นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. ยื่น 1,700 รายชื่อ จี้ถอดถอนผู้บริหารมหา’ลัย ปิดกั้นเสรีภาพ

นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ คณาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เข้าชื่อ 1,700 รายชื่อ ยื่นต่อ 3 หน่วยงาน เรียกร้องให้ถอดถอนคณบดีวิจิตรศิลป์และอธิการบดี มช. สืบเนื่องจากการเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ปิดกั้นการเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ มช. ย้ำต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ ด้านเพื่อไทย-ก้าวไกล รับเรื่องเข้าที่ประชุม กมธ. 1 พฤศจิกายนนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Art and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนักศึกษาคณะต่างๆ และภาคประชาชนประมาณ 60 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พร้อมแนบรายชื่อประมาณ 1,700 รายชื่อ เพื่อถอดถอน อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษามีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 

  1. จะต้องประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาถอดถอนคณะผู้บริหารจากกรณีข้างต้นแก่สาธารณะ โดยกรรมการสอบสวนจะต้องได้รับการตรวจสอบ ไม่ให้มีผลประโยชน์ร่วมต่อฝ่ายนักศึกษาและคณะผู้บริหารทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะต้องได้รับสิทธิ์ในการคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนดอย่างเป็นธรรม 
  2. จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการสร้างข้อกำหนดสำหรับการคัดเลือกคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชุดต่อไป ผ่านการเลือกตั้งโดยนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยแท้จริงแก่การบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการคัดเลือกคณะผู้บริหารชุดถัดไป 
  3. จะต้องดำเนินการตรวจสอบประเด็นปัญหาอื่นอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่แนบมาพร้อมหนังสือฉบับนี้ พร้อมทั้งประกาศนโยบายตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีตามหลักประชาธิปไตยสากลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อรับประกันความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็น การดำเนินการของนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรในทุกรูปแบบ และพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคเพื่อดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

อภิสิทธิ์ วะลับ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งผู้บริหารว่า ตนเห็นปัญหานี้มานานแล้ว ถึงแม้จะสามารถไล่คณบดีคนนี้ออกได้ก็จะมีผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ามาแทนโดยนักศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วม รวมถึงกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ขาดความโปร่งใส 

“การตั้งกรรมการสอบสวนเกิดขึ้นจากการที่เขาแต่งตั้งคนที่เป็นพวกของเขาเองมาตรวจสอบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันขาดความสุจริต ความโปร่งใส ปัญหานี้เป็นปัญหาที่นักศึกษาหลายๆ คนต้องประสบ เพราะว่าการบริหารที่เป็นเหมือนเดิมซ้ำๆ ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ถูกแก้ไข เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นกับสาขา Media Art and Design ที่เป็นปัญหามายาวนานมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นปีก็มีเหตุการณ์การรื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา หรือเอางานของนักศึกษาไปทิ้ง คณบดีคนนี้มีกิริยาและการวางตัวที่ไม่เหมาะสม เราต้องการให้คุณมาตรวจสอบหน่อยว่าตอนนี้เราเดือดร้อนมากๆ แล้ว” อภิสิทธิ์กล่าว

ด้าน ธัชพรรณ ตรีทอง นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design เสริมว่า นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเข้าใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้าต้องการใช้หอศิลป์ ต้องจ่ายเงินเองเป็นหมื่น แล้วเก็บทุกวัน สมมุติเช่า 7 วัน 10 วัน ก็ต้องจ่ายเงินทุกวันเป็นหมื่น ค่าเทอมก็เป็นหมื่น ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษา รวมถึงการปิดกั้นด้วยการล็อคโซ่คล้องกุญแจไม่ให้นักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่จัดแสดงงานศิลปนิพนธ์ 

“เก็บทำไมนักหนา หอศิลป์มันลงท้ายว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนูก็นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ตรงนี้ เอกชนจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงิน นักศึกษาจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงินเหมือนกัน งั้นก็ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมก็ได้ในเมื่อใช้อะไรก็ต้องเสียเงิน แล้วยังปิดล็อคประตู ข้างในมันไม่ได้มีแค่หอศิลป์ แต่มันมีตึกเรียนของพวกหนูอยู่ด้วย ก็คือตึกเรียนของ Media Art and Design อยู่ในนั้น การล็อคประตูก็คือหนูไม่ได้ใช้ห้องเรียน แล้วหนูก็ไม่ได้ใช้หอศิลป์ด้วย” ตัวแทนนักศึกษาวิจิตรศิลป์กล่าว

ต่อมา นาวินธิติ จารุประทัย รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส.มช.) ที่ไม่ได้ปกป้องสิทธิของนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กรณีที่กลุ่ม ‘ขณะวิจิตรสิ้น’ ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ กรณีการเรียกร้องให้ลดค่าเทอมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการยืนเคียงข้างนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งหลังจากนั้น ธนาธร วิทยเบญจางค์ รองนายก ส.มช. ในฐานะนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้ประกาศลาออกจากกลุ่ม ‘นักศึกษาวันใหม่’ ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งใน ส.มช. แล้วเผาเสื้อสูทของ ส.มช. ที่มีตราสัญลักษณ์ มช. 

ทางด้าน ทนงศักดิ์ เชื้อเจ็ดตน หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ออกมารับหนังสือแทนนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยชี้แจงว่า นายกสภาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพฯ พร้อมยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะนำเรื่องเรียนไปยังนายกสภาฯ ขอให้นักศึกษาเชื่อมั่น เพราะตนก็เชื่อมั่นในตัวนักศึกษา 

ก่อนจบกิจกรรม นักศึกษาได้ยื่นหนังสือถึง ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ผ่านไปยังประธานกรรมาธิการการศึกษา และ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ไปยังประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งยืนยันว่าจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่ กมธ. ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ทัศนีย์กล่าวว่า ตนจะเป็นตัวแทนนำไปยื่นถึงประธานกรรมาธิการการศึกษา เพราะได้มีโอกาสฟังเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น 

“ปัญหามันเกิด ต้องได้รับการแก้ไข ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องคณะวิจิตรศิลป์ที่ไม่ให้เด็กๆ แสดงนิทรรศการ ผลเสียที่เกิดขึ้นคงจะต้องมีการเข้าหารือกับ กมธ. และเชิญตัวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสองฝ่ายเข้าไปชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย อีกเรื่องคือเรื่องการเลือกตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องเข้า กมธ. ซึ่งต้องทำในทุกมหาวิทยาลัย” ส.ส.เพื่อไทยย้ำ 

สำหรับรายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมถอดถอนผู้บริหารทั้ง 2 คน รวมประมาณ 1,700 รายชื่อ ประกอบด้วยคณาจารย์ประมาณ 10 คน ผู้มีตำแหน่งในองค์การนักศึกษาปีนี้และปีก่อนๆ 34 คน นักศึกษาปัจจุบัน 1,027 คน ศิษย์เก่า 379 คน ประชาชน 278 คน และมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอีก 5 คน โดยในหนังสือได้ระบุว่าต้องมีความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในวันที่ 31 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ผู้ร่วมจัดกิจกรรมทวงคืนหอศิลป์ มช. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ยังกล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่พวกตนไปทวงคืนหอศิลป์จากผู้บริหาร ฝากติดตามเคสนี้ด้วยว่าอาจจะมีการเล่นงานกลับหรือการลงโทษ ซึ่งตอนนี้ได้ยินข่าวลือมาว่าเขาไปแจ้งความเอาผิดแล้ว ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

พชร คำชำนาญ
เอ็นจีโอผู้ฝันใฝ่อยากเป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต ใช้เวลาหลังเรียนจบกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลงใหลชีวิตบนดอย ไร่หมุนเวียน และเหล้าภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอเป็นพิเศษ และอยากเห็นประเทศที่เข้าใจว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

Photographer

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า