10 กุมภาพันธ์ 2512: เลื่อนแม่มึงสิ

 

  • รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้สถาบันทางการเมืองเป็นอัมพาต นอนป่วยติดเตียงอยู่กว่า 10 ปี
  • หลังยึดอำนาจมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น สั่งยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง บทบาทของพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุด
  • การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 กระทั่งถึงวันประกาศใช้ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รวมเวลาเกือบ 10 ปี เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่นานที่สุดในโลก
  • จากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 สังคมไทยต้องรอถึง 12 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
  • รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการรักษาอำนาจของคณะปฏิวัติตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์สู่ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

เซ็ตซีโร่แบบจอมพลสฤษดิ์

หลังรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้ง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร แต่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จ ก็ต้องรอถึง 10 ปี 

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นประกอบด้วยทหารและข้าราชการ ประธานสภาคนแรกชื่อ พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร นายทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ รัฐบาลประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียง 20 มาตรา ธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยเฉพาะ ‘มาตรา 17’ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันทีแล้วจึงแจ้งต่อสภาฯ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 อย่างเคร่งครัด

มาตรา 17 ถูกใช้ควบคุมสถานการณ์ของประเทศในเวลานั้น ประหารชีวิตบุคคลน่าสงสัยก่อความไม่สงบหรือข้อหาคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์เหล่านี้กดดันประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาล หลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตลอดทศวรรษที่ 2500 คือเทศกาลลบความทรงจำครั้งใหญ่ของรัฐไทย การจับกุมนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และกรรมกร ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ปิดร้านหนังสือและยึดค้นหนังสือที่มีเนื้อหาแนวสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 มาแล้วที่รัฐไทยไม่เปิดโอกาสให้มีแนวคิดที่สร้างความเข้าใจและโลกทัศน์ทางการเมืองที่โต้แย้งกับแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม

 

เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีก 10 ปี

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะปฏิวัติ นโยบายที่จอมพลถนอมนำเสนอต่อสังคมคือ ‘เร่งร่างรัฐธรรมนูญ’ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากจอมพลสฤษดิ์ผู้วายชนม์ สภาร่างรัฐธรรมนูญคือมรดกตกทอดจากจอมพลสฤษดิ์สู่จอมพลถนอม สภาร่างรัฐธรรมนูญในยุคของจอมพลถนอมเป็นสภาที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ ชัดเจนว่าเป็นสภาของคณะปฏิวัติ

ระหว่างที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เสียงทวงถามถึงรัฐธรรมนูญดังมาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชนเป็นระยะ จอมพลถนอมถูกวิจารณ์ว่า “ไม่เร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญ” และ “ไม่ประหยัดเพราะต้องจ่ายเงินเดือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายาวนาน”

ในปี พ.ศ. 2510 หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยฉบับวันที่ 2 มกราคม พาดหัวหน้าหนึ่งว่า

“ในปีใหม่นี้ ราษฎรขอรัฐบาลบ้าง รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งด่วนที่สุด”

แม้ว่ากฎหมายที่พิจารณาผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายอยู่ที่ระหว่างฉบับละ 2.0 นาที – 7.50 นาที มีครั้งเดียวที่เฉลี่ยใช้เวลาถึง 35 นาทีต่อฉบับ แต่ก็ต้องรอรัฐธรรมนูญจนถึง พ.ศ. 2511 จากจุดเริ่มร่าง ณ พ.ศ. 2502 ระหว่างที่จอมพลถนอมอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะปฏิวัติ เขายืนยันกับสังคมไทยมาตลอดว่า “เร่งร่างรัฐธรรมนูญ” วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จอมพลถนอมยืนยันกับหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยถึงความตั้งใจ ‘เร่งร่างรัฐธรรมนูญ’ กระทั่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 รัฐธรรมนูญก็ยังไม่แล้วเสร็จ

 

 

จอมพลถนอมยืนยันเร่งร่างรัฐธรรมนูญ

12 ธันวาคม พ.ศ. 2506

 

จอมพลถนอม “อยากให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็ว” ทั้ง “ต้องการประกาศใช้ได้ภายในปีนี้”

4 มิถุนายน พ.ศ. 2507

 

จอมพลถนอม “ยืนยันรัฐธรรมนูญคลอดแน่” จะเร่งให้ออกเร็วที่สุดที่จะทำได้
แต่ “ถ้าคอมมิวนิสต์รุกเข้ามาใกล้ชายแดนมาก ก็อาจจะกระทบกระเทือน ทำให้รัฐธรรมนูญต้องชะงักลงชั่วคราว”

23 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

 

พลเอกประภาสยัน “ต้องการรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับเมืองไทย”

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2508

 

“เมื่อรัฐธรรมนูญออกแล้วจะกลับไปเป็นทหารตามเดิม เว้นแต่ประชาชนจะเรียกร้องให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็ยินดีเสียสละเพื่อชาติ

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

 

พลเอกประภาสยืนยัน “รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งมีแน่ ถ้าไม่มีก็เป็นคอมมิวนิสต์เท่านั้น”

6 มีนาคม พ.ศ. 2509

 

พลเอกประภาสว่า “รัฐธรรมนูญยังไม่ควรออก และไม่ควรจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในเมื่อบ้านเมืองยังยุ่งอยู่ เพราะพวกคอมมิวนิสต์ยังอยู่ กลัวว่าเลือกตั้งแล้วจะกลายเป็นเมืองขึ้นของจีนแดงไป”

30 มิถุนายน พ.ศ. 2509

 

จอมพลถนอม “น้อยใจถูกหาว่าเป็นเผด็จการ” และ “ประวิงรัฐธรรมนูญให้ล่าช้า”

11 เมษายน พ.ศ. 2510

 

พลเอกประภาสว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไหนๆ ช้าที่สุดในโลกแล้ว ก็ให้ช้าต่อไป จะทำยังไงได้ เวลานี้ก็ไม่เห็นอดอยากปากแห้งอะไรนี่”

1 มิถุนายน พ.ศ. 2510

 

พลเอกประภาสว่า ใช้รัฐธรรมนูญวันเฉลิมพระชนม์พรรษา “ไม่เหมาะสม เพราะวันนั้นมีงานพิธีต่างๆ มาก”

5 ตุลาคม พ.ศ. 2510

 

จอมพลถนอม “จะให้ใช้รัฐธรรมนูญเมษานี้”

19 มกราคม พ.ศ. 2511

 

จอมพลถนอมว่า “อาจจะยึดการเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น”

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511

 

ช้าๆ ได้พร้าเล่มเดิม

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 กระทั่งถึงวันประกาศใช้ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รวมเวลาเกือบ 10 ปี เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่นานที่สุดในโลก

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง บทบาททางการเมืองของ จอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516 ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญมีความหมายสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของ จอมพลถนอม กิตติขจร สองประการ ประการแรกคือการเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับการบริหารของรัฐบาลถนอมในระยะ 5 ปีแรกในการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นิติบัญญัติ (2502-2506) ประการที่สองคือเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้อย่างยาวนานที่สุด โดยการที่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ช้าที่สุด

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวกับสำนักข่าว Voice TV เมื่อปี 2560 ถึงงานวิจัยที่ตั้งคำถามกับกลไกการรักษาอำนาจของรัฐทหารผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 ว่า ทำไมคณะทหารจึงใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนวิทยนิพนธ์ชิ้นนี้ บอกว่า “วิธีการง่ายๆ คือบอกว่า ถ้าอยากได้รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องใจเย็นๆ ผ่านไปกี่ปีก็บอกเดี๋ยวเสร็จปีหน้า ทุกคนก็ยอม เพราะเป็นความหวัง พอปีหน้าไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็ 10 ปีแล้ว”

อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างผู้ร้าย ถ้าพูดใน พ.ศ.นี้ก็ต้องบอกว่า “สร้างผีขึ้นมาสักตน”

ต้องมีผู้ร้ายอยู่ 1 คน ผู้ร้ายในช่วงนี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎร ผู้สร้างประชาธิปไตยให้สังคมไทย ตอนนั้นลี้ภัยไปอยู่จีน ซึ่งจีนเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่รัฐบาลไทยใช้เป็นข้ออ้างปราบปรามทำลายคอมมิวนิสต์ เพราะอุดมการณ์ของทหารตอนนั้นคือต่อสู้คอมมิวนิสต์ เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

 

อนาคตเก่าในสังคมใหม่

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ปีที่ 9 พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2511 นายทวี บุณยเกตุ รองประธานสภาจึงขึ้นเป็นประธานสภาแทน กระทั่งวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ประกาศใช้ใน แต่กว่า 10 ปีที่รอคอย กลับได้เพียงรัฐธรรมนูญที่คัดลอกมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2492 ดังที่ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ นักการเมืองที่มอนิเตอร์การจัดทำรัฐธรรมนูญ บอกว่า  “คัดลอกมาแทบจะคำต่อคำ”

กลับกลายเป็นว่าทหารใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจตนไว้อย่างยาวนาน เพราะโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วุฒิสภาจะเป็นฐานสนับสนุนของรัฐบาลที่เข้มแข็ง ข้าราชการทหารและพลเรือนคือสมาชิกส่วนใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา 

นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 ยังมีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511 รัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 คือการไม่ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกและหรือกรรมการฝ่ายบริหารพรรคการเมือง เปิดทางให้จอมพลถนอมและเครือข่ายคณะปฏิวัติจัดตั้งพรรคการเมืองของตนได้

‘พรรคสหประชาไทย’ ได้จดทะเบียนก่อตั้งพรรคการเมือง เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลโดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเป็นหัวหน้าพรรค การจัดตั้งพรรคสหประชาไทยเป็นการจัดตั้งพรรคโดยคณะทหารที่คุมอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น เพื่อหวังผลการเลือกตั้งและสร้างฐานเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร พยายามดึงประชาชนและข้าราชการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค

โครงสร้างของพรรคสหประชาไทยประกอบด้วย

กลุ่มผู้มีอำนาจเก่า เป็นกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่เคยมีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 และอยู่ในฐานะผู้นำทางทหาร คนกลุ่มนี้นอกจากจะเคยร่วมมือทางการเมือง ยังเป็นเครือญาติกันด้วย ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พลตำรวจตรีสง่า กิตติขจร

กลุ่มนายทหารและข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชา กลุ่มนายทหารและข้าราชการที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปภัมภ์ในแบบเจ้านายกับลูกน้องกับผู้นำในกลุ่มแรก เป็นทหารฝ่ายกุมกำลังและให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำกลุ่มแรก ได้แก่ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์, พลเอกกฤษณ์ สีวะรา, พลโทแสวง เสนาณรงค์ เป็นต้น

นักการเมืองพลเรือน อดีต ส.ส. และนักการเมืองพลเรือนที่เคยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคสิลา สหภูมิ และชาติสังคม ซึ่งล้วนเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้นำทหารเพื่อสนับสนุนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำทางทหารคนสำคัญ ได้แก่ วิมพ์ วิมลมาลย์, สมบูรณ์ บัณฑิต เป็นต้น

นักการเมืองหน้าใหม่ กลุ่มนักการเมืองหน้าใหม่ อดีตข้าราชการและนักธุรกิจ เป็นผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น ได้แก่ ปรีดา พัฒนถาบุตร, ปัญจะ เกสรทอง เป็นต้น

นักการเมืองอิสระ เป็นนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับนายทหารคนสำคัญในคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2501 เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ได้แก่ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นต้น

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่เป็นแคนดิเดต คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้คนตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งมาอย่างยาวนานถึง 12 ปี

พรรคใหม่ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งมากที่สุดคือพรรคสหประชาไทย ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 220 คน มากกว่าจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ที่มีอยู่ 219 คน

สหประชาไทยใช้กลไกระบบข้าราชการเพื่อชัยชนะจากการเลือกตั้ง เช่น พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ในฐานะประธานอำนวยการหาเสียงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เฮลิคอปเตอร์เดินทางไปหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรค ในแต่ละพื้นที่จะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ กางเต็นท์ต้อนรับอยู่ นอกจากนี้ยังมีหนังสือเรียกทหารกองหนุนที่ปลดประจำการแล้วมาฟังคำปราศรัย

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2511 นิสิตนักศึกษาจาก 11 สถาบัน ร่วมจัดตั้ง ‘กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง’ เป้าหมายเพื่อที่จะสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 มีการอบรมนักศึกษาอาสาสมัครนับพันคนแล้วส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้งทั่วไปในวันเลือกตั้ง

แต่จอมพลถนอมเห็นว่า “นิสิตนักศึกษาไม่ควรทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองในเวลานี้ ซึ่งรวมถึงการห้ามปรามกลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง ด้วยเหตุผล “นักศึกษาไม่ควรยุ่งการเมือง”

 

อัสดงของคณะจอมพล

ผลการเลือกตั้งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พรรคสหประชาไทยที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง ได้ ส.ส. ทั้งหมด 74 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. ทั้งหมด 55 คน

ผลการเลือกตั้งไม่ปรากฏว่ามีพรรคใดได้เสียงข้างมากที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งเท่ากับ 110 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเข้ามามากถึง 70 คน แต่พรรคสหประชาไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรค และสมาชิกที่แปรพักตร์มาให้การสนับสนุน

กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง สามารถรายงานผลการเลือกตั้งจาก 998 หน่วยของเขตพระนคร และ 368 หน่วยของเขตธนบุรีได้ในเช้าวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พวกเขารายงานว่า ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกทั้งหมด 21 ที่นั่งในสองเขต โดยมีผู้สมัครจากพรรคสหประชาไทยตามมาเป็นอันดับ 2 กระทรวงมหาดไทยวิจารณ์ว่า “การนับคะแนนของกลุ่มนิสิตเชื่อถือไม่ได้”

มีการนำเสนอพฤติกรรมการทุจริตทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง แต่เมื่ออำนาจในการจัดการเลือกตั้งอยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย ระเบียบที่เปิดช่องทางให้ร้องเรียนไปจนถึงขั้นตอนการจัดการคำร้องเรียนจึงถูกปิดกั้น ทำให้การร้องเรียนต่างๆ ไม่ได้รับความสนใจ ปัญหาการเลือกตั้งสกปรกจึงไม่ขยายเป็นปัญหาทางการเมืองเหมือนการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่ประชาชนออกมาต่อต้านผลการเลือกตั้งที่พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 1

ในหนังสือ มหาวิทยาลัยชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้บันทึกว่า เขาสมัครเป็นนักศึกษาเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 การเป็นอาสาสมัครในครั้งนั้นสอนให้เขารู้จักบทเรียนแรกของประชาธิปไตยในสังคมไทย เมื่อนายทหารใช้วิธีเวียนเทียนกันเข้าคูหา หน้าเดิมแต่กาหลายรอบ ทำให้เขายื่นใบประท้วงด้วยกระดาษและวาจา

ผลสุดท้าย เสกสรรค์และเพื่อนนักศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ต้องวิ่งนำหน้าก้อนอิฐที่ปลิวตามหลัง

ขณะที่สถานการณ์ในรัฐสภาก็เป็นไปด้วยการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของ ส.ส. ทั้งในพรรคสหประชาไทย และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2515 ทำให้จอมพลถนอมแก้ปัญหาด้วยทำการรัฐประหารตนเองใน วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

หลังการรัฐประหาร มีการประกาศใช้ ‘ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร’ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ทว่าอีก 10 เดือนต่อมา จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ก็สิ้นอำนาจทางการเมืองที่ดำรงมาอย่างยาวนาน และกลายเป็น ‘สามทรราช’ ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

Bonus track: ล้วงข้องปลา

การแจกเงินเพื่อซื้อเสียงเริ่มเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2500 นายฮ้อยผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นผู้นำเงินใส่ข้องปลาไปแจกชาวบ้านในอัตราคนละ 1 บาท แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 นักธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดทางภาคอีสาน การแจกเงินก็ดำเนินไปแบบเกมการพนัน โดยนำเหรียญใส่ข้องปลา ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งล้วงหยิบเหรียญจากข้องปลาเอง ซึ่งจะได้ครั้งละ 2-5 บาท สำหรับผู้สมัครท้องถิ่นนิยมแจกเข็มกลัด ยาแก้ปวด หมากพลู บุหรี่

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก:

  • ระบบพรรคการเมืองไทย พ.ศ. 2512-2534 โดย เสนีย์ คำสุข
  • บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516 โดย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
  • สถาบันพระปกเกล้า
  • voicetv.co.th
  • wewatchthailand.org

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า