นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์: บาดแผลไม่มีสี

ไม่มีคำ ‘สารภาพผิด’ ในบทสัมภาษณ์ ‘ชิ้นนี้’

หากจะมี คงเป็นได้แค่คำสารภาพของ ‘ผู้ทำสัมภาษณ์’ เอง โทษฐานเริ่มต้นงานโดยการตั้งโจทย์ชื่อ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แล้วเจตนาให้สื่อสารประเด็น ‘เสื้อเหลืองรู้สึกผิดและต้องขอโทษ’ จากข้อหาบุกยึดสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551

ถามว่าร้ายแรงมากไหมในเชิงวิชาชีพและความเชื่อ คำตอบก็คงไม่ แต่พูดในฐานะ ‘มนุษย์’ บาดแผลและความพลั้งพลาดล้วนเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่เข้าใครออกใคร และคงไม่เวิร์คแน่ หากจะผลักการ ‘สำนึก’ ให้เป็นภาระผูกขาดของฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น

เนื้อหาถัดจากนี้ จึงเรียกว่าเป็นการถามไถ่ทุกข์สุขและเล่าสู่กันฟังคงเหมาะสมกว่า ในฐานะที่นิติรัตน์เพิ่งออกจากเรือนจำได้ไม่นาน ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 6 เดือน จากเหตุการณ์ที่เกริ่นไปข้างต้น

“ผมยังรู้สึกผิดอยู่” เขาว่า “เหมือนจมอยู่ในความรู้สึกนั้น ติดอยู่ในวังวนกับดักจนถึงวันนี้ยังชำระไม่หมด จากนี้ไปคงอยู่ที่การทำงานของเราเพื่อล้างบาปกับภาพเดิมที่ติดตัวมา และทำทุกสิ่งให้ชัดเจนขึ้น”

‘กับดัก’ ที่คนเคลื่อนไหวภายใต้นาม ‘เครือข่ายขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ’ อย่างนิติรัตน์หมายถึง คือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำอำนาจนอกระบบ

นั่งร้านรัฐประหาร หรือสายล่อฟ้า – เขาสาธิตคำที่มิตรสหายใช้เรียก

เท่าที่เวลาเอื้ออำนวย, เกือบสามชั่วโมงในการสนทนา นอกจากทุกข์สุขดังว่า นี่ยังเป็นการพยายามทำความเข้าใจมนุษย์บนเงื่อนไขที่มิได้แบนราบ ตัดทอนและเรียบเรียงจากชีวิตในกระแสใคร่ครวญของนิติรัตน์เอง เหนืออื่นใด ในฐานะสื่อสารมวลชน คำขอโทษและการให้อภัยเป็นจิตสำนึกส่วนตัวที่มีต่อสาธารณะ หากไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก ควรวางตำแหน่งให้ห่างจากสงครามช่วงชิงความได้เปรียบ

และเพื่อความรื่นรมย์ในการอ่าน กรุณาเปิดเพลง ‘One’ ของ U2 ก่อนเข้าสู่คำถามแรกด้วยมิตรภาพ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ตอนที่ออกจากเรือนจำใหม่ๆ คุณผอมผิดตาไปเลย สุขภาพร่างกายมีอะไรน่าเป็นห่วงไหม

น้ำหนักลดลงประมาณ 15 กิโลฯ โรคที่เคยเป็นมีอาการดีขึ้น ไขมันไตรกลีเซอไรด์เมื่อก่อน 200 กว่า ลดเหลือ 70 ผมผอมลงเพราะกินอาหารมื้อเดียว ตอนเช้าดื่มนมเปรี้ยวกับขนมคุกกี้

ตารางชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำเหมือนตลกร้าย มันเหมือนตารางบำบัดสุขภาพ การฝึกระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา การสงบนิ่ง การสวดมนต์สามเวลา ครั้งละ 20 นาที รวม 60 นาที ต่อวัน บทสวดมีบทแปลอิติปิโส บูชาพระรัตนตรัย สรรเสริญพระรัตนตรัย นมัสการพระรัตนตรัย ถวายพรพระ ชัยมงคลคาถา (พาหุง) แผ่เมตตา และบทอุทิศส่วนกุศล ชีวิตในเรือนจำบางครั้งแยกไม่ออกระหว่างการเป็นผู้ทรงศีล ทหาร หรือนักโทษ

ระเบียบชีวิตในเรือนจำ เวลาตี 5 ครึ่ง ตื่นนอนและสวดมนต์ครึ่งชั่วโมง พับผ้าห่มสามผืนให้เรียบร้อย เวลา 6 โมงครึ่ง ลงจากเรือนนอน อาบน้ำกลางแจ้งช่วง 7 โมง 15 กินอาหารมื้อแรก 7 โมง 45 เข้าแถว 8 โมง เคารพธงชาติ สวดมนต์ครึ่งชั่วโมง เวลา 8 โมงครึ่ง แยกเข้ากองงาน เช่น กองงานพับถุง กองงานไม้ กองงานรองเท้า กองงานโยธา กองงานกิจกรรม เวลา 10 โมงครึ่งกินข้าวเที่ยง บ่ายโมงครึ่งกินข้าวเย็น บ่าย 2 โมง 15 อาบน้ำกลางแจ้ง รวมเวลาที่อยู่ภาคพื้นดิน ประมาณ 9 ชั่วโมง อยู่บนเรือนนอน ประมาณ 15 ชั่วโมง ส่วนการเยี่ยมญาติเยี่ยมได้วันละครั้ง 20 นาที

ผมถือว่าใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส กินอาหารมื้อเดียว ออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงทุกวัน อ่านหนังสือทุกแนว และบันทึกสิ่งที่ผมคิดในสมุดบันทึก

หลังไม่ได้เจอกันหลายเดือน ลูกสาวคุณโพสต์ที่หน้าวอลล์เฟซบุ๊คของคุณตอนไปเยี่ยมครั้งแรก เล่าถึงที่คุณพูดดักคอก่อนว่าอย่าร้องไห้ ตอนนั้นสภาพจิตใจเป็นอย่างไร

ถ้าเธอร้องไห้ ผมกลัวจะร้องตามไปด้วย (หัวเราะ) ก่อนผมฟังคำตัดสินคดี ลูกสาวผมเปิดเพลง ‘ทุกคนเคยร้องไห้’ ให้ฟัง (เพลงของ ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์) ผมไม่ได้เจอเธอ 10 เดือน เพราะไปโครงการ AFS ที่อิตาลี ตอนแรกผมไม่อยากให้ไป เพราะเป็นห่วง ผมกระเตงเธอไปไหนต่อไหนตั้งแต่เล็ก ไปชุมนุม เดินขบวน ประชุม ตอนตัดสินคดีเธอไม่ได้อยู่ด้วย

ขออนุญาตถามว่า ยากไหมกับการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกสาวฟัง

ผมคุยกับเธอแทบทุกเรื่อง เธอเข้าใจว่าผมไม่ใช่เสื้อเหลือง หลังกลับจากอิตาลี เราเปิดใจคุยกันมากกว่าเดิม เธอเองคงโตขึ้น เธอรู้ว่าผมทำไปเพราะอะไร แต่เมื่อผิดกฎหมายมันก็เป็นกฎเกณฑ์ของสังคม ผมก็ว่า เออ…ใช่ ในแง่นี้เราต้องยอมรับมัน ผมเล่าประวัติศาสตร์การเมืองทุกเรื่องให้เธอฟัง เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์พฤษภา 2535

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

แล้วตัวคุณเองเติบโตมาอย่างไร ประกายความชอบเรื่องทางสังคมวาบขึ้นตอนไหน

ผมเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในครอบครัวคนชั้นกลาง พ่อผมเป็นอาจารย์วิทยาลัยเทคนิค แม่เป็นครูประชาบาล ตอนเรียนโรงเรียนอนุบาลสุพรรณ ประถมปีที่ 6 ผมเป็นรองประธานสภานักเรียน (ยิ้ม) ช่วงนั้นผมเติบโตมากับการปลูกฝังแนวความคิดชาตินิยม ร้องเพลงเลือดสุพรรณทุกสัปดาห์ รู้สึกเกลียดพม่ามากเลย อยากเป็นทหารรบเพื่อประเทศชาติ

เมื่อจบชั้น ป.6 ผมเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ผมดีใจที่สอบได้ เพราะพ่อผมบอกว่าปู่เป็นนักเรียนเก่าที่นี่ ผมเป็นเด็กเรียนได้เกรดค่อนข้างดีนะ สิ่งที่ได้จากโรงเรียน คือวิชาความรู้ สปิริต ความภาคภูมิใจ การรักสถาบัน การบ่มเพาะเรื่องสุภาพบุรุษและการเป็นคนดีในสังคม จำได้ว่าช่วงนั้น โรงเรียนครบรอบ 100 ปี พอดี

จบ ม.3 ผมมาเรียน ปวช. ช่างไฟฟ้า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผมก็เป็นเหมือนเด็กช่างทั่วไป เริ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเธค ลานสเก็ต ฯลฯ แต่ผมเริ่มได้ร่วมกิจกรรมของนักศึกษาทั้งในสถาบันและภายนอก เพราะรุ่นพี่พาไป ได้เข้าร่วมการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน การเรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ในช่วงปลายสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

การเรียนที่เทคโนฯ เหมือนโลกใหม่ของผม จากที่เคยเป็นเด็กเรียนอยู่ในโลกแห่งแบบแผน ก็ปรับเป็นโหมดตรงข้าม ผมเริ่มตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา สิทธิเสรีภาพ ความหมายของชีวิต ผมทำกิจกรรมมากขึ้นๆ เนื่องจากนายกองค์การนักศึกษาที่เป็นรุ่นพี่วิศวะไฟฟ้า ดึงผมไปช่วยงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ เขียนคัตเอาท์ เขียนป้ายผ้า เริ่มออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ ร่วมงานภายนอก บางครั้งผมก็ชวนเพื่อนไป บอกว่า เฮ้ย! ชั่วโมงนี้พวกมึงโดดไปกับกู ไปงานที่ธรรมศาสตร์

ช่วงนั้นขบวนนักศึกษาระดับประเทศแบ่งเป็นสองส่วน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. มีกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นเชิงโครงสร้างทางการเมือง รัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน หรือ คอทส. เคลื่อนไหวประเด็นโครงการพัฒนาของรัฐ ปัญหาชาวบ้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เมื่อจบ ปวช. ผมตั้งใจเรียนรอบค่ำเพื่อทำกิจกรรม แต่เวลาของคนส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาเรียนของผม ผมโดดเรียนเป็นประจำจนได้ F วิชา Shop ซึ่งเป็นวิชาสำคัญ อาจารย์บอกว่าผมเป็นคนแรกของสถาบัน ผมเซ็งมาก จึงดร็อปเรียน แล้วไปลงทะเบียนเรียนที่รามคำแหง

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

การทำกิจกรรมช่วงนั้นมีเรื่องไหนเป็นตะกอนตกค้างมาถึงทุกวันนี้

ช่วงปี 2534 ผมทำกิจกรรมในนามชมรมอนุรักษ์ ร่วมกับ คอทส. มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังรัฐประหาร รสช. 23 กุมภาพันธ์ 2534 กองทัพบกดำเนินโครงการจัดที่ทำกินในเขตป่าสงวนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ คจก. มีการอพยพ รื้อบ้าน ไล่คน วัด ชุมชน ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

ผมกับนักศึกษารามฯ นักศึกษาอีสาน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลปลุกระดมชาวบ้านต่อต้านโครงการ หมู่บ้านมีหอกระจายข่าวพวกเราก็คว้าไมค์คว้าโทรโข่งขึ้นปราศรัย

ทหารตั้งกองกำลังปิดล้อมหมู่บ้าน หลายพื้นที่มีการข่มขู่ มึงอยากตายอยู่ที่นี่หรือไง! สมัยนั้นเราไม่กลัว ไม่ถอย

เมื่อเข้ามาส่วนกลางก็จัดเวทีสัมมนาวิชาการ จัดชุมนุมชาวบ้าน เตรียมเครื่องเสียง เตรียมแถลงการณ์ใบปลิว จนโครงการ คจก. ยกเลิกจากการชุมนุมใหญ่ที่ปากช่อง

ช่วงก่อนพฤษภา 35 มีการรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ รสช. คัดค้านการสืบอำนาจ จำได้ว่าเวลาปราศรัย สนนท. จะปราศรัยประเด็นเชิงโครงสร้าง ส่วน คอทส. จะพูดเชื่อมโยงปัญหาชาวบ้าน ส่วนในช่วงเหตการณ์เดือนพฤษภา 2535 พวกเราก็เข้าร่วมที่ถนนราชดำเนินจนเมื่อมีการสลายการชุมนุมก็ย้ายไปที่รามคำแหง

หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา ผมเป็นกรรมการบริหาร สนนท. ปีถัดมาเป็นรองเลขาธิการ สนนท. ช่วงปี 2536-2537 ในช่วงนั้นมีการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น อายุ 18 ปี มีสิทธิ์เลือกตั้ง การเลือกตั้ง one man, one vote ศาลปกครอง การคัดค้านค่ารถเมล์ขึ้นราคา การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การชุมนุมกับเกษตรกรภาคอีสาน หรือ สกยอ. เขื่อนปากมูล ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ฯลฯ จนถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง

ช่วงชีวิตนักศึกษาลองผิดลองถูกได้ ผมไม่เคยเข้าห้องเรียนเลยจนจบรามคำแหง ผมเคยย้อนดูวิดีโอที่ถ่ายไว้ตอนไฮด์ปาร์คแรกๆ เป็นการพูดแบบวิชาการมากๆ ไม่มีลีลาเลย (หัวเราะ) ในช่วงนั้นพวกเราไม่มีความกลัวเลย กล้าเสี่ยง กล้าท้าทาย กล้าเผชิญหน้า ไม่กังวลคดี ไม่กังวลปัญหาเงินทอง โดยมีคำขวัญสำคัญคือ นักศึกษาร่ำเรียนจากภาษีอากรของประชาชน เราจึงต้องตอบแทนประชาชน

ประตูบานไหนที่คุณเริ่มผลักเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ

การบอกว่าเราเป็นมืออาชีพหรือไม่ มันวัดยากนะ แต่ช่วงที่ทำเป็นอาชีพได้ค่าตอบแทน ผมเริ่มต้นที่โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา หรือ YT ในปี 2537-2538 มีบทบาทในการสร้างความตื่นตัวของนักศึกษาในการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา ค่ายอนุรักษ์ กิจกรรมการเมือง โดยเน้นให้กลุ่มนักศึกษาได้สัมผัสกับปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้อง ทั้งในภาคชนบท ภาคเมือง สลัม กรรมกร รวมทั้งการฝึกอบรมพัฒนาการวิเคราะห์สังคม การกำหนดภารกิจ ภายใต้บทบาทนักศึกษา

หลังจากนั้น ผมเป็นผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนประชาชน หรือ FOP ช่วงนั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิในเยอรมัน งานหลักคือสนับสนุนการเคลื่อนไหวชาวบ้าน เป็นกองเลขาฯ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน หรือ สกยอ. ต่อมาเป็นกองเลขาฯ สมัชชาคนจน

การชุมนุมสมัชชาคนจนรอบทำเนียบรัฐบาล 99 วัน ในปี 2540 ผมเป็นโฆษก มีหน้าที่จัดทำข้อมูล สรุปสถานการณ์ความคืบหน้าการเจรจา มีการแถลงข่าวตอบโต้รัฐบาลทุกวัน ส่วนสมาชิกสมัชชาคนจนมีแกนนำเรียกว่า ‘พ่อครัวใหญ่’ 121 กรณี แบ่งเป็นกลุ่มปัญหา ได้แก่ กลุ่มโครงการพัฒนาของรัฐ กลุ่มเขื่อน กลุ่มป่าไม้ที่ดิน กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มสลัม กลุ่มเกษตรทางเลือก

ส่วนเป้าหมายการทำงานกลุ่มเพื่อนประชาชนในช่วงนั้น คือ การสร้างความเข้มแข็ง การสร้างยุทธศาสตร์ร่วมการสานพลังเครือข่ายประชาชน การเชื่อมร้อยพลังสามประสาน นักศึกษา ชาวนา กรรมกร

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

คนรู้จักมักติดภาพคุณจากบทบาทการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ทำไมถึงเลือกสายนี้

ผมทำงานกับพี่น้องในชนบท ส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ ซึ่งมีเอ็นจีโอทำงานด้วยเยอะ แต่คนทำงานกับพี่น้องแรงงานมีน้อย ในขณะที่ กรรมกรรวมตัวกันง่ายในเชิงพื้นที่และมีรูปแบบการจัดตั้งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่ชัดเจน สร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะความคิดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสร้างจุดเน้นในงานด้านนี้

เริ่มเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ราวปี 48 หรือ 49 ในช่วงหลังผมเข้าไปสนับสนุนงานมูลนิธิอารมณ์ พงษ์พงัน งานพัฒนาผู้นำแรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง ขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม

ตอนตัดสินใจร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ มีเงื่อนไขส่วนตัวอะไรบ้าง

ช่วงเริ่มเข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีเงื่อนไขสำคัญสองสามเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการไม่ชูประเด็นมาตรา 7 หากไม่ตกลง ก็ไม่ร่วม

สอง-การมีโฆษกร่วม ระหว่างทีมภาคประชาชนกับทีม คุณสนธิ ลิ้มทองกุล โฆษกฝ่ายเราคือ พี่สุวิทย์ วัดหนู ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตแล้ว ร่วมกับ คุณสำราญ รอดเพ็ชร สาม-การจัดคนขึ้นเวทีปราศรัย และจัดขบวนรณรงค์ต่างๆ ต้องทำงานร่วมกัน ผมรับผิดชอบงานในส่วนนี้ กับการประสานงานเครือข่ายภาคประชาชน

คนที่มาเข้าร่วมพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งไม่ชอบคุณทักษิณเป็นตัวบุคคล แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องนโยบาย เรื่อง FTA การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน

หน้าฉากกับหลังฉากเวทีพันธมิตรฯ ฝุ่นตลบทุกวัน นอกจากการต่อสู้ทางความคิด ยังมีการต่อรองเรื่องคนขึ้นปราศรัย ช่วงเวลาการปราศรัย การควบคุม hate speech ส่วนการคุมขบวนก็มีโจทย์เรื่องความปลอดภัย ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า

เป็นหัวหน้าการ์ด?

ผมไม่เคยเป็นหัวหน้าการ์ด สิ่งสำคัญกว่าเรื่องนี้คือ เมื่อเวทีมีการปราศรัยเกี่ยวกับมาตรา 7 เราก็เริ่มที่จะ… ถ้าให้ผมพูดตรงไปตรงมา อยากถอนตัวทันที วันที่มีการปราศรัยประเด็นนี้ครั้งแรกที่สี่แยกมิสกวัน ผมรับไม่ได้ก็โวยวายกันหลังเวทีแล้วเดินออก มีรุ่นพี่คนหนึ่งเตือนผมเรื่องหากทิ้งไป อาจมีการนำคนที่แนวคิดรุนแรงมาสวมแทน และจะนำพาผู้คนไปสู่การเผชิญหน้า บาดเจ็บล้มตาย ผมลองชั่งใจดู เราคุมเนื้อหาการปราศรัย เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว แม้เป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ในการขับเคลื่อน จึงไม่อาจละทิ้งกลางคัน แม้อยู่ด้วยความขมขื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

วันที่เกิดการรัฐประหาร 2549 มีภาพอะไรอยู่ในหัว

เริ่มแรกวันนั้นผมรู้สึกว่างเปล่าเลย อ้าว! สิ่งที่เราเหนื่อยมาแทบตาย ดอกผลแห่งการต่อสู้ทำไมถูกแทนที่ด้วยการรัฐประหาร ผมบอกกับทุกคนว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารกระบวนการตรวจสอบคงเดินหน้าต่อ

จากนั้น หลังรัฐประหาร 2549 ผมไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม มีพี่คนเดือนตุลาเห็นผมก็ไม่พอใจต่อว่าผมประมาณ เอ้า มาทำไมล่ะ พวกสายล่อฟ้า

เวลานั้นผมไม่เข้าใจนะ ยังไม่ได้ผ่านช่วงทำใจอะไรได้เหมือนตอนนี้ ผมไม่เข้าใจจริงๆ คิดในใจว่า เราไม่เอารัฐบาลทักษิณที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เราก็ไม่เอารัฐประหารนี่หว่า ทำไมทำกับเราแบบนี้ พอมีการจัดกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม ผมก็ไปร่วมอีก แล้วก็ถูกท้าทายในความรู้สึกแบบเดิม

ผมเศร้าใจนะ ไม่มีโอกาสอธิบาย เพราะเขาคงมีความรู้สึกว่า ผมคือพวกสมคบคิดให้เกิดการรัฐประหาร เมื่อผมบอกว่าผมไม่รู้จริงๆ แต่เขาไม่ฟัง

ตอนปี 2551 เกิดอะไรขึ้นถึงได้ไปเข้าร่วมอีกรอบ จนบานปลายไปสู่การยึด NBT

เมื่อพันธมิตรฯ จัดชุมนุมอีกครั้งในปี 2551 ผมไม่ไปเข้าร่วมเลย เพราะคิดว่า มันต้องถอดปลั๊กออกจากพันธมิตรฯ องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ไม่ควรไปร่วม มีการชุมนุมหลายเดือนก็ไม่ไปร่วม แต่เราเอาเสื้อเชไปขายที่ชุมนุม เพื่อดูแลคนในออฟฟิศหกเจ็ดคน เพราะไม่มีโครงการ ไม่มีเงิน บางช่วงเสื้อขายได้ แต่มาช่วงหลังเวทีพันธมิตรฯ ห้ามใส่เสื้อเชขึ้นเวที

จนในที่สุดผมตัดสินใจว่า เอาวะ! ไปช่วยเพื่อนก็ได้วะ เพราะออฟฟิศผมตั้งอยู่ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ พวกเขาไปกันทุกวัน พอผมไปได้เจ็ดวัน ก็ถูกจับ

ในช่วงการวางแผนการยึดสถานที่ราชการ ผมประเมินว่า NBT เสี่ยงต่อการปะทะมากที่สุด ขอพวกแรงงานรัฐวิสาหกิจไปที่จุดนี้ แต่พวกเขาไม่สามารถไปได้ ผมจึงเป็นกังวลมากขึ้น และตัดสินใจว่าจะต้องไปที่ NBT เผื่อถ้าเกิดเหตุขึ้น อาจช่วยผ่อนบรรเทาให้ไม่มีความรุนแรงหรือลดลง

บางคนบอกว่า การบุก NBT ในวันนั้น ผมเอาแบบอย่างมาจากขบวนการซาปาติสต้า ผมคิดว่ามันเป็นคนละบริบทกัน แต่แน่นอนว่าผมชื่นชมซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นขบวนการติดอาวุธที่ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยชูธงคำขวัญ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม ส่วนการยึดเมืองเป็นการยึดจุดสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์อำนาจรัฐ เช่น เทศบาล สถานีตำรวจ แล้วถอยไปยึดเมืองอื่น เพื่อก่อผลสะเทือนในการวิพากษ์โครงสร้างอำนาจรัฐ ผนวกรวมกับปัญหาท้องถิ่นและปัญหาสังคมการเมืองในระดับชาติ

คุยกันแบบตรงไปตรงมา ความเสียใจตอนรัฐประหาร 49 มันหายไปแล้วหรือ

แน่นอนความเสียใจยังมีอยู่ แต่ตอนนั้นผมยังรู้สึกว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร ผนวกกับจุดยืนที่ยึดถือมาคือ ‘สองไม่’ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาความรุนแรง เราเอารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีวงเล็บว่า เราก็มีสิทธิ์โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หาก ‘ไม่’ ชอบธรรม มองมุมการเมืองมวลชนที่มีสิทธิแต่ขาดมุมเรื่องการละเมิดนิติรัฐ พูดตรงไปตรงมาในช่วงนั้น มันเป็นการตัดสินใจที่อาจไม่ครบถ้วน

ต้องยอมรับว่า ช่วงนั้นมีหลายสาเหตุปัจจัยปนเปกัน หลังการบุกยึด NBT และเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 14 วัน แรงโต้กลับที่มีต่อผมมากขึ้นกว่าเดิม มิตรสหายที่เคยร่วมต่อสู้ รุ่นน้อง รุ่นพี่ ต่างผิดหวัง

โจทย์เดิมปี 49 ใจเรายังไม่ได้ตระหนักว่า เออ! เรามีส่วนร่วมทางอ้อมในการรัฐประหาร พอมาปี 51 เหมือนตอกย้ำในสิ่งที่ทุกคนมอง ผมกลับมาทบทวนตนเองครั้งใหญ่ เริ่มจัดตั้งกลุ่มศึกษาเพื่อทบทวนบทเรียนการต่อสู้ เมื่อได้บทสรุปจึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผมไม่เข้าร่วม กปปส.

นอกจากการไม่เข้าร่วมในช่วงนั้น ผมได้เขียนบทความ ประชาชนควรถอนตัวจากการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งมีข้อเรียกร้องเรื่องสภาพระราชทาน แต่ในช่วงนั้นผมรู้สึกเหมือนเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์ ผมพยายามอธิบายกับมิตรสหายก็คุยกันไม่ได้ รู้สึกแย่อยู่นานเหมือนกัน

ผมคิดว่าการผ่านเรือนจำในครั้งนี้ ถือว่าได้ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ก่อนหน้านี้ผมจะยุติบทบาทไปแล้ว ถือว่าผมได้ชดใช้กรรมในคุก ไม่ใช่กรรมในทางพุทธศาสนา แต่เป็นกรรมหรือการกระทำที่เราเลือกเชื่อ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีส่วนร่วมอย่างที่บางคนกล่าวว่า เป็น ‘พวกนั่งร้านรัฐประหาร’

เมื่อเห็นความผิดพลาดของตนเองแล้วรู้สึกผิด กล่าวขอโทษ ไม่ใช่เรื่องยาก หรืออาจยาก แต่ว่ามันราคาถูกกว่าสิ่งที่กอดไว้แล้วท่องซ้ำๆ ว่าฉันทำถูกแล้ว สิ่งที่ผ่านมาแก้ไขอะไรไม่ได้ ชีวิต undo ไม่ได้  เราไม่ต้องลืมมัน ทั้งดีงามหรือโกรธเกลียด เราไม่ต้องเขียนเรื่องราวขึ้นใหม่เพื่อคืนดีกัน แต่เราให้อภัยได้ การให้อภัย ราคาถูกพอๆ กับความรู้สึกผิดที่เราสัมผัสได้

มันราคาถูกกว่าการฝืนนั่งอยู่บนหลังเสือ แต่ด้านในกลับอยู่ฟากฝั่งตรงข้ามสิ่งที่เราเชื่อ ดังนั้น มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องกังวลหรือกลัวเสียหน้า บางคนผมเข้าใจว่าแม้ไม่ออกมาพูด แต่อาจกำลังทบทวนตนเอง ลองคิดดูว่าบ้านเมืองเรามาไกลถึงขั้นนี้ได้อย่างไร ไกลถึงขนาดที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกตนเป็นคนดี แล้วเหยียดหยามคนอีกกลุ่มที่เพียงคิดตรงข้ามกับตน

สิ่งที่ผมพยายามพูด คือการปฏิเสธไม่ได้ว่าปลายทางของมันทำให้อำนาจนอกระบบเติบโตขึ้น ถามใจตัวเองดูว่า ระบอบ คสช. คงอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้เพราะอะไร คนดีซึ่งมีนัยว่าคนไม่เท่ากันคือความถูกต้องหรือความปรารถนาสูงสุดใช่หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นจะปฏิเสธว่ามันไม่ปนเปื้อนจากความเคลื่อนไหวหรือไม่ได้ทำคลอดมันมาเองใช่หรือไม่

รัฐบาล คสช. ละเมิดสิทธิเสรีภาพพี่น้องประชาชนมากมาย ลดทอนความสำคัญของนโยบาย สวัสดิการสังคมถ้วนหน้า 30 บาท แต่ priority ของรัฐบาลอยู่ที่เรือดำน้ำ รถถัง ประชารัฐเป็นนิยายที่รัฐทหารเทคโนแครตและทุนใหญ่แต่งขึ้นฉาบหน้าประชาสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสรุปบทเรียน จากนั้นต้องประกาศหรือชักชวนผู้คนให้รู้ว่าเราคิดอะไร ถ้าไม่สามารถพูดในสิ่งที่เราเป็นหรือเราเชื่อหรือเคยเป็นหรือเคยเชื่อ แล้วเราจะมีสิ่งเรียกว่า ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ ไปเพื่ออะไร

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

อำนาจนอกระบบในนิยามของคุณคืออะไร

การรัฐประหารเป็นส่วนยอดของอำนาจนอกระบบ ที่แผ่ขยายจากกระบวนการผลิตซ้ำเพื่อสร้างการดำรงอยู่ของระบบอำนาจนิยมในเบื้องล่าง อำนาจเชิงวัฒนธรรมที่กดทับในสังคมไทย อำนาจทางการเมืองที่เสมือนภาวะรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งผมเรียกมันว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ มาตั้งแต่สมัยนักศึกษา จนมาถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ออกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. มากกว่า 500 ฉบับ

สิ่งที่เป็นความพิกลพิการคู่ขนานกันก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อำนาจอย่างชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว กลับยินดีปรีดากับส่วนยอดของอำนาจ ซึ่งมีฐานเป็นระบบรัฐราชการอำนาจนิยม ไม่มีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ อำนาจนอกระบบจึงเติบโตอยู่ในสังคมไทย ในขณะที่นักการเมืองถูกผลิตซ้ำภาพพจน์ที่เสียหายจากระบบอำนาจนิยม ในทางกลับกัน นักการเมืองก็ผลิตซ้ำภาพพจน์ที่เสียหายด้วยตนเอง

ตอนยึด NBT มีคุยกันก่อนไหมว่าทางลงสำหรับคุณคืออะไร คือมันผิดกฎหมายแน่ๆ

ไม่มีนะ ไม่มี

มองย้อนกลับไป คุณคิดไหมว่า ทำดีที่สุดแล้ว

ถ้าเราจะมองผู้คนแค่ event มันก็ยากเหมือนกัน ประวัติศาสตร์คนยาวกว่า event การตัดสินใจแต่ละ event เราก็เผชิญกับสถานการณ์ใหม่และรวดเร็ว ย่อมมีความผิดพลาดในการตัดสินใจ

หากย้อนถามว่าเมื่อรู้ปลายทางแล้ว จะเลือกเข้าร่วมตอนนั้นไหม คำตอบคือไม่เข้าร่วมแน่นอน แต่อธิบายอย่างนี้มันเหมือนฉลาดหลังเหตุการณ์ ไม่รู้สิ การตัดสินใจขณะนั้นมันอยู่ในเงื่อนไขนั้น อย่างที่เขียนในเฟซบุ๊ค ผมไม่เคยเป็นนักรบศรีวิชัย แกนนำนักรบศรีวิชัยก็บอกว่าผมไม่ใช่นักรบศรีวิชัย

กระทั่งแกนนำพันธมิตรฯ บางคน ก็ปฏิเสธว่าพวกที่ถูกจับกุมไม่ใช่พันธมิตรฯ ผมคิดว่าพวกเขาคงกังวลเรื่องภาพลักษณ์ ในวันนั้นช่วงเช้ามืด ระหว่างเดินจากสี่แยกดินแดงไป NBT ผมรู้จักคนในกลุ่มนั้นประมาณสามสี่คนเท่านั้น เขาจับมือผมไปตบที่เสื้อเขา เพื่อให้รู้ว่าพกปืนมา ผมถามเลย แล้วมึงเอามาทำไม เขาว่า เออ! เอามาเผื่อๆ

เมื่อไปถึงในอาคาร ผมตะโกนสามคำซ้ำๆ ผมตะโกนว่า ไม่ทำลายสถานที่ราชการ ไม่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ NBT พูดจนคนที่เข้ามาด้วยบางคนพูดตาม ตอนโดนจับกระจกแตกหนึ่งบาน ตอนอยู่บนรถขัง คุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) โทรมาสัมภาษณ์ผม ผมบอกว่าต้องการให้สถานีโทรทัศน์ NBT กลับมาเป็นของประชาชน

เมื่ออยู่บนรถ หลายคนก็มีปืน ผมถามคำเดิมกับคนที่ไม่รู้จักว่า คุณเอามาทำไม เขาบอกเผื่อโดนปิดล้อม จะได้ยิงสู้มัน ถ้าเรามองจิตใจของเขา เขามีความคิดเพื่อบ้านเมืองเพื่อสังคม ในความเชื่อของเขา ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเขามีความกล้า แต่เขาไม่ควรพกอาวุธมาในการชุมนุม สิ่งที่ทำถือว่าผิดกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไป

คุณสรุปบทเรียนอะไรกับตนเอง

ในเชิงบทเรียนของผม การเมืองมวลชนที่ขับเคลื่อนต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพนิติรัฐ ไม่อย่างนั้นมันก็คืออนาธิปไตย สำหรับผมแล้ว การเมืองมวลชนแบบที่พร้อมจะยินดีกับความตายของคนอีกฝั่ง ไม่ว่าเสื้อสีใดก็ตาม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ผมเขียนในจดหมายถึงเพื่อนมิตรจากในคุก ถึงบทสรุปชีวิตการทำงาน ซึ่งได้จากการอ่านหนังสือ Mandela’s Way ว่า “เราจะต้องไม่ยอมทำสิ่งอยุติธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยุติความอยุติธรรม” การขับเคลื่อนสังคมก็เช่นกัน แม้เรามีจุดหมายปลายทางที่ประชาธิปไตย ต้องไม่ใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน เป้าหมายจำเป็นต้องสอดคล้องกับวิธีการ การเมืองมวลชนไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งอย่างคือความถูกต้อง

ช่วงหลังเหตุการณ์ NBT เห็นได้ชัดว่าถอนทั้งความคิดและบทบาท มันหนักมากไหมที่ว่าเพื่อนมิตรก็ไม่ต้อนรับ

หนักเหมือนกัน ทั้งมุมที่กว่าตัวเราเองจะก้าวข้าม พูดตรงๆ ผมก็กลัวเสียหน้าเหมือนคนอื่นๆ แต่ผมคิดว่าบทเรียนตรงนี้น่าจะสำคัญพอบอกกล่าวกับผู้คนได้ (นิ่งคิด) ก็ถือว่าหนักมากนะ

เพื่อนผมบางคนเวลาเจอไม่ยอมคุยด้วย ผมชวนคุยก็เงียบ บางคนบอกว่าตั้งใจว่าจะไม่คุยด้วย สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ ก่อความคิดขึ้นในตัวเรา มันถึงเวลาที่ต้องสรุปบทเรียนกับตนเองอย่างจริงจังแล้ว เราเป็นสายล่อฟ้าไหม เป็นนั่งร้านไหม ถือว่าหนัก แต่ก็ค่อยๆ คลี่คลาย

เหลืองไม่รัก แดงก็ไม่เอา แล้วคุณจัดวางตำแหน่งตนเองไว้ตรงไหน

ผมแอบคิดมุมกลับว่า เราอาจแทรกตัวไปได้ในทั้งสองจุด โอเค คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ชอบผม แต่อีกจำนวนหนึ่ง อาจมองถึงการสรุปบทเรียนของผม เช่นเดียวกับต้นทุนในอีกด้านหนึ่ง แต่ถ้าจะไม่สนกันเลย ผมก็ไม่สามารถบังคับใจใครได้ เอาเข้าจริงๆ ถ้าเรามองโจทย์ที่ระบอบ คสช. เราคงต้องมองหาทางเลือกที่ไม่จำกัดการต่อสู้เพียงเสื้อสีของตน หรือถ้าจะสลายเสื้อสีก็ไม่ใช่เพื่อมีเสื้อสีตัวใหม่

ไม่รู้นะ ถามว่าตอนนี้ผมเป็นเหลืองหรือแดง อยากบอกแค่… ผมต้องการทำงานมากกว่า ผมกำลังขับเคลื่อนงานด้านรัฐสวัสดิการ ในนามโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือ คคสส. ติดตามข่าวสารได้ที่ wefair.org

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ก่อนเข้าเรือนจำ มีภาพคุณยกมือขึ้นชูสามนิ้ว ต้องการสื่ออะไร

ผมประกาศตัวว่า ผมไม่เอา คสช. แม้บางคนอาจมองว่าย้อนแย้งจากคดีของผม แต่มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด

ใครเป็นเพื่อนคุณในเรือนจำบ้าง

ผมอยู่แดน 8 นอนชั้น 3 ห้อง 14 ผู้ต้องขังในห้องของผมมีประมาณ 30 คน มีเกือบทุกคดี คดีร่วมกันฆ่า เด็กช่างกลฆ่าโรงเรียนคู่อริ คดีทำร้ายร่างกาย คดีปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ พรากผู้เยาว์ กักขังหน่วงเหนี่ยว แหกขัง ค้ามนุษย์ คดีบัตรเครดิต มีคนต่างชาติด้วย

คนนอนซ้ายมือเป็นอดีตเด็กช่างกล คดีชิงทรัพย์ เนื่องจากเมายาโซแลมที่หาซื้อได้ทั่วไป ส่วนคนนอนขวามือเป็นการ์ด นปช. คดีก่อการร้าย มีคดีศาลทหาร คดีปาระเบิดบรรทัดทองและอนุสาวรีย์ชัยฯ เขาเล่าว่าถูกซ้อมจนต้องรับสารภาพ คดีปาระเบิดที่บรรทัดทองศาลตัดสินยกฟ้อง ส่วนข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดนั้นสองปี เมื่อครบกำหนดวันจำคุกในปี 60 เจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องเพิ่มในคดีปาระเบิดที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ผมให้กำลังใจเขา และจะไปฟังคำพิพากษาคดีของเขาด้วย ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้

ช่วงชั่วโมงแรกที่ผมเข้าเรือนจำ ผมได้พบ พี่ตู่ จตุพร (พรหมพันธุ์) พี่สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) แกแนะนำให้หมั่นออกกำลังกาย อ่านหนังสือธรรมะ จากนั้นเราได้พบกันอีกหลายครั้ง พูดคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง การปรองดอง ความห่วงกังวลของผมถึงน้องรุ่นใหม่ที่มีคดีหลายคน เช่น โรม (รังสิมันต์ โรม) แมน (ปกรณ์ อารีกุล) หนุ่ย (อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์)

หลังคุยกับคนเสื้อแดง อะไรเป็นความรู้สึกใหม่ที่เกิดกับคุณ

จริงๆ เป็นความรู้สึกเดิม ผมถามเขาว่า คุณเห็นผมเป็นเสื้อเหลืองเหรอ ถ้าออกไปจากคุกกับผมวันนี้ ให้ไปดูที่ตู้เสื้อผ้าของผม ผมไม่มีเลยเสื้อสีเหลือง เขาบอกว่า พี่จะพูดให้ผมดีใจเหรอ ผมบอก อ้าว! จะทำอย่างนั้นทำไม จริงๆ แล้วผมถูกหล่อหลอมจากกระบวนความคิดที่มีรากความคิดคล้ายที่คุณคิด

ผมว่าในโลกจริงภายนอก คงหาโอกาสคุยกับคนเสื้อแดงใกล้ชิดแบบนี้ได้ยาก เขาเองก็อาจไม่พร้อมคุยกับผม แต่ในคุกเราอยู่ห้องเดียวกัน นอนติดกันพร้อมผ้าห่มสามผืน เป็นเวลา 15 ชั่วโมงต่อวัน เกือบสองเดือน ช่วงที่ผมปล่อยตัวออกมา ผมให้แว่นตากับรองเท้าผ้าใบเขาไว้ด้วย ส่วนหนังสือหลายเล่มผมให้ไว้กับน้องคดี 112 ซึ่งอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 3 ปี และต้องอยู่ต่อไปอีก 7 ปี

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ทราบมาว่า ภรรยาคุณไปเยี่ยมทุกวัน?

หลายเรื่องถ้าผมไม่อยู่ในเรือนจำอาจมองไม่เห็น หลุมดำแห่งชีวิตตรงนี้ทำให้ผมเห็นความสำคัญของครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งได้อ่านหนังสือหลายเล่มในเรือนจำ มีหนังสือเล่มหนึ่งของ อาจารย์เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) เขียนไว้ว่า โลกของเรากว้างหรือแคบเท่าจำนวนคนที่เรารู้จักและคบหาเป็นมิตรสหาย เมื่อมีบางส่วนเสียชีวิตไปอยู่ภพอื่น หรือพลัดพรากความสัมพันธ์จากเราไป โลกของเราก็หดแคบลง

แต่หากกล่าวถึงคนในเรือนจำ อาจไม่มีพื้นที่บนโลกแบบไหนทั้งนั้น โลกของเรือนจำหยุดหมุนเมื่อไม่มีคนมาเยี่ยม การได้พบหน้าคนที่เรารัก คนที่รักเรา มิตรสหาย ญาติพี่น้อง ทำให้โลกขยายกว้างขึ้น ผมรู้สึกว่าเธอ (ภรรยา) ซัพพอร์ตผมหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการระดมหนังสือบริจาคเข้าเรือนจำ การติดตามการงานภายนอก การจัดซื้อของใช้จำเป็นให้ผู้ต้องขังที่ยากจนไม่มีญาติ น้องในเรือนจำหลายคนฝากขอบคุณเธอ เขาบอกว่าสิ่งที่ทำอาจดูเล็กน้อยสำหรับคนภายนอก แต่ยิ่งใหญ่สำหรับเขามาก

บอกตนเองด้วยประโยคไหน เมื่อสิ่งที่ทำต้องพัวพันถึงครอบครัว

ผมเขียนอธิบายให้ลูกฟังในสิ่งที่ผมถกเถียงกับตนเองในเรือนจำ มีเรื่องหลักคือ ชีวิตที่ผ่านมาในอดีต ความกังวลในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และหนทางข้างหน้า ผมใช้เวลาทบทวนในสองเรื่องแรกมาก รู้สึกฟุ้งไม่มีบทสรุป ส่วนหนทางข้างหน้าที่จะมุ่งไปนั้น ต้องคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น ในเรื่องครอบครัว ผมบอกเธอว่า พ่อต้องจัดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานเสียใหม่ การทำงานที่ผ่านมาไม่ลงตัว จนบางครั้งรู้สึกกลายเป็นคนแปลกหน้าของลูกและครอบครัว

ผมคุยกับเธอว่า การทำงานที่ผ่านมา บางครั้งอยู่แนวหน้าเพราะถูกผลักจากสถานการณ์ แต่ส่วนใหญ่เราผลักตัวเองไม่ให้ถอยจากแถวหน้า เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการรับผิดชอบมวลชน หากสุ่มเสี่ยงเกิดการปะทะ เช่น การปิดล้อมสภา การปีนทำเนียบ การบุกศาลากลาง ก็ยิ่งต้องอยู่แนวหน้า

ผมคุยความในใจถึงหนทางข้างหน้าว่า อยากทำสามสี่เรื่อง เรื่องแรก การสร้างการเรียนรู้และการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า การปฏิรูประบบประกันสังคม การพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบบำนาญประชาชน สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการที่ดินที่อยู่อาศัย ควบคู่กับการปฏิรูประบบภาษี

เรื่องที่สอง ปฏิทินประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของสามัญชน เรื่องที่สาม การสร้างพรรคการเมืองของประชาชน ส่วนเรื่องที่สี่ ยังไม่ชัดเจนนักคือ โรงเรียนหรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อเสรีภาพอิสรภาพ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ในทัศนะของคุณ โลกภายในเรือนจำ สะท้อนภาพโลกด้านนอกอย่างไร

มีคำกล่าวว่า หากต้องการดูสภาพความเป็นจริง ไม่ว่าประเทศใดในโลกนี้ ให้ไปดูในคุก ผมเห็นด้วยที่สุด (เน้นเสียง) ผู้ต้องขังในแดน 8 ผ่านการจำคุกหลายครั้ง ทำให้เห็นความเป็นจริงในทุกมิติ ความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบาง ระบบอุปถัมภ์ โอกาส ความยากจน อาหารเรือนจำเฉลี่ยมื้อละประมาณ 10 บาท ต่อคน นมเพียงกล่องสองกล่องก็อาจทะเลาะลงไม้ลงมือกันได้

ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมหรือเป็นเสมียนแดนบางส่วน มีบทบาทสำคัญในการทำงานช่วยผู้คุม บางส่วนเรียกกันว่า ‘สมเด็จ’ เป็นภาษาในคุกหมายถึงพวกร่ำรวย คนเหล่านี้บางส่วนมีอภิสิทธิ์หลายอย่าง กินข้าวด้วยช้อนสเตนเลส ทั้งๆ ที่มีข้อห้ามไว้ ผมเคยเขียนไว้ในสมุดบันทึกว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้กินช้อนสเตนเลส มันคือความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้าง

เวลาออกสถานพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลเป็นคนตรวจอาการ เขาปฏิบัติต่อเราจนทำให้รู้สึกด้อยค่า ผู้ช่วยพยาบาลบางคนจ่ายยาพาราฯ เสมอ ไม่ว่ามีอาการแบบใด เวลาตรวจนั่งห่างเป็นเมตร มักเริ่มจากคำถามห้วนๆ เป็นอะไร! บางครั้งเราขยับตัว เขาจะพูดกึ่งคำสั่งว่า ห้ามขยับ! ขยับทำไม เมื่อเราอธิบายถึงอาการป่วย เขาจะพูดสวนว่า ยังไม่ได้ถาม เมื่อจะพูดถึงอาการป่วยอื่นๆ ด้วย เขาก็พูดว่าเอาแค่วันละโรค แต่เมื่อมาในวันถัดไป ผู้ช่วยผู้คุมในแดนก็จะถามว่า ทำไมเมื่อวันก่อนไม่แจ้งอาการ

อยากให้อธิบายความเกี่ยวข้องของงานด้านรัฐสวัสดิการที่คุณทำ กับสิ่งที่พบในเรือนจำ

ผู้ต้องขังแดน 8 ประมาณ 800 คน กว่า 400 คน มีคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ผู้ต้องขังส่วนใหญ่พูดถึงสาเหตุว่า “ลูกเมียผมต้องกินต้องใช้ ผมในฐานะหัวหน้าครอบครัวก็ต้องทำ” เมื่อมองจากมุมนี้ว่า ถ้ารัฐมีสวัสดิการสังคมที่เพียงพอ คนรวยจนเข้าถึงโอกาสได้ใกล้กัน มีรายได้เพียงพอ มีสวัสดิการด้านการศึกษา หลักประกันสุขภาพ คดีเกี่ยวกับทรัพย์จะน้อยลงโดยอัตโนมัติ

จากข้อมูลระบุว่า หากเราแบ่งคนจากจนสุดถึงรวยสุด เดิมการเข้าถึงการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่างกันมาก แต่โอกาสทางการศึกษาใกล้กันมากขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญให้เรียนฟรีถึง ม.6 ซึ่งเราต้องถกกันต่อถึงคุณภาพที่ต้องปรับปรุง และความเป็นไปได้ในสวัสดิการการศึกษาถึงปริญญาตรี

เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน ความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสุขภาพมีมากขึ้น เมื่อมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ส่วนเรื่องเบี้ยคนชรา 600 บาท มีแนวคิดเรื่องบำนาญภาคประชาชน การสร้างหลักประกันให้คนสูงอายุมีรายได้อย่างน้อยเท่ากับเส้นความยากจน

สังคมร่วมสมัยที่มีความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ได้ตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคม เพราะไม่อาจทำให้คนในชาติรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ และมันเป็นสิ่งเดียวกันกับการสร้างประชาธิปไตย

เนื่องจากรัฐสวัสดิการหรือสังคมสวัสดิการถ้วนหน้า สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถสร้างจากรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเห็นได้ว่า แม้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสวัสดิการในรูปแบบบัตรคนจน แต่รัฐก็มีความพยายามแทรกแซง ซึ่งเป็นจุดเริ่มความถดถอยและทำลายระบบสวัสดิการ ‘ถ้วนหน้า’ ให้เป็นแบบ ‘สังคมสงเคราะห์’

ทั้งหมดนี้ มีคำถามว่ามันทำได้จริงหรือ ผมว่าเป็นเรื่องความเชื่อที่ถูกสร้างและถูกครอบงำจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ทำให้ผู้คนในประเทศนี้ไม่มองเรื่องความเท่าเทียมเป็นโจทย์หลัก จนทำให้สังคมไทยมีความเปราะบางมาก มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก

ทั้งนี้ งานวิจัยจำนวนมากระบุว่า รัฐสวัสดิการสามารถทำได้ หากมีการปฏิรูประบบภาษี ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน การลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน การปฏิรูประบบราชการ รวมทั้งการลดงบประมาณกองทัพ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

จากวันที่ได้รับอิสรภาพเมื่อต้นเดือนสิงหาคม มาจนถึงวินาทีที่เรานั่งคุยกันอยู่ มีความเปลี่ยนแปลงด้านใดที่อยากเล่าสู่กันฟังอีก

ผมค้นพบมุมมองใหม่ ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่ได้ผ่านเรือนจำ ก่อนเข้าเรือนจำ ผมมุ่งทำงานตามเป้าหมายที่วางไว้ จมอยู่กับมัน ไม่ค่อยมีเวลาสำรวจตนเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงขาดความเปิดกว้างและเปิดรับการสื่อสารที่มาในนามของมิตรภาพจากเพื่อนฝูง ยามมีอิสรภาพใจกลับปิดกั้น แต่ครั้นอยู่ในเรือนจำกลับได้พบอิสรภาพที่แท้จริง ได้นั่งสำรวจและถกเถียงกับตนเอง รวมถึงเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือด้วย

ผมเรียนรู้เส้นแบ่งระหว่างการปลงตกกับยอมจำนน ผมพบความต่ำต้อยของตนเอง ทั้งรู้สึกด้วยตนเองหรือถูกทำให้เป็น เอาเข้าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการสิ่งใดมากไปกว่าการยอมรับในตัวตน ความรักและมิตรภาพ

ฉะนั้น เมื่อออกจากเรือนจำครั้งนี้ ผมตระหนักว่าต้องอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ต้องเปิดใจรับผู้คน ต้องตระเวนพูดคุยกับมิตรสหาย เพื่อการทำงานที่มีคุณค่า ตรงนี้คืออิสรภาพที่ได้มาจากการไม่มีอิสรภาพ

เข้าเรือนจำเดือนแรก ผมต้องฝึกระเบียบวินัยในกองงานฝึกวินัย ผมรับไม่ได้เลย ต่อต้านระบบคำสั่ง การเข้าแถวซ้ายหันขวาหัน ผมรู้สึกว่า คุณเป็นใครมาสั่งอะไรผม คุณก็เป็นนักโทษด้วยกัน เมื่อเฝ้ามองตัวเอง ก็เห็นตัวตนว่ามันใหญ่โตมาก ซึ่งหากไม่ค้นพบความธรรมดาสามัญของตนคงอยู่ในคุกไม่ได้ ตอนนั้นเส้นแบ่งมันเลือนรางเหมือนกัน ระหว่างการยอมจำนนกับการปลงตก

ตอนนี้ ผมรู้สึกว่าตนเองช้าลง เพื่อนในเรือนจำฝากมาหลายเรื่องก็ยังไม่ได้ทำ เช่น การตามหาพ่อที่ไม่เคยเจอหน้ากัน บางคนฝากร้องเรียนเรื่องอาหาร เรื่องงานพับถุงกระดาษ ส่วนงานโครงการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการก็กำลังจะหมดสัญญาในปลายปีนี้

ในฐานะรุ่นพี่ อยากให้ฝากไปถึงรุ่นน้องที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม เรื่องการรักษาสมดุลระหว่างคำว่า ‘อยู่เป็น’ กับคำว่า ‘ลุย’

“อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” เป็นคำขวัญที่เขียนไว้ในโรงเลี้ยง คล้ายกับให้ผู้ต้องขังจำยอมต่อสิ่งที่เป็น เช่นเดียวกับสังคมของเรา เราอาจเป็นผลผลิตของการถูกผลิตซ้ำให้ยอมจำนน การถูกทำให้ชินชากับความอยุติธรรม ระบอบ คสช. คือ ส่วนยอดของผลผลิตของระบอบอำมาตยาธิปไตย เราจำยอมกับระบอบแบบนี้ไม่ได้ เช่นกัน ก็ต้องดูจังหวะสถานการณ์การขับเคลื่อน

ผมพูดตรงไปตรงมากับน้องๆ บางคนว่า เราต้องเก็บเรี่ยวแรงไว้ใช้ในสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ลดการเคลื่อนไหวที่จะทำให้มีคดีเพิ่มขึ้น อยู่ในคุกมาจึงรู้สึกเป็นห่วงน้องที่มีคดีการเมือง บางส่วนถูกจองจำอยู่ รวมทั้ง ไผ่ ดาวดิน

ผมเขียนจดหมายจากเรือนจำถึง ไผ่ ดาวดิน แต่ส่งไม่ถึงเขา จดหมายทุกฉบับต้องถูกตรวจสอบ ผู้คุมมองว่าจดหมายมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผมเขียนว่า “ยุคสมัยอันมืดมนของเรา ชนชั้นนำอาจจะกระหยิ่มยิ้มย่อง ที่เขาสามารถกำหนดชะตากรรมของประเทศนี้ได้ แต่มันจะไม่เป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะนอกจากมันฝืนต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สังคม ประชาชนต่างรู้ธาตุแท้ของรัฐอำนาจนิยม ทั้งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกว่าสองทศวรรษพิสูจน์แล้วว่า ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาปลดปล่อย ไม่มีพระเจ้าองค์ใดมาโปรดสัตว์ให้พ้นจากบ่วงทุกข์ มีเพียงการต่อสู้ของสามัญชนเท่านั้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ไผ่ สายบู๊ ปัจจุบันคิดยังไงกับคำนี้

ผมชอบนะ มันอาจเริ่มในช่วงที่ผมเรียนเทคโนฯ อย่างที่บอก ถ้าไม่ถูกผลักให้อยู่ด้านหน้า ก็เป็นเราเองที่เต็มใจ จนคล้ายกับว่าเรานิยมการมีวิถีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงอยู่แถวหน้า แต่ก็ไม่ใช่คนที่อยากอยู่ในจุดมือถือไมค์ไฟส่องหน้าเพื่อให้คนนับหน้าถือตา แต่ไม่ได้ปฏิเสธหากใครจะทำ เพียงแต่ผมไม่ได้มีความปรารถนาเช่นนั้น

บู๊ในความหมายของผมคือ ตรงไปตรงมา เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน ต้องไม่ถอย เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ความสิ้นไร้ไม้ตอก ต้องยืนทรงตัวอยู่กับมัน จนเหมือนมันเป็นเพื่อนของเราให้ได้ แต่ถ้าบู๊หมายถึงการใช้ความรุนแรง การทะเลาะวิวาท ผมขอลาออกจากนิยามนี้

ที่คุณพูดว่าการขอโทษนั้นราคาถูก ซึ่งจริงๆ มันก็อาจไม่ยาก ดูเหมือนการให้อภัยตนเองอาจยากกว่า ข้างในคุณตอนนี้เคลียร์หรือยัง

ยังครับ ยังไม่หมด เอาเข้าจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าเรากำลังทำสิ่งใดเมื่อมองถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง กว่าจะสำนึกรู้ในสิ่งที่เราทำ มันก็กลายเป็นอดีตให้เราต้องจดจำ ซึ่งหลายเรื่องเป็นความทรงจำที่ไม่น่าจดจำแต่กลับลืมมันไม่ได้

ยังรู้สึกผิด?

ใช่… ผมยังรู้สึกผิดอยู่ เหมือนจมอยู่ในความรู้สึกนั้น ติดอยู่ในวังวนกับดักจนถึงวันนี้ยังชำระไม่หมด จากนี้ไปคงอยู่ที่การทำงานของเราเพื่อล้างบาปกับภาพเดิมที่ติดตัวมา และทำทุกสิ่งให้ชัดเจนขึ้น แต่ถามตอนนี้ว่าหมดหรือยัง คงยังไม่หมดไปง่ายๆ

หลังจากที่ คุณจอม (เพชรประดับ) สัมภาษณ์ แล้วพาดหัวว่า… ผมสารภาพผิด สำหรับผมไม่ซีเรียสหรอกถ้าหากหมายถึงผมเพียงคนเดียว แต่หากมันกลายเป็นว่ามีคนผิดกับผมด้วย และยิ่งผิดที่ไม่สารภาพนั้น ผมไม่อยากให้สิ่งที่ผมสัมภาษณ์มีเจตนาเช่นนั้น ส่วนเรื่องทุนสามานย์เผด็จการเลวร้ายกว่าระบอบทักษิณ โดยหลักการผมต้องการให้มีนัยว่าทุนสามานย์เผด็จการเลวร้ายกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

ขอถามข้อสุดท้ายนะครับ คุณเขียนว่า การขับไล่รัฐบาลเป็นวิถีของประชาชน แต่ไม่ควรเป็นการเมืองมวลชนที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน

การเมืองมวลชนหากไปละเมิดสิทธิผู้คน คงต้องหยุด เพราะมันไม่สอดคล้องกับคุณค่าสังคมขั้นต่ำสุดที่พึงมี นั่นคือการเคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตย ผู้คนที่ยังเห็นดีงามกับ คสช. ผมก็ไม่ได้เกลียดชังเขา แต่ผมจะอธิบายว่าผมไม่เห็นด้วยอย่างไร และพยายามสื่อสารทำความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม

ในปัจจุบัน เอ็นจีโอหรือเครือข่ายภาคประชาชนบางส่วน ถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มต้นจากการมองประเด็นปัญหาเฉพาะของเครือข่าย ขาดการมองมิติเชิงหลักการ พูดตรงไปตรงมาว่า บางส่วนมองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ได้ที่สามารถแก้ปัญหาหรือเยียวยาปัญหาได้ บางส่วนมองว่าการรัฐประหารเป็นหน้าต่างของโอกาส ผมว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนครั้งสำคัญ

หากถามว่าไปยึดสถานที่ราชการอีกได้ไหม ก็แล้วแต่จะตัดสินใจ เพียงแต่คุณต้องพร้อมถูกดำเนินคดี เพราะเราอยู่ในระบบนิติรัฐ บ้านเมืองมีกฎหมาย ถ้าบุกยามกลางวันก็แบบหนึ่ง ถ้ายามกลางคืนก็จำคุกหลายเดือน แต่ถ้ามีการใช้ความรุนแรงต่อผู้คน ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้คน ผมไม่ไปด้วยนะ

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า