ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: ปรีดี พนมยงค์ คือจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ

11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 121 ปี ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก กล่าวได้ว่าบทบาทและแนวคิดของ ปรีดี พนมยงค์ มีคุณค่าและคุณูปการที่ส่งผลต่อคนรุ่นปัจจุบันมากมาย หนึ่งในนั้นคือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ปรากฏอยู่ในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ 

ในวาระนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เชิญ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถา ปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2564 ซึ่งษัษฐรัมย์นับเป็นนักวิชาการที่ศึกษาและเคลื่อนไหวผลักดันรัฐสวัสดิการในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีผลงานทางวิชาการคุณภาพสูง ทั้งประเด็นเรื่อง นโยบายสาธารณะ สวัสดิการแรงงาน แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นต้น ปาฐกถาถัดจากนี้จึงเสมือนสะพานเชื่อมความคิดของปรีดีเข้ากับข้อเรียกร้องของคนยุคสมัยปัจจุบัน เชิญทุกท่านอ่านบทสรุปปาฐกถาของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ปรีดี ลูกศิษย์ และหนี้เพื่อการศึกษา

ความรับรู้ความเข้าใจต่อ ปรีดี พนมยงค์ นั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มคนในสังคม เช่น สำหรับนักประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งนำสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แต่ขณะเดียวกัน สำหรับชนชั้นปกครองของประเทศนี้ ปรีดี พนมยงค์ ก็มีสถานะของการเป็นปีศาจร้ายที่อยู่มาอย่างยาวนาน

แต่ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นรัฐสวัสดิการ มองว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่เพียงแค่บุคคล แต่ปรีดี เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุด จิตวิญญาณของ ปรีดี พนมยงค์ คือจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ นั่นหมายความว่า ปรีดี พนมยงค์ นี้ เป็นอมตะ และไม่ได้ตายไปจากการต่อสู้ทุกยุคทุกสมัย

การต่อสู้ของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว เป็นภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อสังคมที่เท่าเทียม ความทุกข์ยาก ซึ่งสร้างคนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนไป แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม

เมื่อช่วงปีที่ที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งเข้ามาหาผม เล่าถึงชีวิตที่ยากลำบากของเขา เขาบอกว่า “บางทีเขาอาจจะไม่ได้เรียนต่อ บางทีเขาอาจจะไม่สามารถที่จะหาค่าเทอมมาจ่ายได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า

แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้คนทั่วไปที่จะสามารถเข้าถึงได้ คนธรรมดาต้องพยายามอย่างหนักมาก กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ จากสถิตินักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจนจะมีเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีโอกาสจะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

นักศึกษาคนนั้นบอกผมว่า “ถ้าหนูไม่ได้เรียนต่อ มันก็น่าจะกลับมาสู่การตั้งคำถามสำคัญว่า หรือว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของหนู” และที่ของเด็กผู้หญิงคนนี้ควรจะอยู่ที่ไหน เธออธิบายต่อไปว่า “บางทีคนธรรมดาอย่างหนู เมื่อเรียนจบ ม.6 ควรไปทำงานโรงงาน เก็บเงินให้ได้มากเพียงพอ แล้วค่อยคิดฝันเรื่องเรียนต่อ ธรรมศาสตร์ไม่ใช่ที่ของหนู” ผมได้ฟังประโยคนี้ ผมรู้สึกสะท้อนใจ เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่ที่ของเขา มันจะมีที่ใดของประเทศนี้ที่สามารถเป็นที่ของเขาได้อีก

ในฐานะการเป็นครูบาอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำ คือการเซ็นผ่อนผันค่าเทอม มีนักศึกษาคนหนึ่งมาหาผมเพื่อให้เซ็นผ่อนผันค่าเทอม ผมทำแบบนี้มาจนกระทั่งเกือบจะถึงช่วงเวลาของการสอบกลางภาค ผมถามว่า “ถ้าหากไม่มีเงินที่จะสามารถมาจ่ายได้ เหตุใดถึงไม่กู้ กยศ.” นักศึกษาตอบว่า “เขาเองก็อยากกู้ กยศ. แต่ทุกครั้งที่เขาเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อเขา เขาบอกว่าเขาทราบดีว่า พ่อของเขาเป็นคนขายประกัน รายได้ต่อเดือนมีอยู่เท่าไหร่ ไม่มีทางที่จะเสกเงิน 20,000-30,000 บาท มาจ่ายค่าเทอมให้เขาได้”

มีประโยคหนึ่งที่สำคัญ ที่พ่อของเด็กคนนี้บอกกับลูกชายว่า “มึงจำคำกูไว้เลยนะ พ่อมึงเป็นคนขายประกัน และมึงก็เป็นลูกคนขายประกัน ถ้าชีวิตของมึงต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 300,000 บาท ตอนอายุ 22 ชีวิตของมึงทั้งชีวิตก็คงจะเป็นได้แค่คนขายประกัน”

เรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน และฟังดูไม่สมเหตุสมผล ตอนจบของเรื่องคือ คุณพ่อท่านนี้ก็ไปกดบัตรเงินสด กดเงินจากบัตรเครดิตมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก ฟังดูไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยในบัตรเครดิตสูงกว่า กยศ. หลายเท่า แต่พอมองในกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองมันน่าเศร้า เมื่อพ่อคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ความจนมันจบอยู่ที่รุ่นเขา ไม่ถูกส่งต่อไป จะเป็นหนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เขาก็อยากให้มันจบอยู่ที่รุ่นของเขา

ความเหลื่อมล้ำ คือชนวนเหตุลุกขึ้นสู้ของคนหนุ่มสาว

จากสถิติของธนาคารโลกในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนไทยที่เกิดในส่วนของคนชั้นล่างของประเทศ และพยายามอย่างเต็มที่ จะมีโอกาสเพียง 1 ใน 7 หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะมีโอกาสเลื่อนสถานะเป็นชนชั้นกลาง หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าต้องทำงานหนักเป็น 7 เท่า เพียงเพื่อจะได้มีชีวิตตามแบบมาตรฐานของคนทั่วไป

นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในประเทศนี้ มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด แม้ว่าจะทำงานอย่างหนักก็ไม่สามารถจะยกระดับชีวิตของตัวเองได้ ชีวิตพวกเขาติดลบตั้งแต่วันแรกของชีวิต จนกระทั่งวันที่จากไป ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเลย

คำถามสำคัญคือ “ทรัพยากรของประเทศนี้ไปอยู่ที่ไหน” หรือ “ทำไมสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งรายได้ที่เพียงพอ ถึงต้องเอาชีวิตของคนรุ่นหนึ่งแลกไป เพื่อให้ชีวิตของคนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดีขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น”

ทุกครั้งที่ผมสอนวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ ผมจะอ่านบทความนี้ให้นักศึกษาฟัง บทความนี้ เขียนไว้อย่างง่ายดายครับ ด้วยเริ่มต้นที่ว่า

“เงินเหล่านี้จะต้องเอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีการทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง คนตกงานอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ อดอยากไปตามยถากรรม ข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบและเสมียนไม่สามารถได้รับค่าจ้างที่เพียงพอ

“ความจริง ถ้าเอาเงินของพวกเขากวาดรวมกัน มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรตอบสนองคุณราษฎรที่เสียภาษีอากรให้แก่พวกเขาได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเขาหาได้ทำอย่างนั้นไม่ ยังคงสูบเลือดกันต่อไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อประเทศชาติบ้านเมืองทรุดโทรมลง”

ผมถามนักศึกษาในห้องว่า “ทุกท่านคิดว่าบทความนี้ เขียนเมื่อไหร่” มีคำตอบหนึ่งครับ เขาตอบว่า “ผมคิดว่าบทความนี้น่าจะเขียนเมื่อวาน” เขาบอกว่า “เพราะเรื่องราวที่มันปรากฏอยู่ในบทความนั้น เหมือนกับประเทศไทยในปี 2563-2564 ไม่ผิดเพี้ยน”

สิ่งที่ผมได้อ่านจบไปมีการดัดแปลงเล็กน้อย ตัดบางถ้อยคำ แต่นั่นคือแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำคือ ความเหลื่อมล้ำที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง กับความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ออกมาตั้งคำถามในวันนี้ แทบจะเป็นตัวเดียวกัน เราเห็นผู้ใช้แรงงานผูกคอตาย เราเห็นผู้คนสิ้นหวังจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความสิ้นหวังนี้ แทบจะไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 90 ปีที่แล้วเลย

‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ของ ปรีดี พนมยงค์

อะไรคือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่ยังคงอยู่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 90 ปีที่ผ่านมา อธิบายง่ายๆ ก็คือ “การผูกขาดความทรงจำของชนชั้นนำ” หมายถึง การตอกย้ำว่า ถ้าคุณเกิดมายากจน อยู่ในสถานะหรือฐานันดรที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ปู่คุณเป็นชาวนา พ่อคุณเป็นชาวนา แม่คุณเป็นผู้ใช้แรงงาน ย่าคุณเป็นคนงานโรงงานเย็บผ้า คุณก็ต้องพอใจกับสถานะแบบนี้ต่อไป ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันใดได้ นี่คือการผูกขาดความทรงจำ

ราวกับว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้มาชั่วนาตาปี มีลำดับชั้น มีความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ถูกทำให้เป็นสิ่งปกติ และเมื่อใดที่เราพูดถึงสิ่งที่ปกติที่สุดในสังคมมนุษย์ นั่นคือ ‘ความเท่าเทียม’ สังคมไทยกลับทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปีศาจร้าย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่อันตราย ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้

ในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจจะมีหลายสิบปี หลายทศวรรษ หรือว่าเกือบศตวรรษที่ล้มเหลว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่มันอาจจะมีเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เคยมีมาในประเทศนี้

หากเราไล่ตามประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง ปฐมบทของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่พูดถึงความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ปฐมบทของการต่อสู้ครั้งนี้เริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  ใน ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ หรือ ‘พระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ ของ ปรีดี พนมยงค์ ถ้าวัดตามมาตรฐานปัจจุบันแล้ว เราเรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ผนวกรวมด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้าเพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต ทำให้ผู้คนอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องน่าเสียดายคือ พระราชบัญญัติตัวนี้ไม่เคยประกาศใช้ นโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอในปีแรกของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโต้แย้งของฝั่งอนุรักษนิยม รวมถึงในคณะราษฎรเองที่พยายามโต้แย้งว่า “ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยแม้จะไม่ได้มั่งคั่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เดือดร้อนยากจน”

ในเอกสารโต้แย้งของ รัชกาลที่ 7 ต่อ ปรีดี พนมยงค์ มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดและกลายเป็นข้ออ้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในเมืองไทย แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 90 ปี คือบอกว่า “ประการแรกที่สำคัญ ประเทศไทยยังไม่พร้อมกับเรื่องนี้ ประการที่ 2 เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย โดยอ้างว่า ปรีดี พนมยงค์ ชอบใช้คำว่าอดตาย แต่รัชกาลที่ 7 พยายามอธิบายว่า ประเทศไทยไม่มีคนอดตาย แม้แต่สุนัขจรจัดที่ไปอยู่ที่วัด ไม่มีข้าวกิน เดินเข้าไปพระยังหาอาหารให้กินได้ ประเทศเราในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่มีใครที่จะสามารถอดตายได้ เว้นแต่คนที่ไม่สามารถอ้าปากกินข้าวได้เท่านั้นเอง”

เป็นเรื่องน่าเศร้า เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีนี้นำสู่ความขัดแย้งฉากแรกระหว่างคณะราษฎรกับฝั่งอนุรักษนิยม และความพยายามในการที่จะลดบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ อย่างมากในเวลาต่อมา

เพราะข้อเสนอของ ปรีดี พนมยงค์ เรียบง่ายมาก นั่นคือ การจัดรัฐสวัสดิการและเงินเดือนพื้นฐานให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นมาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบันแล้วประมาณ 4,000 ต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ ภาคประชาชนกำลังพูดถึงเรื่อง ‘บำนาญ’ กำลังพูดถึงเรื่อง ‘เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า’ พูดกันมา 80-90 ปี นี่คือสิ่งที่ถูกนำเสนอในรอบแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

รัฐสวัสดิการที่ถูกยับยั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อผ่านมา 15 ปี หลังจาก ปรีดี พนมยงค์ มีโอกาสในการที่จะเป็นรัฐบาล มีการผลักดันประเด็นทางการเมือง การต่อสู้ของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย การต่อสู้ของนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกขานรับอย่างมาก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสากลโลก อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ไล่ลงมาถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิก สแกนดิเนเวีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศบอบช้ำในสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสถาปนารัฐสวัสดิการ และการปกครองตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย

แต่สำหรับประเทศไทย นักการเมืองที่สนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ ต้องถูกให้จบชีวิตจากการพยายามผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้า อย่างเช่น คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่นำเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายในสภาวะคับขัน พระราชบัญญัติตัวนี้นัยยะก็คือการลดอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลให้ ควง อภัยวงศ์ ต้องทำการลาออก แล้วจึงมาก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์

ในช่วงเวลานั้น หรือปี 2489 เรามีรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามากที่สุด และน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำสู่การวางรากฐานรัฐสวัสดิการ ภายใต้การพยายามผลักดันและการร่างของ ปรีดี พนมยงค์ ในมาตรา 12 ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลทุกคนมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดี หรือฐานันดรสถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” นั่นคือจิตวิญญาณของรัฐสวัสดิการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489

แต่น่าเสียดาย อย่างที่ทุกท่านทราบกัน ความพยายามของ ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกข้อกล่าวหาอันไม่เป็นธรรมในกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มาทำลายความก้าวหน้าของกระบวนการการต่อสู้ ซึ่งเราเชื่อกันว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการ และแน่นอนที่สุด การรัฐประหารและการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหลายคนในช่วงเวลานั้น ถูกปิดชีวิตอย่างโหดเหี้ยมในช่วงเวลาดังกล่าว

จากนั้นเป็นต้นมา กฎหมายที่ก้าวหน้า อย่างเช่น พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งควรจะถูกผลักดันให้แล้วเสร็จก่อนปี 2500 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การรัฐประหารของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ทำให้กฎหมายฉบับนี้ ถูกดองเป็นเวลากว่าเกือบ 40 ปี

แทนที่เราจะก้าวหน้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการตามเจตจำนงของคณะราษฎร และผู้คนจำนวนมากที่ได้สละชีวิตต่อสู้ ประเทศไทยหลังปี 2500 กลับเดินหน้าสู่การเป็นรัฐสังคมสงเคราะห์และรัฐข้าราชการอภิสิทธิ์ชน เงินสวัสดิการจำนวนมากถูกเอามาให้แก่ระบบราชการเพื่อใช้ในการต้านภัยคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันก็มีระบบคุณหญิง คุณนาย บริจาคสังคมสงเคราะห์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่แนวคิดรัฐสวัสดิการ

ความปรารถนาถึงสังคมที่เสมอภาคกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

อย่างไรก็ตาม แนวคิดรัฐสวัสดิการไม่เคยหายไปจากสังคมนี้ แม้ว่าการต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะถูกคั่นกลางโดยการรัฐประหารและเผด็จการทหารอยู่หลายครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า จะมีเรื่องรัฐสวัสดิการถูกพ่วงขึ้นมาอยู่

เหตุการณ์ที่น่าเศร้าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุผลหนึ่งเกิดจากการที่ชนชั้นนำในประเทศนี้มองว่า คนไทยกำลังจะได้สิ่งที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา พวกเขากลัวและเกลียดสิ่งที่ประชาชนรัก นั่นคือ ความเสมอภาคและความยุติธรรม พวกเขากลัวและเกลียดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่รักและเชิดชูในสิ่งที่ประชาชนเกลียด นั่นคือ ความความเหลื่อมล้ำ เผด็จการ และระบบทุนนิยม

ปี 2519 จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญ และทำลายจิตสำนึกของการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยและสังคมที่เท่าเทียม การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไม่เคยหายไปจากประเทศนี้ แต่เสียงของมันจะเบาลงทุกครั้งเมื่อเผด็จการทหารมีอำนาจ และหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้า สามารถนำเสนอนโยบายที่เป็นคุณแก่ประชาชน และผูกพันพรรคการเมืองต่อคำสัญญาต่างๆ มันนำไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 ภายใต้การบริหารงานของพรรคไทยรักไทย

นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ถึงรัฐประหารปี 2557 สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ พลังของฝั่งอนุรักษนิยมเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น เมื่อพวกเขาทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยซึ่งเป็นรอยต่อสำคัญของประชาชนสู่อำนาจรัฐ เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ต้องผูกพันกับประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อำนาจของกลุ่มทุนที่เข้ามาแนบสนิทชิดเชื้อกับอำนาจของฝั่งรัฐบาลมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้คนที่คิดต่างถูกอุ้มหาย หลายคนต้องลี้ภัยทางการเมือง ไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดเมืองนอนออกไป สิ่งที่เราเห็นก็คือผู้คนที่ปรารถนาสังคมใหม่ คนรุ่นใหม่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศนี้ มีกำลังวังชา มีสติปัญญา ก็ต้องลี้ภัยไปจากประเทศนี้ หลายคนปรารถนาที่จะต่อสู้ ก็ถูกคุกคาม คุมขัง

ณ ปัจจุบันนี้ ความผิดเดียวที่เราเห็นนักศึกษาถูกคุมขังอยู่ เห็นคนรุ่นใหม่ ต้องลี้ภัยมากมายและหลายคนหายออกไปจากโลกนี้ โดยไม่มีคำอธิบายอะไร ความผิดของพวกเขาคือ พวกเขาปรารถนาสังคมที่มันเสมอภาคมากขึ้น

ของอัปลักษณ์สามอย่างเป็นอุปสรรคของรัฐสวัสดิการ

อุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมในปัจจุบัน คือ กลุ่มชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นอนุรักษนิยม ผูกขาดค่านิยมจารีตประเพณีต่างๆ ปัญหาที่เราเผชิญอยู่จึงมี 3 อัตลักษณ์ที่สะท้อนความล้าหลัง และทำให้รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้

อันดับแรก คือ ความอัปลักษณ์ด้านการเมือง การผูกขาดอำนาจทางการเมืองผ่านเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กองทัพ และอำนาจที่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นไป การทำงานเป็นเครือข่ายแบบนี้ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่มีความคิดใหม่ ไม่เกิดการนำเสนอนโยบายที่ท้าทายอำนาจ ในทางวิชาการเราเรียกระบบเหล่านี้ว่า Democrasubjection หรือ ‘การเป็นไพร่ในสังคมประชาธิปไตย’ หมายถึง มีสิทธิเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง นำเสนอนโยบายได้ แต่ไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการมีรัฐประหารที่ต่อเนื่องยาวนาน มีกลไกการสืบทอดอำนาจ เมื่อเสียงความต้องการของประชาชนไม่สามารถถูกส่งออกต่อไปได้ ความเท่าเทียมกันทางนโยบายก็ไม่เกิดขึ้น

อันดับสอง คือ ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ตระกูลที่ครอบครองแทบจะทุกอย่างในประเทศนี้

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราบอกว่า ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ คนที่ยากจนที่สุดในประเทศนี้ คือกลุ่มคนที่ทำงานหนักมากที่สุด ยิ่งรายได้น้อย ชั่วโมงการทำงานก็ยิ่งสูง

ทุกวันนี้เกิดกลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มใหม่ ผมขอเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มแรงงานเสี่ยง’ แต่ก่อนนี้ ชนชั้นนายทุนผูกขาดในประเทศนี้ มักจะบอกว่า เขาเสี่ยง เขาจึงสามารถมั่งคั่งได้ เขาเสี่ยง เขาจึงสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่ปัจจุบันนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือ ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทนนายทุน ไม่มีโอกาสที่จะรวมตัวต่อรอง กลไกเทคโนโลยีการผูกขาดต่างๆ ก็ทำให้นายทุนมั่งคั่งมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นๆ จนไม่สามารถที่จะต่อรองอะไรได้

ทุกท่านครับ มอเตอร์ไซค์ก็มอเตอร์ไซค์เรา แรงก็แรงเรา หมวกกันน็อคก็หมวกกันน็อคเรา น้ำมันก็น้ำมันเรา แต่ผู้ใช้แรงงานต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อให้นายทุนมั่งคั่งมากขึ้นในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ’

ณ ปัจจุบัน มีผู้ใช้แรงงานอิสระที่ไม่มีเงินเดือนประจำอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 20 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้มีรายได้น้อยกว่า 8,000 บาทต่อเดือน ชั่วโมงการทำงานสูงมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่มันเกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจมั่งคั่งมากขึ้นและแนบชิดกับกลไกอำนาจของชนชั้นนำทางการเมือง

อันดับสาม คือ ‘ชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี’ กลุ่มนี้อาศัยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต วัฒนธรรมที่ให้ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง วัฒนธรรมที่ผูกคนไว้กับความกตัญญู ครอบครัว และการรับผิดชอบ บอกให้เราขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน เพื่อชีวิตที่ดี ให้เสียสละเพื่อชีวิตของคนภายภาคหน้า เพื่อครอบครัวของเรา พ่อแม่ของเราทำงานหนักทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถทำให้ผู้คนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่กำลังถูกขังไว้อยู่กับสังคมผู้สูงอายุ ที่พ่อแม่ของเราทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่กลับไม่สามารถมีเงินบำนาญที่เพียงพอในการที่จะดูแลชีวิตของพวกเขายามเกษียณ คนรุ่นใหม่กำลังเหนื่อยล้า ด้วยสิ่งที่กดทับพวกเขา ทั้งอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ อำนาจทางจารีตประเพณี

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่งเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นนำ อำนาจเผด็จการ มีชัยชนะเหนืออำนาจของประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เราไม่สามารถที่จะมีความทรงจำหรือจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมได้ และสุดท้ายเราก็ได้แต่หลอกตัวเองว่า ประเทศไทยนี้ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และไม่พร้อมต่อรัฐสวัสดิการ

การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่: ความหวัง ความต้องการชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ในวันที่จะดูสิ้นหวังมากที่สุด เรายังเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมาตั้งคำถาม คนรุ่นใหม่ที่เขาเงยหน้าแล้วเขาเห็นความอยุติธรรมค้ำคอพวกเขาอยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานหนักหรือขยันเรียนหนังสือขนาดไหน โลกใบนี้ก็แทบจะถูกจองโดยชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม

พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เราเห็นในข้อเรียกร้องของพวกเขาด้านหนึ่ง คือ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ และ ‘แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย’ รูปธรรมของมันคืออะไรครับ ผมขออธิบายอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

‘รัฐสวัสดิการ’ คือ รูปธรรมสำคัญของประชาธิปไตย เพราะมันทำให้เราตั้งคำถามว่า “รัฐคงอยู่เพื่ออะไรและเพื่อใคร” ถ้าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรัพยากรบาทแรกจนกระทั่งถึงบาทสุดท้าย ก็เพื่ออำนาจสมบูรณ์ของคน 1 คน ถ้าเป็น ‘รัฐทุนนิยม’ บาทแรกจนกระทั่งถึงบาทสุดท้าย ก็เอาไว้เพื่อปรนเปรอความมั่งคั่งของนายทุน เหลือเท่าไหร่เป็นเศษเนื้อก็โยนมาให้ประชาชน

แต่วันนี้ คนรุ่นใหม่กำลังฝันถึง ‘รัฐสวัสดิการ’ บาทแรกถึงบาทสุดท้ายต้องรับประกันชีวิตของผู้คน เป็นสวัสดิการให้แก่ผู้คน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปทำอย่างอื่น ทุกวันนี้เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ บาทแรกถึงบาทสุดท้ายจึงถูกเอาไปใช้ทำอย่างอื่น อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เรือดำน้ำ ตำรวจ ทหาร ชนชั้นนำใช้คุก ศาล ทหาร ตำรวจ แบ่งผู้คนออกจากกัน ขังพวกเราไว้อยู่อีกฝั่งหนึ่งของกำแพง และโยนเศษเนื้อมาให้ในฐานะสังคมสงเคราะห์ แต่เราสามารถได้สิ่งที่ดีกว่านี้

ในพระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของคณะราษฎร นำเสนอโดย ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 89 ปีก่อน ผมเองเคยคำนวณว่า เงิน 3.2 ล้านล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประเทศไทยมี ถ้าทำตามข้อเสนอของ ปรีดี พนมยงค์ เราทำได้ไหม ผมลองคำนวณตามค่าเงิน ความต้องการของประชาชน ความมั่งคั่งของประเทศที่เพิ่มเติมมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เราจะใช้เงินเพียงแค่ 2 ล้านล้านบาท มันเป็นไปได้ คำถามสำคัญคือ “เราคิดว่าคนเท่ากันไหม” ถ้าเราคิดว่าคนเท่ากัน รัฐสวัสดิการก็เป็นไปได้

ปัจจุบันนี้ เงินบำนาญของข้าราชการ 1 คน สูงกว่าเบี้ยผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยของประชาชน 42 เท่า ในนั้นมีนายพลทหารอยู่นับหมื่นคน นายพลทหารที่เกษียณไป ไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่ประเทศนี้ ไม่เคยรบป้องกันประเทศ วีรกรรมอย่างเดียวของนายพลปลดเกษียณของไทยที่มีอยู่นับหมื่นคน พวกเขาไม่เคยป้องกันประเทศ พวกเขาเคยเพียงแค่ทำรัฐประหารและปราบปรามประชาชน สิ่งเหล่านี้ (รัฐสวัสดิการ) จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ในวัยที่ต้องเกษียณ ถ้าเราจะทำให้พ่อแม่ของเรามี ‘เงินบำนาญประชาชนถ้วนหน้า’ เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกับที่อารยประเทศที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่ทำงานหนักมา เราจะใช้เงินเพียงแค่ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือถ้าเทียบแล้ว เงินในประเทศ 100 บาท เราใช้เงินเพียงแค่ 8 บาทเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้พ่อแม่ของเรามีหลักประกันบำนาญ

เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ที่จะทำให้คนที่เกิดมาใหม่ ไม่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ไม่ติดลบ พ่อแม่ไม่ต้องไปกู้นอกระบบมาเพื่อเป็นค่านมลูก เราเห็นคนจำนวนมากที่ติดลบตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย

เงินเด็กถ้วนหน้า 0-18 ปี ใช้เงิน 4.5 แสนล้านบาท หรือ 9 บาท จาก 100 บาทของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศนี้ ทำให้พี่น้องที่ทำงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ คนขับรถส่งของ คนรับงานกลับไปทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตร มีประกันสังคมที่สามารถใช้ได้จริง มากกว่ามาตรา 40 ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่ำ ไม่จูงใจ ทำให้ทุกคนมีประกันสังคมถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 7 บาท จาก 100 บาท หรือ 7 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อคน 20 ล้านคน ต้องใช้เท่าไหร่ ให้คนสามารถเรียนฟรีจนจบปริญญาเอก พร้อมกับมีเงินเดือน

เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราคิดว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การทำให้คนกว่า 2 ล้านคนในระบบมหาวิทยาลัยเรียนฟรี จนกระทั่งถึงปริญญาเอก มีเงินเดือนแบบนานาอารยประเทศที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ใช้เงินประมาณปีละแค่ 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 8 บาท จาก 100 บาทของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประเทศนี้ใช้ ทำให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทดีขึ้น เทียบเท่ากับระบบราชการสามารถที่จะร่วมกองทุนได้ ก็ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเพียงแค่ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 6 บาท 6 เปอร์เซ็นต์

สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแค่เราคิดว่า รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่สำหรับคนประเทศนี้ เราต้องการหมอ ต้องการพยาบาล ต้องการครูสอนอนุบาล ต้องการรถเมล์ ต้องการน้ำไฟที่เข้าถึงทุกคนแล้วก็ราคาถูก ต้องการมหาวิทยาลัยที่เรียนฟรี หรือว่าต้องการเรือดำน้ำ ต้องการคุกที่มากขึ้น ต้องการตำรวจคุมฝูงชนที่มากขึ้น เราต้องการแบบไหนกัน

ท่านอาจจะมีคำถามว่า สิ่งเหล่านี้จะทำร้ายประเทศไทยไหม เพราะถ้ามีรัฐสวัสดิการจะทำให้ผู้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน บางท่านสงสัยว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการกลุ่มทุนจะย้ายหนีออกนอกประเทศหมดหรือว่าประเทศจะล่มจม จะเงินเฟ้อ ของจะแพง ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง

แม้แต่ประเทศที่จัดรัฐสวัสดิการมากมายมากกว่าประเทศไทย ไม่มีงานวิจัยตัวไหนยืนยันได้เลยว่า ผู้คนขี้เกียจหรือเกียจคร้านไม่ยอมออกไปทำงานเมื่อมีสวัสดิการที่ดี เช่นเดียวกันครับ ทุกวันนี้เราคิดเพียงแค่ว่า เราต้องการภาษีต่ำ สวัสดิการต่ำ ค่าแรงต่ำ เพื่อดึงดูดกลุ่มทุนต่างประเทศให้เข้ามา ภาษีมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด

มิฉะนั้น เหตุใดประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ค่าแรงสูงสุด จึงสามารถที่จะดึงดูดกลุ่มทุนมากมายที่เข้ามาลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเขา แต่ถ้าเรากดค่าแรง กดชีวิตของประชาชน กดความฝันของประชาชน เราก็จะได้เพียงแค่กลุ่มทุนที่เข้ามาสูบเลือดสูบเนื้อ กอบโกยแล้วก็ขนเงินกลับประเทศของเขาไป

อีกประเด็นที่สำคัญ ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจมและล้มละลายด้วยการทำให้คนได้เรียนหนังสือฟรี ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจมพังพินาศ เพราะดูแลคนป่วย เพราะดูแลคนแก่ ไม่เคยมีประเทศไหนเช่นเดียวกันครับ ที่ล่มจมพังพินาศเพราะให้หลักประกันกับคนว่างงานและเด็กเกิดใหม่ ไม่มีประเทศไหนเช่นเดียวกันครับ ที่ล่มจมและพังพินาศด้วยการจัดรถเมล์รถไฟให้ประชาชนใช้ถึงหน้าบ้าน

ประเทศที่ล่มจมพังพินาศ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดูแลประชาชน แต่เกิดจากที่ชนชั้นปกครองเมินเฉยต่อประชาชน เกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นปกครองละทิ้งประชาชน เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองมองประชาชนว่า เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นเบี้ย เป็นหมาก ประเทศนั้นจึงจะล่มจมและล่มสลายได้

ถ้าจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งล่มจมเพราะดูแลคนแก่ ล่มจมเพราะดูแลเด็ก ล่มจมเพราะดูแลคนป่วย ก็ขอให้มันล่มจมไปเถอะครับ เพราะนั่นคือหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของสังคมที่ต้องโอบอุ้มดูแลกัน

ผมมีโอกาสสนทนากับมิตรสหายซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศสวีเดน เขาบอกว่า สวีเดนเคยยากจนมาก ถึงขนาดที่ต้องกู้เงินประเทศอาร์เจนตินา คนหนุ่มสาวครึ่งประเทศอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ไปเป็นพยาบาล ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไปเป็นแรงงานภาคเกษตร ยากจนและสิ้นหวังมาก ผมถามว่า “แล้วเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้สวีเดนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรัฐสวัสดิการ กลายเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่ง” ประโยคเดียวสั้นๆ ง่ายๆ ที่มิตรสหายผมท่านนั้นบอกคือ เพราะ “ประชาชนของเราชนะ”

อย่างที่ผมได้พูดมาก่อนหน้านี้ อาจมีหลายสิบปีที่เราพ่ายแพ้ อาจมีหลายสิบปีที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในประเทศนี้ อาจจะมีไม่กี่สัปดาห์ที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่มีมา “เมื่อประชาชนชนะ เมื่อชนชั้นปกครองค้อมหัวลงฟังประชาชนบ้าง รัฐสวัสดิการจะเป็นทางออก เป็นฉันทามตินำสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

*ขอขอบคุณภาพจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า