25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (1)

‘Project Censored’ โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นคัดเลือกออกมาเป็น 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา มีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้นคณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ


25. ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ ที่สหรัฐก็เช่นกัน

ดูเหมือนคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” อาจจะไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ใช่ข้อยกเว้น

หดหู่ยิ่งกว่าคือคดีเด็กและเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่จบลงที่พวกเขาต้องโทษจำคุก ด้วยสาเหตุเพียงว่าครอบครัวไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าดำเนินคดีต่างๆ ที่ราคาแพงได้

สำหรับศาลเด็กและเยาวชนของสหรัฐอเมริกา ค่าธรรมเนียมที่ผู้ปกครองของเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยต้องจ่ายเพื่อดำเนินคดีมีตั้งแต่ค่าตรวจสุขภาพไปจนถึงค่าดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆ ตัวอย่างเช่น ศาลเด็กและเยาวชนแห่งอะลาเมดา เคาน์ตี (Alameda County) รัฐแคลิฟอร์เนีย รวมเบ็ดเสร็จแล้วโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ (66,320 บาท) ต่อหนึ่งคดี ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ซ้ำเติมกว่านั้น ในบางรัฐ ผู้ปกครองอาจต้องถูกโทษจำคุกด้วย หากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับต่างๆ ได้ เท่ากับว่าเด็กต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อทำทุกวิถีทางให้หลุดพ้นจากความยากจน

“เมื่อผู้ปกครองถูกคุมขังเท่ากับว่าครอบครัวของพวกเขาสูญเสียกำลังสำคัญในการหารายได้ ลดหนทางในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ความช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กๆ ของพวกเขาเอง” นิกา ไนท์ (Nika Knight) จากเว็บข่าว Common Dreams รายงาน

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/25-juvenile-court-fees-punish-children-families-poverty/

 

24. ข้อคิด 8 ข้อที่ตำรวจต้องมีก่อนใช้กำลังเข้าจับกุม

ปัญหาตำรวจสหรัฐใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนนำมาสู่ความตายของประชาชน เป็นประเด็นวิพากษ์ในสังคมมาอย่างยาวนาน

เพื่อยับยั้งไม่ให้ความสูญเสียบานปลายไปกว่านี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ‘Campaign Zero’ โครงการรณรงค์ของนักเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายในการปฏิรูปตำรวจสหรัฐ ได้ศึกษาและสำรวจกรมตำรวจจาก 91 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา จนค้นพบคำตอบของต้นเหตุคือ พวกเขาไม่มี ‘คอมมอนเซนส์ในการยับยั้งชั่งใจ’ โดยเฉพาะกับชาวผิวสีระดับความไม่ยับยั้งชั่งใจจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าโดยทันที และนี่คือ 8 ข้อปฏิบัติจาก Campaign Zero ที่ตำรวจทุกท่านต้องดำเนินการตามเสียก่อนที่จะตัดสินใจใช้กำลัง

  • เจ้าหน้าที่ต้องลดสเกลความรุนแรงก่อนจะตัดสินใจใช้กำลัง
  • จำกัดการใช้ความรุนแรงชนิดใดๆ ก็ตามที่อาจนำไปสู่การขัดขืน
  • ห้ามล็อคคอผู้ต้องสงสัย
  • เจ้าหน้าที่ต้องพูดตักเตือนก่อนตัดสินใจใช้กำลัง
  • ห้ามเจ้าหน้าที่ยิงยานพาหนะใดๆ ที่กำลังเคลื่อนอยู่
  • เจ้าหน้าที่ต้องลดโอกาสทุกหนทางที่ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่อาจนำไปสู่ความตายได้
  • เจ้าหน้าที่ต้องห้ามปรามด้วยกันเอง หากใครก็ตามใช้ความรุนแรงที่มากเกินไป
  • เจ้าหน้าที่ต้องเขียนรายงานเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

ข่าวดีคือมันได้ผล กรมตำรวจที่นำทั้งแปดข้อไปปฏิบัติใช้ สามารถลดการใช้กำลังหรือความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนได้ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรมตำรวจที่นำข้อใดข้อหนึ่งจากทั้งแปดข้อไปปฏิบัติ สามารถลดความรุนแรงลงได้ 15 เปอร์เซ็นต์

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/24-eight-use-force-policies-prevent-killings-police/

 

23. โนสนโนแคร์ เฟซบุ๊คจะขายข้อมูลต่อไป

รู้อยู่แล้วว่าข้อมูลใดๆ ที่เราใส่ลงไปในโลกเสมือนจริงนั้นเสี่ยงอันตรายและไม่มีคำว่าส่วนตัวอย่างแท้จริง จูเลีย แองวิน (Julia Angwin) เทอร์รี แพริส จูเนียร์ (Terry Parris Jr.) และ เซอร์ยา มัตตุ (Surya Mattu) จากสำนักข่าว Propublica เผยว่าตั้งแต่ปี 2012 เฟซบุ๊คได้ซื้อข้อมูลส่วนตัวของบางยูสเซอร์ (user) จากนายหน้าขายข้อมูล (data broker) และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบร่วมกับข้อมูลที่ยูสเซอร์ให้กับทางเฟซบุ๊คไว้เพื่อขายให้กับฝ่ายมาร์เก็ตติ้งหลายๆ บริษัทและทุกอุตสาหกรรม

แค่นั้นยังไม่พอ ล่าสุดปีที่แล้ว ทั้งสามยังรายงานอีกว่า เฟซบุ๊คได้รวบรวมข้อมูลของทุกคนที่มียูสเซอร์ในเฟซบุ๊ค (ล่าสุดตัวเลขยูสเซอร์เฟซบุ๊คพุ่งสูงกว่าสองพันล้านยูซเซอร์แล้ว) จำแนกแบ่งเป็นหมวดๆ มากกว่า 1,300 หมวด นำไป ‘เสนอขาย’ ให้กับฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของแต่ละบริษัทเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดอีกด้วย

วิธีการเก็บข้อมูลของเฟซบุ๊คจะดูจากว่าเรา ‘โพสต์’ เกี่ยวกับอะไร คีย์เวิร์ดตรงกับอะไรบ้าง หรือ ‘ไลค์’ เพจหรือโพสต์อะไรบ้าง รวมถึงเฟซบุ๊คยังสามารถย้อนรอยติดตามได้ว่าเราเคยอันไลค์เพจอะไรไปบ้าง ส่วนการเก็บข้อมูลของเหล่านายหน้าขายข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ข้อมูลทั่วไป ตามรอยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ชอบซื้ออะไรบ้างที่ซูเปอร์มาร์เก็ต

“เราค้นพบว่า เฟซบุ๊คมีข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่คนที่มีพื้นที่อยู่อาศัยเพียงไม่กี่ตารางเมตรจนบ้านเป็นหลัง หรือคนที่ไม่มีบัตรเครดิตสักใบ ไปจนถึงคนที่มีบัตรเครดิตเจ็ดใบ”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/23-facebook-buys-sensitive-user-data-offer-marketers-targeted-advertising/

 

22. ความหวังที่ถูกทำลายของเหล่านักโทษรัฐอิลลินอยส์

ไบรอัน ดอลินาร์ (Brian Dolinar) นักข่าวอิสระ รายงานต่อสำนักข่าว Truthout ว่า ผู้พิพากษาแห่งรัฐอิลลินอยส์อนุมัติรับคดีของปี 2015 กว่า 232 คดีที่ฟ้องร้องต่อกรมราชทัณฑ์รัฐอิลลินอยส์ฐานทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศนักโทษอย่างทารุณ โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ชื่อว่า ‘Orange Crush’ ตั้งแต่ปี 2014

ส่วนใหญ่ผู้กล่าวหาทั้งหมดเป็นนักโทษจากหลายเรือนจำทั่วรัฐอิลลินอยส์ ได้แก่ เมืองเมนาร์ด (Menard) อิลลินอยส์ ริเวอร์ (Illinois River) บิ๊ก มัดดี้ ริเวอร์ (Big Muddy River) และศูนย์ทัณฑสถานลอเรนซ์ (Lawrence Correctional Centers) และจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในแบบกลุ่มหรือที่เรียกว่า ‘class action’ เพื่อให้พวกเขาสามารถรวมพลังต่อสู้กับกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้

‘Orange Crush’ คือชื่อไม่เป็นทางการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในเรือนจำ โดยมีที่มาที่ไปของชื่อจากที่พวกเขาสวมยูนิฟอร์มชุดหมีสีส้ม สวมหมวกกันน็อคเพื่อไม่ให้เห็นหน้า และมักมีท่าทีต่อนักโทษอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหด Orange Crush ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1996 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อกรกับเหล่าแก๊งสเตอร์ในเรือนจำที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กระทำการผิดกฎหมายในคุก เช่น ไวซ์ ลอร์ด (Vice Lords) และ ลาติน คิงส์ (Latin Kings)

แน่นอนว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อยู่เฉย โดยพยายามเสาะหาทุกวิถีทางเพื่อหลุดพ้นจากคดี และจบลงที่ผู้พิพากษาแห่งรัฐ สเตซี ยานเดิล (Staci Yandle) สรุปว่า “จำเลยมีเจตนาปกปิดอัตลักษณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน” กล่าวคือ ทำให้คดีไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ รวมถึงข้อมูลในการเข้าถึงและสืบหาก็แคบมาก ส่งผลให้คดีนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าไปมากกว่านั้น และที่หดหู่ยิ่งกว่าคือข่าวนี้ยังถูกจำกัดและนำเสนอได้ไกลที่สุดแค่ระดับท้องถิ่น

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/22-lawsuit-illinois-department-corrections-exposes-militarization-law-enforcement-inside-prisons/

 

21. มหาวิทยาลัยอเมริกันตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มบริษัทน้ำมันดิบชั้นนำของโลก

เบนจามิน แฟรนตา (Benjamin Franta) และ เจฟฟรีย์ ซูแปรน (Geoffrey Supran) สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือที่รู้จักกันว่า MIT เปิดเผยเรื่องราวผ่านสำนักข่าว The Guardian เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์วาร์ด (Harvard) สแตนฟอร์ด (Stanford) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (University of California) เบิร์คลีย์ (Berkeley) หรือ MIT ต่างถูกยึดอาณานิคมปริมณฑลทางความคิด นโยบายทางพลังงาน และสภาพภูมิอากาศไปเป็นที่เรียบร้อย

“ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เราคิดว่า ยุติธรรม ไม่ลำเอียง ซื่อตรงต่องานวิจัยและเป็นอิสระ ต่างมีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงานอย่างลับๆ นี่มันยิ่งกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะโครงการของภาคอุตสาหกรรมบางอย่างที่เราเห็นว่า มีความเป็นกลางก็ได้รับการส่งเสริมความน่าเชื่อถือโดยมีชื่อสถาบันศึกษาเหล่านั้นแปะไว้”

ตัวอย่างเช่น ‘Finding Energy’s Rational Middle’ ซึ่งเป็นอีเวนท์ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 โดย Harvard Kennedy School’s Belfer Center for Science and International Affairs และได้รับเงินทุนจาก Shell

ความน่าสนใจอยู่ที่ Shell ไม่ได้ออกมาเปิดเผยอย่างเต็มตัวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีหนังสารคดีที่ชื่อว่า The Great Transition แปะป้ายว่าเมดอินฮาร์วาร์ด แต่ผู้ผลิตกลับเป็น Shell และดำเนินการโดยรองประธานบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งหนึ่งที่ได้รับทุนจาก Shell อีกเช่นกัน โดยทั้งสองคาดการณ์ว่า Shell ได้มอบเงินทุนให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประมาณ 3.75 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยกว่า MIT ที่ได้ถึง 185 ล้านดอลลาร์ จาก เดวิด โคช (David Koch) มหาเศรษฐีน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลกผู้ซึ่งนั่งเป็นบอร์ดบริหารแห่ง MIT แต่ทั้งสองมหาวิทยาลัยก็ยังได้น้อยกว่าเบิร์คลีย์ที่ได้จากบริษัทน้ำมัน BP ถึง 500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2007 โดยเงินก้อนนั้นถือเป็น ‘การขอบคุณ’ ที่ช่วยสนับสนุนให้ BP มีที่นั่งในบอร์ดรัฐบาลของสถาบัน Energy Biosciences Institute

ทั้งแฟรนตาและซูแปรนยังออกมาเรียกร้องให้แต่ละมหาวิทยาลัยหยุดเพิกเฉย อย่ามองข้ามโลกร้อนที่เกิดขึ้นจริง และเริ่มหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเริ่มได้ง่ายๆ จากการเปิดเผยที่มาของเงินทุนที่ได้รับจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันดิบ เพื่อลดผลประโยชน์ทับซ้อน

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/21-fossil-fuel-industry-colonizing-us-universities/

 


ที่มา: projectcensored.org

 

ติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (2) เร็วๆ นี้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า