เติ้ล ณัฐนนท์: อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

บรรณาธิการบริหาร SPACETH.CO วัย 22 ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังโดนจับกุมจากการไปยื่นโบว์ขาวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อคราวชุมนุมและโดนฉีดน้ำที่สยามสแควร์ 16 ตุลาคม 2563

photo: Chinnaphong Mungsiri

“มีวันนั้นวันเดียวที่นั่งมอเตอร์ไซค์ไปม็อบ วันอื่นนั่งบีเอ็มหมด”

ถ้าคุณหมั่นไส้ นั่นคือประสบความสำเร็จแล้วสำหรับ เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน แต่ภายใต้ความหมั่นไส้นั้นมี hidden agenda ซ่อนอยู่

“มันไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น เราต้องการให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างคนผิดกับคนถูก”

คำถามแรกต่อการเมืองคืออะไร

“ทำไมถึงมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐขึ้นมา” ทำไมถึงมีนายกฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคืออะไร ทำไมต้องเลือกตั้ง ทำไมบนธนบัตรต้องเป็นรูปพระมหากษัตริย์ ตั้งคำถามแบบที่เด็กคนหนึ่งจะตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว

ถ้ามาแบบจริงจัง ศึกษาด้วยตัวเอง คือช่วงรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นอยู่ ม.3 เราเห็นความไม่เมคเซนส์ของ กปปส. เราไม่เห็นจุดหมายที่ชัดเจน เรารู้สึกว่า กปปส. ดูถูกคน โดยเฉพาะคนเสื้อแดง

เราไม่เห็นสาระตอนปราศรัยบนเวที คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่เวลาที่เราพูด เราใช้อารมณ์อยู่แล้ว แต่อารมณ์นั้นต้องมีที่มาที่ไปที่เป็นหลักการ มีหลักฐาน แต่เวที กปปส. มันเป็นการให้เหตุผลแบบผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นการด่าตัวบุคคล การด่าน้องไบรท์ (ลูกชายของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) หรือการไปด่าว่าใครเป็นกะหรี่ ซึ่งวิธีการแบบนี้ สุดท้ายมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ตอนนั้น ม.3 เรียนตรรกศาสตร์แล้ว แปลว่าเด็ก ม.3 คิดได้แล้วนะ จนเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น เราคิดว่าไม่ได้แล้วล่ะ ประเทศจะพังพินาศไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว รัฐประหารครั้งนี้ไม่ถูกต้อง เพราะตอนนั้นโรงเรียนสอนว่า อำนาจของรัฐประกอบด้วยนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แล้วอยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่า เฮ้ย ฉันขอยึดอำนาจการปกครองประเทศนี้ ไม่มีแล้ว นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มันเป็นไปได้ยังไง เราเลยไปศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ

เราเลยออกไปต่อต้านรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในช่วงวันแรกๆ ใส่ชุดนักเรียนไปยืนอยู่บนสกายวอล์ค

บนสกายวอล์ควันนั้น คุณรู้สึกอย่างไร

เรารู้สึกว่า ไปทำเขาทำไม ความรุนแรงแรกที่เราเห็นคือเหตุการณ์พฤษภา 53 ประชาชนโดนล้อมปราบ เราตั้งคำถามว่านี่นะหรือคือสิ่งที่คนทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือตอนที่มีระเบิด กระทืบคนไปเลือกตั้ง เรารู้สึกว่ามันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ต่อมผิดชอบชั่วดีของเราเริ่มทำงาน

ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะมีทั้งเพื่อนที่ไป กปปส. เราก็ไม่เห็นด้วย เราก็แบบ ไปทำไมวะ

ได้คุยกับเพื่อนไหมว่าทำไมถึงไป

มันก็จะพูดคำเดิมๆ อ๋อ ยิ่งลักษณ์เลว สืบทอดอำนาจคนอยู่ดูไบ เราฟังก็ไม่เมคเซนส์แต่ก็ไม่ได้โทษเขา เพราะเข้าใจว่าเขาฟังพ่อแม่มาอีกทีนึง

บรรยากาศในโรงเรียนตอนนั้นคงต่างจากตอนนี้มาก

เงียบสงบทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย มีแค่ตอนนั้นที่มีแค่เติ้ลกับเพื่อนที่มาพูดเรื่องการเมือง แล้วสุดท้ายก็โดน ผอ. เรียกไปพบ

โดนอะไรบ้าง

เขาบอกว่า เรายังเด็ก ต้องศึกษาอีกเยอะ เขามองว่าเรามีข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนั้นเรามีข้อมูลมากเพียงพอนะ ที่คุณสอนในชั้นเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ก็พูดถึงเรื่องนี้ พอช่วงรัฐประหารเราก็ไปศึกษาว่า 6 ตุลาฯ คืออะไร 14 ตุลาฯ คืออะไร การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญอะไรต่างๆ กรณีความขัดแย้งต่างๆ ในอดีต ที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์ต่างๆ แล้วก็มีคนส่ง ฟ้าเดียวกัน มาให้อ่าน (หัวเราะ) เล่ม ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ เปิดโลกมาก พอเราอ่านก็ยิ่งตั้งคำถาม แล้วพยายามเอาเรื่องเหล่านี้เข้าไปในห้องเรียน แต่เราก็ไม่ได้คำตอบอะไรจากครูเลย

เอาเข้าไปในห้องเรียนอย่างไร

ไปถามครูว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เหรอ รีแอ็คชั่นที่ได้มาคือ อย่าไปว่าพลเอกประยุทธ์เขา เขามีความจำเป็น โอเค เราก็เข้าใจนะ เพราะครูกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไปชุมนุม กปปส.

ตอนนั้นเราคุยเรื่องการเมืองถึงระดับไหน

ถึงระดับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว เพราะเป็นการตั้งคำถามเชิงประวัติศาสตร์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ในสมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ หรือว่าการตั้งคำถามต่อกรณีสวรรคต ซึ่งช่วงนั้น อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ เริ่มดัง เริ่มออกมาพูด

มีเราอยู่ 3-4 คนในโรงเรียนที่จับกลุ่มคุยกันเรื่องการเมืองในโรงอาหาร ตอนนั้นบรรยากาศโรงเรียนเราคือไม่มีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย

วิชาสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง เติ้ลมีคำถามอะไรที่สงสัย แล้วไม่ได้คำตอบสักทีไหม

ก่อน ม.3 ด้วยความที่เรายังไม่เห็นโลก ยังมีข้อมูลไม่มากพอ ยังฟังอยู่ เขาบอกอะไรมาก็เชื่อ แล้วเราไม่ว่างมาตั้งคำถามเพราะเราต้องไปเรียนพิเศษ พอ ม.3 เราตั้งคำถามกับการเรียนในระบบ เลยหยุดเรียนพิเศษ พอหยุดเรียนพิเศษก็มีเวลาไปศึกษาความรู้อื่นนอกเหนือตำราเรียนมากขึ้น พอยต์อยู่ตรงนี้ มันเป็นความอัดอั้นมาหลายสเต็ป ตอนแรกเราอัดอั้นกับการศึกษาก่อน สักพักเราก็อัดอั้นกับการเมือง ต่อมาก็สังคมวิทยาศาสตร์ เลยมาทำ Spaceth.co จะสังเกตว่ามันเป็นการขยายวงออกมาเรื่อยๆ

อัดอั้นในการเมืองและวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็น SPACETH.CO?

SPACETH.CO เกิดจากความอัดอั้นในวิทยาศาสตร์ที่มาคู่กับการเมือง ปี 2555 เราได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า สตีเฟน ฮอว์กิง ได้อ่านหนังสือของเขาชื่อ A Brief History of Time มันทำให้เราตั้งคำถามกับวิทยาศาสตร์รอบตัว

ตอนเด็กเราก็ถามแหละ ทำไมดวงจันทร์ถึงตามรถเรา ทำไมนู่นทำไมนี่ ทำไมน้ำต้องไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่พอเราได้อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์จริงๆ มันทำให้เราสัมผัสกับกระบวนคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้กัน อะไรที่ทำให้ไอน์สไตน์สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งไม่เคยอธิบายไว้ในหนังสือเรียน ไม่เคยอธิบายกระบวนคิด มันอธิบายแค่ว่านิวตันค้นพบอะไร ไอน์สไตน์ค้นพบอะไร ชาร์ลส ดาร์วิน ค้นพบอะไร แต่เราไม่เคยได้รู้กระบวนคิดของเขา

A Brief History of Time ทำให้เราได้รู้กระบวนคิดทางวิทยาศาสตร์ว่ากว่าจะได้มา มันไม่ใช่การศึกษาตามขนบธรรมเนียมนะ แต่เป็นการถกเถียงนอกกรอบกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมืองของเราด้วย

เราจึงเริ่มศึกษาวิทยาศาสตร์เชิงปรัชญา แล้วเราก็เริ่มเขียนบล็อกเพราะว่าอยากจะแชร์ ประมาณ ม.5-6 บล็อกเราก็เริ่มดังขึ้น เราได้เรียน รด. ก็ไปตั้งคำถามกับการเรียน เราตั้งคำถามกับการให้ร้องเพลง ‘คืนความสุข’ ท่องค่านิยม 12 ประการ โหลดแอพฯ รักษาดินแดน เราก็ไปเขียนบล็อกด่า…

คือแอพฯ ที่ทหารไปจ้างทำ ซึ่งเป็นแอพฯ ที่โหลดมาแล้วทำอะไรไม่ได้ เราก็ อ๋อ เขาคิดกันแบบนี้นี่เอง แบบอยากเป็นอยากมี แต่คุณไม่ได้เข้าถึงคอนเซ็ปต์ของการมีแอพพลิเคชั่นเลย พี่แชมป์ ทีปกรณ์ ขอเอาไปเล่าใน The Matter แต่ยังไม่เปิดเผยชื่อนะ ทำให้เราเริ่มเป็นที่รู้จักของสังคม จนได้มาทำ SPACETH.CO ตอนเข้ามหา’ลัยปี 1

การเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ไหม

ถ้าพูดกันในมุมวิทยาศาสตร์เหตุและผล เหตุมันเกิดจากอย่างเดียวเลยคือคนไม่ยอมรับว่าเขาไม่รู้อะไร การยอมรับว่าเราไม่รู้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ แม้กระทั่งในวงการวิทยาศาสตร์เอง เวลาที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเอกภพ จักรวาล เขาจะมีคำว่า observable universe คือเอกภพที่สังเกตได้

วิทยาศาสตร์มองว่า การจะรับรู้อะไร ควรมีขอบเขตของตัวเอง และขอบเขตของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนก็อยู่ในจุดที่เป็น space คือสถานที่ แล้วก็ time คือเวลาที่ไม่เหมือนกัน เราอาจจะนั่งอยู่ใกล้กัน แต่ว่าขอบเขตในการรับรู้ของเราไม่เท่ากัน เพราะว่ามันมี bubble บางอย่างครอบเราเอาไว้ แล้วก็เรามีได้แค่จุดที่มัน intersect กันแค่นั้น ซึ่งจุดที่ intersect กันคือจุดที่เรามาแชร์ความรู้และสร้างบทสนทนาเรื่องเดียวกันได้

พอคนไทยไม่ยอมรับว่า observable universe ของตัวเองไม่เท่ากับคนอื่น ขอบเขตการรับรู้ของคนเราไม่เท่ากัน ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะเราจะต้องไปคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องคิดเหมือนเรา เราอาจจะดูทีวีช่องเดียวกันแต่ดูคนละเวลา ข้อมูลที่ได้รับก็คนละอย่างกันแล้ว

เรารู้สึกว่าการ discuss ที่ดี ไม่ใช่การถามหาความจริงหรือ absolute truth แต่เป็นการหาความจริงที่เป็น relative คือเป็นความจริงเชิงสัมพัทธ์ ว่าสิ่งที่เรารับรู้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่คนอื่นรับรู้ยังไง แล้วเราจะหาจุดร่วมกันยังไง การตั้งคำถาม การถกเถียง มันจะไม่เป็นการห้ำหั่นกันเพื่อหาคำตอบ หาความจริงสมบูรณ์ข้อเดียว ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ยังขาดในสังคมไทยอยู่มากๆ เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบมตินิยม ใครบอกอะไรมาก็เชื่อ โรงเรียนยังสอนให้อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ข้อมูลชุดเดียวกัน แม้กระทั่งโรงเรียนเราสอนวิชาตรรกศาสตร์ สอนวิชาฟิสิกส์ที่ดูเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์ แต่ถ้าคุณมีวิธีคิดที่ต่างจากเพื่อน คุณก็จะได้ศูนย์คะแนน อาจารย์ไม่ตรวจต่อ กระทั่งวิชาเรียนที่พยายามให้เราคิด ก็ยังเอากรอบมาครอบอยู่ดี

เรารู้สึกว่าตรงนี้คืออุปสรรคจริงๆ ที่ทำให้การเมืองไทยไม่ไปไหน แล้วก็เกิดความวุ่นวายมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราไม่ได้ยอมรับความจริงที่ว่า ความจริงไม่ได้มีแค่อันเดียว แต่มีชุดความจริงหลายอย่างที่เราต้องพูดกันในเชิงสัมพัทธ์ ต้องยก context หรือบริบทมาพูดกันด้วยว่าทำไมคุณถึงคิดอย่างนี้ได้ ไม่ใช่คุณมโนขึ้นมาเอง หรือคุณจะมโนขึ้นมาก็ได้ แต่คุณต้องอธิบายด้วยว่าทำไมคุณคิดอย่างนั้น

อย่างเช่น เราคิดว่าประยุทธ์ไม่ถูก เราก็ต้องอธิบายด้วยว่า การรับรู้แบบไหนของเราที่ทำให้เรามองว่าประยุทธ์ไม่ถูก เรารู้สึกว่าคุยกันแค่นี้จบเลยนะ ไม่ต้องมาเถียงกันให้วุ่นวายว่าใครรักชาติรักสถาบัน มันไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น

เพราะการอธิบายความคิดความเชื่อมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงวุ่นวายกันแบบนี้?

ความเชื่อก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เราต้องมีเหตุและผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อย่างเช่น ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง ไม่ต้องพูดถึงวิทยาศาสตร์หรอก พูดถึง linguistic ภาษาก็ผิด ทางสังคมศาสตร์ก็ผิด ไม่เคารพแปลว่าไม่รัก ไม่นะ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อธิบายแปลว่าเถียง อันนั้นมันภาษาวิบัติแล้ว ไม่ต้องถามด้วยซ้ำว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไหม

โอเค มันอาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ในแง่ที่ว่าเป็นชุดข้อมูลที่คุณได้รับมา คุณก็เลยคิดแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ความคิดนั้นของคุณมันไม่ได้เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่เราอธิบายได้นะว่าทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้นก็เพราะว่าคุณพยายามถามหาความจริงสัมบูรณ์ไง มันเป็นสังคมแบบ binary มีแต่ขาวกับดำ ถูกกับผิด

ซึ่งการที่บอกว่าไทยเป็นสังคม binary ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะถ้ามันเป็นสังคมแบบ binary จริง อะไรที่เทาๆ ก็จะไม่มี เช่น การค้าบริการ

ทำไมความจริงต้องมีชุดเดียว เพื่อความสงบ?

เราไม่ได้ถูกสอนให้คิดเลยนะ เราถูกสอนให้เชื่อ แล้วการเชื่อที่ง่ายที่สุดคือการเชื่อความจริงชุดเดียวเพราะทำให้เราไม่ต้องคิด ไม่ต้องมีเงื่อนไขเยอะ หนึ่งสองสามสี่ ก็ต้องเป็นหนึ่งสองสามสี่

วันที่เติ้ลถูกจับ ที่บ้านเป็นยังไงบ้าง

เขาก็ไป ตชด. ภาค 1 แล้วทหารก็ไม่ให้เข้า เพื่อนเราหลายคนก็ไป

บ้านเป็นเสื้อแดง แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าเสื้อแดงถูก เราก็ตั้งคำถามกับเสื้อแดงเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว พอเสื้อแดงเขาเรียกร้องสิ่งที่ไม่ได้ขัดต่อหลักการมากนักเหมือนการเรียกทหารมารัฐประหาร ก็โอเค

มองปรากฏการณ์ที่เด็กๆ เยาวชนรุ่นเดียวกับเติ้ล หรือโตกว่า ออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง วิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบหรืออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ไหม

ทุกวันนี้เป็นยุคของข้อมูลที่เยอะมากๆ เยอะจนทะลัก เรามองว่าการเมืองไทยสมัยใหม่ มันมียุคของข้อมูล 3 ยุคด้วยกัน ยุคแรกคือยุคที่เป็นสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ state media สื่อโดยรัฐ ซึ่งข้อมูลที่ให้มาจะเป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ก็เป็นข้อมูลเดิมๆ

อีกยุคหนึ่งคือยุคแห่งทีวีที่เป็นเคเบิลหรือดาวเทียม ที่ตอนนั้นมีความจริงวันนี้ ASTV บลูสกาย แล้วก็ยุคนั้นเป็นยุคของการ polarization แบ่งขั้วแดง เหลือง กปปส. แล้วยุคนั้นเริ่มมีเฟซบุ๊คเริ่มมีไลน์ มันก็เริ่มทำให้เกิด polarization คือ กปปส. เขาจะชอบพูดว่า นี่คือโลกของข้อมูลประชานิยมแท้ เขาจะมีความภูมิใจ

ยุคที่สามคือยุคแห่งข้อมูลเสรีที่แท้จริง คือยุคที่เรากำลังอยู่นี้ ยุคที่มีคอมพิวเตอร์ มีเฟซบุ๊ค แต่คนเริ่มมี awareness เรื่องเฟคนิวส์ มีการตั้งคำถามเรื่องข้อมูล ซึ่งยุคนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเด็ก เยาวชน เกิดแฮชแท็ก ทวิตเตอร์ เกิดเพจ ใครจะขึ้นมาทำก็ได้ คนไม่ได้สนแล้วว่าคนที่ทำเป็นใคร คนสนแค่ว่ามัน logical มันเมคเซนส์ ก็เลยเกิดเพจนั่นนี่เต็มไปหมด ที่พยายามจะขึ้นมาวิพากษ์ เป็นยุคที่สื่อเสรีจริงๆ มันถูก decentralized ไปหมด

ยุคนี้ทำให้คนต้องใช้สมองในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทำให้ logic ของคนก็มากขึ้นตามมา ยุคที่สามดันมาเกิดหลังยุค คสช. พอดี เลยทำให้คนตั้งคำถาม สังเกตได้ว่ากิจกรรมทางการเมืองในยุคหลัง คสช. เกิดจากโลกออนไลน์ นั่งกินแม็คโดนัลด์ หรือไปอ่าน 1984 ไปปิกนิก มี Rap Against Dictatorship เริ่มมีวงพังค์ที่ร้องเพลงด่าประยุทธ์ ม็อบก็ decentralized ไม่ได้เป็นกรุ๊ปแบบ polarization อีกต่อไปแล้ว แต่เรารู้สึกว่าก็ยังมีคนเถียงเด็กและเยาวชน หรือคนที่ยังไม่หลุดจากยุค ASTV บลูสกายอยู่

การเมืองที่ดีสำหรับเติ้ลหน้าตาควรจะเป็นแบบไหน

การเมืองที่ดีสำหรับเราก็คือ scientocracy ไม่ว่าเราจะปกครองด้วยระบอบไหนก็ตาม สุดท้ายสิ่งที่ต้องมีคือเหตุและผล กระบวนการวิทยาศาสตร์ การถกเถียงในรัฐสภา มันต้องไม่ใช่แค่ใครดีกว่าใคร อะไรถูกผิด แต่เราต้องหยิบเหตุและผลมาคุยกัน ถ้าเราจะคุยกันเรื่องการควบคุมกฎหมาย อาวุธปืน เราไม่ควรมีแค่ควรมีหรือไม่ควรมี

แต่ scientocracy คือการที่เอาเหตุและผลมาคุยกันว่า ถ้ามีกฎหมายควบคุมปืนจะเกิดอะไรขึ้น แล้วคนในประเทศรับอะไรได้มากกว่ากัน ซึ่งเราจะไม่ห้ำหั่นกันตามสิ่งที่เป็นแค่ซ้ายหรือขวา แต่จะมีคำถามเป็นแนวว่า กฎหมายการควบคุมปืนช่วยยุติการกราดยิงในโรงเรียนได้จริงหรือเปล่า คุณจะเอา data มาคุยกัน อันนี้คือการเมืองที่ดีสำหรับเรา

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ วันหนึ่งเราถูกจับ แต่อีกวันเราเข้ารัฐสภาไปกับคณะกรรมาธิการ ย้อนแย้งไหม

ยุคกลางเขาก็เป็นกันอย่างนี้แหละ (หัวเราะ) ก่อนถึงยุคเรเนซองส์น่ะ เราก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ว่าทำไมประเทศไทยถึงเป็นอย่างนี้ เราเข้าใจได้นะว่าเขาเข้าใจว่าคนฉลาดเป็นภัยต่อประเทศ เพราะเขาไม่ต้องการให้เปลี่ยน ซึ่งจริงๆ แล้วการที่เราไปคุยกับ กมธ. ก็ไม่ได้แปลว่าเขายอมรับเราขนาดนั้น กมธ. ก็เป็นแค่โครงสร้างหนึ่งของรัฐสภาที่เขาออกแบบมาให้แก้ปัญหาโน่นนี่นั่น แต่ว่าก็ยังเห็น ก็ยังมี สส. บางคนพูดไม่รู้ฟังจริงๆ นั่นแหละ

จริงๆ แล้วประเทศไทยต้องการคนฉลาดที่อยู่เป็น พอเราอยู่ไม่เป็นมันเลยเกิดความวุ่นวายแบบนี้ขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการปั่นหัวความคิดของคนพวกนี้นี่แหละ ว่าเฮ้ย มันบ้าอะไรเนี่ย เราไม่ได้ไปก่อจลาจลอะไรเลย เอาโบว์ขาวไปวางก็โดนจับ มันทำให้คนตั้งคำถามไง ซึ่งคุณจะตั้งคำถามว่าอะไรก็แล้วแต่คุณ เราไม่ชี้นำ แต่เราชอบนะปรากฏการณ์แบบนี้เพราะมันทำให้คนคิด

เหมือนใครเคยพูดไว้ว่ายุคนี้อะไรที่ไม่เคยเห็นจะได้เห็น กรณีคนเสื้อแดง คุณไปมองว่าเป็นรากหญ้า ชาวบ้าน เป็นไพร่ แต่ว่าเราต้องการที่จะให้มันเกิดภาพว่าไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น เราต้องการให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างคนผิดกับคนถูก นี่ไปม็อบก็นั่งบีเอ็มไปอะ (หัวเราะ)

นั่งบีเอ็มไปคืออะไร ในใจของเติ้ลคืออะไร มันต้องมีเมสเสจอะไรสักอย่าง

เมสเสจคือ มึงมีกูก็มีอะ เราไม่ได้อยู่ในจุดที่ลำบากขนาดนั้น ท้องเราอิ่ม เรานอนหลับ แต่เราเลือกที่จะต่อสู้เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราเชื่อนะว่า ในประเทศที่คนกินอิ่มนอนหลับ มีความสุข ไม่ต้องอดทนกินมื้อต่อมื้อ มันทำให้การเมืองสร้างสรรค์ เพราะถ้าคุณมองว่าม็อบคือคนที่ยากลำบาก คุณกำลังดูถูกคนอื่น กดขี่ เนี่ย พวกเขาไม่มีกินก็เลยมาประท้วง ไม่เกี่ยว เขาแค่รู้ผิดชอบชั่วดี เรามีกินเราก็ไปประท้วงได้

ดังนั้น คุณต้องเลิก romanticize ความจน แล้วทำให้ทุกคนมีความสุข มีฐานะที่ดี มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วประเทศจะดีเอง แล้วเราสามารถเป็น elite ได้โดยที่ยังคงความถูกต้องอยู่

นี่แหละคือสิ่งที่อยากจะสื่อ คนจะชอบคิดว่าเป็น elite จะต้องทำตัวผิดกฎหมาย ไม่ เราสามารถเป็นทั้งคนที่รวยและดีได้

ทุกวันนี้เติ้ลมีรายได้เท่าไหร่

ไม่พูดถึงตัวเลขละกันเพราะแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถย้ายไปอยู่เมืองนอกได้สบายๆ โดยที่ไม่ต้องแคร์ว่าจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น แต่เราเลือกที่จะไม่ เพราะเรารู้สึกว่าเราอยากขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีกว่านี้ก่อน เราไม่ได้ต้องการว่าพอมีเงินแล้วบริจาค เพราะการบริจาคไม่มีประโยชน์ ในเมื่อโครงสร้างของประเทศมันยังผิดเพี้ยนอยู่ เราก็อยากจะช่วยประเทศนี้

ที่ชอบไล่เรา ว่าเราชังชาติ ไปอยู่ต่างประเทศไป คือขอโทษ ไม่ใช่ไม่มีปัญญาที่จะไป แต่เราไม่ได้อยากตัดปัญหาให้มันจบแค่นั้น เพราะคนอื่นไม่ได้มีตัวเลือกเหมือนกับเรา เราเป็นแค่คนหนึ่งที่โชคดี เราพูดได้เลยว่าเรามี privilege จากการที่เราอาจจะคิดได้เร็ว

เราพยายามทำให้ตัวเองกินอิ่มนอนหลับก่อน เราทำงานๆๆ เพื่อให้เราสบาย สามารถออกมาเรียกร้องอะไรตรงนี้ได้โดยไม่ต้องคิดอะไร

สุดท้าย การเรียกร้องของเรา เราก็ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อครอบครัว การตอบแทนบุญคุณของครอบครัวที่ทำให้เรามาอยู่จุดนี้ คือการสร้างประเทศให้มันดีขึ้น เขาจะมีสวัสดิการผู้สูงอายุที่ดีขึ้น ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการแค่กตัญญูตามแบบเดิม โรงพยาบาลรัฐมันห่วยก็พาไปโรงพยาบาลเอกชน ซื้อประกันสุขภาพ แบบนั้นมันไม่เมคเซนส์ เราอาจจะดูแลเขาได้ในช่วงอายุนี้ แต่เรายิ่งไปตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรายิ่งรู้สึกว่าอันนี้คือการต่อสู้ที่เราต้องทำ ทำเพื่อทุกคน

มองย้อนกลับไปในวันที่เราถูกจับ ณ ตอนนี้ รู้สึกกับมันอย่างไร

รู้สึกว่าดีแล้ว เพราะว่ามันเป็นการทำให้สังคมได้คิด เป็นการทำให้คนได้เห็นภาพหลายๆ อย่าง เรารู้สึกว่าไม่ว่าคนจะคิดอะไรก็ตาม แค่คุณคิดก็พอแล้ว แต่อย่าไม่คิดเลย การไม่คิดไม่ใช่เรื่องดี คิดอะไรก็ได้ แต่ขอให้ได้คิด แล้ววันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะเกิดเพราะคนคิดนั่นแหละ แต่ไม่ต้องมาจับอีกนะ เสียเวลา ไม่มีประโยชน์เลย ยิ่งจับคนยิ่งเห็นความไม่เมคเซนส์ในตัวรัฐบาล ไม่เมคเซนส์ของโครงสร้างอำนาจเหล่านี้

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า