20 ปี ‘Write for Rights’ แอมเนสตี้ชวน ‘Write for รุ้ง’ บอกโลกด้วยจดหมาย ประชาชนจะสู้กับความอยุติธรรม

ครบรอบ 20 ปีที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) มีแคมเปญรณรงค์ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดทั่วโลกผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ถูกละเมิดและครอบครัวของพวกเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญอยู่กับการต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และเพื่อเป็นการสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม

ปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ผลักดันให้ประเด็นของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ไปพร้อมกับการช่วยเหลืออีก 3 กรณี ได้แก่ จาง จ่าน จากประเทศจีน ซึ่งรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐคุมขังนักข่าวอิสระและข่มขู่ครอบครัวของผู้ป่วยโควิด-19 ต่อมา จาง จ่าน กลับถูกควบคุมตัวและถูกตัดสินจำคุก 4 ปี นอกจากนี้ยังมี เว็นดี กาลาร์ซา จากประเทศเม็กซิโก ซึ่งถูกยิงขณะชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ต้องหาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และ กลุ่มสเฟียร์ จากประเทศยูเครน ซึ่งถูกทำร้ายเพียงเพราะออกมาปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของผู้หญิง โดยยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีแต่อย่างใด

กรณีของ รุ้ง-ปนัสยา ในฐานะของแกนนำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยประเด็นหลักคือการคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 เริ่มต้นจากการปราศรัยข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยที่ผ่านมา เธอต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้งด้วยกัน

มีนาคม 2564 เธอถูกตัดสินจำคุกโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลา 60 วัน ตามความผิดมาตรา 112 เธออดอาหารประท้วงเป็นเวลา 38 วันเพื่อประท้วงต่อกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม – 7 เมษายน 2563 ท่ามกลางความห่วงกังวลของประชาชนที่ต่อสู้อยู่ภายนอก และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 เมษายน 2563

จากนั้นเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เธอถูกจองจำเป็นเวลากว่า 16 วัน ผมถูกตัดสั้นและย้อมสีดำ การถูกคุมขังสร้างบาดแผลในจิตใจให้กับเธอ รวมถึงทำให้เธอติดเชื้อโควิด-19 จากสภาพการคุมขังที่แออัดในเรือนจำอีกด้วย แต่เธอยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ต่อไป ด้วยความหวังที่จะได้เห็นประเทศมีอนาคตที่ดีขึ้น ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เราต่างรู้ดีว่า เคยเกิดอะไรขึ้นกับคนที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในยุคก่อนหน้า เราต่างรู้ดีว่ามีคนตายไปหลายคน หลายคนถูกทำให้สูญหาย ยังหาไม่เจอ มันจึงเป็นความเสี่ยงมากสำหรับใครก็ตามที่แตะต้องเรื่องนี้ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ติดคุกไปแล้ว แต่ต่อไปจะเจออะไรอีก เราต่างมีความเชื่อร่วมกัน ต่างมีศรัทธาร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน อยากให้ประเทศดีขึ้น อยากให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็อยากมีชีวิตดีขึ้นเหมือนกัน เราสู้เพื่ออยู่นะ ไม่ได้สู้เพื่อตาย แต่ถ้าต้องตายเพื่อให้อีกหลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราว่าเราก็โอเค 

“เราอยากอยู่ในสังคมที่พัฒนา เราอยากอยู่ในประเทศที่เพื่อนร่วมชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราอยากอยู่ในช่วงเวลาแบบนั้น แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ มันก็เหลือคนอื่นอีก ยังมีเพื่อนๆ และครอบครัวที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ยอมเสียสละเพื่อเขา”

ครั้งล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินไม่ให้ประกันตัวเธอ กรณีโพสต์เชิญชวนใส่ครอปท็อปเดินห้างสรรพสินค้า ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2563 ทำให้ถูกคุมขังอีกครั้ง ทั้งยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาอีกมากมายที่ตัดสินว่าเธอมีความผิด 

สำหรับการรณรงค์ผ่านกิจกรรม ‘Write for Rights’ รุ้ง-ปนัสยา ฝากข้อความถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า 

“ถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ฉันชื่อ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ฉันมาจากประเทศไทย เพื่อนและครอบครัวเรียกฉันว่า ‘รุ้ง’ ซึ่งหมายถึง ‘สายรุ้งหรือรุ้งกินน้ำ’ แม้ฉันจะเป็นเด็กที่ค่อนข้างเงียบ แต่ฉันมักตั้งคำถามกับความอยุติธรรมในสังคมไทย ฉันมีบทบาททางการเมืองในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ฉันเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง และในปี 2563 ฉันเป็นแกนนำการชุมนุมในการเรียกร้องความเสมอภาค เสรีภาพในการแสดงออก และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในประเทศไทย

“ฉันอาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคมในประเทศของฉัน บอกรัฐบาลไทยให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อฉัน

“เจ้าหน้าที่มักตราหน้าว่าฉันเป็นศัตรูของรัฐ เป็นผู้ก่อความวุ่นวายในประเทศ ซึ่งทำให้ฉันถูกจับกุมและถูกควบคุมตัว หลายคนในประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมมักจะถูกจำคุก เมื่อคุณก้าวเข้าไปในคุก คุณจะรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ได้สลายหายไป ในระหว่างที่ถูกจำคุก ฉันถูกปฏิเสธการประกันตัวถึง 6 ครั้ง และถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ฉันไม่สยบยอมต่อการกระทำดังกล่าวของทางการไทย ฉันจึงอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 38 วัน และได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน 2564

“อย่างไรก็ตาม ฉันต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาอีกหลายสิบข้อ และหากพบว่ามีความผิด ฉันอาจถูกจำคุกตลอดชีวิต 

“ความช่วยเหลือของพวกคุณทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ด้วยแคมเปญเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write for Rights ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเรียกร้องให้ทางการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนอย่างฉันเป็นอิสระ

“ข้อความของพวกคุณมีพลังมาก และด้วยขบวนการสิทธิมนุษยชนกว่า 10 ล้านคน คุณช่วยให้ฉันมีอิสรภาพได้ 

“ร่วมกันต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ เขียน เปลี่ยน โลก ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในปีนี้”

ที่ผ่านมาแคมเปญ Write for Rights มีส่วนนำข้อความจากคนทุกมุมโลกส่งเสียงไปยังรัฐบาลในประเทศต่างๆ ให้ไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันข้อความเหล่านั้นยังทำให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิยังคงมีความหวังในการต่อสู้ กรณีตัวอย่างเช่น ฮาคีม อัล อาราบี นักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ที่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกทางการไทยควบคุมตัวนานกว่า 2 เดือน ตามหมายแดงของตำรวจสากล ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหาว่าเขาทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว รุ่งขึ้นเขาเดินทางไปถึงออสเตรเลีย และได้รับสัญชาติออสเตรเลียในเวลาต่อมา

รวมทั้งกรณีของ มาเมาด์ อาบู ซิด หรือ ซอว์คาน ช่างภาพชาวอียิปต์ ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2562 หลังจากถูกจำคุกนานกว่า 5 ปีครึ่ง หลังถูกจับขณะทำข่าวประท้วงซึ่งกองกำลังอียิปต์สังหารผู้ชุมนุมราว 800-1,000 คน หรือที่เรียกว่า ‘การสังหารหมู่ราบา’

“ผมขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้ผม ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีคนแบบพวกคุณอยู่บนโลกใบนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีพวกคุณเป็นเสมือนเพื่อนของผม” นี่คือถ้อยคำของ ซอว์คาน หลังได้รับการปล่อยตัว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย บอกว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 20 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ทุกคนมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 4.5 ล้านฉบับในปี 2563 รวมทั้งทวีตและลายเซ็น ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

ร่วม เขียน เปลี่ยน โลก ได้ที่ https://www.aith.or.th/form/1/take-action

อ้างอิง

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า