Spotlight: เปิดปมสะเทือนศรัทธา

SPOTLIGHT-cv

เรื่อง: อรปมน  วงค์อินตา

เมื่อเรารัก ศรัทธา หรือเชื่อในอะไรก็ตามสุดหัวใจ หากมีเรื่องราวที่ทำให้สิ่งที่เราเชื่อนั้นแปดเปื้อน คุณจะทำอย่างไร ระหว่าง หนึ่ง สืบหาต้นตอและก่นด่ามัน สอง ไม่เชื่อแต่สาปแช่ง สาม ค้นหาความจริงก่อนตัดสินเรื่องทั้งหมด

ทีม Spotlight ไม่ได้เลือกข้อไหนทั้งสิ้น เพราะพวกเขาสวมหมวกนักข่าว นักข่าวคือผู้ที่นำเสนอความจริงแก่สังคม เพื่อให้สังคมเป็นผู้ตัดสินเอง

Spotlight เป็นทีมข่าวของหนังสือพิมพ์ The Boston Globe ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดสี่คน พวกเขาทำหน้าที่สืบเสาะหาข่าวเชิงลึกเพื่อนำเสนอประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งการทำข่าวครั้งนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่จะสะเทือนไปทั่วโลก ข่าวนั้นคือ บาทหลวงในบอสตันข่มขืนเด็กผู้ชาย

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้วแต่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาทำอีกครั้งโดยบรรณาธิการคนใหม่ของ The Boston Globe

ภาพยนตร์เรื่อง Spotlight พาเราไปทำความรู้จักกลวิธีการทำงานของนักข่าวตั้งแต่เลือกประเด็น หาข้อมูล สัมภาษณ์แหล่งข่าว การทำงานที่ต้องใช้ไหวพริบและจรรยาบรรณ ทุกสิ่งล้วนเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ภาพยนตร์นำผู้ชมให้รู้สึกระทึกไปกับการหาข้อมูล ค้นพบข้อมูล หดหู่ไปกับความรู้สึกของแหล่งข่าวและข้อเท็จจริงที่พวกเขาค้นพบ สิ่งที่ศาสนจักรคาทอลิกได้ซุกซ่อนไว้ใต้พรมค่อยๆ ถูกเปิดเผยโดยการทำงานที่ทุ่มทั้งแรงกายแรงใจของทีม Spotlight

spotlight3

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าทีม Spotlight ได้สืบหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งพบอุปสรรคอย่างมาก เพราะไม่ง่ายเลยที่จะให้ใครก็ตามที่รักหรือศรัทธาในสิ่งที่เคยเชื่อสุดหัวใจยอมพูดถึงสิ่งไม่ดีของศาสนาที่ตนนับถือ

ตัวหนังตั้งคำถามกับผู้นับถือศาสนาได้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเรารักหรือศรัทธาในอะไรอยู่เต็มหัวใจ เราจะยอมปิดหูปิดตา ไม่เชื่อแม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายขนาดไหนจริงหรือไม่ และอะไรทำให้พวกเขายอมพูดถึงสิ่งไม่ดีของมัน แทนที่จะซุกปัญหาเหล่านั้นไว้ใต้พรมแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนที่แล้วๆ มา

Spotlight สาธิตให้เห็นว่า การทำเหมือนกับเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหากลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องไปตามปกปิดอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เห็นได้จากการเสาะแสวงหาความจริงของทีม Spotlight ที่ยิ่งหาก็ยิ่งพบจำนวนเด็กผู้ชายที่เคยถูกข่มขืนมากขึ้นเรื่อยๆ

การทำให้ศาสนาไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเคารพเหนือจิตใจ แต่เป็นสิ่งธรรมดาที่จับต้องได้ สามารถทำผิดได้ และสามารถแก้ไขได้ เป็นเรื่องยาก เพราะถ้าเรายอมรับเช่นนั้น สิ่งดีงามที่เรานับถือและศรัทธาก็จะไม่ใช่สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเราอีกต่อไป เมื่อทำแบบนั้นก็ไม่ได้ แบบนี้ก็ไม่ได้ แล้วทางออกอยู่ตรงไหนกันแน่

เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยถูกบาทหลวงข่มขืนเมื่อครั้งเยาว์วัยถูกถามว่า “คุณยังไปโบสถ์อยู่ไหม?” ผู้เสียหายรายนั้นตอบว่า เขายังไปโบสถ์ แต่แน่นอนว่าอาจจะไม่บ่อยเท่าเดิม เขายังคงสวดภาวนา ถึงแม้ว่าบาทหลวงจะทำสิ่งไม่ดีกับเขา แต่เขาก็ไม่โกรธศาสนา เขานับถือในคำสอน ไม่ใช่ตัวบุคคล

นี่อาจเป็นคำตอบของความศรัทธาที่ถูกกระทำโดยตัวบุคคลแล้วสั่นคลอนความคิดของศาสนิกชนก็เป็นได้ แทนที่จะเพิกเฉยหรือปกปิดมัน เขากลับหันมาเผชิญหน้าแล้วเปิดเผยปัญหานั้นเพื่อให้ศาสนาของเขาได้ถูกจัดระเบียบอย่างถูกต้อง

spotlight1

เช่นเดียวกับที่บรรณาธิการข่าวของThe Boston Globe กล่าวว่า เขาไม่ได้ต้องการมุ่งนำเสนอแค่ข่าวบาทหลวงข่มขืนเด็กผู้ชายจำนวนมาก เพราะการมุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งเพียงน้อยนิดไม่ได้ช่วยให้ระบบที่บกพร่องได้รับการแก้ไข แต่การมุ่งเป้าไปยังพื้นที่ใหญ่กว่านั้นต่างหากที่จะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลาย

ในคืนวันคริสต์มาส ขณะที่ทีม Spotlight ค้นหาหลักฐานบาทหลวงข่มขืนเด็กผู้ชาย ฉากน่าสะเทือนใจฉากหนึ่งก็เกิดขึ้น เมื่อในโบสถ์ยังคงมีการร้องเพลงเฉลิมฉลอง ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งค้นเจอจุดด่างพร้อยจุดใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่กลับใช้ชีวิตตามปกติ… โดยเฉพาะเด็กที่ยังอยู่ในโบสถ์ ในสถานที่ที่บาทหลวงอาจจะข่มขืนพวกเขาอยู่ แต่พวกเขาก็ยังอยู่ที่นั่นอย่างสบายใจ ไม่รู้เลยว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับพวกเขาเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าสังคมยังเพิกเฉยกับปัญหานี้

ทีม Spotlight จึงนำเสนอความจริงนั้นสู่สังคม แล้วให้สังคมเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเชื่อในหลักฐานนั้น หรือเลือกที่จะปล่อยให้มันผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

บทสรุปของเรื่องอาจจะไม่ได้บอกว่าปฏิกิริยาของคนต่อเรื่องราวนี้เป็นอย่างไร แต่จากการเปิดเผยหลังจบเรื่องว่านอกจากในสหรัฐ ยังมีเหยื่อผู้ถูกบาทหลวงข่มขืนจากอีกหลายประเทศทั่วโลก ดูเหมือนจะเป็นคำตอบในตัวมันเองว่า เมื่อมีใครก็ตามออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวนี้ ก็จะมีอีกหลายๆ คนกล้าออกมาพูดเช่นเดียวกัน และเมื่อมีคนออกมาพูดก็จะมีคนจับตามากขึ้น กลไกเหล่านี้เป็นการตรวจสอบโดยอัตโนมัติที่จะทำให้คนเหล่านี้ระมัดระวังตัวและเลิกพฤติกรรมนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าหากมันเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพจริง สักวันปัญหาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง และหายไปในที่สุด

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า