ถ้าอเมริกามี ‘Fahrenheit 11/9’ จุดเดือดของประเทศไทยอยู่ที่กี่องศา

I started a joke which set the whole world laughing,

Oh if I’d only seen that the joke was on me.

คือเพลงที่ดังในหัวเราตอนที่ดูหนังสารคดีเรื่อง Fahrenheit 11/9 ของ ไมเคิล มัวร์ (จะไม่มีการเล่นมุกหนังของเขามองไม่ชัด เพราะ ไมเคิล มัวร์ ในบทความนี้ เลยจะขอใส่ไว้ในวงเล็บ) เป็นฉากเปิดที่เล่าเรื่องก่อนที่นาย โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ จะขึ้นมาเป็น ‘ประธานาธิบดีทรัมป์’ ซึ่งเปิดด้วยความตลกขบขัน โดยสื่ออย่างสำนักข่าว NBC ก่อนที่ทรัมป์จะเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะเป็นประธานธิบดี และลงสมัครในเวลาต่อมา

ฉันเริ่มเล่นมุกตลกที่ทำให้ทั้งโลกหัวเราะร่า

โอ้ หากแต่ฉันเพียงได้เห็น เมื่อตลกนั้นย้อนมาหาตัวฉันเอง

ตลก-แดก

ก่อนเลือกตั้งปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ คือตัวตลกในความทรงจำของเรา สื่อทุกสื่อ เว็บแทบทุกเว็บ และแทบทุกเพจ เล่นมุขตลกเกี่ยวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ บางคนถึงกับมีโฟลเดอร์มีม รวมมุกตลกเกี่ยวกับคนคนนี้ รายการโทรทัศน์ทำให้ทรัมป์กลายเป็นตัวตลก คนสวมหน้ากากทรัมป์กับปูตินเล่นกันสนุกสนาน ด้วยความเชื่อว่า ฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา เหมือนท่อนนั้นของเพลง ตลกที่เราหัวเราะกัน มันย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง และทุกคนก็ตั้งคำถามว่า

เรื่องเชี่ยนี่เกิดขึ้นมาได้ไงวะ

อยู่ๆ ตัวตลกที่ทุกคนหัวเราะเยาะกันดันกลายมาเป็นประธานาธิบดีได้หน้าตาเฉย มันคงไร้เหตุผลและตลกเกินไป แต่ไม่ใช่สำหรับไมเคิล มัวร์

Fahrenheit 11/9 ทำให้เรามองเห็นภาพรวมว่า ลำพัง โดนัลด์ ทรัมป์ เพียงคนเดียว ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ประธานาธิบดีทรัมป์’ ขึ้นมาได้ ตลกร้ายแบบนี้ มันมีเบื้องหลังที่ต้องโยงทุกประเด็นเข้าด้วยกันอยู่ อย่างที่พิธีกรชื่อดัง จอห์น โอลิเวอร์ เคยกล่าวว่า คำว่า ‘ประธานาธิบดี’ กับ ‘ทรัมป์’ ดูไม่ใช่คำที่จะอยู่ด้วยกันได้เลย แต่มันก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะสังคม เพราะพรรครีพับลิกัน เพราะพรรคเดโมแครต เพราะโอบาม่า และเพราะคนอเมริกันทุกคนเอง

มองย้อนกลับมาเมืองไทยบ้าง ปี  2557 หรือปี 2014 รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจ วันที่ 22 พฤษภาคม เราปิดเทอมฤดูร้อน คณะรัฐประหารออกทีวี ความรู้สึกเราในตอนนั้นคือ “ก็ดี จะได้สงบสักที พ่อที่ออกไปชุมนุม กปปส. ทุกวัน จะได้กลับบ้านบ้าง จะได้ไปเดินสยาม ไม่มีปิดถนนแล้ว”

กลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศตอนนี้ เราอยากจะวิ่งกลับไปตบหน้าตัวเองที่ยังไม่เดียงสาเรื่องการเมืองในตอนนั้น และหลายๆ คนก็คงคิดเหมือนกับเรา เราเพิกเฉยกับการเมือง เรารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิทธิของตัวเองมีอะไรบ้าง จนมารู้ตัวอีกที เราก็มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม แล้วมันก็ค่อยๆ กระเถิบเข้ามาถึงตัวเราเร็วขึ้นๆ จนรู้ตัวอีกที เราก็คิดได้ว่า “อา ชิบหายแล้ว”

แต่เรารู้ตัวกันเมื่อไหร่กัน? ตอนที่เราตลกกับมุกลุงตู่ “ฮ่าๆๆ ตลกจังเลย” หรือว่าวันที่เราไม่สามารถตลกกับมุกแบบนี้ได้อีกแล้ว เพราะเราชินชาและหมดหวังกับการเมืองไปแล้ว?

เราไม่ได้รู้สึกถึงความชิบหายทันทีทันใดหรอก เหมือนกับคนอเมริกันนี่แหละ ที่คิดว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของเรา คนอเมริกันหัวเราะตัวตลกที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ไม่รู้ว่าตลกตัวนั้นกำลังช่วงชิงอะไรไปจากพวกเขาอย่างช้าๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเงินเดือนที่ควรจะได้มันไม่พอยาไส้ วันหนึ่งจะต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อรักษาพยาบาลตัวเอง เพราะสวัสดิการที่เคยได้กลับกลายเป็นธุรกิจไปเสีย วันหนึ่งโรงเรียนที่ไปทุกวันไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยอีกแล้ว

วันนั้นคงตลกไม่ออก และตัวตลกที่แท้จริง คือตัวประชาชนเองต่างหาก

กลับมาเมืองไทย มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นกี่รอบต่อกี่รอบ กี่สมัย แต่เราตอบสนองกับมันอย่างไร? เราโกรธจนออกมาเรียกร้องอะไรไหม? หรือเราแค่สร้างมันเป็นมุกตลก หัวเราะกับมัน ปล่อยให้ตัวตลกพวกนี้ ‘แดก’ ภาษีเราไปเท่าไหร่ แล้วไม่กี่วันเราก็ลืม หายต๋อมลงไปในมวลความโกรธเกรี้ยวที่สั่งสมในสังคม รอให้ข่าวใหม่ออกมาทับถมสร้างเป็นเชื้อเพลิงอันเดือดดาลของเราต่อไป

สังคมตอนนี้กำลังลุกเป็นไฟ แล้วเชื้อเพลิงเริ่มจุดขึ้นเมื่อใดกัน?

ในอเมริกา เชื้อเพลงถูกจุดขึ้นวันที่ 11/9 วันประกาศผลเลือกตั้ง หรือว่าจุดเดือดนั้นเริ่มมาตั้งนานก่อนที่จะเกิด โดนัลด์ ทรัมป์ เสียอีก ในหนังเรื่องนี้ ไมเคิล มัวร์ ดึงให้เรามองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยโอบามา หรือไกลกว่านั้น ในสมัยเยอรมนี ก่อนจะมีฮิตเลอร์ สังคมแบบไหนกันนะ ที่บ่มเพาะให้คนแบบทรัมป์มีอำนาจขึ้นมา และมันก็ไม่เกี่ยวเลยว่าจะเป็นรีพับลิกัน หรือเดโมแครต ไม่เกี่ยวเลยว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับชุมชน

Fahrenheit 11/9 ทำให้เราเห็นว่าคนแบบทรัมป์มีอยู่ในทุกที่ ในสังคมการปกครองทุกขนาด โอบามา, ฮิลลารี, นายกเทศมนตรี, อาจารย์ใหญ่, หรือคนทำงานราชการ ก็ตลบตะแลง ก้มหัวต่อความอยุติธรรม ไม่ต่างจากทรัมป์เลย และสำหรับคนไทย เราคงไม่ต้องยกตัวอย่างมากหรอก เพราะเราก็เห็นในทุกวัน จนเราชินชาและหมดหวังกันแล้ว

ถ้าอเมริกามี โดนัลด์ ทรัมป์ แล้วสังคมไทยมีใคร? คำตอบคงไม่ใช่คนเพียงคนเดียวแน่ๆ เราคงได้นั่งจดรายชื่อกันมือเป็นระวิง ลากยาวกันมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดเป็นรัฐบาลสมัยนายกฯ ตู่ แต่ทำไมเราถึงไม่เรียกร้องอะไรเลย? หรือเพราะเราบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก…ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับชาวอเมริกัน เราเลือกประนีประนอม กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะฐานเสียงหรือผลประโยชน์ของตัวเอง

Fahrenheit 11/9 ทำให้เราเห็นว่าความประนีประนอม ความหยวนๆ ประมาณว่า “อย่าทำเลย มันไม่ดีหรอก เกรงใจพี่เขาน่า” ของพรรคเดโมแครตในอเมริกา และของคนทั่วไป คือหลุมที่ทำให้พวกเขาติดหล่มคอร์รัปชันจนไม่ไปไหนเสียที หนังจึงไม่ได้ทำให้เราเห็นแค่แง่มุมของอเมริกา แต่มันทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราเองด้วย

ถึงอเมริกาจะพัง ฉันก็ยังอิจฉาอเมริกา

สิ่งที่อเมริกามีมากกว่าประเทศไทย คือ freedom of Speech – เสรีภาพในการพูด การแสดงออก ที่เอื้อให้เกิดการเดินขบวนครูอาจารย์และนักเรียน ออกมาประท้วงกันทั้งประเทศ

ในเมืองไทย เรากล่าวว่า ไม่ร้อกกกก ไม่ใช่เผด็จการร้อกกก แต่แค่แร็พเพลงที่พูดความจริงก็จ่อโดนเล่นงานแล้ว ยังไม่นับรวมใครอีกหลายคน ที่เลือกปิดปากตัวเองเพื่อการอยู่รอดอีกนะ

การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ปุบปับ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย

หนังบอกเราว่า หากเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน แน่นอนว่าวันที่ 11/9 ปี 2016 พวกเขาได้เลือกทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แต่อีกสี่ปีข้างหน้า เขาจะมีโอกาสเลือกคนอื่นขึ้นมาแทน เขามีโอกาสทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคนจำนวนหนึ่งก็จะศึกษาจากความผิดพลาดของตัวเอง การที่อเมริกันชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิได้ ก็เป็นสัญญาณของกระบอกเสียงที่กระตุ้นต่อไปที่คนอื่นๆ ให้พวกเขาไม่ยอมอยู่เฉย

ระหว่างดูหนัง เราถูก ไมเคิล มัวร์ เป่าหูว่า “ไม่เป็นไรน่า ความหวังยังมี ดูคนเหล่านี้สิ เขายังลุกขึ้นสู้อยู่ อนาคตคงจะดีขึ้นน่า” แต่ ไมเคิล มัวร์ ตลบหลังเราด้วยการบอกว่า “อ้าว ชิบหาย ไม่ทันแล้วคุณ มันสายไปแล้ว คุณต้องลุกขึ้นมาได้แล้ว ตอนนี้ เดี๋ยวนี้”

ความหวังเป็นสิ่งที่ดี แต่มันทำให้เราเฉยชา เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าคุณไม่ยอมขบถเพื่อสิทธิที่ยังมีอยู่ในมือ คุณยอมก้มหัวเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้าย คุณก็จะตายลงเมื่อความชิบหายมาถึงตัวเอง

เรา (ได้แต่หวังว่า) กำลังจะมีการเลือกตั้งปีหน้า ตอนนี้ประเทศเราอยู่ในฟาเรนไฮท์ที่เท่าไหร่ ทุกคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันอยู่ในใจ และเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน เราเรียนรู้กันไปแค่ไหน คำตอบคงอยู่ในใจของแต่ละคนแตกต่างกัน

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า