สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยยังไม่ดี ประเทศไทยยังอยู่ในเงาของคสช.

วันที่ 30 มกราคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2562/2563 โดยนำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศและดินแดน ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

“ประเทศไทยยังอยู่ในเงาของคสช.”

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปฟิซิก กล่าวว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังถือว่าน่าผิดหวัง เพราะประเทศยังอยู่ในเงาของคสช. ทั้งที่ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านควรนำไปสู่การมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่การยกเลิกคำสั่งคสช.ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นตามมาตรฐานสากลอยู่ดี ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคก็ตาม

“ในเอเชีย เรามักจะได้ยินรัฐบาลประเทศต่างๆ บอกว่าไม่สามารถทำตามค่านิยมสิทธิมนุษยชนได้ จึงเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเมื่อรัฐบาลไม่อยากให้สัตยาบันในกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”

“สิทธิมนุษยชนเป็นกฎสากลที่จะเคารพสิทธิของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว เพศ ความเชื่อ สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญระดับนานาชาติ เป็นสามเสาหลักขององค์การสหประชาชาติด้านสันติภาพ ความมั่นคง และความเป็นธรรม เรามีกลไกด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น การใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศที่น่าจะเป็นกลไกที่นำมาใช้ได้ในระยะยาว และเป็นกรอบให้เกิดการเรียกร้องตรวจสอบได้ในระบบสิทธิมนุษยชน” นิโคลัสกล่าว

ข้อเสนอแนะเพื่อฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐบาลไทยว่า ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าและความพยายามทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย เรามีข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการทำงานในประเด็นนี้มากขึ้น เรื่องสำคัญที่เรื้อรังมานานคือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขอให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงต่อการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในทุกกรณี ให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนาย ญาติ และการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม และอนุญาตหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้

เรื่องการทรมานและบังคับให้สูญหาย อยากให้ผ่านร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย โดยสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีไว้ต่อต่างประเทศ อยากให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระรอบด้านต่อข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ และให้มีการนำตัวคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องสืบหาและเปิดเผยที่อยู่ของทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่สูญหาย จนกว่าจะทราบชะตากรรม

ปีนี้เป็นปีแห่งการปราบปราม อยากขอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ให้มีการทบทวนกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและกฎหมายที่ต่อต้านการแสดงออกโดยสงบ เรื่องและผู้แสวงหาผู้ลี้ภัยขอให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ เคารพต่อพันธกรณีที่อนุญาตให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยสามารถติดต่อ UNHCR และรับรองว่าผู้แสวงที่ลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครอง โดยอยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย

“ขอให้มีการพักใช้โทษประหารชีวิตในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการในทันที ลงนามและให้สัตยาบันสารพิธีเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อยากเห็นความจริงจังในการมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เรื่องกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น เราอยากเห็นการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที ต้องการให้มีการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหานี้ได้ ให้มีการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และชะลอการใช้กฎหมายนี้ นอกจากนี้เราขอให้ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในข้อหานี้ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข” ปิยนุชกล่าว

การตั้งข้อหาเพื่อขัดขวางการแสดงออกทางการเมือง

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมชื่อดัง กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นรอยต่อระหว่างช่วงที่คสช.ยังมีอำนาจกับการเลือกตั้ง ภาครัฐจึงมีความพยายามอย่างมากในการหยุดยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อคัดค้านรัฐบาล เมื่อคำสั่งคสช.ถูกยกเลิกไป รัฐบาลก็พยายามเปลี่ยนมาใช้กฎหมายปกติในกระบวนการที่ไม่ปกติ เช่น การใช้คดีหมิ่นประมาทที่เขาเองก็โดนฟ้องจากการจัดการชุมนุมเรียกร้องให้กกต.จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ทั้งที่เราควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้จัดการเลือกตั้ง และยังมีการฟ้องกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการลักทรัพย์ยามวิกาลว่ามีการลักใช้ไฟจำนวน 140.26 บาท ทั้งที่เป็นการใช้ไฟของมหาวิทยาลัย ข้อหาเหล่านี้เป็นการพยายามลดทอนการใช้สิทธิเสรีภาพ

“หลังคสช.หมดอำนาจอาจเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่โดนควบคุมตัวโดยพลการ แต่ยังมีการใช้เจ้าหน้าที่ไปพูดคุยสอบถามถึงที่บ้าน ยิ่งปีที่ผ่านมาเป็นช่วงรอยต่อการสิ้นสุดของอำนาจพิเศษ จึงเกิดการทำร้ายนักกิจกรรม เช่นที่ผมถูกทำร้ายร่างกายสองครั้งเมื่อปีที่แล้ว คนอื่นที่โดนทำร้ายร่างกายและผมพูดตรงกันว่าถูกติดตามตัวโดยเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะ จึงมั่นใจว่าการทำร้ายร่างกายทำโดยภาครัฐ โดยขณะนั้นเป็นช่วงที่อำนาจพิเศษใช้การไม่ได้แล้ว จึงมีการสร้างภาพความรุนแรงที่จับตัวใครไม่ได้ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าจะทำยังไงให้นำคนร้ายมาลงโทษได้ และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก” สิรวิชญ์กล่าว

บุญภาดา พึ่งบุญ ณ อยุธยา อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการกองแผนยุทธศาสตร์และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงการยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานดูแลกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยาน

“เรามีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวข้องในร่างนี้ เช่น ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการแสดงความคิดเห็นหรือการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากมากขึ้น เรามีแผนธุรกิจสิทธิมนุษยชน ที่ประกอบด้วยเรื่องสิทธิแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนระหว่างประเทศ” บุญภาดากล่าว

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ปีที่ผ่านมาพบว่าการชุมนุมมีทั้งที่สงบและไม่สงบ การชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบเช่นการชุมนุมไม่ถอยไม่ทนที่นำโดยหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่าไม่มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย ทำให้ผู้มาชุมนุมเกิดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทั้งที่สิทธิเหล่านี้ควรเปิดกว้างขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว

ส่วนอีกรูปแบบคือการชุมนุมที่ไม่สงบ เช่นการชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน ชาวบ้าน 50 คนที่ไม่เห็นด้วยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมที่ประชุม มีการนำตำรวจราว 500 คนมาล้อมไว้จนมีผู้บาดเจ็บ 2 คน และถูกดำเนินคดีว่าไม่แจ้งการชุมนุม

“เราเห็นปรากฏการณ์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีการนำเจ้าหน้าที่ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชุมนุมมากมาควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความหวาดกลัว” หทัยรัตน์กล่าว

ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะตลอดปีที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องการแจ้งการชุมนุม เนื่องจากประเทศไทยมีการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ที่ยืดเยื้อบ่อยครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การร่างกฎหมายจึงกำหนดให้มีการแจ้งการชุมนุม แต่ระยะหลังคนเปลี่ยนมาใช้การชุมนุมแบบแฟลชม็อบที่ไม่ยืดเยื้อเพื่อแสวงหาพื้นที่แสดงออก ซึ่งไม่กระทบการจราจรและคนทั่วไปมากนัก วิธีการแจ้งการชุมนุมจึงไม่เหมาะกับการชุมนุมแบบนี้ และรัฐมีแนวโน้มจะเข้ามาขัดขวางมากกว่าอำนวยความสะดวกในการชุมนุม

“การต้องแจ้งการชุมนุมจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกมากเกินไปไหม หากเป็นการชุมนุมไม่กี่ชั่วโมงและไม่มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ควรจะต้องแจ้งไหม แล้วการชุมนุมยุคใหม่แจ้งกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค แล้วมีผู้ชุมนุมนำโพสต์จากผู้จัดการชุมนุมไปโพสต์ต่อ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าผู้เชิญชวนเป็นผู้จัดการชุมนุมด้วย จึงคิดว่าพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมาตรา 10 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังควรทำเครื่องหมายให้ชัดเจน และยังมีปัญหาเรื่องการตีความกิจกรรมกีฬาที่ถูกมองว่าเป็นการชุมนุมด้วย” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าว

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า