให้ตายได้ สำหรับผู้ที่ได้เคยสัมผัสกับขั้วของความร้อนหรือสัมผัสสุดขั้วของความหนาวเย็นไม่ว่าจะกี่เดือนหรือปีต่อมา อุณหภูมิสุดขั้วจะยังประทับในความทรงจำของพวกเขา ดังนั้นผลกระทบของความเสี่ยงต่อความร้อนและเย็นย่อมเกิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ

12 การเฆี่ยน การตี การลงแส้

วิธีการตีเกิดขึ้นในระหว่างการจับกุม การเดินทาง และกระบวนการซักถาม วัสดุที่ใช้ในการตีมีทั้งปืนและไม้ โดยเฉพาะไม้นั้นจะหุ้มด้วยผ้าเพื่อไม่ให้ปรากฏร่องรอยหลังการตี เหยื่อจะถูกตีตั้งแต่ศีรษะ ลำตัว ไปจนถึงขาทั้งสองข้าง เหยื่อส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลกับรายงานชิ้นนี้ล้วนถูกทุบตี

13 การเอาแผ่นร้อนมาจี้ที่เท้า

“เจ้าหน้าที่จะบีบที่ไหล่ ข่มขู่ไว้ก่อน มึงต้องบอกข้อมูลให้หมด มีการทำร้ายร่างกาย ตบหน้า ปากแตก ถีบขาอ่อน 2 ครั้ง ให้ซิทอัพตั้งแต่ 50-100 ลุกนั่ง 200-300 เดินวิ่งบนถนนคอนกรีตตอนเที่ยงด้วยเท้าเปล่า จนฝ่าเท้าพองเพราะโดนความร้อนของพื้นอิฐ มีการสอบสวนช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 20.30 น. – 22.30 น. ถูกทำร้ายร่างกายต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 อาทิตย์”

ผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นชายอายุ 30 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557

14 การใช้ไฟฟ้าช็อต

การช็อตด้วยไฟฟ้าเป็นการทำให้กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกาย การใช้กระแสไฟสูงผ่านร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจทำให้เกิดภาวะของหัวใจและความเสียหายกับเนื้อเยื่อ ความตายที่เกิดจากไฟฟ้าช็อตเรียกว่า การตายด้วยไฟฟ้า ซึ่งเหยื่อจะมีอาการแปลกๆ และมีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย

15 การบังคับให้กิน/ดื่ม

การบังคับให้กิน/ดื่ม เกิดขึ้นน้อยครั้งในการกระทำทรมานต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็มีเกิดขึ้นในกรณีที่บังคับให้กินดื่มสิ่งของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม หรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไม่ต้องการกินข้าวที่จัดโดยเจ้าหน้าที่ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมจึงเกิดการบังคับให้กิน ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากการบังคับให้กินดื่มในประเทศอิสราเอลหรือที่กวนตานาโม ซึ่งใช้วิธีการใส่อาหารเข้าไปในท่อและสอดใส่ไปทางจมูก

16 การทำให้บาดเจ็บที่เข่า

“เจ้าหน้าที่พาไปที่ศูนย์ซักถาม มีเจ้าหน้าที่พาไป 3 คน เจ้าหน้าที่เตะตามตัว เจ้าหน้าที่ก็เตะตรงหน้าอกจนมะสือดีล้มพร้อมกับเก้าอี้ บอกให้ยอมรับความผิด พอเจ้าหน้าที่หยุดก็ให้ผมยืน ให้ผมยอมรับว่าทำอะไรผิด ผมไม่ได้บอกเพราะไม่รู้ เจ้าหน้าที่ก็มีการเตะตลอด ผมไม่ยอมรับเพราะไม่รู้ว่าให้ยอมรับเรื่องอะไร สุดท้ายเจ้าหน้าที่บอกว่ามีการซัดทอดมาว่าผมทำความผิด แล้วให้ผมเปลือยกาย เมื่อผมไม่เซ็นเอกสาร เจ้าหน้าที่ก็เลยโกรธ ก็เลยตีกับฆ้อนหัวยางตามข้อต่างๆ ช่วงลำตัว”

ผู้ให้สัมภาษณ์เป็นชายอายุ 33 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550

17 เสียงดัง

การทรมานด้วยเสียงในจังหวัดชายแดนใต้คือการทำเสียงดังในเวลากลางคืนที่เหยื่อต้องการพักผ่อน เมื่อถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการไม่ได้นอนหลับสนิท เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน พวกเขาจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ สายตาพร่ามัว ซึมเศร้า ตาบอดสี ขาดสมาธิ ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง เวียนศีรษะ หน้ามืด เวียนหัว ความหมองคล้ำของดวงตา เป็นลม สับสน มีอาการหลอน อาการมึนเมา อาการสั่น ปวดหัว ไส้เลื่อน อยู่ไม่สุข ใจร้อน หงุดหงิดง่าย สูญเสียความจำ คลื่นไส้ โรคจิต ปฏิกิริยาช้า พูดเลอะเลือน น้ำหนักเพิ่มหรือลด มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา

18 การทำให้ขาดอากาศ

อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระทำทรมานที่ทำให้ความสามารถในกระบวนการควบคุมสติถูกทำให้หยุดทำงาน วิธีหนึ่งในนั้นคือการทำให้ขาดออกซิเจน วัตถุประสงค์เพื่อให้เหยื่อทำตามคำสั่ง ไม่มีสติรับรู้ รวมถึงการกระทำในการละเมิดที่ชัดเจนของเหยื่อ คือ จริยธรรม หลักการความเชื่อมั่นทางจิตวิญญาณและความปรารถนา

19 การล่วงละเมิดทางเพศ

การกระทำทรมานทางเพศเริ่มต้นด้วยการบังคับให้เปลือยกาย การเปลือยกายได้เพิ่มความหวาดกลัวทางจิตวิทยาเพราะทำให้รู้สึกว่าอาจถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ภัยคุกคามทางเพศ การละเมิดทางวาจาและเยาะเย้ยยังเป็นส่วนหนึ่งของการทรมานทางเพศด้วย การละเมิดทางเพศไม่เพียงแต่เป็นการทำร้ายร่างกาย แต่ในหลายกรณีก็เป็นการคุกคามทางจิตวิทยาที่เป็นสิ่งอันตรายมากที่สุด สำหรับผู้ชาย นอกจากก่อให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว ยังอาจคุกคามเหยื่อจนกลายเป็นหมัน ซึ่งการละเมิดทางเพศในจังหวัดชายแดนใต้ มีการบังคับให้เปลือยกาย การกระทำรุนแรงกับอวัยวะเพศ การใช้ไฟฟ้าช็อตที่อวัยวะเพศ เป็นต้น

20 การบังคับให้ทำท่าต่างๆ

การบังคับให้ทำท่าทางต่างๆ เป็นการบังคับให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายในตำแหน่งต่างๆ เช่น การบังคับให้ยืน ให้นั่งในท่าทางที่ไม่สะดวก หรือร่างกายถูกแขวนเป็นเวลานาน การถูกบังคับให้ทำท่าทางต่างๆ ส่งผลระยะยาวหรือความเสียหายรุนแรงรวมไปถึงเส้นประสาท


อ้างอิงจาก: รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 -2558

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า