DIRTY TALK#2: เพราะเวลาอยู่ข้างเรา

เมื่อทุกคนเป็นแกนนำ การเรียกร้องจะไม่มีวันสิ้นสุด บรรทัดฐานสังคมกำลังจะถูกทำลายจากการเปิดโปงปัญหาภายใต้พรมที่ไม่เคยพูดถึง ทั้งความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกจำกัด และเสียงของคนที่ถูกมองข้าม จะส่งต่อให้ทุกคนได้รับรู้ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร

กองบรรณาธิการ WAY เก็บประเด็นมาจากเวที ‘DIRTY TALK’ คุยสบายๆ ไม่มีมัวหมอง ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 จากงาน ‘WINTER BOOK FEST 2020’ สามย่านมิตรทาวน์ แลกเปลี่ยนความคิด ความเห็นและเจตนารมณ์กับ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, เอเลียร์ ฟอฟิ และ ‘แรปเตอร์’ สิรภพ อัตโตหิ 3 ใน 14 ราษฎรที่บรรจุเรื่องราวอยู่ใน WAY ฉบับพิเศษ ‘ผู้มีมลทินมัวหมอง’

แรปเตอร์ สิรภพ: ผมต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ค่ะ

เรามองเห็นโครงสร้างอำนาจที่อยู่เหนือไปกว่าพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) อำนาจที่กดขี่เราผ่านกลไกการเมือง กดขี่เราจากการศึกษา ความหลากหลายทางเพศที่ถูกกดขี่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมปิตาธิปไตย มันฝังรากลึก ให้อภิสิทธิ์กับความเป็นชายมากกว่าเพศอื่น และกฎหมายอีกหลายข้อที่ไม่ให้ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายจะต้องเกิดขึ้นโดยมีความสอดคล้องและสอดรับกับวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่สังคมที่ทลายการกดขี่ทางเพศได้

แนวทางการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ อันดับแรกเลย เราต้องทวงสิทธิและเสรีภาพของเรากลับคืนมาสู่ประชาชน การเรียกร้อง 3 ข้อไม่ใช่มุมมองของปัญหาทั้งหมด แต่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังคงอยู่ เพราะฉะนั้นการเรียกร้องครั้งนี้ต้องการทำให้อำนาจนิยมสลายไป ซึ่งเรามองว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองควบคู่ไปกับประเด็นความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องไปพร้อมกัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยที่สะท้อนเสียงของคนชายขอบ

เราไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ เราไม่ได้สมาทานตัวเองว่าเป็นผู้หญิง ในขณะเดียวกันเพศกำเนิดของเราเป็นผู้ชาย เราถูกจับใส่กรอบความเป็นชายตลอดเวลา การที่ผู้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาแต่งกายเป็นผู้หญิง เป็นการสื่อสารทางการเมืองอย่างหนึ่งในการต่อต้านอำนาจปิตาธิปไตย ต่อต้านบรรทัดฐานของสังคมที่กำลังบีบเราอยู่

ภาพจำของการเมืองก็จะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ ในประวัติศาสตร์ทางการเมือง เพศชายเป็นผู้ครอบครองอำนาจมาโดยตลอด การลุกขึ้นมาแสดงตัวตนของเรา เป็นการต่อสู้ทางอำนาจ ม็อบตุ้งติ้งเกิดจากไอเดียจากทวิตเตอร์ ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาแสดงความคิดทางการเมือง คนจะแต่งกายมากอย่างหลากหลาย เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ทุกอัตลักษณ์ และสามารถสื่อสารทางการเมืองในรูปแบบของการเมือง

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีรายหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า แค่คุณลุกขึ้นมาประท้วง คุณก็คืนความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเองแล้ว ในสังคมที่อำนาจนิยมกดขี่และทำลายความเป็นมนุษย์ คุณไม่มีอำนาจที่จะเลือกอัตลักษณ์ และเส้นทางชีวิตของตัวเอง เพราะปัจจัยหลายอย่างบีบบังคับไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเพศ ความอาวุโสที่กำลังกดขี่คุณ หรือแม้กระทั่งอำนาจทางเศรษฐกิจที่ผูกขาดไว้ที่คนไม่กี่กลุ่ม แล้ววันที่คุณลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจ อย่างน้อยที่สุดไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ คุณได้ปลุกจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์กลับคืนมาแล้ว และคุณจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป

เราไม่อยากให้ทุกคนมองว่าประชาธิปไตยเป็นจุดหมายสุดท้ายที่จะไปให้ถึง จริงๆ แล้วมันคือจุดเริ่มต้นที่เป็นเส้นทางและเครื่องมือที่จะพาให้เราไปสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เพราะมันเป็นระบบที่ทำให้เสียงของทุกคนมีค่า ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชายขอบ คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมแค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยที่สุดเสียงของคุณก็จะต้องถูกสะท้อน เราไม่อยากให้ประเด็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้มองแค่ประชาธิปไตย ประเด็นยิบย่อยภายใต้การกดขี่ยังคงถูกซ่อนไว้อย่างมหาศาล อย่าทิ้งคนและปัญหาเหล่านี้ สุดท้ายแล้วเราต่างต้องการทำให้สังคมของเราอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

เพนกวิน พริษฐ์: คนรุ่นผมคือ Gen of Transition

ผมเรียกยุคนี้ว่า สิ่งเก่ากำลังตาย สิ่งใหม่กำลังเกิด มันเป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคม ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและบรรทัดฐานของสังคม โลกเปลี่ยนเร็วมาก ในขณะเดียวกันโลกของคนรุ่นเก่าหมุนช้ากว่ารุ่นเรา ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง และการกดขี่

ผมเกิด 2541 ผมลืมตาดูโลก 9 ปี เห็นการรัฐประหารครั้งแรก ต่อมาเกิดม็อบพันธมิตรปิดเมือง ปิดทำเนียบ ผ่านไปสักพักเห็นทหารฆ่าประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ผ่านมาจนผมอายุ 16-17 ปี ผมเจอรัฐประหาร 2 ครั้ง หลังจากนั้นเราก็เจอการจับกุม ปราบปราม และการปิดกั้นเสรีภาพในสเกลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การอยู่และเติบโตกับวิกฤติทางการเมืองแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะมีความรู้สึกอินกับการเมือง มันเป็นไปตามจังหวะของยุคสมัย พวกเราคือ Gen of Transition เป็นช่วงอายุที่เป็นการเปลี่ยนผ่านของโลกและสังคม มันคือหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน

ขบวนการเคลื่อนไหวของเรามีลักษณะเป็นระนาบและเป็นธรรมชาติ หลายคนมาอยู่ร่วมกันเพราะมีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่อาจจะมีความแตกต่างทางความคิด จึงมีการนำเสนอประเด็นมากมาย

ความสวยงามอย่างหนึ่งของม็อบในปัจจุบันคือมวลชนเป็นผู้ตัดสินและคัดกรองประเด็น แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วมวลชนเป็นเจ้าของขบวนการเคลื่อนไหว คนที่ออกมาคือเจ้าของการต่อสู้ทางการเมือง

บรรยากาศที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันอาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย ดังนั้นสูตรในการเคลื่อนไหวจึงต้องเป็นสูตรใหม่ ทุกอย่างที่เรากำลังทำ เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมันจะกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ มวลชนเป็นผู้ตัดสินว่าเราจะไปอย่างไรกันต่อ อยากให้ทุกคนร่วมกันเขียนทฤษฎีบทนี้ไปด้วยกัน

ประเด็นย่อยที่ผมสนใจในปัจจุบันคือรัฐสวัสดิการ ควรจะเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามและพูดถึงอย่างแพร่หลาย สมัยเรียนผมมีโอกาสทำค่ายปฏิรูปการศึกษาตามต่างจังหวัด ผมเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก แต่ประชาชนเกือบครึ่งประเทศไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ระบบของรัฐไม่เอื้อให้เราไปต่อในเรื่องของการศึกษา รวมถึงเรื่องของสาธารณสุขก็เช่นกัน ยังมีคนที่มีความคิดว่าแม่ป่วยก็ปล่อยให้แม่ตาย ไม่ต้องสิ้นเปลือง เราจะปล่อยให้ชีวิตไม่มีโอกาสเติบโตหรือจบลงด้วยเหตุผลของความยากจนจริงๆ หรือ

ผมเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 58 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มืดมนมาก ในยุคที่มีแต่หมายจับ ไม่มีหมายเรียก ไม่มีการให้ปากคำ ประกันตัวไม่ได้ จนถึงวันนี้ผู้คนออกมาต่อต้านกันอย่างแพร่หลาย อยากชี้ให้เห็นแสงสว่างในขบวนการประชาธิปไตย เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เห็นทิศทางของอนาคต เมื่อเทียบกับตอนที่ผมเริ่มต้นแทบจะหมดความหวัง

ในขณะที่ตอนนี้หลายคนหวังว่าจะเห็นชัยชนะในหนึ่งปี มันเป็นเวลาค่อนข้างปุบปับ เราต้องเข้าใจด้วยว่ากำลังสู้กับระบอบอำนาจทั้งระบอบ มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นไปได้ ตอนนี้ลมพัดมาทางเรา อุปมาว่าเรากำลังแล่นเรือบนทะเล ลมพัดส่งหนุนเรา เหลือแค่คิดและวางแผนกันว่าจะกางใบเรืออย่างไรให้รับลมได้มากที่สุด เราต่อสู้กันมาเป็นปี ความเหนื่อยล้ามันก็มีอยู่ แต่อย่าให้ความเหนื่อยล้ามาบดบังความจริง ความจริงที่ว่าชัยชนะอยู่ไม่ไกลแล้ว เรากำลังจะเดินไปหามัน

เอเลียร์ ฟอฟิ: ใช้ศิลปะบุกยึดพื้นที่ทางความคิด

ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง การเมืองแทบจะไม่ได้อยู่ในหัวคนรุ่นผม แม้กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยหรือที่ทำงานด้วยซ้ำ มันก็เป็นคำถามที่ว่าทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงหันมาใส่ใจเรื่องนี้ ส่วนตัวผมคิดว่า พวกเขามองเห็นปัญหามากมายในสังคม แต่เราหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ไม่ได้สักที

ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเต็มไปด้วยโอกาส การศึกษาที่ตอบโจทย์ความฝันของเด็ก ผมเชื่อว่าพอเด็กรุ่นนี้เห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ ก็กลับมาสู่การตั้งคำถามกับตัวเองหรือระบบการศึกษาของตัวเอง จนนำไปสู่คำถามที่ว่าทำอย่างไรเราถึงจะเป็นแบบเขาบ้าง บวกกับการอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. อย่างยาวนาน มันผลักให้เขาอยู่ในช่วงเวลามืดมนไม่มีความหวัง แล้วมันก็ปะทุ ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่มีการ take action เขาจึงออกมาด้วยตนเอง เพราะว่าไม่มีใครอยากจะเติบโตในสังคมแบบนี้อีกต่อไป

ผมสนใจการสร้างแนวร่วม ซึ่งไม่ใช่เพียงการเข้าไปสนับสนุนอย่างเดียว ผมทำ ‘ศิลปะปลดแอก’ ด้วยการดึงคอนเนคชั่นทั้งหมดที่มี คุยกับศิลปินที่เขาสนใจการเมืองแต่เขามีข้อจำกัด เรารับบทข้อต่อให้ศิลปินที่อยากทำงานอยากพูดถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม รวบรวมแนวร่วมที่สนใจในเรื่องเดียวกัน จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชนและกระบวนการแรงงาน เราทำหน้าที่ย่อยข้อมูลยากๆ ทั้งหมดในสังคมให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรับรู้ปัญหา

เราถูกผูกขาดด้วยโรงภาพยนตร์ไม่กี่เจ้า เราจะไปไกลได้อย่างไรเมื่อการสื่อสารถูกผูกขาดด้วยนายทุนไม่กี่คน และการที่รัฐกดขี่ประชาชนมาแสนนาน มันทำให้ศิลปินฝั่งศิลปะต้องวัดใจกันอย่างมาก นักดนตรีและศิลปินต้องกลับมาตั้งคำถามในนิยามการทำศิลปะ ว่ามันคืออะไร ทำหน้าที่อะไรกับสถานการณ์สังคมการเมืองที่มีกระแสร้อนแรงตอนนี้ ศิลปินต้องกลับมาตอบโจทย์ และเป็นกระจกสะท้อนสังคมให้ทุกคนสามารถมองและตั้งคำถามกับตัวเองได้ เพื่อให้ผู้คนซัพพอร์ตกันและกัน ผมคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่ง หรือกราฟิกสวยงาม แต่ต้องสื่อสารอะไรบางอย่างต่อผู้คน

การจัดม็อบแต่ละครั้งใช้คนเยอะมาก ซึ่งบางทีก็ถามเหมือนกันว่าไปเอาพลังมาจากไหน มันทำกันไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งแกนนำที่เป็นคนรังสรรค์ม็อบขึ้นมา ก็สามารถที่จะจัดหาประเด็นมาได้อย่างหลากหลายตลอดเวลา สำหรับผมมันคือการเดินทางที่ทำให้เราได้เจอมิตรสหาย เจอคนร่วมขบวนระหว่างทาง นานวันไปความชำนาญเราก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แล้วจุดอ่อนที่เราเคยมีสามารถจะแก้ไขให้มันแข็งแรงขึ้น เพื่อเตรียมการที่จะต่อสู้ในปีหน้า

เราชนะในทุกมิติ ต้นไม้ประชาธิปไตยที่เรากำลังสร้างร่วมกันกำลังเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ หน้าที่ของเราที่ต้องทำคือการรดน้ำต่อไป ด้วยการให้ข้อมูลกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน หรือคนที่เขายังไม่สนใจการเมือง เพื่อสร้างฉันทามติให้สังคม

มันไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะ แต่สำหรับผมมันคือการทำงานทางวัฒนธรรม กินพื้นที่ทางความคิดไปเรื่อยๆ เราต้องเอาเหตุผลเข้าสู้ว่าต่อสู้เพื่ออะไร คนหมู่มากในสังคมอยู่ข้างเรา แค่ทำงานต่อไป ไม่ต้องท้อ เราชนะมาเยอะแล้ว เหลือแค่ชัยชนะสุดท้ายที่อย่างไรเราก็ชนะ เพราะเวลาอยู่ข้างเรา

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Photographer

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า