ข้อเสนอนโยบายจากเครือข่ายแรงงานถึงพรรคการเมือง ขอขึ้นค่าจ้าง เพิ่มคุณภาพชีวิต เคารพสิทธิความเป็นคน

ขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กอ่อน เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุ ฯลฯ เหล่านี้คือเสียงของบรรดาแรงงานที่พยายามเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพื่อถามหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลัง

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนได้จัดเสวนา ‘จากเครือข่ายแรงงานฯ ถึงพรรคการเมือง: เวทีนำเสนอนโยบายเลือกตั้ง 2566’ ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องเชิงนโยบายไปสู่พรรคการเมือง โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งสิ้น 5 คน ประกอบไปด้วย ธนพร วิจันทร์, ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน, เซีย จำปาทอง, ศรีไพร นนทรีย์ และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวเปิดเวทีโดยตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ ชลฐิตา ไกรศรีกุล ดำเนินรายการโดย วศินี พบูประภาพ 

เวทีครั้งนี้มีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมรับฟังข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 พรรค ประกอบด้วย กรกนก คำตา จากพรรคสามัญชน นุชประภา โมกข์ศาสตร์ จากพรรคก้าวไกล ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ จากพรรคเพื่อไทย และ พิสิฐ ลี้อาธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเรียกร้องถูกแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ หมวดแรงงาน หมวดสังคม หมวดรัฐธรรมนูญ และหมวดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชน โดยแต่ละหมวดจะบรรจุข้อเรียกร้องแยกย่อยลงไปอีกมาก

หากสรุปโดยย่อ เป้าหมายสำคัญของข้อเรียกร้องเหล่านี้ คือ การขึ้นค่าแรงเป็น 723-789 บาท/วัน การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม การปฏิรูปกระบวนการในศาลแรงงานเพื่อเอื้อให้เกิดความยุติธรรมต่อแรงงานมากขึ้น การจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมการศึกษา การออม และการตกงาน การลดงบประมาณที่ล้นเกินเพื่อนำไปใช้สนับสนุนสวัสดิการประชาชนทั้งประเทศ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ยึดโยงกับประชาชน การยกเลิกมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนแรงงานกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนเหล่านี้เป็นฐานคะแนนเสียงที่ทรงพลังอย่างมากต่อการพลิกขั้วอำนาจการเมือง ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งในและนอกระบบต่างยังคงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ การลุกขึ้นมาส่งเสียงร่วมกันในการกำหนดทิศทางนโยบายก่อนถึงวันเข้าคูหาเลือกตั้งที่กำลังมาถึงนี้ จึงอาจเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อคนทุกคน

หมวดแรงงาน: ทำงานต้องปลอดภัย มีราคา และมีคุณภาพชีวิต

ธนพร วิจันทร์ เปิดประเด็นด้วยข้อเรียกร้องในหมวดแรงงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 9 ข้อย่อย แบ่งออกเป็นดังนี้

1) รัฐไทยต้องยอมรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ที่อนุญาตให้แรงงานมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และอื่นๆ รัฐไทยต้องยอมรับสัญญาฉบับที่ 98 รับรองเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง รวมไปถึงสัญญาฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา และสัญญาฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงาน

2) รัฐบาลต้องประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 723-789 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตัวเลขนี้อ้างอิงจากงานวิจัยของ ‘คณะทํางานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปี 2565’ ซึ่งระบุว่า เป็นตัวเลขมาตรฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และเป็นอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต 

ธนพรระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมิได้มีความหมายแก่คนงานเพียงคนเดียว แต่ยังหมายถึงชีวิตและครอบครัวที่เขาต้องดูแลทั้งหมดอีกด้วย

3) ต้องลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานข้ามชาติถือเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ แต่กลับมีอุปสรรคจำนวนมากขัดขวางไม่ให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานและได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จุดนี้เองที่ทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาหาประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมาย และเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา

ในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งแต่ปี 2563-2565 มีมติ ครม. ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติกว่า 15 มติ แต่ปัญหากลับยังไม่ถูกแก้ไข จุดนี้ทำให้ธนพรระบุว่า พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำลายขบวนการค้ามนุษย์ และลดอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เช่น อาจจัดให้มีล่าม หรือเอกสารลงทะเบียนเป็นภาษาเพื่อนบ้าน เป็นต้น

4) เรียกร้องให้คณะกรรมการประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2557 คณะกรรมการประกันสังคมล้วนมาจากการแต่งตั้ง จนทำให้อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณประกันสังคมมูลค่ามหาศาลของผู้ประกันตนทั้งประเทศตกไปอยู่ในมือของข้าราชการและอำนาจรัฐ 

นอกจากนี้ เครือข่ายแรงงานฯ ยังเรียกร้องให้รัฐกลับมาเพิ่มเงินสมทบประกันสังคมให้เท่ากับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตามเดิม เนื่องจากปัจจุบันรัฐจ่ายน้อยกว่ามากในส่วนดังกล่าว ซ้ำสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ได้จากกองทุนนี้กลับไม่ดีเท่าที่ควร

5) บังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทุกสถานประกอบการ โดยจัดเก็บเงินจากลูกจ้างและนายจ้างในอัตราที่เท่ากัน เนื่องจากปัจจุบันนี้ไม่ถูกบังคับใช้ในทุกที่ และบางที่ก็ยังขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย ทำให้ลูกจ้างอาจจะต้องจ่ายมากกว่าที่นายจ้างจ่าย

กองทุนนี้จะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเมื่อลูกจ้างเสียชีวิต ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน จะช่วยให้มีเงินก้อนติดตัวไปด้วย

6) จัดให้มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง โดยเก็บเงินจากนายจ้างฝ่ายเดียว หรือเก็บจากนายจ้างโดยมีรัฐช่วยจ่ายสมทบให้ เนื่องจากในอดีตเกิดการปิดกิจการหนีลูกจ้างบ่อยครั้ง 

7) นักศึกษาฝึกงานต้องได้รับเงินค่าจ้าง สวัสดิการ และความคุ้มครองไม่ต่างจากลูกจ้างทั่วไป 

8) ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ตีตราแรงงานทางเพศ (sex worker) และยังเปิดโอกาสให้เกิดมาเฟียเข้ามารีดไถส่วย หาประโยชน์เหนือร่างกายของแรงงานทางเพศ

9) แรงงานแพลตฟอร์ม หรือแรงงานไรเดอร์ ต้องอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้าง

ทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมานี้ หากทำสำเร็จจะทำให้แรงงานทั่วประเทศ ตั้งแต่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงแรงงานทางเพศ และแรงงานแพลตฟอร์ม มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้น การปฏิรูปความเป็นอยู่และวิถีชีวิตการทำงานเหล่านี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่พรรคการเมืองจะต้องรีบแก้ไข เนื่องจากสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพชีวิตประชาชนและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชาติ

หมวดสังคม: รัฐสวัสดิการ คือทางออกของปัญหาสังคม

หัวข้อถัดไป ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานฯ ในหมวดสังคม ซึ่งมีทั้งหมด 4 หัวข้อย่อย ดังนี้

1) รัฐต้องเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีในปัจจุบันไปสู่อัตราการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีงบประมาณมากขึ้นในการนำมาบริหารให้เกิดรัฐสวัสดิการ 

2) สืบเนื่องจากการมีรัฐสวัสดิการแล้วในข้อแรก รัฐต้องจัดให้เกิดสวัสดิการการศึกษาฟรีถึงระดับปริญญาตรี เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันนี้มีราคาแพง และยิ่งถ่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในสังคม 

ธนพงษ์กล่าวว่า หากทุกคนได้เรียนฟรีแล้ว ต้องไม่มีใครควรเป็นหนี้จากการศึกษาเช่นเดียวกัน โดยเรียกร้องให้รัฐล้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งหมด เพื่อลดภาระทางการเงิน และทำให้ผู้ที่เรียนจบไปแล้วไม่มีภาระหนักหนาที่ต้องแบกรับไปด้วยขณะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน

3) รัฐต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนของ ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ เนื่องจากปัจจุบัน เด็กอายุ 0-6 ปี รัฐช่วยจ่ายเพียง 600 บาท หากเป็นผู้ยากจนมากๆ เงินส่วนนี้อย่างไรเสียก็ไม่พอสำหรับการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงเด็ก

ขณะเดียวกัน ‘เงินบำนาญผู้สูงอายุ’ ก็ต้องได้รับเพิ่มด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันได้รับเพียง 600 บาท เช่นเดียวกับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เครือข่ายแรงงานฯ จึงเรียกร้องให้เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาท เพื่อให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

ที่สำคัญที่สุดธนพงษ์ย้ำว่า ทั้งเงินอุดหนุนเด็กเล็กและเงินบำนาญผู้สูงอายุจะต้องเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความจน

4) เรียกร้องให้มีการเพิ่มสิทธิลาคลอดเป็นเวลา 180 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง และไม่ต้องผูกสิทธิลาคลอดเอาไว้กับกฎหมายแรงงาน เพื่อให้ทั้งพ่อและแม่ในทุกสาขาอาชีพสามารถลาคลอดได้ รวมถึงแบ่งวันลากันได้ด้วย

ในข้อสุดท้ายนี้ยังเรียกร้องให้มีการตั้งศูนย์เด็กเล็กในทุกชุมชน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวของแรงงานที่มีบุตรเล็ก

คุณภาพชีวิตของแรงงานและคนส่วนมากในสังคมจะดีขึ้น หากรัฐสวัสดิการข้างต้นนี้เกิดขึ้นจริงได้ และคุณภาพชีวิตของคนทุกคนจะดีขึ้นตามลำดับ หากพรรคการเมืองใดนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติได้จริง จะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคนั้นมีความใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

หมวดรัฐธรรมนูญ: การหย่อนบัตรเลือกตั้งควรเข้าถึงง่าย แรงงานไม่ต้องกลับภูมิลำเนา

ในหมวดรัฐธรรมนูญ เซีย จำปาทอง ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องในหมวดนี้โดยมีใจความสำคัญถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมไปถึงการเสนอให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้

1) เปลี่ยนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากฉบับปัจจุบันเป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้อง ซึ่งไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ ดังนั้นเซียจึงเสนอให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากประชาชน 

ข้อสำคัญคือ ต้องสามารถร่างใหม่ได้ทั้งฉบับ และแก้ไขได้ทุกมาตรา

2) ปัจจุบันข้อกำหนดในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ต้องเดินทางไกล เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายสูง สร้างความไม่สะดวกต่อการไปใช้สิทธิใช้เสียง ดังนั้นเครือข่ายแรงงานฯ จึงเสนอว่า แรงงานต้องสามารถเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตที่ตนทำงานอยู่ได้ เพื่อปิดกั้นจุดบอดตรงนี้

นอกจากนี้ เซียยังระบุเพิ่มต่อไปว่า เพราะแรงงานใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ตนทำงานเป็นหลัก ย่อมเห็นปัญหาที่อยากจะแก้ไข หรือเห็นผู้สมัครที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาในเขตนั้น พวกเขาจึงควรได้รับสิทธิในการเลือกผู้แทนในพื้นที่ที่เขาทำงาน เช่นเดียวกับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน

3) เสนอให้ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากไม่มีความยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อย

ข้อเสนอในหมวดนี้เป็นการเสนอให้แก้ไขภาพใหญ่เชิงโครงสร้างทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันนี้เกือบทุกฝ่ายต่างมองเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาและต้องเร่งแก้ไข ทว่าต่างฝ่ายต่างมีจุดที่อยากแก้ไขแตกต่างกันออกไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานและคนจำนวนมากทั่วประเทศ จึงสมควรที่จะถูกนำเสนอไปถึงพรรคการเมือง

หมวดการปกครองในระบบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน: อิ่มท้องอย่างมีศักดิ์ศรี ปฏิรูปกระบวนการทั้งระบบ

ในหมวดนี้มีผู้อภิปราย 2 คน ได้แก่ ศรีไพร นนทรีย์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงเรื่องชนชั้นนำไทย กองทัพ และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทั้งคู่ระบุว่าเรื่องเหล่านี้แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับแรงงาน แต่อันที่จริงแล้วถือได้ว่าเกี่ยวข้องกันโดยตรง

ศรีไพรระบุว่า สิ่งที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องการคือรัฐสวัสดิการที่ดี ทว่าปัญหาสำคัญของการทำรัฐสวัสดิการคือการจัดสรรงบประมาณ จุดนี้เองที่ศรีไพรระบุว่า ต้องปรับลดงบประมาณโครงการที่ไม่มีความจำเป็นของกระทรวงกลาโหมและสถาบันพระมหากษัตริย์ลง 

ตัวอย่างสำคัญคือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 197,000 ล้านบาท ทว่ากลับยังมีข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก ข่าวเรือดำน้ำที่ใช้งานไม่ได้ และข่าวเรือรบล่ม แสดงให้เห็นว่า งบประมาณที่ได้รับกับผลลัพธ์ของโครงการต่างๆ ไม่มีคุณภาพมากพอ ขณะเดียวกันงบประมาณบางส่วนกลับถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เพื่อสอดส่องและคุกคามประชาชน 

นอกจากนี้ งบประมาณกระทรวงกลาโหมในส่วนของโครงการในพระราชดำริ กลับมีมากถึง 2,300 ล้านบาท ซึ่งซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างงบประมาณผิดที่ผิดทางและควรถูกปรับลดลง

ข้อต่อมาที่ศรีไพรและเครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้อง คือ การปฎิรูปกระบวนการของศาลแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน จนทำให้แรงงานสู้คดีต่อไม่ไหว การยอมความจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน ศาลก็ไม่มีทนายความบริการให้แรงงาน มีเพียงเนติบริกรเท่านั้น จึงไม่สามารถสู้กับทนายของฝ่ายผู้ประกอบการได้ ประกอบกับศาลแรงงานไม่มีให้บริการครบทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยากยิ่งขึ้น

ในส่วนของโครงสร้างทางการเมืองภาพใหญ่ สมยศยกตัวอย่างกรณีการอดอาหารและอดน้ำเพื่อประท้วงสิทธิการประกันตัวของสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้มีอาชีพเป็นพนักงานแพลตฟอร์ม พร้อมกล่าวว่า ผู้ต้องหาคดี ม.112 และ ม.116 กว่าครึ่งหนึ่งคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน จึงสมควรถูกยกเลิก พร้อมย้ำด้วยว่าปัญหาปากท้องจะต้องมาคู่กับสิทธิเสรีภาพ จะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แรงงานต้องอยู่อย่างมีข้าวกินและมีศักดิ์ศรีในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

สิทธิโชค เศรษฐเศวต

ในส่วนสุดท้าย สมยศระบุว่า ควรเกิดการปฏิรูปตำรวจ-ทหาร โดยในส่วนของทหารนั้น สมยศระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนนายพลมากเกินไป คือมีทั้งสิ้นประมาณ 300,000 นาย และสามารถรับเงินเกษียณในอัตราที่สูง ซ้ำยังสลับมาเป็น ส.ว. เพิ่มเพื่อหารายได้สองทางจนเป็นที่สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ ขณะเดียวกัน การเกณฑ์ทหารก็ทำให้ประเทศขาดแคลนกำลังแรงงานไปอย่างมหาศาลในแต่ละปี ซ้ำร้ายหลังจากเกณฑ์ทหารแล้วยังไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะวิชาชีพอื่นใดติดตัว นอกจากทักษะทางทหาร

ในฝั่งของตำรวจ สมยศระบุว่าต้องทำความเข้าใจกับตำรวจใหม่ว่า อะไรคือการใช้กฎหมายแบบบิดเบือน เนื่องจากนายจ้างมักใช้ประโยชน์จากตำรวจในการเล่นงานสหภาพแรงงานเสมอ ขณะที่แรงงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักมีกรณีที่นายจ้างสั่งให้ทำเรื่องผิดกฎหมาย แต่เมื่อถูกจับกลับสาวขึ้นไปไม่ถึงตัวนายจ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อแรงงานโดยตรง 

ในหมวดนี้จึงเป็นการพูดถึงโครงสร้างระดับประเทศที่ใหญ่ที่สุด โดยหากเกิดการปฏิรูปได้สำเร็จจะไม่ได้มีผู้ได้ประโยชน์เพียงแค่ฝั่งแรงงาน แต่คนจำนวนมากเองก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน พรรคการเมืองทั้งหลายจึงต้องตัดสินใจในประเด็นเปราะบางเหล่านี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ประชาชนกำลังให้ความสนใจประเด็นความยุติธรรมมากกว่าที่ผ่านมา

ท่าทีของพรรคการเมือง นโยบาย และคำสัญญา

กรกนก คำตา จากพรรคสามัญชน ระบุว่า หากพรรคสามัญชนได้จัดตั้งรัฐบาล จะรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ ตามที่เครือข่ายแรงงานฯ เสนอมา ขณะเดียวกัน เรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้นพรรคสามัญชนเคยเสนอไว้เมื่อ 4 ปีก่อน อยู่ที่ 500 บาท/วัน แต่จากปัจจัยด้านค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป จึงยืนยันว่าจะปรับขึ้นไม่ต่ำกว่าที่เครือข่ายแรงงานฯ เสนอมา

นุชประภา โมกข์ศาสตร์ จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล จะให้มีการทบทวนเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 และฉบับที่ 190 เนื่องจากพรรคก้าวไกลเคยพยายามผลักดันฉบับที่ 87 และ 98 มาแล้ว ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำพรรคก้าวไกลเสนอเอาไว้ที่ 450 บาท/วัน แต่เห็นด้วยว่าในอนาคตต้องมีการปรับตัวขึ้นให้เท่าทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ 

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับแรงงานอยู่แล้ว แม้จะเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน ซึ่งอาจไม่เท่ากับที่เครือข่ายแรงงานฯ เสนอมา แต่ยืนยันว่าทำได้จริง พร้อมย้ำว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้แข่งขันแค่เพียงตัวเลข แต่ยังต้องการสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา พร้อมหาทางลดค่าครองชีพและรายจ่ายอื่นๆ ประกอบไปด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม นุชประภาและกรกนกเห็นตรงกันว่า คณะกรรมการฯ ควรยึดโยงกับผู้ประกันตน ดังนั้นจึงควรเข้ามาด้วยวิธีการเลือกตั้ง 

พิสิฐ ลี้อาธรรม

ทางด้าน พิสิฐ ลี้อาธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์การทำงานของระบบประกันสังคมว่า แรงงานจำนวนกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากประกันสังคมมีฐานคิดว่า การหักเงินประกันสังคมจะสะดวกเฉพาะผู้มีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำ ทว่าทุกวันนี้ไม่มีใครคิดอยากเป็นลูกจ้างตลอดชีวิตแล้ว ดังนั้นประกันสังคมจึงต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ โดยพิสิฐเสนอให้ระบบประกันสังคมมีความถ้วนหน้าผ่านการคำนวณจากรายจ่ายแทน กล่าวคือ ใครซื้อของน้อยก็จ่ายน้อย ใครซื้อมากก็จ่ายมาก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แรงงานอีกกว่า 20 ล้านคน ไม่ถูกผลักออกจากระบบประกันสังคมอีกต่อไป

ในส่วนของสิทธิแรงงาน พิสิฐวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีว่า เคยพบว่ามีการล็อบบี้บ่อยครั้งจนเหมือนไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อดูแลแรงงาน แต่เหมือนเข้ามาเพื่อรักษาสถานะของตนเองมากกว่า จึงเสนอให้เกิดการปฏิรูปคณะกรรมการไตรภาคีให้โปร่งใส ไม่ให้ราชการมีอำนาจชี้นำการใช้จ่ายหรือลงทุนของกองทุนประกันสังคมได้โดยง่ายอีกต่อไป ซึ่งพิสิฐระบุว่าตนได้เคยเสนอกฎหมายนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่มีพรรคใดมาช่วยผลักดันต่อจนถึงทุกวันนี้ 

พิสิฐยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการออมเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามชรา และการริเริ่มเบี้ยเลี้ยงคนชราของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ซึ่งตัวเขาและพรรคยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง

ในเรื่องการผลักดันรัฐสวัสดิการนั้น นุชประภาระบุว่า คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามทำมาตลอดคู่ไปกับนโยบายประกันสังคมถ้วนหน้า ขณะที่ชนินทร์จากพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคจะมุ่งพัฒนาทักษะแรงงานให้มากขึ้นด้วยการศึกษา โดยจะเปิดแพลตฟอร์มการศึกษาฟรีที่จำเป็นต่อทักษะอาชีพ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด สอดคล้องกับการทำงาน

ตัวแทนพรรคเพื่อไทยยังระบุเพิ่มเติมว่า เรื่องแรงงานทางเพศ ทางพรรคเองยังไม่ได้เห็นตรงกันเสียทั้งหมด จึงอาจจะไม่ได้ประกาศชัดเจนให้เป็นข้อสรุปเดียว แต่สัญญาว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันได้ในรัฐสภา เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

สำหรับประเด็นร้อนแรงอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ ม.112 ตัวแทนพรรคก้าวไกลยืนยันว่า จะต้องมีการแก้ไข ม.112 ขณะที่พรรคสามัญชนชัดเจนว่าต้องยกเลิกมาตรานี้ทิ้งไปเสีย

ทางด้านตัวแทนพรรคเพื่อไทยพูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า พรรคเสนอให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แต่ต้องดำเนินการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสุดท้ายหากได้เป็นรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นดุลยพินิจของ สสร. ผู้เป็นตัวแทนของประชาชนในการตัดสินใจ

ขณะที่เรื่อง ม.112 และ ม.116 ตัวแทนพรรคเพื่อไทยระบุว่า ไม่ควรถูกนำมาใช้ ส่วนจะถึงขั้นต้องยกเลิกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ควรถูกพูดถึงอีกครั้งในรัฐสภา 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า