รอยแผลเดือนตุลา ความรุนแรงทางการเมืองในเรื่องเล่าของประชาชน

‘งานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสำคัญ

แม้จะเป็นวันทำงาน แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาร่วมรำลึกถึงการจากไปของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หากไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความไว้อาลัย แต่ยังทวงถามถึงความยุติธรรมที่ผู้วายชนม์ควรได้รับมาตลอด 46 ปี

ผู้คนหลากหลาย แตกต่างทั้งเพศ วัย ไปจนถึงความสนใจและการแสดงออก เราได้พบกับแกนนำการชุมนุม องค์กรพิทักษ์สิทธิ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ รวมไปถึงชาวบ้าน นักศึกษา และพ่อค้าแม่ขาย ที่ตบเท้าเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันด้วยจุดยืนที่สอดคล้องใกล้เคียง เมื่อเดินไปตามจุดต่างๆ ในช่วงสายของวัน จะพบเห็นป้ายและนิทรรศการขนาดย่อมอยู่เรียงราย มวลชนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะปักหลักอยู่รอบนอก ขณะที่บางส่วนใช้เวลาไปกับการร่วมกิจกรรมเสวนาซึ่งจัดโดยทีมงานรำลึกฯ 

เมื่อคนเริ่มเบาบาง เราจึงได้เริ่มบทสนทนากับผู้มาร่วมงาน ถามไถ่ถึงความทรงจำและการรับรู้ต่อประวัติศาสตร์ 6 ตุลา

-1-

บริเวณใกล้กับประตูทางออกฝั่งสนามหลวงกลายเป็นอนุสรณ์ไว้อาลัย ซุ้มพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยจำนวนมากตั้งเรียงราย ปรากฏรายชื่อบุคคล องค์กร หน่วยงาน ผู้ร่วมระลึกถึงการจากไปของวีรชน

ลานว่างด้านหน้าอนุสรณ์ถูกจับจองโดยกลุ่มคนจำนวนมาก บ้างมองพินิจ บ้างเอ่ยคำวิจารณ์ถึงเรื่องราวและผู้คนที่ถูกประดับรายชื่อไว้บนช่อดอกไม้ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มหญิงเลยวัยกลางคนที่กำลังถ่ายภาพร่วมกับอนุสรณ์ไว้อาลัยจากอนุชนรุ่นหลัง 

เมื่อเอ่ยปากถาม จึงได้ทราบว่าสตรีทั้งสามคือผู้ผ่านประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 

“ป้าคือนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา” 

หนึ่งในสามที่เริ่มพูดคุยกับเรา คืออดีตนักศึกษารามคำแหง ซึ่งแทนตัวเองว่า ‘ป้า’ เธออยู่ในอาภรณ์ดำล้วน สวมหมวกแก๊ปทะมัดทะแมง 

เราไม่ได้ถามชื่อจริงของเธอ เช่นเดียวกันกับที่เธอไม่ได้กล่าวมันออกมา แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสื่อสารถึงเรื่องราวที่ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ

“วันนั้นเรานอนกันอยู่ตรงตึกบัญชี ผู้หญิงนอนรวมกันด้านใน ผู้ชายล้อมด้านนอก” เธอกล่าวพลางชี้มือไปยังที่ตั้งของตึกแห่งนั้นในความทรงจำ

“ตอนที่มันยิงเข้ามา บางส่วนตัดสินใจยิงสู้ เพื่อให้คนด้านในได้ทยอยกันหนีออกไป”

“เขารู้ว่ายังไงก็ตาย แต่ถ้าไม่ตอบโต้เลย คนที่เหลือจะหนีออกไปไม่ได้”

เธอเล่าต่อไปว่า หลังจากหลบออกมาได้ ก็ต้องวิ่งหนีตะเกียกตะกายอย่างสุดชีวิต แผนในการเอาตัวรอด ณ เวลานั้นคือการเกาะกลุ่มกันให้แน่นที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้ามาแทรกแซงพื้นที่วงใน แต่ท้ายสุดวงล้อมนั้นก็แตกออก

“มันใช้วิธีดึงคนออกไปทีละคนสองคน เริ่มกระชากคนจากวงนอกแล้วขยับเข้ามาลึกถึงวงใน เหมือนไฮยีน่าที่เข้ามาลากสัตว์ที่วิ่งช้าออกไปจากฝูง”

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่มีเวลาให้หันกลับไปมองข้างหลังด้วยซ้ำ”

“คนที่โดนลากออกไป ถูกบังคับให้ถอดเสื้อแล้วนอนลงบนพื้น ผู้หญิงก็ถอดเหลือแต่เสื้อใน มันทั้งเตะทั้งถีบ เหมือนเราไม่ใช่คน”

เส้นทางของเธอมาบรรจบที่การหนีลงน้ำเอาชีวิตรอดพร้อมกับนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง บางส่วนเข้าไปหลบในชายคาบ้านเรือนของชาวบ้านที่เปิดประตูให้ ส่วนคนที่เหลือไม่อาจบอกได้ว่าตายหรือเป็น

“ป้าเข้าป่าไป 5 ปี ได้กลับออกมาอีกทีก็หลังนิรโทษกรรม”

การต่อสู้ในคราวนั้นถูกถ่ายทอดออกมาราวกับเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสทั่วไป ทั้งที่จริงแล้วความรุนแรงของมันมีผลถึงชีวิต และยังส่งผ่านความเจ็บปวดมาถึงปัจจุบัน

พูดคุยกันเพียงครู่หนึ่ง ก็มีชายวัยกลางคนเข้ามาร่วมวงสนทนาอย่างออกรสออกชาติ เขาให้ความเห็นในฐานะคนรุ่นหลังเพียงสั้นๆ “คนรุ่นคุณป้านี่โคตรสุดยอด” 

ได้ฟังดังนั้น เธอก็หัวเราะออกมา กล่าวตอบด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย

“ไม่ได้สุดยอดอะไรหรอก แต่ถ้าเราไม่ออกมาเรียกร้อง เราก็จะต้องทนอยู่ในสภาพนั้นไปตลอด”

เราถามต่อไปถึงมุมมองเรื่องการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและประชาธิปไตยของคนรุ่นปัจจุบันในมุมมองของของเธอ ในฐานะคนที่เคยต่อสู้โดยมีเป้าหมายเดียวกัน

“สิ่งที่คนรุ่นป้าไม่มี คือเด็กสมัยนี้เขาไม่ใช่คนที่จะโดนหลอกหรือยอมถูกเอาเปรียบอีกต่อไปแล้ว”

เธอเล่าว่า ในการต่อสู้ยุค 6 ตุลา นับเป็นการต่อสู้ผ่านพละกำลังและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ นักศึกษากลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของรัฐไทยและสมควรถูกกำจัดทิ้ง ในขณะที่โลกปัจจุบันเป็นการต่อสู้ผ่านข้อมูลและหลักคิดที่ถูกยอมรับในสากล

แม้อาจมีบางอย่างที่คล้ายกัน โดยเฉพาะวิธีการจัดการผู้ชุมนุมของรัฐบาล แต่เธอเชื่อว่าเยาวชนและคนรุ่นใหม่จะรับมือได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าอย่างแน่นอน

“เขารู้กันทั้งโลกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เมื่อประชาชนถูกทำร้าย ภาพทุกภาพจะถูกบันทึกไว้แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก แล้วทุกคนจะรู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง”

น้ำเสียงนั้นหนักแน่น ดังกังวาลต่อหน้าอนุสรณ์ไว้อาลัย เธอทิ้งท้ายถึงเรา-คนหนุ่มสาวผู้กำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ก่อนแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัว

“ป้าเชื่อว่าถ้าเราไม่ยอม เราก็จะไม่แพ้”

-2-

กำแพงด้านหนึ่งของหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แปรสภาพกลายเป็นกระดานให้ภาพถ่ายหน้าตรง พร้อมชื่อ-สกุล ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อ 46 ปีก่อน ปรากฏต่อสายตาของผู้ร่วมงาน ภายใต้ชื่อนิทรรศการ ‘6 ตุลา 19 เราไม่ลืม’

คงจะจริงอย่างที่ ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว คนตายไม่ใช่แค่จำนวนหรือตัวเลข แต่มีใบหน้า มีชื่อ มีนามสกุล ซึ่งก็หมายความว่า พวกเขาเองก็มีครอบครัวที่รอคอยให้กลับบ้าน เราจึงไม่ควรจดจำแค่เพียงตัวเลขเท่านั้น และ ‘บอร์ด’ ชั่วคราวในงานรำลึกนี้ก็ทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตาที่ผลัดกันยืนอ่านและถ่ายรูปกับ ‘ใบมรณบัตร’ เหล่านี้ ชายวัยเกษียณสามคนนั่งจับเข่าสนทนากันอย่างออกรส ณ ตรงหน้ากำแพงนั้น

“ลุงไม่ใช่นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมในวันนั้นหรอก เรายังเด็ก แต่อาศัยว่าบ้านอยู่ใกล้ก็เลยมามุงดูเหตุการณ์โดยรอบ แถวๆ ฝั่งสนามหลวง”

ชายคนหนึ่งเล่าย้อนเหตุการณ์ ในขณะที่เพื่อนของเขาพากันพยักหน้า เมื่อรู้ว่าทั้งสามคนนี้ไม่มีใครเลยที่เป็น ‘เหยื่อ’ ที่เผชิญหน้าความรุนแรงตรงๆ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามว่า “แล้วทำไมลุงมาร่วมงานรำลึก”

“ก็เพราะลุงเป็นคนดูน่ะสิ เราเห็นคนลากศพมาทุบตี มาตอกอก มาแขวนคอ ตรงสนามหลวงที่เรายืนอยู่ แบบนี้มันไม่ใช่แล้ว โหดร้ายมาก”

ชายสามคนไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ญาติสนิท และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กระทั่งต่างคนต่างมาร่วมงานรำลึก 6 ตุลา อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี เมื่อเห็นหน้าค่าตากันบ่อยๆ พวกเขาก็เริ่มผูกมิตรคบหากัน และพบปะเพื่อสนทนาปัญหาบ้านเมืองอย่างน้อยปีละหนในงานรำลึกฯ

“ลุงเพิ่งมาร่วมงานรำลึก 6 ตุลา ช่วงไม่ถึงสิบปีมานี้ หลังจากเกษียณ ลูกชายทำงาน มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา เรามีเวลาว่างมากขึ้นก็เลยมา ยิ่งเห็นสภาพการเมืองของไทยหลังรัฐประหาร 2557 ด้วยแล้ว ยิ่งอยากมา”

“แต่ปีนี้เจ้าของสถานที่ (ม.ธรรมศาสตร์) ดูเหมือนไม่อยากให้จัด เขาปิดปรับปรุงหน้าดินสนามฟุตบอลแล้วล้อมรั้ว ทั้งที่เดือนตุลาคมมันเป็นหน้าฝน”

เขาเอ่ยไปถึงสนามฟุตบอลซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอประชุม ซึ่ง ณ เวลานี้ถูกไถหน้าดินจนไม่อาจใช้งานได้ในวันที่มีกิจกรรมรำลึกฯ อย่างพอดิบพอดี

“ลุงขอถามหน่อย มีผู้รับเหมาที่ไหนเขารับงานถมที่หรือไถที่ช่วงหน้าฝนบ้าง”

“ดินมันเละ ไม่มีใครเขาอยากทำหรอก ยกเว้นจะจงใจกลั่นแกล้ง”

เขายังเล่าบทบาทที่ตนเองได้เข้าไปร่วมกับการต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการประชาชน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไม่เคยขาด พร้อมกล่าวอย่างติดตลกว่า “ลุงเนี่ยเกิด พ.ศ. เดียวกับประยุทธ์ อายุเท่ากันเลย เคยไปแจ้งที่เขตขอเปลี่ยนปีเกิด คนอื่นอาจจะขอเปลี่ยนชื่อ แต่ลุงขอเปลี่ยน พ.ศ. เกิด เพิ่มมาอีกปีก็ได้ ไม่อยากได้ชื่อว่าคนรุ่นเดียวกับมัน”

“ลุงไปร่วมม็อบทุกครั้ง ไปให้กำลังใจ เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างน้องรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เขาก็เก่ง คนรุ่นเราแก่จนเกษียณแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องออกมาเป็นไม้ค้ำยันให้เด็กเขาสู้ต่อไป”

เมื่อถามว่า บรรยากาศทางการเมืองในปี 2519 ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร เขาตอบว่าแทบจะไม่ต่างกันแม้จะผ่านมาถึง 46 ปีแล้วก็ตาม

“ปัญหาทางการเมืองไทยยังติดอยู่กับพวกเผด็จการบ้าอำนาจ ที่สำคัญคือพวกที่อยู่บนนั้น” นิ้วของเขาชี้ขึ้นไปบนฟ้า 

“เดี๋ยวๆ พูดว่า ‘ข้างบน’ แบบนี้ น้องๆ จะเข้าใจไหมล่ะว่าหมายถึงใคร” เพื่อนเขาสะกิดถาม พลางหันมาสบตากับพวกเรา แต่ไม่มีคำพูดใดตอบกลับนอกจากรอยยิ้มมุมปาก และการยิงคำถามต่อถึงความคาดหวังที่พวกเขามีต่ออนาคตประเทศไทย

“ไม่รู้หรอก ขอโทษนะที่ต้องพูดอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีใครออกมาสู้เลย พวกเราก็อยู่กันแบบนี้ต่อไปเถอะ อยู่กับผู้นำโง่ๆ บ้าอำนาจ คนรุ่น 6 ตุลา เขาสู้จริง ตายจริง พวกเราอาจไม่ถึงกับตาย แต่ยืนยันว่ายังไงประชาชนก็ต้องออกมาสู้ ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลง”

แม้จะเล่าประวัติศาสตร์ได้เป็นฉากๆ วิเคราะห์การเมืองได้แตกฉาน แต่ชายอาวุโสยืนยันว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์แบบเปิดเผยตัวตนเด็ดขาด

“เคยมีคนเชิญลุงขึ้นเวทีปราศรัย เขาบอกลุงพูดเก่ง ลุงก็บอกว่า ผมขึ้นได้ ผมพูดได้หมดว่าอะไรเป็นอะไร แต่แล้วยังไงต่อ หลังเวทีผมจะโดนรวบไหม ผมโดนจับแล้วใครจะช่วย พูดแล้วพวก ‘สืบ’ จะตามผมไปถึงบ้านไหม ที่นั่งคุยกับน้องๆ อยู่นี่ก็ไม่รู้ว่าสายสืบหรือเปล่า (หัวเราะ)”

“คนตัวเล็กตัวน้อยแบบผมต้นทุนต่ำ ขอร่วมช่วยด้วยการออกมาเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนก็พอแล้ว”

-3-

ดูเหมือนว่าทีมจัดงานรำลึก 6 ตุลา ปีนี้ จะพยายามกระจายอีเวนท์ไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ในธรรมศาสตร์ ที่เคยเกิดเหตุนองเลือดเมื่อ 46 ปีก่อน ช่วงเย็นๆ มีการล้อมวงเล่าประวัติศาสตร์ความสยดสยองของรัฐไทยและฝ่ายขวาใต้ตึกคณะนิติศาสตร์

ท่ามกลางบรรดาหนุ่มสาวในชุดนักเรียน-นักศึกษาที่มาต่อแถวรอฟัง สายตาขี้สงสัยของเราก็สะดุดเข้ากับพระสงฆ์สองรูปที่ยืนเด่น พระรูปหนึ่งห่มจีวรสีแก่นขนุนไม่แตกต่างจากพระป่าทั่วไปนัก แต่พระอีกรูปกลับห่มคลุมด้วยจีวรสีเทาหม่น ซึ่งนับว่าแปลกตาอย่างมาก

เมื่อเข้าไปทักทาย สายตาเรายังสะดุดกับฝาบาตรที่มีสติกเกอร์ติดหราว่า ‘#ไล่ประยุทธ์’ และ ‘ข้อ 3 ไฟเย็น’ หลังจากกราบนิมนต์ท่านนั่งบนม้านั่งไม้ใต้ตึก เพื่อ ‘สนทนาธรรม’ สั้นๆ พระรูปนี้ก็ชวนเรานั่งลงข้างๆ บนม้านั่งตัวเดียวกัน 

“เราคือ สมณะดาวดิน คุณเปิดเผยชื่อได้เลย”

อดีตพระสงฆ์จากสันติอโศก ถูกตำรวจ สน.พหลโยธิน ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา จับกุมในข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ เมื่อต้นปีก่อน หลังสมณะดาวดินนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญาเป็นเวลา 8 วัน เพื่อประท้วงให้ปล่อยนักกิจกรรมที่ถูกจับด้วยข้อหามาตรา 112 จนไม่อาจหุ่มจีวรปกติอย่างพระสงฆ์ทั่วไป แต่อาศัย ‘ผ้าเทา’ ที่ผู้ศรัทธาบริจาคให้ใช้คลุมกาย

“6 ตุลา ปีนั้น เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เลย เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ ป.2 ไม่รู้เรื่องราวอะไรหรอก แต่มาศึกษา มารู้ในภายหลัง ก็คิดว่า คนเราช่างเหี้ยมโหดเหลือเกินถึงทำกันได้เพียงนั้น”

เราถามสมณะดาวดินเรื่องบทบาทของ พระกิตติวุฑโฒ ที่เทศนาปลุกปั่นมวลชนให้เห็นว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ถือเป็นการฆ่าคน แต่เป็นการฆ่ามาร จนมีส่วนให้ความรุนแรงในวันนั้นลุกลามถึงขั้นเลือดนอง 

พระจีวรเทาก็ตอบว่า “มันผิดอยู่แล้วล่ะ อย่าว่าแต่ผิดพระธรรมวินัยเลย ผิดศีล 5 พื้นฐานของฆราวาสด้วยซ้ำ นี่คือการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างร้ายแรง”

“ถ้ายึดตามหลักธรรมแล้ว พระสงฆ์ไม่ควรมีจิตใจเช่นนั้นเลย แต่พระบางรูปก็ฝักใฝ่เผด็จการ บ้าอำนาจ เข้าข้างเขาไปเรื่อย ไม่เพียงเฉพาะในยุคนั้น ยุคนี้ก็เป็น”

ดูเหมือนว่าแม้กาลเวลาจะผ่านไป แต่ความรุนแรงของรัฐไทยก็มิได้ลดน้อยถอยลง เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากการประหัตประหารชีวิต มาเป็นการห้ามพูด ห้ามคิด ห้ามแสดงออกทางการเมือง จับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง กระทั่งพระสงฆ์อย่างสมณะดาวดินก็ยังถูกจับถอดจีวร

“เราไปอดข้าวหน้าศาล เพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนโดนจับ เขาก็มาบอกว่าเป็นพระอย่ายุ่งเรื่องการเมือง ถ้ายุ่งก็ไม่ใช่พระแล้วนะ” ประโยคดังกล่าวฉุกให้เราคิดว่า แล้วถ้าพระที่ยุ่งการเมืองมีทัศนะตรงกับผู้มีอำนาจล่ะ เขาจะถูกดำเนินคดีแบบเดียวกันนี้ไหม

“เราออกมาเคลื่อนไหว เพราะตอนนี้บ้านเมืองเละเทะมาก เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นแบบนี้ เพราะเคยไปร่วมทั้ง ‘เสื้อเหลือง’ และ ‘นกหวีด’ นี่คือการต่อสู้เพื่อแก้ไขความผิดพลาดนั้น”

– 4-

เราพบสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินเข้ามาถึงบริเวณที่มีการจัดกิจกรรม

ต้นไม้ใหญ่ตรงข้ามตึกคณะนิติศาสตร์ ปรากฏร่างบุรุษคนหนึ่งลอยอยู่เหนือพื้นดิน พร้อมท่วงท่าที่อนุมานได้ว่าเป็นการ ‘แขวนคอ’ เสมือนกับภาพเหตุการณ์น่าสะเทือนใจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

นี่คือ Performance art สะท้อนและเสียดสีการเมือง ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา ‘กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’

เราพูดคุยกับตัวละครหลักอย่าง ‘ชายที่ถูกแขวนคอ’ และทราบว่าเขาคือเด็กหนุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ขณะที่ทีมงานคนอื่นๆ ก็เป็นนักศึกษาที่มีอายุไล่เลี่ยกัน นับว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และถือเป็นคนรุ่นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งสิ้น

“ทำไมถึงต้องใช้คนจริงๆ มาแสดง” เราถาม

“ปัจจัยหนึ่งมาจากระยะเวลาการเตรียมตัวที่กระชั้นชิด เลยไปกระทบกับการทำอุปกรณ์ แต่นอกเหนือจากนั้นคือ เราต้องการสร้างผลงานที่สื่อสารอย่างทรงพลังกว่าที่ผ่านๆ มา”

กลุ่มคนซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘ล้อ’ ให้ทัศนะในแบบที่เข้าใจได้โดยง่าย แม้ว่ากลุ่มล้อฯ จะได้สร้างสรรค์และแสดงออกทางการเมืองจนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของธรรมศาสตร์ แต่พวกเขาอยากไต่ระดับให้มากกว่านั้น – มากกว่าแค่การล้อการเมือง

หัวใจหลักของการแสดงออกในครั้งนี้ คือการสะท้อนภาพความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขของการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน

ที่มา: กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การใช้คนแสดง มันทำให้เกิดความเสี่ยงในทุกด้าน เพราะกลุ่มล้อฯ จะโดนจับตามองมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังให้การแสดงออกนี้เป็นการสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ผลิตซ้ำความรุนแรง”

หนึ่งในทีมงานอธิบายให้เราฟังถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของมหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง

ในมุมหนึ่ง ผลงานครั้งนี้ก็สะท้อนความเข้มแข็งเชิงความคิดฃองคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์จริง ซึ่งเลือกจะใช้ตัวเองเป็นสื่อกลาง ถ่ายทอดและตอกย้ำความรุนแรงอันมาจากการกระทำของรัฐในอดีต 

แต่อีกแง่หนึ่ง พวกเขาเองก็เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่กำลังเผชิญความรุนแรงทางการเมืองในยุคปัจจุบันอยู่เช่นกัน

“พอแสดงจริง รู้สึกกลัวไหม” เราถามนักแสดงนำหนึ่งเดียวของวันนั้น

“ตอนเริ่มโปรเจ็คต์ไม่รู้สึกกลัวเท่าไร แต่พอได้ซ้อม ได้ลองเข้าถึงบทบาท ถึงรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก ไม่ใช่แค่ในฐานะคนแสดง แต่คือในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องโดนกระทำแบบนั้น”

“ผมว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร” เขาตอบ

เมื่อเรียบเรียงความคิดจากการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ จึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงความหวังและเส้นทางอนาคตของพวกเขาในประเทศนี้

กลุ่มคนหนุ่มสาวมองหน้ากันเล็กน้อย ส่งรอยยิ้มบางเบาแต่ไม่เอ่ยคำใดออกมา จนเราคิดว่าคำถามนี้ยากไปหรือไม่ ท้ายที่สุดในหนึ่งนั้นก็เป็นตัวแทนที่ให้คำตอบ

“เราไม่มีสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต มีแต่อนาคตที่อยากให้เป็นเสียมากกว่า” 

“นอกเหนือจากการเรียนจบและมีชีวิตที่ดี การมีอยู่ของพวกเราในวันนี้เพื่อไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ซ้ำอีก นั่นคืออนาคตที่เราอยากเห็นที่สุด”

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า