คณะทำงานฯ รัฐสภาเผยค่าแรงขั้นต่ำควรเริ่มที่ 723 บาท/วัน หลังผลสำรวจพบรายได้แรงงานไทยไม่เหลือเก็บ

ประเทศไทยภายใต้สภาวะที่รายได้ดิ่งสวนทางกับรายจ่ายและค่าครองชีพ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือหมัดหนักที่พรรคเพื่อไทยเลือกใช้ในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 โดยแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมแห่งพรรคเพื่อไทย ระบุในการประชุมวิสามัญใหญ่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ในปี 2570 ค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะต้องถูกปรับจากประมาณ 300 บาท ให้เพิ่มเป็น 600 บาท รวมถึงเงินเดือนเริ่มต้นของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะถูกเพิ่มจาก 15,000 บาท ให้เป็น 25,000 บาท

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างทิ้งระยะห่างหลังจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุดภายใต้รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งค่าแรงอยู่ที่ระหว่าง 328-354 บาทต่อวัน ปลุกกระแสจากผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่ม First Jobbers และเป็นที่จับตามองของกลุ่มนายทุน ผู้ประกอบการ และนักเศรษฐศาสตร์ ว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบอะไรไปถึงวงจรการผลิตในสังคมแรงงาน

ในขณะที่นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคล้ายเป็นแสงสว่างในสังคมความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานจำนวนมาก กระแสต่อต้านก็ยังเกิดขึ้นด้วยข้อขัดแย้งจากกลุ่มผู้อยู่เหนือฐานค่าแรงขั้นต่ำว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท จะทำให้ค่าครองชีพภายในประเทศเพิ่มสูงกว่าที่เป็นอยู่ กลุ่มเจ้าของกิจการรวมไปถึงภาครัฐอาจจะต้องแบกรับหนี้สินที่มากขึ้นตามไปด้วย ข้อถกเถียงดังกล่าวจึงถูกแยกออกมา 2 มุมมอง คือจากฝั่งผู้ใช้แรงงาน กับฝั่งต้นทุนอย่างเจ้าของกิจการและองค์กรภาครัฐผู้บริหารจัดการด้านแรงงาน

ในประเด็นนี้ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้กับรัฐสภา ได้อธิบายไว้ในวงเสวนา ‘แบกหนี้ กยศ. มารับค่าแรงขั้นต่ำ เราจะแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษ​าได้อย่างไร’ ผ่านแนวคิด Living Wage ซึ่งว่าด้วยการจัดสรรค่าจ้างขั้นต่ำที่ ‘เพียงพอ’ ต่อการดำรงชีวิตของแรงงาน โดยขอบเขตการดำรงชีวิตนั้น ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง รวมไปถึงต้องมีเงินไว้สำหรับเก็บออม

ดร.กฤษฎา กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่การไม่พอใช้เป็นรายเดือนหรือรายวัน แต่ยังส่งผลระยะยาวการพัฒนาคุณภาพชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพราะหากค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็น แรงงานก็ไม่สามารถจะมีเงินเก็บเพื่อสำรองใช้ หรือเป็นต้นทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเองเมื่ออายุมากขึ้น

ข้อมูลจากการสำรวจค่าครองชีพกลุ่มตัวอย่างแรงงานของคณะทำงานฯ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานร้อยละ 66 มีเงินฝากสะสมในบัญชีธนาคารไม่ถึง 10,000 บาท และแรงงานถึงร้อยละ 45.5 ไม่มีเงินเหลือสำหรับการเก็บออม ขณะเดียวกัน การสำรวจยังพบว่ากลุ่มแรงงานส่วนใหญ่มีสมาชิกในครัวเรือนที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ นั่นแปลว่ารายได้ที่ไม่เพียงพอต่อชีวิตของผู้ใช้แรงงาน 1 คน ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปากท้องของคนข้างหลังอีกหลายชีวิต

ความแร้นแค้นและการถูกลดคุณภาพชีวิตจากค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผล จึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับตัวผู้ใช้แรงงาน แต่อาจลุกลามไปถึงประชากรกลุ่มเปราะบางในสังคม ทั้งทารกแรกเกิด เยาวชนวัยเรียน ไปจนถึงคนแก่หลังเกษียณ

แม้รัฐบาลไทยจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ด้วยการขยับให้เพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับถูกแช่แข็ง นั่นทำให้แรงงานจำนวนมากต้องขายแรงงานในชั่วโมงที่มากขึ้นผ่านการทำโอที เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม แรงงานบางส่วนต้องย้ายงานบ่อยครั้งเพื่อไปรับเงินเดือนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นในที่ทำงานใหม่ ส่งผลต่ออำนาจการต่อรอง การรวมกลุ่ม และสวัสดิการของบริษัทที่อิงกับอายุงาน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะทำงานฯ ได้คำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของแรงงานโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลการสำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 พบว่ารายได้ของครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิงจะต้องไม่น้อยกว่า 723-789 บาทต่อวัน และรายได้ของครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง (2-3 คน) ต้องไม่น้อยกว่า 1,003-1,070.50 บาทต่อวัน แต่ขณะนี้ค่าแรงขั้นต่ำรายวันสูงสุดยังอยู่ที่ 354 บาท หรือเพียงครึ่งหนึ่งที่ควรจะได้รับเท่านั้น

ดร.กฤษฎา วิเคราะห์เพื่อขยายปัญหานี้ว่า นโยบายด้านค่าแรงในประเทศไทยถูกออกแบบจากบนลงล่าง (top-down approach) ซึ่งคือการประเมินและคำนวณค่าแรงผ่านตัวชี้วัดจากรัฐบาลและกลุ่มทุน อันได้แก่ ดัชนีทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สูตรคำนวณค่าครองชีพที่พยายามทำให้เป็นแบบสำเร็จรูป แต่กลับไม่สมเหตุสมผลในการปรับใช้ในสภาพเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการทำงานของกระทรวงแรงงานที่ไม่มีข้อมูลจำนวนของประชาชนวัยแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้การแก้ไขปัญหาค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ไม่ครอบคลุมปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจจะเกิดกับคุณภาพชีวิตแรงงานได้ครบทุกกลุ่ม

ดร.กฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานที่มีมากกว่าแค่ในชีวิตตัวเอง ซึ่งภาระภายนอกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ในขอบเขตการค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตของแรงงาน หากแต่เมื่อค่าแรงขั้นต่ำยังไม่สามารถซื้อ ‘ชีวิตปกติ’ ให้กับแรงงาน 1 คนได้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเงินนั้นจะถูกจัดสรรไปให้กับภาระอื่นๆ ในเบื้องหลัง

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า