ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: บทบาทสื่อไทยในสถานการณ์ชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง

งานสัมมนาวิชาการ ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ วันที่ 29 สิงหาคม 2566 จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการนำเสนอผลงานวิจัยหลายชิ้นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือหัวข้อ ‘การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง’ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งความสนใจไปที่ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การรายงานข่าวการชุมนุมที่สร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง และแนวทางที่จะลดเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงเป็นอย่างไร 2) ปัจจัยที่มีผลต่อการรายงานการชุมนุมคืออะไร

งานวิจัยชิ้นนี้มีความตั้งใจที่จะศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนในการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ผ่าน 5 กรณีศึกษา ได้แก่ พฤษภาประชาธรรม (2535) พันธมิตรฯ (2549-2551) นปช. (2552-2553) กปปส. (2556-2557) และกลุ่มราษฎร (2563-2564) เพื่อหาจุดต่างและจุดร่วมในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน สื่อทางเลือก และสื่อพลเมือง

ความเป็นกลางกับความเป็นประชาธิปไตย?

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ ยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมที่เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานวิชาชีพสื่อและกลายเป็นมรดกตกทอดของสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร รัฐเป็นเจ้าของสื่อแพร่ภาพกระจายเสียง ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสื่อเพื่อลดอำนาจรัฐในการถือครองสื่อผ่านการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และเรียกร้องให้มีการดำเนินงานที่ให้อิสระแก่กองบรรณาธิการในสำนักข่าว จนก่อให้เกิดการรับรองสถานภาพสื่อมวลชนมากขึ้น ผ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่มีการเพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น

ผศ.ดร.พรรษาสิริ เสนอว่า บทบาทของสื่อมวลชนขึ้นอยู่กับลักษณะของการชุมนุม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. บทบาทสื่อในการต่อสู้อยู่ข้างประชาชนเพื่อต้านเผด็จการ นับว่าเป็นแนวคิดจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมที่ส่งต่อมาถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. จากเหตุการณ์เหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่า สื่อจะเกาะติดการชุมนุม หากรัฐมีคำสั่งสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง สื่อก็จะมองว่ายอมรับไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทของสื่อที่จะช่วยลดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ 

    ในขณะเดียวกัน หากผู้ชุมนุมหรือหน่วยงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยของภาครัฐมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรหรือคุกคามสื่อมวลชน ก็จะไม่ค่อยพบการรายงานข่าว แต่จะออกมาในรูปแบบของเรื่องเล่าขานหลังจบเหตุการณ์เสียมากกว่า การแสดงออกของสื่อมวลชนในลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ชุมนุมและลดความรุนแรงในการสลายการชุมนุม 
  2. บทบาทที่มาพร้อมจุดยืนที่ว่าสื่อต้องเป็นกลาง เนื่องจากเป็นเรื่องที่คนในสังคมเห็นต่าง จึงต้องฟังเสียงของทั้งผู้ชุมนุม คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุม และคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม โดยกรณีที่นำมาศึกษาคือ การชุมนุมของ นปช. และการชุมนุมของกลุ่มราษฎร 

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวถึงภาพจำของทั้งสองกรณีศึกษา ซึ่งผู้ชุมนุมมีการใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนจึงมักจะมีท่าทีไม่สนับสนุนความรุนแรงทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุม สื่อกระแสหลักจึงไม่ได้มีบทบาทในการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุม และไม่ค่อยรายงานเหตุผลที่มาของการชุมนุม เมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ นปช. ที่มีการรายงานมากกว่า

ในการชุมนุมของ นปช. สื่อมวลชนเองก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยการเสียชีวิตของสื่อมักถูกมองว่าเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นลูกหลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ชุมนุมและรัฐใช้กำลังตอบโต้กัน ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พรรษาสิริ ยังกล่าวอีกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสื่อ บางครั้งถูกมองว่าเป็นปัญหาของปัจเจก หรือเป็นการที่เจ้าหน้าที่ฝั่งรัฐมองว่า สื่อพลเมืองไม่ใช่สื่อมวลชน จึงมีการเข้าจับกุมและทำร้าย

สื่อสร้างความชอบธรรมของความรุนแรง หรือลดเงื่อนไขความรุนแรง

ผศ.ดร.พรรษาสิริ จัดประเภทการรายงานข่าวการชุมนุมเป็น 2 ประเภท 

  1. การรายงานที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง คือการที่สื่อมองการชุมนุมเป็นเหตุการณ์สำคัญ เกิดขึ้นไม่บ่อย และเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา เมื่อสื่อคาดการณ์แบบนี้จะทำให้การรายงานถูกเน้นย้ำไปที่ความขัดแย้ง การช่วงชิงอำนาจ มีการเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ให้ความสำคัญที่สีสัน ความขัดแย้ง มากกว่าปมปัญหา และต้นตอของการชุมนุม ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องในประเด็นที่ท้าทายค่านิยมหลักของสังคม และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำกัดให้สื่อมีความคับแคบในการรายงาน หรือการที่สื่อถูกแทรกแซงการกลุ่มผลประโยชน์ จนทำให้ไม่สามารถรายงานข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา
  2. การรายงานที่ลดเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรง คือการที่สื่อมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิในการสื่อสาร และเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นสื่อก็จะรายงานและตรวจสอบข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง นำเสนอมุมมองที่หลากหลาย ช่วยอธิบายปมความขัดแย้งและฐานคิดของผู้ชุมนุมว่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร รวมถึงอธิบายต้นตอของความรุนแรงในการชุมนุม และตั้งคำถามไปถึงภาครัฐว่า ได้มีการส่งเสริมหรือปกป้องการใช้สิทธิทางการสื่อสารของผู้ชุมนุมหรือไม่ 

ประเด็นสุดท้าย ผศ.ดร.พรรษาสิริ ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการรายงานข่าวการชุมนุม โดยแบ่งออกเป็น 4 ปัจจัย ได้แก่

  1. ความเป็นเจ้าของสื่อ วัฒนธรรมการผลิตข่าวขององค์กร ความเป็นอิสระในการทำข่าวในองค์กร
  2. ระบบตลาด การแข่งขันของสื่อ เช่น ในปัจจุบันที่สื่อแต่ละสำนักต้องแข่งกันด้านความเร็วเพื่อสร้างยอดการมองเห็นและนำมาซึ่งรายได้อีกที ดังนั้นการที่กระแสสังคมสนใจประเด็นการชุมนุม ก็จะสามารถดึงดูดให้สื่อเพิ่มการรายงานข่าวได้ด้วยเช่นกัน เพราะทำให้ได้ยอดจากการรายงานข่าวที่นำไปสู่เม็ดเงิน
  3. ระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งด้านกฎหมาย มาตรการจากภาครัฐ และบรรยากาศในการชุมนุมหรือเสรีภาพในสังคมขณะนั้น สามารถส่งผลให้เกิดการถกเถียงได้มากน้อยแค่ไหน 
  4. อุดมการณ์ บรรทัดฐานของสังคม ความเข้าใจเรื่องความรุนแรง 

ผศ.ดร.พรรษาสิริ ทิ้งทายว่า ปัจจัยที่จะส่งเสริมหรือกระตุ้นให้สื่อมีบทบาทในการลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม คือการสร้างสภาพแวดล้อมในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพื่อให้การอภิปรายถกเถียงในพื้นสาธารณะเป็นไปอย่างอิสระ ปลอดภัย และสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เพื่อให้นิเวศสื่อมีแนวโน้มที่จะหลากหลายมากขึ้น 

สื่อควรมีอิสระและนำเสนออย่างตรงไปตรงมา

จากนั้นวงสัมมนาได้เปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยน โดย วศินี พบูประภาพ ได้ให้ความเห็นในฐานะสื่อ ว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักจะอิงกับสถาบันเสียส่วนใหญ่ หากการเคลื่อนไหวต้องการพื้นที่สื่อ ก็จะต้องไปจดทะเบียนเพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก สร้างชื่อเพื่อให้สื่อมารายงานข่าว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์ยื่น 10 ข้อเสนอปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่สื่อมีการพูดคุยกันภายในว่า เหตุการณ์นี้สามารถถูกมองเป็นเรื่องสถาบันหรือมีอำนาจมากพอให้นำเสนอหรือไม่ 

ทางด้าน รองศาสตราจารย์รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้สามารถถ่ายทอดการทำงานของสื่อและห้วงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี อีกทั้งยังให้ความเห็นว่าข้อจำกัดด้านแหล่งทุนและรายได้ รวมถึงกติกาของแพลตฟอร์มที่เน้นไปที่ความรวดเร็วในการรายงานข่าว อาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สื่อไม่สามารถรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหาและอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดตามมา 

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้มุมมองต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า ทั้งงานวิจัยและสื่อไทยควรจะพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาได้มากกว่านี้ เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างก็ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อกรกับภาครัฐและสถาบันกษัตริย์ กลับกันกับสื่อและศาลที่ยังคงปลอดภัยอยู่ ซึ่งในกรณีศาลจะมีระบบครอบงำมากมายที่อาจทำให้ศาลไม่สามารถใช้อำนาจตนเองได้อย่างอิสระ แต่สื่อมีความเป็นอิสระมากกว่า จึงควรที่จะพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาให้ได้

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า