ความเป็นอนันต์ของคำว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา’: พูดคุยเรื่องกลอนลำของ ‘หมอลำแบงค์’ ในวันที่เพื่อนถูกจองจำ

เขา สวมเสื้อแขนยาวลายขวางสีขาวสลับดำคล้ายนักโทษ เข้าร่วมฟังนัดตรวจพยานหลักฐานคดีของกลุ่มคณะราษฎร ที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา 

หมายเลข 112 แอบซ่อนแต่ไม่พ้นสายตาอยู่ใน typography ที่สกรีนว่า “WE ARE ALL PRIIZONERS” อยู่บนอกเสื้อ 

วันนั้นเขาเข้าฟังนัดตรวจพยานหลักฐานในฐานะมิตรคนหนึ่งของ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ หนึ่งใน 20 กว่าชีวิตที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาคดี 

มิตรภาพระหว่างเขาและหมอลำแบงค์ เริ่มต้นจากการเป็นล่ามแปล นักข่าว ผู้ค้ำประกันมอเตอร์ไซค์ หมอลำแบงค์รับเป็นบรรณาธิการหนังสือของเขา จนกระทั่งมาเป็นเพื่อนผู้ให้กำลังใจในยามยาก และตอนนี้เขากำลังกลายมาเป็นคนแปลกลอนลำจำนวนไม่น้อยที่หมอลำแบงค์เขียนขึ้นมา

WAY สนทนากับ พีระ ส่องคืนอธรรม ที่ออฟฟิศ WAY ในย่ำเย็นของวันที่ 15 มีนาคม 2564 หลังจากที่เขาเดินทางไปเยี่ยมหมอลำแบงค์ ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก 

ตอนกลับมาที่เมืองไทยคุณทราบข่าวว่าหมอลำแบงค์ ถูกศาลสั่งขังตอนไหน 

เรากลับมาหาย่าที่ป่วย ที่ศรีสะเกษ หลังจากกักตัวเสร็จ เมื่อกลับไปถึงบ้านก็ทราบข่าวว่าเพื่อนกำลังถูกขัง (อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พริษฐ์ ชิวารักษ์) จำได้ว่าเป็นตอนที่กำลังช่วยที่บ้านต้มเป็ด เพราะที่บ้านต้มเป็ดต้มหมูขายในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันสารทจีน ระหว่างที่ทีวีเปิดทิ้งไว้ที่ข่าวช่อง 3 ก็ได้ยินชื่อเพื่อนออกทีวี แต่ยังไม่เอะใจ จนเมื่อกลับไปที่บ้านเปิดอินเทอร์เน็ต ถึงได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้รับการประกันตัว ก็นึกย้อนไปถึงไม่กี่วันก่อนหน้านั้นที่เรายังกักตัวโควิดอยู่ แล้วเขาส่งข้อความมาให้กำลังใจเรา แล้วเขาบอกเราว่า ‘สู้ๆ’ ตอนเราระบายกับเขาว่าช่วงนี้ท้อนิดหน่อย”

รู้จักกับหมอลำแบงค์ได้ยังไง

(นิ่งคิด)

เป็นความบังเอิญ ในเวลาที่เกิดขึ้นพร้อมกันพอดี ตอนนั้นได้ไปทำงานเป็นนักข่าวที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะเป็นคนที่ไม่กล้าคุยกับคนอื่น เป็นคนขี้อาย แต่พอไปที่นั่นเราก็มีบุคลิกใหม่ขึ้นมา สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้ดีขึ้น และช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่แบงค์พ้นโทษจากการถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังรัฐประหาร 2557 ก็ติดคุกอยู่ 2 ปี 

ทำให้งานแรกของเราหลังจากจบปริญญาตรี คือเป็นนักข่าวที่ทำงานเป็นล่ามไปด้วย และได้เป็นล่ามให้แบงค์ในการช่วยฝึกนักศึกษาจากสหรัฐ ที่มาเรียนที่ขอนแก่น ขณะเดียวกันก็ได้มีส่วนในการสัมภาษณ์แบงค์ด้วย จำได้ว่าเป็นบทสัมภาษณ์แบงค์ โดย สมานฉันท์ พุทธจักร  

หลังจากนั้นแบงค์ก็ไปบวชแล้วก็หนีออกจากวัด พอเขาออกมาเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกรอบกับนักศึกษาต่างชาติ โดยที่เราทำหน้าที่ช่วยแปล หลังจากนั้นก็มีความผูกพันกันเพราะเห็นหน้าเห็นตากันหลายครั้ง 

แต่ครั้งหนึ่ง เขาจะซื้อมอเตอร์ไซค์ อยู่ดีๆ ก็ทักมาว่าพาไปซื้อมอเตอร์ไซค์หน่อย อยากให้เราช่วยค้ำประกัน ตอนแรกก็คิดว่าทำไมต้องเป็นเรา คิดอีกทีก็พอเข้าใจว่าคงเพราะเรามีงานประจำ มีเงินเดือน มีออฟฟิศ ที่จะสามารถวาดแผนที่ให้ไฟแนนซ์ดูได้ว่าคนค้ำมีที่อยู่ชัดเจน มีฐานะพอที่จะค้ำประกัน ซึ่งก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี นั่นเป็นครั้งเดียวที่ค้ำประกัน เพราะทุกวันนี้ก็ไม่มีเงินเดือน ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งแปลกลอน แปลวรรณกรรม 

การมาที่นี่ทั้งหมดไม่มีอะไรเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เลย เพราะฉันอยู่ศรีสะเกษ แบงค์ทำงานที่ขอนแก่น บ้านเกิดอยู่สกลนคร เขาไปกรุงเทพฯ แค่วันเดียวเอง (18 กันยายน 2563) แล้วถูกชวนขึ้นไปพูดบนเวที เขาก็เลยขึ้นไปพูด ทำให้เขาต้องมาอยู่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับวันนี้ที่ไปศาลอาญา รัชดาฯ กรุงเทพฯ (15 มีนาคม 2564) 

ตอนที่หมอลำแบงค์มาขอให้ค้ำประกันซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ได้บอกไหมว่าจะซื้อไปทำอะไร 

ทำไมถามเหมือนคนที่ชอบวิจารณ์นโยบายรถคันแรก ก็เพราะรถมันก็เป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นของเขาไง เขาเป็นหมอลำ จะให้เขานั่งรถสองแถวไปร้องหมอลำใช่ไหม เขาก็สะดวกใจที่จะมีอิสระในการเดินทาง จำได้ว่ารถที่เขาซื้อเป็นรถคันใหญ่ๆ อย่างที่เขาต้องการ และเขาก็มีปัญญาหาเงินมาจ่ายได้ เราไม่เคยต้องไปจ่ายให้เขาเลย สุดท้ายเขาก็สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ เราเป็นเพียงคนที่เป็นใครก็ไม่รู้มาช่วยค้ำเพื่อให้ไฟแนนซ์เขาสบายใจ 

พอเขากลับมาเดินสายร้องหมอลำเราก็ไม่ค่อยได้เจอกัน จนเมื่อปี 2561 ตอนที่ทำหนังสือ ท่งกุลาลุกไหม้ พอดีว่า บก. สำนักพิมพ์อ่านถามว่ารู้จักแบงค์ไหม เราก็บอกรู้จัก เคยไปค้ำประกันมอเตอร์ไซค์ให้เขา บก. ก็เสนอว่าน่าชวนเขามาเป็นบรรณาธิการ สุดท้ายเลยได้มาทำงานกับเขาอย่างจริงจัง

ตอนแรกต้องไปนั่งทำงานกันที่ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ซึ่งที่นั่นมันเงียบ ทำให้ไม่ได้คุยกัน จึงย้ายไปนั่งที่ร้าน Blue Fountain บรรยากาศก็ชิลๆ ไม่ได้มีจริตชนชั้นสูงเยอะ ก็เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขมากในชีวิต เป็นร้านกาแฟ ที่แบงค์จะชอบเรียกว่า “Blue Mountain”

หมอลำแบงค์เวลาทำหนังสือ ทำงานยังไง

แบงค์เขาเป็นกวี แปลว่าอะไร แปลว่าเขาคิดกับคำจริงๆ รู้สึกกับคำจริงๆ คำแต่ละคำที่เขาเลือกใช้จึงซ่อนความหมายเต็มไปหมด ทุกคำที่เขาพูดที่เขาใช้ แม้กระทั่งคำในชีวิตประจำวัน และยิ่งเป็นกลอนลำที่เขาเขียนเอง จะมีสิ่งเหล่านี้ ที่เรียกว่า ‘เสี่ยงส้น’ 

‘เสี่ยงส้น’ หมายถึง การซ่อนเงื่อน เหมือนกับตอนที่รัชกาลที่ 4 แบนการแอ่วลาวเป่าแคน แล้วศิลปินลาวใช้วิธีซ่อนเงื่อนหรือ ‘เสี่ยงส้น’ เข้ามาเล่นกับซอแต่ปรับเสียงซอให้เป็นทำนองลาว พอแบงค์มาช่วยงานชิ้นนี้ จึงเข้ามาช่วยให้งานมันดี เขามองเห็นว่าเราพยายามทำอะไร เขาเข้ามาช่วยขัดเกลาภาษาให้สวยงาม แล้วเขาไม่ได้คิดจากภาษาอีสานอย่างเดียวนะ บางทีเขาก็ถามเราว่าประโยคแบบนี้ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เขาก็จะช่วยคิดว่าจะแปลยังไงให้ออกมาอ่านรู้เรื่องและสละสลวย 

ถ้าไปดูต้นฉบับที่เราปรับแก้ด้วยกันจะเห็นรอยปากกาสองรอยอยู่กลับหัวกลับหางกัน เพราะนั่งอ่านต้นฉบับตรงกันข้ามกัน

ทำงานกับหมอลำแบงค์ยากง่ายแค่ไหน เพราะตอนนั้นเขาเพิ่งพ้นโทษ และยังเป็นศิลปินที่เป็น Artist โดยแท้ 

ก็เพราะแบงค์เป็นศิลปินไง เราถึงเข้าใจกัน ทำไมคนเป็นศิลปินเข้าถึงยากขนาดนั้นเลยเหรอ ใช่ เพราะเข้าถึงยากไง แต่ขอถามกลับว่าแล้วคนไม่ได้เป็นศิลปินเข้าถึงง่ายเหรอ 

แต่เขาเป็นศิลปินที่เพิ่งถูกกระทำมา? 

ล่าสุดที่เราเพิ่งสัมภาษณ์เขาก่อนถูกคุมขัง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์คนที่ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำได้ว่าตอนที่เราคุย ZOOM กับแบงค์ เราโดนด่าเยอะมากเพราะถามไม่ถูกใจเขา เช่นคำถามที่ว่า “ที่โตถืกคดี โตได้คำตอบหรือยังหว่าเป็นหยังมันจั่งมาเป็นจั่งซี่กับเฮา” (ทำไมมันจึงเกิดเรื่องแบบนี้กับเรา)

ส่วนคำตอบของแบงค์คือ “เป็นหยังคือต้องมาหาคำตอบกับเฮา คือบ่ไปถามคนที่มันเฮ็ดใส่เฮาแหน่ ว่ามันเป็นโคตรพ่อโคตรแม่หยังมึงคือมาเฮ็ดใส่กูแท้ สามเที่ย สี่เที่ย” (ทำไมจึงต้องมาหาเอาคำตอบจากเรา ทำไมไม่ไปถามคนที่เขาทำกับเรา) 

คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นการฟาดงวงฟาดงา แต่เรามองว่าเป็นการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา บางทีเขาจะมองว่าบางคำถามโง่สิ้นดี เช่น ที่ถามว่าได้คำตอบหรือยัง มันจะได้คำตอบได้ยังไงก็ในเมื่อมันยังไม่มีคำตอบ มันจะไปถามคนที่ยังไม่มีคำตอบได้ยังไง ต้องไปถามคนที่มันทำสิ เราก็ทน เพราะเราอยากจะฟังเขา มันเหมือนเขาอยากจะให้เราถามเขาให้ดีขึ้น เราก็จะถามให้ดีขึ้น

แต่บางคำถามที่เหมือนจะถามโง่ๆ เช่น เคยเป็นสลิ่มไหม เราก็กลับไม่โดนด่านะ เขาก็ตอบกลับมาว่า ทุกคนก็เป็นสลิ่มกันทั้งนั้น เราต่างเป็นสลิ่มในขบวนการประชาธิปไตย เขาไม่ได้ต้องการเราในขบวนการนะ ทำนองนี้ เพราะว่าแบงค์เขาเป็นหมอลำ และการขึ้นชื่อว่าหมอลำฝ่ายประชาธิปไตย คนจะเห็นภาพหมอลำที่ขึ้นไปบนเวทีลำเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แต่แบงค์ไม่ใช่แบบนั้นเพราะกลอนลำของเขาคือศิลปะ ครั้งหนึ่งเขาบอกว่า “เฮาบ่เคยแต่งกลอนด่าไผ หว่าเป็นบักขี้ข้า อีขี้ข้า บักซาดสั่ว บักซาดหมา บ่มี้”

แต่ว่าเขารู้สึกว่าเขาถูกคาดหวังโดยคนในขบวนการให้ทำหน้าที่นั้น คาดหวังให้ใช้ศิลปะในทางการเมืองแบบโต้งๆ ตรงๆ พอเขาแข็งขืน เขาก็รู้สึกว่าเขาถูกมองเป็นสลิ่ม บางคนอาจจะมองว่าติดคุกมา ทำไมไม่ใช้เป็นแต้มต่อในการเล่นการเมือง แต่เขาไม่ทำ

อย่างไรก็ตาม ในการที่เขาตอบเราว่าเป็นสลิ่มหรือไม่ อาจจะเป็นการประชดก็ได้หรือเป็นจริงก็ได้ เพราะแบงค์เป็นคนที่อ่านได้หลายแบบแม้กระทั่งเวลาที่เขาพูด

ฝ่ายปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐ (IO) มักโจมตีในประเด็นว่าหมอลำแบงค์และคนอื่นๆ มีเงินหลายล้านบาท มองเรื่องนี้อย่างไร  

ก็ไม่รู้ว่าคิดได้ยังไง แต่จะขำก็ขำไม่ออก แบงค์คงไม่เป็นแบบนี้เพราะก่อนถูกดำเนินคดีเขามักจะร้องไห้แล้วไลฟ์ลงเฟซบุ๊คบอกว่าไปธนาคารแล้วเขาไม่ให้กู้ แล้วเขาก็เสียใจมาก เพราะเขาไม่มีเครดิต ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะเขามีคดีหรอกนะ คนที่ไม่มีงานประจำ ไม่มีรายได้ประจำสม่ำเสมอ การกู้เงินลำบากอยู่แล้ว กรณีนี้เข้าไปตอกย้ำซ้ำเติมแบงค์ เพราะเขาปวารณาตัวเองแล้วว่าจะเป็นศิลปินโดยไม่ไปยุ่งกับการเมืองแบบ ‘ล้ำเส้น’ เขามักจะบอกว่าทำไมสังคมไม่ให้โอกาสเขาในการเริ่มชีวิตใหม่ และการที่มีคนเอาใจช่วยเขาอยู่ห่างๆ ก็ไม่ได้แปลว่าธนาคารจะให้เขากู้เงิน คนแบบนี้มีเงินเป็น 10 ล้านในบัญชีได้ยังไง 

หรืออย่างที่แบงค์ทำสตูดิโอชื่อ ‘ซิ้นสองต่อน’ โดยเอาน้องนุ่งและเพื่อนๆ ที่เป็นหมอลำ หมอแคน มาสร้างพื้นที่ที่เป็นหลักเป็นฐานขึ้นมา มีผลงานและรับว่าจ้างได้ ก็เป็นการทำในแบบที่พอจะทำอะไรได้ก็ทำเท่านั้น

คำตอบของคุณที่เล่าว่าโดนหมอลำแบงค์สวนกลับตอนสัมภาษณ์ ทำให้เห็นมิติที่ลึกลงไปของเขา เพราะเราเห็นท่าทีเช่นนั้นของเขาผ่านสื่อในช่วงหลัง อาจจะมีคนอื่นมองว่าเขาเครียด จนเลยเถิดไปถึงขั้นทึกทักไปว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิต คิดกับเรื่องนี้ยังไง

อยากจะเสนอว่าสำหรับเราเข้าใจภาวะนั้น ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการแสดง แต่ไม่ใช่ว่ามันเฟคนะ ทั้งในการสัมภาษณ์สื่อด้วย เขาจะมองเห็นตัวเองเป็นผู้แสดงตลอด แม้แต่ที่ศาลวันนี้ (15 มีนาคม 2564) เมื่อเขาลุกขึ้นแถลง เขาตั้งใจที่ลุกขึ้นยืนตรง เปล่งเสียงให้ดัง หรือเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่เขาถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ (เกิดเหตุการณ์ชุลมุนหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามอายัดตัวผู้ต้องหาต่อ) ตอนนั้นเป็นอารมณ์แตกตื่นจริง แต่เขาก็มีกระดาษที่เขาเขียนกลอนลำซึ่งมีเนื้อหาทำนองว่า 

“แสนโศกาอาดูรไห้ น้ำตาไหลแก้มสองฝ่าย…” แล้วมีประโยคที่ว่า “ทรุดลง… ถูกอยุติธรรมเหยียบซ้ำ” ตัวแบงค์เองก็ทรุดลงจริงๆ และเป็นอารมณ์นั้นจริงๆ 

ในด้านหนึ่งเขาต้องการให้คนมาเข้าใจภาวะของเขา การบอกว่าหมอลำแบงค์น่าสงสาร สำหรับเราจึงเป็นการลดทอนภาวะทั้งหมดของเขาให้เหลือแต่บาดแผลทางจิตใจ โดยไม่เห็นว่าเขาคิด พูด หรือทำยังไงกับมันต่อ

คิดว่ามีความแตกต่างกันแค่ไหนในกลอนลำที่หมอลำแบงค์เขียนขึ้นระหว่างการติดคุกครั้งแรกกับช่วงหลัง 

เรามีบันทึกต้นฉบับที่เขาเขียนระหว่างปี 2557-2559 เมื่ออ่านลงไปสิ่งที่เห็นคือ หนึ่ง เขาเขียนเยอะมาก เท่าที่จำได้มีถึง 80 ชิ้น แต่ว่าหลังจากนั้นมาเขียนน้อยลง เหมือนอารมณ์กวีน้อยลงหรือเปล่าไม่แน่ใจ ต่อจากนั้นจึงมีบทกลอนที่ว่าด้วย ‘สู่ขวนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ชิ้นนี้ก็เริ่ด

แต่เรากลับมองว่างานชิ้นล่าสุดของเขาคือ ‘ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ’ เป็นงานที่ดีที่สุดของเขา อันนี้แบงค์ก็เห็นด้วย เขาเขียนร่างไว้ตอนที่ติดคุกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ส่งให้เราแปลตอนเดือนพฤศจิกายน เราอ่านแล้วชอบมากเลย แต่ก็ซับซ้อนมากจนถึงขั้นที่ว่า มาสเตอร์พีซ ไม่ใช่ว่าชิ้น ‘ลาวแพน’ ซึ่งเป็นงานช่วงแรก ไม่มาสเตอร์พีซนะ แต่ ‘ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ’ มันออริจินอล 

‘ลาวแพน’ คือการเอาลาวแพนจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเขียนใหม่ เนื้อหาแทนการพูดถึงเขตแดนอยุธยาก็ย้ายมากรุงเทพมหานคร แทนที่จะเล่าความทุกข์ยากลำบากของคนลาวในยุคโบราณที่ถูกกวาดต้อนมา ก็เปลี่ยนมาเล่าถึงชีวิตตัวเองในเชิงปัจเจก จากพหูพจน์กลายเป็นเอกพจน์ หรือที่จริงอาจจะเป็นได้ทั้งสองอย่าง นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เห็นได้ในกลอนลำของเขา 

ในลาวแพนตอนท้าย จะมีสองบาทบอกว่า “จับมาถ่วงคุกขัง หวังกำราบปราบเฮา” คำว่า ‘เฮา’ สามารถเป็นได้ทั้ง ‘me’ หรือ ‘we’ ในภาษาอังกฤษ เราแปลสองบาทนั้นของลาวแพนว่า So they locked me up in a bid to quell me [To quell the ‘we’]

แต่พอเราอ่านในฐานะเพื่อนเรารู้สึกว่าเป็นเอกพจน์ ฉะนั้นพอตอนนี้ที่มีสโลแกนในการต่อสู้ว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ก็ทำให้คิดว่าคำว่า ‘เพื่อนเรา’ คือใคร อย่างวันนี้ที่เราไปศาลอาญา เราไปหาเพื่อนคือ แบงค์ หรือเพื่อนคือ 22 จำเลย ที่ไปศาลในวันนี้ เฉพาะเพื่อนในชีวิตจริงหรือเพื่อนในทางอุดมการณ์ด้วย แต่ว่าในกลอนลำนั้นเป็นแบบไหนกัน เรารู้สึกว่า ‘เฮา’ ในเพลงลาวแพนมันเล่นกับเราแบบนี้ ในสำนวนแปลภาษาอังกฤษเราจึงใช้คำว่า ‘me (we)’ 

ฉะนั้นงานของเขาในช่วงแรกจะไม่ค่อยมีนัยยะซับซ้อนเท่ากับงานช่วงหลัง เช่นใน ‘ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ’ จะเจอความซับซ้อนแทบจะทุกบาท 

ทำไมงานยุคหลังอย่าง ‘ลำล่องฯ’ จึงซับซ้อน เพราะหากเรามองว่าเขาเขียนขึ้นในช่วงที่เพดานสังคมมันพังไปแล้ว ศิลปินแทบไม่จำเป็นต้อง ‘เสี่ยงส้น’ เหมือนในช่วงที่สังคมยังไม่เปิดเช่นวันนี้

ในงานช่วงแรก จะมีเพลง ‘อย่าเชื่อผี สีแมงบ้ง’ ซึ่งแมงบ้งมีสีเขียวหมายถึงทหาร เพลงยืดอกพกถุง, พัทยาพาเพหมุ่น, ตุ๊กตุ๊กคันโก้, ลาวแพน, โนโหวต, ลำล่องคุกบาสตีย์ ฯลฯ ลำเหล่านี้จะมีความชัดเจน ตรงไปตรงมา ก็สงสัยว่าพอมาในช่วงที่เพดานพังทลายทำไมเขียนเรื่องที่เข้าใจยากขึ้นนะ

ยากจนถึงขั้นที่ว่าไม่รู้เรื่องเลยนะ แต่งานอย่าง ‘ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ’ ซึ่งในอนาคตเราเชื่อว่าแบงค์จะได้ perform มันออกมาในที่สุด ชิ้นนี้มันจะเหมือนกับบัตรสนเท่ห์ แปลว่าสรรพนามมันเลื่อน มันเป็นอะไรก็ได้ เป็นทั้งคำสาปแช่ง และเป็นทั้งคำพร โดยไม่ได้บอกว่าใครให้พรใครและใครสาปแช่งใคร 

เหมือนกับบัตรสนเท่ห์ตรงที่พูดขึ้นมาลอยๆ แล้วไปวางไว้บนโต๊ะเมื่อมีคนหยิบขึ้นมา คนอ่านก็จะเป็นคนให้ความหมายมันเอง ชิ้นนี้พอเราแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราต้องใส่สรรพนามไง เพราะไม่เช่นนั้นคนอ่านจะไม่เข้าใจ ก็เลยต้องใส่ให้เลือกเอง ให้คนอ่านเลือกเองว่าคุณเป็นคนที่กำลังถูกสาปแช่งหรือเป็นคนที่ได้รับคำอวยพร 

มันสอดคล้องกับที่เขาให้สัมภาษณ์กับเรา ระหว่างที่เขาได้รับการปล่อยตัวในรอบแรกและถูกจับขังอีกรอบหนึ่ง เขาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นคณบดีคณะหนึ่งไปชี้เป้าให้ทหาร-ตำรวจมาจับเขาไปติดคุก เขาบอกว่า พร้อมที่จะให้อภัยเสมอแหละ แต่พวกมึงสิต้องมาขอโทษกู ไม่ใช่กูไปขอโทษมึง 

คำที่เขาบอกคือ “ประสาเป็นคณบดี มันใหญ่มาแต่ไส? ฮึ การเป็นคณบดี มันใหญ่มาแต่ไส? มันก็ใหญ่มาแต่หีแม่มันคือเก่านั่นหละ หีแม่มันเบ่งออกมา คือกันกับเฮา เฮาก็ออกแล้วก็ใหญ่มาแต่หีแม่คือกันกับมันเลย นี่คือการเว้าสะท้อนไปหามัน เว้ากันแบบหญาบๆ รึมันกลัวหมอลำแบงค์ใช่มั้ย ที่หมอลำแบงค์ชอบพูดหยาบและพูดเสียงดัง” 

คุณจะคิดถึงเขาในฐานะหมอลำแบงค์ที่พูดหยาบและเสียงดังแบบไหน หยาบในภาษาไทยกับหยาบในภาษาอีสานก็มีความหมายไม่เหมือนกัน นี่คือความซ่อนเงื่อนที่ว่า คุณคณบดีจะเลือกพูดกับผมหยาบๆ คือพูดแบบเท่าเทียมกันหรือเลือกคิดว่าเป็นการพูดแบบหยาบๆ กับคุณ แล้วคุณจะไม่อยากฟังผม

วันนี้ (15 มีนาคม) คุณเข้าฟังนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของหมอลำแบงค์และผู้ชุมนุมคนอื่นอีก 21 คน เกิดอะไรขึ้นที่ห้องนั้น 

เมื่อไปถึงหน้าห้องพิจารณาคดี ตอนแรกนึกว่าจะไม่ได้เจอเพื่อน เพราะมีคนใส่เสื้อสีกรมท่ามาทักว่าคุณเป็นอะไรกับจำเลย ก็บอกไปว่าเป็นเพื่อน แต่เขาอนุญาตให้เฉพาะญาติและทนายความเข้าห้อง จึงถูกเชิญออกมา 

สักพักพอจำเลยเดินมา เราเห็นแบงค์หน้านิ่งเหมือนมีอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างใน ภาวะไม่เหมือนคนอื่นๆ พอคนที่กวดขันประตูทางเข้า เลิกกวดขัน เราได้เข้าไปตอนที่แบงค์จะแถลง เรารู้สึกว่าเขารู้สึกดีที่ได้พูดกับศาลเพราะก่อนหน้านี้เขาไม่มีโอกาสได้พูด อีกทางหนึ่งทำให้นึกถึงตอนสัมภาษณ์เขาเรื่องความต่างระหว่างระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน เพราะตอนที่เขาถูกลงโทษครั้งแรกเขามองว่าระบบกล่าวหาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้มีโอกาสปกป้องตัวเอง วันนี้จึงเป็นวันแรกที่ศาลเปิดโอกาสให้เขาได้พูดโดยตรงกับผู้พิพากษา ให้ความรู้สึกเหมือนระบบไต่สวนบ้าง

ท่วงทำนองของแบงค์เองก็มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่จะยืนยันศาล ว่าสิ่งที่ทำกับพวกเขาในตอนนี้ไม่ชอบธรรม แต่กับแบงค์สิ่งที่เขาพูดคือ เขาพยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจมาตลอด เพื่อที่จะได้รู้ว่าศาลจะเป็นคุณหรือโทษกับเขาอย่างไรบ้างในคดีนี้ และศาลก็ตอบคำถามเขา ซึ่งเป็นการตอบเชิงเทคนิคโดยที่ไม่ได้มีการระบุประเด็นเรื่องความชอบธรรม 

เช่น แบงค์ถามว่า ไม่ทราบว่าในการตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับผมไหม ถ้าหากผมอยากขอประกันตัวแยกออกจากจำเลยคนอื่นๆ ในคดีเดียวกับผม ศาลบอกว่า ในกระบวนการพิจารณาคดี ก็มีกระบวนการที่แยกส่วนกัน ผู้พิพากษาในวันนี้ก็มีหน้าที่ในการตรวจพยานหลักฐาน และผู้พิพากษาที่จะพิจารณาคดีก็จะเป็นอีกชุดหนึ่งเพราะฉะนั้นการได้ประกันตัวหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของผู้พิพากษาในขั้นตอนวันนี้

คำถามสุดท้าย มีรายงานว่าในห้องพิจารณาคดีวันนี้ มีจังหวะที่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แถลงต่อศาล โดยยืนขึ้นท่ามกลางญาติล้อมรอบตัว คุณเห็นอะไรบ้างในตอนนั้น 

เหตุที่เป็นพาดหัวข่าวของวันนี้ เพนกวินแถลงแล้วลุกขึ้นหันหลังให้บัลลังก์และชี้มือไปทางที่นั่งของญาติตอนหนึ่งบอกว่า “ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าอยู่ในกรงขัง…” แต่เรากลับมองไปที่แบงค์เท่านั้น เขานั่งคอตกอยู่ตรงใกล้กับบัลลังก์ เราจะเข้าไปหาเขาเพื่อไปคุย สักพักก็มีเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาบอกให้ทุกคนออกไป ผู้พิพากษาก็ walk out ออกไป 

หลังจากนั้นช่วงบ่ายบรรยากาศก็เปลี่ยนไป ไม่ตึงเครียด พร้อมๆ กับอานนท์ นำภา แถลงขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำฟ้องออกไป จึงทำให้พอมีเวลาคุยกับแบงค์ต่อพอสมควร เราได้บอกเขาว่ามีมิตรสหายพูดถึงเขาอย่างไรตอนที่เขาถูกขัง เขาบอกว่า อยากจะให้เพื่อนที่อยู่ข้างนอก ช่วยเผยแพร่สิ่งที่เขาเคยทำมา ทั้งบทสัมภาษณ์ หรือบทหมอลำของเขา 

นับตั้งแต่การถูกขังในเดือนตุลาคม 2563 และถูกปล่อยตัวออกมา เราสังเกตว่าแบงค์มีโลกส่วนตัวมากขึ้น แต่คนที่เข้าถึงงานเขียนเขาจะสามารถไปคุยกันได้ง่ายขึ้น แต่อย่างหนึ่งการที่เราสามารถเข้าไปคุยกับแบงค์ได้ เป็นพระคุณมากเลย เพราะคุณทนายความบอกว่าเราเป็นญาติเขา เอาเข้าจริงเราก็เคยได้ทำหน้าที่เป็นข้อต่อในครอบครัวเขา คือช่วยแปลข้อความรำลึกแม่ของเขากับน้อง ส่งไปหาสามีของแม่เขาที่อังกฤษตอนที่แม่เขาเสีย

ในอารมณ์นั้นเรารู้สึกว่าเราเป็นญาติเขาจริงๆ เพราะแม่เขาก็ไม่อยู่แล้ว และไม่มีญาติเขาอยู่กับเขาที่กรุงเทพฯ การที่ได้ไปคุยกับเขามันทำให้เขามีรอยยิ้มขึ้น ได้คุยกับเขาเกือบทุกเรื่อง จึงรู้ว่าชิ้นบทกลอนเรื่อง ‘ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’ ’ เขาเองก็ชอบมาก แต่เขาเองก็ไม่มีต้นฉบับ

ถึงกระนั้นเราจำได้หลายท่อน เพราะเราอยู่กับมันมาพอสมควร เวลาที่ไม่มีกำลังใจก็ไปอ่านกลอนลำอันนี้ ซึ่งกลอนนี้มันเหมือนกับการล่องเรือ คือมีจุดเริ่มต้น กึ่งกลาง และจุดสิ้นสุด และระหว่างทางก็มีความคดเคี้ยว และนั่นคือความหมายของมัน เราจึงต่อกลอนกันในศาล ว่า 

“ย้อนควมซวยมันหากมา เว้น แล่นตำต้อง เว้น 

จนฮนฮ้อง เว้น ไห้แข่งฝน เว้น คนเฮาน้อ…”

เมื่อเขานึกได้จึงค่อยๆ ต่อกลอนไปเรื่อยๆ 

พอสิ้นสุดกระบวนการศาลของวัน ราวๆ 4 โมงเย็น เจ้าหน้าที่เรือนจำก็มาคุยกับแบงค์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะตอนเช้าเขาดูเครียด แบงค์ก็ตอบว่า “ดีขึ้น ได้คุยกับญาติ” แล้วเขาก็กอดเรา

ชวนฟัง ลำเพลินฟ้าบ่กั้นหยังว่าคือห่างกัน กลอนลำเคล้าเสียงแคนของ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ว่าด้วยความเท่าเทียมของมนุษย์ เขาร้องลำไว้เมื่อครั้งมีอิสรภาพในวันที่แสงแดดดีวันหนึ่ง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Photographer

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า