‘เราต่างมีกะลาครอบคนละใบ’ เปิดผลวิจัยอัลกอริธึมเฟซบุ๊ก เปลี่ยนทัศนคติผู้คนได้จริงหรือ

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่สื่อสังคมออนไลน์ (social media) โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก มักได้รับบ่อยๆ คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ (echo chamber) ขึ้นมาครอบผู้ใช้แต่ละคน จนกลายเป็นวาทกรรมแห่งยุคสมัยว่า เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ ‘เราต่างมีกะลาครอบคนละใบ’ เพราะอัลกอริธึมของเฟซบุ๊กจะคอยคัดกรองเนื้อหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความสนใจส่วนตัวของเราแต่ละคนมาคอยป้อนที่หน้าฟีดเราทุกวัน หล่อหลอมจนผู้คนในสังคมไม่รู้จักโลกที่อยู่นอกเหตุเหนือผลของตนเอง ยิ่งในสังคมที่ประชาชนมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามแนวคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เฟซบุ๊กก็จะยิ่งถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการแบ่งขั้วทางการเมืองนั้น

แม้แวดวงวิชาการจะให้ความสำคัญและแสดงความวิตกกังวลกับ ‘ตัวกรองฟองสบู่’ (filter bubble) หรือระบบอัลกอริธึมของเฟซบุ๊ก แต่การจะศึกษาตัวกรองฟองสบู่ที่มีอยู่จริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่มีใครสามารถเข้าถึงข้อมูลมหึมามหาศาลของเฟซบุ๊กได้ รวมถึงไม่มีใครสามารถทำการทดลองกับหน้าฟีดของผู้ใช้แต่ละรายได้ เมื่อ ‘จอกศักดิ์สิทธิ์ของงานวิจัย’ คือตัวแปรหลักในการศึกษาไม่สามารถเข้าถึงได้ คำกล่าวหาว่าเฟซบุ๊ก รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ มีบทบาทในการสร้าง ‘กะลา’ ขึ้นมาครอบงำผู้คน จนนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดและการแบ่งขั้วแบ่งข้างของคนในสังคม ก็เป็นเพียงข้อวิตกกังวลที่ยืนอยู่บนฐานของสมมติฐานทางวิชาการเท่านั้น 

ต้นปี ค.ศ. 2020 หลังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากแวดวงวิชาการของอเมริกันที่ต้องการเข้าใจถึงบทบาทของสื่อออนไลน์ต่อการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในรัฐที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนสูสีและได้รับคะแนนเสียงสลับกันไปมา (swing-state) เฟซบุ๊กก็ตกลงให้มีการศึกษาวิจัยการทำงานของตัวกรองฟองสบู่ รวมทั้งอิทธิพลของมันต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองของผู้ใช้ได้ ภายใต้โครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘การศึกษาการเลือกตั้งทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ปี 2020’ (2020 Facebook and Instagram Election Study หรือ FIES) ซึ่งประกอบด้วยโครงการศึกษาวิจัยย่อย 16 โครงการ โดยมีนักวิจัยจากภายนอกบริษัท และไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทรวม 17 คน เป็นผู้ทำการศึกษา 

FIES ถือเป็นการวิจัยโครงการแรกที่นักวิจัยสามารถเข้าถึงจอกศักดิ์สิทธิ์ของงานวิจัย ว่าด้วยผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวคือ นักวิจัยสามารถ ‘เข้าถึง’ ข้อมูลดิบที่มีการโพสต์และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก และสามารถทำการทดลองกับหน้าฟีดของผู้ใช้ได้ และเป็นโครงการที่บริษัทเฟซบุ๊ก หรือเมต้า (Meta) ในปัจจุบันหมายมั่นให้เป็นโมเดลต้นแบบของความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างฟากฝั่งวิชาการกับฟากฝั่งอุตสาหกรรม 

หลังการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเวลา 3 ปี โครงการวิจัย 4 โครงการ จาก 16 โครงการ ก็ได้ข้อสรุป และมีการเผยแพร่ผลการศึกษาทางวารสาร Science และ Nature เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บทความนี้ชวนทุกคนทำความเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ และรูปแบบการศึกษาวิจัยผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการศึกษาผลโครงการวิจัยของ 4 โครงการแรก

เมื่อกะลาที่ครอบหัวถูกเปลี่ยน ทัศนคติทางการเมืองเปลี่ยนตามหรือไม่

3 ใน 4 โครงการวิจัยแรก เป็นการศึกษาเชิงทดลอง เพื่อดูว่ามุมมองหรือทัศนคติทางการเมืองของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเนื้อหาที่ป้อนหน้าฟีดถูกเปลี่ยนแปลงไปจากที่พวกเขาเคยได้รับในเวลาปกติ งานวิจัยแต่ละโครงการทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างต่างกัน โดยแต่ละโครงการมีกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการทดลองประมาณ 21,000-23,000 คน เป็นการเข้าร่วมแบบสมัครใจ การทดลองเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 

งานทดลองชิ้นแรก นักวิจัยใช้วิธีปิดกั้น ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการมองเห็นโพสต์ที่มีการ ‘แชร์ต่อ’ งานทดลองชิ้นที่ 2 นักวิจัยใช้วิธีการป้อนฟีดทางอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กให้ผู้ใช้ โดยเรียงตามลำดับเวลาแทนการป้อนตามอัลกอริธึมตั้งต้นที่เฟซบุ๊กกำหนดให้ และงานทดลองชิ้นที่ 3 นักวิจัยลดจำนวนโพสต์เกี่ยวกับการเมืองลง 1 ใน 3 

การทดลองทั้ง 3 ชิ้น ล้วนส่งผลต่อประเภทของเนื้อหาที่ผู้ใช้แต่ละคนจะเข้าถึง กล่าวคือ การลบโพสต์ที่แชร์ต่อ ทำให้กลุ่มตัวอย่างเห็นข่าวการเมืองน้อยลง และเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าไว้วางใจน้อยลง ส่วนการป้อนฟีดตามลำดับเวลาของการโพสต์ก็ทำให้ผู้คนมองเห็นเนื้อหาที่ไม่น่าไว้วางใจมากขึ้น และเนื้อหาที่มีความหลากหลายของแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น และการลดเนื้อหาที่แชร์มาจากผู้คนที่มีความเห็นทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผู้คนหรือกลุ่มตัวอย่างได้รับรู้ข้อมูลที่ปรารถนาจะรู้น้อยลง ซึ่งผลการทดลองทั้ง 3 ชิ้น ได้ข้อสรุปที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ กลุ่มตัวอย่างใช้เวลาบนแพลตฟอร์มที่ทำการศึกษาน้อยลง บ่งชี้ว่าพวกเขาให้ความสนใจกับเนื้อหาที่ป้อนเข้าหน้าฟีดตนเองลดน้อยลง

แต่เมื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบต่อทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างต่อประเด็นที่มีการแบ่งขั้วความคิด เช่น ทัศนคติต่อผู้อพยพ การเข้มงวดในเรื่องโควิด-19 หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ พบว่ากลุ่มตัวอย่างก็มีแนวคิดที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม หรือความคิดเห็นต่อการเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นในสถาบันสื่อและสถาบันทางการเมือง ก็พบว่าพวกเขามีความเห็นไม่ต่างจากประชากรกลุ่มอื่น

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาฟีดของผู้ใช้ ไม่ได้ส่งผลให้การแบ่งขั้วทางการเมืองลดลง ขณะเดียวกัน การลดเนื้อหาทางการเมืองให้เข้าสู่หน้าฟีดของผู้ใช้ลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ใช้มีข้อมูลความรู้ทางการเมืองลดน้อยลง

“สิ่งที่การศึกษาครั้งนี้บอกเราคือ เราสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้คนเสพได้ แต่เราจะไม่สามารถเบี่ยงเบนเข็มในชีวิตพวกเขาได้ทันที การเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของผู้คนอาจเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อใช้เวลานานขึ้น” สตีเฟน ลีวันดอว์สกี (Stephan Lewandowsky) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ซึ่งไม่ได้ร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการนี้กล่าว

การศึกษาชิ้นที่ 4 หรือชิ้นสุดท้าย เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวการเมืองที่ผู้ใช้ได้รับผ่านทางเฟซบุ๊ก ประมวลผลจากฐานข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วสหรัฐจำนวน 208 ล้านบัญชี โดยแยกวิเคราะห์ผู้ใช้กลุ่มแนวคิดเสรีนิยมซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคริพับลิกัน และกลุ่มอนุรักษนิยม ฐานเสียงของพรรคเดโมแครต โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาว่า การบริโภคข่าวการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊กจะทำให้เกิดการแบ่งแยกของแนวคิดทางการเมืองหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า เนื้อหาข่าวการเมืองที่กลุ่มอนุรักษนิยมและเสรีนิยมเสพมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ละกลุ่มต่างมีแหล่งข้อมูลที่จะเข้าถึงข่าวการเมืองต่างกัน เห็นได้จากต่างฝ่ายต่างมี URL โดยพบว่า URL ของข่าวการเมืองที่มีเฉพาะกลุ่มอนุรักษนิยมเข้าไปอ่านมีจำนวนมากกว่า URL ของข่าวการเมืองที่มีเฉพาะกลุ่มเสรีนิยมเข้าไปอ่าน ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เมื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาการเมืองที่แต่ละฝ่ายเสพ ทีมนักวิจัยพบว่าข่าวการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเสพ มักเป็นข่าวเท็จมากกว่าที่ฝ่ายเสรีนิยมเสพ

นักวิจัยได้สรุปผลการศึกษาของโครงการที่ 4 ไว้ว่า อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กเมื่อผนวกกับการขยายทางสังคม มีส่วนทำให้เกิดการแบ่งแยกความคิดทางการเมืองมากขึ้น เกิดจากการสร้าง ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ ของตนเอง และมีแนวโน้มที่อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กจะทำให้ช่องว่างของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประชากร 2 ขั้วแนวคิดนี้ ถ่างกว้างห่างจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ความหมายของโครงการวิจัยต่อการลดผลกระทบด้านลบของสื่อสังคมออนไลน์

มีการวิเคราะห์กันว่า เฟซบุ๊กน่าจะมีความสุขกับผลการวิจัยของโครงการวิจัยชุดแรกนี้ โดยเฉพาะการทดลองใน 3 โครงการแรกที่ผลการศึกษาชี้นำไปในทางที่ว่า อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กไม่ได้มีอิทธิพลต่อการแบ่งแยกคนในสังคมเป็นขั้วต่างๆ ตามที่มีเสียงกล่าวหาหรือตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการก่อนหน้านี้ 

แต่…มันจริงหรือ?

ลีวันดอว์สกี แห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล มองว่าโครงการนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่ว่า สื่อสังคมออนไลน์ส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ปัจเจกบุคคล โดยเขามองว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย มีส่วนในการกำหนดรูปแบบหรือเนื้อหาของข่าวที่สื่อนำเสนอ รวมถึงมีส่วนในการกำหนดวิธีการที่นักการเมืองสื่อสารกับประชาชน

เช่นเดียวกับ เดวิด การ์เซีย (David Garcia) นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอนสแตนซ์ (University of Konstanz) ประเทศเยอรมนี ที่มองว่า เพียงแค่การเปลี่ยนเนื้อหาที่ป้อนสู่หน้าฟีดของผู้ใช้รายบุคคล อาจไม่ส่งผลอะไรต่อสังคมในวงกว้าง 

“มันก็เหมือนกับการที่เราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเมืองไม่กี่เมือง และมันก็ไม่สามารถบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ 

“ผลของการทดลองไม่ได้บ่งชี้ว่า สื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่ปัญหา แต่บ่งชี้ว่ามัน (สื่อสังคมออนไลน์) ไม่ใช่ทางออกของปัญหา (การแบ่งขั้วของคนในสังคมจนไม่ยอมรับกันและกัน)” การ์เซียกล่าว

ขณะที่นักวิจัยที่ร่วมมือกับเฟซบุ๊กในการทำการศึกษาครั้งนี้ มีคำอธิบายในแบบของตนเอง

เบรนดัน ไนย์ฮัน (Brenden Nyhan) นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) ในนิวแฮมเชียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยภายนอกที่ร่วมมือกับเฟซบุ๊กทำการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า “ไม่มีใครบอกว่าสื่อสังคมไม่มีผลกระทบด้านลบต่อสังคม แต่การทดลองทั้ง 3 โครงการนี้ที่ผ่านการถกเถียงมามากแล้ว และก็ไม่มีงานชิ้นไหนแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเลย ผมจึงเชื่อว่ามันบอกอะไรบางอย่างกับเรา สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องแยกให้ออกระหว่างสิ่งที่อาจส่งผลทำให้เกิดการแบ่งขั้ว กับสิ่งที่เราสามารถทำได้” 

เช่นเดียวกับ แอนดริว เกสส์ (Andrew Guess) นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่นอกจากจะเป็นนักวิจัยในโครงการแล้ว ยังเป็นผู้เขียนหลักของบทความวิจัยที่เผยแพร่ใน Science จำนวน 2 บทความ ที่กล่าวว่านักวิจัยของโครงการทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้แล้ว 

“เราไม่สามารถย้อนเวลากลับ และปิดคนบางคนไม่ให้เข้าถึงโซเชียลมีเดีย หรือกำหนดให้แต่ละคนเข้าถึงแพลตฟอร์มเชียลมีเดียต่างเวอร์ชันกันเพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแต่ละคน” เกสส์มองว่าข้อดีของโครงการนี้คือ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษา “ตัวกรองฟองสบู่” ที่สังคมมองว่าเป็นปัญหาได้จริงเป็นครั้งแรก 

‘ความเป็นอิสระตามที่ได้รับอนุญาต’ ของโครงการวิจัย

แม้กระบวนการวิจัยที่ถูกออกแบบมาบนฐานของการพยายามลดผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ด้วยการให้นักวิจัยจากภายนอกบริษัทเป็นผู้ทำการศึกษา ในลักษณะของโครงการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ โดยบริษัทไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้นักวิจัยเหล่านั้น และบริษัทยังเปิดโอกาสให้ทีมนักวิจัยเข้าถึงฐานข้อมูลที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงเป็นครั้งแรก แต่โครงการนี้ก็ยังมีข้อสังเกตอันชวนให้สงสัยถึงความเป็นอิสระทางการวิจัยอย่างแท้จริง

‘ความเป็นอิสระตามที่ได้รับอนุญาต’ (independence by permission) เป็นชื่อบทความเกี่ยวกับโครงการนี้ที่มิเชล แวกเนอร์ (Michael Wagner) แห่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระ (independent rapporteur) ของโครงการวิจัย คอยสังเกตและเขียนรายงานการดำเนินงานของโครงการนี้ เขียนเผยแพร่ในวารสาร Science

ในบทความดังกล่าวแวกเนอร์สรุปว่าทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาอย่าง “เข้มงวด รอบคอบ โปร่งใส มีจริยธรรม ด้วยวิธีการศึกษาที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน” แต่เขาไม่ได้หมายความว่ามันเป็นโครงการวิจัยที่มีความเป็นอิสระทางวิชาการอย่างแท้จริง

“แม้ผลงานที่เผยแพร่ทางสาธารณะชุดแรกของโครงการนี้จะน่าเชื่อถือ แต่ผมยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่ต้นแบบที่ดีสำหรับความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษาในอนาคต เพราะแม้การทำงานร่วมร่วมกันจะทำให้การวิจัยดำเนินไปอย่างเป็นอิสระ แต่ก็เป็นความเป็นอิสระตามที่ได้รับอนุญาตจากเมต้า” แวกเนอร์เขียนในบทความของเขา 

‘ความเป็นอิสระตามที่ได้รับอนุญาต’ ในนิยามของแวกเนอร์ รวมถึงการที่นักวิจัยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิบของเฟซบุ๊กได้อย่างแท้จริง เพราะเงื่อนไขด้านความเป็นส่วนตัวของบริษัทระบุไว้ว่า เฉพาะพนักงานของบริษัทเท่านั้นที่จะสามารถทำงานกับข้อมูลดิบได้จริงๆ ดั้งนั้นสิ่งที่นักวิจัยภายนอกทำงานกับข้อมูลดิบได้จึงเป็นเพียงการพัฒนารหัสการลงข้อมูลทำงานกับข้อมูลที่ผ่านการลงรหัสโดยพนักงานของบริษัทมาแล้วเท่านั้น ไม่สามารถเก็บข้อมูลดิบไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ และรวมถึงการที่นักวิจัยของบริษัทเองประเมินแล้วว่า การปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ป้อนเข้าสู่หน้าฟีดของผู้ใช้งานจะไม่ส่งผลให้ต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างมีนัยสำคัญ จึงเร่งให้ทีมนักวิจัยจากภายนอกเร่งปิดการศึกษาของ 3 โครงการแรกก่อน

“การให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นอิสระจะไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เมื่อข้อมูลยังคงถูกครอบครองโดยองค์กรขนาดใหญ่ที่มุ่งแสวงหาผลกำไร หรือเมื่อองค์กรเดียวกันนั้นสามารถตีกรอบจำกัดธรรมชาติของการวิจัยนั้นๆ ได้” แวกเนอร์เขียนในบทความ

ท้ายที่สุด แวกเนอร์มองว่า สิ่งสำคัญในการทำการศึกษาวิจัยร่วมกันในอนาคตระหว่างบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่างๆ นักวิจัย รวมถึงแหล่งทุน ในประเด็นที่อาจกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย อาจจำเป็นต้องมีกฎระเบียบใหม่ที่ก้าวข้ามความคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า