“เมื่อลูกเราสู้ ถ้าบอกให้เขาถอยนั่นคือเรากลัว” ‘แม่ไมค์ ระยอง’ ยุพิน มะณีวงศ์

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเรียกและรู้จักแม่ของ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ภายใต้ชื่อ ‘แม่ไมค์’ น้อยคนที่จะรู้จักว่าแม่ชื่อ ยุพิน มะณีวงศ์ 

แต่แม่ก็แทนตัวเองสั้นๆ ว่าแม่กับทุกคนที่เจอ เพราะทุกคนที่ว่านั้นรู้จัก ‘ไมค์ ระยอง’ ลูกชายคนเล็กของแม่กันหมด 

ไมค์ที่เรียกแทนตัวเองว่า ‘หนู’ กับแม่ทุกคำ 

ไมค์ที่รีดผ้าเรียบกริ๊บให้แม่ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน 

ไมค์ที่ปิดแม่เป็นความลับทุกครั้งที่ไปม็อบ แต่ด้วยสัญชาตญาณ แม่จะรู้ทุกครั้ง และถ้าไมค์ปลอดภัย ดึกดื่นแค่ไหนเขาก็จะโทรกลับมาบอกว่า “แม่ หนูยังไม่ตายนะแม่” 

แต่หนูของแม่คนนี้ มีอยู่เรื่องเดียวที่ห้ามไม่ได้ 

แม่เคยพูดแล้วว่า “ถ้าลูกไม่ทำได้ไหม” 

“แม่ ใครก็อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มันเป็นอนาคตของพวกหนู แม่ปล่อยหนูไป ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แม่จงภูมิใจว่าแม่เป็นแม่นักสู้” 

“แล้วลูกจะสู้ได้เหรอ” แม่ถามเขา 

“มันก็ต้องลองแม่ ถ้าเราไม่ลองเลย นั่นหมายความว่าไม่ได้สู้” 

“ตัดสินใจแล้วนะลูก” 

“ตัดสินใจแล้วครับ”

สำหรับแม่ นี่คือจบแล้ว ไม่มีถามหรือพยายามเปลี่ยนใจ 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเกิดขึ้นจากความสงสัยสั้นๆ ว่า “แม่เลี้ยงลูกมายังไง” 

มีคนเคยถามแม่หลายครั้งแล้ว แต่ดูเหมือนเขาจะไม่สนใจคำตอบ เพราะเจตนาอาจเพียงด่าแล้วไป 

“แล้วแม่สอนลูกยังไง” เราไม่กล้าด่าและถามจริงๆ 

“อยากให้มาลองใช้ชีวิตแบบเราดู”​ คนจบ ป.6 อย่างแม่ บอกตลอดเวลาว่าตัวเองอยู่ในสังคมชั้นล่าง ตะเกียกตะกายได้ค่าแรงวันละ 300 บาท 

“คนอื่นอาจจะถามว่า วันนี้เราจะกินอะไรดี แต่คนอย่างแม่ต้องถามว่า แล้ววันนี้เราจะเอาอะไรกิน” 

เราหิวจริง อดจริง ทุกข์จริง แล้วก็มีความสุขจริงๆ … แม่เลี้ยงไมค์และพี่อีกสองคนมาอย่างนี้ 

ก่อนหน้านี้แม่ทำงานอะไร

โดยพื้นเพเลย แม่ทำเกษตร แต่พอมาหลังๆ ก็เป็นไปตามยุคสมัย รับจ้างทุกอย่างที่เป็นงานสุจริต ทำได้หมด ตั้งแต่ทำไร่ พอลูกเริ่มโตก็เปลี่ยนมาค้าขาย รับจ้าง ทุกอย่างที่เป็นงานรับจ้าง แม่ทำ ไปเก็บขยะขาย แม่ก็ทำ เพราะเราภาระเยอะ ต้องเลี้ยงลูกให้รอด 

ตอนมีลูก แม่คิดไหมว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร 

ไม่ ลูกทุกคนแม่เลี้ยงเหมือนกัน สั่งสอนแบบเรา คนบ้านๆ ไม่ลักขโมยใคร ลูกจะเติบโตเป็นยังไงก็ได้ ขอแค่ให้ลูกเป็นคนดี ทำมาหากิน อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวและคนรอบข้าง รู้จักเป็นผู้ให้ก่อนที่จะเป็นผู้รับ 

สงสัยว่าแม่เลี้ยงลูกแบบไหน ดุหรือเปล่า 

ถ้าถามว่าแม่ดุไหม ถ้าแม่เอาจริงไมค์ก็ไม่กล้ากับแม่ ปกติแล้วเราจะไม่ค่อยตี ใช้เหตุผลมากกว่า แต่ถ้าถามว่าทำไมเขาถึงจะกล้าโต้แย้งกับแม่ แม่เองก็ได้วิชาการเลี้ยงลูกมาจากพ่อแม่เราเหมือนกันว่า พ่อแม่ใช่ว่าจะถูกเสมอไป เราต้องอยู่กันด้วยเหตุผล ถ้าเราพูดไปแล้วไม่ถูกใจเขาเพราะเรากับลูกมันคนละยุค โอเค คุณมีเหตุผล คุณพูดมา เรารับฟัง แต่ถ้าเหตุผลคุณไม่เพียงพอ ก็ไม่ได้ หรือถ้าเรามีเหตุผลเพียงพอ อธิบายได้ ลูกก็ต้องรับฟังเราเหมือนกัน

ถ้าแม่ผิด แม่พร้อมที่จะขอโทษลูกนะ ไม่งั้นจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราชอบไข่เจียว ลูกก็ต้องชอบไข่เจียวเหมือนเราเหรอ ลูกอาจชอบผัดกะเพราก็ได้ มันแล้วแต่หัวคิด แต่ถ้าถามว่าตีไหม ตีบ้าง แต่ส่วนมากเราคุยกัน มีปัญหาอะไรคุยได้ทุกอย่าง ไม่ว่ามันจะร้ายแรงแค่ไหน แล้วเราช่วยกันแก้ปัญหา 

มีครั้งหนึ่งเขาทำทีวีพัง พอแม่กลับจากทำงานเขาก็พูดว่า “แม่ หนูมีอะไรจะบอกแม่ แม่จะตีไหม” แม่ถามว่า “มีอะไร พูดมา” เขาก็ย้ำว่า “แล้วแม่จะตีไหม” เราก็ว่า “ลูกต้องบอกมาก่อนว่ามันคืออะไร แม่จะตีหรือไม่ ยังไงลูกต้องบอกแม่ก่อน”

“วันนี้หนูทำโทรทัศน์พังแล้วแม่” เขาเล่นเกมแล้วมันช็อต แม่ก็บอกว่า “ช่างมัน”

“แม่ มันพังจริงๆ นะ” ไมค์เขาว่า 

“อ้าว ก็พังจริง แม่รู้แล้ว”

“แม่ไม่ตีเหรอ”

“ไม่ตี รู้ไหมทำไมแม่ไม่ตี”

“ทำไมอะแม่”

“แม่รักไมค์มากกว่าของนอกกายพวกนั้น สิ่งที่แม่มีทุกอย่างแม่ซื้อหาได้ มันพังเดี๋ยวเราก็ซื้อใหม่ แต่เราก็ต้องอดกันนะ ประหยัดกันอีกนะกว่าจะได้มาใหม่ เข้าใจใช่ไหมว่าแม่ซื้อทีวีมาไม่ใช่เพื่อตัวแม่ แต่แม่อยากให้ลูกมีเหมือนคนอื่น ตอนนี้ลูกต้องรอแล้วนะ”

แม่ก็ปล่อยให้เขารอไปสองเดือน พอไปซื้อโทรทัศน์มา ไมค์เขารีบเอาเกมไปเก็บ ไม่เล่นเลย เขารู้แล้วว่าถ้าทำพังอีกเขาจะต้องรอ เราไม่ตีเขา เพราะมันแค่ของนอกกาย ถ้าเอะอะเราจะตีๆ แล้วความรู้สึกของเขาล่ะ เขาไม่ได้ตั้งใจทำมันพัง 

แม่ไม่เคยเอาของพวกนี้มาเป็นประเด็นในการตีลูกตัวเอง ใครจะว่าแม่ไม่เหมือนชาวบ้านก็ช่าง แม่แคร์ความรู้สึกของลูกแม่มากกว่า

ทำไมแม่ถึงไม่เชื่อเรื่องตี หรือทำโทษแรงๆ 

การตีไม่ใช่การแก้ปัญหา แล้วมันจะเป็นผลต่อใจ คิดว่าแม่ไม่รักเรา บางครั้งเวลาไมค์โมโหเดือดพล่าน แม่เคยแรงใส่เขาแล้ว แต่เขาเหมือน…ยอมตายอะ แต่แค่แม่กลับลำว่า อย่างนี้นะลูก คุยกับเขาดีๆ เรื่องมันจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เขาจะปรับอารมณ์ลงทันที 

แม่พูดตลอดเวลาว่า แม่เป็นคนชั้นล่าง เป็นคนใช้แรงงาน น่าสนใจต่อว่าความเป็นคนชั้นล่าง มันเอามาสอนลูกได้ไหม 

มีส่วน เพราะคนระดับเราๆ มันอยู่กับความเป็นจริง อดจริง อิ่มจริง โดนด่าก็โดนจริง ชมก็ชมกันจริงๆ คนอย่างเราคงไม่มีใครมาเมคใส่ว่าจะต้องมาพูดปะเหลาะ จะต้องมาพูดดีกับเรา คนอย่างเราไม่มีใครเขาเกรงใจ ถ้าเขาอยากด่า เขาด่าเราเลย แล้วเราก็สามารถรู้ได้เลยว่าจิตใจคนคนนั้นเป็นยังไง 

ความยากลำบากมันทำให้เห็นวงกว้างกว่า เพราะคนที่ระดับสูงกว่าเรา เขาจะไม่ค่อยมาสัมผัสสิ่งพวกนี้ แต่คนอย่างเรา เห็นเยอะ อย่างไมค์ก็เห็นมาเยอะ โตมาเขาเลยไปทำงานเกี่ยวกับเยาวชน 

ทำไมเรากล้าการันตีลูกเรา เพราะเราเลี้ยงของเรามา เขาอยู่ใกล้ชิดเราที่สุด ถ้าลูกทำไม่ดีแล้วเราจะไปอวยว่า ‘ลูกฉันดี’ แม่ก็ไม่ใช่คนแบบนั้น ถ้าไม่ดีก็คือไม่ดี ไมค์เขาจะพูดตลอดเลยว่า “เวลามีปัญหาอะไร แม่คนอื่นเขาเข้าข้างลูก ทำไมแม่กูไม่เคยเข้าข้างกูเลย (หัวเราะ)” 

ไม่ใช่ว่าแม่เลี้ยงไมค์แล้วแม่จะรักไมค์คนเดียวนะ ถ้าผิดแม่ก็ต้องบอกว่าผิด แม่เลี้ยงไมค์มา แม่อยากให้คนอื่นรักไมค์ด้วย ถ้าสิ่งไหนไม่ดีแล้วจะให้แม่บอกว่าดี มันเป็นไปไม่ได้ลูก แล้วถ้าต่อไปไม่มีแม่ ไมค์จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนอื่นๆ ได้ยังไง

ความหิวจริง อดจริง สุขจริง ความจริงเหล่านั้นทำให้ไมค์เห็นโลกแบบไหนบ้าง 

มันทำให้รู้เลยว่า ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อดอยาก มันเป็นยังไง 

แต่ครอบครัวเราก็ไม่ถึงกับว่าอดอยาก มันพอได้กินทุกวัน แต่วันนั้นอาหารจะดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับเราว่า ถ้าวันนี้เราจะกินซะดี พรุ่งนี้เราจะไม่มีนะ เราต้องเฉลี่ยให้ลูกเราได้มีกินทุกวัน ชีวิตแม่รู้อย่างเดียวว่า พรุ่งนี้จะทำยังไงให้ลูกเราได้มีกิน แม่จะทำงานอย่างเดียว ทำแบบตัดโลกภายนอก ใครจะมาชวนแม่ไปเที่ยวปาร์ตี้ แม่ไม่ไป เพราะบางทีตี 4 ตี 5 แม่ต้องออกไปทำงานแล้ว แม่จะกลับบ้านกี่โมงกี่ยามก็ช่าง แต่ทุกวันลูกจะต้องได้กิน

พอลูกๆ เริ่มโตมา เขาก็รู้แล้วว่าลำบาก ทุกเย็นถ้าแม่ไปทำงาน พอเขาเลิกเรียนก็จะตามไปช่วยแม่ทั้งชุดนักเรียนเลย แม่ไปเก็บขยะ เขาก็ไปทั้งชุดนักเรียน บางคนก็ไปล้อเขา ‘ไอ้เด็กเก็บขยะ’ แต่ถ้าถามในความรู้สึกแม่ แม่ภูมิใจในตัวลูก เพราะลูกอยากช่วยแม่ทำมาหากิน ไม่นิ่งดูดาย พอตกเย็นเราก็เดินกลับบ้านพร้อมกัน หุงหากินด้วยกัน แล้วเราก็สั่งสอนกันไป แต่เวลากินข้าวเราจะไม่พูดนะ ต้องกินให้อิ่ม อิ่มแล้วมาคุยกัน เล่นกัน  

อะไรทำให้แม่เลือกที่จะเลี้ยงลูกแบบนี้ 

แม่บอกลูกเสมอว่า ไม่ว่าเราจะเกิดมาด้วยโชคชะตาแบบไหน ก็ต้องช่วยเหลือกันไป ตายไปทุกสิ่งก็เอาไปไม่ได้ บางคนเขาก็ว่า “อ้าว แล้วกว่าจะตายล่ะ” ​เราก็ว่า กว่าจะตาย เราก็ไม่ได้อด 

ถ้าเราแกงไว้หม้อหนึ่ง แล้วเราตักไปให้ใครสักถ้วย วันหลังเราจะได้กลับมาอยู่เรื่อยๆ แต่ขณะที่เราแกงหม้อหนึ่งแล้วเราไม่แบ่งปันใคร แล้วเรากินแกงหม้อนี้หมด เราก็จะไม่มีแล้ว เราจะไม่ได้รับน้ำใจจากใคร แม่บอกให้ลูกรู้จักการเป็นผู้ให้ อย่าเป็นแต่ผู้รับ 

บางคนบอกว่า คนชั้นล่าง หาเช้ากินค่ำ ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกหรอก สำหรับแม่ เวลาสำคัญมากไหม แล้วใช้มันยังไง 

การสอนลูก ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งอยู่กับเขาทั้งวัน อย่างแม่น่ะตอนเช้าไปทำงาน กว่าจะกลับก็เย็น ก็จะบอกลูกว่า “วันนี้รอแม่นะ ทำงานบ้านรอแม่นะ คนไหนจะกวาดบ้าน คนไหนจะหุงข้าวล้างจาน แล้วเดี๋ยวเย็นๆ แม่กลับ’” พอเรากลับบ้านมา เรากินข้าวด้วยกัน ดูทีวีกัน นั่นคือเวลานั่งคุยกัน

ทุกครั้งที่กลับถึงบ้าน แม่รู้ว่าลูกแม่ต้องได้กินข้าว แล้วแม่ก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ก่อนจะกลับบ้าน แม่จะสั่งข้าวรอเลย แม้กระทั่งเป๊ปซี่ขวดหนึ่งที่นายจ้างเขาซื้อเลี้ยง แม่ยังต้องเอาใส่กระเป๋าไว้ให้ลูก คนอื่นเขากินหมด เราเอากลับมาใส่แก้วแบ่งกัน 3 คน ถ้าเขาทะเลาะกันแม่จะบอกว่า “ถ้ารู้อย่างนี้แม่กินให้หมดคนเดียวดีกว่า” (หัวเราะ) เขาก็จะเงียบ

ว่างจริงๆ แม่ชอบทำอะไร 

ลูกทุกคนจะรู้เลยว่า แม่ชอบอ่านหนังสือที่สุดแล้ว

แม่ชอบอ่านหนังสืออะไร

ทุกหนังสือ แม่อ่านได้หมด ถ้าไม่มีอ่าน หนังสือเรียนหลานแม่ยังเอามานอนดูเลย จนตอนนี้ตาแม่เริ่มไม่ดี เมื่อก่อนเราไม่มีไฟฟ้า ใช้ตะเกียงแก๊สเอา แต่ถ้าจุดมากๆ มันจะอันตรายต่อลูก บางทีแม่ใช้เทียนเลย ตี 2 ตี 3 แม่ก็ยังนอนอ่าน 

ชีวิตแม่โตมากับหนังสือ ได้สาระบ้าง ไม่ได้สาระบ้าง แต่ชอบ บางครั้งแค่หนังสือพิมพ์แผ่นเดียว ถ้าแม่เก็บได้ก็เอามานั่งอ่าน 

แม่ได้อะไรจากการอ่านหนังสือบ้าง

แม่ว่าได้พอสมควรเลยนะ หลายๆ อย่าง ถ้าอ่านให้มันได้ความรู้ มันก็ได้ ไมค์เขาจะรู้ เวลาไปไหนไกลๆ เขาก็จะถามว่า “แม่ แม่เอาของฝากอะไรไหม หนูอยู่จังหวัดนี้นะ” “แม่ไม่เอา ให้ลูกปลอดภัยกลับมาแค่นั้น” แต่ถ้าเขาซื้อมา เขาจะซื้อหนังสือมัดหนังยางมา โอ้โห นั่นคือที่สุดเลย 

ความสนใจของไมค์ในเรื่องการมีส่วนร่วม อยากเห็นสังคมดีขึ้น เริ่มจากตอนไหน

ไมค์ซึมซับมาเรื่อยๆ แต่เขาจะไม่ออกสื่อ จะไปตามชุมชนทั่วไปที่ชาวบ้านเขาเดือดร้อน เมื่อก่อนไมค์จะทำงานอยู่พัฒนาสังคม 3 ปี เลยได้เห็นอะไรเยอะ ถ้าถามว่ามันเป็นหน้าที่ของไมค์ไหมที่เขาจะต้องออกไปช่วยตรงนั้นตรงนี้ด้วยตัวเองไหม มันไม่ใช่ แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่แจ้งหน่วยงาน แล้วไอ้ความช่วยเหลือนั้นจะทันไหมสำหรับคนที่เดือดร้อนมากๆ เขาช่วยได้เขาก็ช่วยไป แต่มันก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

พอเงินเดือนเขาออก ข้าว อาหารแห้ง ทุกอย่างไมค์จะซื้อตุนไว้ให้แม่ แต่บางทีไมค์เขาซื้อข้าวสารมาให้แม่มากเกิน แม่ก็ว่า “ทำไมซื้อให้แม่เยอะขนาดนี้” ไมค์ก็บอกว่า “ถ้ากินไม่หมดก็แจกเขานะแม่ ให้เขาไปเลย” 

ตั้งแต่ตอนไหนที่แม่รู้สึกว่า ลูกเราสนใจสิ่งรอบข้าง สนใจชีวิตคนอื่นมากกว่าตัวเอง

ตั้งแต่เขาอายุประมาณ 11-12 ปีแล้วนะ เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ๆ บ้านก่อน ใครเขาจะย้ายบ้านก็ไปช่วย จะให้ช่วยไปซื้ออะไร ไมค์ทำหมด จนบางครั้งหนักๆ เข้า แม่กับไมค์เริ่มมีปัญหากัน เพราะเขาเริ่มกลับบ้านไม่ตรงเวลา เราอยู่บ้านก็ห่วง พอรถกู้ภัยวิ่งผ่าน เราก็นับลูก หนึ่ง สอง… แล้วไอ้คนที่สามมันยังไม่มา (หัวเราะ) 

พอเขาถึงบ้านค่ำๆ มืดๆ แม่ก็ดุว่าทำไมกลับบ้านเอาป่านนี้ แม่ห่วง พอเรารู้ว่าห้ามเขาไม่ได้ ยอมโดนเราว่าทุกวันๆ ก็เลยมาแก้ปัญหากันใหม่ ไมค์จะอยู่ไหนก็ช่าง ขอให้โทรกลับมาบอก ให้แม่ได้ยินเสียงว่าลูกยังมีชีวิตอยู่ 

แล้วตอนไมค์ไปม็อบ?

ทุกครั้งที่ไมค์จะปราศรัย เขาจะส่งข้อความไปหาพี่สาวว่า “ถ้าเขาเป็นอะไรไป ดูแลแม่แทนเขาด้วย” ตอนนั้นแม่ไม่รู้ พี่สาวก็ไม่บอกว่าน้องไปม็อบ จนกระทั่งไมค์ปลอดภัยแล้ว ลูกสาวถึงมาบอกว่าเมื่อคืนไมค์ส่งข้อความมาแบบนี้ ส่วนตัวไมค์เองเขาจะรู้นะว่า ถ้าวันนี้เขาไปม็อบ แม่จะยังไม่นอน ถ้าไม่ได้ยินเสียงลูก 

ถ้าเขาปลอดภัย เขาจะโทรหาแม่ “หนูยังไม่ตายนะแม่” เท่านั้นแหละ แม่อุ่นใจแล้ว นอนได้ 

ทุกวันนี้ไมค์อยู่ในเรือนจำ เวลาทนายบอกอะไรแม่ หรือมีการเพิ่มข้อกล่าวหาให้ลูก แม่จะได้คุยโทรศัพท์กับไมค์ประมาณ 5 นาที เขาจะถามเราว่า 

“แม่โอเคไหม”

“แม่โอเค ไมค์ปลอดภัยไหมลูก”

“ไมค์ปลอดภัยแม่”

ถ้าถามว่าไมค์รู้ไหมว่าแม่เครียดหรือกังวล ไมค์รู้ เขาจะกำกับเพื่อนเขามาว่า “ดูแลแม่กูให้ดีกว่านี้” เพื่อนเขาก็จะมากำกับเราอีกที “แม่ แม่ต้องกินข้าว แม่จะอดไม่ได้ เดี๋ยวไมค์มันออกมามันเอาหนูตาย แม่ต้องกิน แม่อยากกินอะไร หนูจะทำให้” แต่เราก็กินไม่ค่อยได้ กังวล แต่ถ้าถามว่าเราภูมิใจในตัวลูกเราไหม เราภูมิใจ มันมาในเวลาเดียวกัน เรากังวลว่าเขาจะปลอดภัยไหม ใครกล้าการันตีกับเราไหมว่าลูกเราอยู่ในนั้นจะปลอดภัย ถ้าแม่ยังมีลมหายใจอยู่ แม่ก็จะไปเยี่ยมไปดูแล แม่จะไม่ปล่อยให้อด 

ที่แม่ห่วงที่สุดคือความปลอดภัย เพราะเหตุการณ์ที่ไมค์เคยได้รับ มันทำให้แม่ระแวง แต่ถ้ามีคนกล้ารับรองแม่ว่า “อยู่ในนี้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เกิดอะไรขึ้นผมรับผิดชอบเอง” แม่โอเค

วินาทีที่แม่รู้ว่าลูกจะไปร่วมกับม็อบ ขึ้นเวที แม่คิดยังไง

ทีแรกก็กังวล กลัวโดนจับ เพราะแม่ก็ผ่านโลกมาจะ 60 ปีแล้ว พอรู้บ้างว่าอะไรเป็นอะไร แต่แม่ก็รู้อยู่อย่างหนึ่งว่า เราห้ามเขาไม่ได้แน่ 

แม่เคยพูดแล้วว่า “ถ้าลูกไม่ทำได้ไหม”

“แม่ ใครก็อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มันเป็นอนาคตของพวกหนู แม่ปล่อยลูกไป ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แม่จงภูมิใจว่า แม่เป็นแม่นักสู้”

เรารู้ เราเลี้ยงเขามา รู้ว่าเขาไม่ฟังเราแล้ว มันคือความเชื่อมั่น อุดมการณ์เขา แม่ก็จะทำใจ แต่ก็บอกเขาว่า “ไม่ใช่วันสองวันนะลูก มันต้องใช้เวลานิดนึง” ไมค์เขากังวลว่าแม่จะทำใจได้ไหม หนักเข้าแม่ต้องโทรหาเขา “ไมค์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้ไมค์รู้ว่า ไมค์ยังมีแม่ที่ยืนเคียงข้างไมค์นะ สู้ๆ นะลูก”

จังหวะที่แม่เห็นไมค์ออกมาต่อสู้ในที่แจ้ง ออกข่าว ชูป้าย ประกาศด้วยความหนักแน่นดุดัน หรือบนเวทีปราศรัยก็ตาม แม่เคยสงสัยไหมว่า สังคมแบบไหนกันที่ทำให้ลูกเราต้องออกมาทำขนาดนี้

ในจังหวะที่ไมค์อยู่กับแม่ เขาก็ชอบมาจับนม นอนตัก เหมือนไมค์ตัวเล็กๆ แต่พอเขาไปขึ้นบนเวที เขาจะแปลงร่าง บางครั้งแม่ก็คิด “นั่นใช่ลูกแม่เหรอ?” (หัวเราะ) ถ้าถามว่าเพราะอะไร มันคืออุดมการณ์ของเขา เขาอยากสู้เพื่อคนชั้นล่างให้ได้รับรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ ทุกสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ มันจะต้องดีกว่านี้ 

“แล้วลูกจะสู้ได้เหรอ” แม่ก็ถามเขา 

“มันก็ต้องลองแม่ ถ้าเราไม่ลองเลย นั่นหมายความว่าไม่ได้สู้” 

“ตัดสินใจแล้วนะลูก”

“ตัดสินใจแล้วครับ”

ถ้าการมีลูกที่อยู่กับแม่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องออกไปดิ้นรนช่วยเหลือสังคม กับลูกแบบไมค์ที่ไปทำนั่นทำนี่ ลูกสองแบบนี้ แม่ชอบแบบไหน 

แม่ว่าแม่โชคดี ถึงจะเกิดมายากจน แต่แม่โชคดี ลูกทุกคนมีคุณภาพหมด แม่ได้ทุกแบบเลย ไม่ว่าจะลูกที่อยู่กับแม่ หรือลูกที่ไปช่วยเหลือสังคม แม่ได้หมดเลย ลูกๆ ของแม่ก็จะไปในแนวเดียวกัน น้องไปทำงานเพื่อสังคม แม้พี่จะไม่ได้ออกมาร่วมสู้ แต่ก็ให้กำลังใจกัน น้องทำไป เดี๋ยวพี่ๆ จะซัพพอร์ตดูแลแม่เอง เหมือนทุกคนร่วมสู้ไปด้วยกัน ไมค์ต่อสู้ไปโดยที่ไม่ต้องมากังวล พี่สองคนดูแลแม่ไม่ให้อดอยาก เราช่วยกัน 

สำหรับแม่ ลูกทุกคนมีคุณภาพ อย่างไมค์นะ พูดแบบไม่อาย ผ้าถุง กางเกงใน เสื้อใน เขาจะเก็บของแม่ไปซักให้หมดเรียบร้อย วันนี้แม่จะไปไหน แม่จะใส่เสื้อตัวไหน ใส่กางเกงตัวไหน แม่เอาออกมาแขวนไว้นะ ไมค์จะรีดให้แม่เรียบร้อย 

เห็นหน้าตาไมค์อย่างนั้น ไมค์เป็นเด็กที่อ่อนโยน ถ้าแม่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล แม่บอกว่า “ไม่ต้องมาดูแลแม่ แม่ยังเดินไหว ลูกไปทำงานนะ มีงานอะไรก็ไปทำ” หายหน้ากันไปแป๊บเดียว กลับมาพร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าพร้อมนอน แล้วบอกแม่ว่า “ไม่ต้องรีบขอหมอออก คิดเสียว่าเรามาปิกนิก” ลูกทุกคนอยู่ดูแลแม่ แล้วไม่ใช่แค่แม่นะ เตียงข้างๆ คนไหนไม่มีญาติมาดูแล จะต้องเทกระโถนฉี่ คนไหนอยากกินน้ำ อยากซื้อของ ลูกแม่เดินทั่วโรงพยาบาลเลย 

วันที่ศาลให้แม่ไปคุยกับไมค์ วันนั้นคุยอะไรกันบ้าง

เขาให้คุยประมาณว่า อยากให้รับเงื่อนไข จะรับไหม แต่แม่รู้อยู่แก่ใจเพราะเราเลี้ยงเขามาว่าถ้าแม่พูด นั่นคือแม่ไปขวางอุดมการณ์เขา ทำให้เขาถอยกลับอีก ทั้งๆ ที่มันกลับไม่ได้ แม่เคารพในการตัดสินใจของเขา แม่ถามเขาก่อนนะว่า “จะยอมไหม” เขาส่ายหัว นั่นคือจบ จบตรงนั้น 

แม่จะกลัวเหรอ ในเมื่อลูกเราสู้แล้ว ถ้าไปบอกให้เขาถอย นั่นคือเรากลัว ถ้าเราไม่ร่วมเดินไปกับเขา คดีที่เขารับอยู่มันก็ไม่ได้หมดไปจากตัวลูกเรา มันยังติดตัวเขาอยู่วันยังค่ำ เราร่วมเดินแล้ว 

ข้างในหัวใจแม่เป็นยังไงบ้าง

แม่ถามแค่ว่า “ไมค์ตัดสินใจแล้วนะ” 

เขาบอกว่า “ไมค์ตัดสินใจแล้ว”

คนเราน่ะนะ ถ้าใจเขาสู้ ไม่ต้องเอาอะไรไปดึงเขา แต่ในความเป็นลูกเขาห่วงแม่ เขาไว้ใจพี่เขาได้ว่าจะดูแลแม่ ลูกสามคนไม่เคยทิ้งแม่ เลี้ยงดูแม่ดี แต่ตอนนี้แม่กินไม่ค่อยได้ ทุกวันนี้ก็กินข้าวไม่ครบสามมื้อ แต่ลูกๆ ไม่เคยปล่อยให้แม่อด 

ถ้าเขารู้ว่าแม่กินข้าวไม่ครบสามมื้อ เขาจะไม่สบายใจนะ

ไมค์ก็รู้ บ้างครั้งได้เจอแม่ตอนไปศาล เขาเดินผ่าน มองดูแม่ เขารู้ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เน้นกับทนายว่า บอกแม่ไม่ต้องเครียด เขาโอเค แข็งแรงดี 

ถ้าถามว่าแม่ต้องทำเป็นพูดให้ลูกสบายใจไหม ก็ใช่ “แม่โอเคนะ” แต่ในความเป็นแม่ มันตัดความห่วงไม่ได้หรอก แต่เราจะระงับและแสดงออกให้ลูกเราที่อยู่ข้างในสบายใจได้แค่ไหน ในนั้นมันไม่ใช่โรงแรมห้าดาว มันต้องลำบาก เราไม่อยากให้เขากังวลอีก

เราบอกทุกคนว่า ถ้าใครไปเจอไมค์​อย่าบอกว่าแม่ไม่ไหว ห้ามพูด ให้พูดว่า “แม่สบายดี แม่อยู่ใกล้ๆ ไมค์ ไม่ได้ไปไหน” เราปกปิด เพื่อให้เขาสบายใจ ขณะเดียวกัน เราอยู่ข้างนอกก็พยายามกินเข้าไป จะมากจะน้อยต้องพยายามกิน ตอนนี้แม่จะเป็นอะไรไม่ได้ ตราบใดที่ไมค์ยังไม่ได้ออกมา แม่ต้องสู้ 

แม่ได้รับแรงเสียดทาน เสียงด่าจากคนรอบข้างบ้างไหม 

ญาติพี่น้อง คนรอบข้างแถวบ้าน ไม่มีเลย ทุกคนให้กำลังใจหมด แต่คนที่เห็นต่างก็มี บ้างครั้งที่เข้ามาด่าแม่ แม่ไม่เข้าใจ เราไม่รู้จักกันนะ แม่ก็กินข้าวแม่ เขาก็กินข้าวเขา แล้วแม่ก็เล่นโซเชียลไม่เป็น ตอนที่ลูกแม่ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง เขากลับมาด่าประเด็นอะไรก็ไม่รู้ ด่าแม่เป็นวัวเป็นควาย เลี้ยงลูกแบบไหนกัน 

แม่ก็คิดว่า เออ คางตัวเองอยู่บนหน้าตัวเอง จมูกตัวเองมันก็ยังดูไม่ชัด ทำไมมันมองชัดมาถึงเรา แล้วคุณไม่ได้อยู่ในครอบครัวเรา ดีชั่วคุณไม่รู้หรอก คุณอย่าด่าเรา แล้วแม่ก็นึกว่า แล้วพ่อแม่เขาเลี้ยงเขามาแบบไหนวะ มานั่งด่าชาวบ้านที่ไม่รู้จักกันเนี่ย ทีแรกแม่นึกโกรธ แต่ทุกวันนี้แม่ขำ

ทุกวันนี้ประเทศเรามันแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งเขา ฝั่งเรา วันก่อนมีคนบอกแม่ว่า ข่าวเมืองนอกเขาชมไมค์ ชมเพนกวิน ชมลูกๆ ที่ต่อสู้อยู่ว่ากล้าหาญ โอ้โห หัวใจพองโตเลยจนถึงทุกวันนี้ แม่จำแต่จุดนั้นไว้ เพราะประเทศเขาเจริญแล้ว 

ถ้ามีคนถามว่า แม่เลี้ยงลูกมายังไง แม่จะตอบว่ายังไง

อ้าว แม่ก็เลี้ยงเหมือนพ่อแม่คนอื่นเขาเลี้ยงนั่นแหละ จะว่าแม่เลี้ยงมาแบบไหน คุณก็ลองไปถามพ่อแม่คุณดูว่าเลี้ยงลูกมาแบบไหน 

แม่สอนไมค์เองว่า ถ้าคุณจะเข้ามาตรงจุดนี้ มันต้องมีคนมาถล่มด่าคุณแน่ๆ คุณต้องยอมรับให้ได้ แล้วอย่าตอบโต้เขา ทุกวันนี้ไมค์บอกว่า “ไมค์ไม่สนใจ ดีนะ ที่แม่เล่นโซเชียลไม่เป็น ถ้าแม่เล่นเป็น ไมค์เครียดตายเลย” 

ไมค์เหมือนแม่ไหม 

นิสัยน่ะเหรอ แม่ก็ไม่รู้ว่าเหมือนไหม แต่ลูกทั้งสามคน แม่ว่าแม่ลุยกันมากับไมค์มากที่สุด แต่ถ้าไมค์ทำอะไรผิดนะ แม่สังเกตว่า เข้าบ้านมาเขาจะนิ่ง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ พี่เขาก็ว่า “แม่ลองถามมันซิ ไปสร้างวีรกรรมอะไรมา” แต่ถ้าเขาผิดจริง เขาไม่ปากแข็ง เขายอมรับนะ

แต่ถ้าเขาถูกนะ โอ้ย ปากคอมาเลย แม่…อย่างนี้ๆ นะ มาฟ้องเรา บางครั้งทะเลาะกับเพื่อน เราก็สอนเขาว่า “ถ้าไมค์เป็นอย่างนี้ ไมค์ขี้ฟ้อง ต่อไปไมค์จะไม่มีเพื่อนนะ” เราค่อยๆ บอกทีละเล็กทีละน้อย เขาก็เลิก 

ตื่นมาทุกวัน อะไรทำให้แม่สู้ต่อ 

หน้าเขาไง แต่ก่อนชีวิตแต่ละวันคือทำเลี้ยงลูก แต่ทุกวันนี้เราคิดว่าจะหาวิธีไหนที่จะช่วยลูกแม่ออกมา มันมีแค่นั้นจริงๆ พอเราจะคิดเรื่องอื่นบ้าง สนุกสนานบ้าง มันก็จะดึงเรากลับมาที่จุดนี้อีกแล้ว กระทั่งเวลาเรากินข้าว วันนี้เรากินสิ่งนี้ แต่ข้างในคุก ลูกเรากินอะไร มันจะอร่อยไหม พอเรากำลังจะกลืนข้าว มันกลืนไม่ลง ทุกวันนี้แม่กินๆ ข้าวอยู่แล้วนึกถึงเขา แม่ต้องเอาข้าวไปทิ้ง แม่กินต่อไม่ได้ 

ไม่ใช่เพราะลูกอยู่ข้างในนะ แต่ถึงเขาจะอยู่ที่ไหน ทุกวันถ้าโทรหากัน เราจะถามคำถามแรกว่า “กินข้าวหรือยัง” 

ในชีวิตแม่ อะไรก็ไม่มีค่าเท่ากับลูกเราแล้ว ที่เราลำบากยากเข็ญกันมา มีแค่ลูกที่ไม่ทิ้งเรา แล้วเขาก็หวังว่าเราจะดูแลเขา ปกป้องเขา เขาหวังพึ่งแม่อย่างเรา เชื่อมั่นในตัวเรา 

สิ่งที่ไมค์ทำตอนนี้ แม่มองว่าเขาดื้อไหม

แม่ไม่คิดว่าไมค์ดื้อ เพราะตรงนี้แม่ไม่ได้สอนเขา มันเกิดจากอุดมการณ์ของเขา แล้วไมค์ก็ไม่ใช่รุ่นแรกที่ออกมาต่อสู้ มันมีมาก่อนนี้แล้ว ในเมื่อเขาต่อสู้กันมาตั้งหลายรุ่นแล้ว ถ้าลูกเราจะเดินตามก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก 

แต่ถ้าอยู่ดีๆ ไมค์เป็นคนแรกในประเทศไทยที่ไปยืนแหกปากอยู่อนุสาวรีย์ ถ้าไมค์ไม่โดนแม่ก็ให้ลองดู แต่ทีนี้เขาออกไปยืนแล้ว โอ้โห คนรักประชาธิปไตยมากมายออกมาสนับสนุน แม่ต่างหากที่ออกมาทีหลังคนอื่น แล้วแม่จะว่าเขาได้ยังไง 

แม่ได้ยินคำว่าประชาธิปไตยครั้งแรกตอนไหน

อันนี้แม่ไม่รู้เลย เรื่องการเมืองแม่ไม่เคยรู้ มีคนเคยชวนไปม็อบ แต่เราต้องไปทำงาน ต้องเลี้ยงลูก หรือที่ว่าสลิ่ม สลิ่มยังไง จริงๆ นะ แม่ไม่รู้ จนกระทั่งลูกแม่มาทำม็อบ เราก็ถาม “ไมค์ สลิ่มมันเป็นยังไงเหรอลูก”

วันก่อนเห็นแม่ไปรับไผ่กับพี่สมยศด้วย?

เอาแรงให้ลูกเรา เผื่อลูกเราได้ออกบ้าง แม่ดีใจกับเขาสุดๆ เลย ใครได้ออกมาแม่ก็ดีใจ แล้วก็เอาแรงเขาไว้ด้วย เดี๋ยววันไหนลูกเราได้ออก เขาจะได้มาช่วยเราดูตามประตู กลัวใครเขาเอาไปอีก 

ไผ่ออกมาแล้ว แม่แอบหวังกับลูกของแม่ไหม

ก็แอบหวัง แต่ก็ต้องแล้วแต่โอกาสว่ามันจะวันไหน แต่จะหวังสักกี่เปอร์เซ็นต์ แม่บอกไม่ได้ มันต้องมีแหละ เรามีลมหายใจอยู่ก็ต้องหวังไว้ 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า