จาก สุรชัย แซ่ด่าน ถึง เจือง ซุย เญิ้ต: ชีวิตที่หายไปในดินแดนบังบด

“ใครก็ตามที่ฆ่าพวกเขา คงหวังว่าแท่งปูนในท้องจะถ่วงร่างและความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขาจมลงสู่ก้นบึ้งแม่น้ำ แต่ก็เหมือนเคย-นักเคลื่อนไหวนั้นดื้อดึงและยืนยันที่จะส่งเสียง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นหรือตาย”[1]

 

การหายตัวไปในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง

เคลาดิโอ โซพรานเซตติ (Claudio Sopranzetti) นักวิชาการชาวอิตาเลียนผู้เขียนหนังสือ Owners of the Maps ว่าด้วยวินมอเตอร์ไซค์และการขับเคลื่อนทางการเมืองของชนชั้นรากหญ้าในประเทศไทย เป็นเจ้าของวลีในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น วลีนี้มีที่มาจากบทความ It’s time we listened to the plight of Thai dissidents abroad เผยแพร่ในเว็บไซต์ Aljazeera เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สองวันหลังมีการพบ 2 ศพในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ 27 และ 29 ธันวาคม 2561 ศพทั้งสองมีสภาพในลักษณะที่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด บรรยายว่า “จับใส่กุญแจมือ เชือกป่านรัดคอ ผ่าท้องยัดแท่งปูนห่อกระสอบโยนทิ้งแม่น้ำโขง ก่อนศพลอยมาโผล่ริมตลิ่งบ้านสำราญ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม[2]

ต่อมาสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า ศพทั้งสองอาจเป็นศพของ นายสุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมผู้ติดตามคือ สหายภูชนะ และ สหายกาสะลอง ทั้งสามหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2561

ผ่านไปหนึ่งเดือนแห่งการ ‘ดื้อดึงและยืนยันที่จะส่งเสียง’ ของศพทั้งสอง ในวันที่ 22 มกราคม 2562 ผลการตรวจดีเอ็นเอลูกชายและมารดาของสหายภูชนะและสหายกาสะลองไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์กับสองศพที่พบ

สองศพที่พบในแม่น้ำโขงคือสหายภูชนะและสหายกาสะลองผู้ติดตาม นายสุรชัย แซ่ด่าน

แม้ยังไม่พบร่างของสุรชัย แซ่ด่าน แต่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้เป็นภรรยาก็ ‘ไม่ลังเลอีกต่อไป’ และ ‘สิ้นสงสัย’ ในชะตากรรมของสามี ตามที่เธอให้สัมภาษณ์สำนักข่าว the101.world

“ตอนนี้เราแค่วิงวอนขอให้ได้ศพคืนมา เพื่อจะได้มาทำบุญให้ตามศาสนา แล้วก็จะได้ทำนิติกรรมต่างๆ ได้ ไม่อย่างนั้นตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใบมรณบัตร ก็จัดการเรื่องทรัพย์สมบัติที่จะแบ่งให้ครอบครัว ให้ลูกๆ ที่เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ลูกของแกก็ใช่ว่าจะสบาย ทุกคนลำบากหมด ถ้าจัดการเรื่องทรัพย์สมบัติได้ ลูกหลานก็จะได้มีทุนการศึกษา”[3]

การไม่พบศพสามีย่อมเป็นเรื่องคลุมเครือและชวนสงสัย แต่ทำไมเธอจึง ‘สิ้นสงสัย’ แทนที่จะคาดหวังว่าสามียังมีชีวิตอยู่

ในรายงานการวิจัยเรื่อง คำสาปของความคลุมเครือ: เหยื่อการบังคับสูญหายกับการเลือกไม่ใช้ความรุนแรงในต่างประเทศและข้อคิดสู่สังคมไทย[4] ได้อธิบายแนวคิดเรื่อง ‘ความคลุมเครือ’ (ambiguity) ว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยแรงจูงใจ (motivation) ของผู้กระทำเพื่อที่จะสื่อสารให้เกิดความหมายบางอย่าง และการกระทำที่คลุมเครือนี้ สามารถมองได้ว่าเป็นเสมือนข้อความที่บรรจุความหมายไว้อย่างหลากหลาย

แนวคิดดังกล่าวหากนำไปใช้ในการทำความเข้าใจ ‘การบังคับให้บุคคลสูญหาย’ (forced disappearance) ตามกรอบความหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับแห่งสหประชาชาติ อาจมองได้ว่า การบังคับให้สูญหายเป็นวิธีการที่ผู้ดำเนินการจงใจจะสร้างความคลุมเครือให้เกิดขึ้น ความคลุมเครือจากวิธีการนี้เกิดขึ้นจากการไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผู้สูญหายนั้นยังคงมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว ถูกฆาตกรรมหรือจงใจหลบหนี และใครเป็นผู้บังคับให้สูญหาย

งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาถึงผลของความคลุมเครือในส่วนของครอบครัวผู้สูญเสียหรือผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ว่าครอบครัวของผู้สูญเสียเจ็บปวดจากความสูญเสียดังกล่าวมากกว่าความสูญเสียในรูปแบบอื่นๆ

“การศึกษาการสูญเสียหรือการสูญหายที่คลุมเครือ (ambiguous loss) ในฝั่งของผู้สูญเสียมักมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาเป็นหลัก ทั้งนี้ พอลีน บอสส์ (Pauline Boss ผู้เขียน Ambiguous Loss, 1999) ชี้ให้เห็นว่า นอกจากลักษณะและวิธีการเฉพาะที่ทำให้การบังคับบุคคลสูญหายแตกต่างจากการหายหรือการฆาตกรรม ในทางเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดจากการบังคับบุคคลสูญหายยังมีลักษณะเฉพาะด้วย โดยเฉพาะในประเด็นของการนำไปสู่ ‘ภาวะคลุมเครือของการหาย’ จากการไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผู้สูญหายนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว ถูกฆาตกรรม หรือจงใจหลบหนี และใครเป็นผู้บังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นภาวะที่ดำเนินอยู่ยาวนาน”

ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้ง่ายกว่าหากยอมรับว่าผู้สูญหายได้ตายไปแล้ว ดำเนินต่อไปได้ง่ายกว่าการรอคอยจนเวลาคล้ายเป็นนิรันดร์ ภาวะคลุมเครือของการหายเคยเกิดขึ้นกับครอบครัวทองสินธุ์ บิดามารดาของจารุพงษ์เป็นตัวอย่างของความเจ็บปวดจนถ้อยคำไม่มีความสามารถที่จะอธิบาย

การ ‘ไม่ลังเลอีกต่อไป’ และ ‘สิ้นสงสัย’ ในชะตากรรมสามีของ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ จึงเป็น ‘การเปลี่ยนผ่านความเสียใจเข้าสู่ภาวะปกติได้ตามครรลองทางสังคมวัฒนธรรม’[5]

ดังที่เธอให้สัมภาษณ์กับ the101.world ว่า “ตอนนี้เราแค่วิงวอนขอให้ได้ศพคืนมา” นอกจากการจัดการเรื่องนิติกรรมและทรัพย์สมบัติแล้ว การยอมรับความตายทั้งที่ยังไม่พบศพเป็นเรื่องของการก้าวเดินต่อไปของผู้ยังมีชีวิต

ในบทความ ‘It’s time we listened to the plight of Thai dissidents abroad’ เคลาดิโอ โซพรานเซตติ กล่าวถึงสถิติผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ว่า คดี 112 ในปี 2561 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสถิติระหว่างปี 2559-2560 ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทยถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่ยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกที่สนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนผ่านการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อนักเคลื่อนไหวทั้ง 3 หายตัวไปจากเวียงจันทน์ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการตั้งกลุ่มล่าหัวคนเหล่านี้ในต่างประเทศหรือไม่ และตั้งคำถามว่า

“ต้องพบศพเพิ่มอีกกี่ศพ ประชาคมโลกและองค์กรระหว่างประเทศจึงจะใส่ใจในชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้”

7 กุมภาพันธ์ 2562  สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ พร้อมด้วยผู้ร่วมให้กำลังใจเดินทางมายื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี กรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของสุรชัยพร้อมสหายคนสนิทอีกสองคนที่ผลตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าเป็นศพของทั้งสอง[6]

ใจความในจดหมายขอให้สืบหาข้อเท็จจริงการฆาตกรรมสุรชัยและสหาย และนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หยุดทำร้ายและการกระทำที่นำไปสู่ความรุนแรงจนเสียชีวิต รวมถึงให้ความคุ้มครองแก่ เอกชัย หงส์กังวาน รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองรายอื่นๆ และให้นำตัวผู้กระทำมาลงโทษ ยุติคำสั่ง คสช. ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ให้อิสระแก่ผู้ลี้ภัยได้กลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัย และจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม

ปลายเดือนมกราคม สำนักข่าวประชาไทยเผยแพร่บทความ ทำไมเราถึงไปประเทศที่สาม… ไม่ได้! เผยเล่ารายละเอียดของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 บทความชิ้นนี้เผยให้เห็นรายละเอียดของการหนีออกจากประเทศเพื่อทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 และกรณีการหายตัวไปของ อิทธิพล สุขแป้น ผู้ลี้ภัยการเมืองที่เดินทางไปทำเรื่องขอลี้ภัยที่ประเทศกัมพูชาก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศลาว แต่ “ใครจะไปรู้ว่า การกลับมาของซุนโฮในครั้งนี้ จะเป็นการกลับมา แล้วไม่ได้กลับไปอีกเลย เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวซุนโฮถูกอุ้มหายตัวไป และเขาก็ได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเราเป็นรายแรก…  หายไป… โดยไม่ได้กลับมาอีกเลย !!”[7]

ไม่ใช่รายแรก เพราะหลังจากนั้นก็เป็นการหายตัวไปของ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง ที่รู้จักกันในนามกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญา มาตรา 112 และก่อการร้าย ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน[8]

หลังจากนั้นก็เป็นการหายตัวไปของสุรชัยและสหาย

เจือง ซุย เญิ้ต

การหายตัวไปในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เว็บไซต์ The Guardian รายงานว่า เจือง ซุย เญิ้ต (Truong Duy Nhat) ผู้สื่อข่าวชาวเวียดนามจากสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) หายตัวไประหว่างเดินทางเข้ามาเพื่อยื่นคำขอลี้ภัย ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees: UNHCR) ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 26 มกราคม 2562

หลังจากวันนั้นก็ไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย

เมื่อปี 2557 เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีด้วยข้อหาล่วงละเมิดเสรีภาพประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของรัฐ จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเหล่าผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามบนบล็อกส่วนตัวของเขาที่ชื่อ ‘Another Point of View’

เจือง ซุย เญิ๊ต ถูกจับตัวตั้งแต่ปี 2556 และถูกกักขังระหว่างไต่สวน เขาถูกจำคุกระหว่างปี 2556-2558 ในข้อหา ‘โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ’

หลังได้รับการปล่อยตัว เขาทำงานเป็นนักข่าวอิสระ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2561 เมื่อได้ข่าวว่าตนมีความเสี่ยงจะถูกจับกุมอีกครั้ง และเริ่มสังเกตเห็นการเพิ่มกำลังตำรวจใกล้บ้านพักของตนเอง เขาจึงหนีออกมาจากแผ่นดินแม่ โดยไม่รู้ตัวว่าจะมาพบกับจระเข้หลังจากหนีเสือออกมา

ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 เขาจึงเดินทางมาประเทศไทย และในวันที่ 25 มกราคม ได้เดินทางไปยื่นคำขอลี้ภัยกับสำนักงาน UNHCR ในกรุงเทพฯ พร้อมส่งภาพถ่ายของเขา 2 ใบให้กับญาติระหว่างอยู่ที่หน้าประตูสำนักงาน UNHCR แต่หลัง 26 มกราคมเป็นต้นมา ไม่มีใครทราบข่าวหรือได้เห็นเขาอีกเลย

จากรายงานของสื่อระบุว่าเมื่อวันที่ 26 มกราคม เจือง ซุย เญิ้ต ถูกจับตัวระหว่างเดินซื้อของอยู่ในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค โดยกลุ่มคนเพศชาย ข่าวบางสำนักระบุละเอียดว่า ถูกจับตัวระหว่างซื้อไอศกรีม

เวียดนามมีชื่อเสียงเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และวิธีการกำจัดบุคคลที่รัฐบาลหมายตาก็ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น ในปี 2548 ทิกญ์ ชี้ หลึก (Thich Tri Luc) พระสงฆ์ชาวเวียดนามที่ต่อต้านรัฐบาลถูกลักพาตัวกลับเวียดนามขณะลี้ภัยในกัมพูชา แม้ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว ในปี 2551 เล ชี้ ตฺเวะ (Le Tri Tue) นักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลเวียดนามหายตัวไปจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แม้ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยโดยองค์การสหประชาชาติ ในปี 2559 ฉิ่ง เซวิน แทง (Trinh Xuan Thanh) อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันของรัฐชื่อเปโตรเวียดนาม หายตัวไปจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีที่เขาลี้ภัย หลังถูกรัฐบาลเวียดนามตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน ทางการเยอรมันเชื่อว่าการลักพาตัวดังกล่าวเป็นภารกิจลับที่กระทำโดยทางการเวียดนาม

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เรียกร้องทางการไทยสอบสวนเกี่ยวกับการลักพาตัว เจือง ซุย เญิ้ต

“การหายตัวไปของ เจือง ซุย  เญิ้ต เป็นเรื่องที่น่าตระหนก เขาเคยเป็นนักโทษทางความคิด และตกเป็นเป้าหมายของทางการเวียดนามหลายครั้ง เราทราบจากหลายแหล่งข่าวว่า เขาเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อขอลี้ภัย แต่หลังจาก 26 มกราคมเป็นต้นมา ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

“จากรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น ทางการไทยต้องสอบสวนเกี่ยวกับการลักพาตัวชาวเวียดนามจากชุมชนของผู้ลี้ภัย ซึ่งตามรายงานข่าวและจากการรวบรวมหลักฐานจากเพื่อนร่วมงานของ เจือง ซุย เญิ้ต ที่ Radio Free Asia พบว่า เวียดนามถึงกับเคยเข้ามาลักพาตัวผู้หลบหนีและผู้ขอลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เจือง ซุย เญิ้ต มีความเสี่ยงอย่างชัดเจนที่จะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย หากข่าวการลักพาตัวเป็นเรื่องจริง

“ทางการเวียดนามยังไม่ได้แถลงเกี่ยวกับการหายตัวไปของ เจือง ซุย เญิ้ต ทางการต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวกับชะตากรรมเขา และให้การประกันว่าเขาจะได้รับความปลอดภัยและมีเสรีภาพในการเดินทาง”

กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) เรียกร้องทางการไทยให้สอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น และบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณไม่ดีต่อกลุ่มบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทย และยังรวมถึงผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในประเทศไทยด้วย

ดาเนียล บาสตาร์ (Daniel Bastard) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน บอกว่า หากไทยปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไร เท่ากับว่าไทยยอมให้สายลับเวียดนามปราบคนที่ไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาล ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยของไทย

นี่คือชะตากรรมของคนที่คิดต่างจากรัฐสองรัฐ และหายสาบสูญไป ญาติพี่น้องไม่ทราบชะตากรรม มันเกิดและเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะ สุรชัย แซ่ด่าน เป็นคนไทย ขณะที่ เจือง ซุย เญิ้ต หายตัวไปในประเทศไทย

พวกเขาหายตัวไปราวกับตำนานเมืองบังบด แต่สิ่งที่เกิดไม่ใช่ปรัมปรา

 


 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย

 

เชิงอรรถ

[1] https://voicetv.co.th/read/3iRO99Z4B

[2] https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2033618

[3] https://www.the101.world/pranee-dawattanasunorn-interview/

[4] ประทับจิต นีละไพจิตร, อนรรฆ พิทักษ์ธานินทร์, สวริน สิทธิสาร

[5] อ้างแล้ว

[6] https://web.facebook.com/iLawClub/posts/10161548684485551?hc_location=ufi

[7] https://prachatai.com/journal/2019/01/80708

[8] https://www.matichonweekly.com/column/article_47553

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า