สุริยา แสงแก้วฝั้น: เพราะคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นฉันจะไม่ทน

‘คนทุกคนต้องเท่ากัน’ คือโลกในอุดมคติที่คนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันเพรียกหา แต่สำหรับ เยล-สุริยา แสงแก้วฝั้น นอกจากจะมีพื้นฐานชีวิตที่ไม่สามารถเทียบเทียมกับคนอื่นได้ แม้กระทั่งสภาพร่างกายก็ไม่อาจสมบูรณ์พร้อมเหมือนคนปกติทั่วไปตั้งแต่ลืมตาเกิดเสียแล้ว

เพราะความเป็นคนที่ไม่เท่ากันนั้นมีอยู่จริง เยล-สุริยาจึงต้องลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาส่งเสียง และร่วมเป็นหนึ่งในสายธารของขบวนราษฎร 2563 ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย กระตุกให้ผู้คนมองเห็นสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้ถุนสังคม

ชีวิตวัยเด็ก เยลมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนครั้งแรกในระดับชั้นอนุบาล 1 เมื่ออายุปาเข้าไป 11 ขวบ นี่คือชะตากรรมซ้ำเติมที่เขาต้องเผชิญจากผลพวงความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา

เมื่อมีโอกาสได้เล่าเรียน เขาจึงทำมันให้ดีที่สุด เพื่อจะถีบสถานะตัวเองขึ้นมา จนสามารถเรียนจบปริญญาโทนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหวังจะนำเอาวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาไปช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสต่อไป

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 เยล-สุริยาโดดลงสมัคร สส. เชียงใหม่ ในนามพรรคสามัญชน นโยบายหลักที่เขาหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในเวลานั้นคือ ‘ลดงบประมาณกองทัพ สร้างรัฐสวัสดิการ’

แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นดั่งหวัง แต่ความใฝ่ฝันของเขาที่อยากจะเห็นบ้านเมืองมีอนาคตที่ดีก็ยังไม่มอดดับ แล้วถ้าการเมืองดี วันนี้คนพิการอย่างเขาคงไม่ต้องออกมาส่งเสียงตะโกนอยู่ข้างถนน

การขึ้นปราศรัยของเยลบนเวที #เชียงใหม่จะไม่ทน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เสียดแทงทะลุถึงหัวใจผู้มีอำนาจ และนั่นทำให้เขาถูกออกหมายจับเป็นการตอบแทน โทษฐานกระด้างกระเดื่อง ยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

WAY สนทนากับเยลผ่านคลื่นโทรศัพท์มือถือ ภายหลังจากที่เขาเพิ่งเดินทางไปแสดงตัวที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ตามหมายจับเมื่อไม่นาน เสียงจากปลายสายออกตัวว่า เขาจะพยายามเล่าอย่างช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้คนปกติอย่างเราๆ เข้าใจ เพราะระบบประสาทและกล้ามเนื้อของเขา ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพร่างกายและแขนขา แต่ยังมีผลต่อการออกเสียงที่ไม่อาจทำได้แคล่วคล่องนัก

การสนทนาดำเนินไปในท่วงทำนองที่แช่มช้าด้วยอุปสรรคในการสื่อสาร แต่เนื้อสารที่เยลพยายามเปล่งออกมานั้นก็เผยให้เห็นร่องรอยความคิดที่แจ่มชัดยิ่งนัก กับจุดยืนอันแน่นหนักในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่คนปกติพึงต้องรับฟัง

อยากให้ช่วยเล่าชีวิตและการเติบโตตั้งแต่วัยเด็กเป็นมาอย่างไร

ชีวิตผมเติบโตขึ้นมาในครอบครัวเกษตรกร พ่อเป็นชาวไร่ชาวนา พื้นเพของผมเป็นคนเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ค่อนข้างทุรกันดาร ที่ผมเกิดมาเป็นคนพิการก็เพราะว่าสมัยนั้นประมาณปี 2531 ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์มากนัก ยิ่งในโรงพยาบาลชุมชนยิ่งแล้วใหญ่ เด็กในชุมชนทุกคนต้องอาศัยโชคชะตาที่จะเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์แบบทุกประการ เด็กบางคนไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล คือเกิดที่บ้าน ต้องอาศัยหมอตำแยมาทำคลอด

ไม่รู้ว่าผมโชคดีหรือโชคร้าย ผมได้เกิดที่สถานีอนามัยชุมชน แต่ด้วยความที่แม่ผมมีสภาพร่างกายค่อนข้างอ่อนแอ แม่มีภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ และผมเป็นเด็กทารกที่ตัวใหญ่พอสมควร เพราะฉะนั้นกระบวนการคลอดจึงไม่ปกติ สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือผ่าตัด ต้องใช้วิธีดึงเด็กออกมา ทำให้สมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงระบบประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ผมเลยกลายเป็นคนพิการ ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้มาตั้งแต่เกิด

พอเติบใหญ่ขึ้นมา ผมไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะโรงเรียนในชุมชนสมัยนั้นปฏิเสธการเข้าเรียนของผม เนื่องจากมีสภาพร่างกายไม่ปกติเหมือนเด็กทั่วไป

หลังจากถูกปฏิเสธการเข้าเรียน แม้ว่าจะมีอายุตามเกณฑ์ที่ต้องได้เรียนแล้วก็ตาม ทำให้พ่อผมต้องต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อให้ผมได้เรียน โชคดีอย่างหนึ่งที่พ่อกับแม่มีหัวคิดก้าวไกล อยากให้ลูกที่มีสภาพร่างกายพิกลพิการเข้าเรียนหนังสือให้ได้ จึงเจรจาต่อรองกับผู้อำนวยการและคณะครูในโรงเรียน จนกระทั่งผมมีโอกาสได้เข้าเรียนครั้งแรกตอนอายุ 11 ขวบ

พอได้เข้าโรงเรียนตอนอายุเกินเกณฑ์แล้ว เริ่มเรียนชั้นอะไร

ตอน 11 ขวบ ผมเพิ่งจะได้เรียนอนุบาล 1 (หัวเราะ) หลังจากนั้นผมก็เรียนมาเรื่อยๆ จากประถม มัธยม จนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ และเรียนต่อปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ ปัจจุบันเรียนจบมาได้ 2 ปีแล้ว

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อสะท้อนปัญหาการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เกิดมาไม่สมบูรณ์แบบ ร่างกายพิกลพิการ มักจะมีทางเลือกน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษาและการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่สามารถเทียบเท่ากับคนปกติ ทุกวันนี้คนพิการต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโดยที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย เพราะต้นทุนทั้งหมดเราต้องดิ้นรนแสวงหามาด้วยตัวเอง

การมีร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้ชีวิตยากลำบากมากแค่ไหน

มันมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา ทั้งความท้าทายต่อสังคม ความท้าทายต่อสิ่งรอบข้าง อย่างเช่นการจะเดินทางไปยังพื้นที่สาธารณะสักแห่ง หรือการออกไปพบปะสังสรรค์กับคนหมู่มาก เราจะสามารถเดินไปด้วยตัวของเราเองได้หรือไม่ จะมีอุปสรรคมากแค่ไหน และถึงแม้ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่จริง แต่เราจะใช้งานมันได้จริงหรือไม่ เพราะบางแห่งแม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ คนท้อง แต่ใช้งานไม่ได้จริง

ในมุมมองส่วนตัวสำหรับผมแล้ว โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้องคำนึงถึงการใช้งานได้จริง ใช้ได้สะดวก และที่สำคัญคือมีความปลอดภัยในการใช้งานมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความท้าทายคือ เรารู้สึกได้ว่าคนอื่นที่มีชีวิตแบบ normal มักมองมายังตัวเราในฐานะของคนที่ abnormal ในสายตาของเขา ตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบันเราก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ นี่คือความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับผม เป็นความท้าทายต่อทัศนคติของคน

สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ คุณมักมองปัญหาต่างๆ ว่าเป็นความท้าทาย แทนที่จะรู้สึกท้อแท้หรือน้อยใจ?

ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแบบนั้นตอนเด็กๆ ก็มีอยู่ แต่พอสั่งสมความรู้สึกนั้นมาตั้งแต่เด็กจนโต มันกลับกลายเป็นความคุ้นชินไปเสียแล้ว มันเลยจุดที่เราจะท้อแท้หรือน้อยเนื้อต่ำใจไปแล้ว เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมา พอนานเข้าหลายสิบปีก็กลายเป็นความเคยชินกับสภาพชีวิตแบบนี้ไปแล้ว แม้ว่ามันจะไม่ใช่สภาพที่ปกติก็ตาม

การที่ต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้มาทั้งชีวิต เป็นสาเหตุหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้คุณต้องลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาเล่าเรียน

ใช่ครับ

การศึกษาคือสิ่งสำคัญ พ่อกับแม่จะสอนผมเสมอว่า ถ้าเราไม่มีการศึกษา ถ้าเราไม่รู้จักแสวงหาความรู้ เราจะเสียเปรียบคนอื่นเขา ทุกวันนี้เราเสียเปรียบทางด้านกายภาพอยู่แล้ว ถ้าเราเสียเปรียบทางสติปัญญาหรือวุฒิภาวะอีก เราจะอยู่ในสังคมลำบาก โดยเฉพาะในสังคมที่มองคนไม่เท่ากันแบบนี้

ฉะนั้นผมจึงเก็บคำสอนของพ่อกับแม่และประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เก็บเอามาคิด มาไตร่ตรอง และเปลี่ยนเป็นพลังให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวเรายืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ผมจึงต้องถีบตัวเองขึ้นมา เรียนหนังสือให้หนัก และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมส่วนรวมด้วย

พอได้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างที่คิดไหม

ผมก็พยายามเรียนให้ทันคนอื่นๆ มาเรื่อยๆ แต่ตอนเรียนปริญญาตรีผมใช้เวลา 5 ปีครึ่ง สาเหตุที่ใช้เวลานาน เพราะผมเลือกเรียนวิชานอกเมเจอร์ไปหลายตัว คือเรียนเกินหลักสูตรไป 16 ตัว

ผมคิดว่า ด้วยองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายที่เราเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดอาจจะยังไม่ตอบโจทย์มากพอ โดยเฉพาะในวัยแสวงหา ในวัยที่กำลังมีไฟและอุดมการณ์ คือผมเป็นคนโรคจิตอย่างหนึ่งน่ะครับ (หัวเราะ) โรคจิตในที่นี้หมายความว่า ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วยังไปไม่ถึงจุดที่ต้องการ ผมจะไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น ต้องแสวงหาความรู้ต่อไป เพื่อจะได้คำตอบว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนมาหรือความรู้ที่ได้รับมานั้น จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างไร แทนที่จะคิดว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เรียนมา ก็เลยเป็นสาเหตุที่ผมเรียนเกินหน่วยกิต

การเรียนนิติศาสตร์สามารถช่วยเหลือสังคมอย่างไรได้บ้าง

ผมขอพูดโดยรวมว่า นิติศาสตร์ก็เป็นสาขาหนึ่งของสังคมศาสตร์ คือศาสตร์แห่งสังคม หมายถึง เราจะเอาหลักวิชาที่เรียนมาไปรับใช้สังคม รับใช้ประชาชนได้มากแค่ไหน นิติศาสตร์มุ่งแสวงหาความยุติธรรมให้สังคม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจุดเน้นหลักคือ นิติปรัชญา ซึ่งมีความสำคัญมากในด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในปัจจุบัน

บ้านเมืองเรามีกฎหมายก็จริง แต่ถามว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายได้ประโยชน์จากกฎหมายมากน้อยเพียงใด นี่คือความสำคัญของนิติปรัชญาทางสังคมศาสตร์

โดยส่วนตัวผม การเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยมีหัวใจสำคัญว่า เราจะเอาหลักวิชาการ หลักนิติปรัชญา มาปรับใช้กับผู้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่ว่าจะบังคับใช้ไปตามตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว

หลังเรียนปริญญาโทจบแล้วทำอะไร

ตอนเรียนปริญญาโทผมใช้เวลา 2 ปีตามปกติ หลังจากนั้นก็ได้ทำงานในองค์กรแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานองค์กรระหว่างประเทศกับมหาวิทยาลัย ทำงานด้านวิชาการ งานวิจัย กึ่งๆ เอ็นจีโอ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการในสังคมไทย เฉพาะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีนักศึกษาที่เป็นคนพิการร้อยกว่าคนแล้ว

จุดเริ่มต้นของความสนใจทางการเมืองมีที่มาอย่างไร

ถ้าเอาเข้าจริง ผมสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วง ม.5-6 สมัยรัฐประหารปี 2549 อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า ครอบครัวของผมเป็นคนชนบท มีวิถีชีวิตแบบชาวไร่ชาวนา จนมาถึงช่วงปี 2544 หลังเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคไทยรักไทย เราสัมผัสได้ว่าชีวิตของพ่อแม่พี่น้องดีขึ้น ผมก็มองเห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองนั้นทำให้ปากท้องของคนชนบทดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักประกันสุขภาพ การเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค การคมนาคม มีแผนบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

หลังปี 2544 เป็นต้นมา ในฐานะที่ผมเป็นลูกชาวนาหลานชาวไร่ เราได้สัมผัสกับนโยบายต่างๆ ที่จับต้องได้ แต่พอปี 2549 ปุ๊บ เกิดรัฐประหาร ผมก็งง ทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดนั้นช่วยให้ชาวบ้านถีบตัวเองขึ้นมาจากชนชั้นล่าง มาเป็นผู้ประกอบการ มีรายได้ มีสวัสดิการในระดับหนึ่ง แต่ทำไมเขาถึงอยู่ไม่ได้ในการเมืองไทย และด้วยความที่ยังเป็นเด็กมัธยม ผมก็ทำได้เพียงแค่ติดตามข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วก็บ่นใน hi5 บางทีก็แชท msn พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกับเพื่อนฝูงในห้องเรียนบ้าง

พอเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 มีชุมนุมประชาธิปไตย ผมก็มีโอกาสเข้าไปร่วมบ้างเป็นครั้งคราว จนปี 2557 ก็ได้มีโอกาสแสดงจุดยืนทางการเมืองในฐานะนักศึกษา ได้ไปยืนประท้วงยุติความรุนแรง จุดเทียนแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านมวลชนฝั่งเสื้อเหลืองที่ออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร ต่อต้านคนที่สนับสนุนนายกฯ คนนอก หรือผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้ง

ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมือง แต่ประเด็นสิทธิชุมชน ทรัพยากร ผมก็ออกไปร่วมแสดงจุดยืนว่าเราไม่เห็นด้วย สมัยนั้นมีนักศึกษาไม่กี่คน ประมาณ 10-20 คน ผมเองก็ไปในฐานะผู้เข้าร่วมแสดงจุดยืน เนื่องจากผมมีสภาพร่างกายที่พิเศษกว่าคนอื่น ก็เลยมีบทบาทในการขึ้นพูดอยู่บ่อยครั้ง

คิดอย่างไรจึงตัดสินใจลงสมัคร สส. พรรคสามัญชน

ตอนนั้นผมทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายแห่ง ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาปี 4 คือทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ภารกิจของผมคือการสร้างเครือข่ายในมหาวิทยาลัย เครือข่ายเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม

ผมเคยทำงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เครือข่ายแรงงานผู้พิการ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รู้จักกับอดีตเลขาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน (กิตติชัย งามชัยพิสิฐ) พอได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคม ปัญหาผู้พิการ ผู้สูงอายุ เขาจึงมองเห็นว่าประเด็นเหล่านี้พรรคสามัญชนยังขาดไป ก็เลยชวนผมเข้าไปร่วม และไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่า ผมจะเป็นหนึ่งในผู้สมัคร สส. ในพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ณ เวลานั้น

พอลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ได้นำเสนอนโยบายอะไรบ้าง

ประเด็นหลักที่ผมผลักดันคือ รัฐสวัสดิการ ผมมีอุดมการณ์และแนวคิดพื้นฐานว่า ถ้าประชาชนทุกคนมีสวัสดิการโดยเท่าเทียมกันแล้ว ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตก็จะตามมา

แนวคิดหลักของผมคือ เราจะต้องไม่แยกเป็นสวัสดิการเฉพาะคนพิการ หรือสวัสดิการเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการเจาะจงมากเกินไป และดูจะย้อนแย้งกับหลักความเท่าเทียม เพราะการให้สวัสดิการแก่คนกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่ให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง มันย้อนแย้งกันในตัว ฉะนั้นผมจึงมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้มีนโยบายเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถรวมเอาผู้คนทุกองคาพยพเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เป็นไปได้แค่ไหนที่ประเทศไทยจะเดินไปถึงรัฐสวัสดิการ

อยู่ที่ว่ารัฐบาลในฐานะผู้มีหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่ารัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รัฐบาลที่ไม่มีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ย่อมไม่สามารถจัดทำนโยบายรัฐสวัสดิการได้อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลที่มาโดยอำนาจพิเศษมักมีผลประโยชน์แอบแฝง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. จะเห็นว่าข้าราชการการเมืองทุกคนทุกตำแหน่งในยุคเผด็จการได้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานยืนยันถึงความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม ในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือหากมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเอง โดยผ่านกลไกที่พิกลพิการอย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง สส. แบบจัดสรรปันส่วน และให้ สว. มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้ เรียกได้ว่าวุฒิสภามีอำนาจมากกว่า สส. ด้วยซ้ำ ทั้งที่ สว. มาจากการแต่งตั้ง ถามว่าใครเป็นคนแต่งตั้ง ก็คือ คสช. ผู้ที่ยึดอำนาจมานั่นเอง

กลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 พิกลพิการไปหมด ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปเมื่อต้นปี 2562 แต่ก็นับเป็นการเลือกตั้งที่ไม่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเลย และชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การบริหารประเทศล้มเหลว และส่อไปในทางเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องมากกว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน

ในเวทีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน วันที่ 9 สิงหาคม 2563 คุณออกไปแสดงความเห็นทำนองนี้หรือเปล่า จึงเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับในคดี 116

วันนั้นผมไปในนามประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ร่วมกับคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา เผอิญว่าผู้จัดเวทีที่เคยรู้จักกันมาก่อนจากการทำงานภาคประชาสังคมด้วยกัน และเป็นสมาชิกพรรคสามัญชนเหมือนกัน เขาเลยชักชวนผมขึ้นไปร่วมปราศรัยด้วย เพราะต้องการให้เวทีปราศรัยมีความหลากหลาย นอกจากจะพูดเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย พูดเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือพูดเรื่องยุบสภาเพียงอย่างเดียว

ผู้จัดก็เลยชักชวนผมขึ้นไปพูดเรื่องสวัสดิการคนพิการ และด้วยเหตุจำเป็นเฉพาะหน้าในวันนั้น ผมเพิ่งรู้ตัวว่าจะได้ขึ้นพูด พอรู้ตัวอีกทีก็ไปยืนอยู่หลังเวทีแล้ว (หัวเราะ)

จำได้ไหมว่าวันนั้นปราศรัยเรื่องอะไรบ้าง

ประเด็นที่ผู้จัดงานเสนอให้ผมขึ้นไปพูดก็คือ ให้กำลังใจน้องๆ นักศึกษาในการออกมาต่อสู้อำนาจเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย เพื่ออนาคตของพวกเขา

ผมปราศรัยว่า ถึงแม้ร่างกายของผมจะมีสภาพแบบนี้ ผมก็พร้อมจะออกมายืนเคียงข้างพวกท่าน และด้วยบรรยากาศ กับอารมณ์ ความรู้สึก ณ ตอนนั้นที่เต็มไปด้วยเสียงเชียร์ เสียงตบมือดังอยู่ตลอด ผมจึงเล่าย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยนับตั้งแต่หลัง 2475 ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และทำไมประเทศไทยจึงยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อำนาจที่ใช้ปกครองเป็นของประชาชนหรือเปล่า หรือว่าเป็นของใคร ประเด็นหลักๆ ก็มีเท่านี้ครับ

ตบท้ายด้วยบทกวี ‘เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ของ พี่วิสา คัญทัพ ผมก็ปราศรัยไปเท่านี้ล่ะครับ ประมาณ 11 นาที เห็นจะได้

สุดท้ายก็วิงวอนตำรวจ ทหาร อย่าได้ทำร้ายประชาชนผู้ที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย อย่าได้คุกคามผู้ที่มาเรียกร้องอนาคตของตัวเขาเองเลย เพราะเขามาชุมนุมตามสิทธิ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญทุกประการ ก็ประมาณนี้ครับ

ความคืบหน้าของคดีไปถึงไหนแล้ว

ผมเองก็ได้ไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว กระบวนการหลังจากนี้อยู่ในขั้นตอนพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องอย่างไรต่อไป แต่เท่าที่ผมได้หารือร่วมกับทีมทนาย มีแนวโน้มว่าอัยการอาจจะสั่งฟ้อง

เจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วมีความกลัวเกิดขึ้นในใจบ้างไหม

ก็กลัวครับ (หัวเราะ) แต่เข้าใจว่านี่คือสงครามจิตวิทยา ก่อนหน้านั้นก็มีบุคคลคล้ายๆ สันติบาล หรือ กอ.รมน. คอยติดตาม คอยรบกวน จนผมต้องย้ายที่อยู่ใหม่ แต่ตอนนี้ผมได้เข้าไปแสดงตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถ้าอัยการสั่งฟ้อง

มันเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งว่า ศาลอนุมัติหมายจับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่มีการออกหมายเรียกให้ผมไปแสดงตนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเลย มันก็เป็นเรื่องแปลก ปกติก่อนที่จะออกหมายจับใคร ควรต้องแสดงหมายเรียกก่อนใช่ไหมครับ อย่างน้อยก็ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่อันนี้จู่ๆ ก็ออกหมายจับเลย

คำถามข้อนี้ไม่ถามก็ไม่ได้…ถ้าการเมืองดี ชีวิตประชาชนจะดีขึ้นไหม

อย่างที่ผมพูดไว้ตอนต้นคือ รัฐสวัสดิการคือทุกอย่างขององคาพยพ

ถ้าการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้คน ประชาชนตรวจสอบได้ มีการถ่วงดุลโดยองค์กรที่ยึดโยงกับประชาชน ก็จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส หรือถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ประชาชนและตัวแทนของประชาชนจะต้องตรวจสอบได้ด้วยความตรงไปตรงมา ก็จะทำให้เกิดการบริหารจัดการอย่างยุติธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน

ถ้าการเมืองเป็นอย่างที่ผมพูด ก็จะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ และทุกๆ กลุ่ม ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

หลักการตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเสียก่อน ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ประชาชนคนเล็กคนน้อยผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ควรที่จะมีสิทธิแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของทุกๆ สถาบันในประเทศนี้ได้ เพราะทุกสถาบันในประเทศนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น

ถ้ามีโอกาสในวันข้างหน้า ยังมีความคิดความฝันที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกไหม

แน่นอนครับ (ตอบทันที) ผมยังคงยึดหลักคิดของพรรคการเมืองที่ผมสังกัดว่า เราฝากประเด็นให้คนอื่นพูดแทนมาตั้งหลายสิบปีแล้ว ทำไมเราจึงไม่เอาปัญหาเหล่านั้นไปพูดเอง ในฐานะเจ้าของปัญหาที่ประสบกับปัญหาโดยตรง ผมเชื่อว่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่าที่จะให้คนอื่นไปพูดแทน

เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายในนามของพรรคการเมือง แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะตำแหน่งใดก็ตาม เราก็ควรจะเอาคนที่เป็นเจ้าของปัญหา เข้าไปร่วมแก้ปัญหา ร่วมกำหนดนโยบายเพื่อตอบโจทย์สภาพปัญหาอย่างแท้จริง

มีอะไรอยากฝากไปถึงราษฎรคนรุ่นใหม่บ้าง

ผมเชื่อว่าสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งนานวันก็ยิ่งสุกงอมมากขึ้น สิ่งเดียวที่อยากฝากไปถึงน้องๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่เป็นกำลังหลักในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ และต่อสู้เพื่อความฝันที่จะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงมีสันติ

เราได้รับบทเรียนจากการสูญเสียมาหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภา 35, เมษา 53 โดยส่วนตัวผมไม่ปรารถนาให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเลย

ผมยังเชื่อว่าการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายหรือชัยชนะในวันข้างหน้าได้ ผมเชื่ออย่างนั้น ในระยะยาวเราจะต้องได้ประชาธิปไตยและความยุติธรรมกลับคืนมาไม่ช้าก็เร็ว แต่จงยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติ อหิงสา และปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ แล้วเราจะเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน

*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ
หรือ 'แน่วแน่' เป็นช่างภาพไร้รูปแบบ แต่รับงานทุกรูปแบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า