ไชยันต์ ไชยพร: บทวิเคราะห์สถานการณ์ผู้นำทางการเมืองไทยปัจจุบัน จากที่เป็นกลาง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ
ไชยันต์ ไชยพร เคยเขียนเรื่อง ‘บทวิเคราะห์สถานการณ์ ผู้นำทางการเมืองไทยปัจจุบัน จากที่เป็นกลาง’ จดหมายข่าวสังคมศาสตร์  ฉบับที่ 1-2 เดือนสิงหาคม 2530 – มกราคม 2531 ซึ่งในขณะนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในทางการเมือง จะมีจุดยืนที่เป็นกลางหรือไม่ เป็นข้อสงสัยที่แม้แต่การสงสัยก็เป็นปัญหาในตัวมันเองที่เกี่ยวพันถึงว่า การสงสัยนั้นมีผลกระทบทางบวกหรือลบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการเมือง ถ้าจะขยายความตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น จะทำได้โดยยกตัวอย่างดังนี้ เช่น ในสังคมเชื่อว่า การเมืองนั้นนอกจากจะมีฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายหนึ่งแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เข้ากับฝ่ายใดและก็ไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายใด คล้ายๆ กับกรรมการตัดสินกีฬา แต่เมื่อถึงเวลา กรรมการจะต้องเข้ากับฝ่ายที่ถูกต้องและชี้ขาดผิดถูก ในขณะที่คนดูกีฬานั้นมักจะเอาใจช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้ามีการตั้งข้อสงสัยถึงความจริงหรือความเป็นไปได้ของความเป็นกลางทางการเมืองแล้ว ตัวผู้ตั้งข้อสงสัยหรือความคิดสงสัยก็ขัดแย้งกับผู้ที่ไม่สงสัยหรือผู้ที่เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของความเป็นกลางทางการเมือง แม้ว่าแนวความเป็นกลางจะไม่เข้าข้างเป็นมิตรหรือศัตรูกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะหลีกความเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดของฝ่ายที่สงสัยความเป็นกลาง เมื่อเกิดข้อสงสัยนั้นขึ้นในสังคมที่ว่านั้นจะเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ในรัฐต่างๆ เช่น การเมืองไทย 

ต่อกรณีทัศนคติของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี พวกหนึ่งไม่พอใจและเห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ว่า ไม่ต้องการพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกพวกหนึ่งที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเหมาะสมกับสภาพผู้นำที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิกเฉยจะด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สนใจการเมือง หรืออ้างว่าตนเป็นกลางต่อความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวก็ตาม การอ้างสภาวะความเป็นกลางดังกล่าวนี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นกลางจริงหรือ เพราะในขณะที่สภาวะเป็นกลางถูกอ้างนี้เป็นการสนับสนุนสภาวะที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะขณะนี้กลุ่มผู้ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับสภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ต้องการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง และผู้เป็นกลางจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามได้เอื้ออำนวยที่จะเป็นจุดนิ่งทางการเมืองให้กับฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาวะที่เป็นอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ตรรกะของความเป็นกลางไม่ได้จะส่งผลที่จะเป็นพลังให้กับฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาวะที่เป็นอยู่เท่านั้น ในทางตรงกันข้ามความเป็นกลางสามารถส่งผลสนับสนุนฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้อีกเช่นกัน เป็นไปได้อย่างไรนั้น ขอให้พิจารณาดังต่อไปนี้ ฝ่ายที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองย่อมมีเหตุผลง่ายๆ คือ ที่เป็นอยู่นั้นไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นอยู่เช่นนี้ สถานการณ์มีแต่จะแย่ลงหรือรักษาระดับความพิการของการเมือง เศรษฐกิจของรัฐ แน่นอนถ้าฝ่ายเป็นกลางซึ่งในตอนแรกถูกมองว่าสนับสนุนอยู่ในทีต่อฝ่ายรักษาสภาวะมีชัยคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยมีฝ่ายเป็นกลางสนับสนุนอยู่ในที แต่ถ้าเหตุผลของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นถูกต้องและเป็นจริง ในเวลาต่อมาฝ่ายเป็นกลางซึ่งสนับสนุน ฝ่ายรักษาสภาวะซึ่งกักถ่วงไม่ให้ฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงกระทำตามจุดประสงค์ได้สำเร็จ กลับช่วยนำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองตกต่ำทรุดโทรมจนล่มสลายและมีการเปลี่ยนแปลงในที่สุดอยู่ดีนั่นเอง ความเป็นกลางเมื่อถูกมองในแง่นี้ก็เป็นแรงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในที่สุด ซึ่งแม้แต่ฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะการปฏิเสธในประเด็นนี้ก็เท่ากับปฏิเสธความถูกต้องของเหตุผลฝ่ายตนในการประเมินสถานการณ์ภายใต้ผู้นำคนปัจจุบัน รวมทั้งการพยากรณ์สถานการณ์ในอนาคตใต้ผู้นำคนเดิมที่ว่า ถ้าคนเดิมยังอยู่ขณะนี้และต่อไปมีแต่จะแย่ลง 

อาจมีผู้แย้งว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นอาจจะไม่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ แต่มีลักษณะเรื้อรังของอาการ คือไม่ดีขึ้นเลย แต่ทรงตัวในสภาพอาการป่วยที่เป็นอยู่ และด้วยข้อแย้งดังกล่าวที่จะโต้ว่าความเป็นกลางนั้นมีแต่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนผู้รักษาสภาวะเดิมเท่านั้น ไม่มีทางที่จะเป็นตัวสนับสนุนฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงได้เลย 

ที่ว่ามานี้ เป็นการมองจากฝ่ายตรงข้ามสองฝ่ายต่อฝ่ายที่อ้างความเป็นกลาง การที่ไม่พูดหรือมองจากฝ่ายความเป็นกลางนั้น เพราะกระทำไม่ได้ เพราะความเป็นกลางไม่มีทัศนคติใดๆ ต่อฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาวะหรือฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง นอกจากความเป็นกลางแล้ว เราไม่สามารถจะประเมินอะไรหรือยัดเยียดทัศนะใดต่อความเป็นกลางได้เลย เพราะความเป็นกลาง คือ การไม่มีทัศนะที่แสดงออก มีแต่ภาวะนิ่งเฉยต่อ 2 ฝ่ายซึ่งขัดแย้งกันอยู่ 

ย้อนกลับมาถึงประเด็นที่ว่า ฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงอ้างว่า ความเป็นกลางที่จะเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าสถานการณ์ในอนาคตมิได้เลวร้ายลง แต่คงความเลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่ เป็นสภาวะชะงักงัน ซึ่งหากในสถานการณ์ระดับนี้เวลานี้ ฝ่ายที่เป็นกลางยังพอใจที่จะเป็นกลางอยู่ ก็อาจเป็นไปได้ที่ในเวลาข้างหน้าสถานการณ์ระดับเดียว ฝ่ายที่เป็นกลางก็ยังคงพอใจที่จะเป็นกลางอยู่เช่นนั้น สถานการณ์ที่ถูกประเมินว่าเลวร้ายและชะงักงันเรื้อรังจากสายตาของฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงปราถนาในสายตาของฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาวะที่เป็นอยู่มิได้เห็นว่าเป็นสถานการณ์อันมิพึงปรารถนา 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาวะเดิมของผู้นำอาจมิได้เห็นว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้น่าพึงปรารถนา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดร่วมระหว่างฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายรักษาสภาวะเดิม เพียงแต่ว่า การพยากรณ์ต่ออนาคตนั้นเป็นจุดที่ทำให้ทั้งสองอยู่คนละข้าง แน่นอนทั้ง 2 ฝ่ายย่อมเห็นว่า สถานการณ์จะดีขึ้นจากตรรกะของฝ่ายตน ฝ่ายรักษาสภาวะเห็นว่า จากจุดปัจจุบันถ้าคงไว้ซึ่งผู้นำคนนี้ สถานการณ์จะสามารถคลี่คลายไปได้ดีขึ้นและเหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพที่เป็นอยู่ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถ้าเปลี่ยนแปลงผู้นำเท่านั้นถึงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ 

มีข้อน่าสังเกต คือว่า ถ้าเป็นจริงอย่างที่กล่าวไว้ในย่อหน้าล่าสุด ที่ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าปรารถนา ปัญหามีอยู่ว่า ฝ่ายรักษาสภาวะจะต้องพยายามมองสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนานี้ให้แตกต่างจากคู่ปฏิปักษ์ของตน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นให้เหตุผลสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเสีย และก็เป็นเช่นเดียวกันกับที่ฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมองให้ต่างจากฝ่ายตรงข้าม มิฉะนั้นก็จะเกิดผลในทำนองเดียวกันนั่นคือ ฝ่ายรักษาสภาวะจะต้องชี้ให้เห็นว่า สภาพที่เป็นอยู่แม้ไม่เป็นที่พอใจแต่เมื่อมองย้อนหลังดูจะเห็นว่าดีกว่าในเวลาที่ผ่านไป หรือต้องอ้างว่า แม้จะไม่ดีกว่าอดีต แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงผู้นำ นอกจากจะไม่ดีขึ้นได้แล้ว สถานการณ์จะเลวร้ายลง ดังนั้นเป็นความจำเป็นจะต้องคงไว้ซึ่งผู้นำคนเดิมจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมสมารถมาทดแทนได้ ฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะต้องชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่น่าพอใจนั้นไม่ได้ดีขึ้นจากอดีตหรือแย่ลงกว่าที่เคยเป็น และจะแย่ลงต่อไป หรือแย่อยู่เช่นนี้ และแน่นอนจะเป็นเรื่องขัดต่อธรรมชาติมนุษย์อย่างยิ่งที่จะยอมรับสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอยู่ได้ตลอดไป โดยไม่มีการพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าว และจากเหตุผลก็อาจทำให้เชื่อฝ่ายเป็นกลาง เมื่อนานๆ ไปก็จะเบื่อหน่ายต่อสภาพที่เป็นอยู่ได้

 คำถามสำคัญคือ ระหว่างสองฝ่ายใครเป็นผู้มองสถานการณ์ได้ถูกต้อง ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่มองทะลุถึงสภาวะที่แท้จริงของการเมืองไทย แน่นอนที่ว่า ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายถูก ความเป็นกลางนั้นแม้ในทางปฏิบัติอาจจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่โดยหลักการแล้วก็ไม่ได้ยืนอยู่ตรงจุดของความถูกต้อง ไม่ได้ยืนอยู่กับฝ่ายที่เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงของการเมืองไทย ความเป็นกลางในกรณีนี้เป็นฝ่ายผิดไม่แตกต่างจากฝ่ายอื่นๆ ที่เข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยอย่างไม่ถูกต้อง ไม่พบความจริง 

ในเนื้อหาของรูปธรรมของฝ่ายตรงข้าม 2 ฝ่าย ของการเมืองไทยขณะนี้ คือ ฝ่ายที่ต้องการพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี คือผู้ที่เห็นว่าภายใต้เนื้อแท้ของการเมืองไทย รัฐบาลอันมีพลเอกเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่เหมาะสมเป็นจริงและจำเป็นต่อสภาวะการเมืองแบบไทยๆ คือจากโครงสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตได้ส่งผลในเชิงตรรกะบังคับให้ยอมรับพลเอกเปรมว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดเพราะเป็นผู้ที่เป็นกลาง ประนีประนอม มีบารมี และภายใต้อุดมการณ์หลักของการเมืองไทย คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ พลเอกเปรมเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐไว้ได้ แม้จะมีความวุ่นวายทางการเมืองบ้างก็ตาม นอกจากเหตุผลดังกล่าวก็มีผู้ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงผลงานต่างๆ ที่รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านไปภายใต้การนำของพลเอกเปรมได้กระทำไว้ กล่าวโดยสรุป คือ สภาวะที่แท้จริงของการเมืองไทยในสายตาของฝ่ายนี้ คือ รัฐไทยกับระบอบการเมืองที่เรียกว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นความจริงที่หลีกหนีไม่พ้น การพยายามหลีกสภาวะดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ผิดพลาดและเป็นภาพลวงตามากกว่า และอย่างไรก็ตามรูปแบบที่เป็นอยู่นี้สามารถหลุดพ้นจากวงจรรัฐประหารได้

ตรงกันข้าม อีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเห็นว่า รัฐบาลที่ขาดพลเอกเปรมเป็นผู้นำไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมามากกว่าที่จะเป็นผลของตรรกะของธรรมชาติการเมืองไทย เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง-กลุ่มทหารบางกลุ่มเสียมากกว่า และเห็นว่าตรรกะของประชาธิปไตยครึ่งใบไม่สามารถออกดอกออกผลเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ ไม่มีทาง มีแต่จะเป็นตัวถ่วงการไปสู่การเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยเสียมากกว่า และชี้ว่าภาพที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นภาพลวงตามากกว่าความจริง

มาถึงจุดนี้ พอจะมองต่อไปได้ว่า ฝ่ายต้องการรักษาพลเอกเปรมไว้หรือแนว ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ มิได้เน้นถึงข้อเสียของการไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบแต่อย่างใด บางทีกลับจะมองว่าประชาธิปไตยเต็มใบนอกจากจะเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้แล้ว ยังจะเป็นผลร้ายต่อการเมืองไทยถ้ามีการพยายามผลักดันให้เกิดในสิ่งที่ผิดแปลกจากธรรมชาติ นอกจากนี้ฝ่ายพิทักษ์สภาวะยังเห็นว่า ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีประชาธิปไตยเต็มใบในขณะนี้เลย กล่าวได้ว่า เชื่อในการเมืองแบบกลุ่มผู้นำ การพัฒนาจากเบื้องบนลงล่าง ไม่ว่าจะเน้นจากกลุ่มผู้นำสถาบันทหารหรือข้าราชการประจำ (พลเอกเปรมเคยกล่าวว่า ตนอยู่ได้เพราะกองทัพสนับสนุน แต่พลเอกเปรมไม่ได้กล่าวว่าตนอยู่ได้เพราะประชาชนสนับสนุน!)

ในทางตรงกันข้ามเช่นกัน ฝ่ายต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำเห็นว่า ประชาธิปไตยเต็มใบเท่านั้น ที่จะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และได้ผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อประชาชนเป็นผู้ตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเสนอสนองความต้องการของตนได้ ในกรณีนี้ใครก็ได้ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นหัวหน้าพรรคของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ใครก็ตามถ้าอยู่ในเกณฑ์นี้ถือได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางใจและมีฐานอำนาจจากประชาชน มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้เลือกตั้ง และลักษณะนี้เป็นการก้าวแบบเบื้องล่างสู่เบื้องบน และฝ่ายนี้ย่อมเชื่อฟังเจตจำนงของประชาชนที่ปรากฏในรูปของผลการเลือกตั้ง 

ปัญหาที่ถูกหยิบยกมาซักถามฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือฝ่ายเรียกร้องผลักดันให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ หรือการที่ปัจเจกบุคคลในฝ่ายนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเป็นผู้นำคนต่อไปที่จะมาแทนพลเอกเปรม ยิ่งกรณีที่มีการขอความเห็นบุคคลนั้นว่าใครสมควรเป็น และถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีผู้เชื่อถือในความคิดอ่าน เขาจะไม่สามารถบอกว่าใครสมควรเป็น เพราะจะขัดกับหลักการที่ว่าเสียงประชาชนส่วนใหญ่คือผู้ตัดสิน และเขาจะไม่ทำสิ่งใดที่จะเป็นการชักจูงหรือสร้างอิทธิพลต่อการใช้วิจารณญาณของประชาชนผู้เลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้เลือกตั้งชาวไทยที่มีแนวโน้มจะได้รับอิทธิพลจากบุคคลดังกล่าวนั้นได้ง่าย บุคคลในฝ่ายนี้จะเพียงให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีและรอให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีของเขาเอง และบุคคลผู้สนับสนุนความคิดนี้จะเคารพมติดังกล่าวที่เป็นเสียงของมหาชนส่วนใหญ่ อาจจะเป็นหัวหน้าพรรคใดพรรคหนึ่งก็ได้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมกว่าพลเอกเปรม และจะเห็นได้ว่า บุคลลในฝ่ายนี้ก็ได้เสนอให้เห็นถึงผลการสำรวจทัศนคติของประชาชน เช่น ชาวกรุงเทพฯ ว่า ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผลสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับภาวะเศรฐกิจ แต่ปัญหาคือ การเลือกตั้งที่ผ่านไปนั้น มีพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีนโยบายออกมาเด่นชัดว่า ไม่ต้องการพลเอกเปรมหรือต้องการพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งคือ ไม่มีพรรคใดได้เสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เอง หรือมากพอที่จะต่อรองกับพรรคอื่นๆ ได้ตามนโยบายที่วางไว้ ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อนการเลือกตั้ง จะกล่าวได้ไหมว่า นี่เป็นการตัดสินใจของประชาชนซึ่งไม่ได้มีความเห็นพ้องกันเป็นเสียงเดียว หรือเป็นมติข้างมากที่ไม่ต้องการพลเอกเปรม และในกรณีฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจะเคารพผลการเลือกตั้งที่ผ่านไปนี้หรือไม่ หรือเห็นว่า มีการทุจริตหรือการใช้เงินซื้อเสียงจึงไม่ยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับมติประชาชนคราวนี้ แต่จะยอมรับในคราวหน้า หรือยอมรับเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ซึ่งแน่นอนย่อมจะเป็นที่พอใจของฝ่ายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่ว่านี้จะยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจจะได้ตัวพลเอกเปรมคนเดิมอีกก็ตาม ในกรณีที่พลเอกเปรมลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะได้บังเกิดความชอบธรรมของประชาธิปไตยขึ้นแล้ว เสียงประชาชนคือเสียงที่ชี้ขาดถึงความเหมาะสมและแนวโน้มของอนาคตทางการเมืองไทย และแน่นอนว่า มันเป็นไปได้ที่ผลการเลือกตั้งจะออกมาได้หลายกรณี คือ มีพรรคได้คะแนนเสียงมากหรือไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงข้างมาก คะแนนเสียงแตกกระจายออกไปอย่างไรก็ตามก็เป็นเจตจำนงทั่วไปที่ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจะยอมรับด้วยความพอใจ แม้ประชาชนเมื่อวานจะไม่ต่างจากประชาชนพรุ่งนี้ 

ส่วนฝ่ายรักษาสภาวะ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ย่อมจะเห็นว่า การเสี่ยงดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการเมืองไทย หรือผลได้ไม่คุ้มการเสี่ยง เพราะจากทัศนะของกลุ่มครึ่งใบนี้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ในกรณีมีความสั่นคลอนไร้เสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การจัดตั้งแบบสหพรรค เป็นต้น จะเป็นผลเสียอันตรายต่อรัฐ แม้ว่าระบบการเมืองจะมั่นคงก็ตาม หมายถึง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและก็อยู่ภายใต้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่อง ปัญหาคือฝ่ายนี้จะตีความหมายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐจึงจำต้องเข้าแทรกแซง หรือยุติการทำงานของระบบประชาธิปไตยดังได้กล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง และระบบการเมืองที่ดีในสายตาของกลุ่มนี้ไม่ได้ตัดสินโดยความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่อีกฝ่ายตัดสินว่าประชาธิปไตยอาจไม่ดีที่สุดแต่ก็เลวน้อยที่สุดนั่นเอง ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ฝ่ายที่เน้นว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นที่จะเป็นตัวชี้ขาดระบบการเมืองที่ดีสำหรับรัฐไทยนั้น มีทัศนคติที่กว้างขวางมาก ฝ่ายที่มีทางเลือกเดียว คือ ต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น และถือประชาธิปไตยเป็นของสากลสำหรับรัฐทุกรัฐ แม้อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของกลไก แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตย 

เรากลับมาพบกับปัญหาที่พูดไว้แล้วครั้งหนึ่งก็คือ ระหว่างสองฝ่าย ใครมองได้ถึงความจริงของการเมืองไทย ใครเป็นผู้ที่วิเคราะห์ได้ถูกต้อง ในประเด็นนี้การตั้งคำถามว่าใครอาจจะถูกมองจากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยได้ว่า เป็นคำถามเผด็จการเพราะถามไปยังภายนอกว่าใครถูก หมายถึง เมื่อคนอ่านอ่านถึงจุดนี้จะถามว่าใครถูก ถามผู้เขียนหรือคาดว่าผู้เขียนหรือใครจะมาให้คำตอบตัดสินได้ ผู้อ่านไม่ได้คิดพิจารณาเอง ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะปฏิเสธการถามลักษณะนี้ แต่จะให้ประชาชนถามตัวเขาเองว่า ความจริงอยู่ตรงไหน โดยที่เขาจะพยายามให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการตัดสินใจ แต่แน่นอนที่ว่าแม้เขาจะพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางอย่างไร แต่เขาก็มีจุดยืนอยู่ที่ว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องนำมาตัดสินว่าเขาหรืออีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ความจริง ตราบใดที่ฝ่ายสนับสนุนเปลี่ยนแปลง พูด หรือเสนอข้อมูลออกมาจากจุดยืน เขาย่อมไม่มีสภาพเป็นกลาง นอกจากว่า เขาจะยอมรับว่าสิ่งที่พูดออกมานั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ สำหรับปัญหาว่าใครถูกนั้น ฝ่ายรักษาสภาวะย่อมไม่ปฏิเสธที่จะให้คำตอบและพร้อมที่จะเสนอคำตอบแก่ประชาชนทันที เพราะฝ่ายรักษาสภาวะเข้าใจว่าคนเป็นผู้ที่มีสายตาอันกว้างไกลและเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองได้ดีกว่าประชาชนที่ไม่มีเวลาคิดหรือคิดได้แต่ไม่ถูกต้องเท่าของฝ่ายรักษาสภาวะยืนยันว่าจุดยืนของเขา คือ ความจริงทางการเมือง 

ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการพิจารณาภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่มองการเมืองได้ถูกต้อง และเข้าถึงธรรมชาติการเมืองไทยด้วย แต่ถ้าความจริงเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ที่ว่า ความจริงที่ถูกต้องนั้นไม่มี มีแต่ความจริงของฝ่ายที่มีอำนาจมากที่สุด ฝ่ายที่สามารถทำให้คนเชื่อมากที่สุด โดยจะให้เชื่อว่า ตนถูกที่สุด หรือมีอำนาจมากที่สุดก็ตาม ตลอดจนการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า ฝ่ายตนอยู่ในสถานะที่มั่นคงกว่า

ถ้าเป็นในเงื่อนไขแห่งอำนาจนี้ การพิจารณาสภาวะการเมืองไทยก็ต้องเริ่มใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว

ตรรกะของความจริงบนพื้นฐานของการมีอำนาจครองความเป็นเจ้าต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ประชาชนพึงจะได้ ในขณะที่ตรรกะของความจริงบนพื้นฐานของความถูกต้องนั้นเกี่ยวข้องอย่างยิ่งที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน เช่น การที่ฝ่ายรักษาสภาวะเห็นว่า การมีประชาธิปไตยขัดขวางการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน หรือ ฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการเคารพสิทธิเคารพประชามติ การไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบขัดขวางการที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์อันแท้จริงของประชาชน

ตรรกะของความจริงแห่งอำนาจ มีหลักอยู่ที่การรักษาสภาวะแห่งอำนาจที่ครอบครองอยู่เพื่ออำนาจที่มีอยู่ หรือการชิงอำนาจมาเป็นของตนด้วยวิถีทางแห่งอำนาจ โดยยึดถือว่าตัวอำนาจมีความจริงในตัวมันเอง และความจริงก็มีอำนาจอยู่ในตัวมันเอง เป็นเงื่อนไขหลักของมนุษย์โดยมองจากประวัติศาสตร์และปัจจุบัน จะเป็นด้วยการมีอำนาจที่ทำให้เกิดการยอมรับอะไรก็ตามที่ถูกเสนอ โดยผู้มีอำนาจว่าเป็นความจริง หรือการทำให้เห็นว่าสิ่งที่เสนอนั้นเป็นความจริง แล้วประชาชนยอมรับความจริงอันนั้นและก่อให้เกิดอำนาจของผู้สร้างภาพความจริง สิ่งดังกล่าวนี้เป็นไปได้ทั้งสองทางควบคู่กันไป

ถ้าเช่นนั้น การพิจารณาฝ่ายรักษาสภาวะน่าจะออกมาในรูปแบบที่ว่า ฝ่ายนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ ความจำเป็นและเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการนำเสนอถึงอดีตในช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (14 ต.ค. 16-6 ต.ค. 19) โดยตีความว่าเป็นยุคที่วุ่นวายและนำไปสู่การนองเลือดในที่สุด และการเสนอภาพของการพยายามกระทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่เกิดขึ้น 2-3 ครั้งที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาลภายใต้พลเอกเปรมว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา โดยชี้ให้เห็นว่าจะนำไปสู่วัฏจักรชั่วร้ายของเผด็จการทหารดังที่เกิดขึ้นตลอดมาในช่วง 50 ปีของการเมืองไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ภาพที่ออกมาคือ ประชาธิปไตยเต็มใบก็ไม่ดี เผด็จการทหารก็ไม่ดี เป็นลักษณะสุดกู่ของทั้งสองฝ่าย คือ มีเสรีภาพมากเกินไปหรือถูกกดขี่มากเกินไป ดังนั้นรูปแบบที่น่าจะเป็นจริงและอยู่ตรงกลางของขั้วทั้งสอง ก็คือ ประชาธิปไตยครึ่งใบ (กึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ?) และที่สำคัญย่อมต้องพยายามชี้ให้เห็นหรือใช้ยุทธวิธีใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดภาพที่ว่า สถาบันพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองได้ ชี้ให้เห็นหรือทำให้เกิดความแตกแยกของพรรคการเมือง หรือความเละของนักการเมืองน้ำเน่าแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว หรือความอหังการของนักการเมืองต่อสถาบันสูง (กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์*)[1] ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย หมดศรัทธา และหวาดระแวงนักการเมือง

ในขณะเดียวกันก็ผลักดันภาพในเชิงบวกของพลเอกเปรม คือ เป็นผู้ที่มีบารมี ผู้อยู่เหนือความขัดแย้งแตกแยก ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่กระหายหิว เมื่อผ่านการเลือกตั้งที่ใช้เงินทองก็จะตักตวงกลับคืน และโดยเฉพาะอย่างการสร้างภาพพลเอกเปรมที่เกี่ยวพันกับอุดมการณ์หลักของรัฐ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์อันมีความสำคัญสูงสุดต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย โดยมีวิธีการที่แยบยล เนื่องจากฝ่ายนี้เข้าใจพื้นฐานจิตใจของประชาชนไทยที่จะตีความเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทำนองที่แตกต่างไปจากเนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง เป็นกลางทางการเมือง โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจประชาธิปไตยซึ่งมาจากปวงชนชาวไทยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล เช่น ประชาชนอาจเข้าใจว่า ตั้งแต่เหตุการณ์การพยายามทำรัฐประหาร 1 เมษายน 2524 นั้น พลเอกเปรมได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่มักกล่าวว่า พลเอกเปรมถือไพ่ตายไว้ เป็นต้น

แต่โดยความเป็นจริงแล้วสถาบันกษัตริย์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลเอกเปรมในฐานะตัวบุคคล แต่รัฐบาลขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากฝ่ายผู้พยายามทำรัฐประหาร หรือในกรณีที่ตีความการเสด็จเยี่ยมพลเอกเปรมของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องต่อการสนับสนุนทางการเมืองต่อตัวพลเอกเปรมเลย ความคิดที่ผิดเพี้ยนจากนี้ได้เกิดขึ้นจากการตีความของประชาชนมากกว่า เพราะในขณะที่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร ถ้ามีการเสด็จเยี่ยมนักการเมืองฝ่ายใดก็ตาม ประชาชนของเขาก็ไม่ได้นำมาตีความว่าเป็นการสนับสนุนทางการเมือง และแน่นอนอย่างยิ่งว่า ในทางความเป็นจริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง การตีความให้ผิดเพี้ยนเป็นการให้ภาพที่ไม่สมควรแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นการดึงของสูงอันเป็นที่เคารพมาเกลือกกลั้วการดำรงอยู่แห่งอำนาจของตน ดังนั้นฝ่ายรักษาสภาวะได้ใช้ประโยชน์อันนี้จากการปล่อยให้มีการเข้าใจผิดของประชาชนโดยตนไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น

มีผู้พยายามเปรียบเทียบสถานการณ์ขณะนี้กับช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ว่า สถานการณ์ปัจจุบันอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนั้น ซึ่งน่าสนใจที่จะเปรียบเทียบ แต่ไม่น่าสนใจที่จะใช้ตรรกะของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมมาคาดการณ์อนาคตของสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพทางการเมืองก่อน 14 ตุลาคมนั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส ซึ่งถูกเรียกขานครั้งหนึ่งว่าทรราช และความไม่พอใจต่อรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาสนั้นถูกสะสมมามีลักษณะที่แน่ชัดเป็นหนึ่งเดียว ทั้งประชาชนส่วนใหญ่ นักการเมืองฝ่ายค้าน ตลอดจนนักศึกษา ข้าราชการ ก็เห็นชัดถึงการตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวและการคอร์รัปชัน แต่จะว่าไปแล้วจอมพลถนอม-ประภาสไม่ใช่ทรราชเลย แต่เป็นทายาทบุญหล่นทับของทรราชเสียมากกว่า จอมพลถนอม-ประภาสไม่มีความสามารถและบารมีพอที่จะเป็นทรราช เพราะทรราชที่แท้จริงคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศโดยการกระทำรัฐประหารที่สร้างความพอใจให้แก่ประชาชน นิสิตนักศึกษาในเวลานั้น จอมพลสฤษดิ์เป็นอัศวินม้าขาวที่ขึ้นมาเป็นความหวังของประชาชน ความเด็ดขาดของอำนาจเผด็จการภายใต้ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เป็นทั้งพระเดชและพระคุณในเวลาเดียวกัน ก่อนที่จะได้เห็นภาพทรราชอย่างชัดเจน จอมพลสฤษดิ์ก็ด่วนเสียชีวิตไป ทิ้งอำนาจคับฟ้าตกอยู่แก่ทายาทที่ไม่รู้ตัว คือ จอมพลถนอมที่ทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะปฏิวัติของ 14 ตุลาคม 2516 และก็เป็นผลของความไม่สามารถเป็นทรราชของจอมพลถนอมนั่นเอง

สำหรับรัฐบาลภายใต้พลเอกเปรม ซึ่งพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาเกือบเท่าๆ  จอมพลถนอม แต่ย่อมไม่มี 14 ตุลา สำหรับการเมืองขณะนี้ปรากฏการณ์ความสับสนของภาพทางการเมืองปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 ภาพของพลเอกเปรมนั้นไม่ได้มีลักษณะที่น่าปฏิเสธเหมือนภาพจอมพลถนอม-ประภาส ทัศนคติที่มีต่อพลเอกเปรมแตกแยกออกเป็น 2 ส่วน และในช่วง 2 ฝ่ายนี้ก็แตกออกไปได้อีก พวกที่สนับสนุนเพราะเห็นว่าประชาธิปไตยแบบไทยต้องอาศัยผู้นำที่มีบารมีและเป็นผู้ที่กองทัพเกรงใจ ผู้ที่จะมาแทนพลเอกเปรมก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแบบพลเอกเปรม ส่วนบางพวกสนับสนุนพลเอกเปรมโดยเห็นว่า นอกจากมีบารมีแล้วยังเป็นผู้ที่มีความสามารถทางการเมืองสูง น่าจะสนับสนุนให้ลงเลือกเล่นการเมืองจริงจังต่อไป พวกที่ไม่สนับสนุนก็มิได้มีเหตุผลแบบเดียวกัน บางพวกเห็นว่าพลเอกเปรมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าพลเอกเปรมมาจากการเลือกตั้งก็จะสนับสนุน บางพวกเห็นว่าพลเอกเปรมไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ มีบุคคลอื่นที่เหมาะสมกว่าพลเอกเปรมและพร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม ตรรกะหลักของฝ่ายสนับสนุนและจะไม่สนับสนุนพลเอกเปรมต่างเด่นชัดและมีเหตุผล คือ ต่างอ้างความเป็นจริงทางการเมือง ฝ่ายสนับสนุนอ้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย อ้างลักษณะพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนต่อความจำเป็นที่จะต้องมีพลเอกเปรมเป็นผู้นำ อีกฝ่ายก็อ้างหลักประชาธิปไตยและความจริงของความถูกต้องของระบบการเมืองอันเป็นประชาธิปไตยที่ปฏิบัติกันตามสากลของประเทศที่มีการพัฒนาทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ จึงยากที่จะชี้ขาดถึงความจริงได้ว่าของใครถูกกว่า ก่อให้เกิดสภาวะเป็นกลางแบบทำอะไรไม่ถูกจังงัง (The Spell of Indecision) และความเป็นกลางในทางปฏิบัติในระยะเวลาหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้กุมอำนาจไว้อยู่แล้ว และแน่นอน การปราบปรามกดขี่ฝ่ายที่คัดค้านการดำรงอยู่ของพลเอกเปรมจะไม่เป็นผลดีเลยกว่าที่จะปล่อยในลักษณะที่ดูเหมือนว่ามีเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ใครจะแสดงความคิดเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยย่อมทำได้โดยเสรี ยิ่งกระจัดกระจายยิ่งดี แต่ขณะเดียวกันฝ่ายรักษาสภาวะกลับควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ได้อย่างที่ปรารถนาด้วยยุทธวิธีต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว ในภาวการณ์เช่นนี้ แม้จะดูเหมือนว่าใครจะวิจารณ์อย่างไรก็ได้ และยิ่งมีการแตกกระจายของความคิดเห็นและกลไกขบวนการแฝงในการตรวจสอบความมั่นคงของรัฐทำให้ยังไม่มีใครที่จะกล้ามั่นใจกับใครได้ หรือพอที่จะรวมตัวกันเป็นกระแสเดียวที่จะทำภาพปฏิเสธหรือยอมรับพลเอกเปรมได้ชัดเจน โดยเฉพาะฝ่ายปฏิเสธพลเอกเปรม เพราะสถานการณ์ไม่ได้บีบบังคับให้บรรดาผู้ที่ปฏิเสธพลเอกเปรมซึ่งมาจากจุดยืนทางการเมืองต่างๆ กันเข้ารวมตัวกันได้ และภาพของฝ่ายสนับสนุนก็ไม่ได้รวมตัวกันชัดเจนพอที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาการรวมตัวของฝ่ายคัดค้านเช่นกัน

ในทางจิตวิทยาการเมือง คนรวยและคนจนชาวไทยต่างก็ไม่ต้องการระบอบคอมมิวนิสต์ ฝ่ายแรกหวงแหนทรัพย์สมบัติส่วนตัว ฝ่ายหลังหวงแหนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อันเป็นผลพวงของการปลูกฝังทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนไม่ต้องการเผด็จการที่เกิดขึ้นหลัง 6 ตุลา นอกจากจะลิดรอนเสรีภาพแล้ว ประชาชนทั่วไปรวมทั้งทหารเองก็ตระหนักว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโตขึ้นทางปริมาณควบคู่กันไปกับความไร้สติของเผด็จการแบบนั้น ดังนั้น ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้พลเอกเปรมเป็นนายกฯ’ จึงเป็นภาพความจริงที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายรักษาสภาวะขณะนี้

สำหรับการต่อสู้ชิงชัย อำนาจ/ความจริงของฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้น แม้จะพยายามช่วงชิงประชาชนมาเช่นกัน แต่อาจเป็นเพราะการยึดถือตรรกะของความคิดของตนเองเกินไป ที่มองประชาชน ชาวไทยในลักษณะอุดมคติ และเคารพตรรกะประชาธิปไตยโดยให้เกียรติ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เป็นผู้เลือก โดยพยายามเน้นที่จะชิงชัยในคะแนนเสียงของประชาชนโดยไม่ดูถูกประชาชนและไม่มีคำตอบสำเร็จที่จะยัดเยียดให้ประชาชน แต่ขณะเดียวกันที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับบทบาทของตนเองในลักษณะผู้ด้อยปัญญา และต้องการเป็นผู้ถูกปกครองโดยนักปกครองที่ดีและสามารถมากกว่าจะเป็นผู้ปกครองตัวเอง ชอบเป็นผู้ถูกกำหนดมากกว่าที่จะลำบากลำบนคิดพิจารณาตัดสินใจอะไรที่เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน (อย่างภาวะปัจจุบัน) ประชาชนจึงเพิกเฉยไม่ลงความเห็นอะไรเด่นชัด ตรรกะของฝ่ายนี้แทนที่จะได้ประชาชนเพราะให้เกียรติเคารพประชาชน กลับเสียประชาชนไปเพราะไปโยนภาระรับผิดชอบให้ประชาชนซึ่งไม่ต้องการรับผิดชอบ

ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ในแง่นี้ อาจเป็น demagogue ได้ถ้าหากว่าการแสดงการให้เกียรติประชาชนนั้นมาจากเหตุผลที่ต้องการช่วงชิงอำนาจเท่านั้น โดยไม่พยายามที่จะตำหนิหรือวิจารณ์ในข้อเสียของประชาชน ซึ่งต่างจากการที่เคารพประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นรูปแบบการเมืองภายใต้เงื่อนไขการใช้อำนาจบนความถูกต้องมากกว่าการใช้อำนาจเพื่ออำนาจ แต่ดูเหมือนว่าการเอาใจยกย่องประชาชนของฝ่ายนี้จะใช้ไม่ได้ผลกับประชาชนชาวไทย การพยายามเป็น demagogue จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีความสามารถพอ การพยายามสำรวจจัดประชามติ (ชาวกรุงเทพฯ) ของฝ่ายนี้ที่ต้องการแสดงความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา ถ้าการพยายามสำรวจนั้นเกิดขึ้นด้วยภาวะปลอดความเห็นหรือคาดการณ์ใดๆ ก็นับว่าเป็นการสำรวจที่จริงใจ แต่ถ้าสำรวจเพราะเชื่อว่าผลสำรวจจะออกมาสนับสนุนความคิดที่จะปฏิเสธพลเอกเปรมของฝ่ายตน และจะได้ใช้ผลสำรวจดังกล่าวเข้าครอบครองความเชื่อของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริง/อำนาจ แล้วการสำรวจดังกล่าวก็จัดได้ว่าเป็นยุทธวิธีการสร้างความจริง/อำนาจ เพื่ออำนาจนั่นเอง

ฝ่ายรักษาสภาวะก็เช่นกัน มีลักษณะ demagogue อยู่ชัดเจน ถ้าการกระทำการต่างๆ เพื่อเอาใจประชาชนทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของเขา แต่เป็นการรักษาอำนาจของตนไว้เท่านั้น เพราะประชาชนมีอำนาจแบบไพร่ฟ้า (passive) และต้องการผู้ตัดสินใจให้ ไม่ต้องการทำอะไรเอง ฝ่ายรักษาสภาวะหรือ demagogue ก็ตามใจประชาชนที่ไม่รู้จักโตให้เป็นเด็กเสียคนต่อไป

ถ้าความจริงมีจริงและอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ก็ควรที่จะพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของการคงไว้หรือเปลี่ยนแปลงพลเอกเปรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าความจริงความถูกต้องของการเมืองไทยเป็นอย่างที่ฝ่ายรักษาสภาวะมองเห็น คือเป็นความจริงและความจำเป็นที่จะต้องมีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีที่จะทำให้รัฐบาลดำเนินงานไปได้ พลเอกเปรมก็เข้าข่ายทรราชในสมัยกรีกโบราณ*[2]

ที่เกิดจากความจำเป็นจริงๆ ที่รัฐภายใต้อภิชนาธิปไตยหรือประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ มีแต่สภาพเผด็จการหรือไม่ก็สภาพจลาจล ทรราชจึงเป็นเสมือนอัศวินม้าขาวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต่างจากการที่ประชาชนมีความพอใจเลือกขึ้นมาจากกลุ่มคนที่เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ปกครอง ซึ่งประชาชนสามารถเลือกคนที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด ถ้าความจริงคือความจำเป็น พลเอกเปรมก็เป็น ‘การเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้’

แต่ถ้าความจริงความถูกต้องอยู่ที่ฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลง ก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมความจริงความถูกต้องของฝ่ายนี้ คนส่วนใหญ่ถึงมองไม่เห็น? ทำให้คิดต่อไปได้ว่าความจริงความถูกต้องนั้นไม่มีอำนาจในตัวเองหรือ?

ดังนั้น จึงโยงมาถึงสมมุติฐานที่ว่าความจริงความถูกต้องนั้นอาจไม่มี และถ้ามีแต่ความจริงบนพื้นฐานแห่งอำนาจ-การครอบครองความเป็นเจ้าเท่านั้น สถานะของความถูกต้องของทั้งฝ่ายรักษาสภาวะและฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มี มีแต่ว่าผู้ที่มีอำนาจขณะนี้คือผู้ที่กุมความจริงเอาไว้ และขึ้นอยู่กับว่าการต่อสู้ทางการเมืองอันไม่สิ้นสุดนี้ ในช่วงเวลาใดใครจะเป็นเจ้า ในเงื่อนไขของอำนาจเพื่ออำนาจอันเป็นหลักทางการเมือง ไม่มีใครดีหรือเลว ไม่มีใครเป็นทรราช หรือ demagogue และไม่มีใครที่จะยืนอยู่บนความถูกต้อง มีแต่อำนาจ/ความจริงเท่านั้นที่เป็นสัจจะ

ระบบการเมืองขณะนี้เป็นกึ่งประชาธิปไตยหรือทรราชย์สมบูรณ์แบบกันแน่? คำถามนี้จะถามได้ในเงื่อนไขที่ว่า การเมืองมีความจริงความถูกต้องเป็นพื้นฐานของการใช้อำนาจหรือไม่

แต่ปัญหาสำคัญคือ ถ้าการเมืองนั้นไม่สามารถแยกออกชัดเจนได้ระหว่างความจริงบนพื้นฐานความถูกต้องกับความจริงบนพื้นฐานแห่งอำนาจ การเต้นไปตามจังหวะประชาธิปไตยที่มีอยู่ก็อาจเป็นกลไกอันหนึ่งที่ช่วยคงไว้ซึ่งระบอบทรราชย์ที่เป็นอยู่ เพราะนอกจากความเป็นจริงที่มีอยู่จริงแล้ว ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นในการรักษาสภาวะอำนาจก็มิอาจแยกจากกันได้เลย ขณะเดียวกันการเต้นตามจังหวะประชาธิปไตยก็อาจเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจของฝ่ายที่กำลังแสวงหาช่วงชิงอำนาจอยู่เช่นกัน ถ้าเช่นนั้น ดูเหมือนว่าท่านจะต้องเลือกเชื่อเงื่อนไขทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่บางทีในทางปฏิบัติท่านเลือกเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และถ้าท่านไม่เลือกและขอเป็นกลางก็ไม่พ้นที่มันจะเลือกท่านอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันจะเป็นภาพลวงตาหรือไม่ก็ตาม เสรีภาพที่ดูเหมือนว่ามีอยู่ขณะนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ ยิ่งหลากหลายก็ดี เข้าทำนองพหุนิยมประชาธิปไตยแท้ๆ เราท่านก็น่าจะฉวยจับเสรีภาพนี้ให้เป็นจริงขึ้น ถ้าจะลองเต้นไปตามลีลา จะลีลาใครนั้นท่านก็เลือกเอาเอง ซึ่งก็ดีกว่าให้เขาเลือกให้ไม่ใช่หรือ?

ส่วนผู้เขียนนั้นขอบอกว่า เขียนบทความนี้ด้วยความเป็นกลางทางการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความเป็นกลางทางการเมืองที่แตกต่างจากที่เพิ่งกล่าว เพราะเป็นกลางโดยการแสดงภาพทางการเมืองที่ปรากฏอยู่จริงขณะนี้ มิได้เข้าข้างฝ่ายใดหรือต่อต้านฝ่ายใด ไม่อ้างสถาบัน ไม่อ้างประชาชน ท่านเชื่อไหมว่าความเป็นกลางทางการเมืองมันมีจริง?!

ไชยันต์ ไชยพร

1 พ.ย. 2530
ลอนดอน


เชิงอรรถ

[1] ปี พ.ศ. 2529 นายวีระได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จนปี พ.ศ. 2531 และต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องโทษจำคุก 4 ปี ที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เมื่อจำคุกได้ประมาณหนึ่งเดือน ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยคำขอพระราชทานอภัยโทษ ลงนามเสนอโดยพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

[2] ทรราชในความหมายกรีกโบราณไม่จำเป็นต้องชั่วร้าย แต่เป็นผู้รักษาสถานการณ์รัฐให้สืบเนื่องต่อไป เพราะกลไกที่เคยมีอยู่ใช้การไม่ได้ ทรราชจึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงคั่นกลางระหว่างระบอบเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพกับระบอบใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น ปัญหาคือ ทรราชมักจะดำรงอยู่นานเกินระยะเวลาความจำเป็นของสถานการณ์ที่สร้างเขาขึ้นมาตอนต้น ความจำเป็นของสถานการณ์กับความต้องการอำนาจทะเยอทะยานส่วนตัวนั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน และไม่ใช่สิ่งปกติที่ผู้มีอำนาจเช่นนั้น (autocrat) จะลงจากตำแหน่งโดยสมัครใจ

หมายเหตุ

Michel Foucault บอกว่า “A stupid despot may constrain his slaves with iron chains, but a true politician binds them even more strongly by the chains of their own ideas… The link is all the stronger in that we do not know what it is made of” (Discipline and Punish)

“ผู้กดขี่ที่เบาปัญญาพันธนาการทาสด้วยโซ่เหล็ก แต่นักการเมืองที่แท้พันธนาการทาสของเขาอย่างแข็งแรงแน่นหนายิ่งกว่าด้วยโซ่ตรวนทางความคิด… ซึ่งพันธนาการอย่างนี้เป็นพันธนาการแห่งพันธนาการ เพราะเราเองไม่รู้สึกตัวว่ามันเป็นพันธนาการ”

 

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า