พักหนี้ครัวเรือน ยกเลิกหนี้ กยศ. และข้อเรียกร้อง 10 ประการของแรงงาน ในฐานะคน 99% ของประเทศ

การระบาดของ COVID-19 ดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงที่ว่าทั้งหมายถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในวงกว้าง และผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่เริ่มกรอบเพราะต้องต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งลงมายาวนาน แน่ละที่ผ่านมารัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้คนอยู่เนืองๆ แต่หากพิจารณาในมุมของขบวนการแรงงาน มาตรการช่วยเหลือเหล่านั้นกลับกระจุกอยู่ในคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งยังต้องรีบฉกชิงสิทธิเหล่านั้นแข่งกับเวลาและการเข้าถึงแพลตฟอร์ม ที่มากกว่านั้นคือการยื่นมือของรัฐเอื้อให้กับผู้ร่ำรวยเพียง 1% ของประเทศ ขณะที่อีก 99% ต้องลอยคอรอคอยโชคชะตา โดยไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกสักกี่น้ำ

ข้อสังเกตเหล่านี้นำมาสู่การเรียกร้องของขบวนการแรงงาน ซึ่งออกแถลงการณ์ในวันที่ 11 มกราคม 2564 ว่าด้วยแนวทางการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมีเป้าหมาย ถ้วนหน้า และชัดเจน บรรทัดต่อจากนี้คือบรรดาข้อเสนอเหล่านั้น หนึ่ง – เรียกร้องต่อรัฐโดยตรง สอง – สื่อสารกับผู้คนถ้วนหน้าในฐานะ 99% ของชาติที่ร่วมขับเคลื่อนประเทศนี้อยู่

….

แถลงการณ์มาตรการเยียวยาแรงงานจากผลการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งใหม่
ต้องชัดเจน เพียงพอ ครอบคลุมทุกคนในประเทศ
โดย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และองค์กรภาคี
วันที่ 11 มกราคม 2564

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากรัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งมีการออกมาตรการที่กระทบต่อทั้งผู้ประกอบการ แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

ขณะนี้ สถานประกอบการจำนวนมากต้องหยุดดำเนินการโดยไม่มีงบประมาณชดเชยจากรัฐ แรงงานถูกสั่งให้หยุดงาน หรือให้ทำงานจากที่บ้าน ถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง ซึ่งทำให้คนทำงานต้องรับภาระต้นทุนในการทำงานมากขึ้น จำเป็นต้องทำงานเสริมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ขณะที่ภาระหนี้สินยังคงเป็นภาระต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้สินจากการศึกษา (กยศ.) มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ รวมถึงแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปภาคเกษตรกำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก หรือมีปัญหาการขนส่งผลผลิตไปสู่ตลาดและผู้บริโภค นอกจากนี้ แรงงานที่สูญเสียงานประจำจากมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกยังหลั่งไหลไปเป็นแรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมาก เช่น เป็นพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทราบกันว่าเป็นงานที่ไม่มั่นคง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และไม่มีสวัสดิการใดรองรับ

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐมีความพยายามจะออกมาตรการเยียวยาประชาชนออกมาบ้าง เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง หรือการชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ก็พบว่ามีระเบียบขั้นตอนยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง (เช่น กรณีการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ) ให้สิทธิไม่ครบถ้วนทุกคน ต้องแย่งชิงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อจะได้สิทธิมา กลายเป็นการใช้ภาษีจากประชาชนทุกคนเพื่อมาเยียวยาประชาชนแค่บางส่วนเท่านั้น นับเป็นความไม่คุ้มค่าอย่างมาก ในขณะที่มีประชาชนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่งเสวยสุขจากภาษีของเราอย่างไม่ทุกข์ร้อน ไม่ถูกรัฐสั่งปิดกิจการ ซ้ำยังร่ำรวยขึ้นมามหาศาลจากการกอบโกยผลกำไรช่วงมีการระบาด

เราในฐานะที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ 99% อีกทั้งเป็นผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้กับประเทศและสร้างความมั่งคั่งกว่า 99% ให้กับเศรษฐกิจทั้งระบบ (ที่มีนายทุนผู้ร่ำรวยเพียง 1% ของทั้งประเทศเป็นผู้ฉกฉวยครอบครองอยู่) ต้องการอยู่ในรัฐที่ไม่เพียงควบคุมการระบาดได้ดีเท่านั้น แต่จะต้องมีหน้าที่พยุงเศรษฐกิจในช่วงมีการระบาดไม่ให้ล้มครืนลงไปด้วย ฉะนั้น เราเห็นว่ารัฐจะต้องดำเนินมาตรการเยียวแรงงานจากผลการระบาดของโคน่าไวรัส 2019 ครั้งใหม่ที่ชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุมทุกกลุ่มที่อยู่อาศัยภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

  1. ขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จนถึงช่วงรับวัคซีน
  2. ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังข้างต้น โดยใช้ฐานข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยและคนไร้รัฐไร้สัญชาติของทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวเพื่อการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่
  3. จากที่ผ่านมาแต่ละสถาบันการเงินจะใช้ดุลพินิจพักหนี้คราวละ 3 เดือน แต่การพักหนี้ระยะสั้นไม่ส่งผลดีต่อการวางแผนชีวิต สร้างงานใหม่ จึงควรให้ออกมาตรการพักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเตอร์เน็ท เป็นเวลา 3 เดือน (มกราคมถึงมีนาคม 2564)
  4. ยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้ดำเนินการจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน เพราะการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับลดโยกย้ายงบประมาณจากส่วนอื่น ๆ ลงอาทิ งบกองทัพและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาชดเชยเพื่อสร้างการศึกษาที่ดีสำหรับประชาชน
  5. ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการมีสิทธิเลือกที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูล ‘-ชนะ’ ของรัฐหรือไม่ก็ได้
  6. จากบทเรียนการออกมาตรการเยียวยาครั้งที่ผ่านมา ที่ประสบปัญหาสับสน คลุมเครือ มีการแบ่งแยกกีดกันกันระหว่างแรงงานบางกลุ่ม และให้สิทธิไม่ถ้วนหน้า ครั้งนี้รัฐไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำเดิม โดยต้องให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และจะต้องไม่นำเงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยียวยาอีก
    1. หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100%
    2. สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%
    3. ลดเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ชั่วคราว โดยรัฐจ่ายสมทบเข้ากองทุนแทน
    4. สำหรับในระยะกลาง เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เช่น แรงงานภาคเกษตร รัฐควรสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันสังคม ตามมาตรา 39 และ 40 โดยรัฐสามารถช่วยจ่ายสมทบให้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด และส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด
    5. รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด (essential workers) ในระหว่างที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจส่งอาหารตามสั่ง ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม (platform business) ที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงของการระบาดฯ แต่แรงงานกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงในการทำงาน เป็นแรงงานรับจ้างทำงานรายชิ้นที่บริษัทเรียกอย่างผิดๆ ว่า “พาร์ทเนอร์”​ จึงไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่ธุรกิจร่วมจ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการเช่น เงินชดเชยจากการว่างงาน การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน
  7. รัฐต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของราชการ ดังนี้
    1. รัฐต้องอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบการที่สั่งงด เช่น ผับบาร์ โรงมหรสพ โรงละคร ในช่วงการใช้มาตรการโควิด 3 เดือน
    2. เปิดสถานที่ของรัฐหรือจัดสรรงบประมาณแก่รัฐวิสาหกิจ ให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเข้าใช้เพื่อทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในอัตราย่อมเยา เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), หอศิลป์ทั่วประเทศ รวมไปถึงพื้นที่อเนกประสงค์ที่กำกับดูแลโดยรัฐหรือแม้แต่พื้นที่โรงเรียนในชุมชนให้ส่งเสริมกิจกรรมศิลปะการแสดงของศิลปินมากขึ้น
    3. รัฐต้องประกาศจ้างงานการผลิตสื่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วยช่องทางศิลปะละคร ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ (ออนไลน์) เพื่อแสดงความจริงใจในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยใช้งบอุดหนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ดังเช่นเคยกระทำมาก่อน เพื่อบรรเทาการสูญเสียรายได้ของศิลปิน
    4. ในระยะยาว รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยอย่างจริงจัง เพื่อให้วงการมีความเข้มเเข็งเติบโตอย่างอิสระ สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าอีกมหาศาลเข้าประเทศตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น
      1. แก้ไขข้อกฎหมายให้มีรูปแบบการจดทะเบียนที่เหมาะสมกับผู้ที่ทำงานศิลปะทุกแขนง เพื่อให้คนทำงานศิลปะหรือหน่วยงานประชาสังคมอื่นๆ มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายและการจัดการด้านภาษีอย่างถูกต้องชัดเจน และสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
      2. มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจจากภาคเอกชนและประชาชนหันมาสนับสนุนงานศิลปะมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะการแสดงจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบัน ทุนจากภาครัฐนั้นก็มีข้อจำกัดต่อการสร้างงาน ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง รวมไปถึง มาตรการงดเว้นภาษีแก่คนทำงานศิลปะ
      3. พิจารณาการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้จัดกิจกรรมศิลปะ เป็นความสัมพันธ์แบบมีระยะห่าง จัดตั้งหน่วยงานอิสระที่บริหารงานโดยผู้ที่มีความเข้าใจด้านศิลปะอย่างแท้จริง รัฐนั้นจะทำหน้าที่บริหารงานรัฐกิจและอุปถัมภ์ศิลปะเพียงเท่านั้น เพื่อให้ศิลปะร่วมสมัยทุกแขนงขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ ภาคประชาสังคมรวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น
  8. มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ
    1. ปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยลดค่าตรวจโควิด-19 เป็นรูปแบบการตรวจเชิงรุกโดยภาครัฐ และปรับค่าประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าระบบประกันสังคมให้เหลือเพียง 3 เดือนระหว่างรอสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นภาระให้แก่แรงงานข้ามชาติและนายจ้างจนเกินไป และยังทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปรับลดค่าใช่จ่ายแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 (บัตรชมพูใหม่) และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยยกเว้นเรื่องการตรวจโควิด-19 เป็นรูปแบบการตรวจเชิงรุกโดยรัฐ และลดค่าวีซ่าลง เพื่อลดภาระของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง
    2. สั่งการสำนักตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่มีข้อกำหนดไม่ให้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร เพื่อรอการดำเนินการตามมติครม. และเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงปรากฏการจับกุม เช่น วันที่ 6 มกราคม 2564 พื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีสำนักเขตบางกอกน้อย ที่ยังมีการจับกุมดำเนินคดีอยู่
    3. ดำเนินการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่กำลังดำเนินการตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 ตามขั้นตอน การดำเนินการให้เสร็จภายใน 31 มกราคม 2564 มีแรงงานข้ามชาติทั้งประมาณ 240,000 คน และแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ ต้องต่อวีซ่ารอบสองตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 และ กลุ่มมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 จำนวนทั้งประเทศก็ราว ๆ 1.5 ล้านคน ซึ่งจะต้องไปตรวจสุขภาพและขอตรวจลงตราวีซ่า ในขณะนี้หลาย ๆ สถานพยาบาลมีมาตรการระงับการตรวจสุขภาพเพื่อขอตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานข้ามชาติไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินการไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการดำเนินการที่ก่อให้การการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากในสถานที่แออัดซึ่งขัดกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่รัฐบาลกำหนด โดยดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่า และให้แรงงานสามารถทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยตามอายุของบัตรชมพู เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหลุดจากระบบ
    4. ดำเนินการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่หนังสือเดินทางและเอกสารแทนหนังสือเดินทาง (CI/TD) กำลังจะหมดอายุ ภายในช่วงเดือนธันวาคม 2563 และต้นปี 2564 ที่ไม่สามารถต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาต ทำงานได้ราว ๆ 300,000 400,000 คนโดยประมาณ อยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการเฉพาะตามอายุของบัตรชมพู เพื่อลดปัญหาการกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและป้องกันการระบาดของโควิด-19
    5. กำหนดมาตรการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวตามมาตรการของรัฐ ขาดรายได้เนื่องจากปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงกรณีเลิกจ้างให้สามารถเข้าถึงการชดเชยการขาดรายได้ โดยมีขั้นตอนที่เอื้อต่อการเข้าถึง เช่น มีขั้นตอนการรับค่าชดเชยที่สะดวก ลดเงื่อนไขเรื่องการยื่นเอกสาร หรือมีภาษาของแรงงานข้ามชาติในการรับคำร้อง ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
    6. กำหนดมาตรการจูงใจให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเข้าสู่งกระบวนการทำเอกสารอย่างถูกต้อง ลดหย่อนค่าทำเอกสารอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ เพิ่มสิทธิประโยชน์มากมากขึ้น
  9. มีมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคงเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะต้องนำมาตรการเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้าและภาษีความมั่งคั่งจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ในสังคมไทยมาบังคับใช้
  10. การแพร่ระบาดรอบสองถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายให้กับประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปี รวมถึงเป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่ามกลางสภาวะวิกฤติในปัจจุบัน รัฐจำเป็นต้องตระหนักว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกระจายความมั่นคั่งในสังคมจากคนร่ำรวยที่สุด 1% ในประเทศ ไปให้กับผู้คน 99% ที่ทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศและความมั่งคั่งให้คน 1% มาตลอด เพื่อปากท้องของทุกคนในสังคม และเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของพวกเรานับจากนี้

แด่สวัสดิภาพของประชาชน 99%

รายชื่อแนบท้าย

  1. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
  2. กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง
  3. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.)
  4. กลุ่มสหภาพแรงงานปู่เจ้าสมิงพรายและใกล้เคียง
  5. กลุ่มศาลายาเนี่ยน – สหภาพนักศึกษาและคนทำงานแห่งศาลายา
  6. กลุ่มแรงงานเพื่อสังคม
  7. เครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย (BWICT)
  8. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
  9. เครือข่ายบรรณาธิการและนักเขียน
  10. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
  11. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  12. ชมรมคนงานสูงวัย
  13. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
  14. สหภาพแรงงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (UCC)
  15. สหภาพแรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งประเทศไทย
  16. สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI)
  17. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย
  18. สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
  19. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์
  20. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  21. มูลนิธิละครไทย
  22. มูลนิธิเพื่อนหญิง
  23. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
  24. Empower Foundation

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

วิศรุต แสนคำ
ช่างภาพ RealFrame เริ่มต้นจากภาพชุด “Behind Tin Wall” ที่บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานก่อสร้าง ใครจะรู้ว่าภาพชุดนั้นพาตัวเองเดินทางไปพบปะพูดคุยกับผู้คนอีกมากมาย และทำให้กลายเป็นคนหลงรักการถ่ายภาพ และชื่นชอบการสบตากับความจริงที่ตกหล่นจากสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า