ศรีไพร นนทรีย์: สิทธิแรงงานกับกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิรูป

‘People’s Policy’ ชวนดูข้อ #เลือกตั้ง66 จากหลายกลุ่มในสังคม เพื่อส่งเสียงของประชาชนไปให้ถึงพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้

ศาลแรงงานในอดีตเคยมีทุกจังหวัด ปัจจุบันกลับถูกแยกออกไปเหลือเพียงภาคละศาล การฟ้องร้องที่ยาวนานที่สุดใช้เวลานานถึง 9 ปี คดีส่วนใหญ่มักจบลงที่การไกล่เกลี่ย เพราะแรงงานไม่รู้กฎหมายหรือไม่มีก็ค่าใช้จ่ายที่สูงจนสู้ไม่ไหว เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ซ้ำร้ายศาลแรงงานยังใช้ดุลยพินิจตัดสินคดีความมากกว่าพิจารณาที่ตัวบทกฎหมาย

“ศาลแรงงานควรตัดสินตามข้อกฎหมาย ไม่ใช่แค่อาศัยดุลยพินิจ ไม่อย่างนั้นเราจะมีกฎหมายแรงงานทำไม และไม่ใช่แค่ศาลแรงงานเท่านั้น ยังมีการใช้ดุลยพินิจกับกรณีอื่นๆ เต็มไปหมด”

จากปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานที่นับวันก็ยิ่งหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่การพูดคุยกับ ศรีไพร นนทรีย์ นักสู้ในขบวนการแรงงาน นักจัดตั้งของกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง เพื่อสำรวจชีพจรของขบวนการแรงงานในปัจจุบัน ปัญหาของกระบวนการศาลแรงงานที่สมควรถูกปฏิรูป และข้อเสนอเชิงนโยบายที่อยากส่งเสียงให้แต่ละพรรคการเมืองหันให้ความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังใกล้เข้ามา

“พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หากรัฐบาลไทยยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 กับฉบับที่ 98 (สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง) กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ต้องมีแล้ว ฉีกทิ้งไปเลยก็ได้ มันมีไว้เพื่อควบคุมแรงงานโดยเฉพาะ แต่ไม่ได้ควบคุมนายจ้างเลย”

ทุกวันนี้จำนวนผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยมีมากกว่า 30 ล้านคน หลายอาชีพ หลายเชื้อชาติ ทว่าปัญหาสำคัญกลับวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือความอยุติธรรมและการถูกกดขี่ หากมีการผลักดันให้ประเด็นปัญหาของเหล่าแรงงานเข้าไปสู่นโยบายของพรรคการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม จึงอาจจะเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะชี้ชะตาของผู้คนนับล้านๆ ให้กลับมามีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม

จากการต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่อายุ 17 อยากทราบว่าข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานในอดีตจนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องใหม่ๆ บ้าง เช่น ประเด็นรัฐสวัสดิการ แต่เรื่องที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือ ประเด็นค่าจ้าง

ในอดีตเราเริ่มต้นทำงานด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่ 45 บาท/วัน ช่วงนั้นค่าจ้างดูน้อย แต่เราก็พอจะจ่ายค่าเช่าบ้านได้ มีเงินออม มีเงินซื้ออาหารกินได้ ตอนนี้ดูเหมือนค่าจ้างเพิ่มขึ้นมาก็จริง แต่แรงงานมีเงินพอแค่ใช้หนี้เท่านั้น จนรู้สึกได้ว่าเงินในมือหายไปเยอะมาก ค่าครองชีพพุ่งสูง แต่ค่าจ้างขึ้นไม่ทัน

ปัญหานี้ส่งผลกับลูกจ้างทุกส่วน รวมถึงเรื่องการจ้างงานแรงงานแพลตฟอร์ม พนักงานไรเดอร์ ที่ได้ค่าจ้างต่อเที่ยวในราคาถูก ต่อให้วิ่งได้หลายเที่ยวก็ยังถูกหักอีก 

นอกจากปัญหาหลักที่แรงงานทุกประเภทต้องเจอคือประเด็นค่าจ้าง ทุกวันนี้ยังต้องเจอปัญหาอื่นใดอีกบ้าง

ปัญหาที่แตกต่างไปจากอดีตคือ รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ทำให้คนงานมีอำนาจต่อรองได้ยากมากขึ้น 

ถ้าเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม พนักงานไรเดอร์ พวกนี้หานายจ้างไม่เจอเลย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีนายจ้างนะ มันคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้พวกเขาถูกเรียกว่าเป็น ‘หุ้นส่วนทางธุรกิจ’ แทนที่จะถูกนิยามเป็น ‘ลูกจ้าง’ จนไม่สามารถเรียกร้องใดๆ กับเจ้าของแพลตฟอร์มได้

ส่วนลูกจ้างรูปแบบเดิม อย่างในหลายโรงงานที่มีพนักงานประมาณ 10,000 คน เดิมทีจะมีนายจ้างคนเดียว แต่ตอนนี้แยกย่อยออกมาเป็นหลายแผนกประหนึ่งมีหลายบริษัท จนทำให้ลูกจ้างที่อยู่คนละแผนกกัน ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพใหญ่ได้ เพราะแต่ละแผนกจดทะเบียนคนละแบบแม้จะอยู่ในรั้วเดียวกัน

แนวโน้มตอนนี้ ถ้าขบวนการแรงงานยังอ่อนแออยู่ ไม่พูดเรื่องสิทธิตนเองให้มากขึ้น พนักงานโรงงานก็อาจจะถูกปรับการทำงานให้ใกล้เคียงกับแรงงานแพลตฟอร์ม เวลาจะเข้าทำงานก็ต้องเข้าผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว

อีกหนึ่งปัญหาใหม่ โดยเฉพาะในสายแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ เริ่มมีการให้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนแรงงานมากขึ้น โรงงานยานยนต์บางแห่งแถวรังสิตเคยจ้างแรงงานประมาณ 200 คน ตอนนี้จ้างแค่ 20 คน คือลดจำนวนคนลงมหาศาล 

ตอนนี้ต่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบอกว่า ลูกจ้างต้องได้ค่าจ้างเท่านั้นเท่านี้ แต่นายจ้างก็มักอ้างว่า ต้องให้ลูกจ้างผ่านการอบรมเสียก่อน เมื่อผ่านการอบรมแล้วค่าจ้างก็จะสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงคือ นายจ้างไม่ส่งลูกจ้างไปอบรม เพราะต้องการจ้างแรงงานในราคาถูก แต่มีความสามารถเฉพาะทางแบบนี้เหมือนเดิม

หมายความว่า เมื่อเทียบกับในอดีตแล้ว อำนาจต่อรองของแรงงานก็ยิ่งน้อยลงใช่ไหม

น้อยลง ร่วมสิบปีก่อนสภาประเทศเกาหลีมีการประชุมครั้งใหญ่ ได้ข้อสรุปว่าอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า สหภาพแรงงานทั่วโลกจะต้องสูญหายไป เนื่องจากรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงจะสร้างความยากลำบากในการรวมตัวกันมากขึ้น

ทางฝั่งประเทศไทย หากรัฐบาลไทยไม่ให้การยอมรับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง โอกาสที่แรงงานแพลตฟอร์มหรือแรงงานอื่นๆ จะได้รับการยอมรับก็เกิดขึ้นยาก แม้แต่ข้าราชการก็ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้เหมือนในประเทศกลุ่มยุโรป ลูกจ้างชั่วคราวที่ถูกจ้างในระบบราชการก็กินสวัสดิการแบบข้าราชการไม่ได้ จะไปเอาประกันสังคมแบบเอกชนก็ไม่ได้ ช่องทางฟ้องร้องก็ไม่มี

เคยเจอกรณีลูกจ้างคนหนึ่งทำงานอยู่สำนักงานวัฒนธรรมทางภาคเหนือ ปรากฏว่าเขาทำงานเหมือนลูกจ้างเอกชน เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น แล้วต้องทำงานนอกเวลา (OT) ต่อในช่วงที่สำนักงานวัฒนธรรมจัดงาน แต่เขากลับไม่ได้ค่าทำงานล่วงเวลาเหมือนลูกจ้างเอกชน เนี่ย แบบนี้จะทำยังไง

ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ หนึ่ง-ได้ค่าจ้างต่ำ สอง-ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้เงิน พอเงินไม่พอก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา พอก่อหนี้แล้วก็ต้องรับงานให้มากขึ้นจนดึกดื่น คือรับงานหนักอีก

ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ ทำไมแรงงานบางกลุ่มถึงยังไม่เข้าร่วมขบวนการแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง

เอาเข้าจริง พอแรงงานได้ค่าจ้างต่ำ ก็บีบให้ต้องทำ OT เยอะขึ้น เวลาและโอกาสที่จะไปศึกษาหาความรู้หรือเกิดการรวมตัวกันก็แทบไม่มีแล้ว

รูปแบบการจ้างงานสมัยนี้ก็ปรับใหม่ เดิมทีลูกจ้างทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน คือวันอาทิตย์ ตอนนี้บางคนต้องทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน บ้างก็ทำงาน 5 วัน หยุด 1 วัน การที่มีวันหยุดไม่ตรงกัน ทำให้พวกเขาเจอกันได้ยากขึ้น 

ถ้าพูดอีกด้าน สำหรับแรงงานที่แต่งงานมีครอบครัว พอมีลูกแล้วก็ต้องขยันมากขึ้น ต้องหาเงินมาดูแลลูก แล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอ ไม่ใช่ว่ามี 30 บาทรักษาทุกโรคแล้วจะไม่ต้องจ่ายอะไรอีก คือนอกจากจะเอาเวลาไปหาเงินดูแลครอบครัวก็ยากแล้ว จะหาเวลาที่ไหนมารวมตัวกันได้อีก

ภาพรวมของขบวนการสหภาพแรงงานปัจจุบันนี้มีความเป็นปึกแผ่นกันแค่ไหน

ความเป็นปึกแผ่นหายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2534 แล้ว เพราะการรัฐประหารของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) พวกเขาใช้กฎหมายแบ่งแยกแรงงานออกจากกัน กลายเป็นแรงงานรัฐวิสาหกิจกับลูกจ้างเอกชน อำนาจการต่อรองเลยมีน้อยลง

ถ้าเป็นเมื่อก่อนแรงงานจะมีอำนาจต่อรองมาก เพราะสามารถนัดหยุดงาน ตัดน้ำ ตัดไฟ หรือหยุดการขนส่งสาธารณะได้ รัฐบาลเลยกลัว พอถูกแยกออกจากกันก็เลยกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงยุคแบ่งสีเสื้อ ลูกจ้างในยุคนั้นก็มีหลายคนที่อยากเข้าไปเล่นการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จนหลายคนกลายเป็นเครื่องมือให้กับผู้นำการเมือง 

ในอดีตขบวนการแรงงานมีการกำหนดทิศทางการต่อสู้ในทุกๆ ปี การวางแผนในยุคก่อนหน้านี้จะระบุเลยว่า แต่ละเดือนเราจะเคลื่อนไหวอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่การออกมารวมตัวเฉพาะวันที่ 8 มีนาคม วันกรรมกรสากล เราคุยกันตลอดทุกเย็น ว่าเราจะหาสมาชิกเพิ่มอย่างไร หารถบัสขนคนอย่างไร มีการวางแผนร่วมกันเป็นขบวน แต่ทุกวันนี้ความเป็นขบวนมันหายไป

บางสายเขาไปเชียร์รัฐประหาร ก็ไปสร้างขบวนอีกแบบ จนทำให้กลับมาเรียกร้องในประเด็นเดียวกันกับสายอื่นไม่ได้ เช่น เราเรียกร้องให้ไทยยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 กับฉบับที่ 98 แต่เราเคลื่อนไหวร่วมกันไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้ผลักดันแค่ประเด็นเดียว พอเราไปเคลื่อนร่วมกัน แล้วเราชูป้ายเรียกร้องการเลือกตั้ง เขาก็จะไปเรียกตำรวจมาจับเรา

แบบนี้จะทำอย่างไรให้สังคมหันมาสนใจความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานมากขึ้น

ส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหาว่าจะทำงานร่วมกับใคร อย่างปัญหาค่าจ้าง เราทุกคนควรออกมาพูดอย่างต่อเนื่องว่าควรได้เท่าไร พวกเราควรออกมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ บำนาญผู้สูงอายุ หรือเรื่องอื่นๆ ให้เป็นเสียงเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ตอนนี้ใกล้การเลือกตั้ง แรงงานยังไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง ยกเว้นพรรคสามัญชน ซึ่งยังไม่สามารถไปได้ไกลกว่า ณ ขณะนี้แล้ว อันนี้ก็เป็นการบ้านที่เราต้องทำต่อ แต่เราต้องช่วยกันผลักดันปัญหาของแรงงานให้พรรคการเมืองอื่นๆ บรรจุเป็นนโยบาย เป็นคำสัญญาว่าเขาจะทำ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังกับพรรคพลังประชารัฐนะ เพราะแค่เรื่องค่าจ้างเขายังทำไม่ได้เลย

ตอนนี้แรงงานสายรัฐวิสาหกิจก็ไปทำงานพรรคของเขา น่าจะพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ส่วนแรงงานฝั่งประชาธิปไตยก็มีคนไปเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยบ้าง พรรคก้าวไกลบ้าง แต่ส่วนตัวเราไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไหนนะ เพราะคิดว่าถ้าเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วไปวิจารณ์พรรคอื่น อาจจะโดนคนงานคนอื่นๆ มองว่าเลือกข้าง

ที่ผ่านมาคุณเน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงานมาตลอด เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร

ในอดีตมีศาลแรงงานแค่ที่หัวลำโพง เพราะโรงงานมีไม่เยอะ แต่พอมีคดีมากเข้าก็ขยายศาลไปตามแต่ละจังหวัด พอมาถึงยุคหนึ่งก็เปลี่ยนจากการมีศาลแรงงานทุกจังหวัดเหลือแค่ระดับภาค ใครอยู่จังหวัดสุพรรณบุรีก็ต้องไปขึ้นศาลที่กาญจนบุรี ใครอยู่จังหวัดสมุทรปราการก็ต้องไปขึ้นศาลที่อยุธยา ส่วนแรงงานที่จังหวัดปทุมธานีก็ต้องเดินทางไปถึงสระบุรี ซึ่งไม่มีความสะดวกเลยที่แรงงานจะเดินทางไปฟ้องศาล

พอไปเขียนคำฟ้องก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับคำตัดสินวันนั้นแล้วจะได้รับเงินเยียวยาเลย ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งแถวหลักสี่ไปขึ้นศาลเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ศาลนัดอีกทีปีหน้า แถมยังนัดที่ศาลจังหวัดสระบุรีซึ่งตั้งอยู่บริเวณเส้นเลี่ยงเมืองอีก นานๆ จะมีรถผ่านไปแถวนั้น ถ้าลูกจ้างไม่มีรถส่วนตัวก็ยากมากที่จะไปได้บ่อยๆ

การจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย แทนที่ไปถึงศาลแล้วผู้พิพากษาจะนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเลย ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อน ส่วนมากที่รู้มาจากผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง กระบวนการไกล่เกลี่ยที่ว่านี้มักจะไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างได้รับการชดเชยน้อยกว่าสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างคนหนึ่งอยู่สระบุรีในงานสายเครื่องสุขภัณฑ์ เขาถูกนายจ้างเรียกร้องให้ต้องรับผิดชอบความเสียหายของบริษัท มูลค่าความเสียหายเกือบ 100,000 บาท ซึ่งกรณีนี้ลูกจ้างไม่ได้ผิดอะไร หากเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดียังไงลูกจ้างก็ชนะ ปรากฏว่าพอเราเผลอลงมาปรึกษาทนายข้างล่างศาลแป๊บเดียว ข้างบนไม่รู้ไกล่เกลี่ยกันยังไงในห้องพิจารณาคดี ลูกจ้างดันไปเซ็นยอมรับหนี้สินหลายหมื่นทั้งที่ตนเองไม่ได้ก่อจนต้องตกงาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้น่าเสียใจมาก 

ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในการตัดสินคดีแรงงานได้ไหม และการใช้อำนาจเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อแรงงานบ้างไหม

ส่วนมากคนที่ได้ประโยชน์จากกรณีแบบนี้ก็คือนายจ้าง ทั้งที่ข้อกฎหมายมันมีอยู่แล้ว กฎหมายแรงงานก็มี ศาลแรงงานก็มี เราควรตัดสินตามข้อกฎหมาย ไม่ใช่อาศัยดุลยพินิจของศาล ไม่อย่างนั้นเราจะมีกฎหมายแรงงานทำไม และไม่ใช่แค่ศาลแรงงานเท่านั้น ยังมีการใช้ดุลยพินิจกับกรณีอื่นๆ เต็มไปหมด

การต่อสู้ในศาลมักใช้เวลานาน กรณีคดีแรงงานที่นานที่สุดใช้เวลาประมาณกี่ปี

เคยเจอกรณีลูกจ้างทำงานเครื่องประดับ ฟ้องกันจนถึงชั้นศาลฎีกานาน 9 ปี จริงๆ อาจจะมีอีกหลายกรณีที่นานกว่านี้ 

กรณีที่ว่านี้คือ ประธานสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างอ้างว่า ลูกจ้างใส่เครื่องประดับเข้าที่ทำงาน เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบบริษัท ประธานสหภาพคนนี้ใส่เชือกร่มแขวนพระเข้าบริษัท บริษัทก็จ้องจะเล่นงานเขาอยู่แล้ว เพราะมีความคิดด้านสหภาพแรงงานจึงเลิกจ้างเขาเสียเลย

ฟ้องร้องกันยาวนานแบบนี้ มีบ้างไหมที่ลูกจ้างเสียชีวิตก่อนได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย

มี บ่อยมากด้วย แต่ถ้าหากผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องเสียชีวิต บุตรโดยชอบธรรมทางกฎหมายสามารถมารับเรื่องต่อได้ตามกระบวนการ 

การเข้าสู่กระบวนการศาลต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

เวลาฟ้องร้องกัน นั่นหมายถึงการถูกเลิกจ้าง ถ้าคิดจะสู้คดีก็ต้องหาเงินมาสู้ ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บอยู่แล้ว มีแต่หนี้ ก็ต้องหาเงินเพื่อจะเดินทางไปศาล

ถ้าเขาไปหางานใหม่ก็จะมีปัญหาตามมาอีก เพราะต้องมีช่วงทดลองงาน 120 วัน ถ้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวหยุดงานไป เขาก็ต้องตกงานจากงานใหม่ทันที ตรงนี้เป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน นี่คือสาเหตุว่าทำไมลูกจ้างถึงไม่ค่อยไปฟ้องศาลแรงงานมากนัก

มีวิธีลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมบ้างไหม

เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องที่พูดถึงไปแล้วในเวทีเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ‘ข้อเสนอนโยบายจากเครือข่ายแรงงานถึงพรรคการเมือง ขอขึ้นค่าจ้าง เพิ่มคุณภาพชีวิต เคารพสิทธิความเป็นคน’)

เราอยากเสนอว่า ถ้าลูกจ้างจะฟ้องร้อง สามารถเขียนใบฟ้องร้องหรือพิจารณาคดีผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไหม เพราะนี่ยุค 4.0 กันแล้ว ในช่วงโควิด-19 คดีอาญาผู้พิพากษาก็ใช้ระบบออนไลน์กันแล้ว ทั้งที่ห่างกันแค่เพียงอาคารชั้น 1 กับอาคารชั้น 2 ซึ่งศาลแรงงานก็ควรออนไลน์ได้ เพราะห่างกันเป็นจังหวัด

ความจริงก็อยากผลักดันไอเดียนี้ แต่ตอนนี้เราพยายามเอาศาลแรงงานกลับมาประจำทุกจังหวัดให้ได้ก่อน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง เพิ่งไปยื่นหนังสือเรื่องนี้ต่อประธานศาลฎีกา แต่ยังไม่มีการตอบกลับใดๆ จนปัจจุบัน

ที่ผ่านมาแรงงานได้รับความคุ้มครองแค่ไหนระหว่างต่อสู้คดี

ไม่ดีเลย เวลาเราเข้าศาลยังรู้สึกเหมือนโดนดูถูกอยู่ มีครั้งหนึ่งเคยไปสู้คดี เจอผู้พิพากษาฝ่ายลูกจ้างบอกเราว่า รับๆ ไปเถอะเงินชดเชยน่ะ เพราะนายจ้างอยากให้เราออก เขาบอกว่าเราอยากได้เงินเท่าไรก็บอกมา แล้วยังบอกอีกว่า “ตอนพี่วัยเดียวกับเรา พี่ก็ไฟแรงแบบน้องแหละ ตอนนี้รับเงินไปเถอะ แล้วเอาไปเรียนต่อซะเพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องกลับมาอีก” 

เขาจะรุมเราแบบนี้ ต่อให้เรายืนยันว่าให้พิจารณาคดีตามปกติก็เถอะ บางครั้งเขาถึงกับตั้งคำถามกับเรา แต่พอเราอ้าปากจะตอบ เขาก็ตวาดว่าไม่ได้ถาม จะพูดทำไม เราถูกตวาดตลอดเหมือนไม่ใช่คน บางคนถูกดุตลอดตั้งแต่เจอหน้านิติกร 

ในอดีตเราก็ไม่กล้า เพราะถูกบอกมาตลอดว่า จะไปเถียงหรือหมิ่นผู้พิพากษาไม่ได้นะ เขาเปรียบเสมือนตัวแทนอำนาจที่สูงกว่าเรามาก เราอาจติดคุกได้ แรงงานก็เลยรู้สึกกลัวเวลาไปศาล

ตอนนี้มีกฎหมายฉบับไหนบ้างที่ยังเป็นอุปสรรคต่อสิทธิแรงงาน 

มีเยอะเลยนะ เท่าที่รู้คือกฎหมายที่มีอยู่เขียนให้ผลออกมาเป็นหัวหรือก้อยก็ได้ การเขียนกฎหมายแบบนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญ เหมือนเรารู้ๆ กันอยู่ว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็ร่างเพื่อชนชั้นนั้น

จากกรณีส่วนตัวที่เคยมีคดีความกับนายจ้าง เรามีข้อตกลงกันว่าสามารถลางานไปทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานได้ ถ้ากิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ปรากฏว่าผลตัดสินยังออกมาให้เราแพ้คดีได้ นี่คือปัญหา

ความจริงแล้ว พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หากรัฐบาลไทยยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 กับฉบับที่ 98 แล้วเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคนยากคนจน ให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิเสรีภาพที่พึงมี กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ต้องมีแล้ว ฉีกทิ้งไปเลยก็ได้ มันมีไว้เพื่อควบคุมแรงงานโดยเฉพาะ แต่ไม่ได้ควบคุมนายจ้างเลย 

พรรคการเมืองควรเข้ามาร่วมผลักดันประเด็นเหล่านี้อย่างไร

กฎหมายต้องผ่านรัฐสภา อยากให้พวกเขากลับไปดูที่มาของกฎหมายต่างๆ ว่า ถ้ามาจากข้อเสนอของคนงานก็น่าพิจารณา แต่ถ้าเป็นร่างจากกระทรวงแรงงาน แล้วอ้างชื่อผู้นำแรงงานบางคนว่าเกิดการมีส่วนร่วมแล้ว อันนี้เป็นการจัดฉาก ไม่ได้มาจากผู้ใช้แรงงานจริงๆ พรรคการเมืองก็ต้องคิดให้ดีๆ 

ตอนนี้มีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ ที่ผ่านกฤษฎีกาแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่ากฎหมายไม่ได้คุ้มครองแรงงานอิสระอย่างแท้จริง มันควรมีการประชาพิจารณ์ก่อนจะถึงขั้นตอนนี้ด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายนี้ส่งผลกับคนหลายล้านคน แต่พวกเขากลับไม่รู้เรื่องเลย รู้เรื่องแค่ในหมู่ผู้นำแรงงานไม่กี่คน ซึ่งคนกลุ่มนั้นกระทรวงแรงงานก็ครอบได้หมด ซึ่งมันไม่แฟร์

พรรคการเมืองหรือรัฐบาลใหม่ต้องคิดให้ดีว่า ถ้ากฎหมายแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของคนที่จะถูกกฎหมายบังคับใช้ ก็ควรปัดตกไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่กฎหมายจากนายทุนเท่านั้นที่ผ่านสภา

นโยบายแรงงานที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้ในการหาเสียง คิดว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน

คิดว่าก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาก็ประมาณนั้น แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะได้เรื่องค่าจ้าง 300 บาท/วัน มาแล้วก็ตาม ตอนนั้นเราเองก็เป็นคนไปชูป้ายสนับสนุนเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าปัญหาค่าจ้างถูกดองมานาน

เอาเข้าจริงนะ เราคาดหวังจากพรรคการเมืองได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น คงคาดหวังได้ไม่ถึงครึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานยังไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง ตราบใดที่เรายังไปคาดหวังกับพรรคการเมืองที่มาจากทุน นายทุนเขาก็ไม่ได้นึกถึงแรงงานขนาดนั้นหรอก พวกเขาต้องการฐานเสียงจากเรา เราจึงอยากให้เขาเอาเรื่องของเราไปบรรจุเป็นนโยบายบ้างเท่านั้น 

แต่คาดหวังได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก คำสัญญาหลายคำก็ยังมีการซ่อนเงื่อน ซ่อนปม ซ่อนลูกเล่นอยู่ในนโยบายเยอะ

ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ทำตามคำสัญญาที่หาเสียงไว้ ขบวนการแรงงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

เราก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหน โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย เรายิ่งต้องออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะมีเรื่องให้เร่งแก้ไขเยอะ

แต่ต่อให้พวกเขาทำตามสัญญาไม่ได้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องโจมตีพวกเขาให้เสียหายถึงขนาดเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่เลือกเขาเข้ามา เพียงแต่ว่าเขาต้องทำในสิ่งที่เขาควรทำ 

การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในปัจจุบันดูเหมือนจะอ่อนแรงลง หลังจากนี้จะมีแนวทางฟื้นฟูอย่างไรต่อไป

เรารู้ว่าขบวนการแรงงานไม่ได้เข้มแข็งแบบที่ใครหลายคนคาดหวัง แต่ในฐานะที่เราทำงานจัดตั้ง ยิ่งอ่อนแอก็ยิ่งต้องทำงานจัดตั้งให้หนัก ให้คนงานรู้สิทธิ รู้วิธีการต่อสู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ

คนงานในภาคต่างๆ คงต้องออกมาสู้ร่วมกันมากขึ้น คนเราถ้าไม่เห็นว่าเป็นปัญหาของตนเองก็อาจจะไม่ออกมา ดังนั้นผู้นำแรงงานต้องเข้าไปคุยกับพวกเขาให้มากขึ้น การจัดกลุ่มการศึกษาและงานจัดตั้งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน อยากเห็นความเปลี่ยนอะไรบ้างหลังเลือกตั้ง

หลักๆ คือ คนงานอยากได้รัฐสวัสดิการ คนงานหลายคนที่ใกล้เกษียณแล้วไม่รู้จะอยู่ยังไงต่อ เพราะค่าชดเชยก็ไม่ได้มาก ถูกหักไปเกือบหมดแล้ว ลูกหลานก็เป็นหนี้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ถ้ามีรัฐสวัสดิการก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

แต่เราจะมีรัฐสวัสดิการได้อย่างไรถ้าเราไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้สำคัญที่สุด เพราะหากแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐสวัสดิการก็ไม่เกิด แล้วต้องแก้ได้หมดทุกหมวด ทุกมาตรา จึงจะแฟร์กับประชาชน และต้องมาจากประชาชนจริงๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดทำนโยบายเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการได้นั้น นอกจากจะต้องเปลี่ยนไปใช้อัตราการเก็บภาษีแบบก้าวหน้าแล้ว เราอาจจะต้องปรับลดงบประมาณบางส่วนลง ตรงนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องมาตรา 112 ด้วย ถ้าเราพูดถึงไม่ได้ รัฐสวัสดิการก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

ต่อมาคือ ค่าจ้างต้องเพียงพอสำหรับดูแลลูกจ้างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะในรั้วหรือนอกรั้วโรงงาน ช่วงโควิด-19 เราก็เห็นแล้วว่าลูกจ้างกลุ่มพนักงานบริการประสบปัญหามาก ตอนนี้ลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์มก็หนักหนาเช่นเดียวกัน จะดูแลเขาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขเป็นลำดับต้นๆ

ระหว่างปัญหาปากท้องกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน

จริงๆ แล้ว ถ้ามองให้เชื่อมโยงจะเห็นว่า ในอดีตเคยมีข้อเสนอกันว่าอัตราค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ ทว่าหลังการรัฐประหารในปี 2557 ค่าจ้างกลับไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด บางจังหวัดไม่ขึ้นเลยสักบาท เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบางจังหวัดขึ้นน้อย บางจังหวัดขึ้นมาก นี่คือปัญหาปากท้อง แต่ถ้าเราไม่แตะเรื่องโครงสร้าง ชีวิตและปากท้องของแรงงานก็จะไม่มีการกระเถิบให้ดีขึ้นได้เลย

หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พวกเขาทำลายหลักการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่แต่เดิมบังคับให้สะสมฝ่ายละเท่าๆ กันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ตอนนี้กลายเป็นให้สะสมเพียงแค่ฝ่ายลูกจ้างก็ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

หรือการที่คณะกรรมการประกันสังคมได้รับการแต่งตั้งจากมาตรา 44 เป็นต้น โดยที่ไม่มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของฝ่ายแรงงานเลย แล้วเราจะกำหนดให้ประกันสังคมมาดูแลชีวิตเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร

พูดถึงพรรคการเมืองไปพอสมควรแล้ว มีอะไรที่อยากฝากไปถึงแรงงานด้วยกันเองไหม

ตอนนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของทุกคน บางคนมักจะบอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่คุณจะมีค่าจ้าง ค่ารถ ค่าดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างที่จับจ่ายอยู่ ไม่ว่าขาเข้าหรือขาออกล้วนเกี่ยวพันกับการเมืองทั้งสิ้น

คนงานทุกคนต้องสนใจการเมือง เพราะการเมืองกำหนดชีวิตคุณ ดังนั้นถ้าคุณไม่สนใจ ไม่ออกมาพูด ไม่ออกมาใช้สิทธิ ไม่ออกมาเป็นคนหนึ่งที่กำหนดทิศทางการเมือง การเมืองก็จะเป็นฝ่ายเข้าไปกำหนดชีวิตคุณ

ถ้าเราไม่ออกมากำหนดทิศทางการเมืองก็เหมือนเรายอมจำนน เราจะลืมตาอ้าปากไม่ได้ ค่าจ้างเราจะไม่พอ รัฐสวัสดิการจะไม่เกิด ลูกเราจะกู้หนี้ยืมสินเพื่อมีการศึกษา พวกเขาจะต้องทำงานใช้หนี้ไปตลอดชีวิต เราพอใจไหม ถ้าเราไม่พอใจ เราต้องออกมาสู้

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า