กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์: มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คือค่าจ้างเพื่อความอยู่รอด

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ของพรรคเพื่อไทย นำมาสู่ข้อถกเถียงระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง บนฐานของทรัพยากรแรงงานที่ถูกใช้ไปเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงิน ว่าแท้จริงแล้วค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยในขณะนี้เหมาะสมหรือยัง และอะไรที่จะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเพื่อบอกว่าตัวเลขนั้นมีความ ‘เหมาะสม’

แม้ประเทศไทยจะมีหลักในการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กลับพบว่าแนวทางนั้นไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐยังคงออกแบบนโยบายค่าแรงผ่านมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว

แนวคิด Living Wage ซึ่งว่าด้วยการจัดสรรค่าจ้างขั้นต่ำที่ ‘เพียงพอ’ ต่อการดำรงชีวิตของแรงงาน คือข้อเสนอที่กฤษฎาคาดหวังให้เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาปรับค่าแรงในประเทศไทย และนั่นคือประเด็นสำคัญที่ WAY พูดคุยในครั้งนี้

‘คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้กับรัฐสภา’ ทำหน้าที่อะไร และอาจารย์เข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะทำงานชุดนี้อย่างไร

จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งคณะทำงานฯ มาจากการที่กลุ่มแรงงานเข้ายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) สภาผู้แทนราษฎร เรื่องปัญหาค่าแรงต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ซึ่งตอนนั้นสถานการณ์ค่าครองชีพในไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นหลัก ทาง กมธ.แรงงาน นำโดยนายสุเทพ อู่อ้น ในฐานะประธาน เลยมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้น แล้วท่านประธานก็มาชวนผมไปร่วมศึกษาเก็บข้อมูลเรื่องค่าครองชีพ เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นฐาน

กระบวนการทำงานของคณะทำงานฯ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 14-15 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ หลากหลายพื้นที่ และต่างมีบทบาทในการเคลื่อนไหวประเด็นเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งจะเข้ามาร่วมในกระบวนการทั้งหมด เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและความเป็นอยู่ของเขาโดยตรง ส่วนผมเองเป็นคนที่เข้ามาประสานงานเพื่อสำรวจและทำวิจัย โดยมีสมาชิกในคณะทำงานฯ เป็นคนที่ช่วยดีไซน์แบบสอบถามจากแม่แบบที่ผมเคยทำมาก่อน การสำรวจนี้จะใช้ข้อมูลค่าอาหาร ค่าเชื้อเพลิง ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน บนฐานข้อมูลจริงของแรงงาน เรามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน 3-4 ครั้ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะ 

ล่าสุดคือเราได้นำเสนอ ‘รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน: แนวทางการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า’ ซึ่งเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และถูกนำมาปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมส่งให้ กมธ.แรงงาน ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แต่ตัวรายงานเองยังไม่ได้ถูกนำเข้าสภาฯ 

กระบวนการขึ้นค่าแรงของไทยเป็นอย่างไร มีหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง

กระบวนการของบ้านเราทำงานผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี สังกัดกระทรวงแรงงาน ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะอ้างถึงคณะกรรมการไตรภาคีเสมอ แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็พบว่านโยบายการเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทนำไตรภาคี เห็นได้จากการหาเสียงเรื่องค่าแรง 300 บาท ในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คณะกรรมการไตรภาคีนั้นประกอบด้วยหน่วยงานจากฝั่งรัฐบาล ฝั่งนายจ้าง และฝั่งลูกจ้าง โดยกระบวนการขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะดำเนินการจากล่างขึ้นบน (bottom up approach) มีอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดเป็นผู้รับเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมหลัก 

ขั้นตอนคือ อนุกรรมการฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องยื่นคำร้องและความประสงค์ให้อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อที่จะเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดต่อคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีเงื่อนไขว่าอัตราค่าจ้างที่เสนอนั้นจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน 

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก 1-2 ปี เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมันเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลักการที่ผมเคยอ่านเจอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะมีตั้งแต่การปรับค่าจ้างทุก 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรือปรับตามค่าเงินเฟ้ออย่างที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ก็มี ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีเองก็ต้องมาดูว่าจะปรับตามเกณฑ์อะไรได้บ้าง 

ความตื่นตัวเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีที่มาจากนโยบายของพรรคการเมืองที่ประกาศจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทต่อวัน สิ่งนี้สะท้อนอะไรได้บ้าง

กระแสการปรับขึ้นค่าแรงตอนนี้ได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการเรียกร้องช่วงก่อนหน้านี้พอสมควร ฝั่งคนงานเองก็กระทุ้งเรื่องนี้อยู่ตลอด ทางฝั่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ก็ออกมาเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ แต่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องนี้

สำหรับผมมองว่า ไตรภาคีเป็นกลไกทางการบริหารและกฎหมาย แต่เมื่อกลไกที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกหนึ่งทางคือกลไกทางการเมือง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าถือเป็นการแทรกแซงการทำานของไตรภาคีหรือเปล่า

ถ้าเรามองว่า นโยบายจากพรรคการเมืองที่ประกาศให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน หรืออย่างปีนี้ที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะปรับให้เป็น 600 บาทต่อวัน ทำให้ประชาชนให้ความสนใจกับนโยบายการเมืองมากกว่ากระบวนการปรับขึ้นค่าแรงที่มีอยู่ มันก็สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงของประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนคงไม่เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปถึง 500-600 บาท จากเดิมที่ยังไม่ถึง 400 บาทต่อวัน

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า ไตรภาคีเป็นกระบวนการที่ ‘สั่ง’ ได้ และมักถูกออกแบบจากบนลงล่าง (top-down approach) ซึ่งสวนทางกับกระบวนการยื่นคำร้องการปรับค่าแรง เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายลูกจ้างจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

ถ้าเรามองกันจริงๆ ก็จะพบว่าฝ่ายบริหารเองก็มีปัญหา กฎหมายเองก็มีปัญหา ผมแย้งการทำงานของไตรภาคีเสมอ เพราะในระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี ระบุว่าฝ่ายลูกจ้างจะต้องมีตัวแทนแรงงานจากทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ คำถามคือฝ่ายลูกจ้างมีสหภาพครบทั้ง 77 จังหวัดไหม ผมตอบได้เลยว่าไม่ครบ 

ผมสำรวจข้อมูลตอนที่ทำรายงานให้ กมธ.แรงงาน ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ และพบว่ามีแค่ 33 จังหวัดที่มีสหภาพแรงงาน กับมีแค่ 9 จังหวัดเท่านั้นที่สหภาพแรงงานยังมีอำนาจการต่อรองในคณะกรรมการไตรภาคีได้บ้าง มิหนำซ้ำ ในทางปฏิบัติก็ยังมีสหภาพแรงงานที่ไม่ active แล้ว แต่ชื่อยังอยู่ในทะเบียนของกรมสวัสดิการ ถ้าอย่างนั้นจังหวัดอื่นที่เหลือจะคาดหวังอะไรได้บ้าง

ในเมื่อเรามีสหภาพแรงงานแค่ 33 จังหวัด แล้วอีก 44 จังหวัดล่ะ ใครคือตัวแทนลูกจ้าง

เคยมีกรรมการฝ่ายลูกจ้างที่อยู่ในอนุกรรมการระดับจังหวัดมาเล่าให้ผมฟังว่า เขาเป็นตัวแทนอยู่ในกระบวนการพิจารณาปรับค่าจ้างระดับจังหวัด ในเครือข่ายนั้นเอง มีบางจังหวัดที่ฝ่ายลูกจ้างพูดเองเลยว่า “ไม่ขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ผมได้ฟังแล้วก็ตกใจมาก นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เพราะการที่ไม่มีสหภาพ ไม่มีตัวแทนลูกจ้างจริงๆ คนที่จะไปนั่งแทนตรงนั้นก็มักจะมาจากนายจ้างที่สวมตัวเองเข้าไป 

ฝ่ายแรงงานหลายกลุ่มเคยพูดว่า ถ้าเห็นต่างกับคณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง เขาก็จะบอกว่า “งั้นคุณเดินกลับบ้านเองนะ” นั่นหมายถึง ไม่ต้องกลับมาทำงานแล้ว หรือหมายถึงการถูกเลิกจ้างไปเลย เพราะคุณเห็นต่างจากนายจ้าง

ผมจึงมองว่าไตรภาคีเองไม่ได้เป็นกลไกที่เราจะเชื่อมั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้เป็นการทำงานผ่านการกระจายอำนาจ ในทางรัฐศาสตร์มองว่าถ้ามีการกระจายอำนาจจริง ท้องถิ่นจะต้องเป็นคนจัดการ แต่นี่คือแบ่งสรรอำนาจจากส่วนกลางให้ระดับภูมิภาคไปจัดการต่อ เพราะคนที่เป็นหัวโต๊ะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด คือผู้ว่าราชการจังหวัด การขึ้นค่าจ้างเลยกลายเป็นการรอมชอม การไกล่เกลี่ยด้วยความประนีประนอม อ้างว่าลูกจ้างเห็นใจนายจ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นไปได้น้อยมากนะ เพราะลูกจ้างเองเขาก็อยู่ไม่ได้

ผมตั้งโจทย์เลยว่า ปัญหากลไกไตรภาคีที่ทำงานผ่านระบบผู้แทนนี้ แม้จะมีกลไกในการสมัครคัดเลือก แต่ท้ายที่สุดเราก็ไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนลูกจ้างจริงๆ อีกหลายจังหวัด คนบางกลุ่มบอกว่าไม่คาดหวังให้มีคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดแล้ว เพราะท้ายที่สุดมันไม่ใช่รูปแบบการกระจายอำนาจจริงๆ และไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนงาน ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องมานั่งคิดกันแล้วว่า ถ้าตัวแทนในกระบวนการไตรภาคีระดับจังหวัดไม่เหมาะสม เราก็ควรจะหาระบบตัวแทนที่ใหม่กว่านี้ ผมเองไม่สามารถให้ไอเดียได้ว่าควรจะเป็นแบบไหน แต่คือสถานการณ์ตอนนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว 

ถ้าบอกว่าขนาดของการจ้างงานในอุตสาหกรรมมันเล็กลงเรื่อยๆ มีการจ้างรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอีกหลายแบบ ตัวอย่างเช่น การจ้างงานแบบที่ไม่บังคับว่าต้องมาทำงานในที่ทำงาน ผมก็มานั่งคิดว่างานลักษณะนี้ ในอนาคตเราจะไปหาตัวแทนลูกจ้างที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียจริง ได้รับผลกระทบจริง เข้ามาสะท้อนหรือเป็นปากเป็นเสียงได้ไหม มีพื้นที่ทางตรงให้เขาสะท้อนได้ไหม เพราะปัจจุบันนี้พื้นที่ทางตรงเดียวที่ใช้กันคือการสะท้อนบนโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีพื้นที่สื่อสารโดยตรงจากแรงงานไปถึงรัฐบาล กลายเป็นว่าแรงงานต้องไปสื่อสารผ่านไตรภาคีทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไตรภาคีคือใคร ซึ่งผมมองว่ามันไม่มีประโยชน์เลย

นโยบายการขึ้นค่าแรงจากภาครัฐมักเป็นตัวเลขที่ขยับน้อยและต้องใช้เวลานาน เมื่อเทียบกับนโยบายที่ถูกเสนอและนำร่องจากพรรคการเมือง สิ่งนี้ส่งผลต่อเสถียรภาพและการจัดการนโยบายของหน่วยงานรัฐอย่างไรบ้าง

ถ้าเราลองสังเกตสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าคนที่ออกมาแย้งเรื่องค่าแรง 600 บาท แทบจะไม่มีฝ่ายที่ทำงานเชิงนโยบายหรือฝ่ายบริหารของกระทรวงเลย เขาวางตัวเฉยกันหมด คนที่มาแย้งมักจะมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เห็นชัดๆ เลยคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาพูดแน่นอน อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่เป็นกึ่งนายจ้างลูกจ้าง ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของนายจ้างที่ไม่ได้ถือทุนใหญ่ กลุ่มสุดท้ายคือนักวิชาการ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ แต่ส่วนของราชการไปจนถึงกระทรวงแรงงานไม่ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้เลย

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจริง และดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงจริง การจัดการมันก็ต้องดูว่าทางลงของนโยบายค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท จะเป็นทางไหนได้บ้าง สิ่งที่พรรคการเมืองจะทำได้คือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้น เพื่อให้นโยบายขึ้นค่าแรงสามารถผ่านตัวชี้วัดของไตรภาคีไปได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่พูดถึงเรื่องแรงงาน เขาไม่ได้จัดไว้ในนโยบายสังคม แต่จัดอยู่ในหมวดหมู่นโยบายเศรษฐกิจ แสดงว่าเขาต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเด็นอยู่ที่เขาจะทำได้หรือเปล่า แล้วก็มาดูกันต่อว่าผลกระทบของมันจะออกมาในลักษณะไหน มากน้อยแค่ไหน

ในเชิงการเมือง การประกาศว่าจะปรับค่าแรงเป็น 600 บาท ก็เหมือนการเกทับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่เคยตั้ง แต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างเพื่อไทยเลือกจะประกาศตัวเลข 600 บาท ออกมาเลย แสดงว่าเรื่องค่าจ้างไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียว แต่มันคือเรื่องการเมืองด้วย

ผมคิดว่าการออกนโยบายเรื่องค่าจ้างของพรรคการเมืองก็คงเป็นเรื่องปกติของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย หากมองว่านี่คือการแทรกแซงไตรภาคี ก็คงต้องย้อนถามว่ากลไกของไตรภาคีมันเพียงพอต่อการจัดการค่าแรงไหม มันมีประสิทธิภาพพอจะให้ประชาชนไว้วางใจจริงหรือเปล่า 

หนึ่งในกลุ่มนายจ้างที่ออกมาแย้งต่อนโยบายค่าแรง 600 บาท คือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs แต่กลุ่มทุนใหญ่กลับไม่มีท่าทีใดๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ตรงนี้ผมคงต้องอ้างถึงกระบวนการภายในที่ซับซ้อนของไตรภาคี เท่าที่เคยคุยกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการฯ เขาบอกว่าในระหว่างกระบวนการนี้มันเกิดการวิ่งเต้น (Lobby) ขึ้นระหว่างรัฐและกลุ่มนายจ้าง ถ้าลองคิดดูง่ายๆ ในสมัยที่คุณยิ่งลักษณ์ขึ้นค่าแรง ฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายรัฐบ่นไปทางเดียวกันได้ แต่ทำไมปัจจุบันคนที่บ่นไปทางเดียวกันคือฝ่ายรัฐกับนายจ้างแทน 

ถ้ารัฐบาลในสมัยถัดไปจะปรับขึ้นค่าจ้าง ไม่ว่าแผนการทำงานของรัฐจะกำหนดตัวเลขไว้ยังไง แต่กระบวนการถัดไปยังไงก็ต้องผ่านไตรภาคี นั่นหมายความว่ารัฐบาลเองต้องมีการ lobby กับกระทรวง ต้องมีการ lobby กับฝ่ายคนงานด้วยหรือเปล่า แน่นอนว่าถ้ารัฐบาล lobby กับกระทรวงเสร็จ แล้วกระทรวงไปคุยกับคนงานได้ มันคือจบ ยังไงคนงานก็อยากได้ค่าจ้างขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาคือฝ่ายนายจ้างจะรู้สึกยังไง

นายจ้างก็มีหลายสเกลอีก นี่คือคำตอบว่าทำไมคนที่ออกมาโวยวายจึงไม่ใช่ทุนใหญ่แต่เป็นทุนขนาดกลางไปจนถึงเล็ก เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยกันหมด ทุนใหญ่กลับเงียบหมดเลย นั่นเป็นเพราะเขามีอำนาจผูกขาด supply chain เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมการขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้ SMEs ตายกันหมด แต่ทุนใหญ่กลับไม่กระทบ นั่นเป็นเพราะธุรกิจทุกอย่างมันผ่าน chain เดียวกันทั้งหมด โดยมีทุนใหญ่เป็นผู้กำหนดราคาซื้อ ราคาขาย ไปจนถึงค่าแรง เราจึงต้องมองไปถึงประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานด้วย ตั้งแต่กระบวนการผลิตตอนต้น คนโดนกดค่าแรงมั้ย โดนกดค่าเหมาชิ้นงานมั้ย ซึ่งทุนใหญ่มันบีบเขาทุกทางอยู่แล้ว

ผมเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าใหญ่ๆ สามารถขายสินค้าชนิดหนึ่งในราคาเท่ากันทั่วประเทศได้ จริงๆ แล้วต้นทุนของสินค้าอย่างหนึ่งราคามันเท่ากันทุกพื้นที่ไหม มันไม่เท่าหรอก เช่น กล้วยในร้านสะดวกซื้อก็ราคาหนึ่ง แต่เขาอาจรับซื้อมาลูกละไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ ราคาลำไยหน้าสวนก็ไม่กี่บาท แต่ขายในตลาดแพงกว่านั้น กำไรจึงไปตกที่พ่อค้าคนกลางที่รับซื้อในราคาต่ำมาขายในห้างในตลาด 

ผมกำลังจะบอกว่า ราคาสินค้าถูกกำหนดโดยกลุ่มทุน ดังนั้น เวลาเราพูดว่ากลุ่มทุนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ นั่นเพราะว่าเขาสามารถบริหารจัดการตลาดได้ดีกว่ารายย่อย พวก SMEs ทำแค่ธุรกิจเล็กๆ สุดท้ายเขาก็ต้องพึ่งพิงตลาดใหญ่ๆ ต้องซื้อวัตถุดิบจากทุนใหญ่ หรือฝากสินค้าไปขายในห้างร้านของเขา

เมื่อ SMEs โดนกดราคารับซื้อลง ส่วนต่างที่เป็นกำไรก็จะลดลง ในขณะที่ต้นทุนอื่นๆ ในการประกอบการก็ยังต้องจ่าย สุดท้ายพอเขาไม่สามารถโวยเรื่องอื่นได้ เขาก็ต้องโวยเรื่องต้นทุนค่าแรงงาน เขาไม่กล้าโวยกับนายทุนใหญ่ที่ตั้งราคาขายสินค้าหรอก มีใครกล้าบ้าง เพราะนั่นคือคนที่มีอำนาจมากกว่า แต่คนงานคือกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ทุนใหญ่จึงสามารถกดดัน ต่อรอง หรือข่มก็ได้ คนตัวเล็กตัวน้อยจึงได้รับผลกระทบเต็มๆ 

ถึงที่สุดแล้ว กลไกตลาดของบ้านเราก็ไม่ได้เสรีจริงๆ หรอก ถ้าหากกลุ่มทุนยังมีอิทธิพลในการกำหนดราคาและยังมีความเหลื่อมล้ำทางการแข่งขัน ผมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy)

ปัญหาของเราคือ ไม่ใช่แค่อำนาจการต่อรองของแรงงานมีน้อย แต่อำนาจของผู้บริโภคเองก็แทบจะไม่มี สังเกตง่ายๆ แค่ประกาศจะขึ้นค่าแรง สินค้าต่างๆ ขึ้นราคาหมดเลย ทำไมขึ้นค่าแรงแค่ปัจจัยเดียว จู่ๆ ทุกอย่างต้องขึ้นตามล่ะ มันแปลกไหม ผมอยากให้คิดตามนะว่า แรงงานคนหนึ่งได้เงินเพิ่มเดือนละไม่กี่ร้อย หรือวันละ 5-10 บาท แต่ของแพงขึ้น ตกลงแล้วใครกำหนดราคาสินค้าในตลาดอยู่เหรอ ถ้าไม่ใช่ระบบทุนผูกขาด แต่เราไม่ค่อยพูดถึงกันหรอก ไปโฟกัสกันที่ต้นทุนแรงงานทั้งนั้น หลายๆ คนเป็นแรงงานรับค่าจ้าง รับเงินเดือนแท้ๆ แต่กลับไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง

‘Living Wage’ หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของแรงงานคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) อย่างไร

คำว่า Living Wage ถ้าอ้างอิงจากเอกสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คำนี้มันปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ปีแรกที่คุยใน ILO แล้ว ประเทศไทยให้ความหมายคำนี้ว่า ‘ค่าจ้างที่เหมาะสม’ แต่ที่ผ่านมามันก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ จนมาได้ข้อสรุปจริงๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ด้านสังคม มองว่าค่าจ้างเป็นสิทธิทางกฎหมายเพื่อให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ แปลว่ามันต้องคุ้มครองชีวิต แรงงานต้องได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่ารายจ่ายในการดำรงชีวิตของเขาที่จะอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งจะใช้คำว่า ‘มาตรฐานการดำรงชีวิต’ ซึ่งมันจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ แม้จะมองจากปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน แต่ในระยะหลังมันมักถูกนำไปผูกกับค่าจ้างขั้นต่ำ พิจารณาผ่านมุมมองว่านายจ้างจะมีกำลังจ่ายได้ไหม ทุกวันนี้ความหมายของ Living Wage ยังถกกันอยู่เลย แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าคนส่วนใหญ่เลือกมองจากด้านที่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เอาด้านคุ้มครองสิทธิของคนไว้เป็นรอง 

อย่างนโยบายค่าแรงของพรรคเพื่อไทย เขาก็ประกาศชัดเจนว่าเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ แม้แต่นักวิชาการที่มาอธิบายเรื่องนี้ก็จะถกด้วยประเด็นที่ว่า ถ้าปรับขึ้นค่าจ้างแล้วนายจ้างจะอยู่ได้ไหม จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไหม อุตสาหกรรมจะปิดตัวลงไหม คือมันกลายเป็นวิธีคิดบนฐานเศรษฐกิจหมด แต่ละเลยวิธีคิดบนฐานของชีวิตมนุษย์ ทั้งที่จริงแล้วการถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิตในยุคแรกเริ่มมันมองบนฐานว่า ชีวิตของคนจะอยู่ได้ไหมจากการทำงานในอุตสาหกรรม ชั่วโมงการทำงานจะไม่เกินใช่ไหม ค่าจ้างจากการทำงาน 8 ชั่วโมง ต้องทำให้คุณอยู่ได้ ต้องเลี้ยงดูตัวเองได้ 

ข้อถกเถียงเรื่องค่าจ้างที่เหมาะสม แรกๆ ก็ดูแค่ขอบเขตในการเลี้ยงดูตัวเอง แต่หลังๆ เริ่มขยับมาให้ต้องเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วย เพราะในโลกยุคหลังมีการยอมรับแนวคิดว่า คนทำงาน 1 คน ก็มีภาระอื่นให้ต้องเลี้ยงดูนอกเหนือจากตัวเองด้วย แต่ถึงอย่างนั้น นิยาม ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ของไทยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้เลี้ยงดูตัวเองคนเดียวได้ แต่สำหรับ ‘ค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิต’ มันครอบคลุมทั้งการเลี้ยงตนเองและการเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันอีกว่าแล้วจะนับจำนวนคนในครอบครัวเป็นคนกี่คน

ผมเสนอว่าในครอบครัวของสังคมไทย ควรนับรวมผู้สูงอายุเข้ามาในจำนวนผู้พึ่งพิงด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้สูงอายุยังต้องทำงานในวัยเกษียณ ควรจะมีกิจกรรมนันทนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเขา คนสูงวัยเหล่านี้ควรได้อยู่ในคอมมูนิตี้ ได้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมผ่อนคลาย พบปะสังสรรค์กับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นว่าสังคมเราพยายามผลักให้คนสูงอายุไปทำงานเพื่อจะมีรายได้ และพึ่งพาตัวเอง ถ้าสังคมมีระบบการดูแลจัดการที่ดีอยู่แล้ว คนสูงอายุจะไม่ต้องทำงานเลย มันกลายเป็นว่าเราต้องมานั่งมองเผื่อไปถึงจุดนั้นอีก ผมเลยอยากให้อนุมานไปเลยว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้พึ่งพิงในครัวเรือน

ครัวเรือนของคนไทยปัจจุบันจะมีผู้สูงอายุหลังเกษียณที่ต้องเลี้ยงดูอีก 1-2 คน ถ้านับตามอายุขัยเฉลี่ยที่ 70 ปี ก็จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงวัยอย่างต่ำอีก 10 ปี เพราะฉะนั้น Living Wage สำหรับประเทศไทยอาจไม่สามารถมองแค่เด็กตามหลักคิดเดิมของริชาร์ด แองเคอร์ (Richard Anker) ผู้ศึกษาเรื่องนี้ได้ แต่ต้องมองเผื่อไปถึงคนชราในครอบครัวด้วย

ถ้าประเทศไทยมีฐานคิดประมาณนี้ เราจะเข้าใจได้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ยังไม่สมเหตุสมผล รายได้ของแรงงานตอนนี้ยังไม่สามารถประกันว่าเขาจะอยู่ได้เลย ถ้าเรายกระดับ Minimum Wage ให้กลายเป็น Living Wage มันจะดีกว่าไหม ดีกว่าที่บอกว่าให้ดูแลตัวเองตามอัตภาพ ทุกวันนี้เวลาเราพูดถึงมิติทางเศรษฐกิจคู่กับมาตรฐานการดำรงชีวิต (Standard of living) แค่ปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม แรงงานยังเข้าไม่ถึงเลย 

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต คือการที่แรงงานต้องทำโอทีหลังเวลางาน ซึ่งขัดกับหลักการ 8-8-8 อย่างรุนแรง (8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงพักผ่อน และ 8 ชั่วโมงของชีวิตส่วนตัว) เพราะถ้าหลักนี้ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพจริง ลูกจ้างก็คงไม่ต้องทำโอที หลายๆ ครั้งนักวิชาการที่ออกมาถกเถียงเรื่องนี้ก็ไม่ได้คุยกับคนงานจริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าคนงานในชีวิตจริงต้องทำโอทีทุกวันเพื่อให้ค่าจ้างมันมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่งั้นมันไม่พอใช้ บางคนทำโอทีจนได้เงินรวมๆ แล้วเดือนละเกือบ 20,000 บาท อย่างกับเป็นพนักงานรายเดือน

เราจะสามารถหาจุดสมดุลตรงกลาง เพื่อออกแบบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำยังไงได้บ้าง

ผมสนับสนุนให้เกิด Living Wage โดยที่ไม่ควรใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเพียงอย่างเดียว เพราะผมเคยลองคำนวณตามสูตรของริชาร์ด แองเคอร์ ค่าจ้างที่ออกมายังไงมันก็ไม่เกิน 15,000 บาท เราถึงต้องใช้ข้อมูลปฐมภูมิด้วย คุณต้องไปสำรวจ ศึกษาในเชิงพื้นที่เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายจริงๆ ของแรงงาน ซึ่งผมพูดจริงๆ ว่าราชการคงไม่กล้าทำ เพราะถ้าทำก็จะพบว่าตัวเลขค่าครองชีพจริงๆ มันสูงกว่าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติคำนวณออกมาผ่านสูตรด้านเศรษฐศาสตร์แน่นอน 

ตัวเลขค่าจ้างแบบ ‘Living Wage’ ที่เคยนำเสนอในรายงานว่าควรเริ่มต้นที่ประมาณ 700-1,000 บาทต่อวัน มีที่มาอย่างไร เก็บข้อมูลยังไง

ใช้การสำรวจครับ ตอนจัดทำรายงานมีการคุยกันระหว่างคณะทำงานกับ กมธ.แรงงาน ว่า เราจะออกแบบการสำรวจอย่างไรดี จะเก็บข้อมูลแค่บางจังหวัดหรือเก็บภาพรวมทั้งประเทศ เราเก็บข้อมูลแค่ประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะคนตอบกันเร็วมาก ไม่ทันไรก็หลักพันแล้ว ผมดูข้อมูลทั้งหมดแล้วพยายามประมวลสถิติออกมา

งานชิ้นนี้ไม่ถึงกับเป็นงานวิจัย แต่คือการสำรวจภาพรวม เราได้กระจายแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์บ้าง ผ่านเครือข่ายของแรงงานบ้าง ผู้ให้ข้อมูลส่วนมากมักอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูง แน่นอนอยู่แล้วว่า คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมก็คงไม่ตอบกลับมาเท่าไรหรอก ข้อมูลที่ได้มาจึงกระจุกในจังหวัดที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ปทุมธานี และกรุงเทพฯ 

ผมมองว่า ข้อมูลชุดนี้น่าจะเป็นภาพแทนของแรงงานในอุตสาหกรรมได้อยู่ ตัวเลขไม่ได้ ‘โป่ง’ เกินความเป็นจริง เรามีกระบวนการรีเช็กกับแรงงานจริงๆ ด้วย ครึ่งเช้าเปิดเวทีให้นักวิชาการ ครึ่งบ่ายเปิดพื้นที่ให้คนงานแลกเปลี่ยนความเห็น พบว่าไม่มีความเห็นแย้งในเรื่องตัวเลข สุดท้ายเมื่อทุกคนเทียบตัวเลขเหล่านั้นกับค่าใช้จ่ายในชีวิตตนเองและครอบครัวจริงๆ ก็จะพบว่าตัวเลขมันไม่ได้เยอะเลย ไม่แน่บางทีมันอาจจะต่ำไปด้วยซ้ำ 

ผมไม่อยากเก็บข้อมูลของคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ผมอยากดูข้อมูลค่าครองชีพมากกว่า เพื่อสะท้อนภาพใหญ่ๆ เลยว่า ถ้าค่าครองชีพสูงเท่านี้ แล้วยังมีคนได้ค่าแรงต่ำกว่าระดับนั้น แสดงว่าเขาต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตต่ำเตี้ยเรี่ยดินแค่ไหน และเราควรจะต้องดึงคนทั้งก้อนทั้งหมดนั้นขึ้นมาให้ได้ใช่หรือเปล่า ถ้าเราโฟกัสที่ค่าแรงขั้นต่ำเราก็จะได้แค่นั้น เราก็จะรู้แค่ว่าเขาต้องทำงานหนักขึ้นอีกกี่ชั่วโมงเพื่อให้ได้รับค่าจ้างเท่านั้น แต่เขาจะบริหารจัดการเงินก้อนนั้นอย่างไรล่ะ เขาจะได้นอนหลับพักผ่อนกี่ชั่วโมง เพียงพอไหม ต้องกินอาหารเท่าไหร่ ใช้เงินกี่บาท เรื่องนี้มันต้องเอาค่าครองชีพมาพิจารณาประกอบด้วย

แล้วอีกอย่าง เราไม่รู้จำนวนที่แน่ชัดของคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในไทย กระทรวงแรงงานเองก็ไม่มีตัวเลขนี้ บางคนบอกประมาณ 3 ล้านคน บางคนบอกอีกตัวเลขหนึ่ง แต่ทั้งหมดคือการประมาณการทั้งสิ้น

ทำไมเราถึงไม่รู้ตัวเลขน่ะเหรอ เพราะว่ากรมสวัสดิการแรงงานไม่ได้เก็บข้อมูลด้านนี้โดยตรง สถานประกอบการก็ไม่ได้ส่งตัวเลขของคนที่ได้รับค่าจ้างให้กรมสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าจ้างรายเดือน องค์กรที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ สำนักงานประกันสังคม เพราะผู้ประกอบการต้องยื่นตัวเลขเพื่อหักรายได้กับเงินสมทบ แต่ประกันสังคมก็ยังรู้แค่ข้อมูลเดียว คือ รายได้สุทธิ ซึ่งไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำที่เขาได้จากการทำงานจริงๆ และในทางปฏิบัติมันยังมีรายได้อื่นๆ เช่น ทำโอที แต่พอยื่นใบเสร็จเป็นตัวเลขกลมๆ ก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คุณได้ค่าแรงขั้นต่ำจริงหรือเปล่า ยังไงกระทรวงแรงงานก็ไม่มีตัวเลขของคนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ

และเพราะกระทรวงไม่มีตัวเลขพวกนี้ ผมจึงตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า กระทรวงจึงไม่ค่อยออกมาแย้งในประเด็นเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ฝ่ายที่แย้งมักเป็นนายจ้าง ตัวแทนสหภาพแรงงานบางกลุ่มที่ดันเข้าข้างนายทุนหรือพวกนักการเมือง ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงเงียบและวางตัวดีมาก เพราะเขารู้ว่าต้องวางตัวเป็นกลางที่สุด ถ้าไป take side ก็อาจมีปัญหาได้ทันที เขาควรต้องจัดการสมดุลระหว่างทุนและแรงงานใช่ไหม แต่บังเอิญว่ารัฐมนตรีวางตัวไม่เป็นกลาง เพราะไปตามกระแสการเมือง

ดังนั้นถ้าฝ่ายนโยบายหรือใครก็ตามเห็นว่า การสำรวจค่าครองชีพที่เป็นข้อมูลเชิงปฐมภูมิของประชาชนในพื้นที่สำคัญจริงๆ เพื่อเอาไปพิจารณาประกอบข้อมูลทุติยภูมิที่สำนักงานสถิติแห่งชาติหรือหน่วยงานภาครัฐมีอยู่ในมือแล้ว ก็น่าจะช่วยกันดำเนินการนะครับ มันอยู่ที่ว่าภาครัฐจะทำไหม ฝ่ายการเมืองจะเอาด้วยหรือเปล่า เพราะตัวเลขที่ออกมามันจะสูงกว่าที่เขาเคยประเมินกันแน่นอนครับ ผมบอกแค่นี้ว่า ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำต้องสูงขึ้นอยู่แล้วถ้าเก็บจากค่าครองชีพจริงๆ ผมยังท้าเสมอว่า ถ้าคุณดูจากค่าครองชีพ ยังไงมันสูงกว่าตัวเลขที่เขามีอยู่แน่นอน

จริงๆ แล้วทางที่ดีก็ควรเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ กมธ.แรงงาน ซึ่งแทบไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายเลย อย่างมากก็ได้แค่ผลักดันประเด็น

แต่ประเด็นคือว่า หน่วยงานราชการและภาคธุรกิจเองก็ต้องมีความจริงใจ ฝั่งแรงงานเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางจริงๆ ไม่ใช่ถูกชี้นิ้วให้ทำตามหรืออยู่ภายใต้อำนาจเขา ฝ่ายวิชาการเองก็ต้องมีความเป็นมนุษย์ด้วย หลายๆ องค์ประกอบต้องมาร่วมมือกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ตัวเลข 700-1,000 บาทต่อวัน ที่อาจารย์บอกว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่สุด จริงๆ แล้วมันเพียงพอหรือยัง

ต้องชี้แจงว่า ตอนแรกตัวเลขเหล่านั้น ผมคิดออกมาเป็นรายเดือน แต่มีคนบอกให้ผมเฉลี่ยเป็นรายวัน สื่อก็เอาไปเขียนเป็นรายวันทั้งหมด

ผมคิดว่าตัวเลขรายได้ต้องเป็นรายเดือน เพราะผมไม่สนับสนุนการจ่ายค่าจ้างรายวันหรือรายชั่วโมงอยู่แล้ว ผมอยากให้เราคิด Living Wage เป็นรายเดือน เพราะเราไม่ได้จ่ายทุกอย่างเป็นรายวัน ค่าเช่าห้อง ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงรายจ่ายต่างๆ ของมนุษย์ก็คิดเป็นรายเดือนทั้งนั้นใช่ไหมครับ ผมจึงคำนวณค่าตอบแทนเพื่อการยังชีพออกมาเป็นรายเดือน คือ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน (สำหรับคนที่เลี้ยงตัวเองคนเดียว) พอมีคนบอกให้เสนอเป็นรายวัน มันก็ตกอยู่ที่ 700 กว่าบาท ผมก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายมันก็ถือว่าเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาทอยู่ดี

แต่คำถามคือว่า เงิน 20,000 กว่าบาท ตอนนี้มันพอใช้ถึงเดือนไหม ผมว่าอาจไม่พอ ต่อให้พอก็ไม่เหลือเงินเก็บ คือปัจจัยค่าครองชีพมันมีหลายเรื่องมากๆ มนุษย์คนหนึ่งต้องกินอาหารต่อวันเท่าไหร่ ใช้เงินกี่บาท นี่ยังไม่นับรวมว่าคนประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนย้ายถิ่น ไม่ได้ทำงานในภูมิลำเนาของตนเอง นั่นหมายความว่า เขาจะต้องเสียค่าเช่าและค่าเดินทางอีกเท่าไหร่ ตัวเลขที่ผมเสนอก็มาจากเอาค่าครองชีพในแต่ละด้านมาคำนวณมาตรฐานค่าครองชีพแบบกลางๆ ของมนุษย์วัยทำงาน เพื่อสะท้อนภาพใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อมีการพูดเรื่องขึ้นค่าแรง นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์มักกังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ผู้ประกอบการจะถูกบีบให้ลดต้นทุน ลดการจ้างงาน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ที่ค่าแรงต่ำกว่า มิฉะนั้นก็เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมนุษย์ไปเลย สุดท้ายแล้วนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานกลับจะทำให้คนหางานยากขึ้น อาจารย์มีความคิดเห็นต่อประเด็นเหล่านี้อย่างไร

ผมเองไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ในฐานะคนทำงานเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ผมก็จะบอกว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องกดค่าแรงลงเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ มันหมายความว่าธุรกิจนั้นอยู่ไม่ไหวแล้วใช่หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ไหว คุณก็ไม่ควรประกอบกิจการแล้วหรือเปล่า อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า เขาไม่ไหวจริงๆ หรือเพียงเพราะต้องการส่วนแบ่งกำไรจำนวนมาก เรื่องนี้ต้องพูดกันชัดๆ

จริงๆ แล้ว คุณแบ่งกำไรของตัวเองให้น้อยลง แล้วจ่ายเงินให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้นได้ไหม พูดอย่างนี้เดี๋ยวหาว่าผมเป็นมาร์กซิสต์อีก (หัวเราะ) ผมคิดว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคุณไม่ไหวจริงๆ หรือต้องการกำไรมากๆ แค่นั้นเอง ถ้าผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว รัฐบาลยังจะปล่อยให้เขาเข้ามาลงทุนในประเทศเราอยู่ทำไม เราควรรู้ใช่ไหมว่าธุรกิจแบบไหนมีศักยภาพในการลงทุน หรือเราต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบช่วงทศวรรษ 2510-2520 แต่จ่ายค่าแรงต่ำๆ กดขี่แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตต่ำ จะเอาแบบนั้นจริงๆ เหรอครับ 

มันก็พูดยากนะ นักเศรษฐศาสตร์คงไม่ยอมให้ผมพูดหรอก เพราะเขาต้องการให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเยอะๆ เศรษฐกิจจึงจะโต แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็ควรทำให้ธุรกิจเหล่านั้นจ้างงานอย่างเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิของคนงานให้สามารถใช้ชีวิตที่มีมาตรฐานได้ใช่หรือเปล่า คือถ้าเขาจ้างไม่ได้ ก็ควรทบทวนตัวเองแล้วว่า สมควรทำธุรกิจต่อไปหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน ถามว่าถ้าย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกลง นั่นหมายความว่า เขาไปกดต้นทุนแรงงานในประเทศเหล่านั้นอยู่ดีไม่ใช่เหรอ สุดท้ายก็ยังมีการละเมิดสิทธิแรงงานอยู่ ผมพูดตรงๆ ว่าวิธีคิดแบบนั้นมันเลวมากนะ เน้นให้เศรษฐกิจโตอย่างเดียว แต่ไม่สนใจคุณภาพชีวิตคนเลย อ้างอยู่นั่นว่าจ่ายไม่ไหว คือผมก็ไม่ได้เรียกร้องให้ต้องจ่าย 700 บาทหรอก ผมพูดเสมอว่า ถ้านายจ้างจ่ายไม่ได้ รัฐสามารถช่วยสนับสนุนอะไรบ้างได้ไหม คุณจะช่วยคนงานไปพร้อมๆ กับอุ้มผู้ประกอบการก็ว่ากันไป แต่ต้องไม่ใช่การกดค่าจ้างให้ต่ำ เพื่อให้เขาขูดรีดแรงงานฝ่ายเดียว 

นอกจากนี้ เรายังต้องพิจารณาประเด็นจากฝั่งลูกจ้างอีกเยอะ เช่น มีคนบอกว่า บางทีการเพิ่มค่าครองชีพก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมว่าโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ ทุกวันนี้สิ่งที่เคยเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาถูก ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐแล้ว เพราะถูกแปรรูปให้เอกชนทำเกือบหมด ตัวอย่างเช่น ปัญหาค่าเทอมแพงหรือหนี้ กยศ. จำนวนมากเกิดขึ้นได้ เพราะมหาวิทยาลัยถูกแปรรูปออกไปหมดแล้ว เรื่องขนส่งสาธารณะก็เช่นกัน เจตนารมณ์แรกเริ่มที่ก่อตั้ง ขสมก. ก็เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ง่าย แต่ตอนนี้ไม่มีรถเมล์ราคาถูกอีกแล้ว รถเมล์สีฟ้าอย่างต่ำก็ราคาเที่ยวละ 15-30 บาท ของพวกนี้ราคาแพงขึ้นหมดเลย

เราต้องทบทวนใหม่ว่า รัฐจะช่วยสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะเหล่านี้แก่ประชาชนได้ไหม การสนับสนุนแบบรายเดือนอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอาจไม่ตอบโจทย์หรือสอดคล้องกับปัญหาก็ได้ เช่น ถ้าเงินในบัตรหมดจะทำยังไงต่อ บางบริการควรต้องราคาถูกหรือฟรีไปเลยไหม แน่นอนว่าเราต้องพิจารณาในรายละเอียดกันอีกเยอะ

อีกประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันคือ การทะลักเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ครอบคลุมแรงงานทุกสัญชาติ นำไปสู่ความกังวลและความรู้สึกเชิงชาตินิยมว่า แรงงานไทยอาจถูกแย่งงานไปจนหมด อาจารย์คิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าว

ผมเคยได้ยินฝั่งนายจ้างพูดว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อยากให้เพิ่มสวัสดิการหรือ incentive (แรงจูงใจ) อย่างอื่นแทน เช่น ออกกฎหมายว่าจะเพิ่มเงินให้แรงงานไทยเท่านั้น แรงงานข้ามชาติไม่ต้อง ผมฟังแล้วตกใจ นี่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติแล้วนะครับ และยังไปละเมิดหลักการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้หลายฉบับ อาทิ อนุสัญญาฉบับที่ 111 ของ ILO เรื่องการเลือกปฏิบัติ การจ้างงานและอาชีพ ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักเกี่ยวกับแรงงาน (Core Labour Standards) ที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม และเป็นหลักการที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ 

สมมุติมีคนบอกว่าคนไทยจะถูกแย่งงาน ผมเสนอหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานง่ายๆ เลย ตามสำนัก Neo-Classic ที่พวกนายทุนชอบอ้างก็ได้ โดยธรรมชาติของมนุษย์ แรงงานมีแนวโน้มจะย้ายไปทำงานในพื้นที่ที่เจริญและมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าเสมอ แล้วส่งเงินกลับบ้าน ตัวอย่างเช่น ผมลงพื้นที่ในเมืองมอญที่ประเทศพม่า พบว่ามีคนข้ามมาทำงานในไทย 2-5 ปี จนส่งเงินกลับให้ครอบครัวสร้างบ้านได้ ถ้าเขาอยู่ที่พม่าก็คงไม่มีเงินขนาดนั้น คนไทยก็ไม่ต่างกันหรอก ถ้าทำงานรับค่าจ้างขั้นต่ำในไทยมันก็สร้างบ้านไม่ได้ เลี้ยงครอบครัวไม่ได้ หลายคนจึงย้ายไปทำงานประเทศอื่น เช่น ไปเก็บผลไม้หรือเป็นแรงงานก่อสร้างในญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้

พูดง่ายๆ เขาข้ามถิ่นไปทำงานที่เรียกด้วยภาษานายทุนว่า ‘unskilled labour’ หรือแรงงานไร้ทักษะ เอาค่าจ้างเยอะๆ ส่งกลับมาให้ครอบครัวตัวเองได้มีฐานะที่ดีขึ้น ลักษณะมันเป็นแบบนี้ครับ ผมกำลังจะบอกว่า ถ้าค่าจ้างในประเทศเราสูงจนเขาสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ คนกลุ่มนี้คงไม่ต้องออกไป ในทางกลับกันมันจะดึงแรงงานจากประเทศอื่นๆ เข้ามาด้วยซ้ำ ค่าจ้างที่สูงจะดึงดูดคนไทยในตลาดแรงงานก่อนแน่นอน แต่เพราะค่าจ้างของเราต่ำไง มันก็เลยดีดคนไทยที่เป็น unskilled labour ไปยังพื้นที่อื่นที่ค่าตอบแทนดีกว่า

สังคมของแต่ละประเทศมักบีบให้คนออกไปแสวงหาโอกาสข้างนอก โดยเฉพาะคนงานที่เป็นฐานระดับล่างๆ พวกเขาก็ต้องพยายามดิ้นรนหาโอกาสที่ดีกว่าตลาดในประเทศจะมอบให้ได้ นี่คือเรื่องพื้นฐานมากๆ เลย

ส่วนประเด็นว่า ค่าแรงสูงๆ จะดึงดูดแรงงานข้ามชาติเข้ามามากแค่ไหน ผมว่าอยู่ที่มาตรการของรัฐ ถ้ามีมาตรการนำเข้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ก็จะบริหารจัดการได้ แต่ตอนนี้เอาเข้าจริงมันจัดการไม่ได้ไง มีคนลักลอบเข้ามาเต็มไปหมดเลย อย่าบอกว่าไม่เห็นนะ ไปเดินตลาดสด ไปแผงไหนคุณก็เห็น นักกฎหมายบอกว่าแรงงานข้ามชาติทำได้เฉพาะงานกรรมกรกับงานแม่บ้าน แต่เอาเข้าจริงก็เห็นทำงานอื่นๆ เยอะแยะ บางรายเป็นเจ้าของร้านด้วยซ้ำ

ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ทำไมเขาทำได้ คนไทยไม่ทำงานเหล่านั้นจริงไหม หรือที่จริงแล้วรัฐตั้งใจทำให้แรงงานเหล่านี้ผิดกฎหมาย แต่ก็ปล่อยให้เขาทำได้ แล้วค่อยแสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการนี้ ไม่ต่างจากยุคก่อนๆ ที่ข้าราชการรับเงินใต้โต๊ะหรือรับส่วยหรอก แค่เปลี่ยนรูปแบบ 

ผมมองว่า เราสามารถสร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพจริงได้ ตั้งแต่การประเมินความต้องการแรงงานที่จำเป็นต้องใช้ อัตราค่าจ้าง เรื่องเหล่านี้ประเมินยากนักหรือ โอเคมันอาจไม่ง่ายนัก แต่อาจเริ่มจากการสำรวจความต้องการของแต่ละกลุ่มทุนก่อนไหม เพราะแต่ละธุรกิจต้องขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว ถ้านำเข้าแรงงานตาม MOU มันก็ต้องผ่านรัฐอยู่แล้ว รัฐจะสามารถประเมินความต้องการได้ ถ้าเกินโควต้าแล้วก็ไม่ต้องอนุมัติให้นำเข้า หรือจะกำหนดสัดส่วนอย่างไรก็ว่ากันไป

แต่ประเด็นทั้งหมดนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของเรายังไม่ดีพอ และปล่อยให้เกิดการลักลอบได้ง่าย

สรุปแล้วกระบวนการแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย หน่วยงานหรือองค์กรใดควรมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้บ้าง และจะทำอย่างไร

ผมว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยเลย กระทรวงแรงงานแน่ๆ อยู่แล้ว หน่วยงานมันสมอง (think tank) เช่น สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ก็ต้องมาช่วย รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ถ้าพูดว่าค่าแรงไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายสังคมด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็คงต้องเกี่ยว

ภาคเอกชนควรต้อง take action มากกว่านี้ เพราะเอกชนใหญ่ๆ ในบ้านเราประกาศสนับสนุนหลักการต่างๆ ที่รับรองสิทธิมนุษยชนเยอะมาก เช่น ‘UN Global Compact’ ที่เรียกร้องให้บริษัททุกแห่งทั่วโลกดำเนินงานสอดคล้องกับหลักการ 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แรงงาน และการต่อต้านการทุจริต หรือมาตรฐานแรงงานหลัก (Core Labour Standards) ดังนั้น เราควรจับตาว่า ภาคธุรกิจที่ประกาศตัวว่าประกอบการอย่างเป็นธรรมทั้งหลายนั้น เขาดำเนินการอย่างเป็นธรรมจริงหรือเปล่า ดูแล supplier ดูแลคนงานดีพอหรือเปล่า เส้นทางการผลิตต่างๆ มีความโปร่งใสจริงไหม 

ฝั่งคนงานผมว่าก็สำคัญ เราอาจต้องทบทวนประเด็นเรื่องตัวแทนของแรงงานใหม่ ใครควรมีส่วนร่วมได้บ้าง ลำพังแค่สภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่มีอยู่ 15-16 แห่ง อาจไม่พอ ผมว่าตัวแทนแรงงานต้องมีมากกว่านั้น เราควรต้องมีกลไกอื่นๆ และมีพื้นที่ที่เปิดกว้างกว่านี้ สำหรับผม พ.ร.บ. ฉบับนี้คือตัวการที่ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแรงลง เพราะตีกรอบการเคลื่อนไหวให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า