ปีกแห่งขบวนการเคลื่อนไหว หลากบทบาท หลายแนวทาง หนึ่งเป้าหมาย คือประชาธิปไตย

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม / เยาวชนปลดแอก / ประชาชนปลดแอก / ประชาชนเบียร์ / กลุ่มละคร B-Floor / ฟันเฟืองประชาธิปไตย / We Volunteer / Filmocracy / Rap Against Dictatorship / นักเรียนเลว / คณะลาบ / คณะราษแดนซ์ / คณะราษเก็ต / เฟมินิสต์ปลดแอก / ศิลปะปลดแอก / ข้าราชการปลดแอก / กวีราษฎร ฯลฯ

ในทุกขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ณ เวลานี้ มิได้เกิดจากคนเพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือใครคนใดคนหนึ่ง หากเกิดจากความรู้สึกร่วมของทุกองคาพยพที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศของรัฐบาลจนไม่อาจทนต่อไปได้ 

กลุ่มราษฎรทั้งหลายที่มักถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง แท้จริงแล้วไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นลูกหลานในครอบครัว เป็นคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเพื่อนในที่ทำงาน เป็นนักกิจกรรม เป็นอาสาสมัคร ฯลฯ พวกเขาจำต้องลุกขึ้นมากระทำการบางสิ่งบางอย่างตามแต่ช่องทางที่ตนเองจะขยับได้ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจและส่งเสียงไปยังรัฐบาล 

ความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ มาจากการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ แบ่งบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปตามความถนัด ไม่มีรูปแบบตายตัว แม้รัฐจะพยายามขจัดขัดขวาง จับกุมแกนนำ ยัดข้อหาสารพัด แต่ผู้ที่ยังเหลือรอดก็สามารถแท็กทีมกันได้จนเกิดเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง 

กลุ่มราษฎรทั้งหลายไม่ต่างจากก้อนอิฐที่เรียงซ้อนกัน แม้จะถูกทุบ ถูกทำลาย ก็ยังคงมีผู้คนที่พร้อมจะเติมก้อนอิฐได้เสมอ

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่กำลังคุกรุ่น

ทะลุฟ้า

16 กุมภาพันธ์ 2564 คือวันที่กลุ่มราษฎรในนาม UNME of Anarchy ร่วมกับเครือข่าย People GO network จัดกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ ด้วยการเดินเท้าจากจังหวัดนครราชสีมา-กรุงเทพฯ ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักๆ คือ 1) ปล่อยเพื่อนเรา 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3) ยกเลิก ม.112

ชื่อกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ หมายถึง การเดินเพื่อแสดงการต่อสู้กับรัฐอย่างสันติอหิงสา และเดินเพื่อต่อสู้กับความอดทนอดกลั้นของตนเองจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

จากจุดเริ่มต้นครั้งนั้น ทำให้เหล่าผู้ร่วมเดินขบวนในนามกลุ่ม UNME of Anarchy ได้พัฒนามาเป็นกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และใช้ชื่อนี้เรื่อยมา

กลุ่มพัฒนาต่อเนื่องขึ้นเป็น #เดินทะลุฟ้าV2 โดยการตั้ง ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ ซึ่งปักหลักอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 13 มีนาคม 2564 และขยายข้อเรียกร้องเป็น 4 ข้อ คือ 1) ปล่อยเพื่อนเรา 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3) ยกเลิก ม.112 และ 4) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก 

หมู่บ้านทะลุฟ้าตั้งเป้าชุมนุมจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลาออก แต่สุดท้ายหมู่บ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลาย โดยปักหลักอยู่ได้เพียง 14 วัน หลังจากนั้นสมาชิกกลุ่มบางคนได้จัดกิจกรรม ‘ยืนทะลุฟ้า’ ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อนายกรัฐมนตรี 

การออกมาชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้ามีให้เห็นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความถี่มากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาไม่สามารถทนกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤติที่เลวร้ายครั้งนี้ไปได้ 

ด้วยสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป ข้อเรียกร้องของกลุ่มทะลุฟ้าจึงปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ดังนี้

ข้อแรก – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นเพดานสูงสุด ณ ตอนนี้ ข้อสอง – แก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อสาม – ปฏิรูปองค์กรทุกสถาบัน ให้อยู่คู่ประเทศไทยอย่างเหมาะสมพอดี

จากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ การเรียกร้องในข้อแรกให้สำเร็จก่อน เพราะหากข้อแรกไม่สำเร็จ ข้อเรียกร้องอื่นๆ ถัดไปก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ตลอดการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา กลุ่มทะลุฟ้ายืนยันมาโดยตลอดถึงหลักการชุมนุมอย่างสันติ สงบ และสร้างสรรค์ โดยใช้การต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่การเดินทะลุฟ้า ยืนทะลุฟ้า การเผาหุ่นฟาง เผาศาลพระภูมิ เดินพาเหรดกีฬาสี หรือการจัดนิทรรศการกลางแจ้งต่างๆ เพื่อสะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองที่ตกต่ำจากการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ และการสาดสี ปาสี เช่น สีแดง เป็นสัญลักษณ์แทนสีเลือดของประชาชนที่ล้มตายจากโรคโควิด-19 หรือการสาดสีชมพูที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) หยุดใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม 

และแม้ว่ารัฐจะยังไม่หยุดการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้าก็ยังคงยืนหยัดภายใต้หลักสันติวิธีอยู่เสมอ เพราะความต้องการของพวกเขาไม่ใช่การก่อความเสียหายหรือความวุ่นวายแก่บ้านเมือง แต่เป้าหมายคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกไป

ฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย 

จากคำบอกเล่าของตัวแทนกลุ่ม ‘ฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ’ นับแต่จุดกำเนิดจากการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน อายุอานามของกลุ่มก็ราว 11 ปีแล้ว 

เพดานการเรียกร้องของกลุ่มมี 2 ข้อ คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก 2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ตัวแทนกลุ่มได้ไล่เลียงถึงบทบาทหลักๆ ของฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ ที่ทำหน้าที่ในลักษณะอาสาสมัคร ตั้งแต่การแจกข้าว แจกน้ำ โบกรถ เก็บขยะ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม แต่หากในกรณีที่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ บทบาทของกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้านหนึ่งคือการแบ่งกำลังคนเป็นด่านหน้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ และอีกด้านคือการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้หญิง ออกจากพื้นที่โดยเร็ว

หากเป็นการชุมนุมที่ถูกจัดโดยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสานงานกับฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ โดยตรง ทางกลุ่มจะลดบทบาทของตนเองลงอัตโนมัติและเข้าร่วมในฐานะผู้ชุนนุม โดยจะไม่แทรกแซงหรือทำงานทับซ้อนกับกลุ่มอื่นๆ แต่หากสถานการณ์เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ กลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ ก็จะยังคงยืนอยู่แนวหน้าของการปะทะ เพื่อกันมวลชนออกจากพื้นที่และลดการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมโดยเร็วเช่นกัน 

กฎหนึ่งข้อของกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ ที่ถือเป็นท่วงท่าและวิถีปฏิบัติในการชุมนุมแต่ละครั้ง จะอิงตามหลักแนวทางของกลุ่มผู้จัดม็อบเป็นหลัก หากม็อบครั้งนั้นๆ ประกาศชุมนุมตามหลักสินติวิธี พวกเขาก็จะเดินตามแนวทางนั้นเช่นกัน แต่หากต้องปะทะในกรณีที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมและปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง กลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ จะอาสาเข้าไปคุ้มกันและนำมวลชนออกจากพื้นที่ที่มีความรุนแรง 

กฎอีกหนึ่งข้อในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม นั่นคือ วัดกันที่อุดมการณ์และหน้างาน ตัวแทนกลุ่มยกตัวอย่างว่า หากมีนักเรียนอาชีวะรวมตัวกันมา 10 คน แล้วอยากเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม การจะรับหรือไม่รับจะถูกวัดกันที่หน้างาน เช่น หากการชุมนุมครั้งนั้นๆ ประกาศแนวทางสันติ แต่นักเรียนอาชีวะกลุ่มนั้นเลือกการเข้าปะทะ นั่นถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการเป็นสมาชิกโดยปริยาย 

ฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ วางตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มในฐานะทีมซัพพอร์ตการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ แม้แต่ละกลุ่มจะมีเพดานข้อเรียกร้องที่ต่างกัน แต่จุดยืนหนึ่งของฟันเฟืองประชาธิปไตยฯ คือการเคารพข้อเรียกร้องและแนวทางการต่อสู้ที่แตกต่างหลากหลายโดยไม่ขัดขวางซึ่งกันและกัน

Free YOUTH & REDEM 

ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร คงปฏิเสธความโดดเด่นของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) และกลุ่ม REDEM (ย่อมาจาก RESTART DEMOCRACY) ไปไม่ได้

หลายครั้งชื่อและบทบาทของ Free YOUTH และ REDEM มักจะกลืนกินเป็นเนื้อเดียวกัน แต่โดยสภาพแล้วทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน และต่างก็มีเอกเทศในตัวเอง หากจะอธิบายลักษณะคร่าวๆ ของสองกลุ่มนี้ อาจบอกได้ว่า Free YOUTH เป็น organization ส่วน REDEM เป็น social movement โดยสิ่งที่ยึดโยงทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกันคือ หลักการพื้นฐานที่ว่า ‘มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน’

ด้วยหลักการที่มีร่วมกันนี้ ทำให้ Free YOUTH และ REDEM ต่างสนับสนุนข้อเรียกร้องของกันและกัน เช่น ข้อเรียกร้องหลักของ Free YOUTH ที่ต้องการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม และส่งเสริมความก้าวหน้า ก็สนับสนุนและเข้ากันได้ดีกับข้อเรียกร้องของ REDEM ในปัจจุบัน คือ 1) จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ 2) นำทหารออกจากการเมือง 3) ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

แม้ในระยะแรก การชุมนุมของกลุ่มยังคงมีกิจกรรมแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การปราศรัย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป กลยุทธ์ก็ถูกเปลี่ยนตาม หลังจากรัฐเฝ้าจับตาและทยอยจับกุมแกนนำในกลุ่มต่างๆ ‘การเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำ’ ก็ได้กลายเป็นรูปแบบที่ Free YOUTH และ REDEM นำมาใช้ การเลือกปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางนี้ นับเป็นการลดความสำคัญของตัวแกนนำลง และกระจายความสำคัญไปยังผู้ร่วมชุมนุมให้มีมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความที่กลุ่มการเคลื่อนไหวอื่นๆ เอง ก็ได้มีการนำเสนอประเด็นและข้อเรียกร้องไว้ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือการปฏิรูประบบการเมือง ทำให้เนื้อหาและข้อเรียกร้องไม่ใช่ปัญหาของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมแบบไร้แกนนำนี้ เพราะต่างก็รับรู้และเข้าใจตรงกัน

Free YOUTH และ REDEM อาจมิใช่ผู้นำการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด หากเป็นกลุ่มที่ขยับขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันกับประชาชน บทบาทของกลุ่มอีกด้านหนึ่งจึงเป็นเสมือน ‘สื่อ’ ที่คอยนำเสนอประเด็นและแนวคิดใหม่ๆ ให้สังคมเกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน และเลือกหยิบจับไปใช้เป็นเครื่องมือ

เมื่อถามว่าแนวคิดหรือเครื่องมือใดที่ต้องการนำเสนอเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบฟ้าการรับรู้ของสังคมในตอนนี้ คำตอบที่ได้กลับมาคือ ‘การไต่เส้นสันติวิธี’ อันเป็นวิธีการประท้วง ต่อรอง ป้องกัน และตอบโต้ต่ออำนาจรัฐที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

WEVO 

กลุ่ม We Volunteer หรือ มวลชนอาสา ที่มักถูกเรียกจากมวลชนอย่างติดปากว่า ‘WEVO’ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 วันเดียวกับการชุมนุมที่จัดในนาม Free People ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้าการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน พวกเขาเป็นเพียงหนุ่มสาวจำนวนเพียงหยิบมือที่มารวมตัวกันโดยไม่ได้ตั้งใจ นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยมีจุดร่วมคือ พวกเขาล้วนเป็นนักศึกษาจาก 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เมื่อกระแสการเรียกร้องของมวลชนยังคงดำเนินต่อเนื่อง จากการรวมตัวกันหลวมๆ จึงเริ่มเหนียวแน่นเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในแนวทางการทำงาน กลุ่มมวลชนอาสาจึงถูกก่อตั้งขึ้น ภายใต้พันธกิจสำคัญคือ ‘คุ้มภัย ป้องกัน ช่วยเหลือ ประชาชน’

แม้บทบาทหลักๆ ในช่วงแรก จะเริ่มต้นจากกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันพระจอมเกล้าฯ ทว่าปัจจุบันอาสาสมัครของ We Volunteer ได้ขยายเครือข่ายสมาชิกไปยังหลากหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะ ซึ่งปัจจุบัน เพดานข้อเรียกร้องของกลุ่มคือ 1) ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2) ปรับลดงบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน/กองทัพ เพื่อนำมาแก้ปัญหาโควิด-19 3) เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิดแบบ mRNA 

พวกเขานิยามท่วงท่าการต่อสู้ของกลุ่มตนเองอย่างชัดเจนว่า ‘สันติวิธี’ แม้สมาชิกของกลุ่มจะถูกดำเนินคดีทางการเมืองไปไม่น้อยจากการออกมาแสดงออกทางการเมือง ทว่าเมื่อต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หลักคิด ‘สันติวิธี’ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขายึดถือเป็นแนวทางหลักในการเคลื่อนไหวท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง 

ด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น บทบาทหน้าที่มากขึ้น ทรัพยากรมากขึ้น และองค์ความรู้ที่มากขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา คือสิ่งที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของทีม อีกทั้งบทบาทของพวกเขาในการชุมนุมแต่ละครั้งยังค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการทำหน้าที่เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัย ดูแลการจราจร สนับสนุนด้านอาหาร การปฐมพยาบาล กระทั่งการสนับสนุนเครื่องเสียงหรือสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการในการชุมนุม เรียกได้ว่าเป็น ‘สายซัพพอร์ต’ ไม่ว่าม็อบครั้งนั้นจะถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มใด และมีเพดานข้อเรียกร้องที่ต่างกันอย่างไร หากการชุมนุมครั้งนั้นเป็นไปเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยและต้องการแรงสนับสนุน นั่นถือเป็นภารกิจของทีม We Volunteer

กรองข่าวแกง 

หากใครจำกิจกรรม ‘เปิดไฟให้ดาว’ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ของกลุ่ม People GO network ได้ เบื้องหลังของกิจกรรมนั้น บางส่วนมาจากสมาชิกกลุ่ม ‘กรองข่าวแกง’

กลุ่มกรองข่าวแกง คือปีกหนึ่งของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและนำเสนอข่าวสารที่รวดเร็วแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผ่านการกรองข่าวต่างๆ มาแล้วว่าไม่ ‘แกง’ หรือแกล้ง ให้ประชาชนหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องสับสน

กลุ่มรวมตัวขึ้นจากนักกิจกรรมและอาสาสมัครต่างๆ ตั้งแต่มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมของฝั่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ทำให้ทางกลุ่มมองเห็นปัญหาของการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน และการมีข่าวปลอมออกมามากมายหลังการสลายการชุมนุม อาทิ ไม่รู้ว่าเส้นทางไหนปลอดภัย เป็นต้น

จุดประสงค์ของพวกเขาจึงเป็นการกรองข่าวเฟคนิวส์ต่างๆ และคอยคอนเฟิร์มสถานการณ์ในม็อบให้ผู้ที่ร่วมชุมนุมทราบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเอง ซึ่งหากเปรียบกลุ่มกรองข่าวแกงเป็นคน เขา/เธอจึงเสมือนคน Gen Y ที่มีคาแรคเตอร์ขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และเอานิสัยอยากรู้อยากเห็น และช่างสงสัยนี้มาช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น

นอกจากบทบาทในการซัพพอร์ตผู้ชุมนุมแล้ว กลุ่มกรองข่าวแกงยังให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลและหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม รูปแบบขบวนทั้งฝั่งผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐเอง หากฝ่ายไหนสร้างความรุนแรงจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนคนทั่วไป กลุ่มกรองข่าวแกงเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป หลักฐานเหล่านี้จะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ 

จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าฝ่ายใดที่ทำให้ความปลอดภัยในการชุมนุมลดลง กรองข่าวแกงถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งของกลุ่ม แต่ด้วยสถานการณ์ที่หลักสันติวิธีเริ่มถูกท้าทายมากขึ้น สิ่งที่กรองข่าวแกงยึดมั่นก็คือความปลอดภัยของข้อมูล และต้องรายงานให้ผู้อยู่ ณ จุดชุมนุมได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงและรอบด้านมากที่สุด

ในฐานะพิราบสื่อสาร พวกเขาเลือกที่จะใช้รูปแบบการรายงานข้อมูลที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ผ่านช่องทาง Telegram เป็นหลัก ประกอบกับภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ โดยไม่ใส่ความคิดเห็นใดๆ ลงไป และลดอคติหรือความคิดเห็น เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ตรงกับสถานการณ์จริงที่สุด

กรองข่าวแกง เป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่สำคัญของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ท่ามกลางสมรภูมิข้อมูลข่าวสาร เฟคนิวส์ และปฏิบัติการ IO ของรัฐ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า