เบญจา แสงจันทร์: ยามประเทศแร้นแค้น ประชาชนอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับพวกเรา

“ดิฉันต้องย้ำก่อนว่า เงินจำนวนสามหมื่นกว่าล้านนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นคือผลผลิตของการตั้งงบประมาณ และประสิทธิภาพของโครงการ ที่ควรจะมีการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดนั้นตกเป็นของประชาชน”

ถ้อยคำอภิปรายของ เบญจา แสงจันทร์ ในประเด็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 โดยระบุถึงการกำหนดวงเงินของหน่วยงานต่างๆ ที่อาจรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ประมาณ 33,712,000,000 บาท โดยแจกแจงเป็นรายการต่างๆ ยังไม่รวมถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจซ่อนอยู่ในกระทรวงหรือสำนักต่างๆ และโครงการที่มีนามสกุลห้อยท้าย

ท่ามกลางความบอบช้ำจากวิกฤติในช่วงปีที่ผ่านมา กระบวนการจัดสรรเงินงบประมาณของประเทศที่มาจากการจัดเก็บภาษีจึงอยู่ในความสนใจของทุกคน งบประมาณรายจ่ายทุกบาททุกสตางค์ มีความหมายอย่างยิ่งต่อปัญหาปากท้องของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงเงินของพวกเขาที่ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานใดและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

WAY คุยกับ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถึงประเด็นการจัดสรรงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะในยามที่ประเทศแร้นแค้นเช่นนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดคือ ‘การร่วมทุกข์ร่วมสุข’ ของทุกฝ่าย 

ทำไมตอนนี้ประเทศไทยถึงควรคุยเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อเวลาที่เราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ในสังคมปกติ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการพูดถึงหรือการแสดงความคิดเห็น มันควรทำได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงเวลานี้

สำหรับเรา ความรู้สึก การรับรู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังวันที่อภิปราย เราอยากให้มีการพูดถึงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติ  ไม่ใช่คิดว่า เมื่อใครก็ตามพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงหรือคนที่พูดต้องใช้ความกล้าหาญ สิ่งที่เราทำไม่ใช่การไต่เส้นหรือเกินเส้นของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

‘เส้นของเสรีภาพ’ อยู่ตรงไหน คืออะไร

เวลาที่พูดถึงเสรีภาพ เราต้องมองว่าเสรีภาพนี้ มันไปล่วงเกินหรือล้ำเข้าไปในแดนเสรีภาพของคนอื่นหรือไม่ ฉะนั้นสิ่งที่เราอภิปรายออกไป เราแสดงออกอย่างมีวุฒิภาวะ ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนมาพรรคก้าวไกล เราไม่ได้มองว่าเราจะต้องล้ำเส้นแต่อย่างใด เรามองว่าสังคมควรจะเปิดพื้นที่ให้กว้างๆ เปิดพื้นที่โล่งๆ ในการที่จะถกเถียงกัน ในการพูดเรื่องนี้ได้แล้ว

ฉะนั้นเมื่อมนุษย์อยู่ใประเทศที่มีเสรีภาพ การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะต้องพูดถึงได้ในลักษณะของการเปิดพื้นที่ เพื่อให้มีข้อถกเถียง ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีเสรีภาพ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรื่องดังกล่าวถูกห้ามพูดถึง ถูกปกปิด เก็บซ่อน มันจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทำให้มีแต่การพูดถึงในทางที่ไม่ดี มีแต่การติฉินนินทา ซึ่งไม่เป็นการดีต่อสถาบันหรือต่อองค์กรใดเลยก็ตาม

สังคมเคยขีดเส้นการกล่าวถึงกษัตริย์ไว้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันเพดานในการพูดคุยเรื่องนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะใน ‘สภา’ ที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ณ ปัจจุบัน เวลาที่คนภายนอกมองเข้ามา อาจเข้าใจว่าพื้นที่ในสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเราก็คิดแบบนั้น เราจึงเลือกใช้พื้นที่สภาในการขับเคลื่อนต่อสู้กับทุกเรื่อง แต่พื้นที่รัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกเรื่องนะคะ ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมไทยและสังคมไทยส่งผลให้มีข้อบังคับในรัฐสภาหลายอย่างเหมือนกัน ข้อบังคับหนึ่งที่ขีดเส้นไว้คือ การห้ามพูดถึงองค์พระมหากษัตริย์ ‘โดยไม่จำเป็น’ 

แต่เรามองว่าสิ่งที่เราได้อภิปรายไป ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มันเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ เราจึงพยายามขยับมันมาตลอด

แน่นอนคนภายนอกอาจจะมองว่าพื้นที่สภาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย คุณสามารถพูดถึงเรื่องอะไรก็ได้ โดยมั่นใจว่าคุณจะไม่โดนคดี ไม่จริงค่ะ เพราะที่ผ่านมาการพูดถึงเรื่องสถาบันหรือเรื่องใดก็ตามก็มักจะถูกประท้วงและปิดกั้นจากผู้ที่มีความเห็นต่างหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกัน 

ฉะนั้นเมื่อเราเลือกหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดแล้ว เราต้องยืนยันโดยเจตนารมณ์เหมือนที่เราได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าเราพูดถึงด้วยความปรารถนาดี จริงใจ เรายืนยันเสมอว่า ‘การปฏิรูป’ ไม่เท่ากับ ‘การล้มล้าง’ ปฏิรูปคือการทำให้ดีขึ้น ปรับปรุงและแก้ไข เพื่อทำให้สถาบันหรือองค์กรที่เราต้องการที่จะปฏิรูป มันสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก 

ทำไมต้องเป็น ‘คุณ’ ในการอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์

โดยปกติแล้วเวลาที่เราจะอภิปรายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พรรคก็จะให้ส่งข้อเสนอว่าเราอยากจะอภิปรายเรื่องใดที่สอดคล้องไปกับธีมของพรรค

แน่นอนในจังหวะนี้ เรื่องที่เราต้องคุยกันคือประเด็นการฟื้นฟูประเทศไทยหลังจากวิกฤติโควิด-19 คุยกันถึงทิศทางหรือเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าจะเป็นเช่นไร เราก็ปิ๊งขึ้นมาว่า โครงสร้างของประเทศไทย มันต้องพูดได้ถึงทุกองค์กร ทุกหน่วยงานที่รับงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นองค์ใดก็ตามมันควรจะต้องพูดถึงได้ เพราะงบประมาณคือภาษีที่มาจากพี่น้องประชาชน

ยิ่งในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจก็ยากแค้นแสนลำบาก เรากำลังอยู่ในภาวะแร้นแค้น ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ทุกคนก็พยายามที่จะเสียสละในการหยุดอยู่กับบ้านในขณะที่รายได้ของเขาลดลง ชีวิตมีแต่หนี้สินเพิ่มมากขึ้น ทุกสถาบัน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ควรจะต้องมีการขอจัดสรรงบประมาณที่มันเป็นไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่าหรือไม่ นี่จึงเป็นความตั้งใจที่เราเลือกอภิปรายการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

เมื่อนั่งดูรายละเอียดของตัวงบประมาณ เรายิ่งเห็นว่า มันมีการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าปีนี้จะปรับลดลงก็ตาม แต่เมื่อย้อนกลับไปดูในเนื้อหาการเบิกจ่ายมันก็ยังเป็นการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยกตัวอย่าง งบประมาณส่วนราชการพระองค์ในปี 2563 มีการขอเบิกจ่าย 8,000 กว่าล้าน แต่ตอนเบิกจ่ายจริง กลับเบิกจ่ายไปถึง 10,000 ล้าน มีส่วนต่างมากถึง 2,000 ล้าน 

เพราะฉะนั้นเราต้องการให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานรับงบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสำนักนายกฯ หรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีชื่อเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพิทักษ์ โครงการเทิดทูน โครงการเฉลิมพระเกียรติ มันควรจะถูกตรวจสอบโดยสภา โดยกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนจากพี่น้องประชาชนในการที่จะเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของพวกเขา

เรามองว่าการเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ สำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่มันแร้นแค้น ในภาวะที่พี่น้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก เขาจะได้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับพี่น้องประชาชนในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้

การอภิปรายที่ผ่านมา ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลนานแค่ไหน

น้อยมาก ต้องบอกเลยว่าน้อยมาก เพราะเราได้รับเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบประมาณของปี 2565 ก่อนหน้าที่จะอภิปรายเพียง 7 วันเท่านั้น เราต้องรีบอ่านข้อมูลทั้งหมดหลายหมื่นหน้าในเวลาจำกัด รวบรวมตัวเลขงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมา แต่อย่างที่อภิปรายไปในสภาว่าความพิเศษของงบประมาณนี้มันสามารถซ่อนอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อีกเยอะมาก บางจุดไม่ใช่ก้อนใหญ่ อาจจะ 1 ล้านบาท, 5 ล้านบาท, 10 ล้านบาทบ้าง ตรงนั้นอาจจะไม่ได้เอามารวม เราคัดมาแต่งบสูงๆ 

ฟังดูแล้วขั้นตอนการตามหางบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จะทำงานเหมือนการเล่นเกมต่อจุด

ใช่เลย เหมือนต่อจิ๊กซอว์

ยกตัวอย่าง งบประมาณปี 2564 ที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีงบประมาณนี้ที่ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ถูกตรวจสอบ หลังจากที่หน่วยรับงบขอจัดสรรงบประมาณเข้ามา แล้วใช้คำว่า ‘โครงการในพระราชดำริ’ คลุมไว้ ทำให้โครงการเหล่านั้นมักถูกปล่อยปละละเลยจากกรรมาธิการ 

ถ้าจำกันได้ คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เคยเป็นกรรมาธิการขอตรวจสอบงบประมาณของโครงการประเภทดังกล่าว การดำเนินงานเป็นไปได้ยากลำบากมาก ข้อมูลบางอย่างถูกปกปิด ไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น ‘อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง’ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่พัทลุง เพื่อการกักเก็บน้ำ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงพบว่า ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวไม่ได้ต้องการแหล่งน้ำเพิ่ม อีกทั้งพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำที่เพียงพอแต่ขาดการบริหารจัดการและขาดการดูแลรักษา จึงมีความเห็นให้ตัดโครงการดังกล่าวส่วนนี้ออกจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2564 

ยังมีโครงการอีกจำนวนมากในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ถูกพิจารณารายละเอียดถึงความเหมาะสมกับพี่น้องประชาชน ซึ่งเรายังยืนยันว่าโครงการใดที่ยิ่งตรวจสอบยาก ยิ่งเป็นการที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียไปถึงสถาบัน 

นอกจากนั้นความพิเศษของงบประมาณส่วนดังกล่าว มักถูกซ่อนอยู่ในกระทรวงต่างๆ รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดเป็นความซ้ำซ้อน เช่น โครงการบำรุงม้าทรง ซึ่งส่วนหนึ่งของงบในการจัดการตรงนี้ ไปอยู่ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีการของบในส่วนงานนี้ซ่อนและซ้อนในสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย 

ดังนั้นการอภิปรายของเราอาจจะช่วยสะท้อนถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นได้ หน่วยงานเหล่านี้กำลังจะใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังในการขอจัดสรรงบประมาณหรือไม่ การจัดสรรงบประมาณไปใช้ โดยที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบจากสภาเลย เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

การคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศ ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น รู้สึกเสี่ยง แต่ถ้าถอยมองดูบริบทโลก ประเทศอื่นๆ ที่มีโครงสร้างการปกครองคล้ายเรา การอภิปรายเรื่องนี้ในสภา เขารู้สึกเหมือนเราไหม บรรยากาศเป็นอย่างไร 

ในอังกฤษหรือสเปนประเทศมีระบบสถาบันกษัตริย์ การพูดถึงสถาบันเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตยบ้านเขา รวมถึงการพูดเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องปกติในสังคมของเขา สะท้อนผ่านการที่หลายๆ ครั้งเราเห็นว่าสื่อมวลชนสามารถทำข่าวเรื่องกษัตริย์หรืองบประมาณได้อย่างปกติมาก มันเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้เสี่ยง หรือเป็นเรื่องของความกล้าหาญ

หากมองย้อนกลับมาในประเทศไทยกลายเป็นว่าเรื่องนี้ถูกกดทับและไม่ถูกอนุญาตให้พูดถึงมาเป็นระยะเวลายาวนาน  ตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 เวลา 80 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้ากลับไปค้นดูในประวัติศาสตร์ ในช่วงต้นๆ เราพบว่าสังคมยังสามารถพูดถึงการเข้าถึงพระราชอำนาจได้อย่างปกติมาก 

แต่หลังจากนั้นการพูดถึงตัวองค์พระมหากษัตริย์หรือแตะไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมีแนวโน้มน้อยลง ท้ายที่สุดเราก็ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ เมื่อพูดแล้วจะต้องเกิดความกังวล กังวลว่าจะโดนความผิด เพราะถูกจำกัดด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ยังผูกติดอยู่กับความมั่นคง และไม่ได้มีเพียงแต่ มาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ ที่พร้อมเข้ามาใช้จัดการกับคนที่พูดถึงเรื่องนี้ 

นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ถึงแม้มีโครงสร้างการปกครองเหมือนกันแต่ไม่สามารถกล่าวถึงสถาบันได้เหมือนกัน

การที่อภิปรายในประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดการจับจ้อง สื่อหลายสำนักเข้ามาสัมภาษณ์คุณ คุณถูกมองว่ากล้าหาญ ดันเพดาน แล้วคุณมองตัวเองอย่างไร 

เราพยายามสื่อสารทุกครั้งว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องมากล้าหาญ ถามว่าจะมีความรู้สึกว่ากังวลอะไรไหม แน่นอนตอนนี้ก็มีบ้าง ตอนนี้มีคนไปแจ้งความดำเนินคดีกับเราแล้ว การทำแบบนี้มันยิ่งย้ำให้สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัว ยิ่งทำให้เรื่องกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ เรารู้สึกเหมือนโดนปิดกั้นและปิดปาก

ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือสื่อสารให้มากที่สุด เราจะต้องไม่รู้สึกหวาดกลัวอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราทำไปมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องและปกติสุขในสังคม การที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เราก็พร้อมที่จะยืดตัวตรงแล้วต่อสู้กับกระบวนการเหล่านั้น โดยที่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมาย 

เพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้หมิ่นประมาท ไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย สถาบันเป็นเรื่องที่สามารถพูดถึงได้ ทำไมต้องคิดว่าสิ่งที่เบญจาทำเป็นเรื่องที่กล้าหาญ อยากให้มองเป็นเรื่องปกติ 

ผลกระทบหลังการอภิปราย คุณเจออะไรบ้าง

เอาจริงๆ เรามองผลกระทบที่เกิดขึ้นในมุมดีนะ แน่นอนมันต้องมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เขามองว่าเราจาบจ้วง 

แต่เชื่อไหมว่าคนที่เห็นต่างทางการเมืองและกลุ่มอนุรักษนิยมอีกจำนวนหนึ่ง โทรมาให้กำลังใจและส่งข้อความมาให้กำลังใจเราเยอะมาก เขาบอกว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่เขาอยากเห็นในการเมืองไทยมาโดยตลอด เขามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปกป้อง เทิดทูน เทิดพระเกียรติให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาชื่นชมเป็นกำลังใจให้เรา เพราะฉะนั้นในความรู้สึกของเราผลกระทบน้อยมาก 

ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนมาถึงก้าวไกล พวกคุณถูกมองว่าเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ที่จะนำ ‘เรื่องที่ไม่เคยถูกพูด’ เข้าไปพูดในสภา พรรคจัดการกับความหวังเหล่านี้อย่างไร

สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่นอกสภา การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวหรือพี่น้องประชาชนมันก็เป็นปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย เป็นปรากฏการณ์ทางเจเนอเรชั่น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ต่างจากพรรคการเมือง จุดยืนต่างๆ อาจเป็นเหมือนตัวแทนแห่งยุคสมัย ครั้งหนึ่งพรรคอนาคตใหม่อาจเคยเป็นดวงไฟในใจของผู้คน และมันถูกจุดขึ้นมาในช่วงเวลาที่สังคมมืดมิดที่สุด 

ทุกสิ่งที่เด็กๆ พูด หรือสิ่งที่เยาวชนคนรุ่นใหม่กำลังกระทำ เป็นเรื่องที่เราเองควรต้องรับไม้ต่อ หรือควรที่จะต้องพูดคุยกับเขาในการที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่สุด 

การเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย ควรมีพื้นที่สื่อสารในสิ่งที่เยาวชนกำลังเรียกร้องกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การผลักดันเพดานในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เพราะสิ่งที่เราเชื่อเสมอคือการถกเถียง แลกเปลี่ยนและพูดคุยกัน มันจะนำไปสู่การหาฉันทามติทางหนึ่ง เพราะในเมื่อการปกครองบอกว่าอำนาจสูงสุดในประเทศไทยเป็นของประชาชน วันนี้เราทุกคนต้องยอมรับได้แล้วว่า ทุกความคิดของพี่น้องประชาชนต้องถูกรับฟังและนำมาถกเถียงกัน ในเวทีรัฐสภาและนอกสภา

ในฐานะ ส.ส. ที่ทำงานในสภา มองการเคลื่อนไหวนอกสภาของประชาชนอย่างไรบ้าง

แม้พี่น้องประชาชนอาจจะมองว่าเราเป็นความหวังสำหรับเขา แต่ในทางกลับกัน เราก็อยากจะบอกว่า ทุกคนที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ข้างนอกสภา ไม่ว่าจะบนถนน คนที่กำลังต่อสู้และขับเคลื่อนทางความคิด กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ พวกคุณก็คือความหวังของเราเช่นกัน 

เมื่อใดก็ตามที่ขบวนการเคลื่อนไหวเติบโตขึ้น สังคมก็จะก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมามันเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เราเองก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร เราก็คือคนธรรมดาที่เคยเป็นผู้ขับเคลื่อนข้างนอกเวทีรัฐสภาเหมือนกัน ณ วันนี้เราก็เปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนท่วงทำนองในการขับเคลื่อนในเวทีสภา เราก็จะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ใช้ตำแหน่งหน้าที่และใช้บทบาทในกลไกสภาในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน 

ย้อนถามความรู้สึกในวันนั้น ขณะที่อภิปรายคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

การอภิปรายในครั้งที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นการอภิปรายที่ตื่นเต้นมากที่สุดตั้งแต่อภิปรายมา

จริงๆ เราอภิปรายปัญหาใหญ่ๆ มาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลกระทบ EEC หรือผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ ผลกระทบจากนโยบายของรัฐ อะไรต่างๆ แต่ทุกครั้งไม่ได้รู้สึกว่าตื่นเต้นมากเท่ากับครั้งนี้ 

ด้วยความที่เราต้องเดินลงไปพูดที่โพเดียม ซึ่งใกล้ชิดกับประธาน เราถูกจับจ้องจากประธานสภาในระยะที่ใกล้ขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่าเรารู้สึกตื่นเต้นมาก เราเห็นท่าทีของประธานสภาขยับไมค์บ่อยมาก ขณะที่พูดจึงกังวลว่าเขาจะพูดอะไรอีกหรือเปล่า แต่เราหมายมั่นแล้วว่าเราต้องพูดให้จบ อยากทำให้ประธานสภา พี่น้องประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เขาได้เห็นจริงๆ ว่าสิ่งที่เราพูดไม่ได้เป็นการเกินเลย หรือว่าไม่ได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีอะไร และเป็นการทำไปเพื่อให้สถาบันมีความสง่างามมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำไป 

หลายครั้งเราเห็น ส.ส.ก้าวไกลอภิปรายดันเพดานขึ้นไปหลายเรื่อง ที่อาจจะสร้างความไม่สบายใจจาก ส.ส.ร่วมฝ่ายค้าน มีวิธีประนีประนอมหรือจัดการความรู้สึก บริหารดูแลตรงนี้อย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นเวทีนอกสภาหรือที่ไม่ใช่พื้นที่ในสภา พูดถึงเรื่องนี้อย่างปกติ ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองที่เขามีความคิดต่างทางการเมือง เขาก็ยังพูดคุยกันเรื่องนี้ได้ 

แต่พอเป็นเวทีในรัฐสภาที่มีข้อบังคับ เขาจะต้องแสดงบทบาทและบอกว่าสิ่งที่เราพูดคือเรื่องที่พูดไม่ได้  จึงไม่แปลกที่หลายต่อหลายครั้งเราจะต้องถูกประท้วงหรือถูกปิดกั้นจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มันคือข้ออ้าง เพราะเรายืนยันเสมอว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือการปกป้องสถาบันและเทิดทูนสถาบันอย่างดีที่สุดแล้ว การที่มีการใช้สถาบันเข้ามาอยู่ในเขตแดนทางการเมือง อย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังทำอยู่ มันไม่เป็นผลดีเลย

ชวนคุยเรื่อง พ.ร.บ.ร่างงบประมาณ 2565 ร่างฯ นี้สะท้อนอะไรบ้าง

ร่างงบประมาณปี 2565 ที่ผ่านสภาไปแล้วในวาระหนึ่ง สิ่งที่เราเห็นคือ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติอย่างหนัก ประชาชนต้องก้าวไปสู่โลกหลังวิกฤติโควิด-19 แต่เมื่อเราเห็นการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานรับงบต่างๆ หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่ขอจัดสรรงบประมาณมาก มันไม่ได้เป็นการใช้จ่ายเพื่อพี่น้องประชาชนจริงๆ 

ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล เรายืนยันเสมอว่า รัฐบาลควรจะต้องมองเรื่องการชดเชยและเยียวยาแบบถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง แต่เรากลับไม่เห็นการใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะนี้ใน พ.ร.บ.ร่างงบประมาณ ปี 2565 

เรากลับเห็นการใช้จ่ายแบบเหวี่ยงแห การใช้จ่ายแบบเบี้ยหัวแตก หรือแม้แต่การเบิกจ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เราพยายามชี้จุดให้เห็นต่างๆ ในทุกครั้งที่อภิปราย แต่ในทุกครั้งก็มักจะผ่านรัฐสภาไปได้ด้วยเสียงข้างมากตลอด แต่มันไม่ได้ทำให้เราหมดหวัง 

เราก็มองว่าสิ่งที่เราเสนอในการอภิปราย อาจจะเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล ในการปรับปรุงแก้ไขงบประมาณ เพื่อจัดสรรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน และหลังจากนี้ในวาระสอง กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกลจะต้องไปพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทุกคนโดยคำนึงถึงการฟื้นฟูประเทศหลังจากนี้ 

ยกตัวอย่างงบประมาณสักก้อนที่คุณคิดว่ามันไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทของประเทศตอนนี้

ด้วยความที่อภิปรายเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามองว่าหน่วยงานรับงบ โดยเฉพาะโครงการที่มีนามสกุลได้รับการจัดสรรงบไปเยอะมาก

เราว่าในเวลานี้มันควรที่จะต้องกลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ กลับมาดูรายละเอียดกันใหม่ เพราะอย่างกรณี ‘โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ที่เราได้อภิปรายไป มันเป็นโครงการที่รัชกาลที่ 9 ได้ดำริไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2521 โดยอนุมัติโครงการในปี 2552-2553 ยังพบว่ามีการเข้ามาขอจัดสรรงบประมาณใหม่อีกครั้งในปี 2553 ตั้งงบประมาณไว้ 10,000 ล้าน โดยงบประมาณมีเวลาประมาณ 10 ปี และโครงการควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-62 แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีการของบประมาณผูกพันเข้ามาเรื่อยๆ 

สิ่งที่เราตั้งคำถามคือ เหตุใดโครงการยังสร้างไม่เสร็จ?

เมื่อเราได้ลงพื้นที่จริงก็พบว่าพื้นที่หน้างานมันเปลี่ยนแปลงสภาพไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในปราจีนบุรีหรือพื้นที่ในบริเวณนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก่อสร้างมาเพื่อช่วยเรื่องของน้ำแล้ง ลดน้ำท่วม และแก้ปัญหาเรื่องของน้ำทะเลหนุน แต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนั้นมันเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ผู้คนไม่ได้ทำการเกษตร ผู้คนไม่ได้เลี้ยงปลา กุ้ง หอยแล้ว เมื่อสภาพมันเปลี่ยนแปลง โครงการนี้มันควรจะต้องกลับมาพิจารณากันใหม่หรือไม่ 

ที่สำคัญเราควรติดตามผลเพื่อหาคำตอบว่าโครงการดังกล่าวมันช่วยในเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้ตามวัตถุประสงค์ไหม ซึ่งปัจจุบันน้ำก็ยังท่วมปราจีนบุรีอยู่ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขายังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายงบประมาณไปกับโครงการแบบนี้ ที่มีจำนวนเป็นหมื่นล้าน ยิ่งเป็นโครงการที่มีชื่อนามสกุลต่อท้าย มันยิ่งส่งผลกระทบไปถึงพระเกียรติของสถาบัน เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง และกลับมาทบทวนกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุดกับการอนุมัติเงินกู้เยียวยา 5 แสนล้านบาท หากประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าจากการกู้เงินที่ผ่านมา รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเจาะไส้ในของ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทครั้งนี้ แทบไม่ต่างจากเงินกู้หนึ่งล้านล้านที่ผ่านมาเลย เพราะการกำหนดกรอบค่าใช้จ่ายมีลักษณะที่กว้างมาก ตีขลุมมาก ไม่ได้ระบุรายละเอียดในแผนงาน มีเพียงเอกสารแค่ 5 ฉบับเท่านั้นเอง ซึ่งการขอจัดสรรงบประมาณที่มีวงเงินมากขนาดนี้ แต่โครงการต่างๆ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียด มันเป็นเรื่องไม่แปลกที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคก้าวไกล รวมถึงพี่น้องประชาชนจะต้องทักท้วงว่านี่คือการตีเช็คเปล่าหรือไม่

อีกทั้งผลงานที่ผ่านมา งบประมาณถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ไม่ถูกจุด ไม่ตรงเป้า รัฐบาลใช้งบประมาณแบบเหวี่ยงแหไม่ได้หวังผลทางเศรษฐกิจมากนัก แต่เป็นการใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า 

ยกตัวอย่างที่ คุณอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไว้

ก่อนหน้า พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับ 5 แสนล้าน เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีส่วนงบประมาณ 400,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ หลายโครงการเป็นโครงการด้านการเกษตร และมีการอนุมัติงบประมาณผ่าน 2 หน่วยงาน คือสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร ดูแลโครงการ ‘1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่’ ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท อีกหน่วยงานคือกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการ ‘พัฒนาพื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล’ ด้วยงบประมาณ 4,780 ล้านบาท โดยเป้าหมายคือการจ้างงาน 40,000 คน และเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน 100,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาของสองโครงการนี้ ที่ตั้งวงเงินงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท กลับมีการเบิกจ่ายได้เพียง 1,380 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ที่เบิกจ่ายได้จริง เรียกว่าแรงงานที่ตกงานกลับบ้านจนได้งานใหม่กลับเข้าเมือง แล้วตกงานกลับบ้านอีกรอบ ก็ยังไม่ได้เข้าโครงการ ถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับโครงการทั้งสองนี้

สุดท้ายแล้วสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือการใช้จ่ายงบประมาณแบบไหน มันดูเหมือนเป็นการผลาญงบไปวันๆ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เป็นการผลาญงบแบบไม่มีปัญญาที่จะเบิกจ่ายการใช้จ่ายงบประมาณเหล่านี้ด้วย ฉะนั้นพอมามองถึง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านที่เพิ่งผ่านอนุมัติไป หากให้ประเมินถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า มันก็ไม่ได้ต่างจากการตีเช็คเปล่าอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าโฟกัสให้แคบกว่านี้ เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ศักยภาพของการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นอย่างไรบ้าง

มองภาพรวมก็คือล้มเหลว

เราเห็นเลยว่า การจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล โดยใช้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คุณประยุทธ์เพียงผู้เดียว  

คุณประยุทธ์รวมอำนาจทั้งหมดในการเป็นผู้บริหารจัดการ คุณประยุทธ์เป็นผู้จัดการเรื่องของวัคซีนด้วย รวบอำนาจทางกฎหมายกว่า 40 ฉบับไว้ในมือ การรวบอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไว้ที่ตัวเองในการจัดการบริหารทั้งหมด มันเหมือนเป็นการรัฐประหารเงียบ การบริหารจัดการแบบนี้ไม่เกิดประสิทธิภาพแต่อย่างใด เราเชื่อว่าประชาชนทุกคนเห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา วันนี้บอกอีกอย่าง พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่าง หรือยังไม่ทันข้ามวัน เช้าบอกอีกอย่าง เย็นก็เปลี่ยน 

มองประเทศไทยอีกสัก 5-10 ปี อย่างไร 

เราไม่ได้มีความอยากจะมาเป็นนักการเมืองตั้งแต่แรก

ส่วนตัวเรามีความสนใจการเมืองมาตั้งแต่มัธยมปลาย ปี 2544 มีโอกาสในการเลือกตั้ง มันทำให้เราตื่นตัวทางการเมืองมาตลอด

เมื่อลองมองการเมืองในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2544 จนมาถึงปัจจุบัน มันมีช่วงหมดหวัง มีความหวัง ไม่ต่างจากทุกคน จนมาถึงการตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดแล้ว แน่นอนพอเราเข้ามาทำเอง เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไร บทบาทของเรามันคือองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่เราหวังเกิดขึ้นจริงได้ ทำร่วมไปกับพี่น้องประชาชน ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สำเร็จก็ตาม

ภาพหลังจากนี้อีก 5-10 ปี เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เราคิดว่าคนรุ่นใหม่ๆ เยาวชนหนุ่มสาวคงเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองมากขึ้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมันเพื่อทำตามความฝัน และส่งต่อสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นเขาและลูกหลานของเขา ส่วนตัวเรายังมีความหวังกับการเมืองไทยในต่อจากนี้ มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่นอน

ณ ตอนนี้ มองบทบาทสตรีในการเมืองแบบไทยๆ อย่างไรบ้าง

ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้หญิงถือว่ามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกสงวนและผูกขาดไว้ให้กับผู้ชายเท่านั้น เรามองว่าประเด็นเพศสภาพนั้นไม่สามารถแยกออกจากประชาธิปไตยได้ ยกตัวอย่าง ยุค คสช. ที่เป็นระบอบเผด็จการ จะมีผู้หญิงนั่งในสภาต่ำที่สุด ปัจจุบันมีการเลือกตั้งมีระบบรัฐสภาทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสภามากขึ้น

และตลอดระยะเวลาประชาธิปไตยไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีจำนวนผู้หญิงในสถาบันการเมืองระดับชาติน้อยมาก นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างปัจจุบันพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นักการเมืองหญิงถูกตัดสิทธิ์ ก็เหลือผู้หญิงอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความตื่นตัวทางการเมืองของผู้หญิงในสังคมไทยจะน้อยไปด้วย ในทางกลับกัน เรากลับพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจัดการปัญหาในชุมชนและการจัดสรรทรัพยากร เช่น กรณีต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน สิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ  

บทบาทการเข้ามาเป็น ส.ส. และทำงานในสภา มันสะท้อนให้เห็นภาพชายเป็นใหญ่ชัดเจนมากแม้แต่ในสภา ผู้หญิงยังถูกมองว่าเป็นไม้ประดับ มีการถูกปฏิบัติแบบเหยียดเพศ ดังปรากฏในการประท้วง หรือการปฏิบัติในสภาในช่วงที่ผ่านมา 

ซึ่งหากเราไม่สามารถเปลี่ยนฐานคิดปิตาธิปไตยที่แบ่งแยกบทบาทชายหญิงในพื้นที่การเมืองไม่ว่าจะเรียกร้องประเด็นใด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผู้หญิงเองก็ไม่สามารถเข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้

เรายังอยากเห็นประเทศไทยคำนึงถึงสิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันภายใต้หลักการเรื่องความเป็นมนุษย์เหมือนกัน โดยไม่ถูกกำหนดโดยอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพและความหลากหลายทางเพศ

ดังนั้นบทบาทของพรรคก้าวไกลและเราเอง ต้องการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย ภายใต้หลักการเรื่องความเป็นมนุษย์เหมือนกันโดยไม่ถูกกำหนดด้วยเพศสภาพ ไปพร้อมกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเรื่องอื่นๆ ด้วย เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของผู้หญิงให้กว้างขึ้น เพื่อให้ข้อเสนอของผู้หญิงที่เกี่ยวกับการแก้ไขนโยบาย กฎหมาย ได้ช่วยเอื้อต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติและการกดทับทางเพศ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ตัดสินใจทางการเมือง และช่วยลดมายาคติที่มีต่อผู้หญิงได้อีกทางหนึ่งด้วย

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า