สาวชุดดำชูสามนิ้วในนาม ‘ป้าเสื้อแดง’

19 กันยายน 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ใช้ชื่อว่า ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ เข้าปักหลักชุมนุมกันที่บริเวณท้องสนามหลวง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และค้างคืนกันจนถึงเวลาย่ำรุ่งในวันที่ 20 กันยายน เพื่อทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 และยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่าน พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนจะยุติการชุมนุม

นอกจากจำนวนผู้มาชุมนุมที่มากกว่า 50,000 คน เต็มพื้นที่ท้องสนามหลวงแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือมีป้าๆ ลุงๆ จำนวนไม่น้อยที่มาชุมนุมด้วยการแสดงออกว่าเป็น ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายกับการได้ย้อนประวัติศาสตร์กลับไปอีกครั้ง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 1 วัน วันที่ 18 กันยายน เรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ ‘ป้าเสื้อแดง’ 2 ท่าน เรานัดกันภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลา ป้านัต หรือ นัตยา ภานุทัต ในวัย 62 ปี แต่ยังดูคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ปลีกตัวแอบไปเตรียมความพร้อม และกลับมาในเสื้อที่เปลี่ยนใหม่ เป็นเสื้อยืดสีดำสกรีนลายประโยคคุ้นหู ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ และต่อไปนี้คือเสียงจากป้าเสื้อแดง

แดงแบบไม่ตั้งใจ

นัตยา ภานุทัต

เธอสวมเสื้อยืดสีดำสกรีนข้อความ ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ รองเท้าผ้าใบเหมือนเด็กหญิงที่พร้อมจะวิ่งไปบนถนน แต่ นัตยา ภานุทัต อายุ 62 ปีแล้ว ตามมาตรฐานของคนอายุ 62 ในประเทศนี้ พวกเธอพบพานรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง เรานัดพบเธอในเย็นวันที่ 18 กันายน 2563 พรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเป็นวันที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมใหญ่ หลังพูดคุยเสร็จเธอเดินทางไปทำอาหารเพื่อเตรียมไปแจกจ่ายภายในม็อบ

ป้านัตเริ่มเป็นคนเสื้อแดงตั้งแต่ตอนไหน

ป้าเป็นแดงแบบไม่ได้ตั้งใจ ตอนที่มีเหตุการณ์เมื่อปี 53 ป้ายังไม่ได้ร่วมต่อสู้กับกลุ่มเสื้อแดง ตอนนั้นขายของตลาดนัด แค่ผ่านไปดูเขาแค่นั้น แต่ว่าความคิดเห็นของเขากับเรามันตรงกัน เรามีคำถามเดียวกัน ทำไมประเทศไทยต้องมีรัฐประหารบ่อยๆ พอเกิดขึ้นที ประชาชนมันก็เจ็บปวดที เหมือนพวกเราเป็นพวกฝุ่นใต้ตีนทหาร

ก่อนหน้านี้เราก็เชียร์เสื้อแดง แต่เรายังอายอยู่ เพราะเราเห็นแนวทางการต่อสู้ของเขา เห็นเขาออกไปปะทะกับทหาร เห็นเพื่อนที่เขาต่อสู้ล้มตาย แต่เราไม่เคยสู้ร่วมกับพวกเขาเลย ก็ยังมีความรู้สึกว่า เขาจะเปิดรับเราหรือเปล่า เขาจะเชื่อใจเราหรือเปล่า ป้ามาทีหลัง สุดท้ายเขาก็ยอมรับป้า แล้วเดี๋ยวนี้พอเสื้อแดงไปไหน ป้าก็จะไปกับเขา เมื่อก่อนนี้วันอาทิตย์ป้าก็จะใส่เสื้อสีแดงนั่นแหละ แต่ช่วงนี้เขาใส่เสื้อดำก็ใส่เสื้อดำกับเขา แต่จริงๆ แล้วใจก็แดงนะ อย่างช่วงคุณยิ่งลักษณ์ไปขึ้นศาล ป้าก็ไปทุกนัด ไปเชียร์คุณยิ่งลักษณ์ตลอด ไปจนวันที่ตัดสินคดี วันนั้นป้าก็ยังไปอยู่เลย ก็เพิ่งมาคิดได้ว่า เออ กูแดงเว้ย (หัวเราะ)

ในครอบครัวป้าเองก็มีทั้ง 2 ฝ่าย แต่ว่าฝ่ายที่มีแนวคิดเดียวกันกับป้ามีเยอะกว่า อันนั้นก็เป็นแรงผลักดันให้ป้ายังสู้ต่อ ในที่สุดแล้วป้าก็โดนผลักให้เป็นคนเสื้อแดง แล้วแดงแบบเต็มใจนะ เขาเรียกว่าแดงไม่ตั้งใจ (หัวเราะ)

ตอนรัฐประหารปี 2557 ป้านัตทำอะไร และทำไมจึงเริ่มออกมาต่อสู้

ผ่านมาถึงปี 57 เรามีความรู้สึกว่าชีวิตเราก็ดีขึ้นแล้ว ลูกก็เรียนมหา’ลัยแล้ว ชีวิตเริ่มผ่อนคลาย วันแรกที่ทหารยึดอำนาจ ป้าออกไปอนุสาวรีย์ฯ กับลูก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นป้าไม่ได้เล่นเฟซบุ๊คเลย ป้ามั่นใจว่ามันจะต้องมีคนที่คิดเหมือนเราว่า เฮ้ย! เราต้องออกแล้ว ถ้าไม่ออก บ้านเมืองมันก็จะเป็นเหมือนเดิม วนเวียนอยู่แบบนี้ตลอดเวลา ป้าอายุ 62 ปีเจอรัฐประหารมาหลายครั้งมากเลย ซึ่งป้ามีความรู้สึกว่ามันไม่ถูก ก็เลยออกไปกับเขา กลายเป็นว่าปี 57 เวลามีการเคลื่อนไหวที่ไหน ป้าจะไปแทบทุกที่เลย แล้วก็ไปเจอพวกเพื่อนๆ ที่มีแนวทางเดียวกัน อายุไล่เลี่ยกัน เราก็จะคุยถึงการต่อสู้ของพวกเขา พวกเสื้อแดงเขาต่อสู้กันอย่างไร เพราะเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีกับเขาแต่แรก เราก็ซึมซับเอาจากพวกเขา เขาก็ต่อสู้มาขนาดนี้แล้ว ก็ยังไม่ชนะแหละ แต่พวกเขาก็รอเวลา

บรรยากาศสังคมไทยในช่วงรัฐประหารปี 57 ตอนนั้นเป็นเสื้อแดงก็กลัวนะ แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ป้าก็ก้าวข้ามผ่านความกลัวตรงนั้นมาได้ บางครั้งป้าก็ไปประจันหน้ากับพวกทหารที่เขายืนเรียงๆ กันอยู่ แต่ไม่รู้ทำไมเราถึงไม่กลัว มันไม่ใช่ความรู้สึกเกลียดชังนะ มันเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ พูดแล้วน้ำตาจะไหล มันมีความรู้สึกว่า เฮ้ย! เราประชาชนนะ แล้วเขากินภาษีเราอยู่อย่างนี้ จริงๆ แล้วเขาควรจะปกป้องพวกเรา ไม่ใช่เขาจะยึดอำนาจแล้วมาย่ำยีพวกเราซึ่งเป็นประชาชนที่เขากินภาษีอยู่ไง ป้ามีความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจนะ ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดเขาเลย ทำไมเขาไม่มองว่าประชาชนก็เป็นคนเท่ากับพวกเขาบ้าง มันเจ็บปวดตรงนี้ไง ไม่ได้เกลียดชัง แต่เป็นความเจ็บปวด แล้วอยากจะบอกพวกเขาว่า กล้าสบตาประชาชนบ้าง (เสียงสั่น) อย่าทำร้ายประชาชน อยากบอกกับเขาแค่นี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าจะมีจิตสำนึกบ้างหรือเปล่านะคนพวกนี้

ป้าโดนกี่คดี

ป้าโดนมา 2 คดี มีคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์ค (#MBK39) แล้วก็หน้ากองทัพบก (#ARMY57) จริงๆ ที่ราชดำเนินป้าก็ไป แต่พอดีป้าแอบแต่งตัวเป็นสลิ่ม (หัวเราะ) ป้าก็ใส่นกหว่งนกหวีด แกล้งปล่อยผมแล้วก็ใส่หมวก แล้วนอกเครื่องแบบมันจำป้าไม่ได้ ก็รอดคดีนั้นไปที่ราชดำเนิน ที่ยูเอ็นป้าก็ไป แต่โดนปะทะแล้วป้าเจ็บ เขาก็เอาตัวป้าส่งโรงพยาบาลกลาง ตอนนั้นเขาอาจจะไม่กล้าดำเนินคดี ไม่มีหมายกลัวมันมีปัญหา เพราะเราเจ็บ ตอนนั้นเป็นช่วงที่พวกน้องโบว์ไปนั่งกันอยู่หน้ายูเอ็นแล้วป้าก็พยายามไปช่วยนั่นแหละ แต่เจ็บตัวนิดหน่อย

นอกจากโดนคดีแล้วถามว่าโดนตามไหม ทุกครั้งที่โผล่หน้าไปเขาก็จะสวัสดีครับป้า ป้ามาแล้วเหรอ อะไรอย่างนี้ ไม่ถึงขนาดคุกคามหรอก เขาก็บอกเขามาคอยดูแลป้า ป้าเชื่อนะ เพราะว่าไปไหนเขาก็จะเดิน พยายามจะถ่ายรูป แต่เราก็ชินแล้วไง ชีวิตช่วงนี้มันไม่ได้กลัวอะไรแล้ว อยากให้มันจบที่รุ่นป้าเนี่ยแหละ (หัวเราะ)

หลังรัฐประหารปี 2557 สังคมไทยเงียบเหมือนเป่าสาก มีคนบางกลุ่มที่ออกมาสู้ ป้าเสื้อแดงก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็เหมือนจะสู้อะไรไม่ได้ ประชามติปี 2559 ก็แพ้ แพ้มาตลอด จนกระทั่งนักศึกษาออกมาชุมนุม ป้ารู้สึกอย่างไร

พอมีกลุ่มนักศึกษารุ่นนี้มาแล้วเหมือนป้าเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มันรู้สึกมีความหวัง ป้าว่าพลังรุ่นนี้เขาไม่ธรรมดา ป้ายังไม่คิดเลยว่าเขาจะออกมาจากโซเชียล แต่จริงๆ เมื่อก่อนป้าตราหน้าเขานะ ป้าก็ว่า เฮ้ย! มันก็ดีแต่อยู่ในโซเชียลแหละวะ มันไม่กล้าออกมาหรอก เพราะว่าเป็นเด็กมันก็ต้องกลัวตาย แต่พอป้าไปเห็นวันนั้นที่วิ่งแฮมทาโร่ ป้าตกใจ ยืนน้ำตาไหลเลย บอกตรงๆ ว่าป้าปลื้มมาก อยากให้มีเยอะๆ อีก แล้วเด็กเขาน่ารักทุกคนเลย เวลาป้าเห็นเขา ป้าก็พยายามไปยื่นน้ำให้ แต่เขาก็พยายามบอกว่าเขาไม่รบกวนป้า ไม่เป็นไรค่ะป้า ป้าไว้กินเองนะ ป้ารัก ป้าอยากให้มีพลังอย่างนี้ออกมาเยอะๆ เลย แล้วป้าก็สมหวังแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นป้าไม่รู้จักเลยว่าแฮมทาโร่มันเป็นอย่างไร (หัวเราะ) มารู้จักวันนั้นแหละ โคตรจ๊าบเลย แล้วเด็กเขาก็คิดว่าป้ากลืนไปกับเขานะ เขาไม่มีการมาทำรังเกียจหรือทำอะไรป้าเลย เขาให้ป้าวิ่งตาม ป้าก็วิ่ง วิ่งไปกับเขา 2 รอบ (หัวเราะ)

เนื้อหาสาระที่นักศึกษาเรียกร้องล่ะ ป้าคิดอ่านอย่างไร

ข้อเรียกร้องของเขาป้าก็เห็นด้วยทั้งหมดนะ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ป้าก็อยากพูดมานาน แต่ป้าไม่กล้าพูด ตอนนี้เด็กเขาพูดแทนป้าแล้ว ป้าดีใจที่เขาออกมาพูดกัน

เวลาชูสามนิ้ว เสียงข้างในใจของป้ามันตะโกนว่าอะไร

เวลาชูสามนิ้วแล้วเหมือนได้ด่า (หัวเราะ) ป้ามีความรู้สึกว่าเหมือนได้ด่ามัน เพราะป้าเคยเห็นทนายอานนท์ไปขึ้นศาลแล้วซักนายทหารคนนึงว่า คุณรู้ไหมว่าการชูสามนิ้วมันคืออะไรบ้าง แล้วเขาก็บอกว่า ผมไม่ขอตอบในศาล แล้วคุณรู้ไหมว่าอิสรภาพมันเป็นยังไง เขาก็บอกว่าเขาไม่ขอตอบอีก แสดงว่าเขาไม่รู้อะไรเลย แล้วทนายอานนท์ก็ถามอีกว่า คุณรู้ไหมว่าชูสามนิ้วเนี่ยมันแปลว่าอะไรบ้าง คือเขาไม่รู้ห่าอะไรสักอย่างเลย วันนั้นป้าขึ้นไปในศาลแล้วป้าสะใจมากเลย เวลาป้าเห็นเขาป้าก็อยากจะชูสามนิ้ว ป้ารู้สึกว่ามันเป็นอาวุธของเราแล้ว

ตอนนี้สังคมไทยพูดถึงป้าเสื้อแดงกันมาก ในความคิดของป้า ป้าเสื้อแดงคือใคร

นิยามในความคิดของป้า ‘ป้าเสื้อแดง’ คือคนที่ต่อสู้มานาน เขารอคอยความยุติธรรม แล้วไม่ได้รอธรรมดา เขารอด้วยความเจ็บปวด รอด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ แต่เขาก็อดทนรอ เขาไม่ได้สู้เพื่อตัวเขาเองหรอก เพราะหลังจากที่ป้าไปคลุกคลีกับพวกเขา เขาก็ออกมาต่อสู้เพื่อลูกหลาน

เพราะถ้าคุณมองเห็นความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า ความไม่เท่าเทียมกันหรือโดนกดขี่ โดนข่มเหงจากกลุ่มคนมีอำนาจ แล้วเขาลุกขึ้นมาต่อสู้ ป้าว่านี่คือนิยามของพวกป้าๆ เสื้อแดง คือพวกที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม อันนี้ความรู้สึกของป้าเลย พวกนี้เขาไม่ยอมสยบ

เสื้อแดงไม่เคยตาย

สุชาดา แซ่เบ๊

หาก ‘ป้านัต’ เป็น ‘แดงแบบไม่ตั้งใจ’ สุชาดา แซ่เบ๊ หรือ ป้าดา ก็แดงของแท้ แดงดั้งเดิม ตัวเล็ก แต่เสียงดัง ตั้งคำถามกับการเมืองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพื่อนฝูงล้มตายในเหตุการณ์ปี 2553 เมื่อพูดถึงเพื่อน ป้าดาจึงร้องไห้ออกมา ความตายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม การอยู่จึงต้องสร้างความหมาย

ป้าเสื้อแดงคือใครในความคิดของป้าดา

‘ป้าเสื้อแดง’ ก็คือมวลชนที่ออกไปร้องหาความเป็นธรรม ที่เขาเรียกป้าเสื้อแดงคือ รุ่นเราอายุเยอะแล้ว ไม่เหมือนตอนปี 53 ป้ายังคล่องแคล่วไม่อ้วนอย่างนี้ หลบได้ วิ่งได้ แก๊สน้ำตาลงมา หลบได้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ก็สู้ โอ๊ย! ตอนที่อักษะมันร้ายมากนะ ราชมังคลาฯ เหมือนกัน ใครใส่เสื้อแดงมันตีหมดเลย พวกเขาร้ายมาก พวก กปปส. นี่ร้ายมาก

ป้าดาเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ป้าอายุ 9-10 ขวบ ที่วงเวียนใหญ่ ป้าเห็นรถตำรวจ รถอะไรเต็มไปหมด แล้วเห็นหนังสือพิมพ์ มีพวกนักศึกษาเต็มเลย แล้วก็สงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น สักวันต้องรู้ให้ได้ ก็เริ่มสนใจตั้งแต่ตอนนั้นมา

พอมาปี 2519 วันที่ 6 ตุลาคม ก็ได้ข่าวอีก ตอนนั้นก็อายุ 12 ปีแล้ว ก็คิดว่าทำไมมันโหดร้าย ทำไมฝ่ายรัฐบาลถึงทำน้องๆ หลายๆ คน จนมาเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คุณจำลอง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) เขาอยากได้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ป้าเริ่มสนใจแล้ว ป้าก็ไปชุมนุมกับเขา ไปทุกวัน เลิกงานเสร็จก็ไป ก็ยังไม่ได้คิดอะไร แต่วันที่เขาปราบ ป้าหนีออกมาก่อน เพราะเราไม่ได้อยู่นาน พอเราออกมาได้เราก็เห็นพวกน้องๆ โดนจับมัด ทหารก็เอาตีนเหยียบ ให้ถอดเสื้อผ้าเต็มไปหมด เห็นกับตาเลย เพราะว่าเรากำลังหนี แต่เราก็ห่วงน้องๆ ก็คิดว่าเมืองไทยทำไมเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่เข้าใจ เผด็จการอะไรตอนนั้นยังไม่รู้เรื่อง แต่เราอยากไปร่วมกับจำลอง แค่เราอยากได้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เราอยากได้ประชาธิปไตย เราเริ่มสนใจการเมืองขึ้นมา จนพอดีมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ตอนนั้นเราก็เข้าใจบทบาทของการเมืองอะไรพวกนี้แล้ว

อีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่เกิดมาในชีวิต พอได้นายกฯ ทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) เขาทำให้เศรษฐกิจดี ช่วงนั้นป้าไม่มีหนี้เลย ป้าทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทองหมด แล้วอยู่มาวันนึง ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล) ทำอะไร เราเห็นสวนลุมฯ ทำไมเขามีไฮด์ปาร์คทุกวัน ก็ไปฟังเขา แต่ฟังแล้วมันไม่เข้ารูหู พอเลิกก็กลับบ้าน ก็ไม่สนใจ แล้วอยู่ดีๆ ก็เกิดการรัฐประหารคุณทักษิณ ก่อนหน้านี้ป้าก็เห็นที่สนามหลวง เขามีพวก นปก. (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) ป้าก็ไป แต่ว่าช่วงนั้นป้ายังไม่ร่วมขบวน แค่ว่างก็เข้าไปฟังเฉยๆ ฟังพวกคุณหมอเหวง (นพ.เหวง โตจิราการ) แต่เราก็ยังเฉย จนกระทั่งคุณทักษิณมาโดนรัฐประหาร เรารักคุณทักษิณ ที่ได้บัตร 30 บาท พ่อแม่ก็ได้รักษา 30 บาท แล้วอีกอย่าง เขาทำให้เรามีฐานะดี เพื่อนฝูงการทำงานดีหมด อยู่กินแบบสบาย เงินทองไม่เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้ จนมาโดนรัฐประหาร ก็สงสัยว่าทำไมไม่มีใครออกไปประท้วง ถ้าออกเราก็จะออกบ้าง ตอนนั้นพันธมิตร (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ก่อนที่โดนระเบิดพวกน้องโบว์ ป้าก็เริ่มไปร่วม เริ่มไปหากันกับ นปก. แล้ว แต่พอเขามีอะไรกันป้าก็ยังไปไม่ได้ เพราะว่าเราก็ห่วงที่ทำงาน กลัวเขาจะไล่ออก ตอนนั้นทำงานแม่บ้าน

ป้าก็คิดว่าถ้าใครออกมาช่วยคุณทักษิณบ้างป้าก็จะออก พอดีกับที่เห็นในรายการ เรื่องเล่าความจริงวันนี้ ป้าดูโทรทัศน์ทุกวัน พอเขานัดออกไป ตอนแรกเริ่มจากสนามศุภชลาศัย ป้าก็ไป ครั้งแรกที่เมืองทองธานีที่ณัฐวุฒิ (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) พูด ป้าก็ไป หลังจากนั้นป้าก็ไป ตามไปเรื่อยๆ เขาไปรบที่ไหนก็ไป

ตอนปี 2553 ตอนนั้นป้าดาทำอะไรอยู่ อยู่ตรงไหน

ตอนที่โดนอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ปราบ ตอนนั้นป้าอยู่ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จังหวะที่ไปขึ้นเรือ ป้าได้ยินเสียงระเบิด เสียงยิง ปั้งๆๆ กัน เขาก็บอกถอยๆ ป้าก็เลยถอยหนี แต่ป้าไม่ได้เข้าไปหรอกนะ ก็เลยหนีกลับก่อน มันงงไปหมด เสียงระเบิดตูม แล้วก็เป็นเสียงร้องไห้ครวญไปหมดเลย พอถึงตอนเช้าอีกวันป้าก็ไปอีกทีนึง เต็นท์เติ๊นอะไร เขาก็ย้ายมาอยู่ราชประสงค์ แต่ตอนนั้นป้าก็เลิกงานถึงจะไป ไปกลับไปกลับตลอด ไปนอนค้างไม่ได้ เพราะเรามีภาระทางบ้าน ช่วงคุณทักษิณไม่อยู่ เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ตอนนั้นหากินลำบาก ป้าก็เริ่มไปร่วมกับเขา ช่วงใกล้วันที่เสธ.แดง (พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล) โดนยิง ป้าก็อยู่ราชประสงค์ พอเสธ.แดงโดนยิง ป้าก็กลับบ้าน กลับบ้านกะว่ามาเอาเสบียง พอกลับไปอีกทีแล้วเข้าไม่ได้ เขาไม่ให้เข้า แต่ป้าก็ไปช่วยเขาขนยางนะ เขาขนยางไปกั้นได้ถึงแค่คลองเตย แล้วป้าก็ขนยางมาส่ง ขนอย่างเดียวเลย พอเสร็จ เขาก็ห้าม มันผิดกฎหมาย ป้าก็เลยถอยก่อน เพราะว่าเพื่อนโดนยิงปางตายคนนึง มีเพื่อนอีกคน ทหารมันเอาด้ามปืนฟาดกลางหลังเลยนะ ตอนที่ป้ากลับก่อน เพราะว่าป้าต้องไปทำงาน แล้วพอดีมันสลายม็อบ เพื่อนผู้หญิงกับผู้ชาย นับถือกันเป็นพี่น้องเลยนะ ขนาดพระบิณฑบาตขอชีวิต บอกทหารว่าปล่อยคู่นี้ไปเถอะ เขายังไม่ให้เลย ป้าก็สงสารเพื่อนมาก เพื่อนโทรมา ป้าก็เข้าไปไม่ได้ จากนั้นป้าก็เลยติดตามเสื้อแดงตลอดเลย

ตอนมีชุมนุมที่ถนนอักษะ ก่อนหน้านั้นก็ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ป้าก็ไปนอนเลย เลิกงานก็ทิ้ง ไม่ทงไม่ทำไม่ค้าขายเลย ทำเป็นกิจจะลักษณะ เพราะว่าเราแค้น ความแค้นมันสุมอกที่เพื่อนๆ โดนยิง ภาพทุกอย่างมันอยู่ในหัวหมด ก็เลยติดตามตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นก็ทำรัฐประหาร ป้าขนบรรทุกคนไปทุกวัน วันนึงรถตู้ 10 กว่าคัน ที่อักษะป้าเป็นคนขนคน แต่ราชมังคลาฯ ป้าอยู่หน่วยพยาบาล

อะไรคือความเจ็บปวดของคนที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง

ความเจ็บปวดคือเราแค่ไปขอความเป็นธรรม เราขอเลือกตั้ง ยุบสภา แล้วทำไมเขาต้องฆ่าพวกเรา ทำไมเขายิงพวกเราเหมือนหมูเหมือนหมา โดยที่ทุกวันนี้ยังจับใครไม่ได้เลย จับไม่ได้แม้แต่คนเดียว คุณณัฐวุฒิก็พยายามทำทุกอย่าง นี่เขาก็ตามคดีตลอด เขาก็ยังบอกยกฟ้องๆ ทำไมมันเป็นแบบนี้ล่ะ นี่คือความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง

พอรัฐประหารปี 57 ป้าก็เริ่มติดตาม เพราะป้าชอบพี่นัต เขาเป็นนักสู้ ก็คอยติดตาม คอยหาความใกล้ชิดกับเขา พอมีชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ป้าก็ไป แล้วทั้งๆ ที่ป้าไปตะโกนๆ ป้าไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ก็ไม่โดน ไปโดนตรงกองทัพบก (ARMY#57) หมายมาถึงบ้าน กองทัพบกนี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย กลับบ้านเร็วด้วย บอกเพื่อนขอกลับบ้านก่อน แต่หมายตามไปที่บ้านน่ะ คิดดูสิ แต่ก็ยกฟ้องไปแล้ว ซึ่งมันก็เป็นบาดแผลในใจ แต่จริงๆ เราอยากได้ประชาธิปไตย เราอยากได้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แบบนี้ บัตรเขย่งอะไรเนี่ย พรรคเล็กพรรคน้อยอะไรได้ไปหมด มันไม่ใช่จริงๆ ประเทศนี้เป็นอะไร มันเผด็จการแบบรับไม่ได้ แล้วมันผลาญเงินหมด ทำอะไรไม่เป็นมันแจกเงินแล้วเนี่ย เพิ่มเงินให้บัตรสวัสดิการ มันกลัวเด็กมากเลย แต่ป้าก็สู้นะ เดี๋ยวป้าก็ไป ป้าไม่กลัวหรอก เพราะว่าผ่านความตายมาแล้วไม่กลัวหรอก จริงๆ เพื่อนๆ ป้าผ่านความตายมาหลายชุดเลย นัดเจอกัน เพราะเราสู้แบบ เราต้องการความเป็นธรรม เราไม่ได้จ้างใคร ไปก็เงินกระเป๋าเรา ไม่มีเราก็ยืมเขา เราไม่ได้รับสินบนจากใคร พวก สส. เราก็ไม่เคยไปยุ่งกับเขานะ ไม่เคยได้ เขาก็ขอเป็นเพื่อนแต่ก็ไม่เคยได้นะ เขาชอบพูดว่า ไปรับจ้างใครมาเนี่ย

บรรยากาศการต่อสู้เมื่อปี 2553 กับตอนนี้ 2563 ต่างกันไหม

บรรยากาศการชุมนุมเสื้อแดงตอนปี 53 ตอนนั้นมีแต่ผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่รู้อะไรเลย คือเขาชวนไป คนเสื้อแดงมีเป็นล้านคน มันก็มีบ้างแหละที่ว่าอาจจะรับเขามาก็มีเป็นบางจุด เพราะว่ากลุ่มแต่ละกลุ่มมันไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าพวกใครจะพามา บางคนมาก็ไม่รู้เรื่อง เขาพามาก็มา แต่อย่างพวกป้าที่ไป ไปด้วยใจของเราเอง แต่อย่างปีนี้ 63 น้องๆ เนี่ย ยอมรับเขาเลยนะ ป้าไปที่เขาเกิดแฟลชม็อบ ป้าคิดไม่ถึง ป้ายังบอกพวกน้องๆ เลย ป้านอนตายตาหลับเลยนะ น้องมัธยมวันก่อนที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เดินมาบอกว่า ป้า หนูผูกโบว์ให้นะ เราก็ยื่นเสร็จ เขาบอกว่า “ป้า ป้าสบายใจได้นะ โยนมาให้น้องๆ รับช่วงต่อ” โอ้โห คำนี้ งั้นไม่เป็นไร เดี๋ยวป้าๆ ก็จะเอาข้าวไปเลี้ยงพวกหนูๆ แล้วกัน “ป้าพักผ่อนให้สบาย เนี่ยป้ากิน ของกินเยอะแยะพวกหนูก็เอามา ป้ากิน” เนี่ย เด็กหลายคน ป้ายอมรับเขาจริงๆ เพนกวินป้าก็ยอมรับเขามากเลย เขาเข้าใจพูดว่า ไหนๆ เรื่องมันหมักหมมมานาน ก็เอาให้ถึงที่สุดกันตรงนี้ ให้มันจบรุ่นนี้ เพนกวินกล้าพูดตรง เราไม่ได้ไปล้มเขานี่ เพียงแต่เราให้เขาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มันก็มีอยู่แค่นี้เองแหละ

เราต้องการอิสรภาพ ต้องการเสรีภาพ มีใครบ้างไม่ต้องการเสรีภาพ สามนิ้วมันผิดตรงไหน ทำไมเขากลัวไปหมดเลย เมื่อก่อนนี้ที่อักษะ เกิดรัฐประหาร ทหารเขาตามป้าไปที่บ้าน พอดีป้าก็ออกมาทำสัญลักษณ์ที่ซีคอนฯ แฟนป้ากลัวนะ เพราะว่าป้าเป็นผู้ประสานงานสวนหลวง ป้าขึ้นเวทีไปเต้น แล้วเขาตามมา แฟนป้าเอาเสื้อผ้าเสื้อแดงป้าไปลอยน้ำ ดึงรูปทักษิณออกหมดเลย เพราะว่าทหารไปบ้าน พอทิ้งไปเว้นระยะนึงสักเดือนนึง ทหารไปอีกแล้ว เขาไปเจอตัวพอดี เขาบอกว่า “ผมมาดี แค่มาชวนป้าว่าป้าอย่าไปยุยงส่งเสริม” ป้าไปยุยงใคร ป้าว่างี้ เขาบอก “อ้าว เห็นคนในซอยเขาบอกว่า ป้าเนี่ยถึงขนาดเอารถตู้มารับคน” ป้าไม่ได้บังคับใครนี่ ป้าพูดว่า ถ้าใครต้องการอิสรภาพ ใครต้องการเสรีภาพ ความเป็นธรรม อยากอยู่แบบเผด็จการหรืออยากอยู่แบบประชาธิปไตย ถ้าใครอยากอยู่แบบประชาธิปไตย ป้ามีรถให้ไป แต่ค่าตัวไม่มี เพราะว่ามันเดินทางจากบ้านป้าไปอักษะก็ลำบาก เวลาไปกลับมืดๆ อะไรอย่างนี้ ถ้าใครไปป้าก็ยินดี มีรถให้ เขาก็เต็มใจไปกันเอง

จากปี 2553 มารัฐประหาร 2557 กว่าเสื้อแดงจะถูกพูดถึงอีกครั้งในปี 2563 ป้าท้อบ้างไหม

ช่วงตั้งแต่ปี 57 จนถึงที่น้องๆ ออกมา ป้าไม่ได้สิ้นหวังเลย แต่เก็บความเจ็บปวดไว้ในใจ เก็บความแค้นไว้ในใจ คือเราคิดว่า 10 ปียังไม่สาย เพราะว่าเสื้อแดงไม่เคยตาย ฟื้นตลอด แล้วไม่ใช่แค่ตายคนเดียวแล้วจะจบ ตายคนเดียวแต่มันฟื้นเป็นร้อย ยิ่งทุกวันนี้เห็นไหม เด็กยังเข้าใจคนเสื้อแดงเลย เสื้อแดงไม่มีวันตายอย่างที่ณัฐวุฒิพูด เราไม่เคยแพ้ ถ้าเราแพ้นะเลือกตั้งเราแพ้หมด เราไม่เคยแพ้เลือกตั้ง ประชาธิปไตยนี่เราไม่เคยแพ้เลือกตั้ง

ที่น้องๆ เขาพูดถึงคนเสื้อแดงนี่ป้าภูมิใจ (หัวเราะ) จะมีอะไรนอกจากภูมิใจเด็กๆ พวกเราก็เต็มที่ เพื่อนๆ ก็ทำอาหารกันเต็มที่ ก็อยากให้ชนะจบรุ่นนี้ บอกตรงๆ ว่าไม่อยากให้มีการโดนยิงอะไรแบบนี้ สงสารเพื่อน พี่วสันต์ ภู่ทอง โดนยิงคนแรก พวกเราเห็นสมองกระจายเลย ตอนกลางวันถือธงชาติเป็นคนแรก แล้วอย่างนี้ไม่กระสุนจริงแล้วอะไร แต่มันบอกกระสุนยาง สมองไหลเลยนะ ถ้าพูดเรื่องเสื้อแดงแล้วป้าร้องไห้ (น้ำตาไหล) บอกตรงๆ ป้าก็ยังทำรำลึกตลอด ทำรำลึกทีไรน้ำตาไหลทุกที มันเจ็บ ตอนนี้ไม่เจ็บแล้ว เพราะว่ามันเป็นเวรกรรม เพราะประยุทธ์จะต้องได้รับเวรกรรมที่ทำสะสมไว้ ไม่ใช่น้อยนะ ฝ่ายเขาทุกคน แต่พูดเรื่องเสื้อแดงแล้วป้าเจ็บ เจ็บมาก มันบอกไม่ถูก เจ้าของร้านเหมือนกันที่ออกไปรบๆ กัน ไปวัดไผ่เขียว ฝนตกฟ้าร้องลุยกันแค่ไหน ไปทุกที่ พอตอนหลังป้ายอมเสียงานเลยลาออก ป้าก็ไปชุมนุมกับเพื่อนเลย จนเพื่อนโดนยิงตายนั่นแหละ

พรุ่งนี้ (19 กันยายน) ป้ามีแผนจะทำอะไร

พรุ่งนี้พวกเพื่อนป้านัดกันไว้ มันมีหลายจุดเพราะเพื่อนเราเยอะ ก็มีทำขนมจีนน้ำยา ข้าวกล่อง กะเพรา ขนมนมเนยน้ำท่า เตรียมไปแจกน้องๆ เตรียมไปแจกคนที่ไปชุมนุม ถ้าใครไม่อยากเป็นทาส ขอให้ออกมาเยอะๆ เพราะว่าครั้งนี้ครั้งเดียว อยากให้จบรุ่นเรา ต่อไปวันข้างหน้า จะไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ฟ้าสีทองผ่องอำไพประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนออกมาถ้ายังรัก อยากจะใช้ประชาธิปไตย อยากจะหาความเป็นธรรม เพราะประยุทธ์ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย ยิ่งนับวันยิ่งไม่ใช่เลย ตอนแรกเราก็ยอมหยวนเขานะ ให้เวลาเขา แต่นับวันยิ่งไม่ใช่ มันกดหัว ทำอะไรมันไม่เคยเห็นหัวประชาชนเลย เพราะฉะนั้นต้องเอาให้จบ แล้วดูสิเขาสะเทือนที่ไหน พวก สส. บอกว่า ให้จบที่เรือนจำ ชีวิตป้าตั้งแต่เดินสายการเมืองมานะ มีอยู่ 3 ที่ที่ป้าไป โรงพยาบาล เรือนจำ แล้วก็ศาล แค่นี้ ไม่เคยไปที่อื่นเลย รูปนี่เต็มไปหมด วัดคือแน่นอน เพื่อนตายตลอด เพราะโดนแก๊สน้ำตา พอสะสมไปนานๆ เข้า เขาเป็นมะเร็ง แล้วเขาก็เสีย ป้าก็โดนไปหน่อยเดียว ในหูป้าไม่ได้ยินนะ เสียงระเบิดเนี่ยป้าไม่ได้ยิน บางทีทำอะไรอยู่แล้วเขาเรียก เขายังเข้าใจ ป้าหูไม่ได้ยิน

ตอนที่ยกตีนตบออกมาตบกับตอนที่ชูสามนิ้ว ความรู้สึกข้างในเหมือนหรือต่างอย่างไร

ตอนยกตีนตบกับชูสามนิ้ว รู้สึกไม่ต่างกันเลย เพราะว่ามันอุดมการณ์เดียวกัน เราต้องการความเป็นธรรม เราต้องการเสรีภาพ มันเหมือนกัน ตีนตบทำให้เราสนุก เป็นอาวุธติดตัว แต่สามนิ้วมันมีความหมาย

ตีนตบนี่มันประจำตัว ไว้สนุกเว้ย เต้นเว้ย แต่เวลาใครเข้ามาทำอะไรเราก็เป็นอาวุธได้ เอาไว้ป้องกันตัวได้เหมือนกัน ป้าไม่เคยทิ้งเลยตีนตบเนี่ย ทิ้งไม่ได้

ใส่เสื้อดำแต่ในมือถือตีนตบสีแดง

สุภาพร ประทุมรัตน์

ในการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน สุภาพร ประทุมรัตน์ มากับลูกที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เธอได้รับอิทธิพลทางความคิดและข่าวสารจากลูก ทั้งๆ ที่เธอเริ่มออกมาต่อสู้ออกมาแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ที่ลูกยังอยู่ในวัยอนุบาล กระทั่งวันนี้ลูกของเธอมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นของตัวเองแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะยังอยู่ที่เดิม

ป้าเสื้อแดงคือใคร

ป้าเสื้อแดง คือกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย อาจจะเคยถูกมองว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ เป็นทาสแม้ว หรือว่าทำเพื่อเงิน โดนจ้างมา แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาออกมาเรียกร้องเพื่อปากท้องของเขาเอง เพราะในยุคหนึ่ง เขารู้สึกว่าประชาธิปไตยมันกินได้ ในยุคทักษิณที่เขาเคยได้รับ ในช่วงที่เขาถูกปล้นสิทธิเสรีภาพของเขาไป เขาก็ออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา ซึ่งตอนนี้แต่ละคนก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ใจเขาก็ยังสู้ และพร้อมที่จะออกมาเพื่อเป็นแนวหนุนให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะว่าตัวพี่เองก็สู้มาตั้งแต่ลูกอยู่อนุบาล ซึ่งตอนนี้ก็จะเข้ามหา’ลัยแล้ว รวมไปถึงคนเสื้อแดง ป้าๆ เสื้อแดงคนอื่นด้วยที่เขาอายุมากกว่าเรา ตอนนี้เขาก็เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว บางคนเขามาไม่ได้ แต่เขาก็โอนเงินมาช่วย ใจเขาก็ยังสู้อยู่ ถึงเขาจะมาไม่ได้หรือไม่สะดวกในการเดินทาง บางคนก็ด้วยความแก่ชรา แต่เขาก็ยังสู้และพร้อมที่จะเป็นทั้งแนวหน้าแล้วก็เบื้องหลังให้กับลูกๆ หลานๆ

เหตุการณ์ปี 2553 ทิ้งอะไรไว้ให้คุณบ้าง

ตอนนั้นด้วยความที่ลูกยังเล็ก ฉันก็ไม่ได้ออกมาเต็มตัวขนาดนี้ แต่ว่าเราเห็นความไม่ยุติธรรม ซึ่งมันก็ยังคงเห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดีต่างๆ มันเห็นชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร เราจะโดนตลอด เหมือนถูกกระทำเสมอ เราจะชนะได้แค่สนามเดียวเลยก็คือสนามเลือกตั้ง ตั้งแต่ทักษิณถูกรัฐประหาร เราก็ไม่คิดว่าในยุคยิ่งลักษณ์มันจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งเวลามันห่างกันแค่ไม่กี่ปี ตอนนั้นพี่เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เขาไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ตอนนั้นพี่ก็เคลื่อนไหวมาตลอด

คุณบอกว่าสู้มาตั้งแต่ลูกเรียนชั้นอนุบาล จนวันนี้มาม็อบกับลูกที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ในเรื่องการพัฒนาพี่มองว่ามันแย่ลงกว่าเดิมมากๆ รัฐสวัสดิการแย่ลง เพราะว่าถ้าการเมืองดี ทุกอย่างจะดี พี่มองว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับการเมืองหมดเลย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน เยาวชนต่างๆ ถ้าเป็นกลุ่มป้าๆ เขามีของเขาอยู่แล้ว แต่สำหรับเยาวชน พี่รู้สึกว่ามันค่อนข้างไปไวมาก ไม่ใช่แค่เด็กมัธยมนะ ไปจนถึงเด็กประถมด้วย เขารับรู้ได้โดยที่ไม่ต้องฟังจากพ่อแม่อีกต่อไป เพราะว่าเคยคุยกับกลุ่มลูก พ่อแม่ลูกๆ ค่อนข้างจะเป็นแนวอนุรักษนิยมกันส่วนใหญ่ แต่ตัวเด็กๆ เอง เขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ อาจจะแสดงออกที่บ้านไม่ได้บ้าง แต่เขาก็ไม่ได้ติดกับตรงนั้น พี่รู้สึกว่าเขาค่อนข้างอิสระ แล้วก็ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ก็รู้สึกว่ามันเหมือนมีความหวัง

คุณใช้ตีนตบครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ตีนตบนี้จับล่าสุดก็คือปี 53 เลย หลังจากนั้นก็ที่ชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เพราะหลังจากที่น้องนิสิตจุฬาฯ เขาพูดถึงเสื้อแดง วันนั้นเราก็ไปเปิดตู้หาตีนตบ รู้สึกว่าเขาไม่ได้รังเกียจเราเว้ย!

เราก็พร้อมที่จะเอาสัญลักษณ์ของเรามาสู้ แล้วก็ดีใจที่หลังจากพี่เอามางานที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกวันนึงพวกน้องๆ ในทวิตเตอร์เขาก็ดีใจที่ได้เห็นตีนตบของจริง เรารู้สึกว่ามันเป็นตำนาน แล้วก็มีค่า ตอนนี้ลูกก็โตแล้ว ก็พร้อมที่จะออกมาร่วมสู้กับน้องๆ

ส่วนของวันนี้ (19 กันยายน) พี่รู้สึกว่ามันเหมือนบรรยากาศเก่าๆ กลับมาอีกครั้ง ถึงแม้หลายๆ อย่างจะเปลี่ยนไป พี่ว่าพวกป้าๆ เขาก็พร้อมที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนให้น้องๆ เขาพร้อมที่จะฟัง เขาไม่ได้ยึดติดกับแกนนำแดง ไม่ว่าจะเป็นจตุพร (จตุพร พรหมพันธุ์) หรือณัฐวุฒิ เขาพร้อมออกมาช่วยใครก็ตามที่สามารถนำเขาเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เห็นวันนี้ก็ดีใจ ดีใจตั้งแต่วันแรกที่มีน้องนิสิตขึ้นเวที แล้วเขาพูดถึงเสื้อแดง วันนั้นนั่งฟังก็น้ำตาไหลเลย เพราะรู้สึกว่าเราไม่ถูกลืม แล้วที่ผ่านมารู้สึกว่าเหมือนเราเป็นผู้แพ้สงคราม จะไปสู้ที่ไหน เขาก็ไม่ให้แสดงสัญลักษณ์เสื้อแดง แต่เราก็ไปกัน ใส่เสื้อดำเสื้อขาวอะไรก็ไปกัน แต่พอวันนึงน้องเขาพูดขึ้นมา แล้วพูดถึงบทกวี ‘เสียงจากดินถึงฟ้า’ ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วันนั้นเรารู้สึกเหมือนวิญญาณถูกปลุกขึ้นมา รู้สึกว่าเขาไม่ลืมเรา พอมาเวทีที่อนุสาวรีย์ฯ เขาก็กล่าวขอโทษเสื้อแดงหรืออะไรที่เคยเข้าใจผิดต่างๆ ตอนนั้นเราก็เลยยิ่งรู้สึกว่าได้ใจ แล้วก็พร้อมจะไปทุกที่ทุกเวที

Author

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร
ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดีๆ ก็หยุดพักมาฝึกงาน เรียนสื่อสารมวลชนใกล้จะจบในไม่ช้า ชอบออกกอง เป็นผู้อ่านมานาน อยากเป็นผู้เขียนที่ดีบ้างจึงมาฝึกกับกองบรรณาธิการ WAY สนใจงานสารคดี มักจะเติมพลังด้วยการไปดูหนัง ไปงานเทศกาลดนตรี และฟังเสวนา

Photographer

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า