‘ฝัน’ และ ‘ใฝ่’ ความจริงรัฐสวัสดิการไทย

ความเป็นไปได้ที่เราจะมีรัฐสวัสดิการในฐานะของสิทธิ ไม่ใช่การบริจาค และการมอบให้ที่ต้องสำนึกบุญคุณ

หากลองจินตนาการถนนบรมราชชนนีที่สิ้นสุดลงไม่ไกลจากเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ก่อนเลี้ยวซ้ายไปทางถนนพรานนกสู่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อหลายสิบปีก่อน คงยากจะนึกออกว่าครั้งหนึ่งบริเวณซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในปัจจุบันเคยเป็นเรือกสวนมาก่อน

เช่นเดียวกัน หากถอยกลับไปสัก 50-60 ปี ครั้งหนึ่งสยามสแควร์ จุดเริ่มต้นของถนนสุขุมวิททอดยาวไปจนถึงพระโขนงเคยเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงที่ก่อเกิดตำนานเล่าขานมากมาย หนึ่งในนั้นคือ แม่นาคพระโขนง

กระทั่งถอยกลับไปจนถึงเมื่อสัก 100 ปี ขอบเขตของเมืองหลวงที่เรารู้จักในชื่อว่ากรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีอาณาเขตแค่เพียงบนเกาะรัตนโกสินทร์ พ้นจากนี้ล้วนเป็นชนบทแทบทั้งสิ้น ไม่ต้องกล่าวถึงปริมณฑลอย่างนนทบุรีหรือปทุมธานีด้วยซ้ำ

กว่า 100 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ พัฒนาขึ้นมากมายพร้อมๆ กับการขยายตัวของเมือง ขอบเขตที่เคยเป็นชนบทก็กลับปรากฏห้างร้านสรรพสินค้า คอนโด และแนวรถไฟฟ้า กลายเป็นภาพลักษณ์ของเมืองอนาคตที่คนรุ่นเมื่อสัก 50 ปีได้แต่ฝัน แต่ขณะที่เมืองพัฒนาไป ชีวิตส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ยังคงไม่ต่างจากสภาพเมืองหลวงแห่งนี้เมื่อร้อยปีที่แล้ว ความร่ำรวยยังคงกระจุกตัวอยู่แค่ในศูนย์กลางกรุงเทพฯ ที่ย้ายจากเกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นสีลมและสุขุมวิทเท่านั้น เช่นเดียวกันกับเมื่อร้อยปีก่อน ชนชั้นสูงกระจุกตัวอยู่แต่ในเกาะรัตนโกสินทร์ คนยากคนจนก็ได้แต่เฝ้ามองกำแพงสูงของพระราชวังหลวงที่ภายในนั้นคือ อาณาเขตที่พวกเขาไม่เคยย่างกรายเข้าไป ยังไม่ต้องหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของกรุงเทพฯ ในอดีตต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่บางส่วนของความเจริญนี้ได้นำมาสู่คำถามที่ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่หนึ่งในหัวข้อของการจัดงานเสวนา ‘รัฐธรรมนูญ/รัฐสวัสดิการ’ จำเป็นแค่ไหนสำหรับ ‘รัฐสวัสดิการ’ ในประเทศไทย เราจะคลี่บางส่วนจากงานเสวนาเพื่อให้เห็นภาพว่า รัฐสวัสดิการนั้นจำเป็นไหมสำหรับประเทศนี้ มากกว่านั้น ระบอบปกครองใดที่จะเอื้อให้รัฐสวัสดิการเจริญเติบโตและเข้มแข็งมากที่สุด เพราะอะไร และทำไม

“ในเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยทั้งหมด คุณภาพชีวิตของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เพียงพอ และเทียบไม่ได้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ เช่นมี พ.ร.บ.ประกันสังคมขึ้นมา มีหลักประกัน 30 บาทรักษาทุกโรคที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเราขึ้นมา แต่เราจะเห็นว่ามันมีการเติบโตของโครงสร้างทุนมากมายมหาศาล พูดง่ายๆ ว่าประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศยากจนอีกต่อไป แต่คนในประเทศของเรายังคงยากจนเหมือนเดิม เราแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 20-30 ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ของเราเกิดจากการผลักดันในช่วงเวลาที่เรามีประชาธิปไตย แต่อย่างที่เราทราบกันว่าช่วงเวลาที่มีประชาธิปไตยเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น ช่วงเวลาที่เราและคุณภาพชีวิตของเรามีระยะเวลาไม่กี่ปี และถูกคั่นด้วยการปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร และช่วงเวลาเหล่านี้ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของเราตกต่ำ และเติบโตไม่ทันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ”

ษัษฐรัมย์อธิบายในเชิงภาพรวมต่อระบบสวัสดิการที่คนไทยต้องใช้ระยะเวลากว่าจะมีระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทขึ้น กว่าที่คนไทยจะถูกมองในฐานะมนุษย์ที่หลักประกันคุณภาพชีวิตเป็นสิทธิที่พวกเขาควรมีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สิทธิเหล่านั้นแทบจะถูกกระชากปลิวไปเมื่อรถถังและปลายกระบอกปืนเข้ามายึดอำนาจ

การศึกษาและความฝันของการเลื่อนชนชั้น

นอกจากระบบสุขภาพ ษัษฐรัมย์ยังอธิบายว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ หากกระจุกตัวอยู่แต่ในชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ทำให้ชนชั้นแรงงานมองว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ลูกหลานของตนยกระดับชีวิตขึ้นไปจำเป็นต้องใช้การศึกษาเพื่อปีนข้ามกำแพงแห่งชนชั้นนั้นให้ได้ ทว่าพื้นที่สำหรับชนชั้นล่างไม่เคยมี เพราะในที่ว่างของชนชั้นสูงเหล่านั้นล้วนถูกจับจองให้คนในชนชั้นเดียวกันไว้หมดแล้ว คนมีเงินมักจะได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันคนที่มีรายได้น้อยก็จะได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพลดหลั่นลงไป

“มีการซ้อนลำดับชั้นของค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงมาก โดยมีข้ออ้างว่าค่าใช้จ่ายในการเปิดหลักสูตรอินเตอร์ในโรงเรียนรัฐบาล จะเป็นการนำมาจุนเจือนักเรียนที่ยากจน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้น เหมือนกับตึกปิยะมหาราชการุณย์ของโรงพยาบาลศิริราชที่เขาบอกว่ากำไรจะมาช่วยคณะแพทย์ ถ้ามันเป็นจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ปิยะมหาราชการุณย์ต้องมีขนาดเล็กลง และศิริราชที่ยากจนต้องใหญ่ขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ หมอเทมาอยู่ที่ปิยะมหาราชการุณย์ และคิวของศิริราชฝั่งที่ยากจนกว่าก็ยาวมากขึ้น”

ประชาชนแห่งตัวตนที่สูญหาย

ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโต การผูกขาดพื้นที่ทั้งในด้านการศึกษาและสุขภาพไว้เฉพาะชนชั้นกลางกับชนชั้นสูงที่ร่ำรวย ชนชั้นล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกลับเป็นได้แค่พลเมืองที่ไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ ชนชั้นล่างกลายเป็นกลุ่มชนที่สูญเสียตัวตนไปโดยไม่มีทางเลือกให้มากนัก นอกจากการแข่งขันเพื่อเปิดประตูแห่งโอกาสเข้าไป ทว่าโอกาสนั้นก็กลับถูกจับจองไว้หมดแล้วด้วยอำนาจของเงินและการผูกขาด

ขณะเดียวกันเรามีเสรีภาพที่ไม่มีความหมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทยยิ่งชัด เราอาจมีเสรีภาพในการแสดงออกทางเฟซบุ๊ค เราอาจมีเสรีภาพในการบริโภคสินค้าตามเงินที่เรามี แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เราเจอคือเสรีภาพที่เรามีนั้นไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนนโยบายให้ดีขึ้น การที่เสรีภาพเราไร้ความหมายเพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าเราไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้

ประเด็นต่อมาที่ษัษฐรัมย์ขยายให้เห็นภาพของความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการในประเทศไทยคือ การที่ประเทศตกอยู่ภายใต้วังวนของรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยข้ออ้างต่างๆ ตามแต่คณะทหารในยุคสมัยนั้นๆ จะนำมาเป็นข้ออ้าง และกีดกันประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังยากจนให้ยอมรับในความยากจนของตัวเอง ด้วยคาถาอันศักดิ์สิทธิ์คือ พอใจและทำตามสิ่งที่รัฐสั่งให้ทำ ไม่แม้แต่จะสามารถตั้งคำถามใดๆ

“ในทางกลับกัน เรากลับกลายเป็นสังคมที่ถวิลหาและมีความเปราะบาง เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเราเคยมีสิ่งที่เคยดีอยู่ในอดีต เราไม่สามารถมีสิ่งที่มันดีกว่านี้ได้ ให้พอใจอยู่ในสภาพแบบนี้ โครงสร้างทางชนชั้นของบ้านเรามันจึงมีการเปลี่ยนไปเล็กน้อย กลุ่มคนที่ขยายตัวมากขึ้นคือ แรงงานเสี่ยง กลุ่มคนเหล่านี้แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทนชนชั้นนายทุน แต่ก่อนในระบบทุนนิยม นายทุนเป็นคนแบกรับความเสี่ยง ไปลงทุนแล้วได้กำไร ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นคนที่ลงทุนในชีวิตทุกอย่าง ทำไมเขาต้องแบกรับความเสี่ยง เพราะเขาไม่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมือง ขาดจินตนาการในการรวมตัว ขาดจินตนาการในการพูดถึงพรรคการเมืองที่เป็นของพวกเขาเอง ไม่ใช่เพราะเขาโง่หรือขี้เกียจรวมตัว แต่อำนาจรัฐและอำนาจทุนได้วางเงื่อนไขในการต่อรองนั้น

“เรามีกลุ่มคนเล็กๆ ที่ปลอดภัย ชนชั้นกระฎุมพีในเสรีนิยมใหม่ คนเหล่านี้สามารถเกาะเกี่ยวไปกับโครงสร้างได้ คนเหล่านี้คิดว่าตัวเองสามารถเติบโตไปกับระบบได้ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ตัวเลขจากการวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่จุฬาฯ บอกว่ามีคนไทยน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีชีวิตปลอดภัยหลังการเกษียณ คนที่มีชีวิตปลอดภัยตอนนี้คือคนที่มีเงินเดือน 30,000 และเพิ่มขึ้นปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ และมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ส่งไม่ต่ำกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ แล้วอัตราตรงนี้น่าจะมีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่คนไทยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ เราจะมีกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้นคือ กลุ่มไฮเปอร์อีลิท ไม่ใช่ชนชั้นนำหยิบมือเดียวแล้ว แต่เป็นกลุ่มชนชั้นนำจำนวนมหาศาล ผมไม่ได้พูดถึงหลักเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่พูดถึงหลักเป็นแสนเป็นล้านคนที่สามารถจะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้ อยู่เหนือกฎกติกาต่างๆ ทั่วไป ไม่ต้องซื้อประกัน ไม่ต้องเรียนเก่งหรือทำงานหนัก แต่สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัยได้ พวกนี้กลับเป็นคนที่พร่ำสอนให้เราใช้ชีวิตตามคู่มือของเขา”

รัฐสวัสดิการไม่ได้เริ่มต้นจากคำว่าร่ำรวยเสมอไป

คำถามต่อมาถึงประเด็นสำคัญที่ษัษฐรัมย์นำเสนอจากเมื่อครั้งได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยในสวีเดน และได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสวีเดนยุคใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อร้อยปีก่อนเหมือนกับประเทศไทย สวีเดนในยุคนั้นเป็นประเทศยากจนถึงขนาดต้องขายลูกกิน จนมาถึงยุคอุตสาหกรรม แต่เศรษฐกิจสวีเดนไม่ได้ดีขึ้น ประชาชนยังยากจนและมีคุณภาพชีวิตเลวร้ายอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งสวีเดนได้ค้นพบคำตอบว่า หากต้องการให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมั่งคั่ง จะต้องลงทุนในทรัพยากรที่มีค่าที่สุด

ทรัพยากรที่เปลี่ยนประเทศยากจนให้กลายเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

ทรัพยากรนั้นมีชื่อว่า ‘มนุษย์’

“สิ่งที่ทำให้ประเทศของเขารวยไม่ใช่เพราะว่าประเทศของเขาเก่งในทางค้าขาย ไปขุดเจอน้ำมันอะไร แต่การที่ประเทศของเขาได้ค้นพบว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ การทำให้คนสวีเดนตั้งแต่เกิดจนตายมีชีวิตที่ปลอดภัย ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล”

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างการลงทุนในมนุษย์อีกกรณีหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเส้นทางรถไฟเปิดเส้นทางให้เด็กนักเรียนเพียงหนึ่งคนใช้เพื่อเดินทางไปโรงเรียน และปิดเส้นทางนี้เมื่อนักเรียนคนนี้เรียนจบชั้นมัธยมปลายเพื่อเข้าไปเรียนต่อในเมือง มีพิธีปิดอย่างเป็นทางการ

ผมถามนักศึกษาว่าทำไมเขาถึงเปิดให้เด็กนักเรียนคนเดียวใช้ มีคำตอบมากมาย ทั้งเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งเหตุผลในเรื่องการจ้างงาน และเหตุผลในเชิงนโยบายสาธารณะ กระทั่งมีความเห็นว่าทำไมเขาไม่จ่ายค่าชดเชยให้เด็กนักเรียนคนนี้ จ่ายไปเลยเพื่อให้เป็นค่าเดินทาง แต่เหตุผลที่เขาไม่ปิดเพื่อยืนยันว่าสิทธิที่คนจะเข้าถึงการบริการสาธารณะเป็นของทุกคน ไม่ใช่เพราะว่าเขาซวย เกิดมาแล้วอยู่ในหมู่บ้านนี้แล้วเขาจะถูกทิ้งจากรัฐบาล ต่อให้มีคนเดียวรัฐบาลของเขาก็จะดูแล เพราะว่าเขาคือมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในประเทศนี้

รัฐสวัสดิการคือระบบที่คืนความเป็นมนุษย์

ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาพทางชนชั้นที่กดดัน โครงสร้างทางอำนาจที่กดทับและบีบเค้น ผลักดันให้ประชาชนธรรมดาที่ไม่มีต้นทุนร่ำรวยอะไรต้องดิ้นรน ทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้ก็เพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูบุตรให้มีชีวิตที่ดีกว่าในบั้นปลายชีวิต เรายังคงไม่ใกล้เคียงกับการมีฐานะดีขึ้นแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม นอกจากเราจะสูญเสียตัวตนไปแล้ว เรายังถูกทำให้กลายเป็นสัตว์ในระบบเศรษฐกิจที่น้อยคนนักจะได้คืนกลับมาเป็นมนุษย์

ในแง่นี้ ษัษฐรัมย์จึงมองว่าทางออกเดียวของรัฐที่จะเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กันทั้งในทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชากรได้ รัฐสวัสดิการคือทางออกเดียวที่ว่านั้น รัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเก็บภาษีที่ทำให้คนรู้สึกมีที่ยืนอย่างปลอดภัยในสังคม

ระบบนี้ไม่ใช่ส่งผลแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น มันจะทำให้คนรู้สึกว่าประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศของคุณ คุณจะมีความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง คุณจะกลายเป็น active citizen ผมต้องขอถามกลับว่า ทุกวันนี้เรามีอะไรในประเทศไทยที่เราภูมิใจบ้าง ที่เรารู้สึกหวงแหน ที่เรารู้สึกเป็นเจ้าของมัน ที่เรารู้สึกว่าประเทศนี้ดูแลเรา ผมรู้สึกว่าน้อยมาก สิ่งที่ผมอวดต่อเพื่อนต่างชาติได้คือนโยบาย 30 บาท แต่ว่าคนจำนวนมากไม่ภูมิใจ มองว่านโนบายนี้ทำให้ประเทศเจ๊งล้มละลาย ต้องให้พี่ตูนมาช่วย แต่นี่คือนโยบายที่ผมภูมิใจ เพราะมันได้เปลี่ยนให้สัตว์ได้กลายเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมมองก็คือ ถ้ามีรัฐสวัสดิการ มันจะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตเท่านั้น แต่มันยังทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองมันสามารถเป็นไปได้

สิ่งสำคัญที่ษัษฐรัมย์เน้นคือ เงื่อนไขในการเกิดรัฐสวัสดิการ ต้องวางความเป็นไปได้ให้อยู่บนเงื่อนไขของฉันทามติของคนในสังคม ถ้าคนในสังคมเห็นพ้องว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมควรจะมี ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เราจะต้องมาช่วยกันออกแบบให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่ลำพังทางเลือกว่าต้องมีหรือไม่มี กระทั่งการมองว่าคนไทยไม่ขยันเท่าคนญี่ปุ่นหรือคนสวีเดน ถ้าไม่เปลี่ยนตรงนี้ ชาติหน้าเราก็ไม่มีรัฐสวัสดิการ

ทว่าษัษฐรัมย์กลับมองตรงกันข้าม

“มันเริ่มจากจุดเปลี่ยนที่ว่า ถ้าเรามองสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นไปได้ต้องเริ่มจากความคิดที่ว่าเรามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งพอ และเสียงเราดังพอที่จะพูดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการโรงพยาบาล เราต้องการนักกายภาพ ไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำ ไม่ได้ต้องการสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า