สิทธิพล เครือรัฐติกาล: เสียงปืนนัดแรกในฮ่องกง การชุมนุม และรัฐภายใต้ปีกอำนาจจีน

นับตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของชาวฮ่องกงเรือนแสนที่หว่านไจ๋ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา ชื่อของ แคร์รี หลั่ม (Carrie Lam) ผู้ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกง, โจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง สีจิ้นผิง (Xi Jin Ping) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กลายเป็นคีย์เวิร์ดยอดนิยมที่ถูกนำมาพูดถึงทั้งในวงเสวนาวิชาการและการพูดคุยสาธารณะ บนหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในและความสัมพันธ์แบบ ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’

ทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย และคำมั่นสัญญาที่จะยังคงประเทศให้เป็นอย่างเดิมเป็นระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 1997 แต่ยังไม่ถึงครึ่งทาง ปัญหาต่างๆ ของหนึ่งประเทศสองระบบก็สำแดงเดชอยู่หลายครั้ง ในฐานะสูญกลางทางการเงิน เมืองท่า และความเป็นเมืองทุนนิยมเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อต้องย้ายไปอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความย้อนแย้งที่ว่านำมาซึ่งปัญหาในปัจจุบัน

และในการพูดคุยทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ผู้คนมักจะให้ความสนใจมุ่งไปยัง ‘ฮ่องกง’ ในฐานะตัวแสดงที่เป็นผู้ถูกกระทำบนโครงข่ายความสัมพันธ์แบบหนึ่งประเทศสองระบบ แต่อีกด้านหนึ่ง กระบวนการการกลับไปเป็น ‘ประเทศจีนที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง’ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้

WAY พูดคุยกับ รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการมองเขตบริหารพิเศษของจีนในมุมจีน เพราะการกลับไปเป็นจีนที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งนี้เอง เป็นตัวกำหนดท่าทีต่อเขตบริหารพิเศษแห่งอื่นๆ ทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างจีนและไต้หวัน โดยเฉพาะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการผู้ชุมนุมในฮ่องกง

ล่าสุด การประท้วงที่ฮ่องกงทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางการยังคงยืนกรานไม่ยอมลดราวาศอกให้ผู้ชุมนุม ช่วงสองวันที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ฝูงชน และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่อาวุธปืนในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจลั่นกระสุน แม้เจตนาคือการยิงขู่ แต่นี่อาจเป็นเสียงปืนแรกของความรุนแรงที่จะตามมา จนเกิดความหวาดกลัวว่า จุดจบสุดท้ายที่ร้ายที่สุดของฮ่องกงคือการยื่นมือเข้ามาปราบปรามมวลชนของรัฐบาลจีน ดังเช่น ‘เหตุการณ์เทียนอันเหมิน’ ในปี 1989

คนจีนแผ่นดินใหญ่มองการประท้วงฮ่องกงในครั้งนี้อย่างไร

เราต้องเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า หลังชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1949 เป็นต้นมา ประชากรจีนในแผ่นดินใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาจากกระบวนการกล่อมเกลาของพรรคคอมมิวนิสต์ คนจีนถูกกล่อมเกลาว่า ประเทศจีนอยู่ในกระบวนการ ‘กลับไปเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง’ พวกเขามองบรรดาเขตบริหารพิเศษของจีนที่เกิดการประท้วงว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังภายนอก การประท้วงของฮ่องกงมันคือความวุ่นวายที่มีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง และเพื่อสกัดกั้นไม่ให้จีนอยู่ในเวทีโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย

แม้คนแก่ในฮ่องกงจะไม่ได้รับการศึกษาตามแนวทางคอมมิวนิสต์ แต่ก็มักจะมีแนวคิดเช่นนี้ เพราะอย่าลืมว่าคนในฮ่องกงจำนวนไม่น้อยเป็นผู้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงปี 1949 แม้จะหนีมาเพราะไม่ได้นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อีกความรู้สึกหนึ่งก็มองว่า จีนคือแผ่นดินแม่ (motherland)

อาจจะเป็นคำถามให้ตั้งข้อสงสัยต่อว่า ความรู้สึกนึกคิดที่ผูกพันกับแผ่นดินแม่มันเกิดขึ้นเฉพาะกับคนจีนไหม เพราะอย่างในโลกตะวันตก คนอพยพจากฝรั่งเศสไปอยู่แคนาดา เขาก็ไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองยังเป็นคนฝรั่งเศสอยู่ ข้อสงสัยตรงนี้อาจจะตอบได้จากการที่คนจีนเชื่อว่า พวกเขามีบรรพบุรุษร่วมกัน ทุกคนเป็นลูกหลานจักรพรรดิเหลือง (sons of the yellow emperor)

คำถามง่ายๆ ที่หลายคนสงสัยในการประท้วง ทำไมทางการฮ่องกงไม่ยอมถอยกฎหมายฉบับนั้นตั้งแต่แรก

จริงๆ ฝ่ายจีนเอง แคร์รี หลั่ม ก็ออกมาบอกแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้มัน ‘dead’ ไปเรียบร้อยแล้ว มันจบลงแล้ว แต่ผมคิดว่าผู้ชุมนุมประท้วงยังไม่พอใจคำมั่นสัญญาแบบนั้น เพราะที่ผ่านมามีปัญหาหลายอย่างประดังประเดกัน ดังนั้นกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ใช่ต้นตอของการประท้วง เป็นเพียง ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ เพราะที่จริงมีปัญหาสะสมมาตั้งแต่การประท้วงครั้งที่แล้ว เมื่อปี 2014 จีนก็ไม่ได้ยอมทำตามข้อเสนอของการประท้วงครั้งนั้น ซึ่งก็คือ universal suffrage ที่เรียกร้องให้การเลือกตั้งผู้ว่าและสภานิติบัญญัติมาจากเสียงของประชาชนฮ่องกง 100 เปอร์เซ็นต์

และนอกจากเรื่องสิทธิทางการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ที่พักอาศัย ฮ่องกงประชากรเยอะ แต่มีพื้นที่น้อย แออัดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษแล้ว และในช่วงหลังที่กลับเข้าคืนสู่การปกครองของจีน รัฐบาลจีนก็ค่อนข้างเอาอกเอาใจกลุ่มธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง ดังนั้นจึงไม่ได้สนใจที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยถีบตัวสูงขึ้น เป็นปัญหาที่ทำให้คนเกิดความคับข้องใจ

เราจะเห็นได้ว่า การประท้วงครั้งนี้ต่างจากปี 2014 เพราะผู้ชุมนุมในปีนั้นส่วนมากเป็นนักศึกษา เช่น โจชัว หว่อง แต่ปีนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่นักเรียนนักศึกษาอย่างเดียว มีเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่ไม่ได้มีระดับสูงนักเข้าร่วมด้วย พนักงานสายการบินก็เข้าร่วมด้วย เป็นต้น มันสะท้อนว่าครั้งนี้มีอะไรมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ แต่เกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตบางอย่างของคนฮ่องกงที่ทำให้คนจำนวนมากทนไม่ได้

ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของผู้ชุมนุม ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนถาวร, ยกเลิกข้อหาจลาจล, ปล่อยตัวและนิรโทษกรรมผู้ถูกจับกุม และให้ถือว่าเป็นคดีการเมือง ไม่ใช่อาชญากรรม, ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียมกัน (universal suffrage) ไม่มีข้อใดระบุชัดเจนว่าฮ่องกงต้องการแยกตัวออกมาเป็นเอกราช มีเพียงข้อสุดท้ายที่ระบุว่าต้องการ universal suffrage ในมุมมองอาจารย์ทำไมการให้ universal suffrage ถึงมีปัญหา

มันยากไงคุณ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าจีนยอมให้มี universal suffrage ในฮ่องกงขึ้นมา พอยอมหนึ่งที่ แล้วที่อื่นๆ ในจีนก็จะเกิดข้อเรียกร้องแบบเดียวกัน สมมุติจีนบอกว่า “ที่ยอมให้ฮ่องกงเป็นเพราะฮ่องกงมีภูมิหลังหรือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับแผ่นดินใหญ่” ซินเจียงก็อาจจะพูดเหมือนกันว่า ฉันก็มีเงื่อนไข มีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับชาวจีนทั่วไป พวกอุยกูร์เป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่ง มันจะเป็นความเสี่ยงมากๆ ยอมหนึ่งที่ จะเสี่ยงต่อบูรณาการของประเทศในภาพรวม

การปกครองของจีน มันมีทั้งระดับมณฑล เขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ เขตปกครองพิเศษอย่างฮ่องกงและมาเก๊า ถ้าจีนยอมต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในฮ่องกง มันก็จะกลายเป็นชนวนให้กับผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่มอื่นๆ

หลายปีก่อนก็เคยมีการจลาจลในเขตการปกครองมองโกเลียใน (Inner Mongolia Autonomous Region) ถ้าจีนถอยให้กับฮ่องกง ปัญหาตามมาแน่นอน มันก็จะเกิดการเรียกร้องในเขตการปกครองอื่นๆ พอถึงจุดนั้น จีนก็จะคุมสถานการณ์ไม่ได้ เพราะคราวฮ่องกงจีนยังยอมเลย ถ้าทิเบตจะเอาบ้าง จีนก็ต้องยอม ทางเลือกที่ดีที่สุดของจีนคือ ต้องไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว

มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดเหตุการณ์แบบเทียนอันเหมินขึ้นที่ฮ่องกง

มีความเป็นไปได้สูงมากเลยนะ ถ้ามันมีเหตุการณ์ที่เป็นชนวน จีนเขาไม่ลังเลที่จะใช้กำลัง ด้านหนึ่งก็อาจจะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศจะเสีย แต่ถ้าจีนทนไม่ไหว ก็คงต้องใช้กำลัง คุณลองคิดถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 สิ ภาพลักษณ์เสียก็จริง คนออกมารุมด่าจีน ออกมาวางมาตรการคว่ำบาตรกับจีน แต่พอเทียนอันเหมินผ่านไปปีสองปี ทุกประเทศก็ทยอยกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับจีน

จีนเขาก็มีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าประเทศเขาใหญ่เกินกว่าที่นานาชาติจะหันหลังให้ได้ เชื่อว่าทุกๆ ประเทศต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์กับจีน ไม่ว่าจะผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ จีนคิดว่าไม่มีใครกล้าทิ้งจีนอย่างจริงจัง ด่าฉันก็ด่าไป แต่เดี๋ยวก็กลับมาคืนดี จะเป็นในลักษณะนี้มากกว่า

เทียบกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989 ขณะนั้นจีนไม่ได้อยู่ท่ามกลางสปอตไลท์เท่าทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย จีนไม่ห่วงภาพลักษณ์ตัวเองต่อประชาคมโลกหรือ

ผมคิดว่าการ live ให้เห็นชัดเจน ฆ่ากันชัดเจนจนจีนปฏิเสธไม่ได้เลยก็เป็นสิ่งที่จีนกังวล เพราะจีนก็รู้ว่า แม้ไม่มีเหตุการณ์ประท้วง ภาพลักษณ์ของตัวเองก็ยังถูกมองว่าไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการปกครองด้วยพรรคพรรคเดียว และควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

ถามว่าจีนกังวลไหมถ้าเกิดภาพเช่นนั้น ก็คงกังวล เพียงแต่ว่า…อย่างที่บอก จีนสันนิษฐานว่าผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ จะมองโลก ‘ตามสภาพจริง’ ไม่ใช่ตามสภาพในอุดมคติ หลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอะไรทั้งหลาย

จีนคิดว่าประเทศต่างๆ ในโลกยึดหลักการที่เรียกว่า ‘สภาพจริง’ คือจีนและประเทศต่างๆ มีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ทางความมั่นคง ฯลฯ อยู่มากทีเดียว ดังนั้นเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหล่านี้ แม้จีนจะใช้กำลังปราบปรามก็คงทำให้ภาพลักษณ์ของจีนเสีย แต่จีนคิดว่าคงเสียไปในระยะสั้น และก็คุ้มที่จะแลกมาเพื่อเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นของประเทศ

อย่าลืมว่าผู้นำจีนกำลังนำประเทศภายใต้กระบวนการกลับไปเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ดังนั้นเสถียรภาพความเป็นปึกแผ่นของประเทศจึงเป็นสิ่งที่ประนีประนอมต่อรองไม่ได้เลย ภาพลักษณ์อาจจะเสียไม่เป็นไร ถ้าประเทศเรายังอยู่

ผมคิดว่าจีนคำนึง (ถึงประเทศอื่นๆ) น้อยมาก ผมคิดว่าสิ่งที่เขาคำนึงถึงมากคือ มติมหาชนในหมู่ชาวจีน เพราะเป็นฐานอำนาจที่จะหนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ยังสามารถนำพาประเทศให้คงอยู่ได้ ดังนั้นถ้าเขาตอบโจทย์อารมณ์ของประชาชนจีนส่วนใหญ่ได้ ต่อให้ต่างชาติจะมาด่าจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้ความรุนแรงอะไรยังไงก็ไม่เป็นไร เพราะใช้กำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในฮ่องกง เขาได้ใจประชากรจีนพันกว่าล้านคนแล้ว ตอบโจทย์ผู้นำให้สามารถยังดำรงอยู่ในอำนาจได้ ตอบโจทย์พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้

มุมของคนฮ่องกง การเรียกร้องต่อนานาชาติคือความคาดหวังหรือไม่ ว่าจะมีความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น หากเกิดเหตุรุนแรงจริงจะมีความช่วยเหลือทางการทหาร

คนฮ่องกงที่มีการศึกษาและได้รับข้อมูลข่าวสารก็คงจะไม่ไร้เดียงสาขนาดนั้นหรอก ที่จะเชื่อว่ามีกองกำลังประเทศที่สามช่วยเหลือพวกเขาได้ ประเทศอื่นๆ ช่วยเหลือได้มากที่สุดก็แค่กำลังใจ อย่างเช่น กรณีผู้นำไต้หวัน ก็ออกมาให้กำลังใจผู้ประท้วงในฮ่องกง แต่ว่าผู้ประท้วงเขาก็พยายามเรียกร้องต่อจีน ตรงนี้ก็น่าเห็นใจ เพราะคนฮ่องกงก็รู้สึกว่าปัญหาที่พบเจอมันมากกว่าที่จะอยู่เฉยได้แล้ว เขาถึงต้องออกมาประท้วง แม้จะรู้ว่าอาจจะมีการใช้กำลังก็ตาม

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ จีนยุคใหม่ มีลักษณะเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ทางเศรษฐกิจ (Neo-colonial) ซึ่งมีอิทธิพลไปทั่วโลก ยกตัวอย่าง นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) มันไปพร้อมกับเงินช่วยเหลือจากจีน จีนไม่ได้มีแค่นโยบายอย่างเดียว ยังมีธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ให้ประเทศอื่นๆ ด้วย ผมคิดว่าจีนกำลังสร้าง ‘โลกาภิวัตน์แบบจีน’ ตรงนี้หลายๆ ประเทศก็ยังจะต้องง้อจีน หรือเปล่า?

‘โลกาภิวัตน์แบบจีน’ แตกต่างกับนโยบายลักษณะเดียวกันของสหรัฐหรือญี่ปุ่นในยุคที่ผ่านมาอย่างไร

จีนมีความมั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ดีกว่า หรือประสบความสำเร็จกว่า พูดง่ายๆ ว่าจีนรู้สึกได้เปรียบกว่า ในฐานะผู้บริจาคเงินให้ความช่วยเหลือ (aid donor) ที่ไม่มีเงื่อนไขด้านอุดมการณ์ จีนไม่มีธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ในการช่วยเหลือประเทศใดๆ เลย จีนบอกว่าทุกอย่างเป็นกิจการภายใน จีนรู้สึกว่าถ้าใช้นโยบายแบบนี้จะหามิตรประเทศได้อีกจำนวนมาก ต่างจากสหรัฐ หรือสหภาพยุโรปที่จะมีเรื่องของประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน จีนรู้สึกว่าจุดยืนเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศเป็นจุดยืนที่จีนได้เปรียบ จะเป็นจุดยืนที่ทำให้ประเทศต่างๆ มีท่าทีตอบรับการเข้าไปของจีนมากขึ้น

จริงๆ แล้วทุกวันนี้จีนปกครองในระบอบอะไร

‘เผด็จการ’

แม้ว่าประเทศสังคมนิยมมักจะบอกว่าตนเองเป็น ‘ประชาธิปไตยในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง’ ขณะที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งมีนายทุนอยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง ดังนั้นผู้แทนที่นั่งในสภาจึงเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนผู้ขูดรีด แต่ในกรณีของจีน จีนมักบอกว่าเขาเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ ตัวแทนของชนชั้นชาวนา ผู้ใช้แรงงาน แต่โดยรวมๆ แล้ว เราพูดได้เต็มปากว่าจีนมีการปกครองแบบเผด็จการ

เผด็จการเพราะอะไร เพราะว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะตั้งพรรคการเมืองใดๆ นอกจากจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างเป็นการเลือกตั้งของพรรค คุณไม่มีสิทธิที่จะตั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ขึ้นมาแข่ง คุณไม่มีสิทธิจะวาง ‘ประเทศจีนในฝันอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง’ ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้มีคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

ถามว่าระบอบเศรษฐกิจจีนเป็นทุนนิยมโดยรัฐไหม ก็ใช่ จีนใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด แต่วิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากยังเป็นของรัฐอยู่ แม้จีนจะมีเศรษฐกิจภาคเอกชนอยู่ แต่เบื้องหลังเอกชนทั้งหลายก็ยังต้องพึ่งพาอำนาจของรัฐอยู่มากทีเดียว ถ้าเป็นผู้เคร่งครัดในทฤษฎีมาร์กซิสม์ก็จะมองว่าจีนเป็น ‘ทุนนิยมโดยรัฐ’ รัฐผูกขาดการเป็นนายทุน แต่ถ้าพูดถึงระบอบการปกครองก็ต้องดูว่าเขาให้อำนาจกับประชาชนหรือไม่ จีนไม่ให้อำนาจแก่ประชาชนเลย ก็ต้องถือว่าจีนเป็น ‘ประเทศเผด็จการ’

เป็นเผด็จการที่ไม่ให้อำนาจแก่ประชาชน แต่แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน?

ใช่ จีนพยายามที่จะควบรวมประชาชนทุกภาคส่วนมาอยู่ในพรรคพรรคเดียวที่ชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกอยู่เกือบ 90 ล้านคน พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามเอาคนหลายกลุ่มหลายอาชีพเข้ามาอยู่ในพรรคนี้ เพื่อที่จะอ้างได้ว่าเรามีพรรคเดียวก็จริง แต่เป็นพรรคที่เป็นตัวแทนทุกๆ กลุ่มแล้ว เลยไม่จำเป็นต้องมีพรรคที่สอง-สามมาแข่ง

ถามว่าจีนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากแค่ไหน ถ้าให้ตอบคุณอาจตกใจ มากพอสมควรนะ มากพอสมควรทีเดียว ยิ่งถ้าคุณไปดูโลกออนไลน์ของจีน บางทีก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐอยู่มาก เพียงแต่ว่าคนจีนจะรู้ขอบเขตการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือลบ ทำได้ตราบที่คุณไม่สื่อความว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการผูกขาดอำนาจของพรรคพรรคเดียว

ถ้าคุณวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐ คุณอาจจะบอกว่า “นโยบายนี้จุดประสงค์ดี แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงแล้วข้าราชการยังทำงานไม่ถูกต้อง ยังไม่มีความเข้าใจ” แบบนี้วิพากษ์วิจารณ์ได้ และรัฐบาลจีนก็รับฟังด้วย แต่ถ้าคำวิพากษ์วิจารณ์ของคุณมันเลยไปถึงขั้นว่า “ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ประเทศยังไม่ยอมให้มีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแข่ง” อย่างนี้คุณกำลังวิพากษ์วิจารณ์การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณจะต้องโทษคดีทางการเมืองแน่นอน

ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ของจีนที่ดูจะดุเด็ดเผ็ดมัน มีเยอะมากทีเดียว เพราะเขาไม่วิพากษ์วิจารณ์แตะไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่วิพากษ์วิจารณ์การนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นเรื่องของบุคคลมากกว่า

ถือว่ามีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้นเราอาจต้องวิจารณ์ไปถึงขั้นว่า “ทำไมประเทศนี้ถึงมีแค่พรรคเดียว”

อย่างที่บอกว่าคนจีนในแผ่นดินใหญ่ถูกกล่อมเกลามาเสียจนทำให้เชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่ เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ควรไปแตะต้อง เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับประเทศจีนอยู่แล้ว คล้ายศาสนา แม้จะไม่ได้มีเจ้าลัทธิอะไร แต่ประชาชนถูกกล่อมเกลามาหลายสิบปีจนกระทั่งทำให้ชาวจีนจำนวนมากเห็นว่า ไม่ควรตั้งคำถามกับการคงอยู่ของพรรค เพราะพรรคเป็นส่วนหนึ่งของการคงอยู่ของชาติ

บนโครงข่ายทางอำนาจของจีน ฮ่องกง ‘เป็นใคร’ และ ‘อยู่ตรงไหน’ ตั้งแต่อดีต

‘เป็นหมู่บ้านชาวประมง’

ส่วนคำถามว่าฮ่องกงเป็นของจีนแต่โบราณหรือเปล่า-ถูกต้อง เป็นของจีน และถูกจีนปกครองมาตั้งแต่โบราณไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี

ยุคก่อนอังกฤษจะเข้ามา ฮ่องกงเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง เกาะนั้นก็มีชาวบ้านอยู่ไม่กี่พันคนเท่านั้นเอง ถ้าถามว่า ความรักความผูกพันที่มีต่อจีนส่วนกลางมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือ มีน้อยมาก เพราะมันเป็นเพียงดินแดนที่ไกลปืนเที่ยง คนในบริเวณเกาะฮ่องกง มีความผูกพันกับ ‘รัฐ’ ในระดับที่เบาบางมากทีเดียว

ดังนั้นการที่เราบอกว่า เรารู้จักตัวตนของฮ่องกงในฐานะที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ ศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ท่าเรือ การบิน ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แล้วถามว่าประชากรที่อยู่ในฮ่องกง แม้จะเป็นคนเชื้อสายจีนและใช้ภาษากวางตุ้งเหมือนคนจีนที่อยู่มณฑลกวางตุ้งก็จริง แต่ความรู้สึกเป็นชาติเดียวกัน หรือที่เรียกว่า collective memory ความทรงจำร่วม ประสบการณ์ร่วม มันไม่มีเลย ประวัติศาสตร์ก็เป็นคนละเวอร์ชั่น จีนแผ่นดินใหญ่ก็มีการปฏิวัติวัฒนธรรม สงครามกลางเมือง ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันฮ่องกงก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้นเมื่อฮ่องกงต้องกลับสู่การปกครองของจีนเมื่อปี 1997

เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี 1997 ปัญหาหลักที่เห็นคือ โลกทัศน์ นิสัยใจคอ ความคาดหวังของชาวจีนแผ่นดินใหญ่และชาวฮ่องกงย่อมไม่เหมือนกันภายใต้ร่มธงใหญ่อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดจนถึงทุกวันนี้

คนฮ่องกงมีสำนึกความเป็นชาติของฮ่องกงเองไหม

ไม่มี ถ้าถามว่าตอบได้ยังไง เราก็ไปดูฮ่องกงตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ 99 ปีนะ มันเป็นร้อยกว่าปีเลย ตั้งแต่สงครามนานกิง 1842 จนกลับไปเป็นของจีน 1997 ตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครอง ฮ่องกงไม่เคยมีขบวนการชาตินิยม อาจจะมีขบวนการฝ่ายซ้ายที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ไม่มีขบวนการเพื่อเอกราชของฮ่องกงเกิดขึ้นเลย

ถ้าถามว่า อัตลักษณ์ของฮ่องกงมันชัดมากพอที่จะแยกออกจากจีนเลยไหม ก็ไม่มี เพราะบางครั้งเขาก็มีความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในแง่ของขนบธรรมเนียม โดยเฉพาะกับมณฑลกวางตุ้ง เพราะมันติดกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่บางครั้งเขาก็จะรู้สึกว่า การเมืองจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์มันก็ทำลายวัฒนธรรม ก็ไม่เชิงว่าเขารู้สึกดีกับแผ่นดินใหญ่ แต่ก็รู้สึกผูกติดด้วยวัฒนธรรมร่วม

ปฏิกิริยาของฮ่องกงกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเป็นอย่างไร

ไม่ได้โอนอ่อนตามทั้งหมด ขัดแย้งบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยรุนแรง เพราะว่าอังกฤษปกครองฮ่องกงโดยการให้อิสระค่อนข้างมาก ฮ่องกงภายใต้การนำของอังกฤษนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เพราะรัฐเปิดให้เอกชนมี freehand ซึ่งคนละอย่างกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ ที่รัฐจะเป็นคนเข้าไปจัดแจงว่าเอกชนควรจะต้องทำอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ แต่ฮ่องกงปล่อยให้นายทุนจัดการตัวเอง ข้อขัดแย้งที่รุนแรงเลยไม่มีเท่าไหร่

อาจจะมีความกังวลของอังกฤษบ้าง ในช่วงทศวรรษ 60 ที่จีนแผ่นดินใหญ่ซ้ายจัด และมีการปฏิวัติวัฒนธรรม อังกฤษก็จะมีความกลัวว่าจีนจะเข้ามาหาแนวร่วมกับพวกที่นิยมคอมมิวนิสต์ในฮ่องกงไหม เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องการจลาจลนองเลือดต่อต้านรัฐบาลอังกฤษไม่มี

ฮ่องกงยุคนั้นก็พอมีผู้นิยมฝ่ายซ้าย และรัฐบาลจีนเองก็ใช้ผู้นิยมฝ่ายซ้ายในฮ่องกงสอดส่องโลกเสรีเพื่อหาข่าวในยุคที่จีนยังตึงเครียดกับโลกทุนนิยมอยู่

ฮ่องกงมีความพิเศษกว่าอาณานิคมอื่นของอังกฤษตรงไหน

หนึ่งคือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ฮ่องกง (คล้ายกับสิงคโปร์) ที่ตั้งเหมาะกับการเป็นเมืองท่านานาชาติ สองคือ ฮ่องกงได้อานิสงส์จากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 จีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ พวกนายทุนจีน ชนชั้นผู้มีทรัพย์มีที่ดิน กลัวจะถูกฆ่า ริบที่ดิน ก็พากันอพยพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เฮโลมาอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนนี้เป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับฮ่องกง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังปี 1949 ฮ่องกงก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอยู่ มีคนเคยตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า “เฮ้ย ทำไมจีนไม่บุกฮ่องกงตั้งแต่ตอนนั้นให้มันจบๆ ไปเลย” เพราะจีนเองก็มีความสามารถทางทหารอยู่แล้ว ฮ่องกงเองก็ไม่ได้ห่างจากชายฝั่งเท่าไหร่

เข้าใจว่า เวลานั้น จีนเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะเปิดศึกหลายด้าน จีนที่ตั้งประเทศขึ้นมาในปี 1949 เป็นคอมมิวนิสต์ก็มีปัญหาขัดแย้งกับสหรัฐไปแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปเป็นศัตรูกับอังกฤษเพิ่ม อังกฤษเขาก็แฮปปี้ที่จีนไม่ยึดฮ่องกง อย่างน้อยจีนก็มีอังกฤษเป็นประเทศโลกตะวันตกที่มีทัศนคติค่อนข้างบวกกับจีน บวกโดยเปรียบเทียบกับสหรัฐนะ เพราะสหรัฐมองจีนเป็นศัตรูไปเลยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50 ช่วงสงครามเกาหลี จีนเลยใช้การไม่บุกยึดฮ่องกงเป็นหนึ่งในวิธีการซื้อใจอังกฤษ

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอังกฤษ มีการพึ่งพาอะไรกันบ้างหรือเปล่า

มีครับ แม้ว่ายุค เหมาเจ๋อตง ทศวรรษ 50 ไปจนถึงทศวรรษ 70 จะใช้ระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง แต่แท้จริงแล้ว การพึ่งตนเองมันเป็นอุดมคติ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว จีนไม่ได้มีสินค้าและบริการที่จะผลิตเลี้ยงประชากรตัวเองได้ โดยเฉพาะหลังปี 1960 จีนก็ทะเลาะกับสหภาพโซเวียต ตรงนี้ก็ทำให้จีนไม่มีเพื่อนโลกสังคมนิยมที่จะช่วยเหลือจีนได้ ฮ่องกงจึงเป็นเหมือนประตูอีกบาน ในการนำเข้าสินค้าจากโลกทุนนิยมให้จีน บางครั้งบางพื้นที่ของจีนอดยาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะพึ่งพาจากประเทศสังคมนิยมได้ จีนก็ต้องใช้การพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากโลกทุนนิยม โดยการทำการค้าทางอ้อมจากฮ่องกง

ส่วนปัจจุบันจีนสามารถจัดการกับโลกทุนนิยมได้เลยไม่ต้องการฮ่องกงเท่าอดีตแล้ว?

ส่วนหนึ่งก็ใช่ ถูกต้อง ระดับการที่จีนพึ่งพาฮ่องกงมันไม่เหมือนช่วงแรกๆ ที่จีนต้องพึ่งฮ่องกงในเรื่องสถาบันทางการเงิน ตอนนี้จีนก็พัฒนาเมืองของตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เซี่ยงไฮ้ ก็ใช่ เขามีตัวเลือกอื่นๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับโลกทุนนิยมโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาฮ่องกงเหมือนในอดีต

ภาพความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่ว่ามันเปลี่ยนตอนไหน

จริงๆ ตลอดยุคเหมา จีนแทบจะไม่ได้พูดถึงฮ่องกงและไต้หวันเลย อาจจะพูดบ้างว่าวันหนึ่ง ฮ่องกงและไต้หวันอาจจะกลับมาเป็นของเรา แต่ก็ไม่ได้มีการตั้งไทม์ไลน์หรือเร่งเร้าอังกฤษว่าเมื่อไหร่ต้องคืนฮ่องกงให้กับจีน มันเริ่มมีความสำคัญเมื่อมีการปฏิรูปเศรษฐกิจของ เติ้งเสี่ยวผิง ทำไมเติ้งเสี่ยวผิงต้องเอาเรื่องฮ่องกงมาใช้ เพราะสัญญาเช่ามัน 99 ปี ปี 1997 ก็ต้องเจรจาขอคืน เป็นช่วงสำคัญที่เติ้งเสี่ยวผิงต้องยืนกรานว่าจะไม่มีการต่อสัญญาอีกต่อไป

เพราะเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ด้านความชอบธรรมอยู่ บั้นปลายของยุคเหมาเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม พรรคกำลังสูญเสียศรัทธาจากประชาชนอย่างรุนแรง มีเรื่องอื้อฉาวในพรรคด้วย เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาพร้อมกับโจทย์ใหญ่ว่าจะทำยังไงให้ทวงคืนความชอบธรรมในสายตาประชาชนได้ การตั้งวาระการทวงคืนแผ่นดินที่เคยเสียไป เพื่อให้เห็นภาพการรักษาผลประโยชน์ของชาติจีน อะไรที่สูญเสียไปเราเอากลับมา เพราะฉะนั้น เติ้งเสี่ยวผิงถึงยืนยันกับรัฐบาลอังกฤษ ว่าจะไม่ต่อสัญญา

ณ ตอนนั้น เป็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่าความชอบธรรมทางเศรษฐกิจ

ทำไมฝั่งเจ้าอาณานิคมยอมปล่อยฮ่องกงไปง่ายๆ

มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher-อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) เองก็มีความพยายามที่จะบอกจีน ว่าฮ่องกงมีลักษณะและรูปแบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากจีนเยอะมาก การไปผนวกรวมกับจีนอาจจะมีปัญหา สู้ให้อังกฤษเช่าดินแดนต่ออาจจะเป็นประโยชน์กว่า แต่พอจีนมีท่าทีแข็งกร้าวแบบนั้น แธตเชอร์ก็มองว่าไม่คุ้มที่จะดื้อแพ่ง

แม้นิสัยแธตเชอร์จะแข็งและเคยเปิดฉากสู้รบกับอาร์เจนตินา ในคราวสงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ (Falkland War) แต่คราวนี้แธตเชอร์มองว่าไม่คุ้ม และสงครามก็เป็นคนละสเกลกัน อังกฤษจึงมองว่าไม่ควรมาเสี่ยง ในแง่ที่จีนมีกองทัพบกเป็นล้านๆ

หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็ไม่มีใครอยากจะสู้รบกับจีน ในเชิงกองทัพแม้เทคโนโลยีทางการทหารของจีนจะพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังห่างชั้นกับสหรัฐ ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ที่ต้องทำสงครามกันจริงๆ ถามว่าใครพอจะต่อกรกับจีนได้ ก็คงมีแค่สหรัฐ เพียงแต่ออพชั่นการทำสงครามเดี๋ยวนี้มันไม่มีใครเลือกทำกันแล้ว

ฟากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันเป็นอย่างไร และจีนบริหารอำนาจของตนอย่างไรกับไต้หวัน

ก่อนอื่นเราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราชโดยพฤตินัย ไม่ได้มีข้าราชการจีนไปปกครองแม้แต่คนเดียว มีเงินตราเป็นของตัวเอง เป้าหมายของจีนต้องการให้ไต้หวันกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน งั้นถามว่าเขาจะมีวิธีอย่างไรในการบรรลุเป้าหมายนี้ ข้อหนึ่งคือรัฐบาลจีนพยายามจะผูกมิตรกับกลุ่มทุนใหญ่ในไต้หวัน เพราะทุนไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนเยอะ

ข้อสอง จีนพยายามจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากการเมืองภายในของไต้หวันค่อนข้างเยอะ การเมืองภายในของไต้หวันจะมีอยู่สองพรรคใหญ่ คือ พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นศัตรูกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่หนีการปกครองมาตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน และอีกพรรคก็คือ The Democratic Progressive Party (DPP) หรือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเป็นพรรคที่มีหลักการในเรื่องของเอกราชของชาติอย่างชัดเจน ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคก๊กมินตั๋งที่ไม่พูดเต็มปากว่าจะไม่กลับไปรวมกับจีน แต่ยังรู้สึกผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ สิ่งที่จีนพยายามทำตลอดมาก็คือ พยายามจะผูกมิตรกับก๊กมินตั๋งเพื่อคานอำนาจกับประชาธิปไตยก้าวหน้า

ส่วนหลักของพรรคก๊กมินตั๋งจริงๆ คือ status quo (ปล่อยไว้เฉยๆ) เพราะไต้หวันเป็นประเทศที่มีเอกราชโดยพฤตินัยอยู่แล้ว ก็อยู่สุขสบายดีแล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องประกาศเอกภาพ ขณะเดียวกัน ชื่อประเทศก็คือ สาธารณรัฐจีน อย่างน้อยคงชื่อเอาไว้ แม้จะตั้งอยู่บนเกาะไต้หวันก็รักษาชื่อไว้ เป็นการบอกกับจีนกลายๆ ว่า เราไม่ได้ต้องการจะแยกนะ แค่คนละรัฐบาลเอง

ต่างจากประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่เป็นรัฐบาลปัจจุบัน ค่อนข้างวางอัตลักษณ์ในการเชิดชูความเป็นไต้หวันอย่างชัดเจน ความนิยมของพรรคก็ค่อนข้างสูสีกัน เพราะปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาธิปไตยก้าวหน้าเขาก็พยายามรักษาฐานเสียงคนรุ่นใหม่เอาไว้

ลองสังเกตดู คนรุ่นใหม่ของไต้หวันคือคนรุ่นที่ไม่มีความทรงจำร่วมกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว และเป็นรุ่นที่เรียกตัวเองว่า Taiwanese ขณะที่รุ่นเก่าๆ อาจจะมีบ้างว่าอพยพมาพร้อมกับ เจียงไคเช็ค มาอยู่ไต้หวัน

จะเห็นว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าพยายามจะเอาใจคนรุ่นใหม่ สนับสนุนเต็มที่ทั้งเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ด้านหนึ่งมันโอเคว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพ ไม่ว่าคนจะมีเพศวิถี เพศสภาพอย่างไร แต่อีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็น ความพยายามในการขยายฐานเสียงของพรรคนี้ เพื่อจะชนะใจคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่เขารู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองเป็น Taiwanese แม้จะมีเชื้อสายจีนก็ตาม คนไต้หวันส่วนมากไม่ใช่คนที่อพยพมาพร้อมกับเจียงไคเช็คนะ มีพวกที่อพยพมาประมาณ 2 ล้านกว่าคนเอง ที่เหลือ 10 ล้านกว่าคนเขาเชื้อสายจีนก็จริง แต่ว่าเป็นคนที่อยู่เกาะไต้หวันมานานแล้ว อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งคนไต้หวันจำนวนมากมองชีวิตตนเองในยุคอาณานิคมญี่ปุุ่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนหน้าปี 1895 ที่ไต้หวันยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน คนที่อยู่เกาะไต้หวันก็มองว่า ข้าราชการที่ถูกส่งมาปกครองไต้หวันเป็นพวกเกรดต่ำสุด ผลงานไม่ดีก็ถูกส่งมาอยู่เกาะอันห่างไกลอย่างไต้หวัน

แต่พอเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น สภาพเศรษฐกิจ ระบบราง โครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือน การเป็นอยู่ ดีขึ้นหมดเลย ชาวไต้หวันก็มองว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ปรับปรุงความเจริญ ระบบการศึกษาอันดับหนึ่งอย่าง National Taiwan University (NTU) มันก็คือ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลของญี่ปุ่นนั่นแหละ

คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีสำนึกของความเป็นชาติ มักจะโดนกล่าวหาว่า ‘ชังชาติ’ ด้วยหรือเปล่า

ไต้หวันกับฮ่องกงค่อนข้างต่างกัน ด้านไต้หวันเขามีสำนึกอยู่ว่าเป็นประเทศที่แยกออกมาจากจีน และอยากจะเป็น Taiwanese ดินแดนแม่ก็คือไต้หวัน แต่ฮ่องกงไม่ได้เอาตัวเองไปผูกติดกับชาติใดชาติหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้อยากจะแยกตัวเองเป็นเอกราช แม้ในการประท้วงครั้งนี้จะมีการทำลายสัญลักษณ์ธงชาติจีน แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นเรื่องเอกราช

คนฮ่องกงอาจจะมีส่วนคล้ายกับ cosmopolitan ที่ตั้งคำถามว่าทำไมชาติถึงเป็นสาระของชีวิต และทำไมเราต้องเอาตัวเองไปผูกไว้กับชาติ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นเทรนด์ของคนยุคหลังที่เกิดมาในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ที่กระจายไปทั่วโลก ทั้งข้อมูล การเดินทาง เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะฮ่องกงนะ บ้านเราก็ด้วย

มุมมองของอาจารย์ คิดว่าผู้ชุมนุมจะอยู่อีกนานไหม

มันตอบยาก แต่ถ้ามองจากยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีน เขาคงให้ผู้ว่าฮ่องกง แคร์รี หลั่ม เป็นคนจัดการหลัก โดยที่ไม่คิดว่าผู้นำระดับสูงในปักกิ่งจะลงมาจัดการด้วยตนเอง เพราะว่าเรื่องนี้มันเสี่ยงเกินไป หากเกิดความผิดพลาดมันจะกระทบภาพลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด

ถ้าจะให้เปิดช่องเจรจา แคร์รี หลั่ม ก็จะเป็นผู้ดำเนินการไป แต่ฝ่ายผู้ประท้วงอย่าง โจชัว หว่อง บอกว่าต้องการเปิดการเจรจากับ สีจิ้นผิง โดยตรง ความต้องการของสองฝ่ายก็ไม่มาเจอกันแล้ว การเจรจาที่สำเร็จก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน การประท้วงก็จะยังคงอยู่ต่อไป

ถ้าไม่ใช้กำลัง จีนก็อาจจะปล่อยให้ฮ่องกงเป็นดินแดนแห่งการประท้วง ค้าขายไม่ดี เศรษฐกิจย่ำแย่ ถามว่าทำแบบนี้ได้ไหม-ทำได้ แต่จีนจะไม่ทำแบบนั้น เพราะถ้าจีนปล่อยให้ฮ่องกงเป็นแบบนั้นเรื่อยๆ จนการประท้วงเป็นปรากฏการณ์ประจำวัน ไปฮ่องกงก็เจอประท้วงง่ายๆ ตามข้างถนน ถ้าเป็นแบบนั้น ผู้นำอย่างสีจิ้นผิง ก็จะถูกมองว่าไม่สามารถรักษาความสงบให้กับแผ่นดินจีนได้ แม้ว่าจริงๆ จะเป็นแผ่นดินฮ่องกงก็ตาม เพราะทั้งหมดมันอยู่ใต้ร่มธงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็จะสะท้อนภาพผู้นำที่ไม่เข้มแข็งออกมา

ส่วนตัวมองว่า การประท้วงในช่วงเดือนสิงหา-กันยา จีนก็น่าจะใช้วิธีการอดทนไปก่อน ถ้าไม่มีเหตุอะไรก็ไม่ต้องตอบโต้มาก เรื่องภาพลักษณ์มันสำคัญมากนะ เพราะใกล้จะถึงช่วงพาเหรดวันชาติของจีนแล้ว 70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงนี้ก็คงงดที่จะใช้ความรุนแรง ช่วงนี้ก็จะยังไม่ค่อยอันตรายเท่าไหร่

แต่ถ้าพ้นวันชาติไปแล้วก็อาจจะต้องระวังมากขึ้น ผมไม่อยากจะคิดว่าจีนต้องฟังเสียงประชาคมโลก เพราะลึกๆ แล้ว จีนก็จะเชื่อว่า ตัวเองจะโดนด่าอยู่พักเดียวเท่านั้นแหละ แล้วทุกๆ ประเทศก็จะต้องกลับมาพิจารณาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ความเป็นจริง ว่าจะหันหลังให้จีนเพราะเรื่องฮ่องกงเท่านั้นหรือ สหรัฐจะหันหลังให้จีนด้วยเหตุฮ่องกงเท่านั้นหรือ สหรัฐกับจีนไม่มีผลประโยชน์ด้านอื่นที่จะต้องร่วมมือ ต้องเจรจากันแล้วหรือ อย่างนี้เป็นต้น

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า