“การสร้างความหวาดกลัวจะให้ผลตรงกันข้าม”​ คำแถลงแอมเนสตี้ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของแกนนำกลุ่มราษฎร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผลที่ตามมาคือ การวิจารณ์ โต้แย้ง ตลอดจนแสดงความไม่พอใจ ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก    

ล่าสุด เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก ออกแถลงการณ์ถึงกรณีข้างต้นว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่มีโทษ แต่ก็เป็นสัญญาณอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนชาวไทยที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ทั้งยังอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่นๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต

“ถ้าคำวินิจฉัยนี้มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และขัดขวางพวกเขาจากการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม ดังที่เห็นจากการติดแฮชแท็กอย่างกว้างขวาง การส่งทวิต และข้อความทางโซเชียลมีเดียมากมายทันทีหลังศาลมีคำวินิจฉัย ประชาชนชาวไทยกว่า 200,000 คน ได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย

“เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย ตามวาระขององค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา โดยในรอบก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

“คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง”

ที่มา

https://www.amnesty.or.th/latest/news/969/

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า