ภาวะซึมเศร้าในหมู่ฝ่ายซ้ายสากล

เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี / วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

ปี 2017 กระแสการเมืองโลกดูจะร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง หลังการขึ้นสู่อำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ การทำประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และกระแสสูงของพรรคการเมืองฝ่ายขวาในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ไม่เว้นกระทั่งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย

ขณะที่บรรยากาศการเลือกตั้งยังคงคึกคักอบอวลอยู่ในหลายประเทศ หลายฝ่ายต่างพุ่งความสนใจไปที่สนามการเลือกตั้งในประเทศที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของโลก ซึ่งมีการต่อสู้ทางนโยบายอย่างแหลมคม

ทว่าสิ่งที่ประหลาดใจไม่น้อยไปกว่าผลการเลือกตั้ง กลับคือ ปรากฏการณ์ถดถอยของกระแสความนิยมในหมู่พรรคการเมืองซ้ายทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถนำเสนอวาระทางการเมืองได้ในเวทีเลือกตั้งหลายแห่ง เช่น สหรัฐ หรือฝรั่งเศส จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับปีกซ้ายทางการเมืองกันแน่

สาเหตุความถดถอยนั้นมาจากอะไร ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เป้าการวิจารณ์ของฝ่ายซ้ายอาจต้องเปลี่ยนไปจากเดิม   

วันนี้เรามาหาคำตอบจากทัศนะของ สรวิศ ชัยนาม รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญแนวคิดจักรวรรดินิยม และเอาใจใส่ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในหมู่ฝ่ายซ้ายสากลมาโดยตลอด เห็นได้จากหนังสือที่เขียนเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ อาทิจากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์ ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ (2555) และ Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย (2558)

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ กระตุกเตือนผู้อ่านอย่างถึงรากถึงโคน ทั้งการวิพากษ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ผู้สมาทานพหุวัฒนธรรม ไปจนถึงสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น ไม่อ้อมค้อมที่จะบอกว่า ทางออกทางการเมืองในเวลานี้ต้องเป็นอะไร เรามาเริ่มเจาะลงไปในประเด็นวิกฤติของฝ่ายซ้ายสากลในเวลานี้ และแถมท้ายสั้นๆ ด้วยบทวิเคราะห์การหย่าร้างจากการปฏิวัติในหมู่ฝ่ายซ้ายไทย

พบกับทัศนะวิพากษ์นี้จาก สรวิศ ชัยนาม  


จากผลประชามติของอังกฤษ เลือกตั้งสหรัฐ หรือผลการเลือกตั้งฝรั่งเศส เราพอบอกได้หรือยังว่า ทิศทางของโลกกำลังหันไปสู่ความเป็นขวา

คำถามนี้ค่อนข้างซับซ้อน ประเด็นแรก การที่ฝ่ายซ้ายถดถอย หรือกลายเป็นขวา มีมาหลายทศวรรษแล้ว แต่จากปรากฏการณ์ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Brexit การขึ้นมาของทรัมป์ ชัยชนะของมาคร็อง (Emmanuel Macron) ในฝรั่งเศส ทั้งสามปรากฏการณ์นี้ ก็มีความแตกต่างที่ต้องอธิบาย

ใน Brexit จะพบว่า มีทั้งสายที่เป็นฝ่ายขวา เช่น พวกชาตินิยม ต่อต้านผู้อพยพ และสายที่เป็นซ้ายก็มี แต่เหตุผลต่างออกไป พวกซ้ายเห็นว่า สหภาพยุโรปนั้นเป็นเผด็จการ เป็นเผด็จการของเทคโนแครตในกรุงบรัสเซลส์ แน่นอน ผลของ Brexit ออกมาเป็นฝ่ายขวาชนะก็จริง แต่ไม่ได้เป็นโจทย์ของฝ่ายขวาโดยตัวของมันเอง

ในการเลือกตั้งฝรั่งเศส ผลการเลือกตั้งน่าสนใจ มาคร็องที่ชนะเป็นตัวแทนของอำนาจเดิมของพวกเสรีนิยมใหม่ แม้จะแข่งกับเลอเปน (Marine Le Pen) ที่เป็นฝ่ายขวา แต่คะแนนเสียงอันดับสองนี่สิที่น่าสนใจ เพราะคือ ‘ผู้งดออกเสียง’ และอันดับสามจึงเป็นเลอเปน ในฝรั่งเศส ตัวแทนอำนาจเดิมยังได้ในแบบที่พวกเขาต้องการ จะบอกว่าเป็นฝ่ายขวาเสียทีเดียวก็ไม่ใช่

กรณีสหรัฐ ทรัมป์เองไม่ใช่เป็นตัวแทนของอำนาจเก่า เอาเข้าจริงๆ อำนาจเก่าก็ไม่ได้ชอบทรัมป์ เพราะตัวแทนที่เขาต้องการคือ ฮิลลารี (Hillary Clinton) อำนาจเดิมจึงถูกสั่นคลอน ดังนั้นเราจะเห็นปรากฏการณ์ที่ดูจะเหมือนกัน แต่ก็ค่อนข้างแตกต่าง

ในอังกฤษยังมีสิ่งที่แปลกประหลาด คือการขึ้นมาของ เจเรมี คอร์บิน ในพรรคเลเบอร์ และเริ่มหลุดออกมานิดหน่อยว่าเป็น ‘Labour Manifesto’ ที่คอร์บินสัญญาว่า ไม่เอาเสรีนิยมใหม่ แล้วเอารัฐสวัสดิการเข้ามาแทนที่ รถไฟฟ้าที่เคยเป็นของรัฐและแปรรูปเป็นเอกชนในสมัย มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ รัฐจะเอากลับเข้ามา

ในเอกวาดอร์ มีประธานาธิบดีคนใหม่ เดินสายสังคมนิยมตามแบบ ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซูเอลา ชื่อเด็ดมากเลย ชื่อ ‘เลนิน’ หรือเต็มๆ คือ เลนิน โมเรโน เป็นพรรคสังคมนิยมที่สืบทอดมาจาก ราฟาเอล กอร์เรอา

แต่แน่นอน ภาพโดยรวมของการเมืองออกไปทางฝ่ายขวา แต่ปรากฏการณ์ที่เราวิตกกังวลว่าโลกจะหันขวา มันมีมาหลายทศวรรษแล้วนะ อย่างน้อยตั้งแต่หลังสงครามเย็น 1989-1991

เรามักเข้าใจว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็น คือ ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยและทุนนิยมเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่แต่คอมมิวนิสต์ที่พ่ายแพ้ มันกลายเป็นประชาธิปไตยด้วยที่พ่ายแพ้ เป็นทุนนิยมชนะเหนือประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ไปด้วย

ทำไมจึงเป็นเป็นเช่นนั้น

เหมือนกับว่าทุนนิยมไม่มีศัตรู เช่น คอมมิวนิสต์ ทุนนิยมจึงไม่ต้องทำตัวดี ก็กร่างได้เต็มที่ ไม่ประนีประนอม แม้เล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องการกระจายรายได้ เรื่องภาษี เมื่อทุนนิยมไม่ต้องคอยพะวงว่ามีพรรคคอมมิวนิสต์ หรือมีทางเลือกอื่น หรือมีคนที่ต่อต้าน ว่าจะมีการปฏิวัติหรือเปล่า

ผมชอบประโยคของนักปรัชญาชาวเยอรมันแนวอนุรักษนิยม ชื่อ เปเตอร์ สโลเตอร์ไดค์ (Peter Sloterdijk) เขาเขียนว่า “ขอบคุณสหายสตาลินที่ประทานรัฐสวัสดิการให้กับพวกเรา (ชาวยุโรปตะวันตก)” เพราะถ้าไม่มีสหายสตาลิน ยากที่ชนชั้นนำในยุโรปจะยอมปรับตัว ประทานสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชน

เหตุผลที่ประชาธิปไตยพ่ายแพ้ให้แก่ทุนนิยมคืออะไร

สิ่งแรกที่ต้องชัด คือ ผมไม่อยากให้เราเพ้อเจ้อเกี่ยวกับประชาธิปไตย มันไม่ใช่ยาวิเศษ มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกโรค เราชอบเพ้อเจ้อว่ามันมีพลังมากมายว่า เมื่อเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างจะได้รับการแก้ไข ทุกอย่างจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าไม่มีข้อดี แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่เราคาดหวัง โดยเฉพาะปัญหาของทุน

ผมชอบคำกล่าวของนักทฤษฎีการเมือง ชื่อ เวนดี บราวน์ (Wendy Brown) ผมทำการบ้านมาเยอะหน่อยนะ ผมอ่านสั้นๆ แล้วกันว่า “ประชาธิปไตยไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการครอบงำของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบังคับโดยตรง หรืออำนาจแยบยลของมัน ประชาธิปไตยคือรูปแบบที่ว่างเปล่า ซึ่งสามารถบรรจุสารัตถะแย่ๆ ยังไงลงไปก็ได้ อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายต่างๆ ตั้งแต่ลัทธิชาตินิยมเหยียดต่างชาติ ไปจนถึงการล่าอาณานิคมเหยียดสีผิว หรือตั้งแต่อำนาจนำที่เชิดชูรักต่างเพศ ไปจนถึงอำนาจนำของทุนนิยม”

ก็คือเป็นรูปแบบที่ว่างเปล่า ถ้าเสียงส่วนใหญ่ต้องการอาณานิคม ถ้าเสียงส่วนใหญ่ต้องการเหยียดสีผิว ถ้าเสียงส่วนใหญ่ต้องการสิ่งเหล่านี้ล่ะ ประชาธิปไตยมันไม่ได้การันตีว่า ทรัมป์จะไม่เกิดขึ้น คือเราไปติ๊ต่างเอาเองว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ทุกคนจะมีจิตใจอดกลั้น ยอมรับความแตกต่าง มีคุณธรรม มีความเสมอภาค ไม่ใช่

เคยเสนอว่า ฝ่ายขวาและเสรีนิยมเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน แล้วความแตกต่างของทั้งสองจุดยืนนี้อยู่ตรงไหน

ผมว่า เสรีนิยมกับอนุรักษนิยมเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ในสองความหมายหลักๆ คือ ความหมายแรก ฝ่ายเสรีนิยม รวมถึงเสรีนิยมใหม่ สร้างเงื่อนไขที่ช่วยปูทางสำหรับการขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มีนโยบายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจอะไรมากมาย ความยากจน การตกงานของประชาชน ความยากแค้น ฯลฯ

พูดง่ายๆ ว่า นโยบายของมาคร็องทำให้คนอย่างเลอเปนสามารถเป็นตัวเลือกขึ้นมาเพื่อคัดค้านกับสถานภาพเดิม ซึ่งมาคร็องเป็นตัวแทนอยู่ หรือนโยบายของพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตัน, บารัก โอบามา รวมถึงสามีของเธออย่าง บิล คลินตัน คลินตันทำอะไร คลินตันทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘Progressive Neoliberalism’ (เสรีนิยมใหม่แบบหัวก้าวหน้า)

ก็คือนโยบายเสรีนิยมใหม่สุดโต่ง แต่นโยบายสังคมวัฒนธรรมยังส่งเสริมสิทธิของรักต่างเพศ ความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี ไม่เหยียดสีผิว เป็นพหุวัฒนธรรมนิยม ฯลฯ มันมาคู่กับนโยบายเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น

ทำให้เรามองข้ามนโยบายที่เลวร้ายทางเศรษฐกิจ สร้างความเงางาม ความน่าดึงดูด ให้กับนโยบายเสรีนิยมใหม่ ในแง่นี้ นโยบายตั้งแต่ บิล คลินตัน สองเทอม โอบามาสองเทอม จึงช่วยกรุยทางไปสู่คนอย่างทรัมป์ มันเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการขึ้นมาของฝ่ายทรัมป์ ที่บอกว่าเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ก็คือประเด็นนี้

อีกความหมายหนึ่งก็คือ มองในระดับของอัตวิสัยแล้วกัน อัตวิสัยของอนุรักษนิยมนั้นมักจะมองไปข้างหลัง มองไปในอดีต ยกย่องอดีต อยากกลับไปสู่อดีต แน่นอนต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายในปัจจุบันเพื่อกลับไปสู่อดีต เช่น ความไม่เท่าเทียมกัน ลำดับชั้น เป็นต้น

ขณะที่พวกเสรีนิยมมองไปแค่ปัจจุบัน คือพึงพอใจกับสถานภาพเดิม อาจจะเรียกว่า ‘สัจนิยมแบบทุน’ ความเป็นจริงมีได้หนึ่งเดียว หรือเราจะเรียก ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุน’ ก็ได้ เสรีนิยมจึงต้องการปกป้องสถานภาพเดิม ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีความแตกต่าง ไม่สามารถเป็นอนาคตที่แตกต่างได้ อันหนึ่งมองไปในอดีต อันหนึ่งมองแค่ปัจจุบัน

ทำไมความคิดฝ่ายซ้ายไม่ใช่คำตอบของความตึงเครียดนี้ อย่างน้อยเราก็เห็นในผลของการเลือกตั้งในหลายๆ แห่ง

ก็ต้องกลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วฝ่ายซ้ายหายไปไหน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960-1970 ฝ่ายซ้ายเหมือนกับทยอยละทิ้งค่านิยมของฝ่ายซ้ายไปสนใจเรื่องอื่นแทน สิ่งแรกที่ฝ่ายซ้ายเลิกทำคือ เลิกพูดถึงการปฏิวัติ ทิ้งมันไป เลิกพูดถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ เลิกพูดถึงการมีพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ เลิกต่อสู้ทางชนชั้น เลิกต่อต้านทุนนิยม เลิกให้ความสนใจในเรื่องความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ

หันไปเล่นเกมวัฒนธรรมสังคม ไปเล่นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ สิทธิชุมชน การเมืองเชิงวัฒนธรรม แล้วทิ้งมณฑลของเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อคุณไม่สนใจเรื่องความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้านชนชั้นนำ ฝ่ายเสรีนิยมก็ดีใจ อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมฝ่ายซ้ายไม่สามารถปกป้องรัฐสวัสดิการได้ในกรณีอังกฤษ ในยุคของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

ไม่ได้บอกว่ามีข้อเสีย เช่น การสนใจประเด็นสังคมวัฒนธรรม แต่ถ้าคุณละทิ้งเศรษฐกิจการเมือง และเลิกต่อต้านทุนนิยม และมาอธิบายว่า ชนชั้นไม่ได้แตกต่างจากเพศ ไม่ได้แตกต่างจากสีผิว อันนี้สร้างปัญหาให้คุณ ตรงกันข้าม ฝ่ายขวามันไม่เคยละทิ้งรัฐเลย พอบอกว่าฝ่ายซ้ายจะเลิกสนใจ ดีใจตายห่าเลย มึงออกไปจากมณฑลของการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ กูสบายแล้ว

ผมชอบคำนี้มาก มีนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ‘มันเป็นความซึมเศร้าของฝ่ายซ้าย’ คือความซึมเศร้าเป็นจารีตอันหนึ่งของฝ่ายซ้าย เพราะตามประวัติศาสตร์ ต้องยอมรับว่ามันล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ

แต่มันต่างกันตรง ความล้มเหลวในอดีตนั้น มันไม่เคยถอดใจ ไม่เคยสิ้นหวัง โอเค สมรภูมินี้เราแพ้ วันนี้เราแพ้ แต่พรุ่งนี้เราอาจจะชนะได้ เราต้องเรียนรู้ว่า วันนี้เราพ่ายแพ้ด้วยอะไร เพื่อชัยชนะในวันข้างหน้า แต่หลังสงครามเย็น อันนี้มันหายไป มันกลายเป็นว่า “เราพ่ายแพ้อย่างถาวรแล้ว เราไม่สามารถชนะได้แล้ว” สิ่งเดียวที่พอทำได้คือ สมาทานกับทุนนิยมและโลกที่เป็นอยู่ และก็อาจจะทำให้โลกที่เป็นอยู่มีใบหน้าที่เป็นมิตรมากขึ้น

ลักษณะซึมเศร้าเป็นอย่างไร

หลังสงครามเย็น มันกลายเป็นความซึมเศร้าที่ลึกและไม่สามารถเยียวยาได้ ทำให้ฝ่ายซ้ายไม่กล้าพูดคำว่า ‘เรา’ อายที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน กูเป็นนักประชาธิปไตยเว้ย กูไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์ รู้สึกผิดที่เคยฝักใฝ่เลนิน หรือเหมา

ดั่งกับความล้มเหลวมันฝังอยู่ในแนวคิดคอมมิวนิสต์ ความล้มเหลวกลายเป็นว่า ไม่สามารถแก้ไขหรือเรียนรู้จากอดีตได้อีกต่อไปแล้ว ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ จึงกลายเป็นฝ่ายซ้ายที่ไม่กล้าพูดคำว่า ‘เรา’ ไม่กล้าเป็นพลังสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร

ผมเสนอแบบนี้แล้วกัน โดนด่าก็ว่ากันไป  

“ฝ่ายซ้ายกลายเป็นพวกสนับสนุนฟุกุยะมะ ที่ต่อต้านฟุกุยะมะ” (ฟรานซิส ฟุกุยะมะ นักรัฐศาสตร์ผู้ทำนายว่าประวัติศาสตร์โลกสิ้นสุดลงแล้วด้วยชัยชนะของเสรีประชาธิปไตย) ที่บอกว่าโลกนี้มีได้แค่ทุนนิยมและประชาธิปไตย ฝ่ายซ้ายบอกว่าฟุกุยะมะโง่ แต่สุดท้ายในการประพฤติของตัวเองก็ไม่ได้ท้าทาย ไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนแปลง

กรณีของไทยด้วยใช่ไหม

ถ้าอิงจากงานของ อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (เรื่องThe Rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics) ก็อาจจะบอกว่า ฝ่ายซ้ายไทยปรับลุคตัวเอง ปรับอัตลักษณ์ตัวเอง จนกลายเป็นว่าฝ่ายซ้ายในอดีตเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนะ แต่เอาเข้าจริง การต่อสู้ในอดีตคือการปฏิวัติ คำว่าปฏิวัติเลยกลายเป็นคำที่ฝ่ายซ้ายละทิ้งไป หรือมองว่ามันไม่มีคุณค่าอีกต่อไปแล้ว เพราะว่ามันจะนำไปสู่สิ่งที่เลวร้ายกว่าเสมอ เช่น ระบอบสตาลิน

เมื่อโจทย์ของฝ่ายซ้ายคือ ละทิ้งการเมือง ละทิ้งเศรษฐกิจ แล้วใครจะเข้ามาแทนที่

ก็คือฝ่ายขวา ฝ่ายขวาคือลูกศิษย์ที่ดีที่สุดของฝ่ายซ้าย เรียนรู้จากฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องสโลแกน มีธง มีสี เรื่องการระดมคนอย่างไร จะสร้างอุดมการณ์อย่างไร จะสร้างพรรคอย่างไร เขาเป็นลูกศิษย์ที่ดีที่สุดของฝ่ายซ้าย เพียงแต่ว่าครูเขาได้ละทิ้งสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว

ปัจจุบันใครๆ ก็อยากเป็นเสรีนิยม เป็นฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายก้าวหน้ามีจริงหรือไม่ เมื่อระบบการปกครองที่ก้าวหน้าและเป็นเสรีนิยมมีทีท่าว่าล้มเหลว โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ แล้วมันดีกว่าอนุรักษนิยมอย่างไร

ผมไม่ได้มองว่าพวกเสรีนิยมเป็นหัวก้าวหน้านะ เพราะความก้าวหน้าสำหรับผม มันต้องท้าทายในสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะสัจนิยมแบบทุน หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุน

เสรีนิยมไม่ได้ท้าทายทุนนิยม เสรีนิยมเก่งเมื่อท้าทายเผด็จการ หรือฝ่ายขวา หรือพวกนาซี แต่เสรีนิยมไม่ได้ท้าทายทุนนิยม เสรีนิยมจะขาดความทะเยอทะยานเมื่อต้องมาท้าทายกับทุนนิยม

เสรีนิยมก้าวหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับอนุรักษนิยม แต่เสรีนิยมจะอนุรักษนิยมเมื่อเทียบกับคอมมิวนิสต์

ยกตัวอย่างปัญหาภายในเสรีนิยมเอง เช่น แนวคิดพหุวัฒนธรรม มีปัญหาหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้างในปัจจุบัน และต่างอย่างไรกับความเห็นของฝ่ายขวาในหลายประเทศที่กำลังขยายตัว

ส่วนหนึ่งของพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายทิ้งโจทย์ของเศรษฐกิจและการเมือง แน่นอน ก็ไปเล่นแนวสังคมวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ถามว่าปัญหาคืออะไร อย่างแรกเราไม่ได้ปฏิเสธพหุวัฒนธรรม ไม่ได้บอกว่าเราไม่เอาความหลากหลาย หรือไม่เห็นคุณค่าของความอดกลั้นและยอมรับความแตกต่าง

เพียงแต่ว่า พหุวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับปัญหาเหยียดสีผิว เหยียดชาติพันธุ์ ใช้คำของ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) แล้วกัน ว่า “มันเป็นการเหยียดชาติพันธุ์แบบกลับหัว” มันเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการเหยียด เป็นความแตกต่างที่ยังอยู่ในกรอบพหุวัฒนธรรมนิยมนะ พูดง่ายๆ “ถ้าเอ็งไม่ยอมรับคุณค่าวัฒนธรรมนิยม กูก็ไม่อดกลั้นกับมึงนะ”

ทำนองว่า ต้องการแค่กาแฟพร่องคาเฟอีน ต้องการแค่ ‘ดีแคฟ’ ไม่ได้ต้องการน้ำตาลนะ แต่อะไรก็ได้ที่เป็นสารให้ความหวาน จึงต้องการโค้กไลท์ สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างที่ไม่ได้แตกต่างเสียทีเดียว

ดังนั้น มันก็อาจจะยอมรับการเหยียดสีผิวได้ ยอมรับการเหยียดชาติพันธุ์ได้ เช่น เวลาบอกว่าเรื่องบางเรื่องเป็นจารีต ประเพณี คุณต้องเข้าใจคนเหล่านี้นะ เขาก็ดูถูกผู้หญิงโดยสังคมของเขาอย่างนี้แหละ เขาตบตี ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงโดยประเพณีมาอย่างยาวนานแล้ว เราอย่าเอาทัศนคติของเราไปวิพากษ์วิจารณ์เขาเลย อันนี้เป็นตัวอย่าง

โจทย์ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายที่เหยียดสีผิวในสหรัฐเล่นเกมนี้ เล่นเกมเรื่องความแตกต่าง เรื่องความหลากหลาย บอกว่า มีความเป็นพหุนิยมในสหรัฐ สนใจแต่ความหลากหลายของคนผิวสี คนต่างด้าว ต่างศาสนา ดูเราสิ เราก็ผู้ชายผิวขาว กลายเป็นเสียงข้างน้อยในประเทศไปแล้ว พวกเราเป็นเหยื่อ คุณต้องเคารพสิทธิของเรา เรามีสิทธิที่จะคิดต่างจากพวกคุณ เรามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับพวกคุณ

อีกอันหนึ่งคือ กรณี PC (Political Correctness – ภาษาที่ถูกต้องทางการเมือง) ผมเห็นว่า เป็นภาษาแบบเด็ก เป็นภาษาแบบพ่อแม่สอนลูก ลูกอย่าใช้คำหยาบนะ แต่มันไม่ใช่ภาษาผู้ใหญ่ เด็กจะจำว่า เอ่อ คำนี้ เป็นคำหยาบ ห้ามใช้คำนี้ แต่เมื่อมนุษย์โตขึ้น ภาษาผู้ใหญ่คือ คำหนึ่งคำมีได้หลายความหมาย แล้วแต่บริบท แล้วแต่อากัปกิริยา แล้วแต่น้ำเสียง

ภาษาของผู้ใหญ่ยืดหยุ่นกว่าภาษาของเด็ก เช่น การโชว์นิ้วกลาง ไม่จำเป็นต้องเป็นการโมโหและโกรธแล้วต้องด่าอีกฝ่าย คุณโชว์นิ้วกลางให้เพื่อนสนิทคุณ เป็นการล้อเล่นได้ การใช้คำหยาบกับเพื่อนสนิท บางทีก็เป็นตัวชี้วัดความสนิทชิดชอบกันได้ มันไม่ใช่คำด่ารุนแรงที่สร้างความร้าวฉาน

ในภาควิชาผม มีอาจารย์คนหนึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน เชื้อสายจีน อาจารย์อีกคนสอนด้านภารตะวิทยา มีเชื้อสายอินเดีย สิ่งที่ทั้งสองทำคือ อีกฝ่ายเรียกอีกฝ่ายว่า ‘เจ๊ก’ อีกฝ่ายก็เรียกกลับว่า ‘แขก’ นี่คือสัญญาณว่าอีกฝ่ายสนิทชิดชอบกันมากนะ

คำว่า ‘เจ๊ก’ คำว่า ‘แขก’ กลายเป็นเครื่องชี้วัดความสนิท แต่แน่นอน มันไม่สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์ก็จริง แต่ PC มันทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาอย่างอื่นได้เลย

อีกตัวอย่างคือ PC มักจะบอกว่า อย่าเรียกคนดำในอเมริกาว่า ‘Nigger’ นะ ให้เรียกว่า ‘African American’ อย่าเรียกคนพิการว่า ‘Disable’ แต่ให้เรียกว่า ‘Physically Challenger’ อย่าเรียกว่าเป็นการทรมาน แต่ให้เรียกการไต่สวนด้วยวิธีพิเศษ ภาษาจึงมีความหมายแตกต่างในบริบทที่แตกต่าง

แล้วอย่างแนวคิดอื่น เช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน?

ปัญหาหนึ่งของสิทธิมนุษยชนคือ มักไม่แตะเรื่องทุนนิยม โจทย์ของสิทธิมนุษยชน เป็นรัฐ ผู้มีอำนาจ เป็นเผด็จการอะไรก็ตาม สิทธิมนุษยชนไม่ค่อยแตะความรุนแรงของทุนนิยม อย่างมากก็แตะไปเรื่องสิทธิแรงงาน หรือสหภาพ แต่ไม่ใช่ความรุนแรงของระบบ

สิทธิมนุษยชนมักไม่ค่อยอธิบายอะไรมาก บอกเพียงว่า ขอให้ต่างฝ่ายต่างระงับใช้ความรุนแรง และเคารพสิทธิของกันและกัน แล้วยังไง ไม่อธิบายอะไรเลย ฝ่ายรัฐที่เอาเปรียบมาอย่างยาวนานนำมาสู่การก่อกบฏจากชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านต่อต้านอำนาจรัฐ สิทธิมนุษยชนทำอะไร สันติวิธีนะ อย่าใช้ความรุนแรง ค่อยๆ เจรจา ไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ดีเสียทีเดียว เลยไม่แปลก ที่สหรัฐจะหันมาสนับสนุนสิทธิมนุษยชน

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ในมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ มีกระแสเรียกร้องให้เพศที่สามมีห้องน้ำพิเศษ ผู้ว่าการรัฐนั้นก็ไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นมี CEO ในสหรัฐหลายบริษัท รวมถึง Apple ที่เขียนจดหมายประท้วงกลับผู้ว่าการรัฐ โดยบอกว่า เราสนับสนุนให้มีห้องน้ำเพื่อเพศที่หลากหลาย แต่ CEO ของ Apple ไม่เคยสนใจ แรงงาน Foxconn ที่ผลิตอุปกรณ์ให้ Apple Macintosh ก็ยังจ้างแรงงาน Foxconn ทั้งที่เสินเจิ้น และไต้หวัน

โจทย์คือ เราไม่ได้ต่อต้านสิทธิทางเพศที่หลากหลาย แต่คือ ถ้าคุณสนใจสิทธิเหล่านี้ คุณต้องสนใจทุนนิยมด้วย ไม่ควรสนใจเรื่องเพศเป็นแค่เรื่องของเพศ

ถ้ากล่าวว่า ประชาธิปไตยคุมทุนนิยมไม่ได้ อะไรที่ควรหรือกำลังเกิดขึ้นมาทดแทน

ผมก็กลับไปสู่คำเดิม คือคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ก็ตั้งแต่แรก คอมมิวนิสต์มันคือทางออก คือทางเลือกของทุนนิยม ประชาธิปไตยไม่ได้วางตัวเองให้เป็นทางเลือกของทุนนิยม มันไม่ได้ดีกว่าอะไรหรอก แต่มันจำเป็น

กำลังพูดถึงการปฏิวัติแบบเลนิน?

คอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 หน้าตาต้องไม่เหมือนเดิม เพราะคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 คือความล้มเหลว แต่ในความล้มเหลว ระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีที่ประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งเราต้องตระหนัก เช่น เพิ่มอายุขัย ให้การศึกษากับผู้คน สุขภาพคน แต่ในภาพรวม แน่นอน เป็นเผด็จการพรรคเดียว มีการเข่นฆ่าคนที่คิดต่างทางการเมือง อันนี้ต้องคอยเข้าใจ เรียนรู้ แล้วก็วิจารณ์ ไม่พยายามซ้ำรอย

หลักๆ ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า คอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 ต้องมีหน้าตาอย่างไร เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 ต้องมีหน้าตาอย่างไร การปฏิวัติต้องเป็นทุกสถานการณ์ไหม ควรลงเล่นการเมืองไหม ควรลงเลือกตั้งไหม

มีความพยายามร่วมสองส่วนนะ คือ สนใจทั้งอำนาจรัฐ และสนใจทั้งรากหญ้า เช่น ยานิส ยาโรฟากิส (Yanis Varoufakis) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรีซ ในสมัยรัฐบาล Syriza ที่พยายามก่อตั้ง ‘DiEM 25’ มียุทธศาสตร์ลูกผสม ทั้งเรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ และกระบวนการเคลื่อนไหวรากหญ้า ชุมชน เครือข่าย

ไม่ได้บอกว่าคอมมิวนิสต์ไม่เป็นประชาธิปไตยนะ แต่ผมคิดว่า มีคุณค่ามากกว่าคำว่าประชาธิปไตย ในอดีต เวลาพูดถึงคอมมิวนิสต์ มีความหมายถึงประชาธิปไตยด้วย และมีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงกว่าประชาธิปไตยแบบกระฎุมพี

ดูเหมือนว่าประเทศที่อ้างมาร์กซิสต์ ในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างแนบแน่นที่สุด เช่น จีน จะกอดโลกาภิวัตน์ไว้แน่นกว่าใคร?

เราต้องกลับไปคิดถึงคอมมิวนิสต์ใหม่ แต่ต้องเริ่มจากศูนย์ ไม่ใช่เอาจีนเป็นตัวตั้ง มีทัศนะหนึ่งที่ผมเห็นด้วย คือ จีนและสิงคโปร์เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบทุนนิยมที่เป็นเผด็จการ คือเป็นการเมืองรวมศูนย์ที่ไม่ต้องแยแส แต่มีเศรษฐกิจเป็นเสรีนิยมใหม่ จีนจึงเป็นคอมมิวนิสต์แบบศตวรรษที่ 20 ที่เราต้องไปให้พ้น

ขณะที่ก็มีพวกที่อธิบายว่า จีนไม่ใช่ทุนนิยมนะ แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของรัฐสังคมนิยมอีกขั้นหนึ่ง ที่ดึงเอาทุนนิยมมาพัฒนาสังคมนิยม บอกว่า ดูสิ สี จิ้นผิง กลับมาปลุกกระแสศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์ กลับมาศึกษาประธานเหมา แต่ก็มีนักคิดแบบนี้น้อยมาก น่าจะเป็นชาวออสเตรเลียที่ชื่อ โรแลนด์ บอร์ (Roland Boer) แต่ผมไม่ค่อยเชื่อถือเท่าไหร่

มาสู่นักคิดฝ่ายซ้ายที่อันตรายที่สุดหลัง 9/11 ซึ่งคุณศึกษาความคิดเขามานาน ทำไม สลาวอย ชิเชค จึงสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี

ผมเสนออย่างนี้ ชิเชคไม่ได้สนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งสหรัฐ 2016 แต่ชิเชคสนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ส (หนึ่งในแคนดิเดตตัวแทนจากพรรคเดโมแครต) แต่เมื่อแซนเดอร์สถูกชนชั้นนำในพรรคเดโมแครตปฏิเสธ โจทย์เลยเหลือระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี ปฏิกิริยาแรกของชิเชคคือ การเลือกตั้งไร้ความหมาย

ประเด็นก็คือ ถ้าต้องเลือกระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ไม่มีความหมาย คล้ายกับฮิลลารีคือมาคร็อง ทรัมป์คือเลอเปน แต่ทำไมคำตอบของชิเชคจึงสนับสนุนทรัมป์ เพราะว่า ฮิลลารีเป็นตัวแทนของอำนาจเดิมในทางสังคม ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ แต่ถ้าเป็นทรัมป์ อำนาจเดิมในสหรัฐ จะไม่ได้ผู้แทนที่เขาต้องการ การเลือกทรัมป์ในระดับหนึ่งจะทำให้มีคนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกที่แท้จริง โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เอาทั้งฮิลลารีและไม่เอาทั้งทรัมป์

ศึกษาความคิดของ สลาวอย ชิเชค มา พบข้อจำกัดของเขาบ้างไหม

ในเชิงรูปแบบก่อนนะ อาจจะบอกว่าเขาเป็นคนที่เขียนหนังสือที่สะเปะสะปะ คนอ่านก็หวังจะอ่านแบบตรงไปตรงมา เดินไปในเส้นตรง มีการตั้งคำถาม และพยายามตอบเพื่อนำไปสู่บทสรุป แต่บางทีอ่านไปจนลืมไปว่า คำถามคืออะไร และอันนี้เป็นคำตอบของคำถามอะไรกันแน่ หรือบางทีก็งงๆ ว่า ยกประเด็นอะไรมามากมาย ไม่เห็นจะปะติดปะต่อ อันนี้ก็เป็นสไตล์งานเขียนที่ยอมรับว่า เขาเป็นนักเขียนที่ไม่ค่อยดี

แต่สองคือ ตัวเขาเองก็พยายามปรับปรุงความคิดของตัวเองตลอดเวลา เช่น ในช่วงหนึ่งเขาไม่ค่อยไว้ใจ การลุกฮือแบบไม่มีการจัดตั้ง เช่น Occupy Wall Street (2011) ที่มีลักษณะไม่คงเส้นคงวา มีข้อเรียกร้องที่ไม่ชัดเจน ในช่วงหนึ่งเขาต้องการให้พรรคการเมืองสำคัญกว่า ด้วยปรากฏการณ์ของพรรคฝ่ายซ้ายในกรีซอย่างพรรค Syriza ทำให้ชิเชคหันมาอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของประชาชน มวลชนนั้นมีความสำคัญมากๆ แต่อย่าลืมว่า มันต้องมีตัวแทน มีพรรคด้วย  

ส่วนข้ออ่อนคือ มีคนเสนอว่า เป้าหมายของชิเชคสูงเกินไป คือ ‘การปฏิวัติ’ เพราะจะไม่มีใครเป็นซ้ายได้เลยถ้าไม่เสนอการปฏิวัติเหรอ? ชิเชคก็ปรับตัว เขาเห็นว่าการเลือกตั้งบางทีก็เป็นทางออกได้ ไม่ใช่แค่การปฏิวัติเท่านั้น การเคลื่อนไหวทางสังคมก็จำเป็น บางทีการปฏิรูปเล็กน้อยก็อาจทำให้ระบบนั้นๆ สั่นคลอนทั้งหมดได้ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาเขียนไม่หยุด และทุกครั้งที่เขียนก็เป็นการเปิดประเด็นใหม่ แก้ไขประเด็นเดิม สร้างปมปัญหาใหม่

คำถามปิดท้ายสั้นๆ หันมาที่ไทย ทำไมนักคิดฝ่ายซ้ายไทยหลายคน ปัจจุบันจึงหันไปสนับสนุนเผด็จการทหาร

ผมไม่ได้ศึกษาขนาดนั้น และก็ไม่ได้มีอายุมากพอที่จะคลุกคลีกับคนรุ่นนั้น แต่อาจจะเห็นจากคนใกล้ตัว ผมคิดว่ามันเป็นความซึมเศร้าของฝ่ายซ้ายในระดับสากล คือไม่ได้เป็นอะไรที่แตกต่างเสียทีเดียวกับนานาประเทศ เมื่อฝ่ายซ้ายอยู่ในภาวะซึมเศร้า ก็ระหกระเหินไปเล่นในประเด็นอื่นหมดเลย มีตั้งแต่หันไปเป็นฝ่ายขวา ไปเล่นเรื่องสิทธิมนุษยชนแทน เรื่องต่อต้านเผด็จการแทน หรือสมาทานทุนนิยม

ฝ่ายซ้ายไทยไม่ได้แตกต่างมากมายจากต่างประเทศ เอาเข้าจริงฝ่ายซ้ายไทยก็แตกกระจายไปในทุกภาคส่วนของสังคมไม่ใช่เหรอ เป็นทั้งขวา เป็นทั้งราชาธิปไตย เป็นทั้งเผด็จการ เป็นทั้งทุน เข้าไปสายศาสนาก็มี ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาก็อยู่ทุกสี หรือไม่มีสีก็มี

ฝ่ายซ้ายไทยจึงเหมือนกับฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ ที่ยังอยู่ในภาวะซึมเศร้าที่ซึมลึกมากๆ มองว่าโลกที่เป็นอยู่ก็ต้องอยู่กับมันไป เพียงแต่ว่าก็ต้องปรับปรุงให้มันดีขึ้นเล็กน้อย

อีกเรื่องที่ต่างออกไปจากฝ่ายซ้ายสากลคือ นับตั้งแต่สิ้นสุดหลังสงครามเย็น ไม่มีฝ่ายซ้ายไทยที่ยังพยายามคงความเป็นซ้ายเอาไว้ แล้วปรับความคิดของซ้ายให้เข้ากับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างในฝรั่งเศส มันมีฝ่ายซ้ายที่ไม่ได้ ‘กลับใจ’ ยังมีที่พยายามยืนยันแล้วกลับมาทบทวนว่า เราทำอะไรที่ผิดพลาดไปบ้าง แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงมัน  

ผมไม่ได้มองว่าในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ แต่คือความสับสนทางด้านอุดมการณ์เสียมากกว่า

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า