เปิดพื้นที่ ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ ให้ผู้คนหลากหลายมาเรียนรู้ร่วมกัน

ถ้าประชาธิปไตยคือการเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ ‘ทุกคน’ ที่ว่านี้ประกอบด้วยใครบ้าง? เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา เพศและเชื้อชาติจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมร่วมกันหรือไม่ เราจะสามารถเปิดใจให้อาชญากรเยาวชนแล้วอยู่ร่วมกันได้จริงหรือ และถ้าประชาธิปไตยคือการให้อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารจะมีแนวทางจัดการความสงบเรียบร้อยโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน มองคนเท่ากันไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร

มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ร่วมกับกลุ่มพลเรียนและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จัดเสวนา ‘ประสบการณ์ห้องเรียนประชาธิปไตยในสังคมไทย’ และ ‘หลากมิติประชาธิปไตยในสังคมไทย’ กิจกรรมสรุปโครงการ ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 ณ มิวเซียมสยาม เพื่อหาคำตอบในทุกๆ คำถามข้างต้น และเพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยให้เบ่งบานเต็มใบในใจทุกคน

 

ฝังเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในหัวใจ ‘เยาวชน’

เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยของเด็กๆ จะเติบโตได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ครูไอซ์-ศักดิ์นรินทร์ ยาวิชัย สมาชิกกลุ่มก่อการครู และครูผู้ช่วยประจำโรงเรียนมาบตาพุดพันวิทยาคาร จังหวัดระยอง ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ด้วยการลดอำนาจของครูผู้สอนที่ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นใหญ่ในห้องเรียน แล้วเพิ่มอำนาจให้เด็กๆ นักเรียนได้มีส่วนร่วมผ่านการทดลองออกแบบกิจกรรมและตั้งกติการ่วมกัน

“เมื่อครูตั้งเป้าหมายอยู่ฝ่ายเดียวว่าอยากให้เด็กมีส่วนร่วม แล้วพบว่าในความจริงเด็กนิ่งเงียบ ไม่ถาม เมื่อเด็กไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่ครูตั้ง ครูก็เริ่มใช้ ‘อำนาจพิเศษ’ ตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยเสีย เรารีบรวบอำนาจมาที่ครูเพื่อเร่งให้เด็กบรรลุเป้าหมาย เช่น การสุ่มเลขที่ จี้ถาม หรือใช้คะแนนในการกดดัน ทุกครั้งที่ทำแบบนี้ก็กลับมาทุกข์อยู่ในใจ กลับมาทบทวนว่า เอ…แบบนี้ไม่น่าจะใช่”

ครูไอซ์เล่าย้อนไปสมัยทดลองหาวิธีสร้างประชาธิปไตยในห้องเรียนครั้งแรกๆ จนมาสู่การปรับลดบทบาทครู สร้างความไว้ใจให้เด็กๆ กล้าแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องมีครูคอยกระตุ้น

“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเริ่มจากการปรับท่าทีของเรา จากเดิมที่คาดหวังให้เด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อครูคาดหวังก็จะมีท่าทีที่แข็งกร้าวหรือกระด้างกับผู้เรียนมากเกินไป เรานำกิจกรรมเช็คอินเข้าไปปรับ เพื่อรับฟังว่าเรารู้สึกอย่างไร นักเรียน เพื่อนรู้สึกอย่างไร แบ่งปันความคาดหวังร่วมกัน” ครูไอซ์กล่าว

ไม่ใช่แค่เด็กประถมหรือมัธยมที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัย จีวุฒิ ล้วนกลิ่นหอม หรือ อาจารย์โจ้ จากสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักศึกษาก็เสริมว่า แม้แต่เด็กโตในระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก

“ถ้าครูใช้อำนาจควบคุมเด็ก ไม่ว่าโดยจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เด็กก็จะเสียความมั่นใจ แต่ถ้าเราออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันตามที่เด็กสนใจและลองจัดพื้นที่ไปด้วยกัน ก็มีส่วนให้เด็กเปิดใจ และมีผลต่อการเรียนรู้” อาจารย์โจ้มักจะจัดพื้นที่ในห้องเรียนเสียใหม่ โดยลากเก้าอี้มาวางล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลม ทำให้ขอบเขตระหว่างความเป็น ‘ครู-นักเรียน’ ลดลง กระตุ้นให้นักศึกษากล้าที่จะโต้แย้งและกล้าเสนอกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำ

สังคมประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วยในสิ่งเดียวกัน แม้หลายครั้งบทสนทนาโต้เถียงอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนดูจะเป็นเรื่องยากและน่าลำบากใจสำหรับคนหลายคน แต่คือสิ่งจำเป็นสำหรับการแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“ส่วนตัวเดิมเป็นคนที่ไม่ชอบโต้เถียง แต่ตอนนี้เราเองก็ค่อยๆ รู้วิธีการโต้เถียงมากขึ้น เกิดความรู้สึกเคารพตัวเองเหมือนกันที่สามารถยืนหยัดเสียงของเราได้” อาจารย์โจ้เล่าพร้อมรอยยิ้ม

ในโรงเรียนพลเรือนธรรมดา การปรับห้องเรียนให้กลายเป็น ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ อาจฟังดูท้าทายแต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่เมื่อพูดถึงการสร้าง ‘ห้องเรียนประชาธิปไตยในโรงเรียนตำรวจ’ หลายคนอาจขมวดคิ้วเพราะนึกภาพไม่ออกว่าในสังคมแบบตำรวจ-ทหาร ซึ่งต้องพึ่งพาระบบยศถาจากบนลงล่างนั้น จะสามารถสร้างสังคมแนวระนาบได้อย่างไร

พันตำรวจโทมหาชัย สกุลกิจไพบูลย์ หรือ ‘ต่อ’ อาจารย์ประจำศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 ทำหน้าที่สอนนักเรียนนายสิบตำรวจ เล่าว่า นักเรียนที่สอนก็มักจบไปเป็นเจ้าหน้าที่สายตรวจ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับประชาชน เช่น ทำหน้าที่ปราบปราม ระงับเหตุต่างๆ

“เราเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำอะไรมีกฎหมายรองรับ และเราไม่ได้รู้สึกว่าผู้ที่เราปฏิบัติด้วยเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน มีสิทธิที่จะคิดเห็นต่างไปจากเรา”

อาจารย์ต่อสนใจเรื่องระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อได้มาเรียนในห้องเรียนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงการของกลุ่มละครมะขามป้อม ก็ทำให้เปลี่ยนวิธีคิดในการวางแผนการสอนนายสิบตำรวจ

“ผมเริ่มคิดว่าถ้าเรายังสอนนักเรียนอย่างนั้นต่อ คนที่จบไปก็จะคิดเหมือนกันหรือเปล่า มองว่าชาวบ้านเป็น ‘อีกแบบหนึ่ง’ ผมนำวิธีคิดมาปรับใช้ในห้องเรียน เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างครู-นักเรียน จนได้เห็นนักเรียนในห้องเริ่มกล้าคิดกล้าถาม” ครูต่อลดบทบาทของการเป็นผู้บังคับบัญชาลง ไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังวิธีคิดให้ตำรวจมอง ‘คนเท่ากัน’ นำไปสู่การปฏิบัติต่อชาวบ้านอย่างเคารพในความเป็นมนุษย์ที่แตกต่าง

การสร้างห้องเรียนประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของใครบ้าง ดร.กันตพงศ์ คงหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เนรมิตห้องเรียนให้กลายเป็นสวนผักเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานด้วยมือ เปรียบพันธมิตรของการสร้างห้องเรียนประชาธิปไตยว่าเหมือนนิ้วทั้ง 10 จากมือ 2 ข้าง ที่ต้องทำงานประสานกัน

ผู้อำนวยการกันตพงศ์เปรียบมือซ้ายเป็นคนในวงการการศึกษา เช่น สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือผู้บริหาร ส่วนมือขวาเป็นสังคมภายนอกที่ต้องเข้ามาหนุนเสริม เช่น ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เอกชน วงการวิชาการ และท้องถิ่น จึงจะสร้างห้องเรียนประชาธิปไตยได้สำเร็จ

 

โปรดอย่าผลักไส ‘เด็กเกเร’

“มีคนพูดไว้ว่า ‘เมื่อประตูการศึกษาปิดลง ประตูคุกจะเปิดออกทันที’” ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก ในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เตือนว่าในสังคมนี้ไม่ได้มีแค่ ‘ผู้ชนะ’ แต่ยังมี ‘ผู้พ่ายแพ้’ ในระบบการศึกษาอีกมากที่รอคอยโอกาสและการให้อภัย

ป้ามลกางสถิติเล่าว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กราว 100,000 คนที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษากลางคัน เป็นจำวนแสนแล้วแสนเล่าที่สังคมสูญเสียไป ส่วนมากเป็นนักเรียนในระดับมัธยมต้นเท่านั้น

“ป้าเคยให้เด็กบ้านกาญจนาเขียนโปรไฟล์การศึกษาของตนเอง พบว่าเด็กบางคนไปสักมา พอโรงเรียนรู้ก็ให้เด็กคนนี้พักการเรียน ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กกลุ่มนี้อยู่แล้ว เด็กที่หลุดไปเป็นแสนคนต่อปีแสดงว่าเป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก”

ป้ามลเคยปฏิเสธ ‘ค่าเสี่ยงภัย’ จากการสอนเด็กเกเร เนื่องจากเงินเสี่ยงภัยเป็นการตีตราว่าเด็กๆ เหล่านี้ ‘เหี้ยและร้าย’ ตรงกันข้าม ป้ามลต้อนรับเด็กทุกคนด้วยอ้อมกอด ไม่ว่าใครจะเคยทำความผิดอะไรมา ไม่ว่าหลายคนในนั้นจะเคยพลาดพลั้งก่อเหตุฆาตกรรมมาแล้วก็ตาม

“โลกไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยแค่คนอาชีพดีๆ ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยนักวิชาการเท่านั้น เราลืมคนที่มีด้านมืดแล้วมีคนมาเล่นกับด้านมืดของเขา เด็กที่ทำความผิดก็ผิดจริงๆ แต่มันมีปัจจัยแวดล้อมเต็มไปหมด จึงนำไปสู่การตัดสินใจลงโทษเขาโดยใช้ soft power เพราะเขาไม่ใช่จำเลยตัวจริงของสังคม”

ที่บ้านกาญจนาปฏิเสธการใช้ความรุนแรงควบคุมเยาวชนผู้กระทำผิด ที่นี่ไม่มีเครื่องแบบ ไม่มีชนชั้น ‘ผู้คุม-นักโทษ’ ซ้ำยังให้อิสระแก่เยาวชนในการเลือก ‘ตัวตน’ ตามที่ตัวเองอยากจะเป็น เราจึงจะเห็นว่าบางคนไว้ผมยาว บางคนไว้ผมเกรียนเพราะใจรัก ป้ามลบอกว่าสิทธิในการควบคุมความเป็นไปของเนื้อตัวร่างกายไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย เพราะเมื่อใดที่เด็กถูกควบคุมกระทั่งร่างกาย ‘มันก็จบแล้วครับ’ อดีตผู้กระทำผิดคนหนึ่งระบายความสิ้นหวังให้ป้ามลฟังอย่างนั้น แต่เมื่อใดที่เด็กได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ เขาจะรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นได้ดีกว่า และถ้าหากเขาหลงลืมว่าตัวเองได้เลือกอะไรลงไป เพียงเตือนเบาๆ เขาก็พร้อมจะตกลงกติกากันใหม่ได้

“เสียงของเขายังเป็นเสียงที่มีพลัง มีคุณค่า และรับผิดชอบตัวเองได้อยู่” ป้ามลยืนยันหนักแน่น

 

ลดช่องว่างระหว่าง ‘เพศ-วัย’ และลบพรมแดน ‘เชื้อชาติ’ ระหว่างเรา

แม้จะมีคำกล่าวว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ทำอย่างไรคนก็ไม่เท่ากัน หรือเป็นเรื่องของสังคมตะวันตก ไม่ใช่เรื่องของเรา’ แต่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) เชื่อในสิ่งตรงกันข้าม

“ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือสำคัญในการมองก้าวข้ามความเกลียดชัง ก้าวข้ามการมองคนเป็น ‘คนอื่น’ ที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน เราจึงต้องจัดการกับความกลัวและความไม่รู้ที่ขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย”

มิวเซียมสยาม (Museum Siam) พิพิธภัณฑ์ที่พยายามสลัดภาพจำวิชาการจ๋าแบบพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไป ก็สนใจการสร้างสังคมประชาธิปไตยด้วยการออกแบบการเรียนรู้เพื่อลดอคติด้านเชื้อชาติ ผ่านนิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’ สมัยที่ไทยกำลังจะเปิดประเทศสู่สังคมอาเซียน ให้เรารู้จักพม่าในมิติที่ลึกซึ้งกว่า ‘ศัตรูผู้เผาเมืองในห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์’

“เรารวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเห็นในพงศาวดาร เพื่อคัดง้างกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบที่เน้นนำเสนอเรื่องราวของวีรสตรี-วีรบุรุษ” ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้ประจำมิวเซียมสยามอธิบายเหตุผลของการนำ ‘เพลงกล่อมเด็กภาษาพม่า’ เข้ามารวบรวมไว้เป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เขาอธิบายว่าเพลงนี้บอกเล่าเรื่องราวเตือนใจแม่ๆ ชาวพม่า ไม่ให้ส่งลูกชายออกไปรบที่เมืองอยุธยา เพราะเป็นเมืองที่มีแต่ความยากลำบาก

“เรากำลังพูดถึงความหลากหลาย เราอาจไม่ได้ให้ข้อมูลเยอะมาก แต่สิ่งที่มิวเซียมควรจะสร้างคือทัศนคติ ถ้าพูดในเชิงประชาธิปไตยคือการเคารพความแตกต่างหลากหลายของคน”

มิวเซียมสยามยัง ‘ลดเสียง’ ของตัวเองลง โดยการโยนหน้าที่ผู้เล่าเรื่องไปให้คนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเล่าแทน เช่น ในนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมติ วัตถุจัดแสดงชิ้นหนึ่งที่มิวเซียมรับบริจาคจากสาธารณะคือเสื้อชั้นในสีแดงของผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่ง ที่เก็บเงินซื้อเสื้อผ้าแล้วแม่บังเอิญมาพบ จากนั้นแม่ของเธอใช้มีดอีโต้ฟันเสื้อขาด เรื่องราวเหล่านี้เจ้าของวัตถุต่างๆ จะทำหน้าที่เล่าเรื่องแทน เพื่อสร้างการตระหนักถึงเพศสภาวะที่หลากหลายในสังคม หรือนิทรรศการ My ราชดำเนิน ที่มิวเซียมกำลังจะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งเป็นโครงการสืบเนื่องจากโครงการภัณฑรักษ์วัยเก๋าเล่าเรื่องราชดำเนิน ก็จะเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้เล่ามีส่วนร่วมเรื่องราวราชดำเนินจากมุมของตัวเองเช่นกัน

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Photographer

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า