ธนาภรณ์ พรหมภัทร์: “หนูไม่ใช่แกนนำ แต่คือคนธรรมดา ที่ทวงถามถึงความฝันธรรมดา”

พอหรือยังที่เราต้องเห็นความเส็งเคร็งของประเทศนี้ ประเทศที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่มองไปโครงสร้างคล้ายกับเป็นระบบศักดินา…ระบบศักดินาที่มองเห็นประชาชนอย่างเราๆ เป็นช้าง ม้า วัว ควาย ที่เอาไว้ใช้แรงงานและเสริมสร้างความมั่งคั่งให้แค่นั้น…

ส่วนหนึ่งของถ้อยคำปราศรัย ณ ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย ขิม-ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ นักเรียน ม.6 แห่งโรงเรียนสาธิตมหาสารคาม

หลังจากเกิดปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งโหมให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศนัดชุมนุมจัดแฟลชม็อบเพื่อต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อในช่วงต้นปี 2563 และมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นหนึ่งในนั้น

บนเวทีแฟลชม็อบ ขิมยกประเด็นการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ รัฐสวัสดิการ และระบบศักดินา การเปรียบคนเป็นช้าง ม้า วัว ควายขึ้นพูดบนเวที เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนประกอบสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในประเทศ

และเหตุผลที่ทำให้เด็กวัย 17 ตัดสินใจออกมา

ขิมไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าการแสดงออกซึ่งเสียงของคนธรรมดาที่มีความฝันและอยากเห็นอนาคตที่ดีขึ้น

ก่อนถึงเวทีไฮด์ปาร์ค อะไรคือจุดเริ่มต้นความสนใจด้านการเมือง

เราเป็นคนกาฬสินธุ์ ตอนประถมเป็นเด็กทั่วไป เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ไปเรียนตามปกติ พอถึงเวลาเลิกเรียนช่วงบ่ายสามต้องรีบกลับบ้าน แต่พอขึ้นมัธยมต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียนประจำที่สารคาม ต้องนอนหอ เริ่มไม่ได้กลับบ้านแล้ว ชีวิตแต่ละวันก็ไม่มีอะไร คบเพื่อน กินข้าว ทำทุกอย่างเหมือนเด็กปกติ แต่พอขึ้น ม.ปลาย เราเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่าสังคมการเมืองเป็นเรื่องที่เซ็กซี่ มีโอกาสลองหยิบหนังสือเกี่ยวกับการเมืองมาอ่านบ้าง พออ่านแล้วทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น มันทำให้เรารู้ว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของเราเกี่ยวโยงกับสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ชีวิตมีตัวแปรมากมายเหลือเกิน

วันที่ขึ้นไปไฮด์ปาร์คเราจึงพูดเรื่องระบบศักดินาและเรื่องรัฐสวัสดิการ เราสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะมันคือส่วนประกอบที่จะทำให้เราได้สังคมที่เรากำลังฝันอยู่ มันคงจะดีนะ ถ้าเราจะได้เรียนฟรี มันคงจะดีจังนะถ้าต่างจังหวัดจะมีรถไฟฟ้า ต้องยอมรับว่าตอนนั้นขึ้นไปพูดด้วยอารมณ์ด้วยความโกรธ เราไม่ได้หวังอะไร เราพูดในสิ่งที่อยากพูด ตามหัวข้อและประเด็นที่เราสังเคราะห์ได้และเชื่อว่านี่เป็นประเด็นที่คนน่าจะอินและเข้าใจปัญหา

หนังสือเล่มไหนที่ ‘เบิกเนตร’ คุณ

ไม่เชิงว่าเบิกเนตรทำให้ตาสว่างเห็นทุกอย่าง แต่ชวนกระตุกมากกว่า

หนังสือเล่มแรกที่เริ่มอ่านคือ History of Thailand หนังสือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของ คริส เบเกอร์ อ่านง่าย ใช้ภาษาที่ไม่ได้ยากเกินไป อ่านแล้วรู้สึกว่ามันแชร์มุมมองที่เราไม่เคยได้เรียนในห้องเรียน ทำให้เราเริ่มขบคิดว่าสังคมที่เราอยู่ตอนนี้คืออะไร มันดูบิดเบี้ยวไปทุกมิติ ในวันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาเจอข่าวผู้พิพากษายิงตัวตาย เจอข่าวป้าตบเด็ก เจอข่าวเด็กจะกระโดดคลองฆ่าตัวตาย ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยู่ที่ไหน ทำไมมันถึงได้บิดเบี้ยวไปทุกมิติขนาดนี้ แล้วถ้าอยากทำให้มันดีขึ้น จะต้องทำยังไง

นอกจากพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ ตอนไฮด์ปาร์คคุณพูดเรื่องระบบศักดินาด้วย ทำไมวันนั้นจึงเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน

มันเกี่ยวกับเรื่องรัฐสวัสดิการทั้งหมด เพราะว่ารัฐที่มีสวัสดิการคือรัฐที่มองเห็นคนว่าเป็นคน ไม่ได้มองคนเป็นเครื่องจักร ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเป็นทรัพย์สินของเขา ปัจจุบันคนถูกมองเหมือนเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้ระบบศักดินามั่นคงสถาพร

คนรุ่นคุณมองเห็นอะไร จึงเกิดความสนใจด้านการเมืองขึ้นมา

ส่วนตัวขิมเป็นคนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากๆ เพราะเรารู้สึกว่ามูฟเมนต์ของเยาวชนในทุกวันนี้มาพร้อมกับวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้ใหญ่อาจจะไม่เคยเห็นวัฒนธรรมนี้อย่างชัดเจนมาก่อน

วัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นในยุคนี้มันใกล้มือมาก มันโตขึ้นพร้อมโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น ไม่เห็นในห้องเรียน ไม่อยู่ในเรื่องที่ครูสอน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ ขึ้นมา และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ บวกกับในโรงเรียนมีชมรมที่เปิดพื้นที่ให้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องประเด็นสังคมด้วย เพื่อนๆ ในชมรมสามารถหยิบเรื่องต่างๆ ตามที่สนใจขึ้นมาถกเถียงกันแบบไม่มีถูกผิด เราจึงชอบวัฒนธรรมนี้มาก

แต่เป็นเรื่องแปลกที่ในประเทศไทยมองการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามักจะได้ยินเด็กประถมหรือมัธยม ตั้งคำถามกับครูอยู่เสมอว่า ‘คุณครู ต้องขีดเส้นกั้นหน้าไหม’ ‘ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้หรือเปล่า’ ฟังแล้วมันก็ตลกเนอะ การศึกษาไทยไปผูกอยู่กับอะไรเล็กๆ น้อยๆ ทำไมถึงต้องให้คนมากำหนดชีวิตเราขนาดนั้น บางคนขีดเส้นผิด ครูลงโทษ ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจเองและถึงเราจะตัดสินใจเองว่าเราขีดเส้นใต้ตรงไหน คุณก็ไม่มีสิทธิมาด่า คือวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งในห้องเรียนยิ่งยาก

แต่พอมีโซเชียลมีเดียทำให้มันใกล้มือเราได้มากขึ้น เราแค่พิมพ์ แล้วก็กดทวิตออกไปจะมีคนพร้อมเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเรามากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นสิ่งที่ขิมชอบที่จะมองเห็น และขิมชอบที่จะเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

คุณมองว่าทักษะการแลกเปลี่ยน การรับฟังคนอื่น มันจะสร้างคาแรคเตอร์สำคัญอย่างไรให้กับคนในชมรม

มันสำคัญในทุกมิติในการเกิดมาเป็นมนุษย์เลย เพราะว่าการรับฟังคนอื่นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เราต้องใช้ทั้งความอดทนอดกลั้น เราต้องใจกว้าง ซึ่งมันจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคมความวุ่นวาย อย่างน้อยก็ช่วยฝึกให้มีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย หรือกับคนที่อาจจะสนับสนุนหรืออาจจะไม่สนับสนุนก็ตาม แต่เราต้องรับฟังกัน

รู้สึกอย่างไรกับคำว่า ‘สลิ่ม’ ได้ยินแล้วหัวร้อนไหม

มันรู้สึกว่าทำไมเราเยียวยาเขาไม่ได้มากกว่า มันหงุดหงิดนะ มันอยากรู้ไปซะหมดว่าเขาเกิดมาในกรอบคิดแบบไหน เกิดมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน เขาเรียนรู้เรื่องอะไร เขาอ่านหนังสือเล่มไหน มีชีวิตแบบไหน ทำไมเขาถึงมีกรอบคิดแบบนี้ แล้วจะทำอย่างไรเราถึงจะสามารถป้อนข้อมูลข่าวสารของเราไปใส่ในกรอบของเขาได้ เราก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน

ในฐานะนักเรียน คุณมองว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับการเมืองยังไง

เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงเลย เราเป็นคนกาฬสินธุ์ที่ย้ายมาเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสารคาม ตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไรก็แค่อ่านหนังสือแล้วสอบให้ติด แต่พอเริ่มสนใจการเมืองทำให้เห็นความเชื่อมโยงและเริ่มตั้งคำถาม ‘เชี่ย ทำไมวะ ทำไมต้องดิ้นรนมาเรียนที่นี่วะ, เรียนที่นี่มันต่างจากที่อื่นยังไงวะ’

โอเค มันต่างตรงคุณภาพชีวิตกับคุณภาพทางการศึกษา คำถามต่อมาแล้วทำไมโรงเรียนถึงไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญแล้วก็จำเป็นกับทุกคน ท้ายที่สุดทุกโรงเรียนอาจจะไม่ต้องเหมือนกันมาก แต่อย่างน้อยมีเกณฑ์ หลักการ มีทรัพยากรให้คนเข้าถึงได้เหมือนกัน คุณภาพของนักเรียนที่โรงเรียนแต่ละโรงเรียนผลิตออกมาจะไม่เหลื่อมล้ำกันขนาดนี้

คุณมองเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างไรในภาคอีสานบ้านเกิดของคุณ

กาฬสินธุ์ไม่มีรถไฟ ไม่ใช่รถไฟฟ้านะ รถไฟปู๊นๆ ค่ะ หลายอย่างมันทำให้เรารู้สึกถูกผลักออกไปเป็นคนชายขอบ ทำไมล่ะ? ทั้งที่เราเสียภาษีเท่ากัน แต่เราไม่มีรถไฟ เราไม่มีศูนย์หนังสือ เราไม่มีสิ่งที่กรุงเทพฯ มี

กรุงเทพฯ เหมือนรวมทุกอย่างไว้โดยไม่ได้กระจายออกไปที่อื่น พอมันกระจุกตัวทำให้ภาพความฝันของคนอีสานคือการกระเสือกกระสนเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ และต้องเอาตัวเองเข้ามาในเมืองเพื่อหาความศิวิไลซ์ เพื่อหาเงิน ท้ายที่สุดก็ทำให้เขาต้องไกลบ้าน ถ้าใครมีลูก ลูกก็จะต้องอยู่กับตายาย มันบิดเบี้ยวอะ

การที่คนในเมืองจะ romanticize ความจนมันเป็นอะไรที่เข้าใจไม่ได้…งง คุณไปต่างจังหวัดเพียงเพื่อที่จะเสพมัน คุณมองว่ามันโรแมนติกจัง ดีจังเลย เรียบง่าย เงียบสงบ ไม่วุ่นวาย แต่นี่คือคุณภาพชีวิตของเราทั้งชีวิตเลยนะ คือไม่ได้เรียบง่ายเว้ย มันมีแค่นี้! คุณเข้าใจไหม คือมันจน ทุกเดือนเมษาฯ ในแต่ละปีเราต้องเตรียมใจเจอกับปัญหาน้ำขุ่น เตรียมใจรอปัญหาฝุ่น เฮ้ย มันใช่เหรอ

การสนับสนุนให้เป็นคน ได้สูดอากาศที่ดี มีน้ำที่สะอาด ยังทำให้เราไม่ได้เลย มันเกิดความน้อยใจนะ เราอยู่กับความรู้สึกว่าเรามีชีวิตที่ดีกว่านี้ไม่ได้เหรอ ทำไมเขาไม่ทรีตเราเหมือนเราเป็นมนุษย์ ทำไมเราเหมือนผี คือน้ำขุ่น อากาศไม่ดีจากฝุ่น หรืออะไรก็ตามแต่มันไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์คู่ควร

นอกจากประเด็นรัฐสวัสดิการ คุณมีประเด็นอื่นๆ นอกจากการเรียกร้องกระแสหลักที่สนใจอีกไหม

ขิมสนใจเรื่องเพศ อย่างที่ขิมบอกสำหรับเด็กในรุ่นเราวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นมันเติบโตพร้อมโซเชียลมีเดีย ทำให้มีการแลกเปลี่ยนหลากหลายมากขึ้น เช่น ขิมสนใจเรื่องปิตาธิปไตยในหนังโป๊กระแสหลัก เราก็หยิบมาแลกเปลี่ยนกันในชมรมหลังเลิกเรียน มันเป็นบรรยากาศที่ดีนะ แค่สร้างวัฒนธรรมและไม่ทำให้การเมืองมันดูไกลตัวเราไปกว่านี้ เราพยายามทำให้เขาเห็นทุกอย่างว่า การเมือง เพศ หนังโป๊ เสื้อผ้า ร่างกาย มันแยกออกจากการเมืองไม่ได้เลย

แล้วเรื่องการเมืองกับเด็ก โดยเฉพาะวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเกี่ยวกันอย่างไร

มนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐ มีปฏิสัมพันธ์กับระบบ มีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม คือยังไงมันก็เป็นเรื่องของการเมืองอยู่แล้ว

ทุกที่มีอำนาจไปหมด ตอนนี้พี่สัมภาษณ์ขิม พี่ก็มีอำนาจต่อขิม ขิมต้องตอบคำถามของพี่ แต่อำนาจมันก็เป็นพลวัต ถ่ายเทกันได้ ตอนนี้พี่มีอำนาจต่อขิม อีกไม่นาน ขิมก็จะมีอำนาจต่อพี่ เหมือนกับครูนักเรียนเองก็ถ่ายทอดอำนาจกัน

ม็อบหรือการเคลื่อนไหวที่ลุกลามกลายเป็นกระแสในปี 2020 ถูกขับเคลื่อนโดยเด็กเยาวชนมาตลอด อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเคลื่อนไหวในกระแสที่ตื่น ไม่ยอมทนกับสิ่งรอบตัวอีกแล้ว

มันอาจจะมาจากตามคำที่เขาตราหน้าเด็กว่าไม่มีความอดทนก็ได้นะคะ แต่เด็กสมัยนี้เขาอยู่กับคำถาม เขาถามตัวเองตลอดกับคำว่าอดทน ทำไม ทำไมเราต้องอดทน บางอย่างมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทน สำหรับขิมค่านิยมของคนไทยที่ไม่โอเคคือเรื่องของการยอม การยอมมันเป็นเรื่องที่ดีนะในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ต้องยอมหรืออดทนตลอดไป จนกระทั่งที่จะไม่เรียกร้องอะไรเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองเลย บางสิ่งที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแล้วถ้าคุณเลือกที่จะสยบยอม โดยไม่ออกมาเรียกร้องอะไรเลย ยอมให้ระบบนั้นกดทับไปเรื่อยๆ แล้วเราจะอดทนไปทำไม

เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เขารู้สึกมีความหวังแล้ว เขาไม่ทนแล้ว มีความหวังว่าเปลี่ยนได้แน่ก็เลยลุกขึ้นมาทำเลยดีกว่า

“ทำไมเด็กรุ่นนี้ดูก้าวร้าวจัง” เรามักจะได้ยินคำพูดนี้จากผู้ใหญ่บางคน คุณเห็นด้วยหรือไม่

เราก็แค่อาจจะไม่น่ารักตามที่เขานิยามไว้เฉยๆ ก็ได้ เราคิดว่าผู้ใหญ่บางคนเขาสร้างเส้นเส้นหนึ่งที่เป็นเส้นที่เรียกว่า ‘น่ารัก’ ไว้ หากมีคนใดคนหนึ่งแตกออกมา แล้วมันไม่ตรงกับเส้นนั้นที่เป็นเส้นปกติของเขา เขาก็เลยคิดว่าเราก้าวร้าวประมาณนี้ แต่เราก็อยากบอกว่า สิ่งที่ทำเราไม่ได้ต้องการเอาชนะหรืออะไร แค่เราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณโอเคแล้วเหรอ สิ่งที่เป็นอยู่มันโอเคแล้วใช่ไหม จะยอมรับกับการเป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่า ยอมมีคุณภาพชีวิตเหมือนผีแบบนี้จริงๆ เหรอ อยากจะเสียเงินเยอะๆ เพื่อส่งลูกหลานไปเรียนมันโอเคแล้วใช่ไหม มันไม่ใช่เรื่องที่รัฐต้องจัดการให้เราหรือ จริงๆ คำถามเหล่านี้เราอยากลองให้เขาไปหาคำตอบ ถ้าเขาไปหาคำตอบ เขาก็น่าจะเริ่มกระตุกคิดได้

เราไม่อยากจะบอกว่านี่คือการต่อสู้ของ generation เพราะมันเหมารวมเกินไป ม็อบมันก็มีทุกยุคทุกสมัย และคนในม็อบก็มีทุกรุ่น มีคนที่อายุหลากหลาย แต่แค่สิ่งที่มันขับเคลื่อนม็อบหรือว่าการประชาสัมพันธ์มันผ่านมาในรูปแบบของวัยรุ่น ผ่านรูปแบบของ gen Z – gen X มันก็เลยทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างรุ่น แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ถ้าคนที่ยังไม่ได้เข้าใจ ถ้าเขาอยากเข้าใจ ขิมเชื่อว่าเพื่อนๆ เราก็พร้อมเสมอที่จะอธิบายให้มองเห็นถึงปัญหา แต่ถ้าเขาไม่อยากฟัง ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดให้เขาฟัง อย่างที่บอกว่าขิมเชื่อว่าตัวเองและเพื่อนๆ ที่เป็นคนในรุ่นเดียวกัน พวกเราเชื่อในพลังแห่งวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน

โลกในฝันของคุณมีหน้าตาอย่างไร

ขิมเป็นคนชอบดอกไม้ อยากอยู่ในโลกที่มีสวนดอกไม้เยอะๆ เราอยากอยู่ในโลกที่ทุกคนมีความสุขที่ได้โดยง่ายและฟรี ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่มีความสุขโดยแลกกับเงิน เรามีเงินเพื่อแลกความสุข มันจอมปลอมและตื้นเขินจนเกินไป ภาพสังคมในฝันคือการได้มาซึ่งความสุขโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน

คุณนิยามตัวเองไว้อย่างไร

คือเราไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นใคร เราเป็นแค่คนธรรมดาที่มีความฝันที่ธรรมดา

เราอยากให้บ้านต่างจังหวัดของตัวเองมีรถไฟฟ้า เพราะว่าเราเมารถ นั่งรถนานๆ ไม่ได้ เราอยากให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีรถไฟอย่างทั่วถึง เพราะเราอยากไปเที่ยว เราแค่อยากที่จะเรียนที่ใกล้บ้าน จะได้เซฟค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าหอ

เราไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นแอคทิวิสต์ อย่าเรียกเลย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะบอกว่าขิมอยากเป็นแค่คนธรรมดาที่อยู่ในสังคมที่ดี มีสวนสาธารณะที่สามารถนั่งเล่น เราแค่อยากที่จะนอนอ่านหนังสือใต้ต้นไม้ แต่ตอนนี้หันไปทางไหนก็ไม่เจอต้นไม้ ในคลองก็มีแต่น้ำเน่า ทุกสิ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเราถึงหาความสุขให้ตัวเองได้ยากจัง ความสุขมันควรจะหาได้ง่ายกว่านี้ เพราะความฝันเราเรียบง่ายมาก

ถ้าถามว่านิยามตัวเองว่าเป็นอะไร ก็คือเป็นคนธรรมดาแค่นี้เลย

รีวิวชีวิตในวัย 17 ปี ให้ฟังหน่อยสิ เรามองตัวเองยังไงบ้าง

สำหรับการไฮด์ปาร์คครั้งนั้น ถ้าถามว่าชอบไหม เราอาจจะไม่ได้ชอบมาก เพราะมีช่วงหลังไฮด์ปาร์คที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ได้หมายถึงกลัวว่ารัฐจะทำอะไรกับเรา แต่เรารู้สึกไม่ปลอดภัยทางโซเชียลมีเดียมากกว่า แต่การไฮด์ปาร์คมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราชอบตัวเองตอนนี้มากนะ ก่อนสัมภาษณ์ทุกครั้ง เราก็จะอ่านหนังสือตลอด เพราะว่ากลัวตอบคำถามไม่ได้ ซึ่งเราชอบตัวเองเวลาอ่านหนังสือมาก เราไม่ได้ต้องการเป็นแกนนำ หรือ big name เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนอะไรมากมาย ความฝันเราเล็ก แค่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อีก 5-10 ปี คุณคิดว่าตัวเองจะเติบโตมาเป็นยังไง เราอยากเห็นตัวเองเติบโตเป็นแบบไหน

เราอยากเห็นตัวเองเติบโตเป็นแบบนี้แหละ ตอนนี้เราอยู่ในโลกของทุนนิยม คือเงินมันซื้อได้ทุกอย่าง ความสุข ความรัก เสรีภาพ มันก็ซื้อได้ทุกอย่างจริงๆ อีก 5-10 ปี เราคงต้องบาลานซ์ชีวิตให้อยู่ในโลกนี้ หาเวลาว่างให้ตัวเอง หาเพื่อนที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี หาคนรักที่ดี แล้วก็เป็นคนรักที่ดี

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า