19 ตุลาฯ ข้อความบนกระดาษ จากราษฎรถึงผู้ลุแก่อำนาจ

#ม็อบ19ตุลา

ผลจากการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่ชุมนุมต่อเนื่องมาแล้ว 5 วัน ทำให้เช้าวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เกิดความเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐ โดยมีการเผยแพร่คำสั่งของ พลตำเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย

คำสั่งปิดปากสื่อ

เนื้อหาของคำสั่งตอนหนึ่งระบุว่า เนื่องจากปรากฏว่าได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วนของ Voice TV และ/หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV, ประชาไท, The Reporters, The Standard และเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตรวจสอบและระงับการออกอากาศหรือเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ

ต่อมา The Reporters รายงานว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ออกมายอมรับว่า มีคำสั่งดังกล่าวจริง และหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ขณะนี้พบผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียกระทำผิดแล้ว 300,000 URLs ซึ่งทางกระทรวงได้แจ้งขอคำสั่งศาลแล้ว หากศาลมีคำสั่งให้ปิดก็ต้องปิดทันที

‘บิ๊กตู่’ เตรียมเปิดสภาแก้ รธน.

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เรียกตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนคณะรัฐมนตรีมาหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองจากสถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยจะรีบทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ทราบ

ถัดมา พลเอกประยุทธ์ แถลงด่วนต่อสื่อมวลชนว่า จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่า “รัฐบาลมีความคิดนี้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจกันในสภา ไม่ได้ทำตามแรงกดดันของใคร”

มวลชนพร้อม ณ จุดนัดพบ

ย่างเข้าสู่วันที่ 6 ของการชุมนุม ระหว่างที่มวลชนกำลังเฝ้ารอการส่งสัญญาณนัดหมายการชุมนุมด้วยใจจดจ่อ แฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH’ ได้โพสต์ข้อความหยั่งเสียงจากผู้ชุมนุมว่า “อยากพัก 1 วันหรือลุยต่อ” “วันนี้ประมาณบ่ายๆ เราจะนั่งรถไฟฟ้าไปไหนดีน้าาาา” “วันนี้จะไปที่ไหน โปรดติดตามจากหน่วยข่าวแกง” “โปรดสแตนด์บาย ไม่เกิน 15:30 รู้พร้อมกัน! ทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจสันติบาล”

แอดมินเพจเยาวชนปลดแอก ยังแจ้งต่อมวลชนด้วยว่า ขอให้ทุกคนนำแผ่นป้ายหรือกระดาษติดตัวมาด้วย เพื่อส่งข้อความเน้นย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้อง คือ ประยุทธ์ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยว่า หากพบเห็นการใช้ความรุนแรง ให้ผู้ที่มีความพร้อมช่วยระงับเหตุและยับยั้ง เนื่องจากอาจเป็นมือที่ 3 และคนจากรัฐที่ส่งมาสร้างสถานการณ์และสร้างความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.40 น. จึงมีประกาศยืนยันจุดนัดหมายชัดเจน โดยมี 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แยกเกษตร และ MRT กระทรวงสาธารณสุข และมีเพิ่มเติมคือ ลานบาสฯ ศิลปากรวังท่าพระ

ภาคกลาง

นครปฐม หน้าอาคารเพชรรัตน ศิลปากร สนามจันทร์ 17.00 น.

อีสาน

บุรีรัมย์ ราชภัฏบุรีรัมย์ 15.30 น.

มหาสารคาม สวนสุขภาพเทศบาลเมือง 15.30 น.

ขอนแก่น หน้าคอมเพล็กซ์ มข. 16.00 น.

อุบลฯ สวนสาธารณะห้วยม่วง 15.00 น.

เหนือ

เชียงใหม่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ 16.30-21.00 น.

ใต้

สงขลา หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ 16.00 น.

ทางด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและได้รับการปล่อยตัวแล้ว ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมอีกครั้ง โดยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “ผมมาในที่ชุมนุมวันนี้ ผมไม่ได้เป็นแกนนำ เพราะเขามีแกนนำน้องๆ ที่เก่งๆ อยู่แล้ว ผมมาในฐานะแพทย์ (โชว์ปลอกแขน) มาดูแลว่าถ้าถูกแก๊สน้ำตา ถูกฉีดน้ำ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เราจะช่วยยังไง นี่คือหน้าที่หลัก ผมไม่ต้องมาพูดแล้วว่านายกฯ ไม่ดียังไง เพราะประชาชนพูดไปหมดแล้ว”

นพ.ทศพร กล่าวด้วยว่า แกนนำที่ยังถูกจับกุมอยู่ขณะนี้ ทุกคนยังมีกำลังใจเต็มเปี่ยม

“เขาฝากบอกมาว่า ให้ประชาชนที่อยู่ข้างนอกสู้ต่อไป แม้เขาจะออกมาช่วยไม่ได้ แต่เขาก็ส่งกำลังใจมา ผมคิดว่า ประชาชนอย่างเรามีหน้าที่ปกป้องพวกเขา รัฐบาลจะต้องหยุดดำเนินคดี หยุดรุกรานนักศึกษาประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องหยุดได้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเช่นเดียวกับตลอดหลายวันที่ผ่านมา กระทั่งเวลา 19.30 น. พื้นที่แยกเกษตร ประกาศยุติการชุมนุม มวลชนต่างทยอยเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ เสร็จสิ้นกิจกรรมแฟลชม็อบแบบไร้แกนนำเป็นที่เรียบร้อย

แกนนำและประชาชนยังไม่ได้รับอิสรภาพ

ทีมทนายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 13-18 ตุลาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมทั่วประเทศ 86 ราย เป็นชาย 78 ราย หญิง 8 ราย ข้อหาที่หนักที่สุดคือ มาตรา 110 ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการประทุษร้ายพระราชินี ส่วนที่เหลือเป็นข้อหาเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในจำนวน 86 ราย ประกอบด้วยผู้ถูกดำเนินคดี 80 ราย ส่วนอีก 6 ราย ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหา

สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีที่ศาลอนุมัติให้ฝากขังมีทั้งหมด 27 ราย โดยถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่ต่างๆ ดังนี้

  • เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นแกนนำที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 13-14 ตุลาคม
  • ทัณฑสถานหญิงกลาง 3 คน โดย 2 คนเป็นนักศึกษา
  • เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ 2 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา และ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เรือนจำอำเภอธัญบุรี 3 ราย ได้แก่ ‘เพนกวิน’ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, ‘รุ้ง’ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ นายนายณัฐชนน ไพโรจน์

ส่วน นายภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ยังถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจของพนักงานสอบสวน

ล่าสุดวันที่ 19 ตุลาคม เวลาประมาณ​ 11.30 น. มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอีก 1 รายคือ ‘หมอลำแบงค์’ หรือ นายปฏิภาณ​ ลือชา โดยตำรวจจังหวัดขอนแก่นบุกเข้าจับกุมที่ห้องพัก ทางด้านทนายความ​ยังไม่สามารถติดต่อนายปฏิภาณได้​ คาดว่าเป็นหมายจับจากการปราศรัยเมื่อวันที่​ 19​ กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​ ท่า​พระจันทร์​ และอาจถูกนำตัวไป​กองบังคับ​การ​ ตชด.ภาค​ 1

ข้อคิดจากข้อความ

ไฮไลท์ของการชุมนุมในครั้งนี้ คือแผ่นป้ายข้อความที่ผู้ชุมนุมแต่ละคนล้วนถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก อุดมการณ์ และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ด้วยหวังว่าข้อความเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปถึงผู้มีอำนาจ

“นี่คือข้อเรียกร้องหลักของเราในการชุมนุมครั้งนี้ เราอยากจะตอกย้ำ 3 ข้อเรียกร้องอันสำคัญ ยืนยันว่า 1. ประยุทธ์ต้องออกไป 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

“3 ข้อนี้เป็นเหตุและผลของกัน ถ้าประยุทธ์ออก คนของเขาอาจจะขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นเราต้องทำข้อสองคือ แก้รัฐธรรมนูญ แต่ถามว่าใครอยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คำตอบอาจอยู่ที่ข้อสาม”

“เลือกข้อความนี้มาชุมนุม เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารักมากกว่าอะไรพวกนั้นน่ะ”

“ผมเป็นทาสเบียร์ดีกว่าเป็นทาสเขาครับ”

“เราต้องการให้นายกฯ ออกอยู่แล้ว แต่สำคัญที่สุด กษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวแทรกแซงการเมือง ยกเลิก 112 ตอนนี้กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มันผิดหลักการ”

“หนูเห็นว่าคนดีๆ ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงของตนเอง แต่กลับถูกทำร้าย ถูกลิดรอนเสรีภาพ โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้”

“เขาคือรูปธรรมของการคุกคามเสรีภาพประชาชน”

“เราคือประชาชน อยู่ในชาติต้องมีเสรีภาพ”

“ทำไมเราต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ประเทศนี้ต้องการ ทำไมเราเรียนในสิ่งที่เราชอบแล้วถึงไม่มีงานรองรับ ทำไมประเทศนี้ไม่ดีพอที่จะรองรับความฝันของเรา”

“กทม. มีข้อดีอย่างเดียวคือสะดวกแต่ไม่สบาย มองไปก็สะเทือนใจ ในย่านคนรวยถัดไปซอยเดียวคือสลัม หนูเดินจาก BTS รัชโยธินมาแยกเกษตร ตกหลุมไม่รู้กี่รอบ แล้วทำไมคนต่างจังหวัดที่จ่ายภาษีเท่ากัน แต่เขาไม่มีขนส่งสาธารณะที่ดี นี่มันความเหลื่อมล้ำ อำนาจมันไม่กระจาย”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า