ปิด Voice TV ในวันที่เสียงอยู่ในลำคอประชาชน

หลังจากมีการเผยแพร่ ‘คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง’ ไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เอกสารดังกล่าวระบุให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการฯ ที่มีเนื้อหาขัดกับข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการเสนอข่าวหรือข้อมูลอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย

คำสั่งดังกล่าว ระบุรายชื่อสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่นำเสนอเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท, The Reporters, The Standard และ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบสื่อดังกล่าวและให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณี

ปิด Voice TV ทุกแพลตฟอร์ม

20 ตุลาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส แถลงข่าว ร่วมกับ กอร.ฉ. เผยว่า ได้ตรวจสอบประมวลโดยฝ่ายกฎหมาย เสนอให้ศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 4 องค์กร คือ Voice TV, ประชาไท, The Reporters และ The Standard ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งจากศาล สั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Voice TV แล้ว ส่วนอีก 3 สื่อยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

สำหรับการสั่งปิดเพจช่วง 3-4 วันนี้ ไม่ได้กำหนดวัน แต่หากเป็นเพจลามกอนาจาร ยุยงปลุกปั่นจะปิดถาวร และผู้ให้บริการต้องนำเนื้อหานั้นออก โดยเป็นการนำเสนอตามคำสั่งตามที่เสนอให้ระงับการนำเสนอ ส่วนทีวีเป็นของกสทช. ถ้าทำผิดสามารถยึดใบอนุญาตได้

รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า กรณีของ Voice TV นั้นเนื่องจากเข้าข่ายหลายองค์ประกอบความผิด ทั้งขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในที่นี้รวมถึง พ.ร.บ.คอมฯ ด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นการขออำนาจศาลสั่งปิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่สามารถอุทธรณ์ได้ กระบวนการต่อไปจะส่งคำสั่งศาลไปให้เจ้าของแพลตฟอร์มดำเนินการปิดต่อไป แต่หากจะไปเปิดบัญชีใหม่ ก็เป็นสิทธิ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย

Voice TV: พื้นที่ทางความคิดของประชาชน

ความเคลื่อนไหวจากเพจ Voice TV หลังมีข่าวศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของ ขณะนี้ (13.00 น.) บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ยังไม่ได้รับเอกสารคำสั่งศาลแต่อย่างใด

วอยซ์ทีวีขอยืนยันว่าสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติ เป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำลายความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ท้ายแถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ให้มีการใช้อำนาจและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเที่ยงธรรม

The Reporters: ทุกคนคือนักข่าว

ความเคลื่อนไหวของ The Reporters มีแถลงการณ์จากสำนักข่าว ระบุว่า ยืนยันในการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป ด้วยเสรีภาพ เราเชื่อว่าการสื่อสารข้อเท็จจริงจะช่วยลดการเผชิญหน้า ลดข่าวลือ และข่าวปลอม เพราะเราเชื่อว่า เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน

The Reporters ยังยึดมั่นในการทำหน้าที่สื่อเพื่อสันติภาพ ด้วยความหวังว่า การเปิดพื้นที่ในการสื่อสาร จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี และเป็นแนวทางไปสู่สันติภาพที่แท้จริง

แถลงการณ์ฉบับนี้ลงท้ายว่า “เราทุกคนคือนักข่าว We are The Reporters”

The Standard: เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

แถลงการณ์ของ The Standard ระบุว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้านตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ปราศจากการกดดัน คุกคามในทุกรูปแบบ จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไขไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม

The Standard ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการทำงานของวิชาชีพสื่อ และมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม

เนื้อหาในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว ไม่ละเมิดต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างครบถ้วนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ท้ายแถลงการณ์ระบุว่า “เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน”

ประชาไท: ยืนยันทำหน้าที่

ขณะที่ สำนักข่าวประชาไท เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท เปิดเผยกับ เบนาร์นิวส์ ว่า สำนักข่าวประชาไทจะยืนยันการทำหน้าที่สื่อของตนเองต่อไป แม้จะถูกดำเนินคดีก็ตาม

หลักการเรายืนยันว่า รายงานข่าวตามสถานการณ์ตามสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ยืนยันว่าจะนำเสนอแบบเดิมต่อไป จนกว่าจะไม่สามารถนำเสนอได้ ยืนยันว่าสิ่งที่เรานำเสนอไม่ได้เป็นความผิดอะไร เรานำเสนอภาพสถานการณ์การชุมนุมที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่แม้การชุมนุมที่ไม่สงบ ก็มีความจำเป็นที่ต้องรายงาน เพราะการรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนไม่ว่ากลุ่มไหนก็จะได้ประโยชน์

บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท มองว่า การนำเสนอข้อมูลของสำนักข่าว ฝ่ายรัฐเองก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะหากการนำเสนอข้อมูลของสื่อถูกปิดกั้น การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับข้อมูลเพียงจากรายงานของหน่วยล่างอย่างเดียว ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

“ถ้า กสทช. เรียกเราไปเพื่อขอให้ลบคลิปไหน เราจะเอามาพิจารณาอีกที โดยหลักการ เราจะยืนยันว่าจะคงการเผยแพร่ไว้ ตราบใดที่เนื้อหาไม่ผิดจากประมวลจริยธรรมของเรา แม้จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ก็ให้เขาดำเนินคดีไป”

เยาวชนปลดแอก: เราคือชะตาที่คุณไม่อาจเลี่ยง

ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ตุลาคม เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ เพจเยาวชนปลดแอก ได้รายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำการปิดเพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ทางกลุ่มผู้จัดการชุมนุมได้สร้างช่องทางสื่อสารไว้ใน Telegram ภายในเวลา 2 วัน มีสมาชิกเข้าร่วม 200,000 คน

เต็มจำนวนภายในเวลาเพียง 2 วัน ทำให้มีการเปิด Telegram Channel เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถรับรู้ข่าวสารต่างๆ เช่น การนัดหมายสถานที่ชุมนุมในแต่ละวันได้

ล่าสุด เพจเยาวชนปลดแอก ตั้งคำถามถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ปิดช่องทางการนำเสนอข่าวของ Voice TV ว่า ไม่ต่างจากการรัฐประหารเงียบ

นี่ต่างอะไรจากการรัฐประหารเงียบ? การปิดสื่อที่มีเพื่อมวลชนคือการปิดปากประชาชน! รัฐนี้ไร้ซึ่งความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่ว่าคุณจะสั่งปิดช่องทางการสื่อสารไปสักเท่าไหร่ จงรับรู้ไว้ว่า เราคือชะตาที่คุณไม่อาจเลี่ยง

แอพพลิเคชั่น Telegram ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารของผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมาก่อน ช่วยอัพเดตข้อมูลข่าวสารการชุมนุมที่เกิดขึ้นล่าสุด รวมทั้งเผยแพร่รายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงในที่ชุมนุมให้ได้ทราบทั่วกันอีกด้วย บางกลุ่มก็ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมช่วยกันสอดส่องรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม เฝ้าระวังตำรวจ และเตือนผู้ชุมนุมถึงความเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียง

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่เอกสารประทับตรา ‘ลับมาก’ และ ‘ด่วนที่สุด’ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นหนังสือที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติราชการแทน ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ส่งถึงเลขาธิการ กสทช. ให้ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายระงับการใช้แอพพลิเคชั่นเทเลแกรม (Telegram)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า