ราษฎร 2563 ทวงถามพระราชอำนาจเหนือดินแดนเยอรมนี

การเมืองในสภา

เช้านี้ (26 ตุลาคม 2563) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2563 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม ท่ามกลางข้อกังขาว่า รัฐบาลจะอาศัยเวทีนี้ในการอภิปรายสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองและใช้โจมตีฝ่ายผู้ชุมนุมหรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดกรอบหัวข้อการอภิปรายที่รัฐบาลอ้างถึงการขัดขวางขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม และการชุมนุมผิดกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลได้หารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา และได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วว่า ในเดือนพฤศจิกายนจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2563 แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ เนื่องจากต้องรอทำประชามติก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอ พ.ร.บ.ประชามติ เข้าพิจารณาในสภา หาก พ.ร.บ.ประชามติ เสร็จเมื่อใดก็ต้องไปทำประชามติเมื่อนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนให้การสนับสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับไทม์ไลน์ในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเปิดสภาต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ร่างรัฐธรรมนูญต้องเข้าสภาวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาไม่เกิน 45 คน ซึ่ง กมธ.จะต้องมาจาก สส. และ สว. เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีและคนนอกจะเข้ามาเป็น กมธ.ไม่ได้ ทั้งนี้ จะมีการตั้ง กมธ.เต็มสภาหรือไม่เป็นอำนาจของสภาและสามารถทำได้ และเป็นทางออกหนึ่งที่จะเร่งให้เร็วขึ้นได้ แต่ถ้าใช้ขั้นตอนปกติ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ได้ในเดือนธันวาคม 2563

สำหรับข้อเสนอให้นายกฯ ลาออก นายวิษณุ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอไปยังนายกฯ ว่า ถ้านายกฯ ลาออก ต้องคิดต่อไปเหมือนกันว่า แล้วจะหานายกฯ คนใหม่มาจากขั้นตอนใด อย่างไร ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272

เงื่อนไขประการหนึ่งที่ผูกไว้ในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง คือ นายกฯ ต้องเป็นผู้มาจากรายชื่อที่เสนอและเสนอเอาไว้ก่อนเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และคนที่จะเป็นนายกฯ นั้น ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ขณะนี้

photo: ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

การเมืองบนถนน

14.00 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ‘ทนายนกเขา’ และนายพิชิต ไชยมงคล มีกำหนดเดินทางมายื่นหนังสือชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย พร้อมมวลชนที่สวมเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่ง และมีการนำรถขยายเสียงมาด้วย ซึ่งกินพื้นผิวการจราจร 2 เลน ทำให้การจราจรบริเวณถนนสาธรด้านหน้าสถานทูตฯ ติดขัดเป็นระยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรั้วเหล็กมากั้นบริเวณด้านหน้าสถานทูต

ภายหลังการเข้ายื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูต Georg Schmidt ทางแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อเหลืองเปิดเผยว่า ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้เข้าพบท่านทูตโดยตรง มีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง โดยท่านทูตระบุว่า เคารพความเห็นต่างทางการเมืองของไทย และขอบคุณที่มากันอย่างสงบ ทั้งนี้ ทางสถานทูตฯ จะได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเยอรมนีต่อไป ว่าขอให้เคารพสิทธิทางการเมืองของไทย

นายนิติธร กล่าวปราศรัยว่า อยากฝากนักศึกษาไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน ถ้าใช้คำว่า ‘คณะราษฎร’ ให้กลับไปดูคณะราษฎร 2475 ที่ได้ทำข้อตกลงกับสถาบันไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเดียว แบ่งแยกไม่ได้ ใครจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสาธารณรัฐ ผิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อย่าทำให้คณะราษฎรเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำกิจกรรมที่สถานทูตฯ ปรากฏชายสวมเสื้อเหลือง ซึ่งเทิดทูนสถาบัน แต่ต่อต้านรัฐบาล มาร่วมแสดงออกด้วยการชู 3 นิ้ว

17.00 น. อีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้ชุมนุม ‘คณะราษฎร 25630’ เริ่มตั้งขบวนที่สามย่าน เตรียมเดินเท้าไปที่หน้าสถานทูตเยอรมนี หลายคนจับตามองว่าการเดินขบวนวันนี้จะสามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้หรือไม่ ท่ามกลางการสกัดการชุมนุมจากฝ่ายรัฐและผู้สนับสนุนรัฐบาล

ผู้ชุมนุมกลุ่มแรก ประกอบไปด้วยนักเรียน นักศึกษา อาชีวะ ไปรออยู่ที่บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ โดยการจัดขบวนเพื่อเคลื่อนพล มีป้ายผ้าให้สัญญาณการเดินและการหยุด การชุมนุมยังคงมีลักษณะไร้แกนนำที่ชัดเจน ผู้ปราศรัยบางคนใช้จักรยานซาเล้งเพื่อขนเครื่องเสียงขนาดเล็กในการนำขบวน

18.00 น. ทีมการ์ด สวมปลอกแขนสีเขียวและหมวกนิรภัยเดินนำเป็นแนวหน้า เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำร้ายผู้ชุมนุม มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะ และสัญลักษณ์อื่นๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงลัทธินาซี จากนั้นผู้ชุมนุมเริ่มเดินขบวนไปตามถนนพระราม 4 พร้อมกับตะโกนขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้

19.00 น. ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จากนั้นได้ขึงป้ายผ้าสีดำและตัวอักษรสีขาว ข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และป้ายข้อความสีเหลืองตัวอักษรสีดำ “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และเตรียมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากมีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอรายงานข่าวอยู่บริเวณหน้าสถานทูต ทำให้กีดขวางพื้นที่ในการจัดกิจกรรมและการจัดรูปขบวน

‘มายด์’ หรือ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวนครั้งนี้ปราศรัยผ่านโทรโข่งว่า

เราต้องทำให้หัวใจแข็งแรงด้วย เพราะการต่อสู้กับเผด็จการ หัวใจต้องแกร่งดั่งหินผา เผด็จการอยู่ได้ไม่นาน หากประชาชนหัวใจแข็งแรง บริสุทธิ์ ประชาชนรวมพลังให้แข็งแกร่ง ถึงอย่างไรเผด็จการก็อยู่ได้ไม่นาน นี่คือการส่งสัญญาณให้รู้ว่าประชาชนเป็นปึกแผ่นมากเพียงใด

หนึ่งในแกนนำปราศรัยด้วยว่า หลังจากนี้จะส่งตัวแทน 3 คน เข้ายื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยเหนือดินแดนเยอรมนี เพื่อยืนยันในหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงจะมีการส่งมอบข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้แก่สถานทูตอีกด้วย

19.50 น. ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์จากราษฎร ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมนี ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า ขอให้มีการตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยได้มีการใช้อำนาจบนดินแดนเยอรมนีหรือไม่

“เพราะการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน หรืออาจมีการกระทำที่ผิดกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” แถลงการณ์ราษฎร ระบุ

photo: ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

ภายหลังอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้น ผู้ชุมนุมได้พากันตะโกนพร้อมกันว่า “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” จากนั้นผู้ชุมนุมได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 21.00 น.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า