เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์: เชิงอรรถประวัติศาสตร์กับกิตติกรรมประกาศถึงบทกวี

“ถ้าผมไม่ถูกจับไปเสียก่อน เราคงได้พบกัน”

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ วางสายโทรศัพท์ในช่วงสายของวันที่ ‘ราษฎร’ นัดหมายชุมนุมที่อาคารรัฐสภา (17 พฤศจิกายน 2563) บ่ายวันนั้นเขานำมวลชนฝ่าละอองแก๊สน้ำตา เดินเท้าจากแยกเกียกกายไปยังสัปปายะสภาสถาน เพื่อติดตามการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งประชาชนกว่า 100,000 ราย ร่วมลงชื่อตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ละอองของแก๊สน้ำตาได้ปกคลุมตัวตนและบดบังเสียงเรียกร้องของพวกเขา สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับร่างดังกล่าว

วันนั้น เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับมวลชนเสื้อเหลืองที่แยกเกียกกาย เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น แต่ไม่อาจกลบเสียงของผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง

“พรุ่งนี้เจอกันที่แยกราชประสงค์ ผมขอประกาศยกระดับการชุมนุมอย่างเป็นทางการ” เพนกวินประกาศบนรถแกนนำหน้ารัฐสภา ก่อนจะยุติการชุมนุมในค่ำวันนั้น

01

วัดถัดมา เรานัดพบเพนกวินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขากำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศทางโทรศัพท์ ระหว่างตอบคำถาม เพนกวินเดินวนเป็นวงกลมเหมือนควานหาคำตอบที่กระจัดกระจาย กระทั่งวางสาย เราจึงได้พบและพูดคุยกัน

“ช่วงนี้สื่อมวลชนติดต่อขอสัมภาษณ์คุณเยอะไหม ส่วนใหญ่เป็นสื่อไทยหรือสื่อต่างประเทศ?”

“ถ้าเป็นช่วงแรกๆ จะเป็นสื่อนอกเสียเยอะ เพราะสื่อไทยไม่กล้านำเสนอประเด็นนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน สื่อไทยก็เริ่มพูดมากขึ้น พูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันนี่แหละ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่า เส้นมันถูกขยับแล้ว จากเดิมที่มีคำว่ากษัตริย์ในรายงานของสื่อแทบไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ขึ้นหน้าหนึ่ง ไทยรัฐ (และหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ) ไปแล้ว สำหรับคำคำนี้ คำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ”

เพนกวินดูอ่อนแรง เหนื่อยล้า เหม่อลอย เมื่อวานนี้เขาเพิ่งนำมวลชนฝ่าละอองแก๊สน้ำตาไปหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อพบว่ารายชื่อประชาชนกว่า 100,000 ชื่อ ไม่มีความหมาย หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ผ่านร่างดังกล่าว

มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ไหนจะกลุ่มคนสวมเสื้อสีเหลืองที่มารวมตัวบริเวณแยกเกียกกาย จนเกิดการปะทะกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน

รอยล้าของเมื่อวานปรากฏบนใบหน้า สำหรับพรุ่งนี้ เขายังไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่ของชีวิต

02

3 วันหลังเหตุการณ์ที่แยกเกียกกาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ประกาศความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือการชุมนุม เขาระบุว่า “จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม”

หลังจากนั้น แกนนำและผู้ปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เริ่มถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่น อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ฯลฯ

เพนกวิน-พริษฐ์ เป็นหนึ่งในนั้น

“23 คดี” เพนกวิน นับจำนวนคดีให้ฟัง วันนั้นเขายังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อถึงวันที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ จำนวนคดีน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

112 เป็นกฎหมายที่ป่าเถื่อน มันคือการเอาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันมาปราบปรามประชาชน เหมือนดาบฟันหิน ทุกครั้งที่ดาบฟันหิน ดาบย่อมสึกกร่อนและบิ่น ดาบคือความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน มันถูกใช้ฟันหินมาเป็นร้อยครั้ง จนวันนี้ดาบจะหักอยู่รอมร่อ ถ้าคุณกล้าฟันอีก…ก็ลองดู ก็จะได้เป็นการพิสูจน์ว่า ดาบนี้ยังคมอยู่หรือไม่

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 สิ่งที่เผยชัดจนกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติที่สังคมไทยยอมรับ นั่นคือกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ และนิติสงครามที่รัฐใช้ปราบประชาชน แต่ในปี 2563 เพนกวินมองว่า เหตุและปัจจัยหลายอย่างได้เปลี่ยนไป

“ที่ผ่านมา สถาบันตุลาการโอนอ่อนให้อำนาจทางการเมืองที่เป็นฝ่ายเผด็จการ ไม่มีการโอนเอนมาฝั่งประชาธิปไตย แต่ พ.ศ. นี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป ก็ต้องดูว่าศาลจะท้าทายความรู้สึกประชาชนได้มากขนาดไหน”

ระหว่างที่เราพูดคุยกับเพนกวินภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใจกลางเมืองผู้ชุมนุมในนาม ‘ราษฎร’ นำสีไปสาดใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขียนข้อความบนเสาตอม่อ กำแพงวัด พื้นถนน ฯลฯ

หลายข้อความสื่อสารและกล่าวถึงพระราชาอย่างตรงไปตรงมา

03

การต่อสู้ของเราในวันนี้ เป็นเหมือนการตอบคำถามที่คนรุ่นก่อนถามกันมาหลายยุคหลายสมัย เรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถูกพูดครั้งแรกในการชุมนุมของเรา” เพนกวินบอก หลังถูกถามว่ายังมีอะไรที่ต้องอธิบายเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มราษฎรอีกไหม

จอมพล ป. ก็เคยอภิปรายเรื่องของสถาบันกษัตริย์ในสภาด้วยซ้ำ คำว่า ‘ศักดินา’ ปรากฏในหนังสือยุคสงครามเย็น และถูกพิมพ์ซ้ำในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เยอะมาก เหตุการณ์ในปี 2553 เขาก็อภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ เป็นคำถามที่มีคนพยายามจะถามมาตลอด เพียงแต่ว่าเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ วิธีการของเราคือการขมวดคำถามที่ถามกันมาตลอด 88 ปีที่ประเทศไทยเรามีประชาธิปไตย ขมวดคำถามทุกคำถาม แล้วหาคำตอบ”

ถามเพนกวิน – คำตอบที่ว่าคืออะไร

“ผมคิดว่าคำตอบนั้นคือระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง ระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศนี้เป็นของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นคนเสมอภาคกัน ทุกคนมีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน นี่คือคำตอบที่เราพยายามจะเขียน”

เรานึกตามถ้อยคำตอบของเพนกวิน เหมือนนั่งเรือทวนกระแสน้ำย้อนกลับไปยังต้นน้ำ ก่อนจะพบว่า ชะตากรรมของผู้ตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีตอนจบไม่ต่างกัน

“ผมมองว่าประวัติศาสตร์มันมีแพทเทิร์น ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องซ้ำรอย เขาเรียกว่าจุดพลิกผัน การตัดสินใจในแต่ละครั้งนำมาซึ่งผลลัพธ์ต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องตอบแบบเดิม เราไม่จำเป็นต้องเลือกแบบเดิม ผมคิดว่าความแตกต่างของขบวนการในตอนนี้ ประเด็นสถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นประเด็นที่ไม่ต้องกระซิบกระซาบกันอีกต่อไป ตอนนี้เทคโนโลยีก็เปลี่ยนมาก ความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากความไม่รู้หลายอย่างก็เสื่อมทรามไป”

สังคมไทยหลังวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในทัศนะของเพนกวิน คือการที่สังคมได้ทบทวน ‘ความศักดิ์สิทธิ์ของสมมุติเทพ’ ที่ทาบทับกับ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’

“ชัยชนะที่คนรุ่นก่อนอยากได้ แต่เขายังไม่ได้ คือ การทำลายระบบสมมุติเทพ การทำให้ทุกคนสามารถถูกชื่นชมได้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้ว่าเราไม่สามารถทำได้โดยนิตินัย แต่ในทางปฏิบัติ ผู้คนต่างเห็นว่ากฎหมายที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีความสมเหตุสมผล เขาก็วิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะว่ากฎหมายนั้นไม่ตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชนอีกต่อไป”

ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 3 สิงหาคม ก่อนที่ อานนท์ นำภา จะกล่าวปราศรัยวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ในฐานะแกนนำผู้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัย เพนกวินได้ยินเสียงของผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ได้เอ่ยออกมา แต่มันดังก้องบนป้ายข้อความที่พวกเขาเขียนมาจากบ้าน

ในฐานะแกนนำผู้ส่งเสียงนำ เขาไม่อาจเก็บความกลัวไว้ในลำคออีกต่อไป

ในการชุมนุมตลอดทั้งปีนี้ เราเห็นป้ายข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่ทุกที่ทุกเวลา เยอะกว่าป้ายด่าประยุทธ์เสียอีก แสดงว่ามวลชนที่ออกมาต่างก็เห็นต้นตอรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาการเมืองไทย เราเป็น speaker อยู่บนเวที เราเป็นผู้แทนของมวลชนที่ร่วมต่อสู้กับเรา เราจะปฏิเสธสปิริตของมวลชนตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่สู้เรื่องนี้ มันก็ไม่จบ ปัญหาทุกอย่างก็ไม่จบ มันก็จะวนลูปเป็นวงจรอุบาทว์

เพนกวินเชื่อว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ได้เกิดจากความสามารถของมหาบุรุษคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดด้วยเหตุและปัจจัยอันหลายหลาก เหมือนความชื้น สายลม หยดน้ำ แสงแดด และความทึมทึบ ที่ให้กำเนิดมอสและเฟิร์น

“อย่างเช่น สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้เกิดจากการที่อาณาจักรอังวะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจชั่ววูบของกษัตริย์พม่า แต่มีเหตุและปัจจัยของมัน ก็เพราะอาณาจักรพม่ากับอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรคู่แข่งกัน อาณาจักรอยุธยาไปเป็นพันธมิตรกับมอญ ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่กับพม่า เขาก็ต้องตี ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอลองพญาหรือพระเจ้ามังระ หรือใครก็ตามที่ต้องมาเป็นกษัตริย์ในห้วงนั้นในสถานการณ์และเงื่อนไขแบบนั้น ก็ต้องตัดสินใจแบบเดียวกัน

“เช่นกัน ผมก็เชื่อว่าในการเคลื่อนไหวของเรา เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบนี้ เจอมวลชนชูป้ายแบบนี้ เจอประวัติศาสตร์ไทยที่ repeat ตัวเองแบบนี้ ต่อให้ไม่ใช่ผม แต่เป็นคนอื่น ผมว่าเขาก็ตัดสินใจแบบเดียวกัน ดังนั้นเราไม่ใช่มหาบุรุษ เราไม่ใช่วีรบุรุษ แต่เราแค่มาผลักมาดันกงล้อประวัติศาสตร์ เหตุและปัจจัยทุกอย่างมันพร้อม เราแค่ดันมันไป ถ้าเราไม่ดัน คนอื่นก็จะมาดันแทนอยู่ดี”

04

เราอาจสังเกตเห็นลักษณะร่วมของคนที่ออกมายืนแถวหน้า คนที่เปิดหน้าชกบนเวที คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแจกแจงข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คนอย่าง อานนท์ นำภา คนอย่าง รุ้ง-ปนัสยา รวมถึงเพนกวิน นอกจากความกล้าหาญ พวกเขามีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ การเตรียมใจหากวันหนึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพ และเตรียมใจว่าวันหนึ่งอาจตาย

“โดยส่วนตัวผมไม่ได้เตรียมใจมาเล่นๆ นะ ประมาณปีที่แล้วที่มีการทำร้ายจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ผมก็อยู่ในลิสต์ที่จะโดนทำร้าย มีคนโทรศัพท์ขู่จะทำร้ายผม เอาข้อมูลส่วนตัวของผมและครอบครัวไปเปิดเผย แล้วเราก็เจออะไรแบบนี้หลายรอบด้วย ไม่ใช่แค่รอบเดียว มันเป็นราคาที่ต้องจ่ายในการต่อสู้กับอำนาจที่บิดเบี้ยวและอัปลักษณ์ในสังคมนี้ ผู้มีอำนาจไม่สนใจกฎเกณฑ์ใดๆ เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เขาจะทำได้”

“ในการเผชิญหน้ากับอำนาจสูงสุดของสังคมนี้ คุณใช้อะไรขับไล่ความกลัวออกไป?”

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เพนกวินตอบเร็ว

“ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่จะยืดหลังตรง ไม่ต้องก้มกราบใครถ้าเราไม่ต้องการที่จะทำ ไม่ต้องเป็นฝุ่นใต้ตีนใคร ไม่ต้องเป็นทาสใคร เป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์เต็มขั้น และสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ทุกๆ คนสมควรจะได้รับสิ่งนี้ ดังนั้นถ้าเรายอมให้ความกลัวซึ่งฝ่ายรัฐสร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำจิตใจเรา เท่ากับเราละทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง

“สุภาษิตจีนโบราณว่า บัณฑิตฆ่าได้ หยามไม่ได้ เพราะเราเป็นบัณฑิต เราเป็นปัญญาชน เราได้ร่ำเรียนในหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วเราเห็นว่าอะไรเป็นอะไร เราเห็นคุณค่าและความเป็นไปของสังคม แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาปกป้องความจริงเหล่านั้น ถ้าเราไม่ลุกขึ้นเพื่อมายืนหยัดในหลักการที่เราเชื่อ ถ้าเราเป็นคนไม่มีจุดยืนแล้วเราจะเรียนไปทำไม การศึกษาและวิชาการต่างๆ มุ่งหมายให้เรามีความคิด แต่ถ้าเราไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ ก็แสดงว่าเราไม่มีความคิด ดังนั้น บัณฑิตฆ่าได้ หยามไม่ได้ แต่บ้านเมืองใดที่เข่นฆ่าบัณฑิต บ้านเมืองนั้นไม่มีความรุ่งเรือง”

05

หลังถูกฝากขังและอายัดตัวตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย เป็นเวลา 16 วันที่ถูกจองจำ แม้ถูกตีตรวนที่ร่างกาย แต่เขาตีตราใจตนเป็น ‘นักสู้’ ไม่ใช่ ‘นักโทษ’

“มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ผมก็เผชิญกับการต่อสู้ในคุก คนที่อยู่ข้างนอกก็ต่อสู้บนถนน ไปเจอแก๊สน้ำตา เจออะไรก็ว่ากันไป ผมก็เจอบททดสอบข้างใน มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เป็นเวลาทั้งหมด 16 วัน ซึ่งในแต่ละครั้งที่เราเข้าและออกประตูเรือนจำ เราไม่ได้เดินผ่านประตูในฐานะนักโทษ แต่ในฐานะนักสู้ ดังนั้น เราจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด รักษาสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ เพื่อออกมาเราจะได้สู้ต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราเข้าไปโดยแบกเกียรติภูมิของอุดมการณ์ประชาชนและบทบาทของเราไปด้วย และมันอยู่กับเราตลอดเวลา”

หลังออกจากเรือนจำ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ในนาม ‘ราษฎร’ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทุกคนคือแกนนำ / ม็อบแกงได้ทุกเมื่อ / ท่อน้ำเลี้ยงคือประชาชน / เพดานปลิวหายไปกับพายุ ฯลฯ

“การเคลื่อนไหวของเราในตอนนี้ นอกจากจะเป็นการต่อสู้ มันยังเป็นการแสวงหาด้วย” เพนกวินบอก “เพราะเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างที่กำลังเผชิญ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยุคสมัยเปลี่ยนไป โลกกำลังถูก disrupt ดังนั้น social movement ในศตวรรษที่ 21 ของประเทศไทย มันควรจะเป็นแบบไหน สิ่งที่เราทำในวันนี้ก็จะกลายเป็น case study ให้กับคนรุ่นถัดไป ว่ารูปแบบที่เหมาะสมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยคืออะไร”

แบบแผนการต่อสู้ของคนรุ่นนี้ จะกลายเป็น reference หรือเชิงอรรถให้กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นถัดไป เป็นสายธาร เป็นห่วงโซ่ เป็นกระแสการเกิดและดับอย่างต่อเนื่อง

“ตอนผมออกแบบกระสวนการต่อสู้ ผมก็มองดูการต่อสู้ การทำกิจกรรมของคนรุ่นก่อน ผมมองไปที่คนรุ่นรังสิมันต์ โรม คนรุ่นจ่านิว คนเสื้อแดง คนเดือนตุลา แล้วผมก็เชื่อว่าคนรุ่นต่อไปก็จะมองผม เหมือนที่ผมมองรุ่นพี่เหมือนกัน มันก็เป็นเชิงอรรถทางประวัติศาสตร์ให้กันไปเรื่อยๆ เป็นสายธาร ห่วงโซ่ ดังนั้นผมอยากให้ทุกคนที่ร่วมต่อสู้ไปด้วยกันภาคภูมิใจ ทุกๆ คนคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”

การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีลักษณะการช่วงใช้รูปแบบของเหตุการณ์ในอดีต ห้วงเวลาที่ถูกใช้มากที่สุดหนีไม่พ้นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผู้ชุมนุมเจาะจงใช้อุดมการณ์ของ ‘คณะราษฎร’ มาเป็นจุดอ้างอิงในการสร้างตัวตนเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย คำถามก็คือ ทำไมจึงเป็นคณะราษฎร

“เราสู้กับศักดินาอย่างเปิดหน้า เราเปิดหน้าสู้กับโครงสร้างศักดินาทั้งหมด เหมือนคณะราษฎร เขาเปิดหน้าสู้ ดังนั้นเราก็ต้องอ้างอิงถึงคณะราษฎร ถึงแม้หลายคนจะมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้แพ้ แต่ก็ไม่ได้แพ้เสียทีเดียวหรอก เขาก็ชนะในส่วนของเขา อย่างน้อยๆ ต่อให้ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรพยายามสร้างยังไม่สมบูรณ์ ถูกบิดเบือน ถูกกลุ่มเผด็จการกลุ่มอำนาจเก่าบิดเบือนให้ด้อยค่า จนเรามีประชาธิปไตยแค่ชื่อ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังต้องเกรงใจในชื่อประชาธิปไตย อย่างน้อยเผด็จการทหารก็ต้องเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีคณะราษฎร เขาก็ไม่จำเป็นต้องสนใจตรงนี้เลยก็ได้”

06

ประวัติศาสตร์เป็นวิทยาของเรื่องเล่าและความทรงจำ การออกมาเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นความทรงจำในสังคมไทยอย่างแน่นอน ความทรงจำในฐานะวัตถุดิบในการเขียนประวัติศาสตร์ แต่ความทรงจำนี้จะถูกนำไปเขียนเป็นประวัติศาสตร์แบบไหน ประวัติศาสตร์จึงขึ้นอยู่กับอนาคต ว่าจะเลือกหยิบเอาอดีตแบบไหนมาเขียนเป็นปัจจุบัน

“มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ในการหาคำตอบทางประวัติศาสตร์ของเราในครั้งนี้ เราหาคำตอบเจอไหม สังคมได้ร่วมกันตอบกับเราไหม สุดท้ายคือสังคมสามารถที่จะจรดปากกาเขียนคำตอบออกมาได้ไหม ถ้าคำตอบถูกเขียนว่า ทางออกของประเทศไทยคืออะไร ผมก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าหากว่าความสำเร็จยังไม่มาในตอนนี้ ผมเชื่อว่าด้วยวิทยาการของเทคโนโลยี การบันทึกสิ่งต่างๆ ตอนนี้ ไม่เลือนหายจากความทรงจำของผู้คนแน่นอน

ความทรงจำร่วมสมัยของผู้คนตอนนี้มันมากมาย ทุกคนถือความทรงจำอยู่ในโทรศัพท์ ดังนั้นผมคิดว่าประวัติศาสตร์จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก แล้วเรื่องราวของเราก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่เขาจะสู้ในรุ่นถัดไปได้เหมือนกัน ซึ่งผมหวังว่า… เขาจะสู้เรื่องอื่นกันแล้ว ไม่ใช่มาสู้เรื่องเดิมๆ ที่เราสู้กันมานานพอแล้ว

หากประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าและความทรงจำ บทกวีสำหรับเพนกวินก็คือท่วงทำนอง เมโลดีที่โอบอุ้มตัวบท

ผมเป็นคนชอบแต่งกลอน บทกวีคือความงามของภาษา มันคือการดัดแผลงคำพูด ถ้อยคำ ภาษา ให้น่าฟัง ให้สะกิดหรือกระทบใจ ให้มีสุนทรียภาพ ความชอบบทกวีของผมมีส่วนต่อการต่อสู้ครั้งนี้ มันทำให้เรารู้จักสรรคำ ประดิษฐ์คำ ให้มันตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึก”

ประวัติศาสตร์และบทกวีจึงเป็นคู่สมรสที่มีผลต่อการกำเนิดตัวตนของเพนกวิน ในช่วงเวลาที่เขาต้องเผชิญกับความท้าทายของชีวิต เขาจะกลับไปอ่านบทกวีชิ้นหนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ – อ้อยในปากช้าง

หนทางพิสูจน์ม้า
และเวลาพิสูจน์คน
ใครถอยและใครทน
พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา
พบภัยและไม่สู้
ซ้ำยังลู่เป็นอ้อคา
มวลชนจะตีตรา
ถึงหลานเหลนว่าเดนคน

เพนกวินท่องวรรคทองให้เราฟัง วรรคทองวรรคนี้ในบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเหมือนค้อนแห่งคติพจน์ ตอกและย้ำให้เขาแน่วแน่กับเส้นทางของการต่อสู้

“มันเหมือนทหารสมัยก่อน เวลาจะออกรบต้องตีกลองก่อน บางทีเรารู้ว่าเราออกไปพูดสิ่งนี้ จะต้องติดคุกแน่ๆ โดนจับแน่ๆ แต่เมื่อคิดคำนวณว่า ทำแล้วได้มากกว่าเสีย แล้วส่งผลต่อขบวนการยังไง ประเด็นที่เรานำเสนอขยับไปข้างหน้าไหม ถ้าประเด็นมันถูกขยับ ก็น่าทำ และต้องทำ แต่เราซวยแน่ เพราะว่าเราเป็นคนพูด

“แต่มันตอกย้ำว่าในการต่อสู้ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเราเองคนเดียว ศักดิ์ศรีที่เราแบกไว้ เกียรติภูมิที่เราแบกไว้ ไม่ใช่ของตัวเราคนเดียว”

“วันนี้คุณดูเหนื่อยล้า ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง?”

“เรียนก็ติดขัดบ้าง ช่วงเวลาที่หายเข้าไปในอีกอาณาจักรหนึ่ง อาณาจักรพิเศษกรุงเทพฯ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) การเรียนก็สะดุดไป ก็ดีว่าอาจารย์เข้าใจ เพื่อนๆ ก็ช่วยอยู่บ้าง มีเพื่อนช่วยกันเรียนอยู่บ้าง เรื่องเรียนผมก็เลยไม่กังวลเท่าไร ตอนนี้ก็ทุ่มเทให้กับการต่อสู้ ตอนนี้เราใกล้จุดคานงัดของการต่อสู้ มีอะไรทิ้งได้เราก็ต้องเอาทิ้งก่อน เหมือนเรื่องราวการอุทิศของคนรุ่นเดือนตุลา คนรุ่นนั้นเขายอมทิ้งทุกอย่างเพื่อการต่อสู้ที่เขาเชื่อว่ามันกำลังจะถึงจุดชนะ หรือกำลังจะถึงจุดพลิกผันชี้ขาด เยาวชนในรุ่นก่อนๆ เขาเอาชีวิตเข้าแลก คนปี 53 เอาชีวิตเข้าแลกไปเกือบร้อยศพ ผมเองโชคดีที่ยังไม่ต้องอุทิศไปถึงขนาดนั้น แต่ด้วยเกียรติภูมิของวีรชนที่ปูทางมาให้เราพูดได้อย่างทุกวันนี้ มันก็ต้องถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเราอุทิศตนได้เท่าเขาหรือยัง”

หลังจบการสนทนา เพนกวินเดินทางไปแยกราชประสงค์ วันนั้นเขาไม่ได้ขึ้นปราศรัย หลายวันต่อมา เขาถูกแจ้งความข้อหา 112 เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวอีกหลายคน

เราไม่แน่ใจว่า เขามีเวลาได้กลับไปอ่านบทกวีชิ้นนั้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ บ้างไหม 

*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า