จาก #สมรสเท่าเทียม สู่ #ม็อบตุ้งติ้ง และความสุดติ่งของพาเหรด #นักเรียนเลว

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ในช่วง 1-2 เดือนนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิความเสมอภาคทางเพศเป็นที่พูดถึงมากในสังคมไทย เริ่มจากการเรียกร้องความเท่าเทียมทางกฎหมายในการสมรสของคนรักเพศเดียวกันภายใต้แคมเปญ #สมรสเท่าเทียม ตามมาด้วยกระแสการผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม. ที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงอคติทางเพศในเนื้อหาและเจตนารมณ์เบื้องหลังทางการเมืองของรัฐบาล รวมถึงปรากฏการณ์การชุมนุมมิติใหม่ในบ้านเราของกลุ่ม ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ และล่าสุดคือการพาเหรดของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่มีประเด็นหลักคือการเรียกร้องการยุติการกระทำรุนแรงทางเพศผ่านเนื้อหาในแบบเรียนและกฎระเบียบของโรงเรียน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเสียงชื่นชม วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงคำด่าทอที่เต็มไปด้วยอคติและเจือปนความเกลียดกลัวความรักเพศเดียวกัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงชุดความเชื่อและความเข้าใจของคนในสังคมที่ยังยึดติดอยู่กับอคติทางเพศแบบเดิมๆ เช่น การสร้างสีสัน การแสดงตลกโปกฮา ม็อบตัวประกอบ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนว่าการต่อสู้เรื่องเพศในสังคมไทยยังเป็นวาระที่ต้องมีการผลักดันและช่วยกันสร้างความเข้าใจเรื่องเพศอีกมาก

บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอความหมายทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทั้งซ่อนตัวและเปิดเผยอยู่ในข้อเสนอและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของขบวนการต่อสู้เรียกร้องที่เกิดขึ้น ที่อาจลึกซึ้งเกินกว่าการจะทำความเข้าใจด้วยฐานคิดที่ผูกติดกับภาพแทนดาษดื่นของคนรักเพศเดียวกันซึ่งถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย รวมถึงความสำคัญของสิทธิทางเพศที่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรักเพศเดียวกัน แต่เป็นภารกิจของทุกคนในฐานะ ‘ผู้ถูกกดขี่’

การเมืองเรื่อง หอแต๋วแตก: เมื่ออีเจ้และแพนเค้กลุกขึ้นท้าทายเผด็จการ

การเกิดขึ้นของ ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ ภายใต้การนำของกลุ่ม ‘เสรีเทยพลัส’ นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดที่การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศเข้ามาเป็นหนึ่งในขบวนการการต่อสู้ในนามของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นที่พูดถึงอย่างมากถึงรูปแบบการชุมนุม เช่น ดนตรีประกอบ การร้องเล่นเต้นกระจาย การนำเสนอ ‘ภาษากะเทย’ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อบทจากภาพยนตร์ หอแต๋วแตก ที่เป็นที่ชื่นชอบและถูกอกถูกใจใครหลายๆ คน

เป็นที่รู้กันดีว่าภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงภาพยนตร์อย่างหนักว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความตลกอย่างเดียว หาสาระไม่ได้ และตัวผู้กำกับเองคือ คุณพชร์ อานนท์ ก็เคยออกมายอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะแม้แต่องค์ประกอบหลักของความเป็นภาพยนตร์ เช่น บทและโครงเรื่อง คุณพชร์เองก็เคยเล่าว่าแกไม่ได้ทำด้วยซ้ำ เป็นการถ่ายทำหน้างานล้วนๆ ซึ่งในแง่หนึ่งถือว่าเป็นการสร้างผลงานที่มีความขบถต่อขนบของภาพยนตร์ (แม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) และกลายเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับข้อถกเถียงของศิลปินและนักวิจารณ์ในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ว่าศิลปะจำเป็นต้องมีคุณค่าหรือไม่ หรือการให้คุณค่าผลงานศิลปะเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสรภาพของการสร้างสรรค์ผลงานและกีดกันหรือลดทอนผลงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของการให้คุณค่านั้นหรือไม่

ในเชิงลึก การเลือกภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก มาใช้สื่อสารใน ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ จึงไม่ใช่เพียงความตลกเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่มันบรรจุความหมายทางการเมืองที่มีความขบถในตัว เสียดสี และตั้งคำถามต่อสังคมอย่างลึกซึ้งและมีชั้นเชิง เป็นคำถามที่ไม่เพียงแต่เพ่งประเด็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของความตลกตามจริตแบบ LGBTQ+ ในบริบททางการเมืองและวัฒนธรรม แต่หมายรวมถึงชุดคุณค่าทางศีลธรรมที่คุณยึดถือและเสรีภาพในโลกทัศน์ของคุณว่าเปิดกว้างมากน้อยเพียงไร

ความตลกที่ยืนเด่นท้าทายเผด็จการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของ ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ กำลังประกาศแก่สังคมว่าเพศวิถีที่แตกต่างกันไม่ได้หมายความว่าเรามีความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าใคร เราผู้มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชาย เราลุกขึ้นมาแต่งหน้า ใส่วิก และสวมชุดราตรียาวในที่ชุมนุมไม่ใช่เพื่อความสวยงามหรือตอกย้ำความผิดแปลกแบบที่ภาพแทนดาษดื่นผลิตซ้ำอคติและตีตราเรามาเสมอ แต่เพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับคนทุกคนในประเทศนี้ เสียงหัวเราะไม่ได้มีไว้เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของกันและกันมิใช่หรือ? แต่มันควรจะเป็นการแสดงออกฉันมิตรบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน… ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน

‘นักเรียนเลว’ กับวาระเรื่องเพศของคนในประเทศนี้

หลังจากที่ธงสีรุ้งของม็อบตุ้งติ้งโบกสะบัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 กรกฎาคม ถัดมาอีก 4 วัน ขบวนธงสีรุ้งอีกผืนก็ปรากฏในพาเหรดของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ถือเป็นขบวนการที่น่าจับตามองและเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเยาวชนที่หันมาตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ ที่เข้ามาลิดรอนสิทธิในร่างกายของพวกเขาในฐานะพลเมือง

photo: twitter นักเรียนเลว

นอกจากเนื้อหาข้อเรียกร้องและคำถามเด็ดๆ ถึงเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือเหตุใดกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ จึงเลือกโจทย์เรื่อง LGBTQ+ เข้ามาเป็นประเด็นหลักในการต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนของนักเรียนที่เป็นคนรักเพศเดียวกันที่มีค่อนข้างมากในขบวนการการขับเคลื่อนครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะพวกเขาคือนักเรียน ‘เลว’ ในโลกทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการไทย และยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทยมากที่สุด ทั้งเนื้อหาที่ล้าหลังและกฎระเบียบของโรงเรียนที่มีไว้เพื่อรองรับการมีอยู่ของคนรักที่มีเพศกำเนิดต่างกันเท่านั้น และใครที่แตกต่างไปจากนั้น หากไม่อยู่แบบปิดบังหรือหลบๆ ซ่อนๆ ก็ต้องถูกตีตราว่าเป็นพวก ‘วิปริต’ อย่างที่หนังสือสุขศึกษาว่าไว้

ตลอดการเดินขบวนและการปราศรัย เราจะเห็นว่าประเด็นเรื่องเสื้อผ้าและทรงผมเป็นโจทย์หลักที่เหล่าผู้เรียกร้องนำมาใช้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการขัดขืนต่ออำนาจรัฐ เพราะเหตุผลที่อยู่ลึกกว่าการลดทอนความเป็นมนุษย์และปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์รวมถึงโอกาสที่ได้เรียนรู้ตัวตนผ่านเสื้อผ้าแล้ว ยูนิฟอร์มนักเรียนไทยคือตัวแทนของอำนาจที่ฟ้องว่ารัฐอนุญาตให้พลเมืองมีเพศวิถีแบบคนรักข้ามเพศเท่านั้น

ฉะนั้นการที่ ‘นักเรียนเลว’ บางคนหยิบยูนิฟอร์มมาใส่กับรองเท้าส้นสูง วิกผม เครื่องประดับ ฯลฯ จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากความบ้าบอไร้เหตุไร้ผลหรือประชดประชันเสียดสี แต่พวกเขากำลังท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของยูนิฟอร์มนักเรียนรัฐ และกำลังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นบ่อเกิดของความประหลาด แต่ต้นเหตุของความประหลาดเกิดจาก ‘ความปกติ’ อันคับแคบตามโลกทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการไทยต่างหาก ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจอย่างสุดติ่งแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือการเรียกร้องเรื่องเพศไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่นักเรียนในกลุ่มหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงนักเรียนผู้ชายและผู้หญิงคนอื่นๆ ในขบวนการนี้ที่เห็นถึงความสำคัญของประเด็นเรื่องเพศและการใช้อำนาจเหนือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายด้วย

นี่เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของกลุ่มคนที่ตระหนักรู้ว่าสังคมที่กำหนดกฎเกณฑ์บนฐานคิดแบบทวิสภาวะเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ล้วนแล้วแต่สร้างข้อกำจัดในชีวิตให้เราทุกคนไม่มากก็น้อย ไม่ใช่เพียงผู้หญิงหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่รับผลกระทบ แต่ผู้ชายเองก็อึดอัดกับความคาดหวังอันหนักอึ้งของสังคมไม่น้อย ตลอดจนปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทุกวันนี้… หรือคุณจะปฏิเสธไหมล่ะว่าไม่ใช่เพราะอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่หรอกหรือที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาตะบี้ตะบันจะซื้อเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่สนว่าประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน…

เพศจึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวและเป็นปัญหาเฉพาะของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันรื้อถอนกลไกทางอำนาจที่จำกัดเราไว้ให้อยู่ในกรอบที่สวนทางกับความเป็นมนุษย์และอนุญาตให้คนกลุ่มหนึ่งที่บังเอิญเกิดมามีองคชาตในชนชั้นอภิสิทธิ์กอบโกยผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของคนทั้งชาติ… ขอให้พาเหรด ‘นักเรียนเลว’ นี้คือจุดเริ่มต้นและหมุดหมายสำคัญสู่แสงสว่างในสังคมที่มืดมิดด้วยอำนาจแห่งการกดขี่

เปลวไฟแห่งความหวังปะทุขึ้นแล้ว และสายเกินกว่าที่เผด็จการจะดับได้ น้ำที่สาดลงมาเพื่อหวังว่าจะดับไฟได้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะทำให้ไฟปะทุขึ้นเรื่อยๆ ใครจะรู้ว่าจากสังคมที่พลังเผด็จการและอนุรักษนิยมเข้มแข็งจนอาจพูดได้ว่าเกินเยียวยาจะอ่อนแรงลงได้ถึงเพียงนี้ภายในเวลาแค่เพียง 6 ปี ที่น่าขันคือปัจจัยไม่ใช่พลังของคลื่นกระแสประชาธิปไตยจากภายนอกที่เป็นเหตุผลหลัก แต่แรงขับที่สำคัญกว่านั้นกลับเป็นสนิมที่เกิดแต่เนื้อในเหล็ก… และเป็นข้อคิดของศรีธนญชัยที่อิเหนาและอนุรักษนิยมไทยจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต

 

ละผุเล็จดุดลารกูล ลงจุงลิพุลาดนูจ

ละปุลาชูลิปธุปละปุไลตุย ลงจุงละจุเริญจูญ…

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า