“ขอจงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป” กำลังใจจาก ‘ดาวง์’ ซูเปอร์สตาร์เมียนมาผู้ไม่ศิโรราบ

เช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่เมียนมา กองกำลังทหารนำโดย พลเอกมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรีฑาทัพเข้ายึดอำนาจ อ้างว่าเกิดการทุจริตผลการเลือกตั้ง จึงควบคุมตัว อองซานซูจี และบุคคลสำคัญอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD)

ไม่ว่าองค์ประกอบหรือเหตุผลในการยึดอำนาจรัฐจะเป็นเช่นไร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็นับเป็นการทำลายหลักประชาธิปไตยของเมียนมาไปเสียแล้ว ซ้ำร้ายยังเป็นการรัฐประหารที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียด้วย

1 ปี เป็นระยะเวลาที่คณะรัฐประหารประกาศให้ประเทศอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน

0 วินาที เป็นระยะเวลาที่ชาวเมียนมาต้องการให้ทหารคุมอำนาจ

“หลังได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 เห็นได้ว่า เมียนมาไม่มีความสงบสุขมาโดยตลอด และต้องอยู่ภายใต้ผู้ที่มีอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีก บรรดาเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีใครคนไหนต้องการเจอเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนี้ แต่เรากลับต้องเจอเหตุการณ์นี้อีก เหตุการณ์ที่ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครอยากเจอ เพราะทุกคนต้องการให้ประเทศมีเสรีภาพ มีความอิสระอันจะก่อให้เกิดความสงบ” ดาวง์ (ဒေါင်း) ศิลปินด้านการแสดงวัย 30 ปี ร่วมพูดคุยกับ WAY ผ่านเชอร์รี ล่ามสาวมากความสามารถ ผู้ทำหน้าที่คอยเชื่อมบทสนทนาระหว่างเรากับดาวง์เข้าด้วยกัน

ชาวไทยอาจคุ้นหน้าดาวง์ จากภาพยนตร์สัญชาติเมียนมา เรื่อง The Only Mom หรือชื่อไทยว่า มาร-ดา (2019) แต่หลังม่านการแสดง เขาคือประชาชนคนหนึ่ง ผู้ซึ่งไม่ยอมศิโรราบแก่อำนาจเผด็จการ

ดาวง์ เดินทางมาหาเราที่ Kokiri Café คาเฟ่สไตล์ลอฟท์ย่านอ่อนนุช ที่ชั้นสองเป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ภายใต้ชื่อเดียวกัน อาจเพราะเขานุ่งโสร่งประกอบกับสวมเชิ้ตขาว ทำให้โดดเด่นสะดุดตามาแต่ไกล แต่ความโดดเด่นนี้ก็ทำให้เขาดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางไปในเวลาเดียวกัน

“ความรู้สึก ณ ตอนที่กำลังตอบคำถามอยู่นี้ ผมรู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย เพราะว่า ผมมาอยู่ที่นี่ ในขณะที่เมื่อผมติดตามข่าวสารบ้านเมืองตัวเอง ก็เห็นว่าพี่น้องและผู้คนที่อยู่ฝั่งโน้น ต้องอยู่กันอย่างไม่สงบ เกิดความวุ่นวายในพื้นที่ตัวเอง ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นทุกวัน ทำให้รู้สึกกระทบกับตัวเองเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนพวกผู้นำทหารหรือพวกที่ต้องการคุมอำนาจ จะออกมาซึ่งๆ หน้า ถ้าจะทำก็ทำต่อหน้า แต่วิธีการในตอนนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น มีการปลอมตัวมาเข้าเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีการที่เรารับไม่ได้ มันทำให้คนที่นั่นต้องอยู่กันอย่างลำบาก หวาดระแวง มันทำให้ผมรู้สึกไม่ดีกับเหตุการณ์ที่นั่น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผมอยากเอาใจช่วยให้ผู้คนที่นั่นผ่านพ้นเวลานี้ไปอย่างเร็ว อย่างสันติวิธีที่สุด”

บทสนทนาข้างต้น คือถ้อยคำที่กลั่นจากใจซูเปอร์สตาร์อันดับต้นๆ ของเมียนมา แม้ตัวจะอยู่ไกลบ้าน แต่สำนึกต่อพี่น้องร่วมชาติไม่เคยเจือจาง

ชีวิตที่เมียนมา คุณเติบโตมาในบรรยากาศแบบไหน

ผมโตที่มัณฑะเลย์ เป็นเมืองที่ข้าราชการทหารอยู่กัน เกิดในปี 1990 เป็นเด็กยุค 90 คืออยู่ระหว่าง 2 ยุค เป็นรุ่นที่เรียกกันว่า ‘คนสองยุค’ จากการโตมาในสองยุคทำให้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เด็กว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ผิด และอะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

คุณเกิดหลังเหตุการณ์ลุกฮือครั้งใหญ่ในปี 1988 ช่วงเวลานั้นพลังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเป็นอย่างไร

การโตขึ้นมาหลังปี 1988 ทำให้เห็นว่า ผู้คนต้องอยู่กันอย่างยากลำบากในช่วงเวลานั้น แต่ว่าทุกคนยังต้องการความเป็นประชาธิปไตย มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับผู้ที่มีอำนาจอยู่หลายปี จากนั้นในปี 2007 ทุกคนก็ต้องรวมกลุ่มเพื่อออกมาต่อสู้อีกครั้ง อย่างที่ทราบกัน ในปีนั้นซึ่งเป็นช่วงที่ผมอายุยังน้อยอยู่ มีการออกมาคว่ำบาตรโดยพระเมียนมาและประชาชน เป็นการออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนจำนวนมาก ผ่านการประท้วงในรูปแบบแผ่เมตตา

ภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด เราต้องยืนยันอยู่ฝั่งไหน ฝั่งไหนคือฝั่งที่ถูกต้อง ทำให้ผมมีความยึดมั่นและยืนหยัดว่าจะยืนอยู่ฝั่งที่เป็นประชาธิปไตย และจะร่วมต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียว คนรุ่นเดียวกันหรือรุ่นที่โตกว่า ทุกคนต่างยืนยันที่จะออกมายืนอยู่ข้างที่ถูกต้อง

นับตั้งแต่ปี 2007 เราเชื่อในการออกมาต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยร่วมกันอย่างสงบ ตามกระบวนการสันติวิธี อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราก็ยืนหยัดอยู่ข้างที่คิดว่าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

แต่ก็เป็นอย่างที่ทราบกันว่า จนถึง ณ เวลานี้ เราเองก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง จนมารัฐประหารอีกรอบ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาให้ได้

อะไรคือเจตจำนงให้คุณและคนเมียนมาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้

อย่างที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจ มันเป็นวันที่เลวร้าย ผมและประชาชนทุกคนในประเทศเองก็ยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์ครั้งนี้ ในตอนนี้สิ่งที่ทุกคนต้องการคือความสงบ และการมีเสรีภาพ เพราะในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไปข้างหน้า กลับต้องมาโดนตัดอนาคตด้วยการเข้ายึดอำนาจของพวกเขา

การรัฐประหารครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ประชาชนจึงออกมาต่อต้าน แต่เราออกมาด้วยความสงบ ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติ ทุกคนออกมาด้วยความสามัคคี เพราะมีเจตนารมณ์เหมือนกันคือ ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ผู้ที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ

สำคัญที่สุด หลักสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งที่พวกเรายึดถือ ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะกระทำอย่างไรก็ตามแต่

อาชีพนักแสดงมีพลังมากแค่ไหนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา

ผมถือว่าผมไม่ใช่นักแสดง ผมเป็นศิลปิน ทุกคนเป็นศิลปิน สิ่งที่น่าดีใจที่สุดในตอนนี้ คือการที่ศิลปินทุกคนออกมายืนเคียงข้างประชาชน ทุกคนสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรผิด อะไรถูก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงของตัวศิลปิน จะทำให้วันหนึ่งพวกเขาสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพออกมาได้ ผมยืนยันได้ว่า การออกมาชุมนุมเรียกร้องในตอนนี้ ไม่ได้มีคนใดคนหนึ่งเป็นคนชักจูงอยู่เบื้องหลัง แต่ทุกคนใช้หัวใจ ใช้ความเป็นมนุษย์ ทุกคนออกมาด้วยความต้องการของตัวเอง

การเคลื่อนไหวที่เมียนมาตอนนี้คือ ขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) คือการออกมาต่อต้านด้วยการไม่เข้าทำงาน หรือการไม่รับใช้ผู้ที่คุมอำนาจ เช่น การออกจากงาน มันคือสิ่งที่คนเมียนมากำลังทำกันอยู่ มันทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจอย่างมาก และพร้อมเสมอที่จะให้การสนับสนุนการออกมาเรียกร้องอย่างสันติวิธีเช่นนี้

เพราะเราไม่ต้องการอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ชอบธรรม แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง

การต่อสู้ในครั้งนี้ ผมเองก็ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะยาวนานอีกเพียงใด แต่เท่าที่ผมรู้ ศิลปินทุกคนพร้อมยืนหยัดเคียงข้างและร่วมต่อสู้ไปกับเพื่อนพี่น้องประชาชน เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และในการออกมาเรียกร้องนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนกระทำได้โดยชอบธรรม

สารจากดาวง์ ถึงพี่น้องชาวเมียนมา

หลังจากดาวง์ตอบคำถามสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว เราได้ขอให้เชอร์รีช่วยแปลคำขอบคุณของเราให้ดาวง์ตามธรรมเนียม แต่เมื่อคำขอบคุณของเราได้ส่งไปยังดาวง์แล้ว เขากลับไม่รับไว้ในทันที เขาพูดอะไรบางอย่างกับเชอร์รี ซึ่งแปลความได้ว่า “ขอพูดฝากสิ่งสุดท้ายก่อนจบ”

ดาวง์หันหน้ามา สายตาจับจ้องไปที่กล้อง ถ้าเป็นภาษาภาพยนตร์ต้องเรียกว่าเป็น ‘Break the Fourth Wall’ หรือการทลายกำแพงฐานันดรที่ 4 (ภาพยนตร์ การละคร หรือสื่อสารมวลชน มักถูกเปรียบเทียบให้เป็นฐานันดรที่ 4) มันคือความพยายามทำลายเส้นแบ่งระหว่างผู้แสดงและผู้ชม ผู้ที่อยู่ในจอและนอกจอ โลกมายากับโลกความจริง

ในตอนนี้ แววตาอันมุ่งมั่นและมั่นใจตลอดการพูดคุยของดาวง์ กลับยิ่งมุ่งมั่นและมั่นใจมากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ใช่แววตาที่ก้าวร้าว หยิ่งผยอง หรือพร้อมฟาดฟัน ตรงกันข้าม กลับเต็มไปด้วยความหวัง ความห่วงใย และความปรารถนาดี

“สุดท้ายนี้ ผมขอฝากถึงพี่น้องประชาชน ข้าราชการทุกคนที่กำลังต่อสู้ที่เมียนมาอยู่ตอนนี้ว่า ผมและเราทุกคนต้องการต่อต้านผู้ที่กำลังคุมอำนาจ เราไม่ต้องการผู้ที่คุมอำนาจอยู่ในตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็เผชิญกับการต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจที่ฉ้อฉล เราทุกคนรู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราปรารถนา จงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพื่อให้วงจรประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนี้ยุติลงให้ได้

“ขอให้ทุกคนยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง ใจเย็นและไม่ย่อท้อกับการต่อสู้ครั้งนี้ ผมเองพร้อมส่งกำลังใจให้ทุกคน สิ่งที่ดีที่สุดคือการร่วมมือกัน การมีความสามัคคีกัน รวมถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกระบวนการสันติวิธี

“และอยากฝากด้วยว่า ขอให้นานาประเทศช่วยหันมามองเรา อยู่เคียงข้างเรา และช่วยเหลือเรา เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา”

หลังสิ้นเสียงสารทิ้งท้าย เสียงจากเครื่องชงกาแฟและแขกเหรื่อภายในร้านก็ผุดแทรกขึ้นมา ทำให้กลับมาระลึกได้ว่า บทสนทนาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ในคาเฟ่ย่านอ่อนนุชที่บรรยากาศแสนสงบ อาจเพราะตลอดการพูดคุยนั้น เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความมุ่งมั่นและภวังค์ของความฝันใฝ่

เสียงของดาวง์คงไม่ต่างอะไรกับเสียงตะโกนต่อต้านของชาวเมียนมา เสียงเคาะถ้วย ชาม กะละมัง และเสียงร้องเพลง ကမ္ဘာမကြေဘူ (Kabar Ma Kyay Bu) ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ยืนหยัดตราบโลกสลาย’

ညီ…အစ်ကိုတို့
ပေတစ်ရာပေါ်မှာစီးတဲ့သွေးတွေ မခြောက်သေးဘူး
မတွေဝေ..နဲ့
ဒီမိုကရေစီတိုက်ပွဲအတွင်းမှာကျဆုံးသော
ဪ…သူရဲကောင်းတို့လို
ခိုင်မာပီပြင် တော်လှန်ပစ်မလေ
မျိုးချစ်တဲ့တို့ဇာနည်တွေ
ကမ္ဘာမကြေဘူး

ถอดความ:

พี่น้องเอ๋ย
เลือดของเราที่หลั่งทาถนนสายนั้นยังไม่ทันแห้ง
อย่าได้ลังเลเลย
เหมือนดั่งเช่นผู้มาก่อนเรา 
พวกเขาได้สู้รบทอดร่างปูถนนประชาธิปไตยสายนี้
ให้เราได้มีที่หยัดยืนต่อต้าน
พี่น้องเอ๋ย
เลือดของเราที่หลั่งทาถนนสายนั้นไม่เคยได้ทันเหือดแห้ง
มาเถิดเหล่าผู้กล้า
ยืนหยัดสู้ไปด้วยกันตราบวันโลกสลาย!

เอื้อเฟื้อสถานที่: Kokiri Cafe / Kokiri Interior & Construction

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า