ผ่านไป 15 วัน กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ทวงถาม กกต. ตรวจสอบ 200,000 รายชื่อ ถึงไหนแล้ว

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย iLaw ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ เพื่อติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 205,739 รายชื่อ ที่เข้าชื่อยื่นเสนอคำถามประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเพื่อการ ‘จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100%’ 

ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มได้จัดทำแคมเปญตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนได้รายชื่อเกิน 50,000 รายชื่อตามที่กฎหมายกำหนด และได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งให้ กกต. ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง กกต. อ้างว่าจะต้องทำการตรวจสอบภายใน 30 วันตามกฎหมาย ก่อนส่งให้ ครม. พิจารณา โดยวันนี้นับเป็นวันที่ 15 วันแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งคำถามต่อ กกต. ว่าการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อจะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ จึงต้องมายื่นหนังสือเพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าดังกล่าว โดยทางกลุ่มได้โทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ กกต. ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ กกต. กำลังตรวจสอบรายชื่อ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า แต่ต้องผ่านการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาของ กกต. ก่อน ทั้งนี้ ทางกลุ่มหวังว่า การตรวจสอบรายชื่อของ กกต. จะเสร็จสิ้นก่อน ครม. มีมติให้จัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 

นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่า “การตรวจสอบรายชื่อของ กกต. ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทั้ง 30 วันก็ได้” เนื่องจากทางกลุ่มได้แปลงรายชื่อบนกระดาษเป็นไฟล์เอ็กเซล (Excel) ให้แล้ว 

“สุดท้ายแล้วเราก็หวังว่า หลังจากที่ตรวจรายชื่อเสร็จแล้ว กกต. จะรีบส่งเรื่องไปให้เลขาธิการ ครม. ตามกฎหมาย ตามระเบียบ เพื่อตรวจสอบครั้งสุดท้ายอย่างรวดเร็วและบรรจุเข้าวาระการประชุมของ ครม. ชุดใหม่ เพื่อขอคำอนุมัติโดยเร็ว… วันนี้เราจึงมาติดตามความคืบหน้า” รัชพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้แสดงความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เคยกล่าวอย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมี สสร. จากการเลือกตั้ง แต่หลังจากการจัด ครม. แล้ว นโยบายตรงนี้เริ่มมีความไม่ชัดเจนมากขึ้น หลังไปจับมือกับพรรคการเมืองบางพรรค และล่าสุดคือ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่มีการระบุถึงการได้มาของ สสร. แต่อย่างใด เน้นแค่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เท่านั้น ดังนั้น จึงหวังว่าจะมีความชัดเจนนี้จากพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ ส่วนรายชื่อกว่า 200,000 รายชื่อที่ยื่นไปนั้น ครม. ไม่จำเป็นต้องรอกระบวนการตรวจสอบของ กกต. แต่สามารถนำคำถามของประชาชนไปเป็นคำถามประชามติได้เลย หาก ครม. เห็นชอบให้ทำประชามติ

เมื่อวานนี้ (13 กันยายน 2566) ภายหลังจากการประชุม ครม. นัดแรก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยนายกฯ กำชับว่าให้ดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มที่คลุกคลีกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาร่วมด้วย อย่างไรก็ดี ครม. ยังไม่ได้มีการหารือเพื่อระบุกรอบเวลาและรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร และต้องมี สสร. หรือไม่  

ด้านนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับคำถามประชามติการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ครม. จะรับข้อเสนอของ iLaw และคณะกรรมการของสภาฯ มาพิจารณาว่า ถ้าไม่มีความเห็นอื่นก็จะยึดตาม 2 แหล่งนี้เป็นหลัก และรับฟังอีกทีว่ามีความเห็นจากประชาชนกลุ่มอื่นที่อยากมีส่วนร่วมอีกหรือไม่ เพราะถ้ายึดตามที่ iLaw เสนอ หรือที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ คนที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นผ่าน iLaw ก็จะบอกว่าทำไมฟังอยู่ที่เดียว โดยที่พวกเขายังไม่ได้เสนอความเห็น

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า